หลวงพ่อสีทน สีลธโน
ประวัติ วัดถ้ำผาปู่นิมิตร (วัดถ้ำผาปู่) ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสีทน สีลธโน
วัดถ้ำผาปู่นิมิตร (วัดถ้ำผาปู่)
ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
๏ อัตโนประวัติ
หากเอ่ยถึงนาม “พระครูอดิสัยคณาธาร” แห่งวัดถ้ำผาปู่นิมิตร บ้านนาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย ชาวจังหวัดเลยและพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้จักว่าท่านเป็นใคร แต่ถ้าเอ่ยถึง “หลวงพ่อสีทน สีลธโน” ทุกคนจะเข้าใจในทันที หลวงพ่อสีทน อดีตท่านเป็นพระเถระที่สำคัญรูปหนึ่งของจังหวัดเลย เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดเลย รวมทั้งในภาคอีสานและภาคกลางมากรูปหนึ่ง ท่านเป็นพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเป็นลูกศิษย์ที่สำคัญรูปหนึ่งของหลวงปู่คำดี ปภาโส พระเถระชื่อดังอีกรูปหนึ่งแห่งเมืองเลย
หลวงพ่อสีทน สีลธโน มีนามเดิมว่า สีทน แข็งแรงดี เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2472 ตรงกับวันศุกร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง ณ หมู่ที่ 8 บ้านหนองน้ำเค็ม ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี โยมบิดาชื่อ นายชาย แข็งแรงดี โยมมารดาชื่อ นางมา แข็งแรงดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 3 คน ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่
๏ วิทยฐานะ
จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนเชียงยืน ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี
ศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี
๏ การบรรพชาและอุปสมบท
เมื่อ อายุ 17 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2489 ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังบรรพชาแล้ว ท่านได้ไปพำนักจำพรรษา ณ วัดป่าโพธิ์ชัย บ้านหนองน้ำเค็ม ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี
หลังจากออกพรรษา เริ่มออกเดินธุดงค์ไปทางจังหวัดหนองคาย พุทธบาทบัวบก พุทธบาทคอแจ้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ตามลำดับ
พ.ศ.2490 จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าอรัญญวาสี ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กับ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เพื่ออบรมสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่เทสก์ ออกพรรษาแล้วเที่ยวเดินธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น เพื่ออบรมกัมมัฏฐานกับ หลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดป่าชัยวัน ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2491 จำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญวาสี บ้านเหล่านาดี ต.บ้านหว้า อ.เมือง จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2492 อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมี พระเทพบัณฑิต (มหาอินทร์ ถิรเสวี สินโพธิ์ ป.ธ.5) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิศาลสารคุณ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระครูคัมภีรนิเทศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้ย้ายไปพำนักจำพรรษาอยู่ตามวัดป่าต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น
๏ ลำดับการจำพรรษา
