ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด-ปัญญาคุณพระเครื่อง - webpra
  • Page 1
  • Page 2
รักษ์พุทธศิลป์ ธำรงค์พุทธศาสนา เพิ่มคุณค่า ทำนุและบำรุง..."ยึดมั่น หมั่นทำดี พระท่านจักคุ้มครอง"

หมวด พระเกจิภาคอีสานใต้

ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด

ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด - 1ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด - 2ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด - 3ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด - 4ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด - 5
ชื่อร้านค้า ปัญญาคุณพระเครื่อง - (คลิ๊กที่นี่เพื่อดู ข้อมูลเกี่ยวกับร้านค้า)
ชื่อเจ้าของร้านค้า
ชื่อพระเครื่อง ประวัติพระครูวิจิตรปัญญาคุณ "หลวงปู่บุดดา" ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
อายุพระเครื่อง -
หมวดพระ พระเกจิภาคอีสานใต้
ราคาเช่า -
เบอร์โทรติดต่อ 064-932-6767
อีเมล์ติดต่อ ืnainoom_wut@hotmail.com , nainoom_pok@yahoo.com
สถานะ เสนอเพื่อแลก
Facebook
เปิดให้เช่าตั้งแต่วันที่ ส. - 07 พ.ค. 2559 - 15:33.37
แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อ ส. - 30 มิ.ย. 2561 - 23:35.55
รายละเอียด
พระครูวิจิตรปัญญาคุณ " หลวงปู่บุดดา ฐิตปัญโญ " ญาปู่ใหญ่แห่งวัดหนองเต่าผู้ทรงอภิญญา อดีตเจ้าคณะตำบลหนองไผ่ เทพเจ้าของชาวหนองเต่าและชาวเมืองเกินอีกองค์ สุดยอดเกจิอาวุโสผู้เรืองอาคมอีกท่านของเมืองร้อยเอ็ด สมัยก่อนๆปี๒๕๐๐

ชาติกำเนิด
นามเดิม บุดดา นามสกุล ศรีทอง เกิดวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๒ ปีเถาะ วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ที่บ้านหนองเต่า ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี ร้อยเอ็ด

โยมบิดา ชื่อ อ่อน ศรีทอง
โยมมารดา ชื่อ พิมพ์ ศรีทอง
วัยเยาว์เป็นเด็กฉลาดหัวไว อายุครบ ๑๔ ปี เมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๖ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหนองเต่า

การศึกษา-การอุปสมบท
ช่วงที่เป็นสามเณรได้เล่าเรียนศึกษา การเจริญสมาธิ วิปัสสนากัมมัฏฐานแบบพระสายป่า ที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น จนชำนิชำนาญ
อายุครบ ๑๘ ปี ได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายนะ คัมภีร์ ตำราอักษรต่างๆ
พออายุครบ๒๐ ปี พ.ศ.๒๔๔๒ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วิสุงคามสีมา วัดบ้านราชมัง อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
มีเจ้าอธิการ จำปา เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูพรหมา วัดบ้านก้างปลา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูชารี วัดบ้านหนองแข้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เล่าเรียนเบื้องต้นกับพระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้งค้นคว้าศึกษาพระธรรมวินัย จากคัมภีร์ตำราตัวอักษรขอมและบาลี มีความมุมานะ จนมีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในทุกๆแขนง
ศึกษาที่สำนักวัดหนองเต่าได้สักช่วง จึงได้ออกแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากสำนักอื่นๆ ในจังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนจะออกเดินธุดงค์ต่างแดนเป็นเวลาหลายปี จึงเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองเต่า
(ข้อมูลการศึกษาจะนำมาเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป)


