หลวงพ่อโอด พระครูนิสัยจริยคุณ (วิสุทธิ์ ปัญญาธโร)
ประวัติ วัดจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ชาติภูมิ
พระครูนิสัยจริยคุณ ฉายา ปัญญาโร นามเดิมชื่อ วิสุทธิ์ นามสกุล แป้นโต แต่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "หลวงพ่อโอด" ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๘ เดือน ธันวาคม ๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ณ บ้านเลขที่ ๑๐๓ หมู่ที่ ๗ (บ้านหัวเขา) ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ บิดามารดาของท่านชื่อ นายชิต นางต่วน แป้นโต มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๗ คนคือ
๑. นายดำ แป้นโต ถึงแก่กรรม
๒. นางหนู เกรียงไกรเพชร ถึงแก่กรรม
๓. นายกุหลาบ แป้นโต ถึงแก่กรรม
๔. นางพยอม แป้นโต ถึงแก่กรรม
๕. พระครูนิสัยจริยคุณ ถึงแก่กรรม
๖. นางหลอม แป้นโต ถึงแก่กรรม
๗. นายออน แป้นโต ถึงแก่กรรม
การศึกษาเบื้องต้น
ท่านสำเร็จการศึกษา วิชาสามัญประถมบิริธูรณ์ จากโรงเรียนวัดหัวเขา อำเภอตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
รูปถ่าย2509
อุปสมบท
เมื่อวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๑ ณ พระอุโบสถ วัดหัวเขา อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี
๑. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด) วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี เป็นพระอุปัชฌาย์
๒. พระครูนิปุณธรรมธร วัดตาคลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
๓. พระครูพิพัทธศีลคุณ วัดหัวเขาตาคลี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
วิทยฐานะ
พ.ศ. ๒๔๘๔ สอบได้นักธรรมเอก จากสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
งานด้านปกครอง
๑) พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองสีนวล อำเภอ ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
๒) พ.ศ. ๒๔๓๙ ทางคณะสงฆ์ได้ย้ายท่านให้มารักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจันแสน
- ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดจันแสน
- ๒๖ มิถุนายน ๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะตำบลจันแสน
- ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๖ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์และเป็นศึกษาอำเภอตาคลี
๓) พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับแต่งตั้งเป็น รองเจ้าคณะอำเภอตาคลี
๔) พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะอำเภอตาคลี
สมณศักดิ์
๑) พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้น ตรี
๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้น โท
๓) พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้น เอก
๔) พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้น พิเศษ
ด้านการศึกษาของภิกษุ-สามเณร
- เป็นครูสอนนักธรรม ของวัดดอนยานนาวา เขตยานนาวา กรุงเทพฯ (ในสมัยที่พระอาจารย์กึ๋น เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนฯ)
- เป็นครูสอนนักธรรม วัดหัวเขา และวัดหนองสีนวล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
- เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดจันแสน
- เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
