ประวัติ หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ - วัดทุ่งสว่าง ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร - webpra

หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ

ประวัติ วัดทุ่งสว่าง ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สุภาพ  ธัมมปัญโญ

หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ

 วัดป่าทุ่งสว่าง 
บ้านโคกคอน  ตำบลโคกสี  อำเภอสว่างแดนดิน  จังหวัดสกลนคร

( เนื่องจากข้อมูลที่ค้นหามานั้น ข้อมูลไม่ตรงกัน จึงขอลงไว้ทั้ง 2 แหล่งข้อมูล )


ประวัติและปฏิปทา 1

นามเดิม คำหอม กัลยา
บิดา คำหล้า กัลยา
มารดา จอมสี กัลยา
เกิด

วันที่  31  มีนาคม   พ.ศ.  2465 ตรงกับวันเสาร์ แรม 15 ค่ำ เดือน  4  ปีจอ ณ บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนแรก ในจำนวนพี่น้อง 3  คน
บรรพชา

เมื่ออายุ  17  ปี  ได้บวชเป็นสามเณร  ณ  วัดธาตุมีชัย ตำบลโคกสี  อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครปี  พ.ศ. 2482  ปีเถาะ  บวชได้ 2 พรรษา ด้วยความสงสารบิดา มารดาที่ต้องทำงานหนัก จึงขอลาเจ้าอาวาสลาสิกขาบทไปช่วยงานทางบ้าน
อุปสมบท

เมื่อ เดือนเมษายน  พ.ศ.  2486 * ( อายุ 21 ปี ) ได้บวชเป็นพระภิกษุมหานิกาย  ที่วัดโพธิ์ศรี   โดยมีเจ้าอธิการอ่อน สี วัดธาตุมีชัย เป็นพระอุปัชฌาย์  ส่วนพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ นั้นไม่ปรากฎ มีฉายาว่า  “ธัมมธโร”  แล้วมาจำพรรษาที่ วัดธาตุมีชัย บ้านโคกคอน
ขอญัตติเป็นธรรมยุต

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2491 แรม 8 ค่ำ เดือน 6 โดยมีพระมหาเถื่อน อุชุกโร  เป็น พระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์ลี  อโสโก  เป็นพระกรรมวาจาจารย์

มรณภาพ

เมื่อวันที่   9  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2534    เวลา 19.30 น.  ณ  วัดทุ่งสว่าง  บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี    อำเภอสว่างแดนดิน    จังหวัดสกลนคร

สิริรวมอายุ
   69   ปี   10  เดือน   9 วัน ;  พรรษา  48

 
* คณะศิษยานุศิษย์,   “ อนุสรณ์ ในงานถวายเพลิงศพ พระอาจารย์สุภาพ  ธัมมปัญโญ ” ,  กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์  หจก.,   2534 , หน้า  4

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.web-pra.com/Article/Show/571



