หลวงปู่โทน กนตสีโล
ประวัติ วัดเขาน้อยคีรีวัน ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
ตอน ตำนานบทหนึ่งของพระเกจิจากเมืองชลบุรี
คัดลอกจาก http://www.oknation.net/blog/sitthi หมวด : ศิลปะ/วัฒนธรรม
โพสท์โดย ศิษย์กวง เมื่อวันพุธ ที่ 10 กันยายน 2551
สวัสดีครับ...บันทึกน้อยของผมตอนนี้เป็นเรื่องของพระเกจิอาจารย์ ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดชลบุรี ท่านเป็น "พระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ..” คนในเมืองชลนับถือท่านมาก ท่านคือ "อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาน้อยคีรีวัน” ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรีครับ
ชื่อของท่านคนเมืองชลเรียกกันโดยทั่วไปว่า “หลวงปู่โทน กนตสีโล....”จะว่าไปแล้วท่านนับว่าเป็นพระแท้ของชาวบ้านจริงๆ คือมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายสมถะและไม่ยินดีกับลาภยศสรรเสริญใดๆครับ...
หลวงปู่โทนท่านเป็นพระที่เป็นที่พึ่งของชาวบ้านตามแบบที่เราเรียกกันว่า... "สมภารวัดบ้านนอก”..
กล่าวคือผู้ที่เป็นสมภารจะต้องรับเรื่องทุกข์ร้อนได้ทุกเรื่องที่ชาวบ้านเข้ามาขอความเมตตาจากท่านช่วยสงเคราะห์ การสวดมนต์ การประกอบพิธีกรรม การอบรมสั่งสอนแสดงธรรม การนั่งปรกปลุกเสกหรืออธิษฐานจิตวัตถุมงคล ฯลฯ
ซึ่งท่านสามารถทำได้อย่างดีเยี่ยมไม่มีที่ติ จนสามารถนำพาศรัทธาของชาวบ้านและผู้ที่เคารพเลื่อมใสในตัวท่าน ร่วมบุญ ร่วมกุศล ช่วยกันสร้างศาสนสถาน ถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดเขาน้อยคีรีวัน ดังเป็นที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน...
หลวงปู่โทน กนฺตสีโล เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๒๘๕ ตรงกับ ร.ศ.๑๔๒ ที่ ต.วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โยมบิดาชื่อนายกิ่ม โยมมารดาชื่อนางแดง นามสกุล เหลืองอ่อน
โยมของท่านทั้งสองดำเนินอาชีพทางกสิกรรม เมื่อตอนเยาว์วัยมีอายุเข้าเกณฑ์เรียนหนังสือ ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเนินสังข์ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งจบชั้นประถมปีที่ ๔ อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน..
หลวงปู่โทน เข้าอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๓๐ ปี ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๕ ณ วัดเนินสังข์สฤษฏาราม ต.ไร่หลักทอง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
โดยมี "พระครูพิสิฏฐ์ศาสนคุณ” (หลวงพ่อทองหยิบ) เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.พนัสนิคม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเอี่ยม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระป้อม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ทั้งสองรูปนี้อยู่ที่วัดไร่หลักทอง ท่านได้รับฉายาว่า “กนฺตสีโล” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีศีลเป็นที่น่ายินดี….”
ในส่วนของเรื่อง "จิตตานุภาพ”นั้น หลวงปู่โทน ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงซึ่งวิทยาคุณอีกองค์หนึ่ง รูปธรรมที่เราเห็นชัดเจนคือภาพของท่านที่เข้าร่วมงานพุทธาภิเษกวัตถุมงคลตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งงานราษฏร์ งานหลวง โดยเฉพาะในเขตจังหวัดชลบุรีจะขาดท่านเสียมิได้เลย..
