ประวัติ หลวงปู่โทน กันตสีโล (พระครูพิศาลสังฆกิจ) - วัดบูรพา บ้านสะพือ ต.สะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี - webpra

หลวงปู่โทน กันตสีโล (พระครูพิศาลสังฆกิจ)

ประวัติ วัดบูรพา บ้านสะพือ ต.สะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

 

 ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่โทน กันตสีโล (พระครูพิศาลสังฆกิจ)  วัดบูรพา บ้านสะพือ ต.สะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่โทน กันตสีโล (พระครูพิศาลสังฆกิจ) 
วัดบูรพา บ้านสะพือ ต.สะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

โดย สุรสีห์ ภูไท นิตยสารโลกทิพย์ พ.ศ. ๒๕๒๙
โพสต์ในเว็บชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน 
โดย คนชอบพระ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔

 

ชาติกำเนิด

หลวงปู่โทน นามเดิมชื่อ โทน นามสกุล หิมคุณ 
เกิดเมื่อเดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ วันจันทร์ ปีระกา 
ตรงกับวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐

ท่านมีพี่น้องด้วยกันเพียง ๒ คนเท่านั้น ท่านเป็นคนโต 
เกิดที่บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

ถึงแม้อายุของท่านจะมากถึง ๘๙ ปีแล้วก็ตาม (ขณะที่มีการบันทึกชีวประวัติ)
แต่ความจำต่างๆ ท่านยังจำได้แม่นยำ 
ซึ่งหาได้ยากยิ่งที่สุดที่ผู้มีอายุมากถึงเพียงนี้จะมีความจำเป็นเลิศเช่นนี้


ภูมิหลังครั้งเด็ก

หลวงปู่โทน ท่านมีเมตตาเล่าให้ฟังถึงในสมัยเป็นเด็กของท่านว่า

“อาตมาเป็นคนโต บิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า โทน 
ซึ่งที่แรกท่านคงคิดว่าจะมีลูกคนเดียว แต่ต่อมาก็ได้น้องเกิดขึ้นมาอีกคน”

“สมัยหลวงปู่เป็นเด็ก ได้เรียนหนังสือที่ไหนครับ”

“ในสมัยนั้นไม่ได้เข้าโรงเรียนหรอก เพราะอยู่บ้านนอกที่ห่างไกลความเจริญมาก 
วันๆ ก็เลี้ยงควาย ทำนา และหาปูหาปลามารับประทานกันตามมีตามเกิด
เพราะย่านนั้นมีแต่ความแห้งแล้งเป็นประจำ มีแต่ป่าแต่เขา
ถ้าจะเรียนรู้ การอ่าน การเขียนหนังสือ 
ก็ต้องอาศัยพระเณรที่วัดใกล้บ้านนั่นแหละเป็นผู้สอนให้”

“หลวงปู่บวชมาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ”

“บวชมาตั้งแต่อายุได้ ๑๕ ปีโน่นแล้วบวชเป็นเณรที่วัดบ้านเกิดนั่นเอง
ไม่ได้ไปบวชที่ไหนหรอก บวชตามประสาบ้านนอก 
ผ้าสบงจีวรก็ขอเอากับพระในวัด ไม่ได้ซื้อ
และท่านก็ให้มาชุดเดียวเท่านั้น”

หลวงปู่ท่านกล่าวตอบอย่างซื่อๆ


ได้เรียนรู้เมื่อบวช

หลวงปู่โทน ท่านเปิดเผยให้ฟังต่อไปอีกว่า

“ในสมัยนั้น พ่อแม่มักจะให้ลูกหลานของตนได้เข้าบวชเรียนเขียนอ่านกันในวัด 
เพราะจะได้ร่ำเรียนมีวิชาความรู้ 
ซึ่งเมื่อสึกออกมาก็จะเป็นผู้ครองเรือนที่ประกอบด้วยศีลธรรม
แต่ถ้าไม่สึกหาลาเพศก็จะยิ่งดีใหญ่ 
เพราะพ่อแม่จะได้ชื่นชมว่าลูกตนมีบุญมีวาสนาได้ห่มผ้าเหลือง เป็นศิษย์ตถาคต 
พลอยให้พ่อแม่ได้พ้นจากนรกไปด้วย 
เพราะลูกฉุดดึงขึ้นไปตามความเชื่อถือกันมาแต่โบราณ”

“หลวงปู่บวชที่วัดไหนครับ”

“บวชอยู่ที่วัดบูรพา บ้านสะพือนี่แหละ 
บวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ อายุได้ ๑๕ ปีพอดี”

“หลวงปู่ได้ศึกษากับใครครับ”

“บวชแล้วก็ศึกษากับพระอุปัชฌาย์ในเบื้องต้น 
คือท่านสอนหนังสือที่จารอยู่ในใบลาน ซึ่งเป็นตัวธรรมทั้งนั้น
เริ่มเรียนเป็นคำๆ ไป จนท่องขึ้นใจ

บางที่ใช้ความจำด้วยตาว่าตัวไหนเป็นตัวอะไร 
มันหงิกๆ งอๆ อย่างไร ก็จำกันเอาไว้ให้ดี
แต่จำได้เพียงตัวที่ท่านสอนนะ ตัวอื่นถ้าไม่สอน ก็ยังอ่านไม่ออกเหมือนกัน”

หลวงปู่โทนท่านกล่าวอย่างอารมณ์ดี

จากวันเป็นเดือน การเรียนหนังสือธรรมที่อยู่ตามใบลาน
ก็ค่อยๆ ผ่านสายตาของหลวงปู่โทนเป็นลำดับ 
เพราะท่านกล่าวว่าท่านเรียนเอาความรู้ให้ได้จริงๆ 
มิได้หวังเอายศถาบรรดาศักดิ์ หรือหวังเอาชั้นอะไรทั้งนั้น

ในสมัยบวชเป็นสามเณร หลวงปู่โทนท่านมีความขยันขันแข็ง
ในการศึกษาหาความรู้ในด้านต่างๆ มาก เพราะที่วัดมีตู้หนังสือเก่าอยู่หลายตู้ 
ในแต่ละตู้ก็ล้วนแต่เป็นพระคัมภีร์และชาดกต่างๆ 
ซึ่งบางผูกบางกัณฑ์ก็กล่าวถึงพระเวสสันดร พระสุวรรณสาม พระเจ้าสิบชาติเป็นต้น

“การเรียนรู้ทำให้หูตาสว่าง มีปัญญาทันคน ไม่หลงงมงาย”
หลวงปู่โทนท่านกล่าว


จากสามเณรเป็นภิกษุ

หลวงปู่โทน หรือ ท่านพระครูพิศาลสังฆกิจ 
ได้เล่าให้ฟังถึงอดีตที่ผ่านมาของท่านต่อไปว่า

เมื่อเห็นว่าการบวช คือการชำระจิตใจให้หมดจดในกองกิเลสทั้งปวง 
ทำให้มีจิตใจใฝ่ฝันที่จะไขว่คว้าหาวิชาความรู้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

อาตมาจึงได้บวชพระกับหลวงปู่สีดา หรือ ท่านพระครูพุทธธรรมวงศา
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ที่วัดบ้านเกิดนั่นเอง

หลวงปู่สีดา ที่หลวงปู่โทนกล่าวถึงนี้ 
ท่านเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น 
เป็นพระนักปฏิบัติที่มีลูกศิษย์ลูกหาอย่างมากมายทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทย

ชื่อเสียงของหลวงปู่สีดาเป็นที่เลื่องลือไปว่า 
ท่านมีความสามารถทุกอย่าง ไม่ว่าในทางปฏิบัติและในทางไสยเวท 
ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ที่ใครๆ ก็นำบุตรหลานมาบวชกับท่านมิได้ขาด

สำหรับหลวงปู่โทนนั้น ท่านบวชตั้งแต่เป็นสามเณรจนกระทั่งอายุครบบวช 
ท่านก็อุปสมบทต่อไปเลย โดยไม่ได้สึกออกมาผจญกับทางโลกแม้แต่น้อย


กับ ๒ พระอาจาย์

 

 ญาท่านตู๋ ธัมมสาโร

 

 

ญาท่านกรรมฐานแพง จันทสาโร

 

“เมื่อบวชพระแล้ว หลวงปู่ไปที่ไหนบ้างครับ”

“อาตมาบวชได้หนึ่งพรรษา ก็ได้ไปศึกษาอยู่กับหลวงปู่แพง 
ที่วัดสิงหาญ อำเภอตระการพืชผล ศึกษาอยู่กับท่านระยะหนึ่ง 
จึงได้ไปศึกษากับอาจารย์ตู๋ วัดขุลุ 
ซึ่งทั้งสองพระอาจารย์นี้ท่านมีวิชาแก่กล้ามาก เป็นพระนักปฏิบัติเคร่ง”

หลวงปู่โทน ท่านกล่าวถึงในสมัยที่ไปศึกษาวิชาต่างๆ กับสองพระอาจารย์ว่า

ไม่ว่าหลวงปู่แพง หรืออาจารย์ตู๋ ล้วนแล้วแต่เป็นพระผู้ใหญ่ที่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิพร้อมสรรพ

ท่านทั้งสองมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงปู่สีดา 
ผู้เป็นพระอุปัชฌย์ของหลวงปู่โทน 
แต่ละท่านก็ได้ไปศึกษาหาความรู้กันจากฝั่งลาวมาก่อนทั้งนั้น

สมัยนั้นการข้ามไปข้ามมายังฝั่งลาวมีความสะดวกสบายอย่างยิ่ง 
เพียงนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงก็ถึงกันแล้ว

ใครที่อยากจะไปยังฝั่งเขมร
เพื่อศึกษากับพระอาจารย์ทางฝั่งเขมรก็ไปกันได้เช่นกัน 
ไม่มีใครมาห้าม แต่ส่วนมากพระอาจารย์ทางเขมร
ก็ชอบออกเดินธุดงค์มายังฝั่งไทยเสมอ จึงได้เจอกันอยู่บ่อยๆ

เมื่อเจอกันแล้วก็ได้ขอศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน 
โดยเฉพาะทางด้านปฏิบัติ ใครติดขัดอะไรก็สอบถามกันไป


ศิษย์หลวงปู่สำเร็จลุน (สมเด็จลุน)

 

สำเร็จลุน

 

ผู้เขียนได้กราบเรียนถามท่านถึงเรื่องหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และสำเร็จลุน 
พระอาจารย์ผู้ล่องหนย่นระยะทางได้ว่า ท่านได้เคยพบปะ 
หรือศึกษาธรรมอะไรกับท่านทั้งสองมาบ้าง ซึ่งหลวงปู่โทนก็ได้มีเมตตาเล่าให้ฟังว่า

“หลวงปู่สำเร็จลุนนั้น เป็นพระอาจารย์ของอาตมาเอง 
เคยได้ไปอยู่ปรนนิบัติและศึกษาธรรมกับท่านมาแล้วที่วัดบ้านเวินไซ 
ในนครจำปาศักดิ์ฝั่งประเทศลาว

ท่านสำเร็จลุนเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมสูง 
มีเมตตตาจิต โอบอ้อมอารีต่อพระเณรผู้เป็นลูกศิษย์เสมือนพ่อปกครองลูก
ท่านมีวิชาแก่กล้ามาก ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนจะย่อแผ่นดิน (ย่นระยะทาง) อยู่เสมอ”

หลวงปู่โทน ท่านเปิดเผยต่อไปว่า 
ความจริงแล้วท่านได้มีโอกาสไปปรนนิบัติหลวงปู่สำเร็จลุน
ตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณรโน่นแล้ว

