ประวัติ หลวงพ่อมุม อินฺทปญโญ (พระครูประสาธน์ขันธคุณ) - วัดปราสาทเยอร์เหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ - webpra

หลวงพ่อมุม อินฺทปญโญ (พระครูประสาธน์ขันธคุณ)

ประวัติ วัดปราสาทเยอร์เหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ

หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์

หลวงพ่อมุม อินฺทปัญโญ (พระครูประสาธน์ขันธคุณ)

 

  หลวงพ่อมุม อินฺทปัญโญ เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่งที่ครูบาอาจารย์อย่าง หลวงพ่อมุม ที่คนทั้งบ้านทั้งเมืองรู้จักและศรัทธาเต็มหัวใจกลับหาตัวผู้ทราบประวัติของท่านได้อย่างลึกซึ้งไม่มี ท่านจึงเป็นครูบาอาจารย์ที่มีความเป็นมาของท่านมัวซัว เหมือนมีหมอกขึงม่านกั้นไว้ ไม่อาจมองเห็นหรือทราบชัด   

หลายคนไม่เชื่อว่าท่านเป็นชาวบ้านปราสาทเยอร์ แต่ในประวัติที่มีผู้ได้บันทึกไว้บอกว่า ท่านเกิดที่บ้านปราสาทเยอร์ ข้อขัดแย้งนี้มีน้ำหนักมากพอๆกัน   เหตุผลของฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าท่านเป็นชาวบ้านปราสาทเยอร์ คือท่านเป็นคนผิวขาวเกินไป ผิดวิสัยของชาวปราสาทเยอร์ที่ผิวคล้ำดำ เพราะว่าโดยมากถือเชื้อสายค่อนไปทางเขมร แต่หลวงพ่อมุมต่างเขาผู้อื่นอยู่คนเดียว ถ้าหากว่าท่านเกิดที่บ้านปราสาทเยอร์จริง  บิดามารดาของท่านก็คงจรมาจากที่อื่นเป็นคนต่างถิ่น ไม่ใช่คนบ้านปราสาทเยอร์ เหตุผลนี้น่าฟังอยู่เหมือนกัน

   ในประวัติที่ทางวัดบันทึกไว้อย่างสั้นที่สุด น้อยที่สุด ก็ไม่บอกว่าท่านเป็นใคร  มาจากไหน บิดา มารดาเป็นใคร   เหลือเชื่อที่ไม่มีใครบันทึกไว้เลย ถามไถ่ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันที่เคยอยู่ร่วมกัน หลวงพ่อมุมสมัยที่องค์ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังไม่อาจบอกได้

  ประวัติหลวงพ่อมุมที่ทางวัดบันทึกไว้ คงเริ่มบันทึกแต่สมัยที่ท่านมาอยู่วัดบ้านปราสาทเยอร์เป็นต้นมา  ก่อนหน้านั้นไม่มีการบันทึก ไม่มีประวัติหรือรายละเอียดใด ๆ ของหลวงพ่อมุมแม้แต่น้อย คงกล่าวแต่เพียงว่าท่านมาอยู่ที่วัดปราสาทเยอร์แล้วได้ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านประอาง เมื่อ พ.ศ. 2459 - 2474  เป็นเวลา  15  ปี นี่คือส่วนที่ลึกที่สุดของประวัติท่าน   ต่อจากนั้นก็เริ่มบันทึกเรื่องราวของท่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512  เรื่อยมาจนมรณภาพ...การจะเขียนถึงประวัติของท่านจึงเป็นเหมือนคนตาบอดตาฟางคลำหาเป้า  ซึ่งข้อผิดพลาดย่อมมีได้   แต่จะลองคลำดู  ผิดหรือถูกก็ทิ้งไว้เป็นภาระของผู้รู้ตามแก้ไขภายหลังก็แล้วกัน

