หลวงพ่อเพชร วชิโร
ประวัติ วัดอัมพวัน จ.สุราษฎร์ธานี
ประวัติ
นามเดิมของท่านพระครูวิบูลย์ธรรมสาร คือ เพชร ท่านเกิดที่บ้านมะเดื่อหวาน หัวเมืองพงัน (ขึ้น) เมืองไชยา ซึ่งในปัจจุบันได้แก่ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะพงัน อำเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โยมบิดาชื่อ นายยวน โยมมารดาชื่อ นางจันทร์ ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.2456 (แต่บังคับใช้โดยเบ็ดเสร็จตั้งแต่ 1 เมษายน 2461) เครือญาติของท่านใช้ชื่อสกุลว่า พรหมสนิท ท่านหลวงปู่เพชรเป็นบุตรคนสุดท้อง มีพี่ชายร่วมบิดา-มารดาเพียงคนเดียวชื่อ พร แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เกี่ยวกับ วันเดือนปีเกิด ของท่าน เอกสารที่เคยนำเสนอประวัติของท่าน (ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเอกสารชั้นหลัง) กล่าวกันเป็นหลายนัยด้วยกัน คือ
1. วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2380
2. วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2390 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม และ
3. วันจันทร์ เดือน 4 ปีมะแม พ.ศ.2390
แต่จากการตรวจสอบกับ ปฏิทิน 300 ปี (ค.ศ.1797-ค.ศ.2097)-ฉบับภาษาอังกฤษ และปฏิทินภาษาไทยของ อาจารย์เทิม มีเต็ม โดยการยึดถือวันเดือนปีเกิดทางจันทรคติของท่านเป็นหลัก ได้ข้อยุติเกี่ยวกับวันเดือนปีทางสุริยคติที่ตรงกับ วันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม ว่าคือ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2390 นพศก จ.ศ.1209 ร.ศ.66 จึงกล่าวได้ว่า หลวงปู่เพชรเกิดในปีที่ 24 แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
บรรพชาอุปสมบท
เมื่ออายุประมาณ 13-14 ปี (ประมาณ พ.ศ.2403-2404) โยมบิดาได้พาไปฝากให้เรียนอักขระวิธี ก ข นโม กับ ท่านอุปัชฌาย์จันทร์ เจ้าอธิการวัดมะเดื่อหวาน (แต่ในรายงานมณฑลชุมพร ร.ศ.119 ของ พระศาสนดิลก เรียกว่า วัดภูเขาแก้ว) อยู่ศึกษาเล่าเรียนกระทั่งอายุ 17-18 ปี (ประมาณ พ.ศ.2407-2408) ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดมะเดื่อหวาน โดยมี พ่อท่านจันทร์ เป็นพระอุปัชฌายะ
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้วท่านก็ครองเพศบรรพชิตเรื่อยมา จนอายุครบเกณฑ์อุปสมบท ก็ได้ทำการอุปสมบท
สำหรับเรื่องการอุปสมบทของหลวงปู่เพชรนั้น ก็มีการกล่าวกันเป็นหลายนัยเช่นกัน กล่าวคือ
1. อุปสมบทเมื่ออายุ 21 ปี พ.ศ.2410 ณ พัทธเสมา วัดมธุระวราราม (วัดมะเดื่อหวาน) พระอุปัชฌาย์จันทร์ เจ้าอาวาสวัดมธุระวราราม เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิการขวัญ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า วชิโร
2. อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในสำนักของท่านอุปัชฌาย์จันทร์
3. พ่อท่านคง วัดอัมพวัน เป็นพระอุปัชฌายะ
4. พ่อท่านจันทร์ วัดมะเดื่อหวาน เป็นพระอุปัชฌายะ พ่อท่านขวัญ วัดใน (บ้านใต้) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ่อท่านคง วัดอัมพวัน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แต่เมื่อวิเคราะห์โดยอาศัย “บัญชีแนบท้ายรายงานมณพลชุมพร ร.ศ.119” (พ.ศ.2443) ของ พระศาสนดิลก ผู้อำนวยการศึกษามณฑลชุมพร เป็นเกณฑ์ ซึ่งมีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ใน “รายชื่อเจ้าคณะแขวง เจ้าอธิการหมวด เจ้าอธิการหัววัด แลจำนวนพระอนุจรสามเณรศิษย์ ในแขวงอำเภอเกาะสมุย ศก 119” ความส่วนหนึ่งว่า “ตำบล เกาะพงัน ชื่อวัด อัมพวัน พัทธสีมา มีชื่อเจ้าอธิการหมวด พระเพ็ชร์ พรรษา 31 อายุ 54 พระอนุจร 6 สามเณร 4 ศิษย์ 15 รวม 26 หมายเหตุ-“จากที่เอกสารของพระศาสนดิลก