เมื่อท่านสำเร็จลุนว่างจากการปฏิบัติ 
ท่านก็จะเรียกไปบีบแข้งบีบขาให้ท่านอยู่เสมอ 
พร้อมกันนั้น ท่านก็จะกล่าวอบรมสั่งสอนธรรมะ
และข้อปฏิบัติให้นำไปปฏิบัติเป็นกิจวัตร

“สำเร็จลุนท่านสอนทางด้านวิชาอาคมอะไรให้หลวงปู่บ้างครับ” 
ผู้เขียนเรียนถามท่าน ซึ่งท่านก็กล่าวตอบว่า

“ก็มีอยู่บ้าง เพราะท่านเก่งทางวิทยาคมเป็นเลิศอยู่แล้ว 
ไม่ว่าวิชาไหนท่านรู้หมด จะเรียนวิชาอะไรก็เรียนได้ 
ถ้ามีความขยันในการเรียน โดยท่านจะสอนให้กับทุกคน 
ไม่ปิดบังอย่างใดทั้งสิ้น”

“หลวงปู่ได้วิชาอะไรจากสำเร็จลุนบ้างครับ”

“วิชาหรือ ก็ได้ในแนวทางปฏิบัตินี่แหละ 
ถ้าเราปฏิบัติดี มีศีลธรรม ตั้งอยู่ในศีลในธรรมความดี 
อย่าให้บกพร่อง ของดีก็อยู่กับเรา” หลวงปู่ท่านกล่าว

 

 

 

 

เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม

ความจริงแล้ว หลวงปู่โทน ท่านได้ศึกษาวิชาต่างๆ จากสำเร็จลุนมามาก 
แต่ท่านไม่ยอมเปิดเผยให้ฟังโดยละเอียด 
เพราะท่านกล่าวว่า จะเป็นการอวดอุตริมนุสสธรรม 
จะทำให้ครูบาอาจารย์ท่านเสีย เพราะท่านไม่เคยโอ้อวดใคร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนักปฏิบัติอย่างท่านนั้น 
เมื่อมีใครไต่ถามอย่างไร ท่านก็จะตอบอย่างนั้น 
ตอบอย่างสั้นๆ ไม่นอกเรื่องและไม่พูดมาก 
ซึ่งผู้ที่ไม่รู้ความจริงก็อาจจะเข้าใจผิด 
คิดว่าท่านถือตัวหรือหยิ่ง พบยาก อะไรทำนองนี้

แต่ความจริงแล้ว พระนักปฏิบัติอย่างหลวงปู่โทน 
ท่านมีเมตตาธรรมและคุณธรรมสูงมาก
เป็นผู้ให้ตลอด ไม่เคยเรียกร้องเอาอะไรจากใคร

เมื่อถามถึงเรื่องสำคัญในการศึกษาเล่าเรียนของท่าน 
ท่านมักจะกล่าวว่า

“อย่าไปพูดถึงเลย เพราะจะทำให้ครูบาอาจารย์ท่านตำหนิเอา”

คำพูดของหลวงปู่ทุกคำ ท่านจะกล่าวยกย่องครูบาอาจารย์ของท่านอยู่ตลอดเวลา
และท่านมีความเคารพในครูบาอาจารย์อยู่เสมอ


พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่โทน ท่านเล่าว่า สำหรับ หลวงปู่มั่นนั้น 
ท่านได้พบกันในระหว่างออกเดินธุดงค์ป่าแห่งหนึ่ง เขตตระการพืชผล

“หลวงปู่มั่นท่านสอนธรรมะอะไรให้หลวงปู่บ้างครับ”

“ไม่ได้สอนอะไรให้ เพราะต่างคนก็ต่างออกไปหาความสงบกันในป่า
และไปคนละสาย คือไปคนละทางกัน
แต่ก็ได้อยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านมาร่วมเดือนในป่าแห่งหนึ่ง”

หลวงปู่โทน ท่านเล่าถึงเมื่อคราวที่ท่านได้พบกับหลวงปู่มั่น 
ท่านก็มีความเคารพเลื่อมใสในตัวหลวงปู่มั่นเช่นกัน โดยท่านกล่าวว่า

“ถึงแม้อาตมาไม่ได้ติดสอยห้อยตามหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่แรก 
แต่เมื่อได้มาพบกับท่านก็มีความนับถือท่าน เพราะท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่ถือเคร่งมาก”

หลวงปู่โทนเล่าว่า หลวงปู่มั่นเคยสอบถามท่านถึงเรื่องการปฏิบัติอยู่เสมอ
และบางครั้งท่านก็ได้ชี้แนะแนวทางให้ด้วย

แต่เมื่อติดขัดจริงๆ ก็ให้ไปเรียนถามสำเร็จลุน 
ซึ่งหลวงปู่มั่นมีความเคารพนับถือท่านอยู่มาก


ล้วนเป็นศิษย์อาจารย์ดัง

หลวงปู่โทนเล่าว่า ความจริงแล้วก่อนที่ท่านจะเข้ามาบวชเป็นสามเณรนั้น 
ท่านได้เรียนวิชามูลกัจจายน์กับ พระอาจารย์หนู 
ที่วัดบ้านเกิดของท่านมาก่อนจนกระทั่งเรียนจบ
เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน ใครอยากจะเรียนก็ไปเรียนกับพระที่วัด

“อาตมาเป็นเด็กวัดไปด้วย เรียนไปด้วย จนได้วิชามูล 
แต่ไม่มีชั้นอย่างเช่นทุกวันนี้ ที่มี ป.๑ ป.๒ ป.๓ อะไรทำนองนี้”

ส่วนครูบาอาจารย์ที่หลวงปู่โทนได้ไปศึกษาอยู่ด้วยนั้น 
ท่านเล่าว่ามีอยู่มากมาย เช่นอาจารย์ตู๋ วัดบ้านขุลุ 
อาจารย์แพง วัดสิงหาญ สำเร็จตัน และหลวงปู่สีดา เป็นต้น


ธุดงค์ไปภูโล้น (ที่ถูกคือ ภูหล่น)

หลวงปู่โทนเล่าว่า ในสมัยนั้นท่านจะออกเดินธุดงค์อยู่ตลอดเวลาไม่อยู่เป็นที่
เพราะครูบาอาจารย์ท่านอบรมสั่งสอยมาอย่างนั้น 
ก็ต้องปฏิบัติตามท่านสอน ต่อมาท่านได้ธุดงค์ไปถึงภูโล้น 
ได้พบกับหลวงปู่มั่นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้อยู่ปฏิบัติธรรมได้นานถึงหนึ่งเดือน

ภูโล้นอยู่ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ (ที่ถูกคือ อ.ศรีเมืองใหม่)
เป็นภูเขาที่มีสัตว์ป่ามากเป็นพิเศษ เช่น ช้าง เสือ หมี งูเห่า และกระต่าย เป็นต้น

ในสมัยนั้น อาตมาบวชพระได้ ๘ พรรษาเท่านั้น
จึงคิดแสวงหาวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์เอาไว้ 
เพราะมีครูบาอาจารย์มากในเขตจังหวัดอุบลฯ
ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินของนักปราชญ์โดยแท้

ระหว่างที่อยู่ปฏิบีติธรรมที่ภูโล้นนั้น 
หลวงปู่โทนเล่าว่าได้ผจญกับความลำบากทุกอย่าง 
แต่ก็ต้องอดทน ซึ่งบางครั้งท่านเล่าว่าต้องฉันข้าวเหนียวคลุกกับปลาร้า
ฉันก็ฉันเพียงมื้อเดียวเท่านั้น


แลกเปลี่ยนวิชากัน

หลวงปู่โทนเล่าต่อไปว่า สำหรับ สำเร็จตันนั้น ท่านแก่กว่า 
แต่ก็ยังถือว่าเป็นรุ่นเดียวกัน

“อาตมาเคยสอนวิชาสนธิให้ท่านหนึ่งพรรษา 
ส่วนท่านก็สอนวิชาของท่านให้เช่นกัน 
เพราะใครมีวิชาอะไรดี ก็แนะนำกันไป 
เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน” หลวงปู่โทนกล่าว

ความผูกพันระหว่างหลวงปู่โทน และสำเร็จตันนั้น (น่าจะหมายถึงหลวงปู่มั่น) 
หลวงปู่โทนกล่าวว่า เป็นความผูกพันที่ลึกซึ้งอยู่ 
ซึ่งจะเห็นได้จากในสมัยที่ท่านออกเดินธุดงค์ไปพบกันที่ภูโล้น (ที่ถูกคือ ภูหล่น) 
ในเขตอำเภอโขงเจียม และอำเภอศรีเชียงใหม่ (ที่ถูกคือ อ.ศรีเมืองใหม่) นั้น 

ท่านเล่าว่า

“อาตมานั่งภาวนาห่างจากหลวงปู่มั่นเพียง ๕๐ เมตร 
เวลามีสัตว์ป่ามาก็รู้กัน และการขบฉันก็ฉันข้าวโพดในเวลาหิวในตอนเช้าเหมือนกัน

ส่วนการถือว่าท่านสายนั้นสายนี้ ไม่เคยถือว่าเป็นสายอะไรทั้งสิ้น 
เพราะถือว่าท่านเป็นพระปฏิบัติเช่นเดียวกัน"

หลวงปู่โทนท่านให้ข้อคิดในการปฏิบัติธรรมว่า

“เราได้เข้าไปสู่ถนนสายนี้แล้ว เป็นถนนที่ฆ่ากิเลสตายแล้ว 
และไม่มีความดีใจเสียใจอะไร แม้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม”


ต้องอดทนและอดกลั้น

หลวงปู่โทน ท่านได้เล่าถึงชีวิตของการออกเดินธุดงค์ของท่านในช่วงหนึ่งว่า 
ไม่ว่าจะเป็นการขบฉัน หรือการปฏิบัติ จะต้องมีขันติ คือความอดทนให้มากที่สุด
เพราะในป่าบางแห่งไม่ได้ฉันน้ำเลยเป็นเวลาถึง ๙ วันก็ยังมี

เคยออกเดินธุดงค์ไปด้วยกัน ครั้งหนึ่งถึง ๑๑ รูป
บางรูปฉันเอกา (ฉันมื้อเดียว) ได้เพียง ๙ วันก็อดทนไม่ได้ 
ต้องขอกลับออกมาก่อน บางรูปก็อดทนได้ ๑๕ วันก็ทนไม่ไหว ก็ขอกลับ
เพราะทนต่อความลำบากไม่ไหว

บางครั้งได้ฉันแต่น้ำถึง ๔ วันก็ยังเคยมี 
เพราะไม่พบหมู่บ้านของชาวบ้านเลย
แต่ถ้าพบเขาก็จะถวายข้าวโพด ให้พอประทังความหิวไปวันๆ เท่านั้น

 

 

สถานที่ปฎิบัติธรรมของหลวงปู่มั่นที่ภูหล่น

 

 

หลวงปู่โทนเล่าว่า สำเร็จลุน ท่านได้เทศนาสั่งสอนอยู่เสมอถึงเรื่องการมีขันติ
คือความอดทน อดกลั้นไม่ให้ติดในลาภ ให้มุ่งสู่ป่า
เพื่อไปฆ่ากิเลสอันหมักหมมอยู่ในตัว
ส่วนการปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้ยึดคำภาวนาว่า
“พุทโธจิต ธัมโมจิต สังโฆจิต” 
เพราะเป็นเครื่องหมายของการสำรวมให้มีความสงบอยู่ภายใน

“ท่านให้ยึดจิตตัวเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็อย่าให้ทิ้ง 
พุทโธจิต ธัมโมจิต สังโฆจิต”

 

มหาเสน่ห์สำเร็จลุน

 

 

ศาลาอบรมประชาชนของวัดบูรพา

 

 