หน้าที่ตำแหน่งในพระพุทธศาสนา
-ทำหน้าที่เป็นครูสอนปริยัติธรรม อีกทั้งนักธรรมและบาลี ที่สำนักวัดหนองเต่าใหญ่ (วัดหนองเต่าปัจจุบัน... ตั้งแต่ครั้งยังเป็นอำเภอแซงบาดาล) ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ.๒๔๗๐
-ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลหนองไผ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
-ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
-ได้รับสัญญาบัตรเป็นพระครูชั้นตรี ในพระราชทินนามว่า "พระครูวิจิตรปัญญาคุณ" เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓
ท่านเป็นพระเถระที่ได้ปฎิบัติหน้าที่ราชการคณะสงฆ์มาโดยเรียบร้อยเป็นอันดี ยึดมั่นในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างที่ดีให้ปฎิบัติตาม อีกทั้งยังเป็นพระครู ปรมาจารย์ใหญ่อาวุโส สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วสารทิศ เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

ครั้นเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้ล้มป่วยด้วยโรคชราภาพ
พ้นล่วงถึงเดือนพฤษภาคม วันที่ ๕ ปี๒๕๑๒ ท่านจึงได้มรณภาพด้วยโรคชรา ด้วยอาการอันสงบ ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ที่กุฎีวัดหนองเต่า ในเวลา ๒๐.๐๕ น. รวมศิริอายุ ๙๑ ปี ๗๑ พรรษา

เก็บสรีระสังขาลของท่านไว้ที่วัด ให้ลูกศิษย์ลูกหาได้สักการะนานถึง ๙ เดือน ทางวัดพร้อมด้วยชุมชน ได้จัดงานร่วมพระราชทานเพลิงสรีระสังขาล ในวันที่ ๑๘-๑๙-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๓ ณ เมรุชั่วคราววัดหนองเต่า ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ใกล้-ไกลทั่วทุกสารทิศ ได้แห่แหนกันมาร่วมงานอย่างหนาแน่น ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากในสมัยนั้น

ความชำนาญพิเศษอื่นๆ
- ด้านโหราศาสตร์
- ด้านเวชศาสตร์
- อักษรศาสตร์
- งานแกะสลัก

จริยาวัตรอันน่ายกย่องเลื่อมใส

ปฏิปทา วัติปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสของหลวงปู่เป็นที่เคารพของญาติโยมทั้งหลาย ท่านเป็นพระเถระอาวุโส ที่เคร่งในพระธรรมวินัยถือการปฏิบัติ เจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน เจริญรอยตามครูอาจารย์ ตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสำเร็จอภิญญา หรือญาณสมาบัติขั้นสูง
ท่านรักสันโดษ มักน้อย มุ่งเน้นทางธรรม ออกธุดงควัตร พบปะแลกเปลี่ยนศึกษาวิชากับเกจิสหายธรรมมิกหลายๆท่าน

ท่านเป็นพระนักพัฒนาสร้างความเจริญแก่ชุมชน ให้ชาวบ้านได้พึ่งบุญจากท่าน รึจะเจ็บไข้คุณไสยเข้า มาหาท่านรึก็เบาได้ทั้งนั้น แนะฤกษ์งามยามดี พิธีต่างๆ เดินทางให้ปลอดภัย ท่านก็ดูให้ทะลุปรุโปร่ง

เป็นทั้งครูผู้ให้ สมัยก่อนก็เรียนกันในวัดของท่านนี่แหละครับ เป็นสำนักสอนปริยัติธรรม,บาลี ไวยากรณ์ หลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษาชั้นเอกและอื่นๆ
อาศัยศาลาวัดเป็นโรงเรียน เรียนกันทั้งเด็ก,ทั้งเณร,ทั้งพระสงฆ์ เล่าลือกันมาว่า ไม้เรียวของท่านถ้าเด็กซนๆนี่โดนหวดเข้า แสบไปถึงทรวง แต่พอเด็กๆกลับถึงบ้านกลับไม่มีร่องรอยฟกช้ำหรืออาการใดๆเลย
รึสมัยก่อนนี่ เรื่องผีสางนางไม้ กับคนกับชุมชนนี่แยกกันไม่ออกหรอกครับ มีข่าวว่าบ้านโน้นบ้านนี้ มีคนโดนผีอำผีเข้านี่กันบ่อยๆ ก็ไม่ต้องอะไรมาก แค่เอ่ยถึงชื่อ ว่ากำลังนิมนต์หลวงปู่บุดดามาเท่านั้นแหละ คนโดนผีอำผีเข้านี่หายเป็นปลิดทิ้งวิ่งป๋อ จนเป็นที่มาของคำร่ำลือกันข้ามทุ่งว่า " หลวงปู่บุดดา ผีปอบย่าน (ผีปอบกลัว) " รึเรื่องเล่า อภินิหารของท่าน เล่าเช้ายันค่ำก็คงไม่หมดครับ

สมัยก่อนเก่าหากลูกศิษย์เดินทางจากทางนี้(พื้นที่ร้อยเอ็ด)ไปกราบหลวงพ่อคูณแห่งวัดบ้านไร่ท่านจะเอ่ยถึงหลวงปู่บุดดา แล้วก็ไล่กลับ กันแทบทุกราย เหมือนจะบอกว่ามีของดีอยู่ใกล้ๆแล้วยังดั้นด้นมาไกลทำไมขนาดนี้ ( หลวงปู่บุดดาท่านเป็นศิษย์อาวุโสที่เคยร่ำเรียนร่วมสำนักเดียวกันอีกรูปของหลวงพ่อคูณ ร่วมกับอีกหลายๆท่าน อย่างเช่น
หลวงปู่สุข วัดบูรพาหนองบัว
พระครูธวัชชัยคุณ วัดอุ่มเม่า
เจ้าคุณพระคัมภีรธรรมาจารย์ วัดสว่างอารมณ์
พระครูมนูญญชยาจารย์ วัดหนองเต่า
หลวงปู่อาน วัดหนองเต่า
หลวงปู่บิน วัดหนองเต่า
และอีกหลายๆท่าน พูดง่ายๆว่าท่านเป็นศิษย์ผู้พี่รุ่นเดอะก็ว่าได้ )

"ปรมาจารย์เฒ่าแห่งสำนักวัดหนองเต่า" สมัยก่อนลูกศิษย์ลูกหาของท่านเยอะมากครับ ทั้งศิษย์ก้นกุฏิ รึจะเป็นมากราบท่านขอเป็นศิษย์เรียนวิชากับท่านเป็นช่วงบางพรรษาก็มากมี ในพื้นที่ใกล้เคียงนี่ถ้าจะถามดูก็คงล้วนตอบตรงกันว่าเคยมาเรียนกับ "หลวงปู่บุดดา วัดบ้านหนองเต่าใหญ่" กันแน่นอน
"ได้ไปเรียนได้ศึกษานำหลวงปู่เฒ่า กะถือวาบุญของเฮาแล้ว ...คำของ พระครูมนูญญชยาจารย์ ..

สายพุทธาคมลูกศิษย์ของหลวงปู่ ปัจจุบันก็ยังเหลืออีกหลายท่าน
อาทิเช่น
-พระครูบัณฑิตตานุรักษ์ "เจ้าหัวรัญ" เจ้าอาวาสวัดโกศลรังสฤษฎ์(วัดอุ่มเม่า) รองเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี กับ"ตะกรุดโทนเชือกถัก" ที่กำลังโด่งดังในปัจจุบัน
-พระครูอัมพวนาภิบาล หลวงพ่อหนู เจ้าอาวาสวัดอัมพวนาราม เจ้าคณะตำบลโนนตาล กับ"ตะกรุด อุดปืน"ที่เป็นที่เลื่องลือในปัจจุบันเช่นกัน เป็นต้น

วัตถุมงคลเป็นที่เลื่องลือ

วัตถุมงคลของหลวงปู่ ที่ท่านสร้างเอง มีออกมาไม่มากนัก ท่านไม่ได้มุ่งเน้นทางนี้ นอกเสียจากลูกศิษย์ลูกหาจะมาขอพึ่งบุญจากท่าน ซึ่งก็มีทั้งเหรียญ ผ้ายันต์จารอักขระ ผ้ายันต์รอยมือรอยเท้า ลูกอมชานหมาก ด้ายสายสิญจน์ ตะกรุด หรือแม้แต่เศษผ้าจีวรที่รับจากมือของท่านเอง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ผู้นำไปใช้แล้วเกิดประสบการณ์ร่ำลือมากมาย