พ.ศ.2493 จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีภูเวียง ต.ภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2494-2495 จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าชัยวัน ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2496 จำพรรษาอยู่ที่ภูพานคำ ต.หนองผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2497 จำพรรษาอยู่ที่คำเม็ก ภูพานคำ ถ้ำวัวแดง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2498 ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำมโหฬาร ต.หนองหิน อ.ภูกระดึง (ปัจจุบันคือ กิ่ง อ.หนองหิน) จ.เลย และไปจำพรรษาอยู่ตามวัดป่าในจังหวัดเลย
พ.ศ.2499 จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านสูบ ต.บ้านเพีย อ.เมือง จ.เลย
พ.ศ.2500 จำพรรษาอยู่ที่ภูหาดเตียง อ.เชียงคาน จ.เลย
พ.ศ.2501 จำพรรษาอยู่ที่ภูขน ต.บ้านผึ้ง อ.ด้านซ้าย จ.เลย
พ.ศ.2502-2510 จำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
พ.ศ.2511-2512 จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุเขาน้อย ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เที่ยวออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐานกับท่านพระครูวิโรจนธรรมาจารย์
พ.ศ.2513-2538 จำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
๏ ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่คำดี ปภาโส
ครั้งหลังสุด พ.ศ.2498 หลวงพ่อสีทนได้มาจำพรรษาปรนนิบัติรับใช้ หลวงปู่คำดี ปภาโส พร้อมด้วย หลวงปู่ท่อน ญาณธโร และ หลวงปู่เผย วิริโย โดยมาอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย ในขณะนั้นที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ยังเป็นวัดป่าที่ไม่มีความเจริญเช่นปัจจุบัน
หลวง พ่อสีทนท่านมีแนวทางปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญอย่างมากต่อการปฏิบัติภาวนา เพื่อให้พ้นทุกข์ ในส่วนของพระภิกษุ-สามเณร หลวงพ่อได้เน้นเรื่องการปฏิบัติกิจวัตร ข้อวัตรและพระธรรมวินัย มิให้ประพฤติปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทาง ท่านมีอุบายธรรมอบรมสั่งสอน อีกทั้งประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของพระภิกษุสามเณร ท่านเป็นคนมักน้อย ชอบสันโดษ ละเอียดรอบคอบ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัว ไม่รบกวนญาติโยมในเรื่องปัจจัย 4 ท่านเป็นคนมีความอดทนสูงและยังมีคุณธรรมมาก
๏ ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2529 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูอดิสัยคณาธาร”
๏ การมรณภาพ
ต่อ มา หลวงพ่อสีทนได้ล้มป่วยอาพาธ และมรณภาพลงอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลเลย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 เวลา 07.10 นาฬิกา สิริอายุรวมได้ 67 พรรษา 47 ท่ามกลางความเศร้าสลดและความอาลัยเป็นอย่างยิ่งของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์และ พุทธศาสนิกชนทั่วไป
๏ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี กล่าวถึงหลวงพ่อสีทน
ในหนังสือที่ระลึกที่แจกแก่บรรดาคณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อสีทน สีลธโน ประพันธ์โดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พุทธศักราช 2539 ได้กล่าวถึง หลวงพ่อสีทน สีลธโน มีใจความสำคัญว่า