หลวงปู่โทนเล่าว่า ในสมัยที่ปรนนิบัติท่านสำเร็จลุนที่เมืองเวินไซ นครจำปาศักดิ์นั้น 
ท่านให้ท่องจำพระคาถาอยู่บทหนึ่ง ซึ่งเป็นพระคาถาสั้นๆ ว่า

“พุทธจิตใจ ธัมมจิตใจ สังฆจิตใจ พุทโธจิต ธัมโมจิต สังโฆจิต”

เมื่อท่องได้แล้วได้ไปกราบเรียนถามท่านว่าเป็นพระคาถาอะไร
และใช้ในทางไหน ซึ่งสำเร็จลุนก็ตอบว่าเป็นคาถามหาเสน่ห์ 
มีประโยชน์มาก ควรรักษาไว้ให้ดี

สำหรับวิธีใช้นั้นใช้เสกใส่สีผึ้งเป็นเมตตามหาเสน่ห์ จึงได้เรียนเอาไว้ 
และเมื่อนำเอามาใช่ในปัจจุบันก็ได้ผลดี 
แต่ต้องใช้ในทางดี ไม่ใช่ใช้เพื่อทำลายผู้หญิง

หลวงปู่ท่านเล่าว่า มีอยู่รายหนึ่งชื่อประยงค์ ทำงานอยู่ กรป. อุบลฯ 
ใช้สีผึ้งไปทาไม่เลือกหน้า และทาผู้หญิง 
จนผู้หญิงด่าคำหยาบคายที่ถูกลวนลาม แต่ในที่สุดกลับมาชอบ
และไปใช้ไม่เลือกจนมีโทษแก่ตัวเองในที่สุด

หลวงปู่ท่านกล่าวว่า

“ขอร้องให้ใช้ในด้านเมตตาก็พอแล้ว 
ถ้ามั่นใจว่าชอบกันจริง ถ้าหากพร้อมทุกอย่างจึงทา
เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่มีเสน่ห์อยู่ในตัวอยู่แล้ว
ถ้าไม่รับเลี้ยงจะเป็นบาปเป็นกรรมมากกว่าจะได้ประโยชน์”

หลวงปู่โทน ท่านกล่าวว่า ส่วนมากท่านจะให้สีผึ้งของท่านแก่ผู้ที่ควรให้เท่านั้น
โดยเฉพาะหมอลำทางภาคอีสานนั้นไปขอกับท่านเป็นจำนวนมาก 
และผู้ที่มีอาชีพ ซึ่งต้องติดต่อธุรกิจกับผู้อื่น เช่น ค้าขาย เป็นต้น

“ความมีเสน่ห์ของคนไม่ได้อยู่ที่ใบหน้าเท่านั้น 
ต้องงามด้วยกิริยาวาจาด้วย จึงจะเรียกว่างามพร้อมสรรพ 
คือ มีบุคลิกอ่อนหวาน มีวาจาไพเราะเป็นต้น”


กลับคืนวัดบ้านเกิด

 

 

 

หลวงปู่โทนเล่าว่าหลังจากออกเดินธุดงค์เพื่อหาความวิเวก
จากป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ ในเขตจังหวัดอุบลฯ แล้ว 
ก็ได้เดินทางกลับมายังวัดบูรพา บ้านสะพือ
เพื่อมาเข้าพรรษาตามปกติ ซึ่งไม่ว่าจะเดินธุดงค์ไปแห่งหนตำบลใด 
ก็จะกลับมาเข้าพรรษาที่วัดบ้านเกิดของท่านเสมอ

เมื่อกลับจากการเดินธุดงค์แล้ว 
หลวงปู่โทนท่านได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม

“อาตมาต้องแยกเวลาเรียนคือเวลาหนึ่งทุ่มไปเรียนธรรมบท 
ส่วนกลางวันก็เรียนนักธรรม ต้องเรียนควบคู่กันไป 
อาตมาเรียนได้แค่ ป.๓ เท่านั้น เพราะสมัยนั้นมีแค่ ป.๓ ก็ว่าสูงสุดแล้ว 
เรียกว่าเป็นครูสอนได้แล้ว” หลวงปู่ท่านกล่าว

การศึกษาของหลวงปู่โทนนั้น ท่านเล่าว่าต้องศึกษาด้วยการท่องจำทั้งหมด 
มิใช่อ่านผ่านไปเฉยๆ ฉะนั้นเมื่อท่านศึกษาวิชาอะไร 
ท่านจึงมีวิชาอย่างมั่นคงและใช้วิชาที่ได้ศึกษามาอย่างได้ผล

“เมื่อศึกษาจบ เขาก็เอามาเป็นครูสอน 
โดยหลวงปู่สีดาผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ตั้งเงินเดือนให้เดือนละ ๑๐ บาทเท่านั้น” 

หลวงปู่ท่านกล่าว

 

เสี่ยงทายได้พระโทน 

ในสมัยที่หลวงปู่โทนบวชพระได้หนึ่งพรรษานั้น 
ท่านเล่าว่าได้รับนิมนต์ไปประกอบศาสนกิจ ณ พระอุโบสถวัดป่าใหญ่
ร่วมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งหมด ๑๓ รูป โดยหลวงปู่โทนท่านนั่งเป็นองค์สุดท้าย

ระหว่างนั้นได้มีพระสุราษฎร์ภักดี รองเจ้าเมืองอุบลฯ ในสมัยนั้น
ได้มาทำบุญถวายเครื่องสังฆทาน ซึ่งเป็นอัฐบริขารกองใหญ่และได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า

“ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบุตรธิดาได้นำเครื่องสังฆทานอันสมบูรณ์และบริบูรณ์ทั้งหลายเหล่านี้
ขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้วิเศษ ถ้าหากข้าพเจ้าจะมียศถาบรรดาศักดิ์สูงขึ้น 
ก็ขอให้ถูกพระภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยปฏิปทาและจริยวัตรอันงดงาม และเจริญด้วยธรรมเทอญ”

พออธิษฐานเสร็จพระสุราษฎร์ภักดีก็ได้ทำสลาก
ให้พระคุณเจ้าทั้ง ๑๓ รูปจับเพื่อเป็นการเสี่ยงทาย 
คือให้จับสลากได้ใบเดียว ถ้าพระคุณเจ้ารูปใดได้ก็จะถวายให้พระรูปนั้น

พระภิกษุที่ไปร่วมพิธีในวันนั้น
ล้วนแต่มีพรรษามากตั้งแต่ ๔๐ พรรษาลงมาจนถึง ๑ พรรษา

ปรากฏว่าผู้ที่จับสลากเครื่องสังฆทานจากพระสุราษฎร์ภักดีได้ คือ พระภิกษุโทน 
ผู้มีเพียงหนึ่งพรรษาและนั่งอยู่ปลายแถวสุดนั่นเอง

ทำให้พระสุราษฎร์ภักดีมีสีหน้าเปลี่ยนไปเล็กน้อย
และได้รับการปลอบใจจากภรรยาซึ่งเป็นคนจีนทางภาคกลาง แต่มาอยู่เมืองอุบลฯ นาน 
ภรรยาของพระสุราษฎร์ภักดีได้มาปลอบขวัญว่า

“ไม่เป็นไรหรอก คุณพระ ไม่ต้องเสียใจเพราะเรามีเจตนาดีแล้ว 
เพราะพระองค์นี้จะเป็นผู้รักษาศาสนาให้เจริญสืบต่อไป”

คุณพระจึงได้หันไปถามพระโทนว่า “อยู่ไหน”

พระโทนก็ตอบไปว่า “อยู่บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล”

คุณพระได้ถามต่อไปว่า “มาเรียนอะไร”

พระโทนก็เจริญพรว่า “มาเรียนมูลกัจจายน์ ซึ่งขณะนี้ได้เรียนจบแล้ว
กำลังเรียน ป.๓ และนักธรรมอยู่”

ในปีต่อมาปรากฏว่า พระสุราษฎร์ภักดีก็ได้รับพระราชทาน
เลื่อนยศขึ้นเป็น “พระยาปทุมเทพภักดี” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว

และจากมูลเหตุดังกล่าวนั้นเอง 
ทำให้พระสุราษฎร์ภักดีบังเกิดความเคารพศรัทธาในพระโทน ถึงกับอุทานว่า

“ไม่คิดเลยว่าการได้ทำบุญกุศลกับท่านจะได้รับอานิสงส์ถึงเพียงนี้”

พูดจบได้ถวายเงินให้พระโทนไป ๕ บาท 
พร้อมกับกล่าวขอโทษกับท่านที่ได้เข้าใจผิด
ซึ่งหลวงปู่ก็ไม่ติดใจอะไร เพราะท่านเป็นพระสงฆ์ย่อมมีเมตตาธรรมอยู่แล้ว

“คนเราอยู่ที่วาสนาบารมีที่ได้กระทำมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน 
ซึ่งการสร้างความดีย่อมได้ผลแห่งความดีเป็นเครื่องตอบแทน 
เพราะชีวิตเหมือนความฝัน สิ่งสำคัญคือความดี” หลวงปู่ท่านกล่าว


ตั้งเป็นเจ้าอาวาส

ขณะที่หลวงปู่โทนท่านมีอายุพรรษาได้ ๘ พรรษานั้น 
ได้มี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
ออกตรวจตราความเป็นปึกแผ่นของพระพุทธศาสนา
และท่านได้ไปเห็นสภาพของวัดบูรพาซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ แต่ขาดผู้บริหาร 
คือไม่มีเจ้าอาวาสรักษาการอยู่ท่านจึงได้ให้หลวงปู่โทนมาเป็นเจ้าอาวาส

“สมเด็จอ้วนท่านจับให้เป็นเจ้าอาวาสเลย 
ท่านประทับตราแต่งตั้งให้ไม่ให้ไปไหน
ให้อยู่บูรณะวัดเก่าคือวัดบูรพาแห่งนี้ต่อไป”

 

 ประวัติและปฏิปทาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

ประวัติและปฏิปทาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) 

 

วัดบูรพา เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ใด และใครเป็นผู้สร้าง ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด 
บริเวณวัดในปัจจุบันประมาณ ๘ ไร่เศษ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านสะพือ 
มีชาวบ้านประมาณ ๑,๐๐๐ หลังคาเรือน

สันนิษฐานว่าตั้งทีหลังวัดสิงหาญ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านสะพือ 
เพราะหมู่บ้านแห่งนี้มีอยู่ ๒ วัด เป็นวัดเก่าแก่ทั้งคู่ 
ซึ่งเชื่อว่าสร้างมาพร้อมกับหมู่บ้านอย่างแน่นอน 
แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดลงไปให้กระจ่างแจ้ง


สำเร็จลุนมรณภาพ 

หลวงปู่โทนได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพา บ้านสะพือ เป็นองค์ที่ ๒๐ 
ซึ่งเป็นปีที่สำเร็จลุน เทพเจ้าของชาวไทย-ลาว 
พระอาจารย์ที่มีวิทยาคมสูงเป็นที่ยอมรับนับถือของหมู่ศิษย์ว่า
ท่านมีวิชาตัวเบา และมีความสามารถพิเศษเหาะเหินเดินอากาศได้ 
พร้อมทั้งย่นระยะทางได้ด้วย 
ท่านได้ถึงแก่กาลมรณภาพลงที่เวินไซ แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

การมรณภาพของสำเร็จลุนยังความเศร้าโศกเสียใจแก่หมู่ศิษยานุศิษย์
และประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

หลวงปู่สำเร็จลุนท่านมีลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของท่าน
คือ สำเร็จตัน หลวงปู่แพง วัดสิงหาญ พระอาจารย์ตู๋ วัดขุลุ 
หลวงปู่สีดา (พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่โทน) 
หลวงปู่มั่น (แม่ทัพธรรมผู้มีศิษย์ทั่วประเทศ) และหลวงปู่โทน กนฺตสีโล