ที่เด่นๆเป็นที่แสวงหาก็อาทิเช่น
-เหรียญรุ่นแรก รูปไข่ เต็มองค์ ปี๒๕๑๑ จัดสร้างโดยวัดหนองเต่า
-ล็อกเก็ตรูปนั่งเต็มองค์ ข้างพัดยศ ที่สร้างพร้อมเหรียญรุ่นแรก

-เหรียญรูปไข่ รุ่น๒ ปี๒๕๓๓ สร้างโดยวัดหนองเต่า
-รูปเหมือน ปี๒๕๓๓ สร้างโดยวัดหนองเต่า
-รูปเหมือน ปี๒๕๓๗ สร้างโดยวัดหนองเต่า
-ล็อกเก็ตครึ่งองค์ รุ่น๒ หลังยันต์ห้ากะไหล่ทอง ปี๒๕๓๓ สร้างโดยวัดหนองเต่า
-เหรียญรูปไข่ รุ่น๓ , รูปเหมือน และรูปเหมือนบูชาขนาดต่างๆ ปี๒๕๕๓ เรียกว่า รุ่นฉลองโบสถ์
สร้างโดยพระครูบัณฑิตานุรักษ์ "เจ้าหัวรัญ" เจ้าอาวาสวัดโกศลรังสฤษฎ์(วัดอุ่มเม่า) รองเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี ศิษย์เอกก้นกุฎีของท่าน และปลุกเสกพิธีใหญ่ โดยเกจิแถบภาคอีสานมากมาย 3วัน 3คืน

-เหรียญเสมารุ่นแรก ปี๒๕๑๒ จัดสร้างโดยหลวงปู่อาน ซึ่งได้ขออนุญาตพระครูมนูญญชยาจารย์ (ญาครูพรหม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองเต่าสมัยนั้นจัดสร้างและพิธีปลุกเสก ซึ่งท่านก็เป็นศิษย์เอกก้นกุฏิเช่นกัน เพื่อให้ร่วมทำบุญบูชาสำหรับผู้มาร่วมงานพระราชทานเพลิงหลวงปู่ และบูชาในโอกาสต่างๆ

-ผ้ายันต์รอยมือ รอยเท้า มีสร้างจำนวนน้อยมาก ตั้งแต่ก่อนปี๒๕๐๐
-ผ้ายันต์รูปเหมือนนั่งเต็มองค์ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิง
-ตะกรุดโทน ท่านจะตัดแผ่นและจารให้เรื่อยๆตามแต่โอกาส ลักษณะจะดอกสั้นๆ ม้วนหลายชั้น มักไม่ถักเชือก
-คำหมาก (ชานหมาก) ได้รับจากท่านตามแต่โอกาส
-สีผึ้ง ตลับยาหม่อง
-จีวร สมัยก่อนมวยคาดเชือก หรือจะพวกนักสู้มือเปล่าต่างๆ มักมาขอจีวรเก่าๆจากหลวงปู่ ใช้อธิษฐานแล้วมัดต้นแขนก่อนออกสู้ตามงานวัดต่างๆ
- อื่นๆ
++++ วัตถุมงคลของท่าน จะไม่ค่อยมีการโฆษณา ขึ้นป้าย ใบปลิวใดๆ แม้แต่รุ่นหลังๆ ก็ยังยึดถือปฎิบัติตามเรื่อยมา จะร่ำลือกันเพียง บอกปากต่อปาก .. ++++



"อนุญาตให้คัดลอกในทางเผยแพร่นะครับ (เว้นในเชิงธุรกิจ พาณิชย์) คัดไปได้ ไม่หวงครับ และเพียงให้รำลึกถึงคุณของหลวงปู่ท่านไว้ ให้มากๆ ..แจ้งเครดิตด้วยครับ"



" ....ขอขอบคุณข้อมูลที่มา จากวัดหนองเต่า ...."
" ....ขอขอบคุณข้อมูลที่มา จากพระครูบัณฑิตตานุรักษ์ รองเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี "

พระเครื่องที่เกี่ยวข้องในร้านค้านี้...

อื่นๆ...

กำหลังโหลด Comments
Top