หลวงพ่อผึ่ง
ประวัติ วัดสว่างอารมณ์ราษฎร์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อผึ่ง
วัดสว่างอารมณ์ราษฎร์
อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงพ่อผึ่ง ท่านเกิดที่บ้านไผ่หมู่ ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.2426 โยมบิดาชื่อ หร่าย โยมมารดาชื่อ ปุย อาชีพชาวนา ฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจน ต่อมาบิดามารดาได้แยกทางกัน หลวงพ่อผึ่งอยู่กับมารดา จึงต้องช่วยทำนาตั้งแต่เด็ก มารดาของหลวงพ่อต้องการให้หลวงพ่อผึ่งอ่านออกเขียนได้จึงนำไปฝากเรียนกับ หลวงพ่อแสง วัดคลองมะดัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก หลวงพ่อผึ่งท่านเป็นคนขยันหมั่นเพียร เล่าเรียนหนังสือไทยและขอม สามารถอ่านเขียนได้คล่องแคล่วแตกฉานตลอดจนบทสวดมนต์ ต่อมาเมื่ออายุครบบวชในปีพ.ศ.2488 จึงได้อุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง โดยมีพระปลัดบุญยัง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเหนี่ยง อินทโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อโหน่ง อินทวัณโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลวงพ่อผึ่งบวชได้หนึ่งพรรษา หลวงพ่อสด วัดปากน้ำฯ ซึ่งเป็นคนสองพี่น้องก็มาบวชที่วัดสองพี่น้อง จำพรรษาอยู่กุฏิเดียวกันกับหลวงพ่อผึ่งและหลวงพ่อหอม ท่านทั้งสามองค์สนิทสนมกันมากออกธุดงค์ด้วยกันและใฝ่เรียนวิปัสสนากรรมฐาน ได้เดินทางไปศึกษาวิชาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อปลื้ม สำนักวัดเขาใหญ่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เมื่อศึกษาแล้วก็กลับมาจำพรรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้องตามเดิม ส่วนหลวงพ่อสดท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ
ต่อมาหลวงพ่อผึ่งมาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ ต.บ้านกุ่ม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2462 มีขบวนแห่มาอย่างครึกครื้น หลวงพ่อโหน่ง หลวงพ่อสด และหลวงพ่อหอม ก็มาส่งด้วย ท่านมาถึงก็เริ่มก่อสร้างวัดสว่างอารมณ์ ทันทีด้วยการขอแรงชาวบ้านช่วยกันขุดคูรอบวัด ปลูกมะพร้าวบนคันคู ขุดดินถมเป็นเนินเพื่อสร้างพระอุโบสถ หลวงพ่อผึ่งท่านจะแจกพระผงของท่านให้แก่ญาติโยมที่มาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัด
หลวงพ่อผึ่งท่านได้สร้างผงวิเศษขึ้นมานานแล้ว ท่านได้เขียนยันต์ด้วยดินสอพองในกระดานชนวน เสร็จแล้วลบ ท่านเขียนเป็นเวลาหลายปี เก็บไว้หลายปี๊บ ในปีพ.ศ.2493 หลวงพ่อสดยังมาขอผงวิเศษของหลวงพ่อผึ่งไปผสมสร้างพระของท่านเลย ในการสร้างพระของหลวงพ่อผึ่งท่านจะใช้สายสิญจน์ 108 เส้น วงรอบบริเวณที่จะทำพระ ผู้ที่จะทำการพิมพ์พระจะต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาด และถือศีล จึงจะเข้าร่วมพิมพ์พระของท่านได้ เมื่อสร้างพระเสร็จแล้วท่านก็จะนำพระทั้งหมดเข้าไว้ในพระอุโบสถ ให้พระสวดมนต์เช้าเย็น และกลางคืน เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นท่านก็นำมาปลุกเสกเดี่ยวอีก จนครบไตรมาส
พระที่ท่านสร้างมีด้วยกันหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ประภามณฑล พิมพ์เชียงแสน พิมพ์อกร่อง พิมพ์ 7 ชั้น พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์ชินราช เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง : แทน ท่าพระจันทร์ ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด