หลวงพ่อจรัล จรณสมฺปนฺโน
ประวัติ วัดป่าอกาลิโก ตำบลหนองโดน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ
หลวงพ่อจรัล จรณสมฺปนฺโน เป็นพระวิปัสสนาจารย์รูปหนึ่งในสายงานเจริญสติภาวนามหาสติปัฎฐานสี่ ตามแนวคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านเป็นประธานคณะสงฆ์ สวนป่าอกาลิโก บ้านห้วย ตำบลหนองโดน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันท่านอายุ ๗๐ ปี ๑๖ พรรษา
ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ พอลืมตาดูโลกได้สี่เดือน พ่อก็ลาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ในวัยเด็กต้องช่วยแม่ทำงานอย่างยากลำบาก ต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการถูกรังแกเพราะความไม่มีพ่อ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้บวชตามประเพณี อายุ ๒๑ ปีได้แต่งงานเป็นผู้ครองเรือนตามวิสัยโลก ระหว่างครองเรือน ชีวิตทางโลกก็มีดีบ้าง ชั่วบ้าง มีทุกข์ มีสุข เป็นธรรมดา เมื่อใดที่เจอะเจอกับความทุกข์ ความคับข้อง ก็คิดเห็นการบวช คิดเห็นวัด ที่ตัวเองได้เคยไปอยู่มา เคยได้รับความสงบร่มเย็น กราบพระทำวัตรเช้าเย็นก็ทึ่งใจ ตรึงใจอยู่มิได้ขาด
อายุ ๔๒ ปี ได้เข้าวัดฟังธรรม ไปรักษาอุโบสถศีลกับปู่ย่าตายาย นับเป็นผู้ชายที่อายุน้อยที่สุด ที่เข้าวัดฟังธรรม อายุ ๔๖ ปี เคยตั้งสัจจะกับเพื่อนว่าจะออกบวช แต่รอโอกาสคลี่คลายปัญหาครอบครัว อายุ ๕๔ ปี เพื่อนที่เคยสัญญากันไว้ออกบวช ก็เลยเตือนตนเองให้เร่งออกบวช จึงไปบอกพระอุปัชฌาย์ขอบวช เมื่อบวชเรียบร้อยแล้วทางครอบครัวจึงทราบ พวกเขาก็อนุโมทนาด้วย เมื่อบวชแล้ว ก็แสวงหาครูบาอาจารย์สอนกรรมฐาน ปฏิบัติธรรม มีพระเล่าให้ฟังว่า ที่เมืองเลยมีพระวิปัสสนาสอนแต่วิปัสสนาอย่างเดียว แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจ มุ่งไปปฏิบัติทางสายยุบหนอ พองหนอ ได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่ออาสภมหาเถระ หรือเรียกว่าหลวงปู่พม่า ที่วิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี ไปอยู่ปฏิบัติกับ พระครูศรี วัดผาเกิ้ง อำเภอหนองบัวแดง ชัยภูมิ ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อมหาธนิต ท่านให้ไปอยู่ที่วัดปอแดง อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา ที่นี่ได้เกิดความเข้าใจ อสุภกรรมฐานลึกซึ้ง ได้เข้าใจโลกธรรมแปดแจ่มชัดขึ้น เคยได้รับการรับรองจากครูบาอาจารย์ว่าได้ผ่านญาณรู้ขั้นสูงๆ แล้ว ถึงขนาดสามารถเห็นเลขเห็นเบอร์ เห็นคนที่จะใส่บาตรพรุ่งนี้ว่า เป็นหญิง เป็นชาย ใส่เสื้อผ้าสีอะไร แต่ตัวเองไม่มั่นใจ ด้วยยังรู้สึกว่า ความรู้สึกส่วนลึกที่ยังมีความโกรธ โทสะ หรือความหลงซ่อนลึกๆ ยังมีอยู่ ต่อมามีพระชักชวนให้ไปปฏิบัติตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ จึงไปปฏิบัติกับท่าน ไปแรกๆ ไม่เกิดศรัทธาแบกกลดสะพายบาตรกลับ เนื่องจากไม่พอใจในรูปแบบ แต่ด้วยยังติดใจในเทศนาธรรมของท่าน รู้สึกว่าแจ่มชัด น่าจะเป็นไปได้ จึงได้หวนไปปฏิบัติอีกครั้ง ที่วัดโมกขวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่นี้เองได้เปลี่ยนทิศทางการปฏิบัติธรรมของท่านมาสู่การปฏิบัติแบบการเจริญสติปัฎฐานสี่ ในรูปแบบของหลวงพ่อเทียน มาจนถึงบัดนี้ สวนป่าอกาลิโก ที่ท่านเข้ามาอยู่ แต่ก่อนเป็นป่าช้า ท่านเข้ามาพัฒนาร่วมกับชาวบ้าน จนเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เดิมมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ปัจจุบันได้จัดซื้อเพิ่มเติมเป็นที่พักอาศัยปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจจะไปอยู่ปฏิบัติภาวนาในแนวทางเจริญสติภาวนาแบบหลวงพ่อเทียน ก็สามารถเดินทางไปได้ตลอดเวลา กิจกรรมที่วัด ปลายเดือนพฤศจิกายน จะมีนักเรียน ๒๐๐ - ๓๐๐ คน มาอบรมที่วัดทุกปี เดือนกุมภาพันธ์จะมีการอบรม ทั้งพระ และญาติโยม ช่วงเข้าพรรษา หลวงพ่อจะให้ทั้งพระและญาติโยมเก็บอารมณ์ ประมาณ ๑ เดือน หรือบางองค์ก็มากกว่า ซึ่งได้ผลดีมาก แต่ต้องมี หลวงพ่อคอยสอบอารมณ์อย่างใกล้ชิด หากผู้ปฏิบัติใหม่ ก็เปิดโอกาสให้เช่นกันแล้วแต่สะดวก อย่างไรจึงจะรู้ธรรม
ความสงบเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แม้ว่าจะทำได้เล็กน้อยก็ยังดี ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นก็ยังดี ความสงบก็คือจิตใจของเราเป็นสมาธิ จิตไม่สัดส่าย ไม่รับอารมณ์ข้างนอก อารมณ์ข้างนอกก็ไม่รับอารมณ์ข้างในก็ไม่ออก คือเราจะมีจุดยืน เราจะเอาจิตไปตั้ง เช่น ในขณะที่เรานั่งสมาธิ เราเอาจิตไปจดจ่อไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หรือไปจดจ่ออยู่ที่ท้องของเราที่ยุบที่พองก็ได้ ต้องมีจุดยืนของจิตใจ ต้องมีหลักยึดจุดใดจุดหนึ่ง จิตของเราถึงหยุด แต่ว่าเราไม่ต้องว่าคำบริกรรมก็ได้ เช่น เราเอาจิตไว้ที่ท้อง มันยุบมันพองเราก็กำหนดรู้เฉยๆ เมื่อมันยุบเราก็รู้ พองเราก็รู้ เราเอาสภาวะรู้เป็นหลัก
การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน เราก็รู้แต่ไม่ต้องบริกรรม ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ รู้เฉยๆ เราไม่ต้องตามลมเข้าไปหรอก เอาเพียงแต่รู้ลมผ่านเข้าผ่านออกก็พอ เรามีจุดยืนอยู่ที่นี่ เราพยายามสังเกตให้มันมีที่ตั้งของใจเรา
ดังนั้นเราจึงได้มีอุบาย การเดินจงกรมมีหลักคือ เอาใจของเรามาอยู่กับการเดิน ให้มันรู้ ก้าวนี้ก็รู้ ก้าวนี้ก็รู้ เราอย่าไปคิด อย่าไปเผลอ อย่าไปสำคัญมั่นหมายอย่างอื่น ให้เราตรงไปที่ความรู้สึกตัว ทำอย่างไรความรู้สึกตัวของเราจะมากขึ้นในอิริยาบถของกาย ผู้ใหม่ๆ ให้เริ่มจากจุดนี้ก่อน ผู้เก่า ๆ ก็เหมือนกัน ถ้ายังจับจุดนี้ยังไม่ได้ก็ยังเป็นผู้หลงอยู่ เราพยายามเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของกาย กายของเรานี้มันสอนเราอยู่ตลอดเวลา สอนเราให้รู้ธรรม การเข้าใจธรรม ก็คือการเข้าถึง สภาวะที่มันรู้นี่ละ รู้อะไร ก็รู้กายมันเคลื่อนไหว มันเจ็บมันปวด ก็รู้อย่างนี้ แล้วก็รู้ใจที่คิดนึก มันปรุงแต่ง มันโกรธ โลภ หลง รู้ใจขณะที่ไปรับอารมณ์ ให้เราตามรู้มัน เราอย่าไปรู้ไปดูอย่างอื่น เราต้องเข้ามารู้อันนี้ รู้กาย รู้ใจ รู้รูป รู้นามของเรา รู้อย่างนี้แล้วจะเป็นอะไรอีก ก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเติมอีก รู้อย่างนี้หละ รู้กายที่มันเคลื่อนไหว รู้ใจที่มันเสวยอารมณ์ สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี รู้แค่นี้ มันจะรู้อย่างอื่นไปหมด หลวงพ่อรับรองได้เลย ถ้ามีสติอยู่กับกายตลอด อันอื่นมันจะรู้ไปหมดจริงๆ เหตุมันอยู่ตรงนี้จริงๆ ที่เราทำกรรมฐานมา มันไม่รู้ ไม่เข้าใจเพราะอะไร เพราะว่าเราไม่อยู่จุดนี้ เราไปเอาจุดอื่น อยู่จุดอื่น บางครั้งบางคราว เราไปเน้นตัวศีลกันเกินไป เราคิดว่าสำรวมศีลดี ๆ มันจะเข้าถึงธรรม อันนั้นก็ถูกก็ใช่ แต่ว่าไปจดจ่ออยู่ที่ศีลอย่างเดียว ปัญญามันก็ไม่เกิดเหมือนกัน สมาธิมันก็ไม่เกิด ถ้าสมาธิไม่เกิดปัญญามันก็ไม่มี ดังนั้น ให้เรามาจดจ่ออยู่ที่ความรู้สึกอยู่กับกาย หัดดูให้มันมีความรู้สึกตลอด อยู่กับกายนี้ ถ้าเรารู้ได้ ถ้าเราดูเป็น มันจะเกิดมาเอง ทีแรกเรากำหนดช่วยมันก่อน การเคลื่อนไหวของกาย จะเคลื่อนตรงไหน หัดรู้มัน การทำกิจกรรมต่างๆ นาๆ หลวงพ่อก็พูดแต่เรื่องเก่านี่ละ ถึงพูดเรื่องเก่าอยู่ทุกวัน มันก็ยังไม่เข้าใจอีก มันเจาะไม่ถูก มันเลยไปเสีย หลวงพ่อว่า เดี๋ยวนี้มันศึกษาเลยไป ข้ามไป ให้เรากลับมาตั้งต้นใหม่ กำหนดรู้ช่วย ลองดู จะทำอะไรให้มีสติก่อน ให้เอาสติออกหน้า อย่าทำเฉย ๆ แม้จะเดิน จะกิน จะไอให้เติมสติเสียก่อน ปี ๒๕๒๗ หลวงพ่อฟังหลวงพ่อคำเขียนพูด ท่านบอกว่ากิเลสมันกลัวหลวงพ่อจริงๆ หลวงพ่อทำเสียงฮือ เท่านี้มันก็วิ่งหนี