หลวงปู่สี ฉันทสิริ
ประวัติ วัดเขาถ้ำบุญนาค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ประวัติ หลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค
หลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ประวัติหลวงปู่สี ฉันทสิริ ชาติภูมิ หลวงปู่สี ท่าน เป็นชาวอำเภอรัตนะ จังหวัดสุรินทร์ ท่านเกิดเมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๙๒ ตรงกับสมัยของรัชกาลที่๔ ส่วนเกิด วัน เดือน ใด ท่านไม่เคยบอก เมื่ออายุ ๒๑ ปี ท่านถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร เมื่อปลดจากการเป็นทหารแล้วท่านก็มายึดอาชีพค้าวัว ค้าควาย และเป็นพรานอยู่แถว ช่องแค-ตาคลี ซึ่งแต่เดิมมีสภาพเป็นป่าดงดิบ และยังไม่ได้ตั้งเป็นอำเภอตาคลี เมื่อมีการใช้นามสกุลขึ้น ตระกูลของท่านก็ใช้นามสกุลว่า “ดำริ” ชีวิตตอนเป็นหนุ่ม ท่านเป็นคนจริงไม่เคยเกรงกลัวใคร
หลวงปู่สี ท่านใช้ชีวิตความเป็นหนุ่มอยู่นานหลายปี จนกระทั่งบังเกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงได้อุปสมบท โดยท่านบอกว่า ท่านบวชที่วัดบ้านเส้า อำเภอบ้านเส้า (อำเภอบ้านหมี่ ในปัจจุบัน) โดยมีพระครูธรรมขันธ์สุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนคู่สวดท่านไม่ได้บอกว่ามีพระอาจารย์รูปใดบ้าง เมื่อบวชได้ระยะหนึ่งท่านได้เดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่ ถ้ำเขาเสียบ เขตตำบลช่องแค อำเภอตาคลี เพราะว่าก่อนบวชท่านเคยอยู่ในเขตนี้มาก่อน
หลวงปู่สี ท่านถือปฏิบัติในการออกธุดงค์ ตลอดเวลาที่ท่านยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หลวงปู่สี ท่านบอกว่าท่านธุดงค์ไปทั่วประเทศไทย จากเหนือถึงใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก ท่านไปมาทั้งหมดเคยธุดงค์ไปฝั่งประเทศลาว จำพรรษาอยู่ในประเทศลาวหลายปี ธุดงค์เข้าประเทศพม่าเลยไปประเทศอินเดีย ไปนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ท่านยังเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านธุดงค์ไปภาคเหนือ เพื่อจะไปนมัสการพระบาทสี่รอย เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ท่านเดินหลงป่าไม่ได้ฉันอะไรเลยเป็นเวลา ๗ วัน จนรุ่งเช้าของวันที่ ๘ มีช้างป่านำหัวบัว และอ้อยมาถวายท่าน (ไม่ทราบว่าเป็นเทวดา หรือว่าเทวานุภาพดลใจให้ช้างนำมาถวาย ?) ท่านจึงนำหัวบัวต้มกับน้ำอ้อยฉัน และช้างยังเดินนำทางท่านไปจนพบกับบ้านของชาวบ้านป่า ท่านเล่าว่า ท่านเดินธุดงค์อยู่ในป่าแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ พบชายหญิงกำลังกินอะไรกันอยู่ ท่านจึงเดินไปถามว่า ทำอะไรกันอยู่หรือ ทั้งสองก็ตอบหลวงปู่สีว่า กำลังกินยาอายุวัฒนะกันอยู่แต่หลวงพ่อมาช้าไป ยาหมดเสียแล้วจะมีเหลืออยู่ก็ตามใบไม้เท่านั้นเอง และทั้งสองคนก็เก็บยาที่ติดอยู่ตามใบไม้ให้ท่านฉัน ซึ่งมีอยู่เล็กน้อยเท่านั้น ท่านบอกว่าที่ท่านมีอายุยืนก็เพราะยานี้แหละ และยานี้ยังทำให้ท่านมีร่างกายแข็งแรง ไม่หลงลืมเหมือนคนแก่ทั่วๆไป
ในการออกธุดงค์ของหลวงปู่สีนั้น หลานชายของท่านคนหนึ่งเคยติดตามไปด้วย ได้เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นยังเป็นสามเณรได้ติดตามหลวงปู่สีไปนมัสการพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ค้างคืนที่พระพุทธบาท รุ่งเช้าพอฉันอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่สีก็พาออกเดินทางกลับตาคลีทันที โดยหลวงปู่สีบังคับให้ผู้เล่าเดินออกหน้าตลอดเวลา หลวงปู่สีจะ เป็นคนเดินท้ายปรากฏว่ามาถึงตาคลีเป็นเวลาฉันอาหารเพลพอดี ซึ่งระยะทางจากพระพุทธบาทมาถึงตาคลีให้เดินเก่งอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะเดินถึงได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งวัน แต่หลวงปู่สีพาเดินได้
ในระหว่างที่เดินธุดงค์อยู่ทางภาคเหนือภาคอีสานนั้น หลวงปู่สี ท่านได้รู้จักกับพระเกจิอาจารย์ดังมากมาย อาทิเช่น หลวงปู่แหวน แห่งดอยแม่ปั๋ง เพราะมีคนจากตาคลีขึ้นไปกราบหลวงปู่แหวน แล้วหลวงปู่แหวนพูดถึงหลวงปู่สีให้เขาเหล่านั้นฟัง พ่อค้าในตลาดตาคลีชวนพวกรวม ๔ คนขึ้นไปกราบหลวงปู่แหวน เพื่อขอวัตถุมงคล แต่หลวงปู่แหวนไม่ยอมให้ โดยหลวงปู่แหวนบอกกับคนทั้งสี่ว่า ที่มากันนั้นดีๆ ไม่เอากัน มาเอากันถึงที่นี่ ทั้งหมดจึงถามหลวงปู่แหวนว่า ที่หลวงปู่พูดถึงน่ะหลวงพ่ออะไรครับ หลวงปู่แหวนจึงตอบว่าในคอพวกเอ็งก็ยังคล้องกันมาเลย ปรากฏว่าทั้ง ๔ คนที่ไปมีคล้องพระไปเพียงคนเดียว และพระที่คล้องไปคือเหรียญหลวงปู่สี เมื่อทั้งหมดกลับมาถึงตาคลีก็รีบพากันมาที่วัด เช่าเหรียญหลวงปู่สีกันเป็นการใหญ่ ทั้ง ๔ คนนี้ข้าพเจ้ารู้จักดี จะเขียนชื่อ นามสกุลลง แต่ก็ได้รับการขอร้องไว้
ก่อนที่จะมาอยู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค อำเภอตาคลีนั้น หลวงปู่สีท่านอยู่ ที่วัดหนองลมพุก อำเภอโนนสังข์ จังหวัดอุดรธานี ในปีพ.ศ.๒๕๑๒ พระครูนิวิฐปริยัติคุณ พร้อมด้วยชาวบ้าน ได้พากันไปนิมนต์หลวงปู่สีให้มาอยู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค เพื่อช่วยสร้างวัดให้เจริญ ซึ่งขณะนั้นมีเพียงกุฏิเก่าๆเพียงสองสามหลังเท่านั้น หลวงปู่สีท่านก็เต็มใจมา เนื่องด้วยเพราะท่านเคยอยู่ในแถบนี้มาก่อน ในวันที่คณะผู้จะไปนิมนต์หลวงปู่สีจะไปถึงนั้น หลวงปู่สีท่าน ทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะมีคนไปนิมนต์ท่าน ท่านเก็บของเครื่องใช้จำเป็นรอเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว และสั่งที่วัดหนองลมพุกว่า วันนี้จะมีคนมารับให้ไปอยู่ที่ตาคลีเพื่อช่วยสร้างวัด ซึ่งก็เป็นไปตามที่ท่านบอกไว้ทุกประการ