“หลวง พ่อสีทน ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นพระกัมมัฏฐาน มีความคุ้นเคยกันมานาน เคยร่วมเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ที่ประเทศอเมริกาด้วยกันหลายครั้ง ทำให้ทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยศีลาจารวัตรงดงามน่าเลื่อมใส สมกับเป็นพระกัมมัฏฐานผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระสัทธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า”
“ท่านเป็นพระผู้มีศรัทธามั่นคงในพระปัญญา ปฏิบัติตนสำรวมในพระปาฏิโมกข์ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ดำรงความคิดให้มีความเที่ยงตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า”
๏ เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงพ่อสีทน
แม้ ว่าหลวงพ่อสีทน อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาปู่นิมิตร จ.เลย ได้ละสังขารมรณภาพไปนานนับสิบปี แต่ยังเป็นที่เคารพเลื่อมใสจากบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ
ใน ปัจจุบัน คณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อสีทนได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์เพื่อ บรรจุอัฐบริขารและรูปเหมือนหลวงพ่อสีทน เพื่อให้คณะศรัทธาญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชาที่วัดถ้ำผา ปู่นิมิตร ร่วมกับหลวงปู่คำดี ปภาโส พระอาจารย์ของท่านด้วย
๏ พระธรรมเทศนา
เรื่องเครื่องหมายของผู้ถือศาสนา
การถือศาสนา คำว่าการถือศาสนานี้ เราจะหมายเอาแค่ไหนถึงจะเป็นการถือศาสนาอันแท้จริง อันนี้รู้สึกว่าสำคัญอยู่ บางคนถือกันแต่ปาก ถือแต่คำพูดถือตามๆ กันมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย แต่ไม่รู้จักการถือศาสนาอันแท้จริงนั้น อันเข้าถึงพระพุทธศาสนานั้น จะมีอะไรเป็นเครื่องหมาย บางคนอาจยังไม่รู้แหละ
บางคนอาจมีความเห็นว่า ตนได้ไปถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระเจ้าพระสงฆ์ เป็นครั้งๆ คราวๆ ก็ถือว่าตนเองถือศาสนา อาจจะถือแค่นี้ ก็มีบางคนหากถือแค่นี้รู้สึกว่ายังตื้นอยู่ ยังไม่ลึกลับเท่าที่ควร ยังไม่เป็นการถือศาสนาอันถูกต้อง ให้พารู้จักเข้าใจอย่างนั้น คำว่าถือศาสนาที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีเครื่องหมายคือ
(1) มีไตรสรณคมน์ เป็นเครื่องหมาย
(2) มีศีล 5 เป็นเครื่องหมาย
จะ ต้องได้ไตรสรณคมน์เสียก่อน ต้องมีศีล 5 เสียก่อน ถึงว่าเป็นผู้ถือศาสนา เป็นผู้อยู่ในขอบเขตของศาสนา หากว่าพระไตรสรณคมน์ยังไม่มี ศีล 5 ยังไม่มี ยังถือว่าผู้นั้นเป็นคนนอกศาสนาอยู่ ให้พากันรู้จักตัวของตัวเองไว้ว่าเราถือศาสนาพุทธ เราอยู่ในขอบเขตของศาสนาหรือเปล่า ในระยะนี้โอกาสนี้ให้เรารู้และเข้าใจเอาไว้ คำว่าถือไตรสรณคมน์ ก็ถือเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่กราบไหว้สักการบูชา นี้ถือว่าเราถือพระไตรสรณคมน์ ทีนี้จะกล่าวโทษ 5 ประการ ที่จะทำให้ขาดจากพระไตรสรณคมน์
1. เราติเตียนพระพุทธเจ้า
2. เราติเตียนพระธรรม
3. เราติเตียนพระสงฆ์
4. เข้ารีดเดียรถีย์
5. นับถือศาสนาอื่น
โทษ 5 ประการนี้เป็นเหตุให้เราขาดจากพระไตรสรคมน์ อย่างสมมุติว่าเราเคยกราบเคยไหว้ เคยเคารพนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเราติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ถือศาสนาอื่น เข้ารีดเดียรถีย์ เราก็ขาดจากไตรสรณคมน์เลยแหละ ขาดจากพระไตรสรณคมน์เหมือนอย่างพระภิกษุไปผิดสิกขาบท 4 ประการ คือ ปาราชิก 4 ประการแล้วก็ขาดจากการเป็นภิกษุ ทีนี้พวกเราอุบาสกอุบาสิกา ผู้ถือไตรสรณคมน์ ไปล่วงเกินในโทษ 5 ประการ ก็ถือว่าเราขาดจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไป ต้องได้ประกาศปฏิญาณตนใหม่
