หลวงพ่อเจริญ ปภาโส ( พระครูสุวรรณวิสุทธิ์ )
ประวัติ วัดธัญญวารี (วัดหนองนา) ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเจริญ ปภาโส ( พระครูสุวรรณวิสุทธิ์ )
วัดธัญญวารี (วัดหนองนา)
ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
พระครูสุวรรณวิสุทธิ์ (หลวงพ่อเจริญ ปภาโส)
อดีตเจ้าคณะอำเภอดอนเจดีย์ เเละอดีตเจ้าอาวาสวัดธัญญวารี (วัดหนองนา)
ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงปู่เจริญ หรือ หลวงพ่อเจริญ วัดธัญญวารี ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิษย์มือซ้ายของหลวงปู่โต๊ะ วัดสองเขตสามัคคีธรรม ( วัดลาดตาล ) ส่วนศิษย์มือขวาของหลวงปู่โต๊ะคือ หลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย ) หลวงพ่อเจริญท่านมีความสามารถเก่งในด้านอักขระขอม และช่างก่อสร้าง
หลวงพ่อเจริญมีอุปลักษณะนิสัยดี หัวเราะเก่ง อารมณ์เย็น ไม่ดุด่าว่าใคร สมัยหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ผมเคยไปกราบนมัสการมาแล้ว นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตจริงๆที่ได้กราบไหว้พระอริยะสงฆ์ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบันนี้
หลวงพ่อเจริญ ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีปฏิปทาน่าเคารพบูชา ท่านมีประวัติดีเด่นน่าศึกษาควรแก่การยกย่องก็คือ ท่านเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกในการสร้างวัดธัญญวารี เป็นรูปแรกแต่ชาวบ้านมักเรียกชื่อวัดตามชื่อของหมู่บ้านว่า “วัดหนองนา” ซึ่ง บริเวณพื้นที่ของหมู่บ้านนี้แต่เดิมกันดารมาก การเดินทางไปมาก็ไม่สะดวก แต่หลวงปู่เจริญท่านก็มีความอดทนอุตสาหะอย่างมากในการพัฒนาวัดให้เจริญก้าว หน้าจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ แล้วท่านยังเป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก เป็นเจ้าคณะตำบลรูปแรก และเป็นเจ้าคณะอำเภอรูปแรกอีกด้วย นับว่าผลงานตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ของท่านควรแก่การศึกษาและยกย่องอย่างมาก
นามเดิม เจริญ นามสกุล เปรมรัตน์ เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2452 ปีระกา ณ.บ้านหลักแก้ว อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง โยมบิดาชื่อ เหลี่ยม โยมมารดาชื่อ ปาน
อายุ 15 ปี พ.ศ.2467 ท่านได้เดินทางมาอยู่กับญาติยังเมืองสุพรรณ และบรรพชาเมื่ออายุ 17 ปี พ.ศ. 2468 ณ.วัดสำปะซิว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีพระอธิการเหย่ เจ้าอาวาสวัดสำปะซิว เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านเดินทางกลับวิเศษไชยชาญเพื่อไปอุปสมบทยังวัดบ้านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2472 ณ. พัทธสีมาวัดลานช้าง ตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยมี
หลวงพ่อบุญ วัดสี่ร้อย เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อหิน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อจั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาทางธรรมว่า ปภาโส หลังจากอุปสมบทได้เดินทางกลับมาจำพรรษายังวัดสุวรรณภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ และในปี พ.ศ.2472 นี้เองท่านก็สามารถสอบได้นักธรรมเอกจากสำนักเรียนวัดสุวรรณภูมิ
พ.ศ.2476 หลวงพ่อเจริญ ในวัย 24 ปี 4 พรรษา นักธรรมเอกสำนักวัดสุวรรณภูมิ ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติที่บ้านหนองนา แล้วได้เห็นพื้นที่หมู่บ้านหนองนามีทำเลเหมาะแก่การสร้างวัด ประกอบกับบ้านหนองนามีจำนวนประชากรมาก เวลาจะบำเพ็ญกุศลกันทีต้องเดินทางไปยังวัดที่อยู่หมู่บ้านอื่นซึ่งไกลกันมาก ไม่สะดวก ท่านจึงปรึกษากับชาวบ้าน ชาวบ้านก็เห็นดีด้วย แล้วชาวบ้านก็ได้ร่วมกันถวายที่ดินให้สร้างวัดตามประสงค์
ตอนแรกเมื่อ พ.ศ.2476 ได้ ติดต่อขออนุญาตทางราชการเพื่อจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ชาวบ้านหนองนาจึงได้เดินทางไปยังวัดสุวรรณภูมิ ได้ขออนุญาตพระครูโต๊ะ ( หลวงปู่โต๊ะ วัดลาดตาล ) ซึ่งสมัยนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิและเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเจริญ เพื่อติดต่อขอหลวงพ่อเจริญ มาดำรงตำแหน่งเจ้าสำนักสงฆ์ทิพยวารี (ชื่อ เดิมของวัดสมัยแรกเริ่มตั้ง) และชาวบ้านยังได้ไปอาราธนาพระอธิการแต้ม วัดสำปะซิว ( ภายหลังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระลอย ) มาร่วมช่วยกันก่อสร้างและพัฒนาวัดนี้ขึ้นด้วย
ในปีแรก พ.ศ.2477 นับเป็นพรรษาแรกมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ทั้งหมด 8 รูป หลวงพ่อแต้ม หลวงพ่อเจริญ และพระที่อยู่จำพรรษาด้วยกัน พร้อมด้วยชาวบ้านได้เริ่มก่อสร้างวัดขึ้น มี กุฏิ สระน้ำ หอประชุม โดยหลวงพ่อเจริญและหลวงพ่อแต้มได้ใช้ความรู้ในเรื่องการก่อสร้าง (ช่างก่อสร้าง) ที่เรียนมาจากหลวงปู่โต๊ะ แล้วหลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อแต้ม ก็กลับไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสำปะซิวดังเดิม
พ.ศ.2480 พระ วิบูลเมธาจารย์ วัดปราสาททอง (เจ้าคณะจังหวัดสมัยนั้น) ได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อเจริญ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทิพยวารี (ชื่อเดิม) อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้
หลัง จากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแล้วหลวงพ่อเจริญท่านก็ได้สร้าง เสนาสนะและถาวรวัตถุ ที่ทำสังฆกรรมสงฆ์ และสิ่งก่อสร้างต่างๆอย่างมากมาย
พ.ศ. 2481 หลวงพ่อเจริญได้ปรึกษากับศิษย์ว่า การที่ทางวัดเปิดสอนหนังสือแก่เด็กนั้น (โดย แรกเริ่มหลวงพ่อเจริญนั้นเป็นผู้สอนเอง ภายหลังภาระการก่อสร้างวัดมากขึ้น จึงต้องจ้างครูมาสอนแทน) มีเด็กอีกมากมายที่ยังไม่มีความรู้ ไม่มีวิชาติดตัว เห็นทีสมควรจะจัดตั้งเป็นโรงเรียนและมีครูสอน อย่างมาตรฐาน จึงทำเรื่องขออนุญาตทางราชการเปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้น