ประวัติและปฏิปทา 2

หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ

หลวงปู่สุภาพมีนามเดิมว่า สุภาพ จรรยา เกิดเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2465 ที่บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวชาวนา ชีวิตวัยเยาว์ของ ด.ช.สุภาพ ต้องช่วยครอบครัวทำนาหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่เล็ก ด้วยนิสัยที่ชอบเรื่องบุญเรื่องกุศลจึงได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ อายุครบ 17 ปี โดยได้เข้า|บรรพชาที่วัดธาตุมีชัย ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร อันเป็นวัดประจำหมู่บ้าน
บรรพชาแล้วสามเณรสุภาพ ก็ได้มีโอกาสศึกษาเท่าที่ครูบาอาจารย์จะเมตตาให้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการหาเรียนหาอ่านเองเสียมากกว่า เนื่องจากไม่มีครูบาอาจารย์มาอบรมใกล้ชิด ผู้ที่บวชในยุคนั้นเมื่อบวชเข้ามาแล้วก็มักจะอยู่เฉยๆ ไม่มีโอกาสศึกษาการประพฤติ ปฏิบัติอันเนื่องมาจากไม่มีผู้สอน
บวชอยู่ได้ 2 ปีจึงสึกออกมาช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพต่อด้วยรู้สึกสงสารที่บิดามารดา ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงน้องร่วมสายเลือดอีกหลายชีวิต แต่ใจก็ยังคงคิดถึงการบวชเป็นพระอยู่เสมอ และคิดไว้ว่าหากทำงานหาเงินให้ครอบครัวพอหมุนเวียนได้เมื่อไหร่ก็จะไปบวช เป็นพระอีกครั้ง
หลังก้มหน้าทำงานอย่างหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวอยู่หลายปีจนบิดามารดาและ น้องๆ ไม่ได้รับความลำบากอีกแล้ว หลวงปู่สุภาพจึงสละทางโลกหันหน้าเข้าสู่ทางธรรม โดยอุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย ที่วัดธาตุมีชัย ซึ่งเป็นวัดเดียวกับที่ท่านเคยบวชเณรนั่นเอง
ครั้นบวชแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาการปฏิบัติภาวนาเสียที ท่านจึงเริ่มมองหาครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อที่จะไปขอโอกาส อยู่ฝึกปฏิบัติด้วย
5 ปีต่อมา หลวงปู่สุภาพจึงญัตติใหม่ในฝ่ายธรรมยุตเมื่อปี 2491 ที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อ.บ้านดง จ.อุดรธานี ญัตติเรียบร้อยแล้วท่านก็มาจำพรรษาที่วัดทุ่งสว่าง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร จากนั้นจึงมุ่งไปพบหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ หนึ่งในศิษย์องค์สำคัญของพระอาจารย์มั่น ที่บ้านดงเย็น จ.อุดรธานี เพื่อที่จะกราบขอโอกาสในการอยู่ฝึกปฏิบัติภาวนาด้วย
เมื่อพบกัน หลวงปู่พรหม ก็ถามขึ้นก่อนว่า “เอาจริงหรือ” หลวงปู่สุภาพจึงตอบไปว่า “กระผมตั้งใจจะมาขอรับการปฏิบัติจากท่าน ขอเมตตาสั่งสอนผู้น้อยด้วยเถิดครับ”
ได้ฟังคำยืนยันดังนั้น หลวงปู่พรหมจึงเมตตาให้อุบายธรรมในการปฏิบัติ ท่านว่า “ทำภาวนานั้น พุทโธ เรื่อยๆ ไป ทำความเพียรมากๆ ทำติดต่อกันไป หนึ่งปีไม่ได้อะไร ก็สองปีสามปี ต้องดีสักวันหนึ่ง”
สิ่งอื่นไม่ ต้องระวังจนเกินไปจงทำภาวนาพุทโธอย่างเดียว สิ่งที่ไม่รู้ ก็จะรู้ สิ่งที่ไม่เข้าใจก็จะเข้าใจ สิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็จะเห็น ไม่ต้องถามใคร มันรู้มันก็จะหายสงสัยเอง ขอให้ใจสงบอย่างเดียวเท่านั้น มันจะไม่มีคำถาม นอกจากคำตอบอย่างเดียว
ล่วงเข้าพรรษาที่ 2 หลวงปู่สุภาพจึงมีโอกาสไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น
หลวงปู่สุภาพเมตตาเล่าเรื่องราวในช่วงนี้เอาไว้ว่า “เราคิดว่ายังอ่อนแออยู่ ไม่อยากให้ครูบาอาจารย์ท่านต้องพะวงกับเรา เวลานั้นกิตติศัพท์ของท่านหอมฟุ้งไปหมด จิตใจฝักใฝ่อยากไปพบ อยากไปกราบท่าน แต่ยังไม่ตัดสินใจจะเข้าไปบ้านหนองผือ เพราะคิดว่ายังภาวนาไม่เป็นก็ไม่อยากเป็นภาระกับครูบาอาจารย์ จนก่อนเข้าพรรษาจึงตัดสินใจไปกราบท่าน
แรกๆ คิดว่าเข้าพบท่านพระอาจารย์มั่นยากและท่านคงดุ แต่เมื่อพบจริงๆ หลวงปู่เสียดายเวลากับลังเลใจมากนานแสนนาน เพราะคิดว่าเรายังไม่พร้อม เวลานั้นท่านชรามาก อาการอาพาธของท่านมีบ้างแล้ว แต่จิตใจของท่านกล้าหาญไม่เคยเสียทีแก่กิเลส ไม่วุ่นวายเหมือนคนแก่ใจฝ่อทั้งหลาย
ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาแนะนำธรรมะทำให้เกิดกำลังใจมาก ได้พบหมู่คณะพระป่าด้วยกันอย่างเต็มที่ ได้กราบครูบาอาจารย์จำนวนมากที่มาชุมนุมกัน”
หลวงปู่สุภาพอยู่กับพระอาจารย์มั่นจนกระทั่งออกพรรษา ท่านก็ละสังขารไป หลวงปู่สุภาพจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดทุ่งสว่าง กระทั่งพรรษาที่ 3 จึงตัดสินใจออกเดินธุดงค์เข้าป่าเพื่อฝึกปฏิบัติภาวนา โดยเดินธุดงค์ไปในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ภาคเหนือ รวมทั้งเคยไปจำพรรษาที่เขาพระวิหารประเทศกัมพูชา
ระหว่างการเดินธุดงค์นั้นท่านร่วมปฏิบัติกับพ่อแม่ครูอาจารย์สายพระอาจารย์ มั่นหลายองค์ อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ท่านพ่อลี ธัมมธโร พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ และพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย
หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ

ภาพถ่ายขณะถวายเพลิงศพ หลวงปู่สุภาพ ซึ่งปรากฎเป็นภาพหลวงปู่นั่งอยู่กลางกองเพลิง


ระหว่างเส้นทางธุดงค์นั้นหลายครั้งหลายคราที่สังขารถูกรุมเร้าด้วยเวทนา อย่างหนักจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่หลวงปู่สุภาพก็ยึดเอาธรรมเป็นที่ตั้งจนผ่านมาได้ทุกครั้ง
ท่านเมตตาเล่าความตอนนี้เอาไว้ว่า เมื่อคราวที่ธุดงค์ไปจำพรรษาที่เขาพระวิหารนั้น ได้อาพาธเป็นโรคมาลาเรียอย่างหนัก ท่านว่าความเจ็บป่วยด้วยโรคมาลาเรียครั้งนั้นบั่นทอนจิตใจตลอดถึงการภาวนา มาก พอเป็นไข้ก็ลุกไม่ไหว เดินไม่ไหว

“เวลาเจ็บปวดเหมือนใครเอาเชือกมารัดศีรษะ แล้วขมวดเกลียวเข้ามาๆ ปวดเหลือทน เลยขออธิษฐานจิตว่า แม้จะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ว่าละ ที่อาตมาสละบ้านเรือนมาอยู่ป่าดงพงไพรไกลญาติพี่น้อง ก็เพื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า แม้ไม่พบธรรมะตายเสียก่อน ขอให้เป็นไปชาติหน้ากลับมาทำความเพียรต่อไปอีก”

เมื่อยาที่จะรักษาก็ไม่มี หลวงปู่สุภาพจึงใช้ธรรมโอสถ เอาชนะโรคภัยที่รุมเร้า “เราฝึกฝนเอาความดี เอาธรรมเข้าสู่จิตใจมากๆ ที่สุด แล้วตั้งจิตให้มั่นคงต่อคุณความดีนั้น
ส่วนความเจ็บป่วย ปวดรวดร้าวแค่ไหนก็ตาม อย่าให้มันไหลเข้าสู่จิตใจ ปิดจิตใจเสีย อย่าเปิดรับความเจ็บปวด ถ้าระงับได้ ธรรมโอสถก็สามารถรักษาโรคร้ายได้”

“จิตใจมันไม่เคยทุกข์เลยนะ จิตมันสบาย อาการเจ็บไข้ได้ป่วยมันไหลเข้าสู่จิตใจไม่ได้ มันก็ดีแต่อยู่ภายนอก จิตใจมันสบายดีทุกอย่างไม่คลอนแคลน เวลานั้นมันเฉยๆ สบายแม้ตายเมื่อไรก็ไม่เป็นห่วง จิตใจมันมีที่พึ่งแล้ว มันก็สบาย

“ส่วนโรคภายนอกก็พิจารณาธรรมะ เอาเวทนาตั้งไว้ แล้วเพ่งมองอยู่ด้วยจิตใจมั่นคง ในที่สุดธรรมโอสถก็สามารถระงับดับโรคร้ายนี้ได้จริงๆ”