ในระยะแรกที่หลวงปู่สีมาอยู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาคนั้น ท่านจำพรรษาอยู่ที่กุฏิไม้ หลังเล็กๆหน้าปากทางขึ้นถ้ำ (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) ในขณะนั้นคนในตลาดตาคลียังไม่ค่อยมีใครรู้จักหลวงปู่สี และท่านก็ไม่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์อันใดให้ใครรู้ วันหนึ่งๆท่านจะนั่งตะบันหมากฉัน การฉันหมากของท่านก็ไม่เหมือนใคร เพราะท่านไม่ได้ฉันเปลือกไม้ที่มีขายตามท้องตลาดเหมือนที่คนกินหมากทั่วไป ซื้อมากิน หลวงปู่สี ท่านจะฉันแก่นไม้คูนแดงซึ่งจะมีคนตัดมาถวายตลอด ท่านจะนำมาฟันเป็นชิ้นๆ แล้วนำลงตำให้ละเอียดแล้วจึงฉันกับหมากแทนเปลือกไม้
ในราวปลายปี พ.ศ.๒๕๑๓ ข้าพเจ้าได้ทราบจากเพื่อนว่า มีพระเป็นหลวงปู่แก่ๆ มาอยู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ข้าพเจ้าจึงชวนเพื่อนๆมาหา จุดประสงค์ที่มาหามิใช่ที่จะต้องการเครื่องรางของขลังแต่ประการใด แต่เพราะต้องการจะมาหาเลขเด็ด เพราะเพื่อนบอกว่าท่านบอกหวยได้แม่นยำมาก ในวันแรกที่มาหาท่านก็ไม่ได้แจกอะไรให้ แต่บอกใบ้หวยให้ ซึ่งหวยก็ออกตามที่ท่านบอก นับตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าก็จะไปหาหลวงปู่สีเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งข้าพเจ้าเห็นหลวงปู่สีมีอารมณ์ดี ข้าพเจ้าจึงถามหลวงปู่สีว่ามีของดีอะไรบ้าง ผมอยากจะได้เอาไว้ป้องกันตัว หลวงปู่สี ท่านขณะนั้นกำลังกินหมากอยู่ ก็คายชานหมากออกมาใส่ผ้าเหลืองที่ท่านใช้ทำเป็นผ้าขี้ริ้ว แล้วผูกส่งให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้งบอกว่า”ห้ามแก้ออกนะ” หลวงปู่สี ท่านยังบอกอีกว่าหากใครเขาอยากยิงมึง มึงก็ถ่างก้นให้มันยิงเลย สามวันสามคืนก็ไม่ถูกมึง
(คำพูดอันนี้มีนัยยะ คือคนที่เขามีของขลัง หรือสักยันต์กินว่าน ที่ว่าหนังเหนียวตีไม่แตกนั้น ถ้าจะฆ่าเอาชีวิตกันก็จะต้อง ใช้ไม้รวกทะลวงก้น เหมือนในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ที่แสนตรีเพชรกล้า แม่ทัพเชียงใหม่ ฆ่าฟันเท่าไรก็ไม่ตายจนขุนแผนต้องเอาหลาวทะลวงก้นจึงถึงแก่ความตาย... หลวงปู่สี ท่านมีความมั่นใจมากในการอธิษฐานจิตของท่าน ถึงแม้คนที่ใช้ของๆท่านจะโดนยิงที่จุดตายจุดสำคัญก็ตาม ท่านรับรองว่าปลอดภัย)