ชาติกำเนิดของ หลวงพ่อมุม อินฺทปัญโญ ดูจะสับสนอยู่ไม่น้อย ไม่มีใครยืนยันชัดเจนว่าท่านเป็นชาวบ้านปราสาทเยอร์จริงหรือไม่   ผู้เชื่อว่าท่านเป็นชาวบ้านปราสาทเยอร์ก็มี ไม่เชื่อก็มี พื้นเพดั้งเดิมของท่านจึงคลุมเครือ ไม่อาจลงเป็นหลักได้   กระทั่งวัน เดือน ปีเกิดก็หาผู้บันทึกไว้อย่างแน่ชัดไม่ได้  แต่ก็มีผู้ระบุว่าท่านเกิดวันที่   30   พฤศจิกายน   2430    โดยเกิดที่บ้านปราสาทเยอร์นี่เอง เป็นบุตรของนายมากและนางอิ่ม นามสกุล บุญโญ มีพี่น้องร่วมอุทร   5   คน   ท่านเป็นคนสุดท้อง  วันเดือนปีที่ปรากฏนี้ก็ไม่มีผู้สนับสนุนว่าถูกต้อง  แต่ในรูปเหมือนหล่อด้วยโลหะเท่าองค์จริงที่ประดิษฐานอยู่ประจำวัดปราสาทเยอร์ ทุกวันนี้   มีจารึกว่าถูกสร้างขึ้นอยู่ด้วยคือ อายุครบ  90  ปี   4   มี.ค.  2520"   บางทีวันที่   4   มีนาคม  จะเป็นวันเกิดของท่านก็ไม่รู้  

ชีวิตวัยเด็กของท่านนั้นหนังสืออนุสรณ์งานศพบันทึกว่า ท่านได้รับการศึกษาอักษรไทยจากเจ้าอธิการปริม จนอ่านออกเขียนได้ และได้ศึกษามูลกัจจายนะสูตรจนสอบได้นักธรรมตรี ในสนามหลวง  และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่สอนหนังสือไทยในโรงเรียนวัดบ้านปราสาทเยอร์เหนือคนแรก  ระหว่าง พ.ศ. 2459 - 2474  รวมเวลาที่เป็นครูใหญ่  15   ปี  ขณะที่เป็นครูใหญ่นั้นคำนวณอายุจาก พ.ศ. ที่ได้รับแต่งตั้งถอยหลังไปถึงปีเกิดคือ พ.ศ.2430   ท่านมีอายุ   29   ปี   อีกแห่งหนึ่งบอกว่าท่านเริ่มบวชเป็นสามเณรขณะอายุ  12  ปี ที่วัดปราสาทเยอร์ใต้ กับหลวงพ่อบุญมานี้ ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปว่าท่านเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อมุมจริง เหรียญของท่านก็มีผู้นิยมสะสมไว้เหมือนกัน และที่มีวัดปราสาทเยอร์ได้นั้นก็เพราะว่ามีวัดปราสาทเยอร์เหนือด้วย  วัดทั้งเหนือและใต้อยู่คนละฟากกัน ถ้าพูดลอยๆว่าวัดปราสาทเยอร์ ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงวัดปราสาทเยอร์เหนือ ที่หลวงพ่อมุมเป็นเจ้าอาวาสจนมรณภาพ

หลังจากบวชเณรแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ   ในการธุดงค์นี้ประวัติทุกแห่งบันทึกไว้ใกล้เคียงกันว่าท่านไปแสวงหาโมกขธรรม หาครูบาอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาอาคมตามประเพณีนิยมของผู้ถือบวชสมัยนั้น ท่านธุดงค์ไปไกลถึงประเทศเขมร พม่า และลาว  รวมทั้งมาเลซีย ที่ประเทศลาว ท่านได้พบกับสำเร็จลุน แห่งจำปาศักดิ์ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาคมจนแตกฉาน หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับบ้านเกิดและได้พำนักอยู่วัดปราสาทเยอร์ได้ก่อน   แต่ขณะนั้น วัดปราสาทเยอร์เหนือไม่มีเจ้าอาวาส  ร้างผู้ครองวัดนาน   5    ปี    ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านมาอยู่ครองวัดปราสาทเยอร์เหนือ ท่านก็รับและได้ครองวัดปราสาทเยอร์เหนือเรื่อยมาจนมรณภาพ   โดยเริ่มครองวัดปราสาทเยอร์เหนือเมื่อปี 2464