ความสัมพันธ์กับหลวงพ่อรุ่ง และหลวงพ่อเดิม
หลวงพ่อโอด ท่านมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อรุ่ง แห่งวัดหนองสีนวลและหลวงพ่อเดิม แห่งวัดหนองโพ สองพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของอำเภอตาคลี ในฐานะที่เป็นหลานที่ใกล้ชิด กล่าวคือ โยมพ่อของหลวงพ่อโอด คือ นายชิต แป้นโต เป็นน้องชายแท้ๆ ของหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล และแม่ของนายชิต แป้นโตและหลวงพ่อรุ่ง ก็เป็นพี่สาวโยมแม่ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ดังนั้นหลวงพ่อโอดท่านจึงเรียก หลวงพ่อรุ่ง และหลวงพ่อเดิมว่า "หลวงลุง"
การศึกษาด้านพุทธาคม
เมื่อท่านกลับจากการเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดดอนยานนาว่าแล้ว ได้มาอยู่กับหลวงพ่อรุ่งที่วัดหนองสีนวล ซึ่งในระยะนี้เองที่ท่านได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อรุ่ง โดยศึกษาคู่กับหลวงพ่อสด วัดหางน้ำสาคร (พระครูวิจิตชัยการ) หลวงพ่อรุ่งได้เขี่ยวเข็ญ และพร่ำสอนท่านเป็นอย่างดี ซึ่งท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านเองได้ค่อยจะสนใจเรียนเท่าใดนัก แม้หลวงพ่อรุ่ง จะแสดงคุณวิเศษทางวิชาที่สอนให้ท่านดู ท่านก็ไม่ค่อยจะสนใจ จนหลวงพ่อรุ่งถึงกับเอ่ยปากต่อว่าท่านว่า ท่านเป็นพระหัวสมัยใหม่ สักวันหนึ่งจะต้องนึกถึงตัวท่านอยู่ศึกษาวิชากับหลวงพ่อรุ่ง จนกระทั่งหลวงพ่อรุ่งมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านก็ได้รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองสีนวลต่อจากหลวงพ่อรุ่ง และในปีนี้เองชาวบ้านหนองสีนวล ชื่อนายอ๊อด ถูกลอบยิงด้วยปืนลูกซอง กระสุนฝังในทั้งเก้าเม็ด จะไปรักษาที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะเป็นยุคปลายสงคราม ญาติๆ ของนายอ๊อด จึงได้นำร่างที่บาดเจ็บของนายอ๊อดมาไว้ที่ศาลาวัดหนองสีนวล แล้วนิมนต์ท่านให้ทำการรักษาด้วยความจำเป็น ท่านจึงต้องรักษาให้ตามที่เขาขอร้อง โดยก่อนที่จะลงมือรักษาท่านได้จุดธูปอธิษฐานต่อหลวงพ่อรุ่งว่า "หากหลวงลุงต้องการใช้วิชานี้คงอยู่สืบไป ก็ขอให้ทำการรักษานายอ๊อดให้หาย หากรักษาหายจะเริ่มเรียน วิชาที่สอนให้ทั้งหมด" เสร็จแล้วท่านจึงทำน้ำมนต์ตามที่ได้เรียนมา แล้วนำไปให้นายอ๊อดดื่มและพรมตามบาดแผลที่ถูกปืน หลังจากนั้นท่านจึงได้เข้าจำวัดจนเช้ามืด ท่านได้ยินเสียงเรียกว่า หลวงน้า หลวงน้าผมไม่ตายแล้ว ท่านจึงลุกออกมาดู ปรากฏว่าเป็นนายอ๊อด ที่ท่านได้รักษานั่นเองผลออกมาว่าลูกปืนที่ฝังอยู่ในตัวนายอ๊อดทั้ง ๙ เม็ดไหลออกมาทั้งหมด และบาดแผลก็สมานกันดี เลือดหยุดไหล เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาท่าน ดังนั้นท่านจึงหันมาศึกษาวิชาของหลวงพ่อรุ่ง ทั้งหมดอย่างจริงจัง
ส่วนหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ระยะที่ท่านอยู่หนองสีนวล ท่านได้ไปมาหาสู่กับหลวงพ่อเดิมเป็นประจำ และหลวงพ่อเดิม ท่านก็มาหนองสีนวลอยู่เป็นประจำซึ่งท่านก็ได้ศึกษาวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อเดิม ทั้งที่วัดหนองโพและที่วัดหนองสีนวลต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันเสน หลวงพ่อเดิมท่านก็ได้ให้ทายกยิ้ม ทายกใหญ่วัดหนองโพ นำตำราต่างๆ ของหลวงพ่อเดิม ขึ้นรถไฟมาให้ท่านได้ศึกษาที่สัดจันเสนอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งหลวงพ่อเดิมมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๙๔