แม้ในช่วงหนึ่งอาการป่วยจะรุนแรงจนสังขารแทบจะทนไม่ไหว ท่านก็พยายามรวบรวมสติกำหนดรู้อยู่ตลอด หลวงปู่สุภาพเล่าช่วงเวลานั้นเอาไว้ว่า “เวลานั้นลมหายใจของเราค่อยๆ มันจะดับ กำลังวังชาหมดนะทำอะไรไม่ได้เลยเวลานั้น มันนอนอยู่เฉยๆ ลมหายใจเข้าไม่ถึงปอดนะ พอหายใจเข้ามันเหมือนกับมีอะไรมาดันลมเอาไว้ ก็กำหนดรู้ โอ...นี่เราใกล้จะตายแล้วนะ

“ลมเฮือกที่ 2 หายใจเข้าสิ่งภายในไม่ยอมรับ มันดันลมมาถึงลิ้นปี่ ลมหายใจที่ 3 หายใจเข้าไปถึงกลางอกก็หยุดอีก เพราะมันเหมือนมีอะไรดันอุดตันไว้ ลมหายใจที่ 4 หายใจเข้าไปถึงแค่กระเดือก ก็หยุดแค่นั้น ดันลมไว้ไม่ให้เข้า เกือบจะหมดลมแล้วนะ ลมหายใจที่ 5 หายใจเข้าอีก คราวนี้ลมวิ่งไปได้นิดเดียวแล้วหยุด

“ลมหายใจสุดท้าย หายใจเข้า มีลมนิด พอสัมผัสปลายจมูกก็เงียบไป ไม่ทราบว่าลมอะไรจึงว่างอย่างนี้ คิดนะ พอมันมีช่องว่าง ลมข้างนอกก็ดันเข้ามาทางจมูก นี่เป็นความรู้สึกในขณะนั้นนะ ลมหายใจก็ค่อยๆ ลึกลงๆ ลึกเข้าปอด จากนั้นก็หายใจเข้า-ออกสบายขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดก็เป็นปกติ”

หลวงปู่จึงพูดกับหมู่คณะว่า “โอ...นี่เราตายไปแล้วนี่นะ กำหนดรู้ทุกขณะจิต เรารู้แล้วว่าคนตายมันเป็นอย่างนี้นี่เอง” หลังจากวันนั้นอาการก็ค่อยๆ ทุเลาและหายในที่สุด
ด้วยอุปนิสัยพูดน้อยและเก็บตัว จึงทำให้ไม่มีเทศธรรมของหลวงปู่สุภาพ ถูกบันทึกไว้มากนัก แต่เทศนาธรรมสั้นๆ บางตอนที่มีผู้บันทึกไว้ ก็กินความในทางธรรมอย่างลึกซึ้ง

“คนเราเกิดมาเหมือนคนตาบอด เพราะมีอวิชชาติดตามปกปิดตาเราเรื่อยมา มันไม่อยากจะเปิดตาให้เราเห็นความดีหรอก ก็เหมือนละครในจอกระจก มันเล่น มันร้อง มันตลก มันหัวร่ออยู่ในนั้น มันหลอกลวงตาเราตลอดเวลา เราก็ไม่ยอมละวางเที่ยวเพ่งมองมายาของมันนั้น

“ต่อเมื่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ ท่านได้มาฉีกตาให้ดู ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นธรรมะแท้ๆ ของพระพุทธเจ้า นี่เป็นของดีมีประโยชน์ ดังนั้นพวกเราจึงประพฤติปฏิบัติตาม การศึกษาธรรมวินัยให้ถือเป็นสิ่งสำคัญ ให้มีการฝึกฝนขยันหมั่นเพียร การทำความพากเพียรมากๆ นั้น จะเกิดอิสระทางจิตใจมาก ขออย่าได้เกียจคร้านเลย

“ธรรมะมิใช่มายา มิใช่ของเล่น ใครก็ตามเมื่อรู้ธรรมะ ก็จงรีบเร่งปฏิบัติได้แล้ว”
ท่านดำรงขันธ์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ศิษยานุศิษย์มาจนกระทั่งช่วงปี 2533 ท่านก็มีดำริให้ลูกศิษย์สร้างเหรียญบูชาขึ้นมา 1 รุ่น ในคืนที่ทำพิธีปลุกเสก ท่านก็เรียกช่างที่ดำเนินการทำเหรียญมาเพื่อชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมกับ มอบหมายงานต่างๆ ให้รองเจ้าอาวาสเป็นที่เรียบร้อย แล้วท่านก็เข้ากุฏิจำวัดในท่านั่ง รุ่งเช้าศิษย์ที่คอยอุปัฏฐากจึงพบว่าท่านละสังขารไปในท่านั่งในคืนที่ผ่านมา นั่นเอง

posttoday 22สค.53

ข้อมูลอ้างอิง : http://board.palungjit.com/f63/หลวงปู่สุภาพ-ธัมมปัญโญ-ผู้มุ่งมั่นในธรรม-253973.html