ข้าพเจ้ารับมาแบบไม่ค่อยเชื่อถือเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็นั่งคุยกับ เพื่อนๆถึงเรื่องนี้ ขณะนั้นมีพ่อค้าวัว-ควาย เป็นชาวปาทานอยู่ในตาคลีนั่งฟังอยู่ด้วย ซึ่งเขาบอกว่าเขาอยากลองยิงดู ข้าพเจ้ามอบชานหมากของหลวงปู่สีให้เขาไป เขานำไปคล้องคอไก่แล้วยิงปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .๓๘ ระยะห่างประมาณ ๑ วาเศษเท่านั้น เขายิงหมดไป ๖ นัดไม่เคยถูกไก่เลย สักนัดเดียว ทั้งๆที่เขาเป็นคนที่ยิงปืนได้แม่นยำมากคนหนึ่ง นับแต่นั้นมาข้าพเจ้าจึงเชื่อถือใน ชานหมากหลวงปู่สี
หลังจากที่ชาวป่าทานยิงไก่ได้ประมาณสัก ๑ อาทิตย์ ได้มีนายทหารอากาศกองบิน ๔ ชื่อ เรืออากาศโทครรชิต บัวอำไพ (ปัจจุบันยศนาวาอากาศเอก ข้าพเจ้าขอกราบประทานอภัยที่ต้องเอ่ยนามของท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย) ได้มาคุยกับข้าพเจ้าเรื่องชานหมากของหลวงปู่สี ในลักษณะที่ท่านไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ที่จะยิงไม่ถูก ข้าพเจ้าจึงมอบชานหมากที่มีอยู่ให้ไป ๑ ก้อนเพื่อให้ไปทดลอง เที่ยงวันรุ่งขึ้น เรืออากาศโทครรชิตฯ ได้มาหาข้าพเจ้าที่บ้านพร้อมกับเพื่อนนายทหารอากาศอีก ๕-๖ คนโดยขอให้ข้าพเจ้าช่วยพาไปวัดหน่อย ต้องการจะได้ชานหมากอีก พร้อมทั้งเล่าให้ฟังว่า เมื่อได้รับชานหมากไปจากข้าพเจ้าแล้วจึงได้นำไปทดลอง โดยนำไปคล้องคอเป็ดแล้วยิง แต่ยิงเท่าไรก็ไม่ถูก ใช้ปืนถึง ๔ กระบอก และคนยิงก็เป็นมือปืนของกองบินทั้งนั้น ครั้นนำเป็ดออกเอาก้อนหินไปวางแทน ยิงก้อนหินกระเด็นเลย แต่ยิงเป็ดยิงเท่าไรก็ไม่ถูกเป็นที่มหัศจรรย์ใจมาก จึงพาเพื่อนทหารที่อยู่ในเหตุการณ์มาหาข้าพเจ้า เพื่อให้ช่วยพาไปพบหลวงปู่สี ซึ่งข้าพเจ้าก็พาไปพบ และก็ได้ชานหมากกันมาทุกคน ส่วนก้อนที่นำไปทดลองยิงเป็ดนั้น เรืออากาศโทครรชิตได้นำไปเลี่ยมทองคล้องอยู่จนทุกวันนี้
หลังจากนั้นมาทหารอากาศกองบิน ๔ ตาคลี ต่างก็หลั่งไหลมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สีอย่างมากมาย สถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศกองบิน ๔ ก็ออกอากาศเรื่องของหลวงปู่สีทุกวัน ทำให้หลวงปู่สีเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และใครๆ ก็อยากได้ชานหมาก และวัตถุมงคลของหลวงปู่สี ทำให้หลวงปู่สีต้องเคี้ยวหมากแจกทั้งวัน ...... (ท่านสามารถอ่านเรื่องของหลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค เพิ่มเติมได้ จากหนังสือ ”สู่แสงธรรม” ของ ท่าน พลอากาศตรี มนูญ ชมพูทีป (ยศเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยงข้องกับหลวงพ่อฤาษีฯ ของเราด้วย ซึ่งที่ซอยสายลมยังมีวางจำหน่ายอยู่ครับ)
กระผมขอกราบนมัสการ แทบเท้าหลวงปู่สี ฉันทสิริ ด้วยความเคารพอย่างสูง ธรรมใดที่ท่านบรรลุแล้ว ขอให้กระผมได้เข้าถึงธรรมนั้น โดยเร็วพลันด้วยเทอญ .....