คำว่า ติเตียนพระพุทธเจ้า นั้น ถือว่าพระพุทธเจ้าไม่ดี หาเรื่องหลอกลวงมนุษย์ทั้งหลาย นี่แสดงว่าติเตียนพระพุทธเจ้า
ติเตียนพระธรรม คำสั่งสอนที่ท่านเขียนเอาไว้ จารึกเอาไว้นี้ เป็นเรื่องหลอกลวงเป็นของปลอมทั้งนั้น นี่แสดงว่าเราติเตียนพระธรรม
ติเตียนพระสงฆ์ นี้หมายเอาพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทางกาย วาจา ใจ นับแต่ผู้มีศีล 227 ขึ้นไปนี่แหละ นี่สงฆ์เหล่านี้ไม่ควรตำหนิติเตียน พระสงฆ์เหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเป็นเบื้องต้น ถ้าเราไปติเตียนดูถูกดูหมิ่นว่ากล่าวท่าน พระไตรสรณคมน์ก็จะขาดไปโดยปริยาย
ทีนี้หากว่าเราไปติเตียนว่า กล่าวพระสงฆ์ที่ไม่มีศีลธรรม เป็นผู้หลอกลวงโลกเขากินนั้น อันนี้พระไตรสรณคมน์เราก็ไม่ขาดหรอก ท่านพูดไว้เฉพาะสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถ้าสงฆ์สะเปะสะปะเที่ยวบอกบุญอันโน้นอันนี้ อะไรที่มันผิดศีลผิดธรรม ด่าหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก สงฆ์เหล่านี้ให้เราสังเกตด้วยสายตาเรา ยิ่งคนที่เคยอ่านนวโกวาท ยิ่งจะรู้จักเรื่องของพระได้ดี ในพระวินัย 227 ข้อนี่แหละ หากพระสงฆ์ทั้งหลายจะเป็นนิกาย จะเป็นธรรมยุต จะเป็นพระบ้าน จะเป็นพระป่า ก็แล้วแต่ หากตั้งอยู่ในสิกขาบทวินัย 227 ข้อนั้นแหละเป็นพระที่น่ากราบไหว้ น่าสักการบูชา หากสงฆ์ใดไม่สมบูรณ์ในศีล 227 ท่านว่าเป็นพวกอลัชชี พวกไม่มีหิริละอายต่อบาป
บางคนก็สงสัยกังขาเหมือนกันในคำว่าติเตียน หมู่พระสงฆ์ เห็นสงฆ์ไม่ดีไม่งามไม่อยู่ในระเบียบธรรมวินัย จะว่ากล่าวตักเตือนอะไรก็ไม่กล้า กลัวพระไตรสรณคมน์ของตนจะขาด ไม่เป็นไรหรอก ตักเตือนว่ากล่าวท่านด้วยเพราะท่านจะลงนรกอเวจี เราก็ดึงเอาไว้ซิ ดึงไว้ลากเอาไว้ ได้บุญเสียด้วย เราผู้ตักเตือนว่ากล่าวอย่าเข้าใจว่าเป็นบาป ไม่เป็นบาปเป็นกรรมหรอก
เข้ารีดเดียรถีย์ พวกเดียรถีย์ทั้งหลายเขานอนขวากนอนหนาม ย่างตนย่างตัว เมืองเราไม่ค่อยมีหรอก โน้นไปอินเดียจึงจะรู้จึงจะเห็น พวกเหล่านี้เป็นพวกต่อต้านพระพุทธศาสนา บางหมู่พวกเดียรถีย์ไม่ชอบชำระสะสางตนตัว ยังไปพบอยู่ ไม่อาบน้ำ ไม่ตัดผม แล้วเอาขี้เถ้าทาตนทาตัว เป็นพวกเดียรถีย์เหมือนกัน เป็นลัทธิประเภทหนึ่ง เป็นผู้ศาสนาไม่รู้ศาสนาอะไรหรอก พวกโยคีเขาว่าเขาเป็นพวกผู้วิเศษเหมือนกัน คือสามารถปล่อยวางตนวางตัว เอาถ่านฟืนถ่านไฟมากลบหัว กลบหาง กลบตัว กลบตน มองไปเหมือนเปรตเหมือนผี
หากเราไปเห็นแถวแม่น้ำคงคา พวกที่ว่าโยคีกลุ่มหนึ่ง กลุ่มหนึ่งปล่อยตนปล่อยตัวไม่มีผ้ามีแพรแหละ จะมีเป็นผู้ชายเป็นส่วนมาก มีบริวารติดตามตูด มีน้ำเต้าทองถือสำหรับใส่น้ำเวลาไปถ่าย นี้ก็เป็นพวกโยคีเหมือนกัน เขาถือว่าเขาสิ้นไปซึ่งอาสวกิเลสเหมือนกัน ละสักกายทิฎฐิได้แล้ว พวกเหล่านี้ไม่ถือตัวถือตน ไม่มีผ้ามีแพร เมืองเขาถือว่าเป็นผู้วิเศษละได้วางได้ พวกเหล่านี้ไม่มีบ้านเรือน อยู่ตามเพิกหินเพิกผาตามร่มไม้ ค่ำตรงไหนนอนตรงนั้น พวกโยคีจำพวกดังกล่าวถ้าเราไปกราบไหว้พวกเหล่านี้แล้วพระไตรสรณคมน์ก็ขาดไป
นับถือศาสนาอื่น มีศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม อะไรเยอะแยะ รวมทั้ง การนับถือภูติผีปีศาจมาเป็นที่สักการบูชากราบไหว้ ศาสนาอื่นใดที่จะเสมอเหมือนศาสนาพุทธนั้นไม่มี ได้เพียงแต่สวรรค์เท่านั้น จะทำจะปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานนั้นทำไม่ได้ แต่ศาสนาพุทธสามารถจะปฏิบัติไปถึงพระนิพพานได้ ปฏิบัติได้จนสิ้นอาสวกิเลสได้ ศาสนาพุทธของเราจึงถือว่าเป็นศาสนาอันเลิศประเสริฐสุด
