ประวัติ หลวงพ่อกัสสปมุนี - วัดปิปผลิวนาราม ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง - webpra

หลวงพ่อกัสสปมุนี

ประวัติ วัดปิปผลิวนาราม ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

หลวงพ่อกัสสปมุนี

1.  รูปถ่ายของหลวงพ่อกัสสปมุนีที่อินเดียมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ?

ตอบ เมื่อปี พ.ศ. 2507 หลวงพ่อกัสสปมุนีได้เดินทางไปยังชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานถึง 5 เดือน ตลอดเวลาที่ท่านเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ท่านจะห่มดองหรือห่มลดไหล่ตลอด ในขณะที่พระเถระองค์อื่น ๆ จะห่มคลุมตามพระวินัยบัญญัติว่า เมื่อภิกษุออกนอกบริเวณวัด ต้องห่มคลุมให้เป็นปริมณฑลคือข้างบนจีวรต้องติดคอ ด้านล่างต้องคลุมครึ่งแข้งจึงถูกต้อง แต่การที่หลวงพ่อห่มดองตลอดรายการนั้น ท่านให้เหตุผลว่าชมพูทวีปเป็นดินแดนแห่งพระพุทธองค์ ทุกหนแห่งล้วนแต่เป็นแผ่นดินของพระองค์ที่ทรงจาริกไปแสดงธรรม จึงถือว่าเป็น เขตพุทธาวาส ทั้งสิ้น ท่านจึงไม่ห่มคลุม

และทุกแห่งที่ท่านไปนมัสการ ตามพุทธประวัติก็ดี ตามโบราณาจารย์กล่าวอ้างก็ดี ตามที่แขกอินเดียเล่าให้ฟังก็ดี ว่าสถานที่นี้พระพุทธเจ้าทรงกระทำพุทธกิจอย่างนั้นอย่างนี้ หลวงพ่อท่านยังไม่เชื่อทีเดียว หากท่านลงมือนั่งภาวนา ตรวจสอบ ด้วยองค์ท่านเองในที่ทุกแห่ง

กระทั่งจิตท่านเห็นชัดว่า ณ สถานที่นี้พระพุทธองค์ได้ทรงทำกิจดังกล่าวอ้างมาแล้วจริง ๆ ท่านจึงปลงใจเชื่อ และเป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อท่าน พิจารณา ด้วยอำนาจฌาน-ญาณ อันสูงยิ่งของท่านแล้ว ปรากฏว่าในทุกสถานที่ล้วนเป็นของจริงทั้งสิ้น ทุกแห่งแฝงเร้นด้วยพระพุทธบารมีที่ยังคงอบอวลแผ่รัศมีอยู่ทุก ๆ เวลา รอคอยผู้มีบุญญาธิการมานมัสการให้เกิดมหาบุณย์-มหากุศล

ดังนั้นท่านใดที่คิดจะไปหรือไปมาแล้ว...

ก็จงสบายใจและจงอิ่มบุญในใจให้เต็มที่เถิด

ดังภาพถ่ายหน้าสถูปที่ถาม หลวงพ่อท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ที่ถ้ำอจันตา ขณะที่ใช้อำนาจจิต ตรวจสอบ อยู่นั้น ก็มีฝรั่งคนหนึ่งผ่านมาเห็นท่านเข้า เวลานั้นท่านเปลื้องจีวรและสังฆาฏิออกแล้วคงเหลือเพียงสบงและอังสะ อีกทั้งยังพาดลูกประคำเส้นเบ้อเริ่ม ทำให้ฝรั่งนายนั้นนึกว่าท่านเป็นเณร จึงเกิดความเอ็นดูและทำการบันทึกภาพท่านไว้

ภายหลังฝรั่งก็ได้นำรูปนั้นมาให้ท่านดู ปรากฏว่าท่านไม่พอใจมาก คงเพราะแอบถ่ายโดยไม่ขออนุญาตท่านก่อนประการหนึ่ง และคงเพราะท่านแต่งตัวไม่เรียบร้อยประการหนึ่ง ท่านจึงดุเขา(เพราะท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม) และยึดทั้งรูปทั้งฟิล์มกลับมา