จึงนับได้ว่า หลวงพ่อโอดท่านเป็นทั้งหลาน และเป็นทั้งศิษย์ ของสองพระเกจิอาจารย์ ที่โด่งดังและเกรียงไกรที่สุดของอำเภอตาคลีในยุคนั้น แต่ มิใช่ว่าจะมีอาจารย์ที่ท่านได้ศึกษาทางพุทธาคม เพียงแต่หลวงพ่อรุ่ง และหลวงพ่อเดิม เท่านั้นก็ไม่ ที่ผู้เขียนรู้จากคำบอกของท่านเองยังมีอยู่อีก ๒ องค์คือ
- หลวงพ่อพรหม วัดช่องแคอำเภอ ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ยุค พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านไปหาหลวงพ่อพรหมบ่อยๆ มาก ท่านบอกว่าท่านไปเรียนวิชากับหลวงพ่อพรหม แต่ท่านไม่ได้บอกว่าไปเรียนวิชาอะไร แต่ที่รู้ๆ หลวงพ่อพรหมรักใคร่ในตัวหลวงพ่อโอดมาก ถึงกับยอมมาปลุกเสกวัตถุมงคลให้ที่พระอุโบสถวัดจันเสน ซึ่งหลวงพ่อพรหมท่านไม่เคยยอมไปปลุกเสกนอกวัดช่องแคเลย
- หลวงพ่อเชน วัดสิงห์ ตำบล ทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านไปอยู่เรียนกับหลวงพ่อเขน ที่วัดสิงห์เลย ท่านบอกว่า ท่านไปเรียนวิชาทำตะกรุดซึ่งหลวงพ่อเชน ท่านเก่งมากในเรื่องการทำตะกรุดโทน
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า พระอาจารย์ที่หลวงพ่อโอด ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนไสยเวท พุทธาคม มีอยู่ ๔ องค์คือ
๑. หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
๒. หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
๓. หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
๔. หลวงพ่อเชน วัดสิงห์ ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
ด้านวิปัสนากรรมฐาน
หลวงพ่อโอดท่านเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านการปฏิบัติมาก ท่านศึกษามาจาก หลวงพ่อรุ่ง ต่อมาท่านได้ไปศึกษาต่อที่สำนักวิปัสนากรรมฐาน วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ และต่อมาในปี ๒๕๐๕ ท่านได้ไปศึกษาต่ออีกที่วิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี จนท่านมีความชำนาญ และมีพลังจิตที่กล้าแข็ง สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอดีต และในอนาคตอย่างแม่นยำ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านได้เปิดสำนักสอนวิปัสนากรรมฐานขึ้นที่วัดจันเสน โดยท่านเป็นผู้สอน และในระยะเวลาที่เข้าพรรษาท่านจะนั่งปฏิบัติของท่านติดต่อกัน๗ วัน โดยไม่ลุกออกมาจากกุฏิเลย ผมในวัยที่ท่านชราภาพและป่วยก็จะปฏิบัติของท่านอยู่เสมอ ในตอนกลางคืนและตอนเช้ามืด แม้จะป่วยอยู่ในโรงพยาบาลก็ตาม
ลูกอม และ สีผึ้ง สุดยอดวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงมานานที่สุดของท่านคือ ลูกอม และสีผึ้ง ซึ่งท่านสร้างตามตำรับของหลวงพ่อรุ่ง มีพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดและคงกระพันอยู่พร้อม ลูกอมในสมัยหลวงพ่อรุ่งนั้นท่านบอกว่าจะต้องใช้วัสดุต่างๆ คือ ๑) ดิน ๗ เมือง ๒) ขี้ตะไคร่เรือจ้าง ๗ ท่า ๓) ขี้ตะไคร่เสาตะลุงช้าง ๗ เสา ๔) รังนกหัวหงอก ๕) ดินอุดโพรงนกเหงือก ๖) เทียนวิปัสสนา ๗) หนังสือ แต่ ในสมัยของท่านวัสดุบางอย่างหายากมาก จึงต้องใช้อย่างอื่นแทน และในการปลุกเสกทุกครั้ง ท่านจะนำเม็ดลูกอมของหลวงพ่อรุ่ง มาผสมปลุกเสกด้วยเสมอสีผึ้งและลูกอมวัดจันเสนนี้โด่งดังมาก ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเพียง ๓ ลูกเท่านั้น และนำติดตัวไปด้วยเสมอ ต่อมาท่านมีกิจนิมนต์ ท่านจึงไปพร้อมกับพระครูพยอม