ทีนี้หากเรา มั่นในพระไตรสรณคมน์จริงๆ แล้ว ถือเฉพาะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่สักการบูชา นี่สมควรแก่มรรคแก่ผล เมื่อเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีโอกาสเกิดมรรคเกิดผลได้ ผู้นับถือไตรสรณคมน์ หากล้มหายตายไปปิดอบายภูมิ 4 ไม่ได้ไปเป็นเปรต อสูรกาย สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เว้นขาดได้เฉพาะภพชาติปัจจุบันเท่านั้น ภพชาติอื่นไม่รับรอง ได้เฉพาะชาติปัจจุบัน ผู้ถือพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง หากภูติผีปีศาจจะมาหลอกหลอนทำให้เจ็บป่วย เพียงแต่ผีเหล่านั้นมาใกล้มากลางศีรษะ พวกผีทั้งหลายแตก 7 ภาค นี่ผู้มั่นในพระไตรสรณคมน์
ทีนี้หากมีผู้ใดมาอิจฉาพยาบาทเบียด เบียนบุคคลผู้มีพระไตรสรณคมน์ กราบไหว้บูชาเช้า-เย็นมิได้ขาด คนนั้นก็เกิดความพินาศฉิบหาย อันนี้เห็นมาหลายราย สมัยอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส เคยเจอมีอยู่คนหนึ่งมาคอยอิจฉา ก็คือต้องการให้คนนั้นหนีจากที่นั้นไป คนนี้เกิดความระแวงใจว่าจะจัดการกับเขาก่อนให้มันหมดเรื่องไป ก็มากราบเรียนหลวงปู่
หลวงปู่ว่า อย่าเลย ให้อโหสิเขาไป หากเราไปทำอย่างนั้นจะเป็นกรรมเป็นเวรต่อไปอีกหลายภพหลายชาติ ขอบิณฑบาตคุณเถอะ คนนี้เชื่อมั่นในหลวงปู่ มั่นอยู่ในพระไตรสรณคมน์ เขาก็มาอิจฉาเบียดเบียนจริงๆ ไปๆ มาๆ คนที่มาอิจฉาพยาบาทเบียดเบียนนั้น เกิดฆ่ากันตายโดยปริยายที่กลุ่มของเขา ผลสุดท้ายอยู่ด้วยความสบาย เพียงแต่เรานับถือกราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่กราบไหว้บูชา ก็ยังกำจัดภัยต่างๆ ได้ ปิดอบายภูมิทั้ง 4 ได้ น่าภูมิใจ น่าพอใจ น่าปฏิบัติจริงๆ นี่ละอำนาจพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ
การปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ ก็ไม่ได้ยากอะไรเลย กราบเช้า-กราบเย็นก็พอ ตอนเช้ากราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จึงค่อยลุกไปทำการทำงาน ก่อนจะหลับนอนก็กราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วจึงค่อยหลับนอน จึงไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรเลยในการปฏิบัติต่อพระไตรสรณคมน์ แล้วก็เว้นโทษ 5 ประการดังกล่าว อย่าไปล่วงเกิน นี้เป็นเครื่องหมายของผู้ถือศาสนา
อีกอย่างหนึ่งคือ ศีล 5 ประการ เราไม่เบียดเบียนใครเลยแหละ เราไม่ลักไม่ขโมยใครแหละ เราไม่ตะกละในกามคุณภรรยาสามีคนอื่นแหละ เราไม่โกหกหลอกลวงใครแหละ เราไม่กินเหล้าเมายาแหละ นี่เป็นเครื่องหมายของผู้ถือศาสนา
ที นี้หากเราประกาศตัวเราว่าเราถือภรรยาสามีของตนอยู่ เรายังโกหกหลอกลวงตอแหลคนอื่นอยู่ เรายังประกาศตนว่าเป็นผู้ถือศาสนามันก็ไม่เป็นผู้ถือศาสนาได้ เพราะการถือศาสนามันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของพวกเรา ต้องอาศัยการปฏิบัติเสียก่อนจึงค่อยเป็นศีลเป็นธรรม เป็นศาสนาขึ้นมาได้ นี่แหละเป็นเครื่องหมายของผู้ถือศาสนาที่แท้จริง ขอให้เราท่านทั้งหลายได้พิจารณาและน้อมเข้าไปประพฤติปฏิบัติในตนของตน ก็จะประสบแต่ความสุขความเจริญ ดังให้คติมาก็เห็นสมควรแก่กาลเวลา เอวัง
.............................................................
รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(1) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย วิชัย จินดาเหม
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5918
(2) หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ 7 เมษายน 2539
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21232