หลวงพ่อพัฒน์ นารโท
ประวัติ วัดใหม่พัฒนาราม จ.สุราษฎร์ธานี
"หลวงพ่อพัฒน์ นารโท" อดีตเจ้าอาวาสวัดพัฒนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งเมืองปักษ์ใต้ ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนชาวเมืองสุราษฎร์ธานี และภาคใต้มาอย่างยาวนาน
อัตโนประวัติเกิดในสกุล พัฒนพงศ์ เมื่อวันพุธ เดือน 6 ปีจอ พ.ศ.2405 ในปีที่ 12 แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ ตลาดบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายฉุ้นและนางเนียม พัฒนพงศ์
เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาอยู่กับพระอาจารย์ผ่อง แห่งวัดพระโยค ศึกษาเล่าเรียนเนื้อหาวิชาตามควรแก่วัยและตามภูมิพื้นความรู้ของผู้เป็น อาจารย์
ย่างเข้าวัยหนุ่ม ได้สมรสกับนางละม่อม ต่อมาภรร ยาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ได้คลอดบุตรออกมาเป็นผู้หญิง แต่ถึงแก่กรรมภายหลังคลอดได้ไม่นานนัก ท่านเสียใจเป็นอันมาก ทำให้ท่านตัดสินใจหันหน้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ท่านอุปสมบท เมื่ออายุได้ 25 ปี ใน พ.ศ.2430 ณ อุโบสถวัดพระโยค โดยมีพระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าคณะอำเภอกาญจนดิฐและเจ้าอธิการวัดโพธิ์ ต.บ้านตลาดบน (ยึดถือตามรายงานมณฑลชุมพร ร.ศ.119) เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อกล่อม วัดโพธิ์ เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อขำ วัดบางใบไม้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "นารโท"
หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระโยค เป็นเวลาหลายพรรษา
ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ของหลวงพ่อพัฒน์ นอกจากยังความสงบเย็นเกื้อกูลความก้าวหน้าในทางธรรม สำหรับตัวท่านเองแล้ว ยังได้สร้างคุณูปการหลายประ การให้แก่พระศาสนา ราชอาณาจักรและประชาชนอีกด้วย โดยท่านได้เคยดำรงตำแหน่งและหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนเกื้อกูลสนับสนุนการศึกษา
หลวงพ่อพัฒน์เป็นพระสังฆาธิการที่ เป็นธุระจัดการ เอาใจใส่ในความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ลูกวัด ตลอดจนกิจวัตรทางศาสนาต่างๆ นอกจากกิจการศาสนาแล้ว หลวงพ่อพัฒน์ยังได้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาด้วย โดยได้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองกาญจนดิฐ เมื่อประมาณ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440)
หลวงพ่อพัฒน์ดำรงตำแหน่งทางปกครอง เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะแขวงอำเภอบ้านดอนอยู่ประมาณ 4-5 ปี แต่ด้วยความเป็นผู้ไม่ยึดติด หลวงพ่อพัฒน์จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอเมือง (อำเภอบ้านดอน-เดิม) เมืองไชยา และตำแหน่งอุปัชฌาย์ เพื่อออกไปธุดงควัตร
ด้านวิทยาคม หลวงพ่อพัฒน์ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพระเกจิอาจารย์มากมาย อาทิ พระครูสุวรรณรังษี ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อกล่อม พระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อขำ พระอนุสาวนาจารย์ ยังมีพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากวัดเขาหัวลำภู แห่งเขาพระบาท อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช พระธุดงค์รูปนี้ เรียกขานกันว่า "พระอาจารย์สุข"
ทั้งนี้พระอาจารย์สุขได้เมตตาถ่ายทอดสรรพวิชา ทั้งด้านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคม เช่น การลงอักขระอาคมบนแผ่นเงิน แผ่นทอง ตะกรุด ผ้ายันต์ เป็นต้น
วัตถุมงคลของหลวงพ่อพัฒน์ ที่สร้างขึ้นในสมัยท่านยังมีชีวิต คือ พระกสิณ มีทั้งเนื้อดินเผา เนื้อผงผสมว่าน และที่เป็นเหรียญ คือ เหรียญกสิณ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงพ่อพัฒน์ ได้มอบภารกิจหน้าที่ของทางวัดไว้กับหลวงพ่อเจียว สิริสุวัณโณ พระภิกษุผู้เป็นน้องชายของท่านให้เป็นผู้ดูแล ส่วนท่านไปหลบปลีกวิเวก โดยใช้ศาลาที่พักศพในป่าช้าเป็นที่พำนัก ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรภาวนาในพระสัทธรรม
กระทั่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2485 หลวงพ่อพัฒน์ ได้บำเพ็ญสมาธิภาวนาตั้งแต่หัวค่ำด้วยความสงบเย็น จนเวลาประมาณ 08.43 น. หลวงพ่อพัฒน์ นารโท ได้ละสังขารจากไปอย่างสงบ สร้างความเศร้าสลดและความอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์ ญาติมิตร และพุทธบริษัทของวัดอย่างสุดซึ้ง
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ด้วยหลวงพ่อพัฒน์ มรณภาพในท่านั่งสมาธิ และกาลเวลาผ่านไป 6-7 ปี แต่ปรากฏว่าสังขารท่านไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด
ตลอดชีวิตในร่มเงาพระพุทธศาสนา ประกอบคุณงามความดีด้วยจิตใจที่ผ่องแผ้ว แม้ว่าจะละสังขารไปแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดีที่ได้ประกอบศาสนกิจมาตลอดชีวิต ยังคงปรากฏอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองสุราษฎร์อย่างมิลืมเลือน ในฐานะปูชนียบุคคล
ข้อมูลอ้างอิงจาก : krusiam.com