หลวงพ่อปาน อัคคปัญโญ (พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ)
ประวัติ วัดมงคลโคธาวาส อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
ข้อมูลประวัติ เกิด พ.ศ.2368 ในสมัย ร.3 บรรพชา ณ วัดอรุณราชวราราม (แจ้ง) อุปสมบท ณ วัดอรุณราชวราราม (แจ้ง) มรณภาพ วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2453 ตรงกับแรม 9 ค่ำ เดือน 9 เวลา 23.45 น. รวมสิริอายุ 86 ปี 65 พรรษา หลวงพ่อปานเป็นชาวบางบ่อ ท่านเกิดที่ คลองนางโหง ตำบลบางเหี้ย (ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ตาเป็นคนจีนชื่อ เขียว ยายเป็นคนไทยชื่อ ปิ่น บิดามีเชื้อจีน ชื่อ "ปลื้ม" มารดาเป็นคนไทย เป็นลูกสาวคนโตของยายปิ่น ชื่อ ตาล อาชีพทำป่าจาก ครอบครัวของท่านอยู่ที่หมู่บ้านโคกเศรษฐี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ คนที่ ๑ ชื่อ นายเทพย์ คนที่ ๒ ชื่อ นายทัต คนที่ ๓ ชื่อ นายปาน (หลวงพ่อปาน) คนที่ ๔ ชื่อนายจันทร์ คนที่ ๕ ชื่อนางแจ่ม ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ ลูกหลานของหลวงพ่อปาน ได้ใช้ชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า "หนูเทพย์" เมื่อตอนเป็นเด็ก บิดามารดาได้นำไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) เพื่อให้เรียนหนังสือไทย ต่อมาไม่นานเจ้าคุณได้ให้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้ ทำให้พ่อแม่เบาใจมาก เมื่อยังเยาว์ ท่านได้ใช้ชีวิตแบบชาวชนบทคนธรรมดา ครั้นเมื่อเติบโตสู่วัยหนุ่ม เริ่มมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในเพศตรงข้ามตามวิสัยปุถุชน วันหนึ่งท่านได้ดั้นด้นไปบ้านสาวคนรัก แต่พอล้างเท้าก้าวขึ้นบันได เกิดอัศจรรย์ขึ้นบันไดไม้ตะเคียนอันแข็งแรงพลันหลุดออกจากกัน ทำให้ท่านพลัดตกจากบันได ท่านจึงคิดได้ว่าเป็นลางสังหรณ์บอกถึงการสิ้นวาสนาในทางโลกเสียแล้ว เมื่อกลับถึงบ้านจึงครุ่นคิดตัดสินใจอยู่หลายวัน ผลที่สุดจึงตัดสินใจออกบวช เมื่ออายุครบบวชจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามนั่นเอง โดยมีท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงไสยศาสตร์ ท่านได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์หลายองค์จนเชี่ยวชาญ ภายหลังได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบางเหี้ยนอก ปัจจุบัน เรียกว่าวัดมงคลโคธาวาส โดยมีพระที่เป็นสหายสนิทตามมาด้วยองค์หนึ่งชื่อ หลวงพ่อเรือน หลังออกพรรษาท่านและพระเรือนเริ่มออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ หลวงพ่อปานและหลวงพ่อเรือนได้ดั้นด้นไปจนถึง"วัดอ่างศิลา" อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และได้ฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของ"หลวงพ่อแตง" เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา โดยศึกษาด้านวิปัสนาธุระ ไสยเวทย์มนต์ต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญและสร้างชื่อเสียงให้หลวงพ่อปานเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ " เขี้ยวเสือโคร่ง ซึ่งแกะเป็นรูปเสือนั่ง " เมื่อมีความเชี่ยวชาญแล้วจึงได้อำลาพระอาจารย์ "หลวงพ่อแตง" มาพำนักอยู่ที่วัดบ้านเกิดตนเองพร้อมด้วยพระอาจารย์เรือน เพื่อนสหาย ณ วัดบางเหี้ย (ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส) และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสโดยมีหลวงพ่อเรือนเป็นรองเจ้าอาวาส ซึ่งทั้งสองรูปได้ปกครองพระลูกวัดทั้งด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมาตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ประตูน้ำที่กั้นแม่น้ำบางเหี้ย หรือประตูน้ำชลหารพิจิตรในปัจจุบัน ได้เกิดรั่วไม่สามารถปิดกั้นน้ำให้อยู่ได้ไม่ว่าช่างจะซ่อมอย่างไร จนกระทั่งข้าราชการในท้องถิ่นได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบเพื่อขอพึ่งพระบารมีพระองค์ท่าน ระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประตูน้ำบางเหี้ยเป็นเวลา ๓ วันนั้น พระองค์ได้รับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อปานเข้าเฝ้าฯ เพื่อไต่ถามเรื่องต่างๆ โดยขณะที่หลวงพ่อปานเดินทางเข้าเฝ้าฯ นั้นได้ให้เด็กชายป๊อด ถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือไปด้วยซึ่งสมัยนั้นแกะจากเขี้ยวเสือจริงๆ เมื่อไปถึงที่ประทับ หลวงพ่อได้เรียกเอาพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กชายป๊อดที่ถืออยู่ แต่พบว่าไม่มีเขี้ยวเสืออยู่ในพานแล้วโดยเด็กชายป๊อดบอกว่าเสือกระโดดลงน้ำระหว่างทางจนหมดแล้ว หลังจากหลวงพ่อปานทราบจึงได้ให้นำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปหมู แล้วเสียบไม้แกว่งล่อเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ตลอด จนถึงกับตรัสกับหลวงพ่อปานว่า "พอแล้วหลวงตา" สำหรับเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานนั้นได้จัดทำด้วยช่างแกะถึง ๖ คน จึงมีรูปร่างไม่เหมือนกันมีทั้ง อ้าปาก หุบปาก โดยช่างทั้งหมดจะเอาแมวมาเป็นต้นแบบในการแกะ พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง”เสด็จประพาส มณฑลปราจิณ” ได้เล่าถึงพระปานไว้ว่า “พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้น ลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯกลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสก ต้องใช้หมู ปลุกเสกเป่าไปข้อไร เสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบาก เหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้า ที่พระบาทฯ (สระบุรี) ก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนมาช่วยพูด" จะเห็นว่า ในพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสเมืองปราจิณ” ได้เล่าถึง “พระปาน” อย่างละเอียด สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ เครื่องรางเขี้ยวเสือที่ทำเป็นรูปเสือ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ราคาเช่าตัวละ ๑ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากในสมัยนั้น ต่อมาท่านได้ไปเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์ที่วัดสมถะ จังหวัดชลบุรีด้วย หลวงพ่อปาน เป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมวินัยเคร่งครัด กิจของสงฆ์หลวงพ่อปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่งคือนำ พระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุก ๆ เช้า นอกจากเจ็บป่วยไป ไม่แล้วท่านปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่ง คือนำพระสงฆ์สวดมนต์เช้าเย็นที่หอสวดมนต์เป็นประจำทุกวัน และสวดมนต์เป็นคัมภีร์หรือผูกเป็นเล่มเป็นวัน ๆ ไป กระทั่งสวดปาฏิโมกข์ เหตุดังนี้ในสมัยนั้น พระลูกวัดของท่านจึงสวดมนต์เก่งมาก ด้านสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อเป็นผู้นำในการสร้างถนนจากคลองด่านไปบางเพรียง ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสไปวัดสว่างอารมณ์ ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสจรดคลองนางหงษ์ ถนนแต่ละสายปัจจุบันได้พัฒนาเป็นถนนถาวรและใช้สัญจร ไปมาจนถึงทุกวันนี้ ด้านความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เป็นพระอาจารย์ ที่มีญาณแก่กล้าชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ เครื่องรางของขลัง ของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากและสืบ เสาะหากันจนทุกวันนี้ ท่านคร่ำเคร่งทางวิปัสสนามากและ ธุดงค์อยู่เสมอ ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อที่ได้ประกอบขึ้นไว้ แต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ราษฎรในตำบลใกล้เคียง กระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัดพากันเคารพนับถือและรำลึก ถึงหลวงพ่ออย่างไม่ เสื่อมคลาย ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน แต่เมื่อหล่อรูปแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ การที่ท่านไม่อยากเข้าวัดของท่านนั้น อาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็ไม่ได้บอกกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆ เข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย” คำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง ปัจจุบันนี้รูปหล่อของท่านก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดคลองด่าน หรือวัดบางเหี้ย) คืออยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ และปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มากมาย น้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านก็มีคนนำไปดื่ม และทองคำเปลวที่รูปหล่อก็มีคนนำไปปิดที่หน้าผาก เพื่อรักษาโรคได้ผลมาแล้วมากมาย ด้านสมณศักดิ์ หลวงพ่อปาน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ" พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา
พุทธคุณในเหรียญรุ่นนี้เด่นทาง แคล้วคลาด
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com