เมื่อสำเร็จลุนท่านมรณภาพลง 
คณะศิษย์ของท่านดังกล่าวได้ร่วมกันทำการฌาปนกิจ
ผู้เป็นอาจารย์ของตนที่บ้านเวินไซ 
ซึ่งหลวงปู่โทนก็ได้ไปในงานของบรมครูของท่านด้วย


มรดกสำเร็จลุน

สำหรับหลวงปู่โทนนั้นนับว่าเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดมาก 
ทั้งยังได้รับความรักเป็นพิเศษจากสำเร็จลุน 

ซึ่งจะเห็นได้จาก ก่อนที่ท่านจะมรณภาพนั้น ท่านได้สั่งเอาไว้ว่า

“ถ้าอาตมามรณภาพไปแล้ว ขอให้เก็บไม้เท้าเอาไว้ให้ดีอย่าให้หาย”

“ไม้เท้าของสำเร็จลุนมีลักษณะอย่างไรครับ” ผู้เขียนเอ่ยถามหลวงปู่

“ลักษณะของไม้เท้าเป็นไม้แก่นที่ปลายเป็นงา”

“ตอนนี้อยู่กับหลวงปู่หรือเปล่าครับ”

“ไม่อยู่ เขาขอไปไว้บูชา”

“ใครขอไปครับ”

“โยมที่อุบลฯ เจ้าของร้านทองย่งเฮง”

“ทำไมหลวงปู่ให้เขาไปล่ะครับ ไม่เสียดายหรือ”

“เขาบอกขอบูชาเอาไว้เพราะป้องกันภัย ประเดี๋ยวเขาก็เอามาคืน”

 

 

 

หลวงปู่โทนท่านไม่ยินดียินร้ายต่อลาภสักการะใดๆ ทั้งสิ้น 
ท่านมุ่งปฏิบัติธรรมอย่างเดียว แม้ทางคณะสงฆ์จะแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอ 
ท่านก็ได้ปฏิเสธไป เพราะท่านชอบอยู่อย่างเงียบๆ

“อาตมาไม่มีเวลาที่จะไปทำงานให้คณะสงฆ์เขาหรอก
ขออยู่อย่างสงบๆ ดีกว่า เพราะเคยอยู่มาอย่างนี้ถูกกับจริตดี”


อุบายสอนศิษย์

หลวงปู่โทนท่านได้เล่าถึงเรื่องสำเร็จตันมาปรึกษาท่านว่าจะขอลาสึก 
ซึ่งท่านก็ให้กำลังใจว่า

“อายุปูนนี้แล้วจะสึกไปทำไม สึกไปก็ไม่รู้จะไปทำอะไร 
ตอนนั้นสำเร็จตันท่านมีอายุร่วม ๓๐-๔๐ แล้ว อาตมาก็ได้ห้ามไม่เห็นดีด้วย”

ต่อมาความทราบไปถึงหลวงปู่สีดา ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ใหญ่ 
ท่านก็ชักชวนสำเร็จตันเข้าไปในป่าเพื่อหาความสงบ 
เป็นการขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไป 
เพราะในป่าเป็นที่ไม่มีสิ่งเย้ายวนให้เกิดกิเลส มีแต่ธรรมชาติให้ได้เห็น

“อุบายของพระอุปัชฌาย์ได้ผล เพราะพอออกจากป่า ก็ไม่คิดอยากจะสึก 
จึงทำให้สำเร็จตันอยู่ครองสมณเพศจนกระทั่งมรณภาพในที่สุด” 

หลวงปู่โทนท่านกล่าว

หลวงปู่สีดาท่านมีอุบายแปลกๆ ให้กับบรรดาลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอ 
เมื่อใครชอบอะไร ท่านก็จะให้เลือกตามจริตของพระรูปนั้นๆ

เช่น บางองค์ก็ชอบอยู่วัดป่า แต่บางรูปก็ชอบอยู่วัดบ้าน
แต่การปฏิบัติก็ให้ยึดถือหลักปฏิบัติของครูบาอาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอนมา
“ใครจะชอบอะไรท่านไม่ว่า แต่อย่าให้ผิดศีลธรรม 
คือใครจะอยู่วัดหรืออยู่ป่าก็ได้ ขอเพียงให้ปฏิบัติเคร่งอย่างเดียว” หลวงปู่กล่าว


เห็นว่าเลื่อมใสจึงได้อยู่

หลวงปู่โทนเล่าว่า หลวงปู่สีดา ท่านเดินธุดงค์มาจากนครพนมเข้ายโสธร 
ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นตำบลเล็กๆ อยู่ จนกระทั่งเดินธุดงค์มาถึงจังหวัดอุบลราชธานี 
และมุ่งไปยังอำเภอตระการพืชผลเพื่อจะข้ามไปฝั่งลาว

เมื่อมาถึงบ้านสะพือ ชาวบ้านนิมนต์ท่านไว้ให้อยู่จำพรรษา
เพราะไม่มีพระเณรอยู่เลย ท่านจึงอยู่ตามคำนิมนต์

ต่อมาท่านได้เห็นขนบธรรมเนียมของชาวบ้าน
เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 
ท่านจึงไม่คิดจะไปอยู่ที่อื่น เพราะชาวบ้านก็เคารพนับถือท่านมาก

ในที่สุดหลวงปู่สีดาจึงได้ปักหลักอยู่ที่วัดสิงหาญ บ้านสะพือ
ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ที่อยู่ใกล้กับแก่งสะพือ 
อันเป็นหนองน้ำใหญ่เหมือนกับหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

 

ที่มาของสะพือ

หลวงปู่โทนเล่าว่า แก่งสะพือ กับบ้านสะพือนั้นอยู่คนละที่กัน 
แต่อยู่ในเขตเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกันมาแต่อดีต

ในสมัยก่อนนั้นได้มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานสืบกันมาว่า 
สาเหตุที่เรียกพะพือ หรือ สะพือนี้ มีเรื่องเล่าว่า
ได้มีพ่อค้าเรือสำเภาจำนวน ๗๐๐ คน ล่องเรือไปตามมหาสมุทร

แต่พอล่องเรือไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น เรือสำเภาก็แตก
น้ำได้พุ่งขึ้นมาบนเรือ ทำให้พวกพ่อค้าที่อยู่บนเรือต่างก็กลัวความตายกัน
ต่างคนต่างก็วุ่นวายไปหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะโกลาหลไปหมด

บางคนก็ยกมือกราบไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือ 
บางคนก็กล่าวบวงสรวงเทพยดาอารักษ์ให้มาช่วยเหลือในยามคับขันเช่นนั้น

ในจำนวนพ่อค้าทั้ง ๗๐๐ คนนั้น ได้มีอยู่คนหนึ่ง
ซึ่งก่อนที่เขาจะลงเรือล่องมาตามมหาสมุทร เขาได้รับศีล ๕ จากพระสงฆ์ก่อน
และได้ตั้งจิตอธิษฐานอย่างแรงกล้าว่าจะขอตั้งตนอยู่ในกรอบของพระไตรสรณคมน์
คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

พูดง่ายๆ ก็คือเขาจะขอยึดเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งทุกลมหายใจ ไม่คิดเป็นอย่างอื่น

เมื่อเรือสำเภาแตก พ่อค้าผู้มุ่งมั่นอยู่ในศีลธรรม 
เขาก็ตั้งจิตตั้งใจเจริญภาวนา 
พิจารณาซึ่งศีลและทานที่เขาได้เคยกระทำมา
อย่างไม่สะทกสะท้านและกระวนกระวายใจเหมือนเช่นคนอื่นๆ


เหตุเพราะใจเป็นศีล

ในบรรดาพ่อค้าด้วยกัน เมื่อมองเห็นอากัปกิริยาของพ่อค้าคนนั้น
ไม่มีความเดือดร้อนอะไรเมื่อภัยมาเช่นนั้น เขาจึงเอ่ยถามไปว่า

“เป็นเพราะอะไรท่านจึงไม่กลัวความตาย”

พ่อค้าคนนั้นก็ตอบเพื่อนพ่อค้าด้วยกันว่า

“เป็นเพราะเรามีจิตใจบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในศีล ๕ ประการ 
ถึงแม้จะตายไปก็คงจะไปสู่ชั้นเทวโลก 
ฉะนั้น เราจึงไม่หวั่นต่อภัยที่กำลังเกิดขึ้น”

พ่อค้าในเรือสำเภาสงสัยจึงได้สอบถามต่อไปอีกว่า

“ศีล ๕ นั้นเราจะรักษากันอย่างไร ช่วยแนะนำด้วย”

พ่อค้าผู้มีศีล ๕ ก็ตอบเพื่อนพ่อค้าในเรือสำเภาที่แตกว่า

“รักษาได้ ถ้าหากตั้งใจจริง”

พูดจบพ่อค้าผู้มีศีลจึงได้แนะนำให้ทุกคนรับศีลจากเขา 
และได้จัดคนทั้งหลายเป็น ๗ พวกด้วยกัน 
คือจัดให้รวมกลุ่มเป็นพวกๆ ละ ๑๐๐ คนคือ

พวกที่ ๑ เมื่อรับศีล ๕ แล้ว น้ำได้ท่วมขึ้นมาเพียงข้อเท้าเท่านั้น

พวกที่ ๒ เมื่อได้รับศีล ๕ แล้ว น้ำได้ท่วมขึ้นมาเพียงเข่า

พวกที่ ๓ เมื่อรับศีล ๕ แล้วน้ำได้ท่วมขึ้นมาเพียงต้นขาเท่านั้น

พวกที่ ๔ เมื่อรับศีล ๕ แล้วน้ำได้ท่วมขึ้นมาเพียงบั้นเอว

พวกที่ ๕ เมื่อรับศีล ๕ แล้วน้ำได้ท่วมขึ้นมาเพียงหน้าอก

พวกที่ ๖ เมื่อรับศีล ๕ แล้วน้ำได้ท่วมขึ้นมาถึงคอ

พวกที่ ๗ เมื่อรับศีล ๕ จากผู้มีศีลแล้ว น้ำทะเลได้ท่วมสูงขึ้นแค่ปาก

เมื่อพ่อค้าทั้ง ๗๐๐ คนได้รับศีลแล้ว 
พ่อค้าผู้มีศีลอยู่ก่อนแล้วก็ตั้งตนเป็นอาจารย์ และได้ประกาศออกไปว่า

“ศีล ๕ นี้เป็นที่พึ่งของเรา ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะเป็นที่พึ่งแล้ว
ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นอยู่ในศีลกันเถิด”

หลังจากจบคำประกาศแล้วก็ได้พากันจมลงไปยังก้นมหาสมุทรในทันที
และเมื่อพวกเขาตายไปแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดอยู่ในชั้นสวรรค์พร้อมกันทั้งหมด

ทั้งนี้เป็นเพราะอานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ เมื่อใกล้จะถึงเวลาตายเท่านั้น
ซึ่งถ้าเราได้ปฏิบัติกันก่อนก็จะยิ่งดีใหญ่


แก่งสะพือแดนศักดิ์สิทธิ์

หลวงปู่โทนท่านเล่าต่อไปว่า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 
ก็ได้มีผู้เชื่อถือว่า เหล่าวิญญาณของพวกพ่อค้าวาณิชในเรือสำเภาที่ล่มนั้น
ได้เกิดเป็นเทวดาและมีชื่อว่า สตุลปกายิก ทั้งหมด
และได้พร้อมกันมาปกปักรักษาสถานที่แห่งนั้นอยู่