นอกเหนือไปจากวิชาอาคมด้านการปลุกเสกแล้ว “ศาสตร์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้คาถาและจิต” ท่านก็ยังคงเป็นผู้เชี่ยวชาญทางนี้โดยเฉพาะทางแพทย์แผนโบราณคือ “การเสกน้ำมันมนต์ประสานกระดูก”..ที่ขึ้นชื่อมาก
ตลอดจนถึงการศึกษาทางไสยเวทเอาไว้ป้องกันคุณไสยซึ่งในสมัยก่อนมีกันมากไม่ว่าจะเป็นยาสั่ง เสกของเข้าท้อง ไม่ว่าจะเป็นตะปู หนังควาย หรือเส้นผม ฯลฯ…
สมัยก่อนการจะฆ่าคนนั้น ถ้าบุคคลนั้นมีวิชาทางคุณไสยเวทชนิดนี้แล้ว ไม่ต้องใช้อาวุธ มีด อาวุธปืนใดๆ เพียงแต่เสกยาสั่ง (สั่งตาย) เสกตะปู เสกหนังควายให้เข้าไปหาผู้ที่ต้องการให้เขาตาย แล้วเสกยาสั่งเพียงแต่สั่งให้ผู้นั้นไปกินอาหารหรือผลไม้ที่ผู้เสกๆสั่งเอาไว้ แล้วผู้นั่นไปกินของที่เขาสั่งไว้ ก็ตายได้เช่นกัน
เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถที่จะพิสูจน์สอบสวนได้เลย เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็น ไม่รู้สาเหตุแห่งการตายหาฆาตกรไม่พบ นั่นคืออำนาจของวิชาคุณไสยหลวงปู่โทนได้ศึกษาวิชานี้ทั้ง "เรียนผูกและเรียนแก้..” ทั้งนี้วิชาที่ท่านเรียนมานี้ มิได้มุ่งหมายเอาไว้ทำร้ายใครเป็นเพียง...
”ศึกษาเอาไว้เพื่อป้องกันตนเองและคอยเอาไว้ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น...”
การศึกษาวิชาคาถาอาคมนี้ หลวงปู่โทนได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงลุงของท่าน คือ "หลวงพ่อทับ วัดหัวถนน” อำเภอพนัสนิคม หลวงพ่อทับเป็นพระสงฆ์ที่แก่กล้าด้วยคาถาอาคม มีพลังจิตที่เข้มขลัง..
นอกจากนี้หลวงปู่โทน กนฺตสีโล ยังได้ฝากตัวลงเป็นศิษย์กับ "พระครูพินิจสมาจารย์” หรือที่ชาวชลบุรีในอดีตรู้จักท่านดีในนามว่า “หลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม" อ.พนัสนิคม หลวงพ่อโด่รูปนี้เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง...
โดยเฉพาะ "สีผึ้ง” ชาวเมืองชลเชื่อถือกันว่า ขมังในเรื่องเมตตา มหาเสน่ห์และค้าขาย เด็ดขาดนัก สำหรับเรื่อง“ชื่อชั้น...”ของหลวงพ่อโด่ แห่งวัดนามะตูม ถ้าจะพูดตามภาษาชาวบ้านต้องเรียกว่า “หัวกระไดกุฎิไม่แห้ง....”ครับ
ศิลปะคือ”เครื่องขัดเกลาชีวิตและจิตใจ” ทำให้มนุษย์เข้าถึงธรรมชาติ.. สำหรับภิกษุสงฆ์แล้ว การออกเดินธุดงค์ คือ..
”เครื่องขัดเกลาและฝึกฝนความแกร่งกล้าของจิต...”
หลวงปู่โทนได้ออกเดินธุดงค์ไปทางภาคเหนือ เช่นเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย และเข้าสู่ประเทศพม่าเพื่อไปกราบนมัสการพระเจดีย์ชะเวดากอง..
เมื่อออกจากพม่าท่านก็ได้เดินทางย้อนกลับเข้าสู่เมืองไทย บำเพ็ญเพียรตามป่าตามถ้ำ ได้ระยะหนึ่งจากนั้นท่านได้เดินธุดงค์เข้าประเทศลาว เขมร และกลับเข้าประเทศไทย “นับรวมเวลาที่ท่านเดินธุดงค์ทั้งสิ้น ๓๒ ปี....”