และกระผมขอกราบอาราธนาบารมี ของหลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค หลวงพ่อฯ รวมทั้งครูบาอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงทุกๆท่าน ได้โปรดคุ้มครอง ปกปักรักษาให้ทุกๆ ท่านโชคดี มีความสุข และได้บรรลุธรรมตามที่ท่านปรารถนาทุกประการ...ครับ
ขออภัยครับ กระผมมีข้อมูลมาเพิ่มเติมอีกครับ เนื่องจากประวัติของหลวงปู่สี มีนักเขียนหลายท่านที่เขียนไว้ และแต่ละท่านก็อ้างว่าได้รับฟังมาจากหลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค หรือศิษย์ที่รับใช้ใกล้ชิด มีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกัน และแตกต่างกันบ้าง เพื่อให้เรื่องของท่านมีความสมบูรณ์ กระผมก็ขอนำเรียนเสนอเท่าที่พบ หากข้อความใดไม่เป็นความจริง กระผมขอกราบแทบเท้าหลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค กรุณาอดโทษให้แก่กระผมผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยเถิดครับ...
ท่านนักเขียนที่ใช้นามว่า เต๋อ บางตัน เล่าว่า
หลวงปู่สี ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ในปลายสมัยรัชกาลที่๔ ที่ อ.รัตนะ จังหวัดสุรินทร์ ท่านใช้ชีวิตในวัยหนุ่มอย่างโชกโชน จนอายุ ๒๙ ปีจึงเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ อยู่ในกรุงเทพฯหลายปี แล้วออกจากราชการ ไปมีอาชีพค้าวัวค้าควายอยู่ระยะหนึ่ง จวบจนอายุได้ ๓๙ ปี ก็เกิดความเบื่อหน่ายในโลกีย์วิสัย เห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ท่านจึงตัดสินใจทำการอุปสมบทที่วัดบ้านเส้า ซึ่งอยู่ใน อ.บ้านหมี่ในปัจจุบัน โดยมีพระครูธรรมขันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชได้ประมาณ ๕ วันได้เดินธุดงค์มาจำพรรษาที่ถ้ำเขาไม้เสียบ ต.ช่องแค จ.นครสวรรค์ เป็นเวลา ๓ ปี
ขณะที่อยู่ถ้ำเขาไม้เสียบนั้น ท่านพยายามฝึกฝนสมาธิจิต จนมีความกล้าแข็งพอสมควรแล้ว(แสดงว่าท่านพอมีพื้นฐานทางด้าน คาถาอาคม และการฝึกจิตมาตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส) ท่านก็ได้เริ่มออกเดินธุดงค์สู่สถานที่ต่างๆ พร้อมทั้งเสาะหาอาจารย์ที่เก่งกล้าในเวทย์วิทยาคมเพื่อขอศึกษาเล่าเรียน โดยเดินขึ้นเหนือบ้าง อีสานบ้าง บางครั้งก็เข้าประเทศลาว ท่านเคยเดินธุดงค์จากพม่าเข้าไปประเทศอินเดีย ถึง ๒ ครั้ง ท่านเคยหลงอยู่ในป่าดงดิบแถบประเทศพม่าหลายวัน โดยไม่ได้ฉันอาหารเลย จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ด้วยสมาธิจิตที่กล้าแข็ง วันหนึ่งหลวงปู่สีก็เดินไปพบกับชาวบ้าน ๒ คนผัวเมียกลางป่า...