วัดราษฎร์บำรุง ตำบลน้ำตาล อำเภออินทร์บุรี ได้ไปยืนคอยเรืออยู่ริมแม่น้ำ เรือผ่านไปมาไม่มีแวะรับท่านสักลำ จนเวลาจะไม่ทันงานที่เขานิมนต์ ท่านจึงนำลูกอมที่ท่านสร้างมาเสกภาวนา พร้อมอธิษฐานว่าถ้าเรือมาขอให้จอดรับท่าน วิ่งไปจนระยะคุ้งน้ำงเลี้ยวกลับมารับท่านทั้งสอง เมื่อนิมนต์ท่านขึ้นเรือแล้วท่านก็ถามว่า "เมื่อกี้ทำไมไม่จอดรับต้องเลยไปก่อน" คนขับเรือตอบว่า "พอผมเลยไปถึงข้างหน้าแล้วพึ่งนึกขึ้นได้ว่าท่านทั้งสองจะไปไม่ทันฉันเพล จึงย้อนกลับมารับ" ดังนั้นการสร้างลูกอมจากวัดจันเสนจึงมีมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้จะสิ้นหลวงพ่อโอดไปแล้ว แต่ท่านพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ (เจริญ) ก็ได้รับการถ่ายทอดวิชานี้ไว้จากหลวงพ่อโอดไว้ จนมีความสามารถที่จะสร้างแจกแก่บรรดาผู้ที่ยังต้องการลูกอมของวัดจันเสนอยู่
ทรายเสกที่ศักดิ์สิทธิ์
ในห้องพระหลวงพ่อนาค วัดจันเสน จะมีกระถางธูปขนาดใหญ่ใส่ทรายไว้ตลอดเวลา ประชาชนที่มากกราบไหว้หลวงพ่อนาค และหลวงพ่อโอด จะต้องนำถุงใส่ทรายในกระถางธูปนี้กลับบ้านทุกคน เพราะทรายในกระถางธูปนี้ หลวงพ่อโอดท่านจะทำการปลุกเสกในตอนกลางคืนของทุก ๆ คืน เชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการคุ้มครองป้องกันไฟ โจรผู้ร้าย และภูตผีปีศาจ ได้อย่างดี วันหนึ่ง ๆ จะมีผู้นำทรายจากวัดจันเสนไปเป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้มานำทรายไปอยู่เช่นเดิม ท่านพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ (เจริญ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านจะทำการเสกไว้ในตอนกลางคืนทุก ๆ คืน ท่านได้รับการถ่ายทอดจากหลวงพ่อโอดไว้เช่นกัน
ภาพยนตร์ ลิเก ต้องจ้างให้เลิก
วัดจันเสนปกติจะมีงานประจำปีเพียงปีละ ๓ ครั้งเท่านั้นคือ ๑. งานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อโอด ๒. งานวันสงกรานต์
๓. งานวันลอยกระทง ในงานประจำปีทุกครั้ง สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับงานนี้คือ ภาพยนตร์และลิเก ซึ่งที่วัดจันเสนนี้ ไม่เหมือนที่วัดอื่น ๆ เพราะ ภาพยนตร์ ลิเก ที่มาแสดงในวัดนี้ จะต้องจ้างให้เลิกแสดงทุกครั้งในวันสุดท้ายของงาน หากว่าหลวงพ่อโอดท่านไม่จ้างให้เลิกเล่นแล้ว ทั้งภาพยนตร์ ลิเก ก็จะเล่นอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าจะเช้า สายเพียงใด และเป็นเช่นนี้มากกว่า ๒๐ ปี แล้ว เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ภาพยนตร์ ลิเก และประชาชนทั้งหลายเชื่อมั่นกันว่า จำนวนเงินที่หลวงพ่อโอดท่านจ้างให้เลิกแสดงนั้น จะไปตรงกับหวยที่ออกในงวดนั้น ๆ เสมอ
มีเมตตาสูงยิ่ง
หลวงพ่อโอดท่านเป็นพระที่มากด้วยเมตตา ท่านตัดแล้วซึ่งโกรธ โลภ หลง วันหนึ่ง ๆ ท่านจะนั่งคอยรับแขก อยู่ทั้งวัน ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใจไปหาท่าน ท่านก็จะให้คำแนะนำที่ดีแก่เขาเหล่านั้น ไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็น คนรวย คนจน ท่านอนุเคราะห์ให้แก่เขาเหล่านั้นเสมอกันทุกคน มีบางคนขึ้นไปขอเงิน ขอข้าวของต่างๆจากท่าน ท่านก็ให้โดยมิได้หวงแหน บางคนนำของมาเสนอขายให้ท่าน ท่านก็ซื้อไว้ทั้งที่รู้ว่าเป็นของไม่ดี เช่นนำพระเครื่อง พระบูชา มาให้ท่านเช่า ท่านก็มีเมตตาเช่าไว้ โดยท่านพูดว่า เมื่อชาติก่อนติดค้างเขาไว้ ชาตินี้เขาจึงต้องตามมาทวงคืน ให้ๆ เขาไปเถิดจะได้ไม่ต้องติดค้างกันอีก ในการพูดคุยกับญาติโยมที่มาหาหรือว่ากล่าวใคร ท่านยิ้มอยู่เสมอ แม้แขกมานั้นจะจู้จี้ พูดมาก จนน่าเบื่อเพียงแค่ไหน ท่านก็ไม่มีอาการให้เห็นว่าท่านรำคาญหรือรังเกียจเขาเหล่านั้น แต่จะยิ้มเสมอ ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นท่านแสดงอาการโกรธ หรือดุด่าว่ากล่าวใครเลย นับว่าท่านมีเมตตาสูงยิ่ง