เนื่องจากท่านพระศาสนดิลก ทำการตรวจการคณะสงฆ์ในเมืองกาญจนดิตถ์ (เมืองต้นสังกัดของแขวงอำเภอเกาะสมุยในขณะนั้น) ในห้วงปลายเดือนพฤษภาคม อันเป็นช่วงต้นปี 2443 เพราะยุคนั้นเปลี่ยนศักราชใหม่ในเดือนเมษายน เดือนพฤษภาคมจึงเป็นเดือนที่สองของปี) ระบุว่า ในช่วงก่อนการเข้าพรรษาปี 2443 หลวงปู่เพชรมีพรรษา 31 ทำให้คำนวณได้ว่า ท่านอุปสมบท ก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ.2412 เมื่อมีอายุประมาณ 22 ปี
ประกอบกับเมื่อ พ.ศ.2528 เคยเห็นข้อความบนกระดาษในกรอบกระจก วางอยู่ด้านหลังพระประธานในอุโบสถวัดอัมพวัน ต่อมาภายหลังได้ทราบจาก หลวงพ่อจบ เรืองโรจน์ ศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่เพชรว่า เอกสารดังกล่าวเป็น ลายมือเขียนของหลวงปู่เพชร ซึ่งในสมัยที่หลวงปู่เพชรยังมีชีวิตอยู่ท่านวางกระดาษแผ่นนี้ไว้ที่ “หัวนอน” (บริเวณเหนือศีรษะในที่จำวัด) เพื่อสำหรับการสักการะรำลึกถึงในทุกคืนก่อนเข้านอน (ครั้นทราบว่า เป็นลายเขียนของหลวงเพชรใน พ.ศ.2530 ผู้เขียนได้เข้าไปในอุโบสถวัดอัมพวันเพื่อดูเอกสารดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวสูญหายไปแล้ว น่าเสียดายนัก) จำได้ว่า ข้อความในกระดาษเป็นการกล่าวถึงคุณอาจารย์ โดยมิได้ระบุชื่อ เพียงแต่กล่าวว่า
“ท่านวัดมะเดื่อหวาน ท่านวัดโพธิ์ ท่านวัดใน ท่านวัดอัมพวัน”
จากข้อความดังกล่าวแสดงว่า พระภิกษุในเกาะพงันที่หลวงปู่เพชรตรึกรำลึกถึงคุณในฐานะอาจารย์มีอยู่ด้วย กัน 4 รูป คือ พ่อท่านจันทร์ (ท่านวัดมะเดื่อหวาน) พ่อท่านหมื่น (ท่านวัดโพธิ์) พ่อท่านขวัญ (ท่านวัดใน) และ พ่อท่านคง (ท่านวัดอัมพวัน)
เท่ากับเป็นการบ่งชี้ว่า พ่อท่านหมื่น วัดโพธิ์ ก็เป็นอาจารย์ของหลวงปู่เพชรด้วย เนื่องจากประวัติที่ว่า พ่อท่านหมื่นเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ (ตำบลบ้านใต้ เกาะพงัน) องค์ก่อน พ่อท่านขวัญ คือภายหลังจากพ่อท่านหมื่นมรณภาพ พ่อท่านขวัญได้ครองวัดโพธิ์ (โดยก่อนหน้านั้นได้ย้ายจากวัดในไปดูแลที่พักสงฆ์ท้องศาลา แล้วย้ายไปวัดบน (วัดสมัยคงคา) ระยะหนึ่ง ก่อนจะมาครองวัดโพธิ์ ทำให้ต่อมาวัดในร้าง-ไม่มีเจ้าอาวาสเป็นการถาวร) กับปรากฏหลักฐานเอกสารว่า พ่อท่านขวัญก็เป็นพระอุปัชฌายะ ด้วย และใน พ.ศ.2443 ท่านยังมีชีวิตอยู่ (โดยในปีนั้นท่านมีอายุ 70 ปี พรรษา 47)
จึงสันนิษฐานโดยอาศัยข้อความที่หลวงปู่เขียนไว้ดังกล่าวได้ว่า ท่านวัดมะเดื่อหวาน (พ่อท่านจันทร์) คือ อาจารย์ผู้สอนอักษรสมัยและเป็นพระอุปัชฌายะครั้งบรรพชาเป็นสามเณร (ประวัติวัดอัมพวัน ของ นายพรหมแก้ว วิเชียรเชื้อ แสดงนัยว่า พ่อท่านจันทร์มรณภาพก่อนปีที่หลวงปู่เพชรจะบรรพชาด้วยซ้ำ แต่ขออนุโลมยึดถือคำบอกกล่าวที่ว่า พ่อท่านจันทร์เป็นพระอุปัชฌายะของหลวงปู่เพชร โดยคาดว่า ประวัติวัดอัมพวันอาจคำนวณปีดังกล่าวคลาดเคลื่อนก็ได้)
ส่วนท่านวัดโพธิ์-พ่อท่านหมื่น คือ พระอุปัชฌาย์เมื่ออุปสมบท และท่านวัดใน-พ่อท่านขวัญ คือ พระกรรมวาจาจารย์ กับท่านวัดอัมพวัน-(น่าจะเป็น) พ่อท่านคง คือ พระอนุสาวนาจารย์ (แต่บางท่านก็ว่า ที่ท่านเรียก พ่อท่านคง ว่า อาจารย์ มิใช่เพราะเป็นพระอนุสาวนาจารย์ แต่เนื่องจากพ่อท่านคง เป็นผู้สร้างผู้ก่อตั้งวัดอัมพวัน และพ่อท่านคงได้มรณภาพไปก่อนที่หลวงปู่เพชรจะบวชแล้ว คือมรณภาพใน พ.ศ.2407 สำหรับท่านที่เชื่อถือในกระแสนี้ เห็นว่าหลวงปู่เพชรอุปสมบทโดยมีเฉพาะพระอุปัชฌายะและพระกรรมวาจาจารย์เท่านั้น)
พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา พุทธคุณในเหรียญรุ่นนี้เด่นทาง เมตตามหานิยม ข้อมูลอ้างอิงจาก : p.moohin.com