สองผัวเมียนั้นบอกท่านว่า แถบนี้ไม่มีบ้านผู้คนอยู่เลยสักหลังเดียว อีกทั้งเสือ สาง ช้างป่า ก็ชุกชุม มีคนหลงป่าตายในป่าแถบนี้หลายรายแล้ว พร้อมทั้งมอบยาให้ท่าน ๑ เม็ด บอกว่าเป็นยาสมุนไพร ปรุงจากรากไม้หลายชนิด เมื่อฉันแล้วจะทำให้อายุยืน ร่างกายแข็งแรง และทำให้ไม่หิวข้าว หิวน้ำ เมื่อท่านลองฉันดูก็เป็นจริงดังที่ชาวบ้าน สองผัวเมียบอก จึงคิดจะขอบใจแต่ปรากฏว่าหายไปแล้ว จึงรู้ว่าที่แท้แล้วเป็นเทวดามามอบยาทิพย์ให้ท่านนั่นเอง เพราะแถบนั้นไม่มีบ้านคน ซึ่งจากยาที่ท่านฉันนี่เองกระมัง ท่านจึงมีอายุยืนยาวถึง ๑๒๘ ปี
เมื่อพบกับเทวดาแล้ว ท่านก็เดินหาทางออกจากป่าลึก ไม่นานก็พบกับช้างป่าโขลงใหญ่ ท่าทางดุร้าย แต่แปลกที่ช้างทั้งหมดคุกเข่าลงชูงวงแสดงความเคารพหลวงปู่สี เป็นที่อัศจรรย์ ท่านจึงขึ้นขี่คอช้างจ่าฝูง ให้มันพาออกจากป่าไปส่งที่ชายแดนพม่า ชาวบ้านป่าเห็นเข้าก็ตกอกตกใจกันใหญ่ ถามว่าเพราะเหตุใดช้างป่าจึงไม่ทำร้าย เพราะช้างป่าโขลงนี้ ปกติหากพบคน ไม่ว่าชาวบ้านหรือพระธุดงค์ มักจะเหยียบจนตาย แต่มันไม่ทำอะไรหลวงปู่สีทั้งยังพากันมาส่งถึงชายป่า ท่านก็ไม่ว่ากระไร หัวเราะหึๆ แล้วเดินจากไปโดยไม่พูดอะไรเลย
คราวหนึ่งมีชาวบ้านตาคลีเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่แหวนที่วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ พอหลวงปู่แหวนรู้ว่ามาจากตาคลี ท่านก็ไล่ให้กลับ บอกว่า “มีเพชรอยู่ในบ้าน ยังไม่รู้จักอีก หลวงปู่สีน่ะ เป็นอาจารย์ของฉันเอง ฉันจะเก่งกว่าท่านได้อย่างไร” ชาวบ้านกลุ่มนั้นก็เดินทางกลับตาคลี มากราบหลวงปู่สีถามถึงเรื่องนี้ว่า จริงเท็จประการใด หลวงปู่ฯเล่าว่าหลวงปู่แหวนมาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านนานแล้ว ก่อนที่จะเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์มั่น โดยท่านพบกับหลวงปู่แหวนที่จังหวัดเลย ขณะนั้นหลวงปู่แหวนยังเป็นพระหนุ่มๆ อยู่
หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า กับหลวงปู่สีมี ความสนิทสนมกันมาก บางครั้งหลวงปู่สีจะมาจำพรรษาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า และแลกเปลี่ยนวิชาบางอย่างกัน วิชาของทั้งสองท่านจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่น การย่นระยะทาง การเสกใบไม้ เป็นต้น หลวงปู่ศุขมีอายุมากกว่าหลวงปู่สีประมาณ ๒ ปี ฉะนั้นหลวงปู่สีจึงมักเรียกหลวงปู่ศุขว่า หลวงพี่