ด้วยเหตุนี้ตามความเชื่อกันมาว่าที่อยู่ของเหล่าเทพยดาสตุลปกายิก 
ทั้งอาจารย์และศิษย์คือ แก่งสะพือ นั่นเอง

ส่วนผู้เป็นหัวหน้าก็คือ พระพือ 
องค์ศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณแก่งสะพือในทุกวันนี้

 

 

 

แก่งสะพือจึงเป็นทั้งสถานที่น่าท่องเที่ยวเพราะมีทิวทัศน์อันสวยงามรอบๆ แก่ง 
ทั้งยังมีศิลาแลงที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ด้วย

ในทุกๆ ปี จะมีงานประจำปีขึ้นที่แก่งสะพือ 
ผู้ที่จะเดินทางด้วยเรือ และพวกหาปลาในแม่น้ำมูล
จะพากันมาขอขมาและกราบสักการะมิได้ขาด
เพราะมีความเคารพท่านพะพือมากที่สุด

ต่อมาไม่ว่าชาวบ้านสะพือ หรือในที่ไกลๆ ก็พากันมากราบไหว้พะพือ 
ซึ่งประดิษฐานอยู่ตรงกึ่งกลางแก่งมิได้ขาด

ทั้งนี้เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพะพือ ที่ใครๆ ก็มีความเคารพกราบไหว้
แต่ก็เน้นการปฏิบัติบูชา คือ ท่านให้รักษาศีลอย่างเคร่งครัดเท่านั้น


กลับเห็นว่าบ้า

หลวงปู่โทนท่านได้เล่าถึงอดีตในสมัยที่ท่านเป็นพระหนุ่มๆ ว่า

“อาตมาชอบฉันผักเป็นประจำ จนใครๆ ก็นึกว่าเป็นบ้า
เพราะพระองค์อื่นๆ มีแต่ฉันสองเวลา แต่อาตมาฉันมื้อเดียวและฉันผักด้วย

ความจริงแล้วการฉันผักเป็นสิ่งดี เพราะไม่เป็นการเบียดเบียนหมู่สัตว์เล็กสัตว์น้อย

จริงอยู่สัตว์บางชนิดเป็นอาหารของมนุษย์ 
แต่ควรยกเว้นสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย บ้าง 
เพราะสัตว์ดังกล่าวมีพระคุณต่อมนุษย์ 
มันไม่เคยเรียกร้องเอาสิ่งของจากมนุษย์เลย
มีแต่มนุษย์เรียกร้องเอาจากมันทุกอย่าง 
เราจึงควรงดรับประทานเนื้อสัตว์จำพวกนี้เสีย

หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง ถ้าท่านรู้ว่าหมู่บ้านใดจัดงานบุญแล้วฆ่าควาย
ท่านจะไม่ไปเลย ไม่ว่างานนั้นจะยิ่งใหญ่และสำคัญแค่ไหน”

หลวงปู่โทนท่านถึงแม้อายุจะมากแล้วก็ตาม
แต่ความจำของท่านดีเลิศแท้ ซึ่งจะเห็นได้จาก
ไม่ว่าใครจะเคยไปกราบท่านมาแล้ว เมื่อไปในครั้งที่สอง 
ท่านจะทักทายได้แม่นยำทันที

“อาตมาพอจำได้เพราะญาติโยมมาหาไม่มากนัก
เพราะวัดของอาตมาอยู่ไกล อยู่บ้านนอก 
ไม่เหมือนอยู่ในที่เจริญมีผู้คนพลุกพล่าน
ก็คงจะจำไม่ได้หมดเป็นแน่” หลวงปู่กล่าว


ธรรมะบนต้นไม้

 

 

เมื่อก้าวเข้าไปยังบริเวณวัดบูรพา 
อันเป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่โทน 
ก็จะพบกับคติธรรมต่างๆ ที่หลวงปู่โทนท่านได้ให้พระลูกศิษย์เขียนติดเอาไว้ 
เพื่อเป็นการเตือนสติของผู้ไปกราบท่านทุกคน

อย่างเช่นต้นตาลปากทางเข้าวัด ท่านก็เขียนธรรมะติดเอาไว้ว่า

“นอนนานงานน้อย ใช้บ่อยเงินหมด เงินมีหน้าสด เงินหมดหน้าแห้ง”

“เกิดเป็นคน ต้องคนให้ทั่ว ปากไม่ล้น ก้นไม่รั่ว ชั่วไม่เอา เมาไม่มี นี่คือคน”

“แก้วที่ว่าใส ยังไม่เท่าใจอันบริสุทธิ์”

“เกิดเป็นคนอย่าจนซึ่งน้ำใจ”

และจากต้นมะม่วง ต้นขนุน ตลอดจนต้นมะพร้าว มะไฟ 
ก็มีป้ายคติธรรมของหลวงปู่ติดเอาไว้ทุกต้น เช่น

“ไวปากเสียศีล ไวมือไวตีนตกต้นไม้ เว้นชั่วทำความดี 
ทำจิตใจให้ผ่องใส คือหัวใจของพระพุทธศาสนา”

“คบคนพาลมักจะล้มทับตน คบบัณฑิตให้ผลจนวันตาย”

“มักง่ายได้ยาก ลำบากได้ดี”

“อย่าฟังความเขา อย่าเอาความง่าย”

“การบูชาคนดี ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ บูชาคนโฉดย่อมพาให้ท่านฉิบหาย”

“รกคนดีกว่ารกหญ้า รกคนบ้า รกหญ้าดีกว่ารกคน”

“อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา”

“ชีวิตคือความฝัน สิ่งสำคัญคือความดี”

ธรรมะบนต้นไม้ในบริเวณวัดบูรพาของหลวงปู่โทนนี้ 
แต่ละคำล้วนแล้วแต่เป็นคติสอนใจที่อ่านแล้วเข้าใจกันได้ง่าย 
ทำให้ผู้ไปกราบหลวงปู่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถให้ดูเหมาะสมในเวลาไปสนทนากับท่าน

เพราะท่านคืออริยสงฆ์ที่เป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนิกชนชาวอีสานโดยแท้
และแม้แต่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลก็ยังเดินทางไปกราบท่านมิได้ขาด

 

มีให้แต่เพียงธรรมะ

หลวงปู่ท่านมักจะกล่าวเสมอว่า 

มาหาอาตมาก็ไม่มีอะไรให้นะ มาเอาธรรมะไปพิจารณาก็แล้วกัน

ให้ปฏิบัติบูชาดีกว่าอามิสบูชา เพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงให้ปฏิบัติ
ด้วยพระธรรมของท่านที่ท่านได้ฟันฝ่ามากว่าจะได้ค้นพบ 
ท่านต้องเอาบารมีทั้ง ๑๐ มาสู้กับมารที่เข้ามาผจญในรูปแบบต่างๆ มาแล้ว คือ

ทาน คือการให้ทรัพย์แก่คนไร้ทรัพย์

ศีล คือการรักษาความสุจริตในไตรทวาร

เนกขัมมะ คือการละจากกาม สละทรัพย์สมบัติ 
และความสุขทุกอย่างในทางคฤหัสถ์ออกบรรพชา

ปัญญา คือความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ เช่น รู้ดีรู้ชั่ว รู้บุญรู้บาป

วิริยะ คือความเพียรบากบั่นในทางที่เป็นคุณประโยชน์

ขันติ คือความอดกลั้นทนต่อความโกรธ ไม่กระทำตอบหรือแก้แค้น

สัจจะ คือความสัตย์ ซื่อตรง และจริงใจ

อธิษฐาน คือความตั้งใจมั่น

เมตตา คือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเอ็นดูต่อคนหรือสัตว์ที่น่าสงสาร

อุเบกขา คือความวางเฉยตั้งตัวเป็นกลาง 
ไม่ยินดียินร้ายต่อความสุขหรือลาภของคนอื่น

หลวงปู่โทนท่านกล่าวอย่างอารมณ์ดีและเป็นกันเองกับญาติโยมทุกคน 
ซึ่งในบางครั้งท่านก็หัวเราะชอบใจ เมื่อมีผู้ถามถูกใจท่าน เช่น

“หลวงปู่ให้หวยบ้างหรือเปล่า”

หลวงปู่โทนท่านจะหัวเราะและพูดตอบไปทันทีว่า

“ไม่เอา อาตมาไม่เอาด้วย ไม่รู้จักเลย”

หลวงปู่ท่านพูดทำเอาคนที่เอ่ยถามท่านพลอยไม่กล้าถามท่านถึงเรื่องนี้อีกต่อไป


นำคนเข้าวัดด้วยธรรมะ

ในวันเข้าพรรษาของทุกปีที่วัดบูรพา 
ชาวบ้านสะพือต่างก็พากันเข้าวัดเพื่อฟังธรรมจากหลวงปู่โทน 
ซึ่งบางคนก็ได้ถืออุโบสถศีล ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด 
ด้วยการนอนค้างที่วัดและปฏิบัติธรรมเจริญภาวนากับหลวงปู่

โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีอายุมากจะพากันหันหน้าเข้าวัดกันเกือบหมด 
เพราะหลวงปู่โทนท่านมีอุบายในการแสดงธรรม 
ซึ่งเมื่อผู้ใดได้รับฟังแล้วต่างก็ซาบซึ้งและเข้าใจเป็นอย่างดี

หลวงปู่โทนท่านเทศนาว่า

“การรักษาศีลไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ และศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗
ผู้รักษาย่อมจะได้อานิสงส์ของการรักษาศีลนั้นๆ
ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ทรงตรัสเทศนาสรรเสริญ 
ดังมีในพระบาลีที่พระองค์ตรัสเทศนาแก่พระอานนท์เถรเจ้าว่า

“ดูกร อานนท์ ศีลทั้งหลายนี้เป็นธรรมอันมิได้มีโทษ 
เป็นธรรมอันนักปราชญ์ไม่พึงติเตียนได้
เป็นประโยชน์ และมิได้เดือดร้อนกินแหนงเป็นอานิสงส์”

หลวงปู่โทนท่านได้เทศนากล่าวอ้างถึงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า
ถึงอานิสงส์ของการรักษาศีลว่า

ผู้ที่รักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ

๑. ผู้มีศีลรักษาศีลบริบูรณ์บุคคลผู้นั้นย่อมจะได้กองสมบัติเป็นอันมาก
บังเกิดขึ้นแก่ตน เพราะตนมิได้ประมาท

๒. ผู้มีศีลรักษาศีลให้บริบูรณ์ กิตติศัพท์กิตติคุณอันสุนทรียภาพไพบูลย์
ก็ย่อมจะฟุ้งเฟื่องไปในทิศานุทิศทั้งปวง

๓. ผู้มีศีลและยังศีลให้บริบูรณ์นั้น 
จะไปสู่ชุมชนใดก็ย่อมองอาจแกล้วกล้าด้วยเหตุปราศจากโทษ

๔. ผู้มีศีลและบริสุทธิ์ด้วยศีลนั้น ย่อมประกอบไปด้วยความเลื่อมใสมิได้หลงลืมสติ

๕. ผู้มีศีลและบริบูรณ์ด้วยศีลนั้น 
ครั้นตายไปก็จะได้ไปบังเกิดในมนุษย์สุคติและสวรรค์เทวโลกแล”


ชี้โทษของการละเมิดศีล

หลวงปู่โทนเมื่อท่านได้ยกเอาเรื่องอานิสงส์ของการรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว
ท่านจะยกเอาโทษของการละเมิดในศีลทั้ง ๕ ข้อเอาไว้ด้วยคือ

