ประวัติ เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก - (องค์ปฐมเหตุแห่งการสร้างหลวงพ่อโต) - webpra

เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

ประวัติ (องค์ปฐมเหตุแห่งการสร้างหลวงพ่อโต)

 

เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

( ภาพที่มา : http://www.holidaythai.com/lookling/blogs-7050.htm )

 ประวัติความเป็นมา

แต่โบราณนานมาแล้ว  มีเด็กหญิงเล็กๆคนหนึ่ง  เกิดอยู่ในจั่นหมากพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงนำมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม  และได้ให้นามนางว่า “นางสร้อยดอกหมาก” เมื่อนางสร้อยดอกหมาก  เจริญวัยขึ้น  นางมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก พระเจ้ากรุงจีนทรงโปรดให้โหรทำนายว่า ในกาลภายหน้า พระนางสร้อยดอกหมากจะคู่ควรกับกษัตริย์เมืองใด  โหรพิเคราะห์ดูแล้วกล่าวว่า  คู่ของนางจะเป็นกษัตริย์กรุงไทย  อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นผู้มีบุญญาอภินิหารมากนัก  พระเจ้ากรุงจีนได้ฟังคำโหรทำนายดังนั้น ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก  ทางด้านกรุงไทย  ขณะนั้นกำลังว่างผู้ปกครองแผ่นดินและไม่มีรัชทายาทจะสืบราชสมบัติ     ต่อมาบรรดาเสนาอำมาตย์และสมณชีพราหมณ์ จึงทำพิธีเสี่ยงเรือสุวรรณหงส์เอกชัย  เพื่อเสาะหาผู้มีบุญวาสนามาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อเรือแล่นไปถึงยังที่แห่งหนึ่งที่ริมฝั่ง  มีเด็กเลี้ยงโคกำลังเล่นกันอยู่  เรือสุวรรณหงส์เอกชัยจอดหยุดนิ่ง  ไม่เคลื่อนอีกต่อไป  แม้เหล่าฝีพายจะพยายามสักเท่าไรเรือก็ไม่เคลื่อนที่  เหล่าอำมาตย์เห็นเช่นนั้น  รู้สึกอัศจรรย์ใจและเกิดสังหรณ์ใจ  จึงเดินเข้าไปในกลุ่มเด็กเลี้ยงโคที่กำลังเล่นกันอยู่  พบเด็กชายคนหนึ่งท่าทางฉลาดพูดจาตอบโต้ฉาดฉาน  เหล่าอำมาตย์ต่างก็คิดว่า  “ชะรอยเด็กคนนี้คงเป็นผู้มีบุญ  กิริยาท่าทางจึงต่างกับเด็กคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด  แม้การเจรจากับเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ฉลาดหลักแหลม” เมื่อคิดดังนั้นแล้วเหล่าอำมาตย์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญเด็กชายคนนั้น มาเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงไทยต่อไป

เมื่อพระเจ้ากรุงไทยพระองค์ใหม่ได้ขึ้นปกครองแผ่นดิน ทรงปกครองบ้านเมืองเป็นปรกติสุข ครั้งหนึ่งพระองค์โปรดให้ยกขบวนพยุหยาตราไปทางชลมารคพร้อมกับเหล่าเสนาบดี  เมื่อเสด็จมาถึงยังหัวแหลมวัดปากคลอง เป็นเวลาน้ำขึ้น จึงตรัสสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด  ทรงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบันของโบสถ์จึงทรงดำริ ว่า “จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ด้วยเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เพื่อจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทนกำแพงแก้วนั้นเถิด” เมื่อตรัสจบน้ำผึ้งก็หยดลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งยกขึ้นไปถึงที่ทันที เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ตาของเสนาบดีน้อยใหญ่ พระเจ้ากรุงไทยจึงเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร โดยเปลื้องพระภูษาทรงสักการะพระพุทธปฏิมากร เสร็จแล้วจึงเสด็จลงเรือประทับพระที่นั่ง  เรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิม บรรดาภิกษุสงฆ์และเหล่าเสนาบดีต่างก็พากันถวายพระพรชัยและถวายพระนามพระเจ้า กรุงไทยว่า “ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ”

ครั้นถึงเวลาน้ำลง  พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงมีรับสั่งให้เหล่าเสนาบดีกลับไปรักษาพระนคร  ส่วนพระองค์นั้นเสด็จไปโดยเรือพระที่นั่งเอกชัยเพียงลำเดียว  เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยอำนาจแห่งราชกุศลที่สร้างมาแต่ปางหลัง  จึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัย  จนกระทั่งลุถึงกรุงจีน ชาวจีนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์  จึงนำความขึ้นทูลว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยองค์นี้มีบุญญาธิการมาก  พระเจ้ากรุงจีนจึงรับสั่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ไปสืบดูว่าพระเจ้ากรุงไทยมี บุญญาธิการจริงหรือไม่ เสนาบดีจีนออกไปทูลเชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่อ่าวนาค  ซึ่งเป็นที่ที่มีภยันตรายมาก  ตกเพลาค่ำเสนาบดีจีนใช้ทหารไปสอดแนมดูว่า  “ เหตุการณ์ร้ายแรงอันใดจะเกิดขึ้นหรือไม่ ” มีแต่เสียงดุริยางค์ดนตรีเป็นที่ครึกครื้น ในคืนต่อมาเสนาบดีจึงทูลเชิญเสด็จพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่มีอันตรายมาก ขึ้นไปอีก  เหตุการณ์ยังเหมือนคืนก่อนเมื่อพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสยิ่ง นัก  จึงมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง และให้ราชาภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง

เมื่อเวลาผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงจีนกลับพระนคร พระเจ้ากรุงจีนให้นำสำเภาห้าลำพร้อมด้วยเครื่องอุปโภคเป็นอันมาก  เมื่อถึงปากน้ำพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อน  เมื่อจัดตำหนักซ้ายขวาเสร็จก็จัดขบวนมารับพระนางสร้อยดอกหมากจากเรือ โดยพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย  พระนางสร้อยดอกหมากจึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ กล่าวว่า“มาด้วยพระองค์ก็โดยยากเมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับก็จะไม่ไป”

เสนาบดีนำเนื้อความไปกราบทูล พระเจ้าสายน้ำผึ้งคิดว่านางหยอกเล่นจึงกล่าวสัพยอกว่า“เมื่อมาถึงแล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด”เมื่อ พระนางทราบเนื้อความจึงสำคัญว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งพูดจริง จึงน้อยพระทัยและเศร้าพระทัยยิ่งนัก  ครั้นรุ่งเช้าเมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งจัดกระบวนแห่มารับ  และเสด็จมาด้วยพระองค์เอง  เมื่อเสด็จขึ้นไปบนสำเภา  พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่าพระองค์  พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เอาละ เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้น  ด้วยความน้อยพระทัยนางจึงกลั้นพระทัยตายทันที  พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงเสียพระทัยมาก  โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพของพระนางขึ้นมาพระราชทานเพลิง  ท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนชาวจีนและชาวไทย  จึงทรงสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระนางสร้อยดอกหมาก และได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “ วัดพระนางเชิญ ” แต่นั้นมา

ตำนานเรื่อง  “เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก”  จึงเป็นตำนานแห่งการสร้างวัด พนัญเชิง หรือวัดพระเจ้าแพนงเชิง  หรือวัดพระนางเชิญ ก็มี  วัดนี้เป็นวัดสำคัญเก่าแก่แต่โบราณของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นวัดที่ได้รับความเคารพนับถือของชาวไทยและจีน  ทุกปีจะมีงานฉลองตามประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้  และในปี ๒๕๔๔  พระธรรมญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัด  และพระพิพัฒน์วราภรณ์ รองเจ้าอาวาสในสมัยนั้น (ในปัจจุบันได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชรัตนวราภรณ์ เมื่อวันที่  ๑๒  สิงหาคม  ๒๕๔๗ และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบัน) ได้ให้มีการบูรณะศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากขึ้นใหม่จนมีความสวยงามเป็นยิ่งนัก ฯ

เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ลักษณะความเชื่อ

เนื่องจากตำนานเจ้าชายสายน้ำผึ้ง  และพระนางสร้อยดอกหมาก  เป็นตำนานแห่งการสร้างวัดพนัญเชิง  หรือพแนงเชิง   ซึ่งแปลว่า “พระนางผู้มีแง่งอน” และเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน  ทั้งมีประวัติกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเหนือของจีน  โดยอ้างอิงถึงของไทยด้วย  จึงมีผู้มาสักการะ ทั้งชาวไทยและชาวจีนรวมถึงชาวต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย  ด้วยมีความเชื่อกันว่า  เจ้าแม่สร้อยดอกหมากสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่กราบไหว้ได้สมปรารถนาดังที่ขอ ไว้ได้ทุกเรื่องทุกประการ  บ้างก็มีการบนบานสานกล่าวด้วยผ้าแพร  ไข่มุก  เรือสำเภา  หรือนำสิงโตมาเชิด  เมื่อได้สมหวังดังที่ปรารถนา  ก็มาแก้บนดังที่ได้บนบานสานกล่าวเอาไว้  บ้างก็มีความเชื่อในเรื่องของความรัก  คู่ครอง  และการขอบุตรจากเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก  เมื่อได้สมหวังดังที่ขอ  ก็มีการบอกต่อหรือเล่าขานต่อ ๆ กันมา  จนเป็นความเชื่อ  และมีผู้ศรัทธาหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้กันอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ  จนเป็นที่รู้จักสืบต่อกันมา  โดยถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีคือ  เมื่อมานมัสการองค์หลวงพ่อโตในพระวิหารเสร็จ  จะต้องแวะมาสักการะเจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วยนั่นเอง


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watphananchoeng.com/watphananchoeng/index.php?option=com_content&view=article&id=26:2011-07-11-18-50-53&catid=4:god&Itemid=39

Top