เทพเจ้า หลวงปู่ไต่ฮงกงโจวซือ
ประวัติ (เทพเจ้าผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก)
หลวงปู่ไต่ฮงกงโจวซือ
( ภาพที่มา : http://larnpohtanyod.blogspot.com )
ในสมัยราชวงศ์ซ้อง ได้เกิดบุคคลสำคัญขึ้นท่านหนึ่ง แซ่ลิ้ม เป็นชาวมณฑลฮกเกี้ยน และมีสติปัญญาปราดเปรื่องสามารถสอบไล่ได้ตำแหน่ง "จิ้นสือ" และเข้ารับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มณฑลเจียะเจียง ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สามารถปกครองราษฎรให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ต่อมาท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตราชการ ท่านจึงได้สละลาภยศอันสูงเกียรติออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนานิกาย มหายาน ณ วัดแห่งหนึ่งในมณฑลฮกเกี้ยนได้รับฉายาว่า "ไต้ฮง" เมื่อได้อุปสมบทแล้วท่านก็ได้หมั่นบำเพ็ญศาสนกิจ ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุธรรมอันวิเศษ
ท่านไต้ฮงพำนักอยู่ที่ วัดดังกล่าวเป็นเวลาหลายปี ด้วยจิตที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาต้องการออกโปรดสัตว์ ท่านจึงได้ออกธุดงควัตรจากเมืองฮกเกี้ยนไปตามเมืองต่างๆ ตลอดเส้นทางที่ท่านธุดงค์ผ่านไปนั้น เมืองใดที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ท่านก็จะช่วยขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ให้เมืองใดที่ทำการสร้างถนนหรือสะพาน ท่านก็จะช่วยเหลือจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย ในบางแห่งที่มีโรคระบาด มีคนเจ็บและล้มตาย ท่านก็จะช่วยนำยารักษาโรคออกแจกจ่ายแก่ผู้เจ็บป่วย และออกบิณฑบาตไม้ มาทำโลงศพและนำศพไปบรรจุฝังตามธรรมเนียม
พระภิกษุไต้ฮงออกธุดงค์โปรดสัตว์อยู่หลายปี จนกระทั่งผ่านมายังเมืองแต้จิ๋ว ก็มีพุทธศาสนิกชนนิมนต์ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งบนภูเขาปัก ซัว อำเภอเตี่ยนเอี้ย ซึ่งตลอดเวลาที่ท่านได้พำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้ท่านได้บำเพ็ญศาสนกิจอย่าง เคร่งครัด ด้วยความมีเมตตาธรรมจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ทำให้บรรดาสาธุชนที่มีความศรัทธาเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาเป็น จำนวนมาก นอกจากนี้ ท่านยังได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดดังกล่าวจนกลายเป็นพระอารามใหญ่ เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้
ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ได้ออกธุดงค์ไปอยู่จำพรรษาที่วัดเมี่ยงอัง ตำบลฮั่วเพ้ง ห่างจากอำเภอเตี่ยนเอี้ยไปประมาณ 15 กิโลเมตร ที่หมู่บ้านนี้มีแม่น้ำเหลียงเจียงไหลผ่าน แบ่งเป็นฝั่งตะวันออกและตะวันตก วัดเมี่ยงอังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ในสมัยนั้นแม่น้ำเหลียงเจียงเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวกรากมาก อีกทั้งมีความกว้างใหญ่และลึก ประชาชนจึงใช้เรือเป็นพาหนะ ยามเมื่อเกิดมรสุมจะเกิดเหตุเรือล่มบ่อยๆ ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ท่านไต้ฮงจึงเกิดความเวทนาสงสารประชาชน จึงดำริที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหลียงเจียง เพื่อให้ประชาชนได้สัญจรโดยสะดวก ท่านจึงได้บิณฑบาตวัสดุก่อสร้างต่างๆ อยู่หลายปี จนในปีพ.ศ.1671 มีพ่อค้าใหญ่เดินทางมานมัสการท่าน และทราบว่าท่านจะสร้างสะพาน จึงได้นำช่างก่อสร้างและวัสดุมาร่วมสร้างสะพานด้วย