๑. ผู้ผลาญชีวิตสัตว์จนเคยชินเป็นอาจิณ เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จะไปตดนรก 
เกิดเป็นเปรต หรือสัตว์เดรัจฉาน และเมื่อสิ้นกรรมไปแล้ว 
ถ้าได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์จะต้องโทษอย่างเบาที่สุดคือทำให้อายุสั้น

๒. ผู้ลักทรัพย์จนเคยชินเป็นอาจิณ เมื่อได้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว
ก็จะไปตกนรกเป็นเปรต หรือสัตว์เดรัจฉาน และเมื่อสิ้นผลกรรมไปแล้ว
ถ้าได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีก จะได้รับโทษอย่างเบา คือฉิบหายทรัพย์
และเป็นคนล้มละลายจนสิ้นเนื้อประดาตัว

๓. ผู้นอกใจคู่ครองคือเล่นชู้กันเป็นอาจิณ เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว 
จะไปตกนรกเป็นเปรต หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน 
ถ้าได้กลับมาเกิดมาเป็นมนุษย์อีก ก็จะต้องโทษอย่างเบาที่สุด คือถูกจองเวร

๔. ผู้ผิดศีลข้อที่ ๔ คือมุสา (พูดเท็จ) นั้นถ้าได้จากโลกนี้ไปแล้ว
ก็จะไปตกนรกเป็นเปรต หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน และเมื่อสิ้นกรรมไปแล้ว 
กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จะต้องโทษอย่างเบาที่สุด คือเป็นคนถูกกล่าวตู่ด้วยความเท็จ

๕. ผู้ที่ชอบดื่มสุราเป็นประจำ เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว 
จะไปตกนรกเป็นเปรต เมื่อหมดกรรมที่เสวยแล้ว
ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเพื่อใช้กรรมในเมืองมนุษย์
คือจะเป็นคนบ้าๆ บอๆ เสียสติ เป็นต้น

ฉะนั้นจึงควรรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์เอาไว้
จะได้ขึ้นสวรรค์ดังพ่อค้าวาณิชในเรือสำเภาล่มที่แก่งสะพือดังกล่าว

หลวงปู่โทน ท่านจะเน้นให้ญาติโยมรักษาศีลให้ได้
เพื่อประโยชน์ภายหน้า และปัจจุบัน ซึ่งถ้าใครมีศีลมีสัตย์ 
บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีคนเคารพนับถือ 
ซึ่งก็เป็นอานิสงส์อย่างหนึ่งของมนุษย์เรา
ดีกว่าไม่มีอะไรเลย ดังที่ท่านกล่าวว่า

“ชั่วไม่เอา เมาไม่มี นี่คือคน”


เพื่อพ่อแม่เลยไม่อยากสึก

หลวงปู่โทนท่านเล่าว่า ในสมัยเมื่อท่านอายุได้ ๕๕ ปี 
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านมีกิเลสมาพัวพันจนนึกอยากจะสึกออกไปสู่โลกภายนอก
แต่พอนึกถึงพระคุณของพ่อและแม่แล้วก็ต้องหยุดคิด

“พระคุณของพ่อและแม่นั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก 
ท่านใฝ่ฝันที่อยากให้ลูกได้บวชเรียนเขียนอ่าน
เพื่อจะได้เป็นการทดแทนบุญคุณของท่านด้วย
และอีกอย่างคือเพื่อให้พ่อแม่ได้จับชายจีวรไปสวรรค์จะได้ไม่ไปตกนรก

เพราะความเชื่อถือของชาวพุทธนั้น
ถ้าหากบุตรของตนได้บวชในพระพุทธศาสนา
ก็จะพลอยให้พ่อแม่ได้บุญด้วย คือไม่ตกนรกอเวจี หรือนรกขุมไหนทั้งนั้น”

หลวงปู่โทนกล่าวว่า เมื่อศึกษาเล่าเรียนกับสำเร็จลุนแล้วท่านจะไม่ให้สึก
เพราะถ้าสึกท่านก็ไม่ให้เรียน ท่านกล่าวว่า

“บวชเอาพ่อแม่เถอะ ไม่มีอานิสงส์อะไรที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่า
การได้บวชให้พ่อแม่ของตน และเมื่อบวชแล้ว
ก็ให้ตั้งใจศึกษาหาความรู้อย่าปล่อยให้เวลามันเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
เพราะเวลาซื้อกลับคืนมาไม่ได้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง

ผู้ที่เกียจคร้านในการทำงานนั้นจะกล่าวโทษ ๖ อย่าง คือ

๑. มักอ้างว่าหนาวนักแล้วไม่ทำงาน

๒. มักอ้างว่าร้อนนักแล้วไม่ทำงาน

๓. มักอ้างว่าเวลาเย็นแล้วไม่ทำการงาน

๔. มักอ้างว่ายังเช้าอยู่แล้วไม่ทำการงาน

๕. มักอ้างว่าหิวนักแล้วไม่ทำการงาน

๖. มักอ้างว่ายังอิ่มอยู่แล้วไม่ทำการงาน

สำเร็จลุนท่านสอนอย่างนี้ จึงต้องปรับปรุงตัวเอง
จนเอาชนะใจตัวเองได้ในที่สุด เพราะท่านว่า
ใครที่หวังในความเจริญ ไม่ว่าด้วยโภคทรัพย์หรือยศถาบรรดาศักดิ์
จงพึงเว้นในข้อเสียดังกล่าวนี้”

 

อยู่ป่าอยู่บ้านก็ยังปฏิบัติ

หลังจากออกธุดงค์ไปพบครูบาอาจารย์ต่างๆ
เช่น สำเร็จลุน สำเร็จตัน หลวงปู่แพง อาจารย์ตู๋ 
หลวงปู่มั่น มาแล้ว หลวงปู่โทนท่านก็ออกจากป่า
ตามคำนิมนต์ของชาวบ้านสะพือ

ถึงแม้ท่านจะออกจากป่ามาอยู่วัดบ้าน 
หลวงปู่โทนก็ยังนำเอาข้อปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์
ได้อบรมพร่ำสอน มาปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด 
ท่านกล่าวว่า

“อยู่ที่ไหนไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่จิตใจดวงเดียวเท่านั้น
เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นที่ตั้ง และสำเร็จก็อยู่ที่ใจเท่านั้น 
ดังพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสเอาไว้ว่า

สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นผู้นำ มีใจประเสริฐที่สุด 
สำเร็จแล้วที่ใจก่อน ถ้าคนมีใจชั่วแล้ว 
พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามคนนั้นไป
เหมือนล้อเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าโคฉันนั้น”


พิจารณาทุกอิริยาบถ

หลวงปู่โทนท่านได้นำเอาวิชาความรู้ที่ท่านได้ร่ำเรียนมา
นำมาประกอบการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการยืน
เดิน นั่ง นอน ท่านมีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา

การยืนของท่าน คือยืนพิจารณาก่อนออกเดินจงกรม 
ท่านยืนพิจารณาดูว่า เส้นทางที่จะเดินจงกรมนั้น 
มีอะไรอยู่ข้างหน้า มีหนาม มีใบไม้หรือมีสัตว์เล็กสัตว์น้อย
เช่น มด ปลวก พากันเรียงแถวเดินกันอยู่หรือไม่

ถ้ามี ท่านก็จะหยุดยืนดูจนมดปลวกเหล่านั้นเดินผ่านพ้นทางไปก่อน 
เพราะชีวิตของมันก็เหมือนชีวิตของสัตว์ทั่วๆ ไป

“ดูอย่างมดแดงนั่นซิ ถ้าเราเอามือ หรือเอาไม้ไปแหย่รังของมัน
มันก็จะพากันรุมทันที เพราะสัญชาตญาณการป้องกันภัยของมัน

หรือแม้แต่ตัวปลวกเล็กๆ มันยังมีความสามารถ
สร้างรังของมันให้ใหญ่ได้ ฉะนั้นอย่าได้ประมาท
หรือไปรังแกมัน จงมีเมตตาต่อกัน” หลวงปู่โทนท่านกล่าว

การเดินจงกรมของหลวงปู่โทนนั้น ท่านเดินไปสิบก้าว
เดินกลับไปกลับมาก็เป็นยี่สิบก้าว แต่ละก้าวท่านใช้สติพิจารณา 
และภาวนาคำว่า “พุทโธ” ด้วยการสูดลมหายใจเข้า-ออก
จนเกิดอาการสงบทางจิต

สำหรับการนั่งภาวนาของหลวงปู่โทนนั้น
ท่านจะนั่งภาวนาจนดึกดื่นไม่ยอมลุกไปจากที่นั่งถ้าหากไม่ง่วง
หรือถ้าง่วงจริงๆ ท่านก็จะจำวัดให้น้อยที่สุด เพราะท่านถือคติที่ว่า

“ใครอยากรวยจงลุก ใครอยากทุกข์จงนอน” หลวงปู่ท่านกล่าว

อภินิหารไม้เท้าสำเร็จลุน

ตั้งแต่เจ้าของร้านค้าทองย่งเฮง ที่จังหวัดอุบลฯ 
ได้นำเอาไม้เท้าของสำเร็จลุนที่หลวงปู่โทน 
ท่านมีเมตตาให้นำไปบูชาไว้ เพราะได้ขอท่านไว้แล้วนั่นเอง
ซึ่งเขาได้นำเรื่องราวไปเปิดเผยให้หลวงปู่โทนฟังว่า

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง โจรมันจะเข้ามาขโมยของที่ร้าน
แต่มันก็เข้าไม่ได้ เพราะมันเห็นเสืออยู่ที่หน้าร้านทั้งๆ ที่ไม่ใช่ป่า
แต่ก็มีเสือมาปรากฏให้เห็น ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันจนหนาหู”

ไม้เท้าของสำเร็จลุนเป็นที่หวงแหนของบรรดาลูกศิษย์ท่านมาก
ถึงกับต้องแบ่งกันนำไปบูชาซึ่งความจริงแล้ว 
ก่อนที่สำเร็จลุนท่านจะมรณภาพท่านได้กล่าวว่า

“เมื่ออาตมาไปแล้ว ขอให้เก็บไม้เท้าเอาไว้ให้ดี”

หลวงปู่โทนท่านกล่าวว่า ท่านสำเร็จลุน
ท่านได้พูดฝากไม้เท้าต่อหน้าบรรดาศิษย์
ที่เป็นพระภิกษุและสามเณรหลายรูป
แต่ท่านก็ไม่ได้หวงแหนอะไร
เพราะบรรดาญาติโยมถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
จึงขอยืมจากหลวงปู่โทนนำไปบูชา 
เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวของตนต่อไป
ท่านจึงได้ให้ไปจนป่านนี้ก็ยังไม่ได้นำมาให้ท่านเก็บไว้แต่อย่างใด


แปลกแต่จริง

เรื่องความแปลกแต่เป็นเรื่องจริงนี้ 
คือเรื่องหมู่บ้านสะพือกับแก่งสะพือที่ได้กล่าวเอาไว้ในบทก่อนว่า
มีชื่อที่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาแต่โบราณกาล

ส่วนในด้านที่แปลกคือแก่งสะพือนั้น 
ความจริงอยู่ห่างจากหมู่บ้านสะพือไปประมาณ ๖ กิโลเมตรเท่านั้น
แต่แก่งสะพือต้องไปขึ้นกับอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งอยู่ไกลมาก

ตรงกันข้ามกับหมู่บ้านสะพือซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน 
แต่ขึ้นกับอำเภอตระการพืชผล ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
จึงทำให้มีผู้เข้าใจไขว้เขวว่า แก่งสะพือน่าจะขึ้นกับอำเภอตระการพืชผล
ด้วยกันกับหมู่บ้านสะพือ เพราะอยู่ใกล้กันแค่นั้นเอง