หลังจากหยุดธุดงค์ในช่วงเวลาว่างท่านมักเดินทางไปสนทนาธรรมกับ "หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง..” เนื่องจากเป็นสหธรรมิกรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน เมื่อได้สนทนากันแล้ว หลวงปู่ทิมจึงแนะนำให้มาสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นที่ “เขาน้อย” ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี..
เขาน้อยแห่งนี้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาสูงมีป่าไม้เบญจพันธุ์ลำต้นใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย เป็นที่เงียบสงบ โดยหลวงปู่ทิมท่านเห็นว่าที่แห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมและเจริญกรรมฐานเป็นอย่างมาก
ในสมัยที่หลวงปู่ทิมยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับหลวงปู่โทนเสมอมา หลายครั้งที่ท่านเดินทางไปหาหลวงปู่ทิม ท่านจะพักค้างคืนอยู่ที่วัดละหารไร่อยู่เป็นเดือนบ้างสองเดือนบ้าง จึงจะกลับวัดเขาน้อยคีรีวัน
หลวงปู่ทิมท่านจะแนะชีวิตการปลุกเสกพระเครื่อง เครื่องรางของขลังให้กับหลวงปู่โทน อีกทั้งยังมอบพระเครื่องรุ่นต่างๆของท่านให้กับหลวงปู่โทนนำกลับไปแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญสร้างวัดเขาน้อยคีรีวันอยู่บ่อยครั้ง..
ถ้าจะถามต่อว่าบ่อยแค่ไหน คงต้องตอบว่าบ่อยซะจนหลวงปู่โทนเองท่านก็ยังจำไม่ได้ นับเป็นความกรุณาของหลวงปู่ทิมที่มีต่อวัดเขาน้อยคีรีวันเป็นอย่างมาก สำหรับในเรื่องของวิชาคาถาอาคมต่างๆที่หลวงปู่ทิมได้แนะนำอมรมสั่งสอนให้หลวงโทนนั้น หลวงปู่โทนเคยพูดกับผู้ใกล้ชิดว่า..
“เมื่อนำมาปฏิบัติตามก็ได้ผล อย่างที่หลวงปู่ทิมบอกไว้ทุกประการ..”
หลวงปู่โทน ท่านได้มาอยู่ที่เขาน้อยนี้เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒ โดย ตอนแรกท่านได้อาศัยปักกลดนั่งสมาธิภาวนา ต่อมาชาวบ้านแถบนั้นเห็นจริยาวัตรศีลปฏิบัติของท่านจึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ได้ช่วยกันสร้างกุฏิไม้หลังเล็กๆขึ้นหนึ่งหลัง ถวายท่านเพื่อใช้เป็นที่เจริญสมณธรรม
จากการสร้างศรัทธาชาวบ้านที่เริ่มจากกุฎิไม้หลังเดียว ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นจนทางคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา และแถลงการณ์คณะสงฆ์ตั้งชื่อเป็นวัดว่า “วัดเขาน้อยคีรีวัน”
ซึ่งถือว่าเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ มีเนื้อที่ครั้งแรกทั้งหมด ๘ ไร่ ขณะนี้กำลังก่อสร้างอุโบสถเพื่อประโยชน์ในการบำเพ็ญกุศล ทำสังฆกรรมอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา….
หลวงปู่โทน กนตสีโล ท่านได้ "มรณภาพด้วยอาการอันสงบเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑” ซึ่งการจากไปของท่านได้สร้างความเสียใจให้กับลูกศิษย์และผู้ที่เคารพศรัทธาในตัวท่านเป็นอย่างมาก อย่างไรก็แล้วแต่..
"ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกขณะจิตจึงควรกระทำแต่ความดี..”
ทุกวันนี้พระสงฆ์ของวัดเขาน้อยคีรีวันและกลุ่มลูกศิษย์ของหลวงปู่โทน ยังคงสืบสานเจตนาตามธรรมโอวาทของท่าน...
“พระข้างนอก พระข้างในมีให้ครบ
จะประสบโชคค่ามหาศาล
พระนอกดี แต่ข้างในใจดังมาร
พระไม่หาญ คุ้มครองปกป้องภัย....”