ครั้นกลับเมืองไทยแล้ว คณะศิษย์อยากได้ของที่ระลึกจากท่าน ท่านจึงให้นำฟิล์มนี้ไปอัดออกมาเป็นรูปใบน้อย และยังเมตตาเขียนยันต์วิเศษที่ชื่อว่า ยันต์พุทธเกษตรมอบให้ด้วยลายมือท่านเอง (ท่านได้มาเมื่อครั้งไปเที่ยววิเวกภาวนาใน จ.ลพบุรี ยันต์พุทธเกษตรได้ปรากฏขึ้นในนิมิตท่าน ท่านบอกว่ายันต์นี้มีอานุภาพครอบจักรวาล ตามแต่ผู้ใช้จะอธิษฐานให้เป็นไปดังปรารถนา)

ศิษย์ได้นำยันต์พุทธเกษตรลายมือท่านไปบันทึกเป็นภาพถ่ายใบน้อยออกมาอีก 1 ใบ จากนั้นก็นำรูปหลวงพ่อกับรูปยันต์พุทธเกษตรนี้ประกบเข้าด้วยกัน แล้วนำมาถวายให้ท่านอธิษฐานจิตแจกผู้ศรัทธาในราวปี พ.ศ. 2508 2509

ต่อมาเมื่อท่านประสงค์จะตอบแทนคุณของเสี่ยไซ โยมอุปการะเป็นที่ยิ่ง ท่านก็ดำริเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2510 เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

และรูปนี้ก็อยู่ในวาระนิโรธสมาบัติด้วย

หลวงพ่อเคยบอกว่า นิโรธสมาบัตินี้มีอานุภาพมากนัก มิใช่แต่กุฏิของท่านเท่านั้น แต่กำลังแห่งนิโรธยังครอบคลุมไปทั่วภูเขา สุนทรีบรรพต อันเป็นที่ตั้งวัด อย่าว่าแต่ของในกุฏิท่านเลย แม้กรวดหินหน้าวัดหากจะหยิบขึ้นมาแล้วตั้งจิตระลึกถึงท่านก็ยังมีอานุภาพได้

อะไรจะขนาดนั้น

เชื่อท่านไหม ?

ถ้าเชื่อ....! รูปใบน้อยและพระเครื่องต่าง ๆ ที่ผ่านการเข้านิโรธจากท่านมาตั้งแต่ปี 2510 กระทั่งท่านละสังขารจากไปในวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2531

จะขลังเพียงไหน !?

ผมยังเดาไม่ถูกเลย

ดังนั้น ท่านจึงไม่ใคร่แจกรูปนี้ให้ใครง่าย ๆ แม้มีคนขอกันมาก ท่านก็ยังเลือกคนให้ ท่านบอกว่า ของดีต้องให้กับคนดีและนับถือเราจริงเท่านั้น

หากจะมีคนขอเหรียญรุ่นแรกของท่านที่สร้างในปี พ.ศ. 2518 บางทีท่านก็มอบรูปนี้ให้ ครั้นคนนั้นบ่นว่าอยากได้เหรียญต่างหากเล่า ท่านจะบอกดุ ๆ ทันทีว่า

อะไร ให้ของดีแล้วยังไม่รู้จัก รูปนี่เก่งกว่าเหรียญอีกนะ

คือคนโบราณเมื่อจะกล่าวชมมงคลวัตถุใด ๆ ว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์เหลือกำลัง ท่านมักใช้วลีว่า เก่ง ก็เป็นอันรู้กัน

ฉะนั้น รูปนี้จึงเหลือตกค้างมาจนทุกวันนี้ และมีคนได้รับประสบการณ์มากมายยิ่งกว่าเหรียญเสียอีก ถ้าจะให้เล่า คงต้องนัดเจอกันดีกว่าเพราะยาวมากจนไม่อยากพิมพ์

เล่ามาเสียยืดยาว หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจ ใครที่มีอยู่แล้วก็รีบเอามาใส่ซะ คนที่ยังไม่มีก็ค้นคว้าหาเอาเถิด ของดีสุดยอดอย่างนี้ อย่าให้หลุดมือเลยครับ


ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com
หากต้องการศึกษาประวัติท่านเพิ่มเติมให้เข้าศึกษาได้ที่ dharma-gateway.com

Top