หลังจากที่ได้เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดปราสาทเยอร์มาก่อน  5   ปี   ระหว่าง   5   ปี ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือเด็กนักเรียนนั้น ชาวบ้านคงได้สังเกตเห็นจริยาวัตรและปฏิปทาของท่านจนแน่ใจและมั่นศรัทธาแล้ว  ถึงได้นิมนต์ท่านมาครองวัดปราสาทเยอร์เหนือ    เพราะว่าวัดนี้ได้ร้างเจ้าอาวาสตั้งแต่ปีแรกที่ท่านกลับบ้านเกิด คือปี 2459   แต่ชาวบ้านก็ปล่อยวัดร้างเรื่อยมา  จนในที่สุด ได้ตัดสินใจอาราธนาท่านดังกล่าว

หลวงพ่อมุมได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรในวันที่   5   ธันวาคม 2499   คือเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นตรี  ในราชทินนาม..พระครูประสาธน์ขันธคุณ...และได้รับเลื่อนชั้นเป็นพระสังฆาธิการ  พระครูสัญญาบัตรชั้นโท  ในนามเดิมเมื่อปี  2510   เกียรติประวัติของหลวงพ่อมุม ที่ควรกล่าวถึงคือ....เมื่อวันที่   25   ตุลาคม  2514   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินต้น เป็นการส่วนพระองค์      วัดปราสาทเยอร์เหนือ   ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษ   ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกฐินต้นในจังหวัดศรีสะเกษเป็นครั้งแรก...และวัดปราสาทเยอร์ก็เป็นวัดแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ..ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานกฐินส่วนพระองค์ด้วย

เกียรติคุณของหลวงพ่อมุมนั้นมีมากมาย   ทั้งในด้านการปกครองและพัฒนาพระศาสนา   ซึ่งคงไม่ต้องกล่าวถึงในที่นี้   และเกียรติคุณด้านอาคมขลัง   ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั้งจังหวัดศรีสะเกษ  และคนถิ่นอื่นทั่วไป ประสบการณ์ด้านวัตถุมงคลของหลวงพ่อมุมไม่อาจกล่าวถึงได้ไหว    เพราะว่ามีมากมายหลายเรื่อง    เล่าสู่กันฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้เบื่อ   ทุกวันนี้ท่านเป็นยอดนิยมอันดับหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ   ที่ยังไม่ถูกครูบาอาจารย์อื่นใดมาช่วงชิงตำแหน่งได้ อภินิหารของท่านมีอยู่หลายเรื่อง คนศรีสะเกษซาบซึ้งตรึงใจมากที่สุด

ในส่วนของการมรณภาพของหลวงพ่อมุมนั้น มีรายละเอียดทางแพทย์บันทึกไว้ว่า ท่านสิ้นลมเมื่อเวลา  05.20  น.  ของเช้าวันที่  9 กันยายน พ.ศ. 2522     โรงพยาบาลศรีสะเกษ   ศพของท่านตั้งบำเพ็ญกุศล  100  วัน  จึงพระราชทานเพลิงศพในวันที่  28 - 29  มีนาคม  2524   คือเสร็จจาก   100  วันแล้ว ได้เก็บศพของท่านต่อมาอีกนับปี

 

ข้อมูลจากนิตยสารศักดิ์สิทธิ์   ฉบับที่  248 - 249   ปีพ.ศ. 2536

Top