แต่หลวงพ่อฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ยังจับความรู้สึกไม่ชัด บางครั้งก็ต่อต้าน จะเป็นไปได้หรือ ไอเฉยๆ กิเลสมันวิ่งหนี จะเป็นไปได้หรือ เรายังไม่เชื่อ เพราะเรายังไม่เห็นถึงจุดนั้น แต่ทีนี้พอเราปฏิบัติไปๆ ถึงไม่เชื่อก็ทำอยู่ ทีนี้สติของเรามันจะละเอียดขึ้น มันจะรู้มากขึ้น ซึ่งทีแรกจะรู้แค่เดินจงกรม กับยกมือสร้างจังหวะสองอย่างนี้ อิริยาบถส่วนอื่นจะไม่รู้ แต่เดินจงกรมก็ยังได้กำหนดช่วย บางทีมันก็คิด บางทีมันก็รู้ เดินจงกรม ๑๐ ก้าว จะรู้สัก ๑ - ๒ ก้าว ที่เหลือเป็นความคิด มันจะเป็นอย่างนั้น ถึงอย่างไรเราก็ไม่หยุดทำ จะรู้ก็ช่าง ไม่รู้ก็ช่าง ยกมือสร้างจังหวะก็เหมือนกัน ๑๔ รู้ เราจะรู้แค่ ๒ - ๓ ที เดี๋ยวมันจะรู้มากไปเองแหละ นอกจากนั้นจะเป็นความคิดก็ช่างมัน ขณะที่เราทำอยู่ใหม่ๆ เราจะไม่รู้หรอกว่าอันนี้เป็นความคิด อันนี้เป็นความรู้สึกเรายังแยกไม่ออก เราเป็นแต่เพียงกำหนดรู้ช่วยมันเท่านั้นเองหละ บางทีมันก็เป็นความคิด บางทีก็กำหนดรู้ แต่ถึงอย่างไรถ้ารู้แค่นั้นก็พยายามทำ ความรู้มันจะมากขึ้นเอง เช่นรู้สองก้าว ต่อไปก็รู้ถึง ๔ ถึง ๕ ถึง ๑๐ ก้าว ต่อไปจะรู้อยู่กับการเดินจงกรมมาก พอเข้าทางเดินจงกรมมันจะจับความรู้สึกได้ต่อเนื่อง แต่ก่อนเข้าทางเดินจงกรม มันจะมีเบื่อ มีเซ็ง มีง่วงสารพัดอย่าง ถึงอย่างไรเราก็อย่าไปท้อถอย เราก็เดินอยู่นั่นละ ทำไปทำไปมันจะสว่างออกมาเอง มันจะแจ้งออกมาเอง พอเราเดินจงกรมถึง ๑๐ ก้าว มันรู้ต่อเนื่อง พอมันรู้ได้อย่างนั้นปั๊บ ความง่วงจะหาย ความขี้เกียจจะหายไปเอง โดยเราไม่ได้จัดการอะไรกับมันหรอก เราไม่ต้องไปพิจารณาอะไรเลย แม้แต่ความง่วงมา เราไปอาบน้ำ กลับมาเดินมันก็ง่วงอีก เอายาหม่องมาทา เดี๋ยวก็ง่วงอีก มันไม่ใช่เป็นธรรมดา มันเป็นอารมณ์ แม้จะเอามะขามเปรี้ยวๆมากินให้มันสว่าง มันก็สว่างชั่วครู่ ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เป็นอีก มันเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเราออกไปคุยกับเพื่อน มันจะหายทันที มันดึงเราออกๆ กิเลสมันจะดึงเราออก แต่ว่าเราพยายามอย่าไปตามมัน นั่นแสดงว่าเราไปตามความคิดแล้ว เราไปสู้มันตรงๆ เราสู้มันไม่ไหว เราต้องกัดฟันสู้ ว่างก็สู้ เบื่อเซ็งก็สู้ ร้อนหนาวก็สู้อยู่นั่นแหละ สู้อยู่ในทางเดินนั่นแหละ จนกระทั่งว่าการเดินของเรามันชำนาญขึ้น ทีนี้เดินออกจากทางจงกรม จะไปกุฏิมันก็จะรู้สึกตัว รู้เกือบทุกก้าวไป พอถึงกุฏิปั๊บ ถอดรองเท้ามันก็รู้ จะเปิดประตูก็รู้ จะเปลี่ยนเสื้อเปลี่ยนผ้าก็ตามรู้แล้วทีนี้ นี่รู้ละเอียดขึ้น ละเอียดเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนหลวงพ่อไม่เข้าใจว่าละเอียดเป็นอย่างไร แต่ก่อนเข้าใจว่าละเอียดคือใจจะอ่อน ใจจะนิ่มนวลคิดอย่างนั้น อันนั้นไม่ใช่เราคิดเอาเอง รู้ละเอียดคือ รู้อิริยาบถของเราทุกอิริยาบถ ให้ตามรู้ตัวของเราขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ นี่คือรู้ธรรมคือรู้อย่างนี้ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ทำอย่างไรถึงจะรู้อย่างนี้ เท่านั้นก็พอ ทำอย่างไรเราถึงจะสังเกตดูการกระทำของเรา ไม่มีเวลาเผลอ หลวงพ่อว่า จะไปห้องน้ำ จะเปิดประตูห้องน้ำก็รู้มีสติก่อน จะอาบน้ำตักน้ำมาใส่ เย็นก็รู้ว่าเย็น การอาบน้ำก็จะมีการเปลี่ยนไม่ทำเหมือนแต่ก่อน นี่ถ้าผู้มีสติทำอะไรจะนิ่มนวลไปหมด คือเราสำรวม เราไม่ต้องพยายามสำรวม แต่เราสำรวมไปเอง ตัวสติจะพาเราสำรวมเอง ตักน้ำมารดก็รู้ จับสบู่มาถูตัวก็รู้ ซึ่งแต่ก่อนเข้าห้องน้ำปิดประตูดังโครม จะตักน้ำ จ้วง ๆ ๆ ไม่ได้มีสติอะไรเลย อันนั้นของเก่าของเรา จะเป็นอย่างนั้นเกือบทุกคน มันเผลอ ทั้งๆที่ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมของเรามันมีอยู่แล้ว อาบน้ำก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เราอย่าไปอาบฟรีๆ ให้เราได้การปฏิบัติธรรมไปด้วย หัดรู้อย่างนี้หละ อย่าไปรู้อย่างอื่น
นี่หลวงพ่อมาลำดับดู ที่แท้คือ จุดนี้เอง แต่ก่อนเราข้ามไปข้ามมา ไปเล่นตัวสมาธิ ตัวศีล คำว่าปัญญานึกว่าเดินไปเดินมามันเกิดปัญญา มันก็เป็นปัญญาแต่เป็นปัญญาของวิปัสสนูปกิเลส มันอยากเทศน์ อยากสอน เห็นคนเข้าวัดมาจะเข้าไปหาไปคุย ยัดเยียดให้เขามาเดินจงกรม ต่างๆนานา เราคิดว่าตัวนั้นเป็นตัวปัญญา แม้เดินจงกรมมันก็เทศน์ พูดธรรมะอยู่เรื่อย นี่เป็นปัญญาของจินตญาณ มันก็เป็นปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาของ วิปัสสนา เราจะหลงก็หลงจุดนี้ละ นึกว่าอันนี้เป็นปัญญาที่จะมาแก้ปัญหาตัวเรา มันไม่ใช่เป็นญาณปัญญา อารมณ์นี้ ทำให้เราหลงหลายๆอย่าง เดินจงกรมก็เทศน์ ถ้าเทศน์กับเด็กน้อยเด็กนักเรียน จะตั้งข้ออย่างนั้นๆ จะมีคำกลอนอย่างนั้นๆ ถ้าเทศน์ให้คนรักษาศีลฟังจะเทศน์อย่างนั้นๆ ตัวสติตัวรู้สึกนี่มันไม่เห็น ตัวปัญญามันท่วมไปหมด มันเป็นปัญญาของจินตญาณ นักปฏิบัติจะหลง พระยิ่งหลงมากๆ
ทีนี้ปัญญาของวิปัสสนูปกิเลส มันจะไปจับผิดผู้อื่น ใครทำอะไรก็ตาม มันจะไปจับผิด ทั้งๆ ที่ตัวเองผิด มันก็ไม่ยอมผิด เห็นเขาสูบบุหรี่ เห็นเขาพูดดังๆ เขาไม่สำรวมมันไปจับผิดหมด มันเก่งมันกล้าไปหมด เห็นเขารดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ด่าเขาไปหมด โอ้ทำไมโง่จริง ๆ ทำไมถึงไปทำอย่างนั้นอยู่ ทำไมไปกิน ทำไมไปเสพ กายเขาไม่ต้องการหรอก เหล้า ยา บุหรี่ กายต้องการเพียง ข้าวกับน้ำ มันก็เห็นถูกไม่ใช่เห็นผิด แต่ว่ามันเป็นปัญญาของวิปัสสนู มันยังร้อนอยู่ ไปที่ไหนจะกระทบกระทั่งที่นั่น ขึ้นธรรมมาสน์ก็ด่าสาดไปเลย
แต่ปัญญาของวิปัสสนูจะไม่ให้มันมีได้ไหม ไม่ได้อีก การปฏิบัติธรรมต้องมาผ่าน มันผ่านมาจากวิตก วิจารณ์มานั่นแล้ว มันเป็นผลของการเจริญสติ หลวงพ่อว่ามันแปลกจริงๆ ไปทำอย่างอื่นมันไม่เป็นอย่างนี้ มันไม่เกิดแบบนี้ ทีนี้ก็ไม่ได้โจมตีรูปแบบอย่างอื่น มันจะเกิดความรู้วิพากษ์วิจารณ์ใหม่ๆขึ้นมาทันที พอเดินจงกรมมีสติอยู่กับกายเท่านั้นหละ มันจะเปลี่ยนแปลงให้สังเกต แต่ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงแสดงว่าสติยังไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง สติอยู่กับกายยังไม่มี อาจจะเป็นความคิดมาก ถ้ามีสติมันจะเปลี่ยนทันทีหละ ความรู้สึก ความเห็นของเราจะเปลี่ยนไปทันที ก่อนเราโง่จะเห็นความโง่ของเจ้าของ แต่ก่อนติดหมาก ติดบุหรี่ แต่ก่อนโง่อยู่ มันจะเห็นทันที แค่เดินจงกรมแค่จับสติมันจะเห็นความชั่วของเจ้าของ เห็นความไม่จำเป็นของตัวเรา สิ่งนอกตัวเป็นสิ่งไม่ จำเป็น มันจะทิ้งทันทีไม่ต้องให้ใครบอก มันเป็นขั้นเป็นตอนของกรรมฐาน ไม่ใช่ว่ามันจะไม่รู้อะไรเลย แล้วอุปสรรคก็คือว่า เราไปหลงในปัญญาตัวเอง ไม่ใช่หลงอย่างอื่น ตามที่หลวงพ่อได้สังเกต หลวงพ่อหลงอยู่กับอย่างนี้เป็นปีนะ แต่ก่อนเปิดอบรมภาคเหนือ ภาคใต้หลวงพ่อไปหมด มันเพลิน มันสนุก นึกว่าเราไปสอน ไปเทศน์ ไปพูด นึกว่าเราได้อานิสงส์มากๆ ตามความเข้าใจนะ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ยังทุกข์อยู่ ถ้ากระทบอารมณ์ยังมีโกรธอยู่ ยังมีโมโหอยู่ ราคะยังมีอยู่ มีอยู่หมด แต่ปัญญาที่มันเกิดขึ้น มันเลยอันนี้เสีย เลยไม่ได้มาดู ขณะที่มันพูดมันสอนมันเพลินไปจริงๆ แต่พอเผลอพลับมันจะเกิดขึ้นมาจริงๆ มันยังดับไม่หมด ยังมีเชื้ออยู่ ไฟยังลุกอยู่ กระทบที่ไหน ก็ลุกอยู่ มันเป็นปัญญาของวิปัสสนู ของจินตญาณ ต่อไปปัญญาของวิปลาส เย่อหยิ่งจองหอง วิปลาสถ้าถึงที่สุดเป็นบ้า มันไปอีกขั้นหนึ่ง มันหนักไปแล้ว เป็นจนถึงกับลืม เป็นบ้าไปเลยก็มี หลายคน หลายองค์ที่เป็นบ้าจากการเจริญสติ การปฏิบัติธรรม ไม่ว่ารูปแบบไหนหละ เป็นได้ ดังนั้น ถ้าเราหลงเราจะเป็นทันที ปัญญาของวิปลาสคือ ความรู้ของเรามันมาก เราสำคัญว่าเราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตรัสรู้แล้ว