หลวงปู่สี เล่าให้ศิษย์ฟังว่า ในวันออกพรรษาท่านมักจะออกจากวัดที่ท่านจำพรรษา เพื่อธุดงค์ต่อไปที่อื่นๆ ในคราวที่จำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่านั้น หลังจากออกพรรษาแล้วหลายวัน ท่านก็คิดว่าจะเดินธุดงค์ต่อไป แต่หลวงปู่ศุขขอให้ท่านรั้งอยู่ที่วัดก่อนรอให้ท่านกลับมาแล้วค่อยไป แต่ท่านอาจจะเห็นว่าเลยกำหนดมาหลายวันแล้ว พอหลวงปู่ศุขออกบิณฑบาต ท่านก็เก็บของ แล้วออกเดินทางทันทีไม่ยอมอยู่ตามคำขอ เมื่อหลวงปู่ศุขกลับจากบิณฑบาต ถามพระเณรในวัดก็รู้ว่าหลวงปู่สีไปแล้ว ท่านจึงสั่งให้พระเณรฉันข้าวไปก่อน แต่ให้ฉันรอท่านด้วย แล้วหลวงปู่ศุขก็เข้ากุฏิหอบเอาคัมภีร์ไสยศาสตร์ ๓ เล่มตามหลวงปู่สีไป ปรากฏว่าไปทันกันที่อ.ตาคลี จึงมอบคัมภีร์ทั้ง ๓ เล่มให้หลวงปู่สี แล้วจึงกลับมาที่วัด ปรากฏว่าพระเณรที่วัดเพิ่งฉันข้าวได้ไม่กี่คำเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะระยะทางจากวัดปากคลองมะขามเฒ่า ไปอ.ตาคลี ประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร นั่งรถยนต์ยังต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมง แสดงว่าหลวงปู่ศุขใช้วิชาย่นระยะทาง พวกลูกศิษย์ก็ถามหลวงปู่สีว่า ชั่วเวลาที่หลวงปู่ศุขไปบิณฑบาต หลวงปู่สีเดินจากวัดปากคลองมะขามเฒ่ามาถึงตาคลีได้อย่างไร ท่านนิ่งไม่ตอบ แล้วล้มตัวลงนอนทันที ลูกศิษย์เลยไม่กล้าซักต่อ
หลวงปู่สีท่านเดินธุดงค์ไปหลายจังหวัด หลายประเทศเกือบตลอดระยะเวลาที่ท่านบวช จนท่านอายุได้ประมาณ ๙๐ ปี ครั้งสุดท้ายท่านไปสร้างวัดหนองลมพุก อ.โนนสังข์ จ.อุดรธานี ท่านพระครูนิวิฐปริยัติคุณ (สมบูรณ์) จึงไปนิมนต์ท่านลงมาช่วยสร้างวัดเขาถ้ำบุญนาค ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒
หลวงปู่สี ท่านเป็นพระที่ไม่สะสม ไม่ยึดติดในความสะดวกสบาย ท่านอยู่กุฏิไม้เก่าๆ หลังเล็กๆ ท่านพระครูฯเจ้าอาวาสจะสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ แต่ท่านไม่ชอบ บอกว่าจะไม่ไปอยู่ พอช่างก่ออิฐเสร็จจะฉาบปูน ปรากฏว่าตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงฉาบไม่ติด จนต้องเลิก พระรักษ์ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของหลวงปู่สีจึงไปเรียนถามหลวงปู่สีว่า ทำไมไปแกล้งช่างปูน หลวงปู่สีว่า ท่านไม่ได้แกล้งเพียงแต่ท่านไม่อยากอยู่กุฏิใหม่ พระรักษ์จึงบอกว่า หากหลวงปู่ไม่อยากอยู่ก็ไม่เป็นไร ให้ช่างปูนเขาสร้างให้เสร็จเถิด หลวงปู่สี จึงบอกให้ช่างมาทำใหม่ และทำเสร็จในวันนั้น แต่ท่านก็ไม่เคยใช้เลย จนท่านมรณภาพแล้ว จึงนำร่างของท่านบรรจุในโลงแก้ว แล้วประดิษฐานไว้ที่กุฏินี้