ส่วนบริเวณที่จะสร้างสะพานนั้นท่านได้เลือกตรงหน้าศาลเจ้าหลักเมือง และดูฤกษ์ยามสำหรับการเริ่มงาน ในวันที่เริ่มสร้างสะพานสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือน้ำในแม่น้ำเกิดลดลงไปจน เกือบแห้งเป็นที่อัศจรรย์ บรรดาประชาชนและช่างต่างก็ก้มลงกราบท่านด้วยความศรัทธา ท่านกลับบอกว่าให้กราบฟ้าดินเถิด การครั้งนี้น้ำทะเลที่ปากแม่น้ำจะไม่ขึ้นลงเป็นเวลา 7 วัน เมื่อทราบเช่นนั้นพวกช่างจึงทำการสร้างรากฐานสะพานและสร้างถ้ำสำหรับระบาย น้ำจำนวน 19 ถ้ำ จนแล้วเสร็จโดยใช้เวลา 7 วันพอดี วันต่อมาน้ำในแม่น้ำเหลียงเจียงก็ขึ้นลงตามปกติ การก่อสร้างสะพานจึงเป็นไปด้วยความราบรื่นจนกระทั่งเสร็จ จัดว่าเป็นสะพานหินที่มีความยาวมาก และตั้งชื่อสะพานนี้ว่า "ฮั่วเพ็ง" หลังจากที่สร้างสะพานเสร็จท่านก็เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา และมรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 85 ปี ชาวเมืองจึงได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลและฝังร่างของท่านไว้ ณ ภูเขาฮั่วเพ็ง และยังสร้างศาลเจ้าประดิษฐานรูปเหมือน ไต้ฮงกงโจวซือไว้สักการบูชา มีนามว่า "ศาลเจ้าป่อเต็กตึ๊ง" มาจนทุกวันนี้
ในประเทศไทย ประมาณปีพ.ศ.2453 ชาวจีนโพ้นทะเลได้เข้ามาอาศัยร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย ด้วยความเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา จึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรสงเคราะห์สาธารณภัย เพื่อเจริญรอยตามกุศลเจตนาของท่านไต้ฮงกงโจวซือ โดยใช้ชื่อว่า "มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง" หรือที่เรารู้จักกันในนาม "มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง" ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย กทม.
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538686552&Ntype=40
ประวัติความเป็นมา
หลวงปู่ไต่ฮงกง เป็นพระภิกษุในสมัยราชวงศ์ซ้อง ไม่มีประวัติที่ละเอียด เท่าที่เล่าสืบกันมาว่าท่านเป็นพระที่จาริกมาจากเมืองอื่น เป็นพระที่นิยมสงเคราะห์ชาวบ้านเกี่ยวกับการเก็บศพที่ไร้ญาติ ซ่อมแซมถนนหนทางที่ชำรุด และสร้างสะพานในที่ที่ควรสร้างเป็นหลักใหญ่ มีพระองค์อื่น ๆ ที่เห็นด้วยกับท่านจึงร่วมกันออกทำงานประเภทนี้เป็นกิจวัตรทุกวัน กระทั่งท่านได้มรณภาพไป คณะสงฆ์ที่ได้เคยร่วมงานสานต่อจากท่านก็ยังคงดำเนินงานนี้เสมอมา ต่อมามีชนบทแห่งหนึ่งได้เกิดโรคระบาดติดต่อที่ร้ายแรง มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่คณะสงฆ์ได้ไปเก็บศพทำพิธีพรมน้ำมนต์ศพนั้น มีคนไข้คนหนึ่งขอให้ท่านพรมน้ำมนต์ให้ และปรากฎว่าคนไข้คนนั้นกลับหายเป็นปกติ จึงมีการสร้างศาลาบูชาท่าน เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นอานิสงส์จากหลวงปู่ไต่ฮงกงโจวซือ แล้วก็มีการทำกันอย่างแพร่หลายไปทั่วเมืองแต้จิ๋ว โดยเรียกชื่อศาลานี้ว่า “ศาลาหลวงปู่ไต่ฮงกง” และยังคงทำงานด้านการเก็บศพ พร้อมทำงานซ่อมแซมถนนตามแบบท่าน แต่การดำเนินจะเป็นฆราวาส ชาวจีนจึงถืว่า การบริจาคแก่ศาลหลวงปู่ไต่ฮงกงเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง
ลักษณะความเชื่อ
การทำบุญบริจาคโลงศพ หรือทำบุญให้กับศพที่ไร้ญาติ มีความเชื่อกันว่าเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง เป็นเสมือนการสะเดาะห์เคราะห์ต่อดวงชะตา ให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ หรือให้ภัยพิบัตินั้น ๆ เบาบางลง และยังเป็นการทำบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรอีกด้วย เพื่อเป็นการสานต่อเจตนาของหลวงปู่ไต่ฮงกงโจวซือ จึงมีการทำบุญบริจาคโลงศพกันอยู่เป็นเนืองนิตย์ และเพื่อเป็นการสักการบูชาท่าน ให้ปฎิบัติสืบต่อกันนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watphananchoeng.com/watphananchoeng/index.php?option=com_content&view=article&id=31:2011-07-11-18-50-53&catid=4:god&Itemid=44