ใครใครก็ไม่รู้เหมือนเรา ครูบาอาจารย์ก็ทำไม่ได้เหมือนเรา คำว่าวิปลาสก็คือเป็นบ้านั่นแหละ เหมือนหมาบ้ามันไม่รู้จักเจ้าของ เจ้าของเลี้ยงข้าวอยู่มันก็มากัด นักปฏิบัติเป็นบ้าก็เหมือนกัน มันชนไปหมดครูบาอาจารย์เขาไม่รู้หรอก พ่อแม่ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเรานี่เก่งคนเดียว ทิฏฐิ ยิ่งเพิ่ม นี้คือเราดูไม่ทัน การหลงจนเป็นวิปลาสนี้ มันอยู่จุดที่ว่าอารมณ์ของรูปนามกับอารมณ์ปรมัตถ์ต่อกัน หัวเลี้ยวหัวต่อมันจะอยู่จุดนี้ คือเราจะไปดูความคิด ส่วนมากปัญญา มันจะไปดูของมันเองแหละ หรือว่าญาณก็ได้ ญาณมันจะเข้าไปสู่จุดนี้เอง จุดที่เราจะเห็นความคิด จุดนี้แหละ เช่น ความโกรธมันเป็นความคิด แต่เราไม่รู้ว่ามันเป็นความคิด เช่นไม่พอใจหลวงพ่อนี่ ตาเห็นหลวงพ่อก็ดี หูได้ยินเสียงหลวงพ่อพูดก็ดี มันก็เกิดปฏิฆะขึ้นมา เราไม่ได้ดูใจของเราเลย เราเป็นผู้เป็นไปเลย มันหลงอยู่จุดนี้ ระวังดีดี มันสำคัญอยู่จุดนี้หละ ถ้าข้ามตรงนี้ได้ไม่มีปัญหาคนหลงก็หลงจุดนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น นั่นมันสอนเรา ให้เราเริ่มดูเริ่มเห็นความคิดแล้ว สมมุติว่าเราไม่พอใจครูบาอาจารย์ เราอย่าไปดูครูบาอาจารย์ อย่าไปปรุงแต่งว่า ครูบาอาจารย์ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้เราอย่าไปปรุงแต่ง เรามาดูจิตของเราเลย ใจของเราไปจับผิดคนอื่นแล้วนี่ ต้องมาดูจุดนี้ แล้วก็รีบมาแก้จุดนี้เร็วๆ อย่าให้มันยาว ความรักก็ดี ความชังก็ดี เราท้วงมันทันที ไปจับผิดเขาแล้วนี่ ไม่เอาๆ แก้ๆ แก้อย่าให้มันจับผิดอย่าให้มันยาว อย่าให้มันปรุง
ถ้าเราคิดเรื่องไม่ดีให้ใคร มันไม่ดีไปหมด มันมีความผิดทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้า เขาก็ยังว่าอยู่ เราอย่าไปดูยาว อย่าให้มันยาว เวลาจับผิด ระวังตรงนี้ คือมันจะให้เราเห็นความคิด ปัญญาจะให้เราเห็นความคิด ถ้าเราหลงมันเป็นปัญญาของวิปลาสไปเลยทีนี้ มันโกรธ มันเกียจ มันจองหอง สารพัดอย่าง นี่เป็นวิปลาสทางความโกรธ แต่ถ้าเป็นวิปลาสทางกาม(ราคะ) ถ้าเกิดขึ้นเราก็ดูอย่าไปดูให้มันยาว เราดูจุดที่จิตของเราไปรับอารมณ์ ดูจุดนั้น นี่คือมันให้เราดูความคิด แต่เราอย่าไปตามความคิด
ทำอย่างไรเราจะไม่ตามความคิดได้ หลวงพ่อจึงให้สร้างความรู้สึกอยู่ที่กาย คือ อารมณ์รูปนามให้มันชัดเจนที่สุด ถ้าใครได้รูปนามที่ชัดเจนหรือจากญาณปัญญา มันจะไม่หลงจุดนี้ นี่ละพอเห็นจุดนี้ จิตมันจะเปลี่ยน มันรู้ มันเข้าใจ สารพัดอย่างเลยหลงไปกับความรู้ตัวเอง ตรงนี้เองละ
ดังนั้น เราจะต้องตั้งหลักให้มันดีเสียก่อน ตั้งสติให้มันชำนาญ ที่สุด หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า ให้มันมีน้ำหนัก พอเรากำหนดมันมาเลย คือ มันมีน้ำหนักให้หนักอยู่ทางความรู้สึก อย่าให้มันหนักทางความคิด
ดังนั้น หลวงพ่อถึงได้สอนอารมณ์รูปนามให้มันชัดเจนที่สุด ให้มันได้ถึงที่สุด เพราะป้องกันความหลง และแก้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่ต้องว่าอารมณ์วิปลาสหรอก อารมณ์เกิดแต่ละขณะเราก็แก้ได้ ความง่วง ความโกรธ ความขี้เกียจ ฯลฯ แก้ได้หมด ถ้าอารมณ์รูปนามชัดเจน แล้วอารมณ์ทุกอย่างเกิดมามันจะไม่กลัว การแก้อารมณ์ก็หยุดอยู่ที่อารมณ์รูปนามไม่ใช่อย่างอื่น อารมณ์รูปนามก็คือ ความรู้สึกตัว คือมีสติอยู่กับกายนี่เอง ให้เราทำตัวนี้ให้มันดี ถ้าทำตัวนี้ดีมันจะไม่มีปัญหา พอจิตไปเสวยอารมณ์ไม่พอใจมันจะเห็นทันที นี่มันไปจับผิดคนอื่นแล้ว มันจะรู้ทันที ถ้าอารมณ์รูปนามไม่ดี มันจะไม่รู้ มันจะเป็นไปกับเขาทันที มันจะจับผิดว่าคนอื่นไม่ดีทันที เลยเป็นผู้จองหอง เห็นใครเราก็รู้สึกว่าเด่นกว่าเขาหมด คิดว่าสังคมนี้เราเด่นกว่าเขาหมดแล้ว ไม่มีใครรู้เหมือนเรา นั่นคือมันไปยาว อย่าให้มันไปอย่างนั้น เราต้องป้องกันจุดนี้ให้มันดีโดยเราทำสติอยู่กับกายให้มันเด่นที่สุด ก็คืออารมณ์รูปนามนั่นแหละ ไม่ว่ารูปนามมันก็เป็นอยู่แล้ว ขอให้มีความรู้สึกต่อเนื่องแบบหลวงพ่อว่าเถอะ ทำอะไรๆให้มันรู้อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา วันทั้งวันอยู่กับตัวนี้ กลางคืนตื่นขึ้นก็อยู่กับตัวนี้ นี่ที่พึ่งของเราแท้ๆ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นที่พึ่งแห่งตนคืออันนี้ คือตัวรู้สึก ตัวสตินี้แท้ๆ หลวงพ่อว่ามันลัด มันตรง มันซื่อ ถ้าเราทำถูกมันง่ายๆ
การปฏิบัติธรรมของพวกเราก็คือ การหาที่พึ่งทางจิตใจ เดี๋ยวนี้คนเราทุกคนยังไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ จิตใจของเราถ้าหากว่าไม่มีที่พึ่งไม่มีที่อยู่ มันก็ไปตามโลกธรรมแปด ไปตามลาภ ยศ สรรเสริญเยินยอ มันจะไปอยู่อย่างนั้น อารมณ์ของเราจะรับอยู่อย่างนั้น ใจของเราถ้าหากว่าไม่มีที่เกาะไม่มีที่ยึด ใจของเราก็ทำหน้าที่อย่างนั้น
ดังนั้น การมีสติเป็นการหยุดเสพอารมณ์ต่างๆ เป็นการหยุด เป็นการพัก เมื่อพักบ่อยๆ เมื่อไม่เสพบ่อยๆ ก็เบื่อหน่าย การเสพความคิด การคลุกคลีอยู่กับความคิด เหมือนเราคลุกคลีอยู่กับของสกปรก ถ้าเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ เราก็คลุกคลีอยู่กับมันเหมือนเด็ก มันไม่รู้หรอกว่าของสกปรกก็คลุกคลีอยู่นั่นแหละ ถ้าเรารู้เราก็จะไม่คลุกคลี เราจะเห็นมัน กลัวมัน เกลียดมัน ความคิดปรุงแต่งนี่มันก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นมันเป็นของสกปรก เป็นของไม่ดี เราก็ไม่กล้าไปเสพมันอีกเหมือนกัน เช่น ความโกรธ เราเห็นว่ามันไม่ดี แต่ว่าเราก็ยังไปอยู่กับมันอยู่ ยังไปเสพอยู่ นี่แหละความโกรธ ความเกียจ ความขัดแย้งต่อต้าน ขัดขวาง ดูถูก นินทากัน เราก็รู้อยู่ว่าเป็นของสกปรก เป็นการทำบาปเราก็ละมันไม่ได้ ดังนั้น เราจึงโง่อยู่ ทุกๆคนยังโง่อยู่ การมาทำกรรมฐานเป็นการแก้ความโง่ของพวกเรา ไม่ใช่โง่ไม่ทำการทำงาน ไม่ใช่โง่อย่างโลกๆเขาโง่ แต่คือโง่ที่มันหลงไปกับความดี ความชั่ว หลงไปกับอันนี้ ตาได้เห็นรูปก็หลง หูได้ยินเสียงก็หลง หลงอยู่อย่างนั้น นี่เราไม่มีที่ยึด ไม่มีที่พึ่ง เราดูดีดี ถ้าเห็นใจของเรา เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ทันทีว่า ใจของเรานี้มันไปเสพอารมณ์อยู่ตลอดเวลาเลย มันไม่อยู่เฉยๆหรอก นอกจากว่ามันจะมีที่พึ่ง ถ้ามีสติเมื่อใดมันมีที่อยู่ที่พึ่งเมื่อนั้น มันอยู่ มันหยุด ให้เราสังเกตความรู้สึกตัวของเราคือ มันอยู่จุดนี้ ตอนที่ใจของเรามันนิ่งจริงๆ คือมันมีที่อยู่แล้ว เราไม่ได้บังคับให้มันนิ่ง ไม่ได้บังคับให้มันหยุด เป็นแต่เพียงเรามาอยู่กับความรู้สึกตัว เราไม่ไปสนใจความคิด ใจของเราอย่าไปสนใจกับความคิด อย่าไปดู ให้เรามาดูความรู้สึกอยู่กับกายนี้ ปล่อยไปอย่างนั่นหละ เมื่อเราปล่อย มันจะหยุด เมื่อเราไปดูมัน มันจะไป เราต้องหาอย่างอื่นมาดู อย่าไปดูใจอย่าไปดูอารมณ์ เดี๋ยวนี้ พวกเราทุกคนไม่เข้าใจ เราไปอยู่กับอารมณ์ไปอยู่กับความคิด นั่นคือ จิตมันไปเสพอารมณ์อยู่ตลอดเวลาแล้วละนั่น แต่เราไม่รู้มันหรอก ทีนี้มาลองเปลี่ยนดูไม่ต้องสนใจ ปล่อยไปเลย เราสนใจความรู้สึก ทำอย่างไรเราถึงจะมีความรู้สึก หลวงพ่อว่ามันอยู่ใกล้ๆ แต่มันมีเคล็ดลับอยู่นิดเดียว เรามาสังเกตดู ไม่ต้องไปดูหรอกความคิด ที่นักปฏิบัติบอกทำไมคิดมาก เราไปดูความคิด เราไปอยู่กับมัน ลองอยู่กับความรู้สึก ลองดูซิทำอะไรก็รู้ๆ รู้อยู่ตัวนี้ มันจะไม่มีรัก มันจะไม่มีชัง ตัวนี้เป็นหลัก หลักใจแท้ๆคืออันนี้ ถ้าเราอยู่กับตัวนี้ มันจะไม่มีปัญหา ดังนั้น เรามาเปลี่ยนเสีย โดยการเดินจงกรม การกำหนดรู้ นั่นคือการเปลี่ยน ทุกการเคลื่อนไหวของกาย เราพยายามสนใจเรื่องนี้ สนใจเรื่องความรู้สึกอยู่กับกายนี้ อย่าไปสนใจความรู้สึกอยู่กับใจ ถ้าเราสนใจอันนี้ มันจะเห็นทันที เห็นธรรมก็เห็นอย่างนี้ ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น เห็นกายมันเคลื่อนไหวไปมา