“เมื่อทางการกำหนดเอาอย่างนั้น ก็ถือกันมาอย่างนั้น” หลวงปู่ท่านกล่าว


เมื่อเข้าวัดก็ต้องสงบ

หลวงปู่โทนท่านใช้เวลาว่างด้วยการให้พระเณรปัดกวาดลานวัด
และเขียนคติธรรมเพื่อติดเอาไว้ตามต้นไม้ต่างๆ 
เพื่อเป็นข้อเตือนใจแก่ทุกคนที่ได้ไปเยือนวัดบูรพาของท่าน

บริเวณวัดบูรพาของหลวงปู่โทนจึงมองดูสะอาดหูสะอาดตาและร่มรื่นที่สุด
เมื่อใครได้เข้าไปในบริเวณวัดของท่าน จะทำให้จิตใจพลอยสงบไปด้วย
และได้รับความร่มเย็นทั้งกาย คือภายนอกและใจ คือภายในอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง


มาเตือนทางนิมิต

หลวงปู่โทนท่านเล่าว่าในคืนวันหนึ่งขณะนั่งภาวนา 
เมื่อจิตดื่มด่ำเป็นสมาธิ นิมิตต่างๆ ก็ได้ปรากฏขึ้น 
ท่านพยายามควบคุมจิต ติดตามเข้าไปดูอย่างใกล้ชิด 
จึงได้เห็นประจักษ์ชัดว่าเป็นภาพของท่านสำเร็จลุน พระอาจารย์ของท่านเอง

หลวงปู่โทนกล่าวต่อไปว่า ท่านสำเร็จลุนได้มาบอก
ให้หมั่นเจริญวิปัสนาอย่าให้ละเป็นอันขาด

ท่านอาจารย์สำเร็จลุนได้เอาของมาให้ แต่ไม่ทราบเป็นสิ่งของอะไร 
เพราะไม่ได้สังเกตอย่างละเอียด และท่านได้พูดกำชับเอาไว้เพียงว่า
ขอให้รักษาตัวให้ดี หมั่นภาวนารักษาศีลอย่าให้บกพร่อง

อาตมาก็ได้รับปากกับท่านว่าจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 
จากนั้นภาพในนิมิตก็หายไป

อาตมาก็ได้นำมาพิจารณาทบทวนดู
ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกิดความสว่างไสวภายในใจอย่างบอกไม่ถูก

หลวงปู่โทนท่านกล่าวอย่างช้าๆ แต่ละเอียดทุกอย่าง
จนผู้ฟังนั่งสงบอย่างจดจ่อในขณะที่ท่านพูด


มีมาคู่กับวัด

ที่วัดบูรพาของหลวงปู่โทนนั้นได้มีญาติโยมไปกราบนมัสการ
พร้อมกับจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูป
ที่ประดิษฐานอยู่บนผนังโบสถ์ซึ่งมีอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น

เมื่อสอบถามดูจึงได้รู้ความจริงว่า พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาคู่กับวัด เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
ที่ประชาชนให้ความเคารพบูชาอย่างมาก

หลวงปู่โทนท่านกล่าวว่าพระพุทธรูปเก่าองค์นี้
เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดแห่งนี้ท่านก็ได้พบแล้ว
แสดงว่าพระพุทธรูปดังกล่าวคงมีมานานเป็นร้อยๆ ปี

“ทุกวันพระ จะมีประชาชนพากันมานั่งสมาธิ
ที่หน้าพระพุทธรูปกันเป็นประจำ บางคนก็มาขอเสี่ยงทาย
ด้วยการตั้งจิตอธิษฐานขอให้สำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา 
บางคนก็ขอโชคลาภ บางคนก็ขอบุตร ซึ่งก็ได้ผลมาแล้วเช่นกัน” 
ลุงคนหนึ่งไม่ยอมเปิดเผยชื่อกล่าว

ผู้เขียนได้ไปกราบท่านตามคำแนะนำของคุณลุงท่านนั้น
และได้นั่งสมาธิต่อหน้าท่านสักพักหนึ่งจึงกราบลาไปหาข้อมูลต่อ


อย่าอยู่อย่างประมาท

หลวงปู่โทน ท่านเคยอาพาธหนักอยู่คราวหนึ่ง 
จนทำให้บรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านต่างเตรียมตัวเตรียมใจ
เพื่อจะรับงานท่านถ้าท่านมรณภาพ แต่ท่านก็กลับหายดีเป็นปกติในเวลาต่อมา

บางคนถึงกับชวนกันสร้างเจดีย์ไว้
เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิของท่านขึ้นแห่งหนึ่งอย่างสวยงามยิ่ง 
แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วท่านได้หายจากอาพาธพอดี จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์จริงๆ

หลวงปู่โทนกล่าวว่า ดีแล้วที่สร้างเอาไว้จะได้ไม่ต้องลำบากในภายหลัง
เพราะสังขารเป็นของไม่แน่นอน มีเกิดก็ต้องมีดับเป็นของธรรมดา
แม้แต่พระพุทธเจ้า พระองค์ท่านก็ยังให้ละในสังขารทั้งปวงโดยท่านตรัสว่า

สงฺขารา อนิจฺจา สังขารเป็นของไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืน 
จงอย่าได้ประมาท จงเร่งสร้างความดีกันเอาไว้

นิพฺพานาภิรโต มจฺโจ สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ 
ผู้ยินดีในพระนิพพาน จึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้


ให้เชื่อในสิ่งควรเชื่อ

หลวงปู่โทนท่านกล่าวแก่ญาติโยมที่ไปกราบท่านคนหนึ่ง
ซึ่งไปขอโชคลาภในทางเสี่ยงว่า

เรื่องเกี่ยวกับโชคลาภหรือโชคชะตานั้น
เป็นเรื่องที่ไม่ควรไปยึดถือจนเกินไป
จะถือว่ามีโชคชะตาเป็นของตัว แล้วจะงอมืองอเท้าโดยมิได้ทำสิ่งใด
แล้วรอให้ผลดีเกิดขึ้นเองด้วยอำนาจโชคชะตานั้นหาได้ไม่

โชคชะตาเป็นเพียงสิ่งสนับสนุนการกระทำของตน 
มิใช่เป็นหลักที่ควรยึดมั่นเอาเป็นสรณะ 
เพราะโชคชะตาเป็นเพียงเครื่องประกอบเท่านั้น 
ดังคำที่ท้าวสักกะสอนเป็นคติแก่ดาบสว่า

“ความพยายามบากบั่นของมนุษย์ 
มีอำนาจเหนือโชคชะตา และเทพยดาฟ้าดินทั้งมวลได้”

อนึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงสั่งสอนไว้ ๓ อย่างคือ

๑. ทรงสั่งสอนเพื่อจะให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น

๒. ทรงสั่งสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

๓. ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์โดยสมควรแก่การปฏิบัติ


ก่อนจาก...ฝากข้อคิด

ก่อนที่จะออกจากป่าที่ภูโล้น อำเภอโขงเจียมนั้น
หลวงปู่โทนได้เข้าไปกราบลาหลวงปู่มั่น 
ซึ่งท่านไปปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยกัน 
หลวงปู่มั่นได้กล่าวเป็นข้อคิดให้หลวงปู่โทนฟังว่า

“ไปอยู่บ้าน (วัดบ้าน) อย่าลืมป่าเน้อ”

คำพูดสั้นๆ ของหลวงปู่มั่นในครั้งนั้น
หลวงปู่โทนท่านได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เพราะบ้านกับป่านั้นมันต่างกัน

คือป่าเป็นที่อยู่ของผู้ชอบสมถะ เป็นที่สงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
ส่วนบ้านนั้นคือที่ชุมชน ย่อมมีความวุ่นวายไม่รู้จบ

ดังนั้น ท่านจึงต้องพยายามสงบระงับในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เพราะการมาอยู่รวมกันในคนหมู่มาก 
ย่อมเกิดปัญหาตามมาไม่มากก็น้อย 
ท่านจึงต้องอาศัยการที่ได้อยู่ป่ามาก่อนเป็นเครื่องควบคุม

“อาจารย์มั่นท่านเป็นคนมีใจหนักแน่น
มีอุบายธรรมที่แยบคาย ใครได้รับฟังท่านเทศน์
จะเกิดความศรัทธาปสาทะอย่างยิ่ง 
ท่านเกิดก่อนอาตมา ๒๗ ปี คือท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๔๑๓ 
ส่วนอาตมาเกิด พ.ศ. ๒๔๔๐

สมัยที่อาตมาไปอยู่ภูโล้น (ภูหล่น) ได้พบกับท่านนั้น 
ท่านก็เป็นพระผู้ใหญ่แล้ว อาตมายังเป็นพระหนุ่มอยู่
ท่านมีความคล่องแคล่วว่องไว เป็นตัวอย่างที่ดี
ของลูกศิษย์ลูกหาที่ได้ปฏิบัติตามท่าน” หลวงปู่กล่าว


ธรรมโอวาทจากใจท่าน

หลวงปู่โทนท่านเทศนาสั่งสอนญาติโยมอยู่เสมอ
ในวันพระขึ้น ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ และยิ่งในวันเข้าพรรษา 
ท่านจะเทศนาวั่งสอนและอบรมกรรมฐาน
ให้บรรดาพระลูกวัดและญาติโยมได้ปฏิบัติเป็นประจำ

หลวงปู่โทนกล่าวว่า คนเราเมื่อเกิดมาแล้วก็จงแสวงหาปัญญา
เพราะปัญญาเป็นเครื่องส่องแสงสว่างให้เราได้มองเห็น บาป บุญ คุณ โทษ

แต่การใช้ปัญญาในทางที่ผิดก็เป็นบาป หรือใช้ปัญญาเล่ห์กลก็ไม่ดีเช่นกัน

“อันวิชาความรู้นั้น ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร 
ถ้ารู้ดีจริงๆ แล้ว ย่อมมีคุณประโยชน์
สามารถนำความสุขความสำเร็จมาให้แก่เจ้าของคือตัวเราได้

วิชาแต่ละอย่างย่อมมีค่าสูงอยู่ในตัวของมันเอง
เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งของสังคมมนุษย์
ซึ่งธรรมดาชีวิตมนุษย์ย่อมเกี่ยวข้องกับหลายด้าน
เช่น ด้านการศึกษา ด้านร่างกาย ด้านศีลธรรม ด้านจิตใจ ด้านการหาเลี้ยงชีพ
ในแต่ด้านล้วนมีความจำเป็นสำหรับชีวิตเท่าๆ กัน
เพราะบุคคลแต่ละคนย่อมมีความชำนาญในด้านที่ตนถนัด

วิชาจะมีคุณค่าและอำนวยประโยชน์ให้แก่เจ้าของเต็มที่
ก็ต่อเมื่อเจ้าของรู้ดีจริงๆ ในวิชานั้นๆ แต่มิใช่เอาวิชาความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดๆ”

 

ที่พึ่งที่แท้คือพุทธะ

หลวงปู่โทนท่านได้เปิดเผยถึงชีวิตของท่านว่า

“ในชีวิตของอาตมานี้ขอมอบไว้กับพระพุทธศาสนาตลอดชั่วชีวิต
เพราะการได้ปฏิบัติในทางธรรมแล้วทำให้จิตใจสงบ
ไม่เหมือนกับในครั้งที่เป็นฆราวาส

เพราะเกิดมาก็มองเห็นสภาพของความทุกข์ 
ที่กล่าวนี้มิใช่ว่ากลัวความลำบากนะ
แต่ความทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ใจที่ไม่มีความสงบ
มันฟุ้งซ่านไปหมด ไม่เหมือนกับการได้บวชเรียนเขียนอ่าน
อยู่ในเพศบรรพชิต มีความร่มเย็นทั้งกายทั้งใจ