พ.ศ.2482 ทาง ราชการก็ได้อนุญาตให้ทางวัดจัดตั้งโรงเรียนขึ้น แต่มีความเห็นว่า ชื่อของวัดทิพยวารียังไม่เหมาะสมที่จะนำมาเป็นชื่อโรงเรียนเพราะว่าไม่สอด คล้องกับชื่อของหมู่บ้าน(หนองนา) จึงขอให้ทางวัดและโรงเรียนใช้ชื่อว่า ธัญญวารี อันมีความหมายสอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน หนองนา ดังนั้นหลวงพ่อเจริญจึงส่งเรื่องถึงคณะสงฆ์ขอเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดธัญญวารี
พ.ศ.2483 ทางวัดได้ยื่นเรื่องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อทางราชการ จวบจน พ.ศ.2486 ได้ทำพิธีปักเขตวิสุงคามสีมา
วัดธัญญวารี ได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 จวบจนปัจจุบัน (พ.ศ.2550) เป็นเวลา73 ปี ได้รับให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เป็นวัดดีเด่น ก็ด้วยเพราะหลวงพ่อเจริญและความร่วมมือของผู้มีส่วนร่วมทุกๆท่าน จวบจนปัจจุบันเป็นวัดที่ใหญ่วัดหนึ่งในเมืองสุพรรณ
หลวงพ่อเจริญมรณภาพด้วยชราภาพในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2545 สิริอายุ 92 ปี 72 พรรษา
ปาฏิหาริย์วัตถุมงคล
วัตถุมงคลของหลวงปู่เจริญ ท่านเริ่มสร้างรุ่นแรกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 จวบ จนมรณภาพ มีมากมายหลายอย่าง ทั้งที่ท่านสร้างเอง และลูกศิษย์สร้าง ( วัตถุมงคลของวัดธัญญวารีรุ่นหลังๆ สมัยหลวงปู่เจริญยังมีชีวิตอยู่ ผู้ดำเนินการสร้างคือ พระครูปริยัติวราภรณ์ หรือหลวงปู่เฉลี่ย ศิษย์เอก และศิษย์ผู้รับใช้ใกล้ชิดของท่านเป็นผู้สร้างแล้วให้หลวงปู่เจริญปลุกเสก ) วัตถุมงคลมีมากมาย อาทิ ภาพถ่าย เหรียญ เหรียญหล่อ รูปหล่อ พระเนื้อผง พระเนื้อดิน พระบูชา เครื่องของของขลังชนิดต่างๆ เช่น ผ้ายันต์ หนังหน้าผากเสือ สีผึ้ง เป็นต้น
วัตถุมงคลของท่านมีผู้ประสบปาฏิหาริย์มากมาย อาทิ
- พระผงรูปไข่ รุ่นนิยม รุ่นแรก ปี พ.ศ.2500 สามเณรวัดธัญญวารีช่วยปีนขึ้นไปก่อสร้างพระอุโบสถ เกิดพลัดตกลงมาข้างล่าง ปรากฏว่าไม่เป็นไร ในอังสะมีพระรุ่นนี้อยู่องค์เดียว
- เหรียญรุ่น 5 รอบ (รุ่นแรก) นิยมมากด้วยมีประสบการณ์สูง อาทิ ชาวบ้านถูกยิงแต่ไม่เข้า , รถคว่ำไม่มีแม้แต่แผล , ถูกฟันแต่ไม่เข้า ฯลฯ
- เหรียญรุ่นเจริญมหาลาภ (รุ่นสอง) ประสบการณ์เด่นทางด้านโชคลาภ
- เหรียญกลมหันข้าง ขอบกนก หน้ายันต์เฑาะ เจ้าของร้านชำบ้านกรวด อ.ดอนเจดีย์ ถูกผู้ร้ายวิ่งเข้าไปยิงในร้าน แต่ไม่เข้า
ศิษย์ของหลวงพ่อเจริญ วัดธัญญวารี (วัดหนองนา)
ศิษย์ของท่านมีมากมายหลายท่าน แต่ที่มีชื่อเสียงพอสมควรแล้วมีดังนี้ หลวงปู่เฉลี่ย วัดธัญญวารี (ศิษย์เอก) , หลวงปู่สมหวัง วัดไร่รถ , หลวงพ่อจำลอง วัดนเรศสุวรรณาราม (เจ้าตำรับปลัดขริกจุกฟักทอง) เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.web-pra.com/Article/Show/457