เห็นเวทนาเกิดจากกาย เห็นใจมันคิดปรุงแต่ง นี่คำว่าเห็น คือรู้ รู้แล้วอย่าไปตามมัน เดี๋ยวนี้เราตามมัน เราสังเกตหรือเปล่า ขณะที่มันไม่พอใจขึ้นมา อะไรไม่พอใจ เราจะไปตามทำไม กลับมาเร็วๆนะ มันไม่พอใจขึ้นมา มันก็บอกเราแล้ว นี่จะโกรธแล้ว ถ้าเราสติมากๆ เราจะเห็นจุดนั้น นี่จะโกรธแล้ว เห็นแล้วก็หยุดเดี๋ยวนี้เราตามมันไปเลยหละ เราต้องหัดฝืนมัน โกรธก็กลับ รักก็กลับ ชังก็กลับ ไม่ไปอยู่กับอะไรสักอย่าง ให้อยู่กับตัวรู้สึกนี้ ตัวโกรธ ตัวรัก ชัง เบื่อเซ็ง นั่นเป็นหน้าที่ของจิต มันหลงไปเสพอารมณ์แล้วมันไม่อยู่เฉยๆ เราต้องหาสิ่งอื่นไปแทนให้มัน ถ้าเราเอาสติไปแทนให้มัน มันจะหยุดกลับมาอยู่กับสติแล้ว ผู้ปฏิบัติใหม่ๆดึงกลับยาก เอามันออกยากมากจากความคิด ความปรุงแต่ง ต้องอาศัยการฝึก ดังนั้น ที่เราฝึกกัน หลวงพ่อดูๆแล้วเรากำหนดอิริยาบถทุกๆอิริยาบถไม่ทัน หัดรู้ หัดดู สังเกตตัวเรา ไปเรื่อยๆ จะทำอะไรให้สังเกตอย่าไปเผลอมาก อย่าไปปล่อยมาก เป็นวิชาเอกของพวกเราแท้ๆ มันแก้ปัญหาเราได้จริงๆ ให้เราไปพิสูจน์เอาเองก็ได้ ถ้ามีสติ สมาธิปัญญาจะเกิดขึ้น มันแก้ได้ทุกอย่าง เรื่องของกายก็แก้ได้ ของใจก็แก้ได้ มันแก้ได้เพราะเราไม่ทุกข์กับกาย การกิน การนอน การอยู่ การเจ็บ การป่วย ทำไมถึงไม่ทุกข์ มันรู้กาย มันเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนี้ มันมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราจะเห็นกายเราเป็นธรรมชาติชัดเจนมาก เมื่อเราเห็นตัวเราเป็นธรรมชาติ เราก็เห็นอย่างอื่นก็เป็นธรรมชาติไปหมด สิ่งใดมีการเกิดขึ้นสิ่งนั้นก็มีการตั้งอยู่ สิ่งใดมีการตั้งอยู่สิ่งนั้นก็มีการดับไป เราเห็นอะไรๆเหมือนเราหมดทุกอย่าง เขามีทุกข์เหมือนกัน เขาชอบสุขเหมือนกัน แม้แต่ต้นไม้ ภูเขาก็เป็นเหมือนเรา สัตว์เดรัจฉานเหมือนกันไปหมด เราไม่ต้องไปแผ่เมตตา มันก็มีเมตตาอยู่แล้ว ถ้าเราเห็นตัวเรา เราก็เห็นคนอื่น ถ้าเราสงสารตัวเรา เราก็สงสารอย่างอื่น ขอให้เราหาตัวเราให้เห็นเสียก่อน ทุกๆคนเหมือนกันหมด อย่าไปลงโทษกัน ให้เรามาลงโทษตัวเราเอง พอมันโกรธมันหลงอยู่ หาเสียก่อน หาให้มันเห็นตัวเราก่อน ถ้าเห็นทุกข์อยู่ในตัวเรา เราก็เห็นผู้อื่นทุกข์เหมือนกัน ให้เห็นธรรมชาติ กายของเราเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เป็นของใคร อันนี้เป็นสมมุติของโลกที่ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย สภาวะปรมัตถ์สัจจะแท้ๆ ไม่มีตัวมีตน เป็นสภาวะธรรมที่เปลี่ยนไปไหลไปอยู่อย่าง นี้เอง
ดังนั้น การที่เราจะทำลายตัวตนของเราให้หมดไป ไม่ใช่ฆ่าเราทิ้ง ฆ่าคนอื่นทิ้ง เราต้องให้มันรู้แจ้งจริงๆ รู้แจ้งว่ากายกับใจเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ของเราหรอก ถ้าว่าเป็นของเรา บอกมันได้ไหม บอกไม่ได้ บอกอย่าเจ็บ บอกอย่าแก่ก็ไม่ได้ บอกไม่ได้เพราะมันเป็นสภาวะธรรมที่เปลี่ยนไปอยู่อย่างนี้เอง เมื่อเราศึกษามากเท่าไรยิ่งแจ้งยิ่งได้คำตอบ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรา
การทำลายตัวเราไม่ใช่อย่างอื่น ก็คือการกำหนดรู้อยู่บ่อยๆ เหมือนเราดูอะไรอย่างหนึ่ง เราดูไปดูมา ๆ ก็เลยชำนาญ ก็เลยทำเป็นเหมือนพระทำเครื่องสูบน้ำ ทีแรกก็ทำไม่เป็น ดูไปดูไป มันก็ทำเป็น กายของเรา ใจของเราก็เหมือนกัน ต้องอาศัยการดูบ่อยๆ คำว่าดูบ่อยๆ ก็คือการกำหนดรู้อิริยาบถ เป็นการดูแล้วนั่น ไม่ใช่ว่าเรากำหนดรู้เฉยๆ เป็นการดูของเราแล้ว เหมือนท่านดูเครื่องสูบน้ำมันเสียตรงไหน ก็รู้จุดว่ามันเสีย ตัวเราก็เหมือนกัน ดูไปๆพอมันเจ็บขึ้นมา มันก็บอกแล้ว มันเจ็บแล้ว มันเป็นหน้าที่ของมัน เวทนาเกิดแล้ว มันรู้จักถ้าเราดูมันก็เห็น นี่ส่วนกาย ส่วนใจ เวทนาเกิดจากใจมันก็รู้อีก เช่นจิตมันไปรับอารมณ์โกรธ มันก็รู้ว่ามันโกรธ ดีใจก็รู้ว่าดีใจ เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ สังเกตเสียก่อน อย่าไปตามมันนะ ความโกรธ ราคะ เราจะเห็นง่าย แต่ความดีใจ คือมีคนอื่นมา ยกยอ เกิดความดีใจความภูมิใจจะเห็นได้ยาก การที่เราได้สร้างได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันมีประโยชน์ต่อสังคม เราจะภูมิใจ อันนี้เราจะไม่เห็นมันง่าย เราจะสังเกตความดีใจ พอใจได้ยาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ละเอียดคือ เราชอบคนอื่นเขาชื่นชอบ ทำอย่างไรเราถึงจะไม่สุขกับมัน ไม่ทุกข์กับมัน เราจะเป็นผู้รู้เฉยๆ ทำอย่างไร พอใจก็ไม่เอา ถ้ามีความพอใจ ความไม่พอใจ มีสุขมีทุกข์ เราทำอย่างไรถึงจะรู้เฉย ๆ ได้ หัดดูอย่างนี้แหละ มีสติดู ดูใจนี่หละ ตัวรู้ตัวดูเป็นตัวที่เป็นกลาง ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่พวกเรายังจับจุดนี้ไม่ได้ ไปอยู่กับสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ตัวไม่สุข ตัวไม่ทุกข์ ตัวไม่เสียใจ เราไม่เห็น แต่จะรับอารมณ์ดีใจเสียใจอยู่อย่างนั้น
ดังนั้น อัพยากตธรรม มันเป็นของกลางๆ มันอยู่เฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ แต่ความจริงแล้ว พวกเราทุกคนจะอยู่กับตัวนี้มาก จะอยู่กับตัวปัจจุบัน ตัวซื่อ ๆ นี้มาก แต่เราไม่มีญาณเข้าไปรู้ ความสุขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออารมณ์มาปรุงจิต ความทุกข์จะเกิดขึ้นก็มีอารมณ์มาปรุง ถ้าไม่มีอารมณ์มาปรุง มันจะอยู่เฉยๆ ถ้าไม่มีคนมาว่ามาด่า มันจะอยู่เฉยๆ มันไม่เฉยก็ต่อเมื่อเราหลง ความคิด อดีต อนาคตที่ผ่านมา ความคิดอดีตเกิดขึ้น มันจะไปพอใจไม่พอใจ พอเราหลงมันจะไปทันที
เราอย่าให้มันหลง ความคิดเกิดขึ้นมาเราทักท้วงทันที ความคิดเก่าๆที่เกิดขึ้นมา บางทีสุข บางทีก็ทุกข์ บางทีพอใจ บางทีไม่พอใจ แล้วเราจะดูจุดนี้ ทำอย่างไรถึงจะดูเป็น พอเกิดขึ้นมาให้เราดู ให้เรารู้ รู้แล้วอย่าไปตาม นี่เราก็ต้องสังเกต เมื่อจิตเรารู้ว่าไปรับอารมณ์ เราก็ดึงออกมา อย่าให้อยู่กับความคิดยาว พยายามดึงจิตออกมาที่ความรู้สึก ดึงขึ้นมาอยู่กับหลักนี้ ดังนั้น การมีสติอยู่ทุกเมื่อเป็นการผูกจิตไว้ไม่ให้ไปทางอื่น สติก็เหมือนเชือก การกำหนดรู้แต่ละครั้ง ๆ เป็นเชือกผูกไว้ ให้มันมีจุดอยู่ของมัน ให้พยายามสังเกต เราไม่ไปสนใจผูกจิต ดึงจิต อะไรเลยเป็นแต่อยู่กับตัวรู้ตัวเดียว วันทั้งวันให้อยู่กับตัวรู้ตัวเดียว นี่คือเราอยู่ เราดูจิตเราเป็นแล้ว ถ้าอยู่กับตัวรู้สึกคือเอาจิตมาอยู่กับกายแล้ว เหมือนเราบังคับมันได้แล้ว ไม่ให้มันไปไหนแล้ว เหมือนเราขับรถจับพวงมาลัยแล้วจะเอาไปไหนก็ได้ เหมือนเรามีวัวมีควายเราผูกกับหลักมันไปไหนไม่ได้ มันมีที่อยู่แล้ว ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้อยู่เฉยๆนี่ มันไปไหนไม่ได้แล้ว กายกับใจเป็นหนึ่งเดียว มันอยู่ด้วยกันแล้ว ทำอย่างไรถึงจะให้กายกับจิตมันสัมพันธ์กันได้ จึงได้มีอุบายนั่งสมาธิเดินจงกรม สารพัดอย่าง นี่คืออุบายในการหัด ทีนี้พวกเราไปติด เช่น บางคนเขาจะกำหนดเอาป่าเอาถ้ำเป็นวัด เขาจะไม่เข้าบ้านเลย ถือธุดงควัตรเคร่งครัด พวกนี้พอราคะเกิดขึ้น เขาจะงดอาหาร เขาอาศัยธุดงค์เป็นเครื่องขัดกิเลส โดยการไม่บิณฑบาตรไม่ฉัน เขาใช้กติกานี้คือ ฝึกเอาข้อวัตรข่มราคะ ข่มไว้หลายรูปแบบ เพื่อที่จะหัดจิตให้มันปล่อยวาง ทรมานให้เห็นทุกข์ การอดอาหารให้เห็นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกายให้เห็น แต่การเจริญสติไม่ได้บังคับอะไร ปล่อยอิสระเลย กิเลสไม่ได้อยู่ที่อาหาร เสื้อผ้า แต่กิเลสอยู่ที่จิตใจ การเจริญสติเราจะดิ่งเข้าไปดูจิตเลย ไม่ต้องมีรูปแบบอะไรมาขัดขวาง มาทำให้เราติด เราจะจี้เข้าไปหาใจเลย ไปหาจิตเลยว่ากิเลสมันเกิดจากทวารไหนบ้าง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์เกิดมาจากสิ่งนี้ แล้วเราก็ดูเข้าไปอีกว่าสิ่งเหล่านี้ เขาก็ทำหน้าที่เป็นธรรมชาติของเขา ตาก็มีหน้าที่เห็นรูป หูก็มีหน้าที่ฟังเสียงนี่ ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่เกิดจากจิต อดีต อนาคต หน้าที่ของเขาอยู่อย่างนี้ จะเกิดได้จากอันนี้ หรือไม่เกิดจากสิ่งเหล่านี้ (ตา หู ฯลฯ) กิเลสไม่เกิดจากที่นี่ มันเกิดจากที่ไหน กิเลสมันเกิดจากใจหรือ ก็ไม่ใช่ การเจริญสติเราจะไปแยกแยะแจกแจงโดยไม่ต้องบังคับอะไร ไม่ต้องไปถือรูปแบบ ไม่ต้องไปอดข้าว ให้จี้เข้าไปดู เปิดออกมาดู กิเลสมันเกิดจากใจหรือ เราไปดูใจมันก็ไม่มีกิเลส อย่างเราอยู่อย่างนี้ ใจก็ไม่มีกิเลสมันก็ปกติอยู่อย่างนี้ ใจก็เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนี้ มันไม่มีอยู่ที่ใจ ไม่อยู่ที่กาย ไม่อยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส ทีนี้มันมีได้อย่างไร หลวงพ่อว่ามันไม่มีอยู่ในตัวเรา ตัวเราเป็นของบริสุทธิ์แท้ๆ รูปธรรม นามธรรม ดังนั้น ที่มันเกิดมาได้เพราะว่าอาศัยความหลง พอเผลอพลับจะเกิดขึ้นมาทันที มาพาอาศัยกายอาศัยใจเราเกิด เหมือนสนิมมันมาอาศัยเหล็กเกิด แต่สนิมในเหล็กไม่มี กิเลสไม่มีในคนเลย แต่มันอาศัยคนเกิด ถ้าเรามาดูดีๆจะเห็น การเจริญสติจะมุ่งไปดูจุดนี้ เห็นทันทีว่ากิเลสไม่มีในคนแต่มันอาศัยคนเกิด การมีสติเป็นการปิดทวาร ปิดไม่ให้มันเข้า เป็นการสังหารกิเลส พอมีสติก็ไม่หลง พอหลงมันไปแล้ว พอเราระลึกรู้ มันคืนมาแล้ว มันหลงอีก เราระลึกรู้อีก มันคืนมาอีก
ดังนั้น กล่าวสั้น ๆ ก็คือว่า ความหลงคือ อวิชชา ความรู้สึกตัวคือวิชชา เราทำง่ายๆ กำหนดอยู่ กับตัวรู้อย่างเดียว เพื่อป้องกันความหลง เรายืนหยัดอยู่กับตัวนี้ หลวงพ่อว่ามันไปไหนไม่ได้ ถ้าหัดดีๆ จนความรู้สึกตัวไม่ต้องกำหนด แต่มันเป็นเอง จะเป็นการปิดทวารของกิเลส
แต่ว่าพวกเราเองยังไม่ถึงที่สุด มันก็มีความหลง กิเลสก็เข้าได้ เราไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ เราเป็นคน หลวงพ่อ หลวงพี่ธรรมดา บางทีเผลอก็เข้าได้ แต่เราก็กำจัดมันออกไป อยู่อย่างนั้น เราเป็นผู้แก้โดยไม่ให้ปุ๋ยมัน ไม่รดน้ำมัน ไม่ให้กำลังใจมัน เหมือนแขกมาบ้านเรา ถ้าเราไม่ต้อนรับ ไม่ปูเสื่อไม่หาน้ำให้ทีหลัง มันไม่มาแล้ว ถ้าเกิดต้อนรับ หาข้าวหาปลาให้เงินให้ทอง มันจะมาบ่อยๆ อันนี้ก็เหมือนกัน ความคิดที่คิดมา เราพยามผลักออก อย่าไปต้อนรับเขา เมื่อไม่ต้อนรับบ่อยๆ เขาก็ไม่มาหา ดังนั้น เราอย่าให้ความสำคัญกับเขา แยกให้มันออก อะไรก็ตาม ตาส่งมาก็ตาม หูส่งมาก็ตาม จมูก ลิ้น กายใจ อดีต อนาคต ก็อย่าไปคลุกคลีกับเขานาน อย่าไปดูเขา อย่าไปสนใจเขา เหมือนแขกมาบ้านเราก็ไม่สนใจ เหมือนหลวงพ่อคำเขียนท่านว่า "อาคันตุกจิต" คือ ความคิดเหมือนอาคันตุกะ เมื่อมันมาเยี่ยม เราก็ไม่ต้อนรับเขา การกำหนดรู้แต่ละครั้งๆ เป็นการไม่ต้อนรับ มันทุกข์ก็เพราะความหลง มันทุกข์เพราะจิตไปรับอารมณ์อื่น พยายามกลับมาอยู่กับความรู้สึก ให้เอาความรู้สึกเป็นอารมณ์ เราเอาสติเป็นนิมิตเป็นที่ตั้ง พอเรามาพึ่งตัวนี้มันก็หยุดเสพความคิด ความปรุงแต่ง ดีใจ เสียใจ มันก็ไม่รับ เราอย่าไปสงสัยอย่างอื่นอันนี้มันพิสูจน์ได้ เห็นได้จริง ๆ การปฏิบัติธรรมทางลัด โอกาสต่อไปนี้ก็พูดธรรมะสู่กันฟัง คำว่าธรรม เราพูดกันแล้วซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่เราไม่เข้าใจเนื้อหาธรรมแท้ๆคืออะไร แต่รู้เรารู้กันอยู่ทุกคนว่า "ธรรมะ" แต่เนื้อหาของธรรมะ เรายังไม่ชัด เรายังไม่รู้แจ้ง คำว่าปฏิบัติ ก็คือว่า การกลับ ปฏิ แปลว่ากลับ เราก็ยังไม่เข้าใจว่า กลับคืออะไร คือเรามากลับการกระทำของเรา ความคิดเก่า ๆ ของเรา ความหลงเก่าๆ ของเรา กลับใหม่ เช่นว่าอยากไปไหนก็ไม่ไป อยากทำก็ไม่ทำ มันอยากพูดก็ไม่พูด อยากคิดก็ไม่คิด เช่นว่ามันง่วงนอน ก็ไม่นอน พยายามกลับมันอย่างนี้ พยายามหาอย่างอื่นให้มัน การเจริญสติเหมาะสมที่สุดที่จะกลับ สำหรับที่จะให้เรากลับ กลับมาดูตัวเรา ดังนั้น การกลับ คือการแก้ แก้ความหลง สตินี้แหละเป็น หลักการกลับ เป็นหลักดีที่สุดในการกลับจิตกลับใจกลับความคิด เดี๋ยวนี้พวกเรานักปฏิบัติไม่เข้าใจเรื่อง การกลับ ความคิดอะไรเกิดขึ้นมา เราไปกับมันหมด ไปตามความคิดหมด ความดีก็ไปความชั่วก็ไป เราไม่ได้ยืนหยัดยืนตรงๆอยู่ที่ความรู้สึก เรามาอยู่จุดนี้ ขอให้เราตั้งอธิษฐานดีๆว่า เราจะอยู่ที่นี่ และอยู่ที่ตัวรู้สึก อยู่กับสติไม่ไปไหนล่ะ ความคิดความเห็น อดีต อนาคต มันจะมาดึงไปก็ไม่ไป ขอให้เราตั้งอยู่จุดนี้ อย่าไปตั้งอยู่จุดอื่น ตั้งอยู่กับสติ อยู่กับความรู้สึกตัว การที่เราจะมาตั้งอยู่จุดนี้ ตั้งอยู่กับความรู้สึกตัว ผู้ใหม่ๆ มันหาไม่เห็น ไม่รู้ว่าคำว่ารู้สึกตัวคืออะไร หรือตัวสติคืออะไร เราไม่รู้ด้วยซ้ำไป รู้แต่ว่าสติธรรมดา ตามสัญชาติญาณว่าคนเราต้องมีสติ ถ้าไม่ใช่คนบ้าก็ต้องมีสติสิ เราจะเข้าใจอย่างนั้น เราจะเห็นอยู่อย่างนั้น อันนั้นก็เป็นอันหนึ่ง แต่ที่สติที่จะมากลับความคิดตัวเอง มันสติอีกอันหนึ่ง เรียกว่าสติปัฏฐานสี่ แต่จะต้องสร้างออกไปจากสติธรรมดา เมื่อทีแรกเรายังไม่เข้าใจสติปัฏฐานที่ลึกซึ้ง เราก็ค่อยคลำไปจากสติธรรมดานี้ก่อน ค่อยคลำค่อยรู้ เอาจากสติตัวนี้ก่อน ค่อยคลำไปจากสติธรรมดานี่แหละ สติธรรมดานี้มันจะมีทั้งคิด มีทั้งรู้ ทีแรกเราจับสติธรรมดานี่แหละ มันจะเป็นความคิด ๘๐% ความรู้สึกแค่ ๒๐% มันจะรู้แค่นั้น นอกนั้นเป็นความคิด เดินจงกรมนี้ สองก้าว สามก้าว นอกนั้นเป็นความคิดหมด เดินจงกรม สิบก้าว มันจะเป็นความรู้สึกแค่สอง สามก้าว นอกนั้นจะเป็นความคิดหมด ก็ช่างมัน เราอย่าไปตีโพยตีพายว่าเอ๊ะ ทำไมคิดมากแท้ ความจริงแล้วเราก็คิดมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว พอเรามาจับความรู้สึก มันจะรู้สักสองก้าวสามก้าวก็ตาม นอกนั้นเป็นความคิดหมดก็ตาม แต่ก่อนเราจะไม่รู้เลย แต่ก่อนเราจะไม่กำหนดขึ้นเลยจากสติธรรมดา เราไม่รู้เลยละ ปล่อยอยู่อย่างนั้น
ดังนั้น คำว่า กลับ ก็คือกลับมาดูสติ มาหาสติตัวนี้แหละ มีใครบ้างรู้จักสติ เคยรู้จักสติตัวเองมีไหมตั้งแต่เกิดมา หลวงพ่อว่าไม่มีนะ หลวงพ่อเกิดมาจนอายุกว่าห้าสิบปี ถึงจะมารู้เรื่องนี้ ถึงจะจับคำว่าสติ คำว่าปฏิบัติ แต่ก่อนไม่รู้หรอกไปตามสัญชาติญาณของมนุษย์ของสัตว์เดรัจฉาน มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น นั่นเป็นภาษาหนึ่ง ท่านว่าเป็นภาษาโลกหรือภาษาโลกียะ เขาจะอยู่อย่างนั้นล่ะ พ่อแม่ปู่ย่าตายายเราก็ทำกันมาอย่างนั้น นอกจากนักปฏิบัติถึงจะรู้เรื่องนี้
ทีนี้พวกเรามาเริ่มกำหนดสติขึ้น จะเป็นสติธรรมดานี้ก็ต้องสร้างขึ้นก่อน จากสติคือความรู้สึกตัวนี้ เรามีอยู่แล้ว เรามีอยู่ทุกคน นี่แหละคำว่าสติ ถ้าเราไม่ตาย มันมีอยู่ คำว่าจิต คำว่าใจ มีอยู่แล้ว มีครบอยู่แล้ว คำว่ากาย คำว่าใจ คำว่ารูป คำว่านาม มีอยู่หมด มีอยู่ที่นี่หมดแล้ว แต่เราไม่ได้หามัน แต่เราไม่ได้มาดูมัน ใครๆ ก็เหมือนกันหมด ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ ความดี ความชั่ว ความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉา พยาบาท อยู่นั่นเต็ม อยู่กับอันนั้นล่ะ วันทั้งวันจะอยู่อย่างนั้น คืนทั้งคืนจะอยู่อย่างนั้น อยู่กับความดี ความชั่ว อยู่กับความผิด อยู่กับความถูก เราจะอยู่อย่างนั้นตั้งแต่เกิดไปจนตาย ทุกคนจะอยู่อย่างนั้นแหละ จะอยู่อย่างนั้นหมด ดังนั้น พอเรากลับมาหาสติ เราจะเริ่มเปลี่ยนแล้ว สติธรรมดา นี่แหละ ก็จะเริ่มเปลี่ยน เริ่มเปลี่ยนทิศทาง จะมาจับสติ แล้วมาจับความรู้สึก เริ่มเปลี่ยนมาทางความรู้สึกตัว นี่คือกลับมาดูตัวเอง ไม่อยู่กับอารมณ์ ไม่เสพอารมณ์เหมือนแต่ก่อน กลับมาดูตัวเองแล้ว แม้ว่าสติธรรมดานี้มันก็มีประโยชน์มาก เราพอมากลับ มาดูตัวเรามายกมือดู มาเดินดู มาสังเกต คำว่า สังเกต เราต้องสังเกตทุกอย่างจากตัวของเราเอง เมื่อเรากลับมาดูตัวเรา เราต้องสังเกตทุกอย่าง เช่น เราจะทานข้าวเราสังเกตก่อน เราจับช้อน