อาพาธและมรณภาพ
หลวงพ่อโอดท่านป่วยด้วยโรคเบาหวานมานานนับสิบๆปี แต่ท่านก็ใช้พลังจิตของท่าน ข่มกลั้นความเจ็บป่วยนั้นมาตลอด ไม่หนักหนาจริงๆ ท่านจะไม่ยอมให้พาท่านไปโรงพยาบาลเลย จนบั้นปลายของชีวิต อาการเบาหวานของท่านกำเริบมาก จนเท้าของท่านบวมอยู่ตลอดเวลา คณะกรรมการวัดและศิษย์ของท่าน ก็นำท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ บ้าง ที่บ้านหมี่บ้าง แต่ท่านเองก็ไม่ค่อยจะยอมไปเพราะท่านเกรงใจเขาเหล่านั้นที่จะต้องมาเสียค่า ใช้จ่ายในการรักษาท่าน จนครั้งหลังสุดอาการเบาหวานของท่านกำเริบมากจนไตไม่ทำงาน ต้องนำเข้าโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ เพื่อล้างไต เมื่ออาการดีขึ้นท่านก็ขอให้ท่านกลับวัด มาอยู่จันเสนได้ไม่นานอาการของท่านทรุดลงอีก คณะศิษย์จึงนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ ท่านอยู่ ที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ได้ไม่นาน ท่านก็มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๒ เวลา ๒ ทุ่มเศษ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันอาสาฬบูชา ประชนชนชาวจันเสนและใกล้เคียง ต่างเศร้าโศกเสียใจ อาลัยในมรณภาพของท่านมาก ทางคณะกรรมการวัดได้เคลื่อนศพของท่านจากโรงพยาบาลบ้านหมี่ มายังวัดจันเสน มีประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่มากมายเป็นประวัติการณ์ปัจจุบันร่างของท่านยังอยู่ ที่ตึกนิสิตสามัคคี เปิดให้ประชนชนทั่วไปได้สักการบูชาทุกๆ วัน สิริรวมอายุได้ ๗๒ ปี ๖ เดือน ๑๙ วัน ๕๐ พรรษา
มณฑปวัดจันเสน
เมื่อบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อโอด ท่านมีความประสงค์อย่างยิ่งที่จะสร้างมณฑป บรรจุพระธาตุซึ่งท่านมีอยู่ โดยมีโครงการว่า ตัวมณฑปจะใช้เป็นที่บรรจุพระธาตุ ส่วนชั้นล่างจะใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ และเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บวัตถุโบราณของเมืองจันเสน ท่านได้มอบหมายให้ คุณประสิทธิ์ โตวิวัฒน์ เป็นผู้ติดต่อกับสถาปนิกออกแบบแปลนมณฑป และจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่น "รุ่นสร้างมณฑป" ขึ้น เมื่อวัตถุมงคลรุ่นนี้สร้างเสร็จท่านก็ปลุกเสกให้เป็นอย่างดีทุกคืน ท่านพูดเป็นนัยว่า ปลุกเสกนี้ให้เต็มที่เลยเพราะคงจะเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว เมื่อปรับพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างมณฑปเสร็จแล้ว ท่านก็ได้เป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อช่างได้ทำการลงเสาเข็มรากฐานมณฑปเสร็จไม่นานท่านก็มรณภาพ การก่อสร้างเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อพระครูนิวิฐธรรมขันธ์(เจริญ) ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจันเสน ต่อจากหลวงพ่อโอดท่านจึงได้ดำเนินการก่อสร้างต่อ ปัจจุบันแล้วเสร็จไปกว่าครึ่งแล้ว นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม และเด่นเป็นสง่าแห่งหนึ่งของวัดจันเสน
ข้อมูลอ้างอิงจาก : soonphra.com