 



ธรรมะที่หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ
ได้รับจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร


เวลานั้นหลวงปู่สุภาพเป็นพระบวชใหม่ แม้จะเคยเป็นพระมหานิกายมา ๕ ปีแล้ว ท่านเล่าว่าเราต้องเจียมตนเจียมใจ ไม่ทำอะไรเกินเหตุ เพราะคิดว่าเรายังอ่อนแออยู่ ไม่อยากให้ครูบาอาจารย์ท่านต้องพะวงกับเรา เวลานั้นกิติติศัพท์ของท่านหอมฟุ้งไปหมด จิตใจฝักใฝ่อยากไปพบ อยากไปกราบท่าน แต่ยังไม่ตัดสินใจจะเข้าไปบ้านหนองผือ เพราะคิดว่ายังภาวนาไม่เป็นก็ไม่อยากเป็นภาระกับครูบาอาจารย์

ต่อมาก่อนเข้าพรรษาหลวงปู่สุภาพเดินทางไปกราบท่านอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือหลวงปู่คิดว่าคงไม่ทำให้ท่านต้องหนักใจแน่นอน

พ.ศ.๒๔๙๒ ก่อนเข้าพรรษาปีนั้น ได้มีโอกาสรับความเมตตาจากท่าน แรกๆ คิดว่าเข้าพบท่านพระอาจารย์มั่นยากและท่านคงดุ แต่เมื่อพบจริงๆ หลวงปู่เสียดายเวลากับกรลังเลใจมากนานแสนนาน เพราะคิดว่าเรายังไม่พร้อม

เวลานั้นท่านชรามาก อาการอาพาธของท่านมีบ้างแล้ว แต่จิตใจของท่านกล้าหาญไม่เคยเสียทีแก่กิเลส ไม่วุ่นวายเหมือนคนแก่ใจฝ่อทั้งหลาย เจ็บหน่อยโอย ปวดหน่อยโอย ไม่ได้เรื่องเลย

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านแนะนำธรรมะในการปฏิบัติ ได้รับความเมตตาจากท่านครั้งนั้นหลวงปู่สุภาพก็เกิดกำลังใจมาก ได้พบหมูคณะพระป่าด้วยกันอย่างเต็มที่ ได้กราบครูบาอาจารย์จำนวนมากที่มาชุมนุมกัน

จนกระทั้งเข้าพรรษาก็ยังมีโอกาสอยู่นะ ออกพรรษาก็มรณภาพละโลกกิเลสนี้ไป แหม! เกือบเสียทีเหมือนกัน ถ้าไม่ได้พบท่านก็พูดไม่เหมือนกัน หลวงปู่ไปกราบท่านที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

หลวงปู่เสียดายเวลา ลังเลใจมานานเกือบเสียทีความกลัว ถ้าหากกลัวมากๆ ก็อด หมดโอกาสอย่างแน่นอนเลย

ความจริงแล้วใน พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านพระอาจารย์มั่นเอาธุระมากในการอบรมศิษย์จนกระทั่งปีที่ท่านละโลกอัน วุ่นวาย พ.ส.๒๔๙๒ รวม ๘ ปีเต็ม ท่านพระอาจารย์มั่นอบรมสั่งสอนศิษย์ชนิดตีไข่ให้แตก กระแทกกิเลสหลุดเป็นแผ่นๆ เลยทีเดียว ใครไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้หนีหมด ในช่วงนั้นแหละที่ใครๆ เข้าใจว่าท่านดุมาก

ความจริงหลวงปู่คิดว่าท่านเมตตาครั้งสุดท้ายต่างหาก... ท่านไม่เคยดุด่าใคร ใครมีกิเลสก็ถูกตัวตรงๆ ใครสะอาดบริสุทธิ์ กิเลสตัณหาก็ไม่ติดจิตใจ

คัดลอกจากหนังสือบูรพาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
ข้อมูลอ้างอิง  : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13102


หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญหลวงปู่ลี จิตธัมโม - หลวงปู่สุภาพ ธัมมปัญโญ ถวายสักการะ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

Top