เรารู้ไหม เราตักข้าวเรารู้ไหม ตักแกงเรารู้ไหม ตักกับข้าวเรารู้ไหม เราจะเอาอะไรใส่ปากเรารู้ไหม สังเกตการกระทำของตัวเรา ค่อยสังเกตอย่างนี้ นี่สติธรรมดา สังเกต สังเกตแม้จะเดินไปไหนก็ตาม ก็สังเกตอยู่ ใช้การสังเกตตัวเราเอง หัดดูเราเอง หัดดูเอ๊ะมันเดินนี่ แต่ก่อนเราเดินไปเฉยๆ เราไม่ได้กำหนดรู้ ทีนี้พอเรากำหนดสติ เราไม่ได้เดินเฉยๆแล้วซิ คือพอเราเดินเราก็เริ่มรู้แล้วว่าเราเดินแล้ว เดินไปนั้นก็รู้ ก้าวก็รู้ รู้สองสามก้าว นอกนั้นมันเป็นความคิดทั้งหมดก็ช่างมัน หัดดูมันอีกใหม่ หัดดูการเดินของเรา เอ้อเรามาเดิน เราเห็นเราเดินแล้ว เห็นบ้าง คิดบ้าง ก็ช่างมัน เห็นบ้าง หลงบ้าง ก็ช่างมัน หัดดูมัน เริ่มมาหัดดูเจ้าของแล้วทีนี้ เดินก็รู้จักว่าเดิน จะทำอะไร จับอะไร จับแปรง จะหยิบยาสีฟันใส่แปรงก็รู้จัก สังเกตตัวเองให้สังเกตไปด้วย อย่าทำเฉยๆ ทีนี้มันจะไม่ทำเปล่าๆล่ะ พอคำว่าเจริญสติ มันจะไม่เฉยแล้ว มันจะเริ่มเปลี่ยนแล้ว เริ่มเปลี่ยนทิศทางแล้ว เราจะไม่ทำเหมือนแต่ก่อน เริ่มทำอะไรจะมีสติเข้ามาประกอบ ซึ่งแต่ก่อนเราไม่มีเลย เราทำไปเฉยๆอย่างนั้น ทีนี้เราจะเริ่มเอาสติมาประกอบในการทำของเรา จะสีฟัน จะล้างหน้า เริ่มรู้ตัวแล้ว เช็ดหน้าหรือจะเอาผ้าไปตาก จะนุ่งผ้า เก็บที่หลับที่นอน เริ่มรู้แล้ว จะไม่ทำอะไรฟรีเลย แล้ว ทีนี้เราคอยจับไปอย่างนี้ นี่คือสติธรรมดา เราคอยจับไป จับไป สติธรรมดานี่ เราจะเห็นทิศทางว่า จิตใจของเราจะต่างจากก่อน จะเริ่มเปลี่ยนแล้ว จากความคิดที่มันนอนไม่หลับก็ตาม จากความปรุงแต่งก็ตาม เราจะเริ่มนอนหลับ ใจเราจะเริ่มเย็นลง มันเริ่มจากผิดเป็นถูกแล้วซิ เริ่มแล้วละ เราจับสติธรรมดานี่เอง ความเห็นเก่าๆของเรา ความคิดเก่าๆของเรา เราจะเริ่มอายความคิดของเราแล้ว แค่นี้แหละ เราจะเริ่มอายความคิดของเราแล้ว จะเห็นแล้ว เห็นอดีตที่ผ่านมา อันนั้นก็ทำ อันนี้ก็ทำ อันนี้ก็พูด เริ่มอาย อายตัวเองแล้ว เริ่มเห็นความผิดของตัวเองแล้ว มันเริ่มเปลี่ยนแล้ว เริ่มเห็นความผิดของตัวเอง ตัวเห็นตัวรู้ นี้มันเริ่มฉลาดขึ้นมา กุศลเริ่มเกิดแล้ว บุญอันหนึ่ง กุศลอันหนึ่ง กุศลคือความฉลาด เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องทำอยู่ มันเริ่มเกิด เริ่มเปลี่ยนทิศทางของมันแล้ว พอเปลี่ยนทิศทางเข้ามา ก็รู้แค่นี้หละ มันจะเริ่มมีอารมณ์มาปรุงอีก มาปรุงความรู้จะทำให้เราฉลาดขึ้นมาก มันจะกลายเป็นวิตกวิจารณ์ ระวังอีก มันจะเป็นวิตกวิจารณ์ เคยพูดธรรมะไม่เป็น มันก็เริ่มพูดเป็น ไม่เคยคิดริเริ่มหรือเปลี่ยนแปลงผิดถูก มันก็เริ่มคิดผิดถูกแล้ว มันจะเอาความถูกขึ้นมาคิด มันจะเอาความผิดขึ้นมาพิจารณา แต่ก่อนไม่เอาความผิดมาใส่ตัวเอง ตัวเองถูกอยู่คนเดียว เรากลบเกลื่อนความผิดไว้ แม้เราจะพูดผิด เราก็เอาอย่างอื่นมากลบเกลื่อนคำพูดที่ผิดเอาไว้ มันจะพยายามเอาความผิดมาพิจารณา เอ้า! เรากระทำถูก เรากระทำผิด เริ่มแล้ว เริ่มเอามาพิจารณา ค่อยเริ่มมองออกๆแล้ว แจ้งออก มันจะเห็นทิศทาง ความผิดก็ดี ความถูกก็ดี มันจะมาวิจารณ์ จะมาวิจารณ์ตัวเอง จะมาไต่สวนตัวเอง จะมาตอบตัวเอง เหมือนคนสองคน คนหนึ่งถาม คนหนึ่งตอบ มันจะมีการตอบมีการถามๆ ถ้าเข้าอารมณ์นี้ ความขี้เกียจ ความง่วงนอน ความปรุงแต่ง มันจะหมดไป ความเพียรเข้ามาแทน ความอดทนเข้ามาแทน ความเพลินในอารมณ์ จะเข้ามาแล้วทีนี้ จะเริ่มเพลิน ยิ่งเพลินยิ่งทำ ยิ่งทำยิ่งรู้ ยิ่งรู้ยิ่งเปลี่ยน เปลี่ยนไปๆ จิตใจเราเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนอะไร เปลี่ยนผิดเป็นถูกๆ เราจะเริ่มเห็นไปแล้ว เริ่มเห็นลางๆ
เห็นกายอย่างเดียวนี้มันเห็นไปหมดทุกอย่าง ความโกรธก็เห็น ความเกลียดก็เห็น ความจับผิดคิดไม่ดี ก็รู้ นี่เรายืนหยัดอยู่กับหลักสติตัวเดียว มันจะเริ่มเห็นๆ เริ่มรู้ทิศทางของเราที่จะไป มันเห็นแล้วทีนี้ ไม่เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนเราจะไปเที่ยวก็ไป อยากไปสนุกสนานอะไรก็ไปหมด ทีนี้มันจะไม่ไป ความคิดชนิดนั้นมันจะไม่มี จะเริ่มอ่อน เริ่มน้อยลง เช่นชีวิตของพระหนุ่ม จะคิดไปแบบหนึ่ง มันจะเริ่มไม่คิดอย่างนั้นแล้ว พอคิดมันจะเห็นแล้ว โอ้อันนั้น เราหลงอยู่ จะเริ่มเห็นแล้ว จะเริ่มเข้าใจตัวเอง มันค่อยเปลี่ยนมา ค่อยเปลี่ยนมา ค่อยกลับมาๆ เองจริงๆ
พอเราจับได้กับสตินี้แหละ อยู่ไป อยู่มา อยู่อย่างนี้ พอนานเข้าๆ ตัวสติสัมปชัญญะอิริยาบถของเราทุกส่วนมันจะเห็นทุกอย่างแล้ว แต่ก่อนเรากำหนดรู้ช่วยมันก่อน กำหนดรู้สติช่วยมันก่อน สังเกตช่วยมันก่อน มองอะไรก็กำหนดรู้ เท้าจะเดินไปไหนก็กำหนดรู้ แม้แต่กลืนน้ำลาย คายน้ำมูก กำหนดรู้ช่วยก่อน แต่พอกำหนดรู้มากขึ้นๆ ตัวรู้นี้สมบูรณ์ขึ้น พอสมบูรณ์ขึ้นๆ มันเปลี่ยน ทีนี้มันเปลี่ยนจนเราไม่ได้กำหนดแต่เรารู้เอง ตรงนี้เองและ นักปฏิบัติจะร้องอ๋อ อ๋อทันทีเลย ความเป็นเอง ที่หลวงพ่อเทียนท่านพูด
คำว่า เป็นอัตโนมัติ คือ ไม่กำหนดแต่มันรู้ มันเบาขึ้นมาทันที เบาใจวาบเลย ทำแค่นี้หรือ ไม่ได้เอาอะไรมากมาย ซึ่งแต่ก่อนมันยาก มันสับสนวุ่นวาย มันสารพัดอย่าง มันเบื่อ มันเซ็ง เราก็สู้มาๆ พอถึงจุดนี้ ของยากๆที่เราทำมาเป็นของง่าย นี้ท่านบอกว่าทำของยากให้เป็นของง่าย มันง่ายขึ้น มันง่ายโดยไม่กำหนด มันเป็นเองแล้ว อันนี้แค่อิริยาบถของกาย โดยที่ไม่ได้กำหนดกาย จะไปทำอะไร จะเคลื่อนไหว จะกลืนน้ำลาย มันรู้เองๆโดยไม่กำหนด มันได้คำตอบ มันเบาขึ้นมาทันที มันได้หลัก หลักมันอยู่ตรงนี้แท้ๆ หลักมันจะแน่น แต่ว่าหลักที่เราจับได้ มันได้มาตั้งแต่เราจับสติธรรมดา ที่หลวงพ่อได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้น มันได้หลักมาตั้งแต่จุดนั้นแล้ว แต่หลักมันยังไม่แน่น หลักมันยังไม่ดี พอเราคลำมา จับมา พอมาได้จุดนี้ มันเป็นเองโดยไม่กำหนด มันก็รู้ มันจะอ๋อทันที เราจะได้คำตอบทันที คำว่าปัจจัตตัง คือเราจะรู้เอง ข้อนี้ซิรู้ได้เฉพาะตนรู้อย่างนี้ บอกอย่างไรมันก็ไม่รู้ สอนอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าเราไม่ปฏิบัติ อันนี้เราทำให้เกิดเอง เป็นเอง จุดของคำว่าเป็นเอง ถ้ามันเกิด มันจะสยบขึ้นมาทันที ตรงนี้ตรงที่มันเป็นอัตโนมัติโดยไม่กำหนดมันก็รู้ ตรงนี้จิตเราจะเปลี่ยน เปลี่ยนมากมายเลย ขณะที่จิตเราเปลี่ยน ก็ระวังอีกอันหนึ่งคือ เราจะหลง หลงไปกับอารมณ์ คำว่าอารมณ์ก็คือ ตัวปัญญาที่เกิดขึ้น หลวงพ่ออยากจะบอกว่า หลงไปกับปัญญา เจ้าของระวังอันนี้ดีดี มันจะรู้มากขึ้นๆ อะไรมันแจ้งออกมาหมด มันเบาออกมาหมด มันจะลืมหลักๆ มันจะ ไปอยู่กับความรู้ มันจะลืมหลักคำว่าสติอยู่กับกาย มันจะลืมตัวนี้
ดังนั้นหลวงพ่อจึงเน้นหลักสติอยู่กับกายมาก เพราะแก้ความหลง อารมณ์ รูป นาม หลวงพ่อจะให้ชัดมากที่สุด ถึงยังไม่ได้รูปนาม ตัวสติอยู่กับกายให้ชัดที่สุด จะให้นักปฏิบัติคลำไปจากจุดนี้ ทำจุดนี้ให้เด่นที่สุดคือ สติอยู่กับกาย ทำสติอยู่กับกายได้ นี่ก็ได้คำตอบแล้ว เราทำให้มันเด่น เพราะอะไรเพราะแก้ความหลง พอจิตเราเปลี่ยน มันจะหลงทันที
หลวงพ่อใหญ่(หลวงพ่อเทียน)บอกกับหลวงพ่อๆ จำไม่ลืม ปี ๒๕๒๖ หลวงพ่อเทียนบอกว่า ถ้าจิตเราเปลี่ยนจะเข้าใจรูปนามก็ดี เข้าใจปรมัตถ์ ก็ดี ระวังอารมณ์ วิปัสสนู ปกิเลส จะมารับทันที ตรงนี้เองนักปฏิบัติจะมาหลงจุดนี้ เพราะปัญญามันเกิด เราไม่เคยรู้มาเลย มันรู้ เราไม่เข้าใจมันมาเข้าใจ พูดไม่เป็นก็พูดเป็น พูดธรรมไม่เป็น มันก็พูดเป็น หลวงพ่อแต่ก่อนพูดไม่เป็นเลย พอถือไมค์สั่นเลย พูดได้ไม่ถึง ๕ -๑๐ นาทีหรอก แต่เดี๋ยวนี้ทำไมพูดเป็น มันเห็นตามความจริง คำพูดที่พูด ไม่ได้คิดมาก่อน วันนี้จะพูดอย่างนั้นไม่ได้คิด แม้พูดไปแล้วจะพูดอย่างเก่าก็พูดไม่ได้