บันทึกน้อยของผมตอนนี้เขียนขึ้นเพื่อ”บูชาพระคุณของหลวงปู่โทน” ซึ่งส่วนตัวแล้วผมและเพื่อนๆร่วมอุดมคติได้เข้าไปกราบท่านเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น และทุกครั้งก็กินเวลาไม่นานมากเนื่องจากต้องให้เวลาหลวงปู่ท่านพักผ่อน...
สิ้นหลวงปู่โทน เรื่องราวของคุณงามความดีและคาถาอาคมที่เคยเป็น”ลมหายใจอันมีชีวิตบทหนึ่งของพระเกจิสายชลบุรี...” จึงต้องปิดฉากลงไปอย่างน่าเสียดาย..
จะว่าไปแล้วในสังคมปัจจุบัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามี”อุดมการณ์และแนวความคิดใหม่..”จากสังคมภายนอกที่ได้แทรกแซงเข้าไปในวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนในอดีต...
นัยยะตามนั้นย่อมทำให้เกิด”การปรับตัวให้เข้ากับแนวทางใหม่..” ความเชื่อในเรื่องของ "วัตถุมงคล” จึงก้าวเข้ามาเป็น”ตัวประสาน”ระหว่างความคิดเดิมคือเรื่องของ "อำนาจที่เหนือจริง” ที่ชื่อว่า “ไสยศาสตร์” กับ "อำนาจจริง” ที่เราสามารถจับต้องได้คือ “วิทยาศาสตร์”..
และย่อมเป็นเรื่องที่แน่นอนครับว่า...การประสานกันระหว่างวิถีเดิมของชุมชนกับแนวทางใหม่ย่อมต้องเกิด”ความคิดเห็นที่แตกต่าง...” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่ามนุษย์....
“ว่ากันว่าชีวิตมนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสมดุล โดยที่มนุษย์ไม่ใช่นายเหนือธรรมชาติ...”
ปัจจุบันวัดเขาน้อยคีรีวัน ยังคงมี "วัตถุมงคลบางส่วน” ที่หลวงปู่โทนท่านได้ปลุกเสก ด้วย "อำนาจที่เหนือจริง” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติของ "ผู้คงอาคม”ที่กลุ่มผู้มีคตินิยมทางนี้เรียกว่า "พระเกจิอาจารย์” ..เจตนาในการจัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับญาติโยมที่เข้ามาร่วมทำบุญ ไว้บูชาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ก้าวไกลไปจากความดี...
ประสบการณ์คง "ไม่ต้องถาม” เพราะที่ผมเล่ามาก็พอจะ "ยืนยันความขลัง” ได้บ้างแล้ว รายได้จากการบูชานำไปก่อสร้างพระอุโบสถของวัดให้แล้วเสร็จ เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้ประกอบศาสนกิจและใช้เป็นสถานที่ "สร้างคนให้มีคุณค่าของสังคม..”
ถึงตอนนี้ผมและเพื่อนๆ ต่างพูดเข้าข้างตัวเองครับ..ว่า
“วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง” เป็น “การคิดค้นขึ้นภายใต้พื้นฐานของชีวิตมนุษย์..”
ซึ่งพื้นฐานตามนัยยะข้างต้นนี้เป็น "พื้นฐาน..” ที่มีส่วนช่วยให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบและมีความสุขมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้…
อย่างน้อยที่สุด "พื้นฐาน” อันนี้..มันก็ได้สร้างให้พวกผมดำรงไว้ซึ่ง “คุณค่าของความเป็นมนุษย์..” ภายใต้สภาพของสังคมสมัยใหม่ที่ใครบางคนกำลังทำลายคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างในบ้านเมืองเราขณะนี้....สวัสดีครับ
ขอขอบพระคุณข้อมูลบางส่วนจาก "หนังสือชีวประวัติและภาพวัตถุมงคล” ที่รวบรวมขึ้นโดยคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่โทน
คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย สำหรับรูปถ่าย เพื่อนต่อ กับคำแนะนำที่ดีๆ คุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี กับกำลังใจที่มีให้เสมอมาครับ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com