ใครก็ตาม ถ้ามีโอกาสก็ควรได้ปฏิบัติธรรมกันบ้าง
เพราะจะทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
ซึ่งบางคนประสบกับปัญหาชีวิตอย่างหนัก 
แก้ไขไม่ได้ก็ทำลายตัวเอง ซึ่งไม่ถูกต้องนัก

คนเราทุกคนจะต้องมีความหนักแน่นในใจ
อย่าเป็นทาสของอารมณ์ อย่าให้อารมณ์เป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด
แล้วจะชนะทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่สำคัญคือพยายามทำใจให้ได้ รู้จักปล่อยวางได้บ้าง 
อย่าไปยึดอะไรมากนัก ยิ่งยึดถือมากยิ่งหนักมากเท่านั้น”


ขอเพียงใจบริสุทธิ์

หลวงปู่โทนท่านเป็นพระผู้ยึดสมถะไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
ใครไปหา ท่านก็จะไต่ถามสารทุกข์สุขดิบด้วยความเมตตา

บางคนมาไกลเพียงต้องการพบพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นหลวงปู่
แล้วก็อยู่พูดคุยกับท่านเป็นวัน และบางคนก็อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านไปด้วย
โดยมากจะมาจากในที่ไกลๆ เช่น กรุงเทพฯ นครราชสีมา
สิงห์บุรี ชัยนาท ก็มีผู้ไปกราบท่านที่วัดเป็นประจำ

“ใครจะไปจะมาจากที่ไหนไม่สำคัญ เพียงแต่ให้มาดีไปดี
มีศีลธรรมนำติดตัวไปด้วยก็พอแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาให้หรอก 
ให้เอาใจมาปฏิบัติให้มากที่สุด 
เพราะกุศลจะเกิดก็เกิดจากศรัทธาอันบริสุทธิ์เท่านั้น” หลวงปู่ท่านกล่าว


ขอพึ่งบารมี

หลังจากหลวงปู่คำคะนิง แห่งสำนักสงฆ์ถ้ำคูหาสวรรค์
ได้มรณภาพลงไปแล้ว พระอาจารย์ทองสา (ฐานทินโน คำแฝง)
ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิดได้เดินทางมาขอพึ่งบารมีหลวงปู่โทนที่วัดบูรพา 
เพราะไม่มีพระอาจารย์องค์ไหนเหมาะสมเช่นท่าน

“ครูบาอาจารย์ที่บางคนอาจมองข้ามไป
เพราะท่านไม่แสดงตัวมากนัก ผู้คนจึงไม่รู้จักท่าน
แต่อาตมารู้มาก่อนแล้ว เพราะหลวงปู่คำคะนิงท่านเคยพูดถึงอยู่เสมอว่า

ในท้องถิ่นย่านนี้ต้องยกให้ท่านโทน (หลวงปู่โทน) เขา
เพราะเขาบวชมานาน รู้จักครูบาอาจารย์มามาก ท่านมีอะไรดีๆ อยู่เยอะ”

พระอาจารย์ทองสาจึงได้เดินทางมาพบกับหลวงปู่โทน
เพื่อแสดงตัวขอเป็นศิษย์กับท่าน เพราะได้รับคำกับหลวงปู่คำคะนิงไว้แล้ว
ก่อนที่ท่านจะมรณภาพไม่กี่เดือน

“ที่วัดของหลวงปู่คำคะนิงก็กำลังพัฒนา
เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงปู่ท่าน 
แต่ท่านมาด่วนมรณภาพไปก่อน 
จึงต้องมาขอคำแนะนำจากหลวงปู่โทน
เพื่อท่านจะได้ชี้แนะแนวทางให้ ซึ่งท่านก็มีเมตตา
อนุเคราะห์ให้ความช่วยเหลือบางสิ่งบางอย่าง 
เพราะท่านเองก็กำลังก่อสร้างพระอุโบสถอยู่เช่นกัน”
พระอาจารย์ทองสากล่าวถึงความมีเมตตาของหลวงปู่โทน


พัฒนาที่จิตสำคัญกว่า

หลวงปู่โทนกล่าวว่า เมื่ออกจากป่าแล้วก็ต้องมาพัฒนาวัด
ให้มีความเจริญหูเจริญตาแก่ผู้พบเห็น 
เพราะวัดบ้านมีผู้ไปมาอยู่เสมอมิได้ขาด 
ส่วนวัดป่าไม่มีใครไปรบกวน

ฉะนั้น เมื่อมาอยู่วัดบ้านก็ต้องพัฒนาไปให้ทัดเทียมเขา 
อย่าให้เขาว่าได้ว่าอยู่ไปวันๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย

ความจริงแล้วหลวงปู่ท่านไม่ได้สร้างอะไรให้ใหญ่โตแต่อย่างใด 
เช่น ในการก่อสร้างพระอุโบสถของท่าน 
ก็จัดสร้างขึ้นอย่างย่อมๆ ไม่หรูหราใหญ่โตอะไรมากนัก

สร้างเสนาสนะเพียงเพื่อให้มีที่ประกอบศาสนกิจ
ทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น มิได้สร้างให้ใหญ่โตเพื่อแข่งขัน
และไม่ทำให้ใครเดือดร้อนไปด้วย ใครมีศรัทธาแค่ไหนก็ทำไปแค่นั้น
ไม่หยุดนิ่ง คือทำไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

“ขอให้พัฒนาจิตใจให้ดีเสียก่อนจึงจะให้พัฒนาทางวัตถุ 
เพราะเมื่อจิตใจเจริญแล้ว ย่อมจะรู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ

ถ้าวัตถุเจริญก่อน จะทำให้เกิดกิเลส มีความคิดผิดแปลกออกไป
เช่น จะต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนเขา อย่างนี้มันไม่ดี ไม่ควรยึด”
หลวงปู่ท่านกล่าวอย่างอารมณ์ดี


สืบต่ออย่างเคร่งครัด

จากการเปิดเผยของหลวงปู่โทน ท่านเล่าว่า
ญาติโยมชาวบ้านสะพือแห่งนี้ มีความเชื่อถือ
และยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

“ชาวบ้านสะพือยังยึดถือประเพณีของชาวอีสานอย่างเหนียวแน่น
เมื่อก่อนเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น

เพราะเขาได้ปลูกฝังกันมาตั้งแต่บรรพชน 
คือ ให้นับถือพุทธศาสนาอันประเสริฐนี้เป็นหลัก

ประเพณีต่างๆ ยังอยู่ครบในหมู่บ้านสะพือแห่งนี้ 
เช่น งานบุญสลากภัต งานบุญบั้งไฟ งานบุญเข้าพรรษา
และออกพรรษา มีญาติโยมเข้าวัดกันเป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่เด็กเล็กจนกระทั่งถึงผู้ใหญ่” หลวงปู่โทนกล่าว

ผู้เขียนสัมผัสกับชาวบ้านสะพือ ก็เป็นจริงอย่างนั้น
เพราะไม่ว่าคนต่างถิ่นจะไปหาใครในหมู่บ้านนั้น 
เขาจะให้การต้อนรับด้วยการไต่ถามอย่างเป็นกันเอง
ให้ความสะดวกทุกอย่างไม่เห็นแก่ตัว

และที่สำคัญ ชาวบ้านสะพือ ให้ความเป็นมิตร 
มีความนอบน้อม ไม่แสดงกิริยาวาจาที่ส่อไปในทางอคติแต่อย่างใด
จึงน่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมัคนายกวัด
ให้ความกระจ่างในประวัติความเป็นมาของวัดเป็นอย่างดี


ถ้ามาดีทางสะดวก

ผู้เขียนมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเดินทาง
ไปกราบครูบาอาจารย์สายอีสานซึ่งมีอยู่หลายรูป 
ที่ยังไม่ได้นำเอาอัตชีวประวัติของท่านมาเผยแพร่ 
ทั้งนี้เพราะมีอยู่ทั่วทุกแห่ง

อย่างเช่น หลวงปู่โทน ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะไปกราบท่าน
ตั้งแต่ครั้งเดินทางไปกราบ หลวงปู่คำคะนิง 
ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่มาก่อนแล้ว แต่ยังหาโอกาสไม่ได้สักที

ในที่สุดความตั้งใจก็ประสบความสำเร็จ 
เพราะบารมีของหลวงปู่ที่ดลบันดาลให้แท้ๆ จึงได้ไปกราบท่าน 
ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์จริงๆ ที่จู่ๆ ก็คิดที่จะไปกราบท่าน
ทั้งๆ ที่ยังไม่มีโปรแกรมที่จะไปทางนั้น

ความอัศจรรย์ที่เกิดอภินิหารขึ้นระหว่างการเดินทางคือ 
ได้รับความสะดวกสบายไปตลอดทาง โดยไม่คาดหมายมาก่อน

เช่น ได้พบแต่ผู้คนที่ดีให้คำแนะนำในเส้นทางที่จะไป 
และบางคนถึงกับนำรถไปส่งถึงที่ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
ก็รับอาสามาให้ความสะดวก นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกอย่างยิ่ง

“ใครไปหาหลวงปู่ก็ได้รับความสะดวกถ้าหากไปดี
แต่ก็เคยมีผู้มารบกวนหลวงปู่ในเรื่องอื่นๆ เช่นกัน 
ท่านรู้ท่านจะไม่ออกมาพบเลย 
ทำเอาคนที่จะไปเบียดเบียนท่านผิดหวังไปตามๆ กัน” 
ลูกศิษย์คนหนึ่งที่คอยอุปัฏฐากท่านกล่าว


พรหลวงปู่โทน

ก่อนจาก หลวงปู่โทน ท่านได้อวยพรให้ว่า
“เกิดเป็นคน อย่าจนซึ่งน้ำใจ”

คำกล่าวของหลวงปู่เป็นคำอวยพรสั้นๆ ของท่าน
ซึ่งผู้ฟังถ้าหากมองอย่างผิวเผินก็คิดว่าไม่มีอะไร 
เพียงเป็นคติของท่านเท่านั้น แต่ถ้าหากนำมาคิด
พิจารณาให้ละเอียดแล้วจะเห็นว่า
คำให้พรของหลวงปู่โทนมีความหมายอย่างลึกซึ้งมาก

เพราะคนเราถ้าหากแล้งซึ่งน้ำใจแล้วใครเขาจะคบค้าสมาคมด้วย
เมื่อไม่มีใครคบ โภคทรัพย์ต่างๆ ก็ไม่บังเกิดขึ้นแน่
เนื่องจากไม่มีน้ำใจให้ใคร เขาก็จะไม่มีน้ำใจตอบเช่นกัน

“เมื่อมีน้ำใจ แม้ไม่มีทรัพย์ ก็ประเสริฐยิ่งกว่ามีทรัพย์
เช่น การช่วยเหลือผู้ที่ควรช่วยเหลือ ก็จะได้รับสิ่งตอบแทน 
คือการแสดงความขอบคุณ แสดงความเป็นมิตรเกิดขึ้น

แต่ถ้าแล้งน้ำใจ ก็จะไม่มีอะไรเป็นสิ่งตอบแทน 
นอกจากจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว มองไปทางไหนก็ไม่มีใครสนใจ

ฉะนั้น พรที่ว่านี้ จึงเป็นพรที่อมตะยิ่ง
ให้ไปพิจารณาเอาเองก็จะรู้เองว่าอะไรเป็นอะไร
เพราะการอยู่ร่วมโลกเดียวกันนี้ต้องมีน้ำใจต่อกัน
จึงจะอยู่กันได้อย่างสันติ” หลวงปู่กล่าว

Top