ดังนั้น คนที่พูดไม่เป็นก็พูดเป็น สมกับว่า ตาบอดเห็นแสงสว่าง ขาติดเดินได้ คำโบราณหรือผู้รู้ท่านกล่าวคือมันเปลี่ยนนั่นแหละ หูหนวกได้ยินเสียง ท่านพูดธรรมเราก็รู้จัก เรารู้ได้ทันทีว่า นี่พูดมาจากตำราหรือจะพูดจากอารมณ์ที่ปฏิบัติมา เราฟังออกไม่โง่หรอก หูก็ไม่โง่แล้ว ตาเกิดแสงสว่าง มันเกิดแสงสว่างจากตาใน มันเกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของเรา ปากก็พูดได้ สอนเป็น พูดเป็น เปลี่ยนเป็นคนหนึ่งจากคนหนึ่ง จากสภาวะหนึ่ง เป็นสภาวะหนึ่ง
ดังนั้น ขณะที่เปลี่ยนแต่ละครั้ง มันเป็นอันตรายตลอด มันเป็นอันตราย มันมีอารมณ์มาร่วม เราระวังดีๆ กันอารมณ์วิปัสสนู ปกิเลส กันอารมณ์จินตญาณ กันอารมณ์วิปลาสกันไว้คำว่า กัน ก็คือแก้ คือ กลับมาอยู่กับสติ การปฏิบัติธรรม ไม่ให้ไปหาอารมณ์วิปัสสนูไม่ได้เลย เพราะมันเป็นทางผ่าน ไม่ให้ไปอารมณ์จิตญาณได้ไหม ไม่ได้ ไม่ให้ไปวิปลาสได้ไหม ก็ไม่ได้ ไม่ผ่านไม่ได้ เพราะว่าทางของกรรมฐานจะต้องไปตรงนั้น ถ้าไม่รู้อย่างนั้นก็ไม่ถูกอีก แต่ระวังอย่าหลงในตัวเรา ท่านว่าอย่างนั้น
กามสุขัลลิกานุโยค อัสุขนิโยค มัชฌิมาปฏิปทา เราจะต้องเดินตามทางสายกลาง จะเดินสายกลางแท้ๆหละ ไม่ให้มันหลง แต่ว่ามันยังหลงอยู่ซิ เหมือนเราพายเรือก็ติดฝั่งขวาบ้าง ฝั่งซ้ายบ้าง มันไม่ไปตามคลองตรงๆ อารมณ์นักปฏิบัติก็เหมือนกัน พอติดอารมณ์ดี ปัญญามันเกิด นี่เราหลงทันทีว่าเราเก่ง แล้วมันอยากจะเทศน์ มันอยากจะสอน มันเป็นของมันเอง ห้ามมันไม่ฟังหรอก จากเราไม่รู้มันเลยมารู้ ใครจะอดได้ ใครจะทนได้ ระวังดีๆ
หลวงพ่อจึงเน้นสติอยู่กับกายหรืออารมณ์ รูปนามให้ชัดเจน เรามาตั้งต้นตรงนี้ให้ดีที่สุด กันความหลง กันได้จริงไม่ใช่กันไม่ได้ อารมณ์วิปัสสนูเกิดมา พอมันเกิดเรารู้เลยละ เราแก้กลับมาอยู่กับสติ แต่ว่าอย่าหลงไปกับอารมณ์ อย่าไปวิจารณ์กับมัน หลวงพ่อติดมาเป็นปีซิ เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติไม่ค่อยติดเพราะอะไร เพราะหลวงพ่อรู้ว่าองค์นั้นติด องค์นี้ติด นักปฏิบัติติด หลวงพ่อรู้ทันที จะพยายามเปลี่ยนให้ทันที แต่การเปลี่ยนการสอบอารมณ์ก็ยากอีก เราจะไปพูดกับเขาตรงก็ไม่ได้อีก คุณติดอารมณ์วิปัสสนู ปกิเลส ก็ไม่ได้อีกหละ ก็ต้องหาอุบายที่ดีที่สุดดึงเข้ามาที่ตัวสติอยู่กับกาย ต้องบอกเขาหาดีๆ นี่หลวงพ่อถึงได้หัด ได้สอบให้สอบอารมณ์ขณะที่หลวงพ่ออยู่นี่ หลวงพ่อหัดได้บอกได้ เราอย่าไปพูดตรงๆว่า เขาติดอารมณ์วิปัสสนู ปกิเลส อย่าไปพูดเอาอย่างนี้ เขาจะพูดเรื่องอดีต อนาคตที่ผ่านมา เป็นอย่างนั้น เขาจะพูดให้เราฟัง เราฟังรู้เอาอย่างนี้ อย่าให้มันไปยาวนั่นมันเป็นวิจารณ์ อย่าไปอยู่กับมันยาวให้มาอยู่กับสตินี้ หลักมันอยู่ตรงนี้ อยู่กับกายนี้นี่คือความจริง เรากลับมาอยู่ตรงนี้ก่อน ถ้าไปอยู่ตรงนั้นไม่นานอารมณ์มันก็หมดๆ มันเห็นอะไรมันเห็นถูกอารมณ์วิปัสสนู ปกิเลส เห็นเขาทำอะไรเห็นหมด เห็นเดรัจฉานวิชา เห็นเป็นผิดไปหมด เห็นถูกเห็นจริง แต่มันยังร้อนอยู่ มันห้าวหาญมันองอาจอารมณ์ของวิปัสสนู ปกิเลส ไม่ใช่เล่นๆนะ พอขึ้นธรรมมาสน์เทศน์คนติดเลย ไม่ใช่ว่าอารมณ์วิปัสสนู ปกิเลส เป็นอุปกิเลส ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราเสียหายอะไร เสียหายตอนเราหลงต่างหาก มันฟูมฟาย มันน่าภูมิใจมากจุดนี้ ทำให้เราหลง ยิ่งอารมณ์จินตญาณยิ่งหนักขึ้นไปอีก หนังสือทำวัตรสวดมนต์เราแปลได้หมด เราไม่เคยรู้มาเลย เราขบออกมาหมดเลย สารพัดอย่าง
อันนี้มันเป็นอารมณ์นะไม่ใช่เสียหาย ไม่ให้มันเข้าก็ไม่ได้ แต่เราพยายามเปลี่ยนเร็วๆ ถึงว่าเปลี่ยนเขาบอกว่า เอาหละทีนี้เทศน์ไปสัก ๑๐ ที หยุดเถอะ เอามาอยู่กับตัวสติ มายกมือ มาเดินจงกรม ยกมือ มาเดินจงกรม ยกมือมันจะไม่เห็นมันจะไปกับการวิจารณ์หมด เราพยายามกลับมา กลับมามันก็ไปๆเป็นอยู่อย่างนั้น อาศัยการเดินจงกรมมากๆ เดินแรงๆ ทำอะไรแรงๆให้มันกลับมา อย่าไปกับอันนั้น อันนั้นมันเป็นปัญญาเหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นปัญญาของอารมณ์ วิปัสสนู เป็นปัญญาของจินตญาณบ้าง มันไม่ใช่เป็นปัญญาของวิปัสสนา ปัญญาของวิปลาสยิ่งเก่ง วิปลาสไม่ใช่ว่าเป็นบ้ากระเซอะกระเซิง อันนั้นมันเลยไปแล้ว มันเป็นวิปลาสเต็มแล้ว นั่นมันเริ่มเป็นตั้งแต่จับผิดคิดไม่ดี ใครไม่เหมือนเรา เริ่มแล้วมันเก่งไปอย่างนี้ ก่อนที่เราจะเข้าอารมณ์ วิปัสสนามันต้องหลายขั้นตอน อันนั้นอันตรายของการปฏิบัติธรรมของพวกเรา หลวงพ่อว่าเราไม่ค่อยพูด อุปสรรคของมัน เราพูดกันแต่ผล ผลของการเจริญสติ เรื่องการดับทุกข์ เรื่องแก้ไข ความคิดความปรุงแต่ง แต่อุปสรรคไม่ได้พูด ดังนั้น การแก้อุปสรรคจะแก้อย่างไร แก้ความหลง ไปติดอารมณ์วิปัสสนู ปกิเลส บ้าง จินตญาณบ้าง วิปลาสบ้าง เราจะแก้อย่างไร มันมีที่แก้อยู่
ดังนั้น มันมีที่ออกของมันอยู่ มันมีที่หลงของมันอยู่ กลับมาอยู่กับรูปนาม ภาษาผู้ที่ได้รูปนามแล้ว คำว่ารูปนามภาษาคือ ผู้มีความรู้สึกโดยไม่กำหนดมันเป็นเองแล้ว นี้คือผู้ได้รูปนามแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รูปนามชัดเจน ได้คำว่าตัวสติอย่างเดียว คือได้กำหนดช่วยอยู่ ทุกอิริยาบถ ให้มายืนหยัดอยู่กับตัวสติ ตัวนี้นี่คือแก้ ทำอะไรให้มีสติ มันคิดไปก็ให้กลับมาอยู่กับตัวสติอยู่กับกาย นี่คือตัวแก้ แต่ถ้าผู้ใดจับอารมณ์รูปนามได้ชัดเจน มันจะรู้เองหละว่าเราหลง แต่ผู้ที่ยังไม่ได้สติอย่างเข้มแข็ง จะไม่รู้ว่าเราหลง มันจะเพลินไปกับความรู้ที่มันเกิดขึ้น แต่ผู้ที่ได้รูปนาม สติสมบูรณ์จะรู้ พออารมณ์วิปัสสนูเกิดขึ้นก็รู้ จินตญาณก็รู้ วิปลาสเกิดขึ้นรู้ เริ่มรู้แล้ว เริ่มจับแล้ว อันนี้จะไม่หลง ถ้าสติดีจะไม่หลง หลงก็รู้ หลงก็กลับได้เร็ว ถ้าไม่ได้มาละเอียดก็จะหลงไปบ้าง แล้วก็กลับ แต่มีที่กลับ หลงได้ กลับได้ หลงได้ กลับได้ อยู่อย่างนั้นล่ะ จนข้ามด่าน สามด่าน แต่มันข้ามมาตั้งแต่วิตกวิจารณ์ อดีต อนาคต นับแล้วแต่อันตรายมันยังไม่มาก เห็นอดีตเก่าๆ เคยทำดีก็ตาม ทำชั่วก็ตาม คนเห็นอันนี้จะหยุดได้ เคยติดฝิ่น ติดกัญชา ติดหวย หรือทำอะไรที่มันไม่เหมาะไม่สม เห็นแล้วมันจะละเลิกได้ๆ มันเริ่มเกิดมาจากนั่นนะธรรมะ อย่างหลวงพ่อได้บอกแล้ว มันเริ่มเปลี่ยนทิศทาง ถ้าผู้ใดทำจริงๆ ทำโดยเจตนาดีๆ มันจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางของจิตใจมาเลย ความเห็นของเราจะเริ่มเปลี่ยน ไม่ใช่ทำอะไรมาไม่รู้อะไรเลย เรารู้ทิศทาง รู้ที่แก้มันอยู่ อย่าไปทิ้งหลักสติอยู่กับกายเด็ดขาด ทำอะไรอันนี้จะสมบูรณ์ให้อยู่กับตัวนี้ แล้วถ้าเราเข้าใจธรรมะแล้ว เราจะทำอะไรไปอีก ก็ไม่ให้ทำอะไรมากมายอีก ให้มีสติอยู่กับกายอย่างเดียว ตรงนี้ตรงที่เราจะเอาจุดนี้ ทำอะไรก็รู้ๆ อยู่กับตัวรู้ตัวนี้ มีนิดเดียวแท้ๆ นี่คือเรายึดหลักตรงนี้ ทำอะไรก็รู้โดยไม่กำหนด มันก็รู้ นี้คืออัตโนมัติ เบื้องต้น
เมื่ออยู่กับตัวนี้ ต่อไปนานๆ จนมันเป็น จนมันเปลี่ยน เช่น คำว่าเป็นคืออะไร เช่น ญาติโยมเขาเคยทำ สาโท ก็เอาข้าวเหนียวกับแป้งมาใส่กันแล้วขยำ เอาไปใส่ไหไว้ ๓ - ๔ วัน มันเปลี่ยน เปลี่ยนจากข้าวธรรมดาเป็นกลิ่นหอม เป็นรสสุรา เปลี่ยนจากกลิ่นหอมมาเป็นกลิ่นเมา เป็นดีกรีขึ้นมา จากข้าวเหนียว จากแป้ง จากน้ำนั่นแหละ นี้คือมันเปลี่ยน ตัวสติของเราที่มีความรู้สึกที่มีต่อเนื่อง มันก็จะเริ่มเปลี่ยนเหมือนกัน เริ่มแก่กล้าเหมือนกัน
ทีนี้มันจะเปลี่ยน เปลี่ยนเป็นอะไร เปลี่ยนเป็นศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ว่าศีลแท้ๆอยู่นี้ซิ ศีล๕ ศีล๑๐ ศีล๒๒๗ เป็นศีลประเภทหนึ่ง ศีลนี้เป็นศีลรักษาเราซิ เห็นแล้ว บัดนี้เราเกิดมีศีลขึ้นมาแล้ว อ้อศีลแท้ๆ ไม่ได้ไปรับจากพระ มันเป็นเอง มันมีเองจากจิตจากใจของเรานี่ซิ สมาธิก็ไม่ได้รับอารมณ์ข้างนอก ข้างในปกติ เมื่อจิตเป็นปกติ สมาธิก็สมบูรณ์ ปัญญาไม่ต้องไปเรียกหรอก มันมาเองแล้ว เหมือนมะม่วง รสหวานของมะม่วงมันมาเอง นี่คือตัวปัญญา แต่ก่อนมะม่วงมันเปรี้ยว พอมันสุก มันเปลี่ยนเป็นรสหวาน ความหวานมันมาเอง ธรรมชาติเขาสร้างเอง ตัวปัญญาก็เหมือนกัน ธรรมชาติมีอยู่แล้วมันเป็นเอง ตัวปัญญาก็เป็นเอง เกิดมาเอง ก็เกิดมาจากศีล จากสมาธิ ความเป็นเองมันมีอยู่แล้ว พอปัญญาเกิดศีล สมาธิ ปัญญา ได้หลักแล้วทีนี้
พอปัญญาเกิดเห็นแล้ว เห็นความคิด แต่ก่อนเราก็รู้อยู่ เรารู้ความคิด เราไม่ได้เห็นความคิด มันคิดแล้วคือรู้ มันไปเสพแล้วถึงรู้ รู้แล้วก็แก้มันได้บ้าง ไปตามมันบ้าง แต่ทีนี้พอเรามาได้หลักนี้ หลักปัญญามันสมบูรณ์แล้ว เกิดขึ้นมาเราเห็น ความคิดอะไรเกิดขึ้นมาเรารู้ทันที มันจะไม่ไปเห็นความคิด มันจะไม่ไปตามความคิดเหมือนแต่ก่อน เราก็พยายาม อยู่กับการดูความคิด มันคิดมาก็รู้ มันคิดมาเรื่องใดก็รู้ เรื่องความโลภก็รู้ ความโกรธก็รู้ มันจะเป็นหมวดเป็นหมู่ของมันไปเอง คิดเรื่องอดีต อนาคต มันก็รู้ มันรู้สักว่ารู้ มันไม่ตามเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนมันรู้แต่มันยาว แต่ทีนี้มันรู้สึกว่ารู้มันไม่ยาว มันรู้แล้ว มันหยุด แต่ก่อนมันไม่หยุด เช่นความโกรธที่คนมาทำให้เราโกรธนี้มันไปยาว แต่ทีนี้พอมันรู้ มันหยุด มันก็เป็นการหัดไปอีก หัดทางจิต จิตตานุปัสสนา มันจะเริ่มแล้ว มันจะหัดดูจิต ไม่ได้หัดอะไรหรอก ก็ดูกายนี้แหละ มันจะเปลี่ยนเอง มันเป็นไปเอง ความเข้าใจของหลวงพ่อนะ เราไม่ได้ไปดูจิตโดยตรง หลวงพ่อไม่อยากจะพูดว่าไปดูจิตโดยตรง นักปฏิบัติจะหลงเอะอะไปดูจิตเลย ไม่ต้องไปดูมัน หลวงพ่ออยากจะให้ดูกายอย่างเดียว มันก็รวมทั้งสองอันแล้ว คำว่าดูกาย ก็อะไรไปดูล่ะ อะไรไปรู้กาย มันก็อยู่ด้วยกันแล้ว ถ้าเราบอกว่าไปดูความคิด ไปเลยหละ หลวงพ่อไม่อยากจะบอกอย่างนั้น และไม่อยากจะสอนอย่างนั้น ให้ดูกายอย่างเดียว ดูกายก็เห็นจิตอยู่แล้ว มันเห็นจิต มันเห็นความคิดแล้ว เราเห็นความคิด เห็นแล้วแก้ได้ ดูไปดูมา หัดไปหัดมา จนว่าความคิดที่มันเกิดขึ้น เรารู้ทันที รู้ความคิดทันที คิดอะไรมันก็รู้ โดยเราไม่ได้กำหนดมันก็รู้เองอีก นี่มันเป็นอัตโนมัติ ชั้นละเอียด ชั้นสูงขึ้นไปอีก
แต่เดี๋ยวนี้พวกเรายังไม่รู้ ก็อย่าด่วนชิงสุกก่อนห่าม ค่อยคลำไป ถ้าเราได้ตัวนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เหมือนไม่ได้เป็นนักปฏิบัติ นั่งอยู่ก็รู้ ดูความคิดก็ได้ ดูความเคลื่อนไหวของกายก็ได้ เวทนานอกเวทนาในก็รู้ ดูได้หมด เลยไม่มีหน้าที่อะไร ไม่มีหน้าที่ที่จะทำ มีแต่เป็นผู้เห็น เห็นสภาวะเปลี่ยนแปลงของกาย เห็นสภาวะเปลี่ยนแปลงของใจ เห็นสภาวะเปลี่ยนแปลงของอารมณ์มันดี มันชั่ว เห็นอยู่ เป็นแต่ผู้ดู ผู้เห็น มันก็เลยห่างออกมาหมด เลยไม่มีอะไร ที่จะดูที่จะศึกษาแล้ว ไปๆมาๆเลยไม่เป็นทาสของอะไร ความโกรธ ความเกลียด ไม่มีเป็นทาสแล้ว เป็นสภาวะกลางๆไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีผิดไม่มีถูก
ถ้าเราอยู่กับสภาวะนี้ สภาวะดู สภาวะรู้นี้มันก็ง่ายในการปฏิบัติ นักปฏิบัติ ต้องทำด้วยความใส่ใจ ทุ่มเท ขวนขวายมาก ๆ เราจะเห็นเอง เราจะรู้เอง เราจะเข้าใจเอง ความรักความชัง ความไม่รัก ความไม่ชัง มันก็มี อยู่ที่ตัวเรานี้ ความหลงผิดไปกับอารมณ์ ต่างๆ มันก็มี ความไม่หลงมันก็มี อยู่ที่เราแล้ว มันมีที่เกิด มันก็มีที่แก้ การเจริญสติของเรานี้มันเกิดที่ไหนเราแก้ที่นั่น หลวงพ่อว่า มันเหมาะแท้ๆ แต่ก่อนนี้หลวงพ่อเคยทำแบบบริกรรม มันไม่รู้ทิศทางแก้อย่างนี้ เป็นเพราะหลวงพ่อโง่เอง แต่ก่อนไม่รู้ทิศทางแก้ แต่คนอื่นท่านอาจจะแก้ได้ พอมาเจริญสติมันแก้ง่าย มันแก้ฉับพลัน มันรวดเร็ว ซึ่งแต่ก่อนอะไรเกิดขึ้นมา จำเป็นต้องนั่งสมาธิเสียก่อน จะบริกรรม จนให้มันละเอียดเสียก่อน มันถึงจะวางอารมณ์ได้ เช่นอารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด อารมณ์กาม เกิดขึ้นมา ต้องอาศัยการนั่งสมาธิแก้
ทีนี้การเจริญสติของพวกเรา ตามที่หลวงพ่อพิสูจน์ ความเข้าใจของหลวงพ่อมันฉับพลันอย่างไร มันเกิดที่ไหน แก้ที่นั่น เกิดเดี๋ยวนี้ แก้เดี๋ยวนี้ อยู่ในสภาวะใดก็ตาม อยู่ในชุมชนก็ตาม อยู่วัดก็ตาม นั่งอยู่คนเดียวก็ตาม มันเกิดความคิดอดีตมันก็แก้เดี๋ยวนั้น กลับมาอยู่กับสตินี่มันแก้ได้ คิดถึงอนาคตมาก็แก้ มันเกิดมันแก้ไป อยู่ในชุมชน มันเกิดความไม่พอใจขึ้นมา มันแก้ได้แล้ว มันกลับมาดูตัวเองได้แล้ว มันเกิดความพอใจขึ้นมาเป็นอย่างไร มันก็แก้ได้แล้ว เกิดความโกรธขึ้นมา เราก็แก้ได้แล้ว หลวงพ่อว่ามันเหมาะมากๆ
สำหรับคนยุคนี้ ปัจจุบันนี้ การเจริญสตินี้ถ้าทำไป ไม่ใช่เป็น คนโง่ เป็นคนฉลาด ถึงใครจะว่าโง่ก็ตาม ไม่เข้าใจธรรมะก็ตาม แต่เรายิ้มอยู่ในใจของเรา เราภูมิใจอยู่ในใจของเรา เขาว่าช่างเขา
ดังนั้นรูปแบบที่พวกเรามาทำแม้ไม่สวย แต่ผลมันมาก การเดินจงกรมของพวกเรา ก็ไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องเดินอย่างนั้น อย่างนี้ ขอให้มีสติก็เรียกว่าเป็นการเดินจงกรม การสร้างจังหวะเราก็เจตนาสร้างความรู้สึกขึ้น การสร้างจังหวะเราเจตนาสร้างขึ้น อย่าให้มันอยู่เฉยๆ ให้มันมีความรู้สึกตัวขณะส่ายมือ ส่ายเท้า ส่ายกาย อย่าให้มันอยู่เฉยๆ เราเจตนาสร้างความรู้สึกขึ้น การดูลมหายใจ ลมหายใจมันเป็นธรรมชาติ เราก็ดูได้ ถ้าเราดูอิริยาบถของกายเคลื่อนไหว ยกมือ ดูลมหายใจ เราก็ดูได้หมด ดูได้หมดทุกอย่าง แม้แต่ความคิดที่ละเอียดกว่าลมหายใจ เราก็เข้าไปดูได้ เรารู้ เราดูได้หมดทุกอย่าง คือเราหัดจากหยาบไปหาละเอียด เราไม่ได้ไปดูละเอียดเลยทีเดียว การดูลมหายใจเป็นของละเอียดมาก สำหรับผู้ที่อารมณ์ไม่ละเอียด ไม่ได้หัดมาก่อน จะจับลมหายใจไม่ถูก จะจับไม่ได้ ถ้าผู้ไม่เคยหัดมาจะจับไม่อยู่ ถ้าผู้มีสมาธิแล้วจับได้ เช่น ท่านที่บริกรรมพุทโธ หรือ ยุบหนอพองหนอเป็นหลัก ถ้ามีพื้นฐานมาก่อนอย่างนี้เอาได้ แต่ของพวกเราจะมาจากไหนก็จับได้ เราหัดจากหยาบไปหาละเอียด เช่น การเดินจงกรมมันหยาบๆ แล้วก็ยกมือก็ละเอียดขึ้นมาอีกหน่อยนึง แล้วการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ มันก็รู้ไปเอง ละเอียดไปเอง จะดูลมหายใจ ก็ดูได้ ต่อไป ความคิดเกิดขึ้นมา มันก็รู้ได้ดูได้ แก้ได้ เราดูจากหยาบไป หาละเอียด
ดังนั้น การแก้ของพวกเรา มันถึงเหมาะ อยู่ที่ไหนอยู่คนเดียว มันคิดมาอดีตก็แก้ได้ มันแก้ของมันเองไปไหนมันฉับพลัน ไม่ใช่ว่าเราจะมาอยู่แต่วัดอย่างเดียว เราหัดแล้วเอาไปใช้กับชุมชนต่างๆ เอาไปใช้กับการกับงานมันได้จริงๆ แต่ผู้ใหม่มันไม่ได้หรอก ไม่เชื่ออีกว่าจะทำกับการกับงานได้อย่างไร นี้คือยังไม่เป็น ถ้าเป็นอัตโนมัติแล้ว อย่างหลวงพ่อกล่าวมาแล้ว รับรองเลย ถ้าไม่ได้มาต่อว่าหลวงพ่อ แต่ว่าจะเปลี่ยนได้เร็วหรือได้ช้าเท่านั้น ถ้าผู้มีสติสมบูรณ์จะได้เกือบทุกอิริยาบถ จะทำอะไรก็ได้ จะค้าขายจะหยิบของ จะได้ไหม ถ้าสติสมบูรณ์ได้แน่นอนเลย ทีนี้จะเขียนหนังสือ จะพิมพ์หนังสือ มันจะอยู่กับสติ จะได้สำหรับผู้เป็นแล้ว แต่ผู้ใหม่จะได้บ้างไม่ได้บ้าง จะได้ ๑๐% ๒๐% ก็ยังรู้จักว่ามันได้ เช่น เราทำงานไปตั้งนาน ก็ไม่รู้จัก พอรู้จัก เอ้อ รู้จักแล้ว เช่น เราเดินจากกุฏิ มาศาลา มาทำวัตร เราเดินมาตั้ง ๑๐ ก้าวได้มาแล้ว ๑๐ ก้าว แต่ต่อมามันหลง พอจะขึ้นศาลาจึงรู้จัก ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย ไม่ได้กำหนดเลย มันก็ได้อย่างนั้น มันค่อยได้ไปเอง ดังนั้นถ้าเราหัดดีๆไปไหนมันได้หมด อย่างหลวงพ่อจ่อยท่านไปอยู่ไหนปฏิบัติธรรมไปหมด ไม่มีอะไรที่จะยาก ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อจะพูดองค์เดียว องค์อื่นก็เหมือนกัน มีผู้รับรองหลายองค์ หลายท่าน แม้โยมก็พิสูจน์ได้ ถ้าอยู่กับตัวสติ เราทำงานไม่ใช่ได้แต่งาน แต่ได้ธรรมะไปด้วย การปฏิบัติธรรมมันเหมาะสมกันอย่างนี้เอง เช่น โยมจะเสียบปลั๊กหม้อข้าว มันก็มีสติ มันได้ทั้งงานและธรรมะ กวาดบ้าน ล้างจาน ได้ทั้งธรรมะ ได้ทั้งการปฏิบัติธรรม ได้ทั้งงาน ได้ทั้งหมด ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com