ประมาณปี ๒๕๑๙ ทาง วัดโพธิ์ทอง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ต้องการหารายได้ เพื่อก่อสร้างถาวรวัตถุ จึงมาขอบารมีท่านหล่อรูปเหมือนขนาด ๓ นิ้ว ของท่านเพื่อให้ประชาชนเช่าบูชา แต่ปรากฏว่าท่านอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาล จึงขออนุญาตจากเจ้าอาวาส ต่อมาข่าวนี้ออกทางวิทยุ หลวงปู่ท่านได้ยิน ท่านลุกจากเตียงทันทีแล้วถามว่า ใครเอารูปกูไปหล่อ พระรักษ์ตอบว่า วัดโพธิ์ทองครับหลวงปู่ มาขอกับเจ้าอาวาสแล้ว ท่านบอกว่า ”มันไม่เคารพกู หล่อรูปกูไป ถ้าไม่เอามาให้กู ก็จำหน่ายไม่ออก” ปรากฏว่าจำหน่ายไม่ออกจริงๆ จนต้องนำมามอบให้หลวงปู่สี ๘๐๐ องค์ เก็บไว้ที่วัดโพธิ์ทอง ๒๐๐ องค์ ส่วนที่ถวายหลวงปู่สีนั้นมีคนมาเช่าบูชาเกือบหมด แต่ที่วัดโพธิ์ทองไม่มีคนไปเช่าบูชาเลย นับว่าวาจาของหลวงปู่สีศักดิ์สิทธิ์จริงๆ
เมื่อต้นปี ๒๕๑๙ ทางวัดเขาถ้ำบุญนาค มีงานประจำปีตรงกับวัดหนึ่งทางชลบุรี ซึ่งมานิมนต์หลวงปู่สีไปเป็นประธาน โดยท่านรับปากว่าจะไปในวันที่ ๑๘ มีนาคม พอถึงวันที่กำหนด พระเณรก็เห็นท่านอยู่ที่วัดไม่ได้ไปไหน แต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ชาวชลบุรีที่ได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่ ก็เหมารถตามมาที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ถามหาหลวงปู่สี แล้วถามว่า เมื่อวานนี้หลวงปู่ใช่ไหมที่ไปพรมน้ำมนต์ให้ญาติโยมที่ชลบุรี พระเณรที่นั่งอยู่ด้วยถึงกับงง ถามว่าหลวงปู่ไปกับใคร หลวงปู่ไม่ตอบ ล้มตัวลงนอนตามเคย พอถึงเพล ชาวชลบุรีก็นำอาหารที่เตรียมไปมาถวาย ท่านก็ลุกขึ้นมารับประเคน แล้วนั่งยองฉันอาหาร มีแมวหมาล้อมหน้าล้อมหลัง ชาวชลบุรีเห็นอย่างนั้นก็หมดศรัทธา ว่าท่านไม่ค่อยสำรวม ได้เดินทางต่อไปวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี เพื่อกราบนมัสการหลวงพ่อฤาษีฯ และได้เล่าให้หลวงพ่อฤาษีฯ ฟังถึงหลวงปู่สี ว่าเป็นพระไม่น่านับถือ หลวงพ่อฯ กลับตอบว่า กราบฉันแสนครั้งยังไม่เท่าได้กราบหลวงปู่สีครั้งเดียว ต่อมาศิษย์ชาวชลบุรีกลุ่มนี้กลายมาเป็นศิษย์ที่นับถือหลวงปู่สีมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง
ที่อำเภอตาคลีมีเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่นับถือหลวงปู่สีมาก ได้เอาเหรียญของท่านให้เด็กห้อยคอ ต่อมาเด็กเป็นหัดแล้วตาย พ่อแม่ก็จัดการเผาตามประเพณี ปรากฏว่าเผาศพหมดถ่านไป ๒ กระสอบ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะไหม้ จึงลองเขี่ยดูตามตัว พบเหรียญผูกเชือกร่มห้อยคออยู่ จึงนำมาดูด้วยความแปลกใจเพราะแม้แต่เชือกร่มก็ยังไม่ละลาย ต้องนำเหรียญออกจึงเผาได้ตามที่ต้องการ
ศิษย์ของท่านคนหนึ่ง มีบ้านเดิมอยู่ที่จังหวัดพิจิตร เป็นเจ้าของวงดนตรี และเป็นนักร้องรูปหล่อ (หากบอกชื่อ นักฟังเพลงทุกคนจะต้องรู้จัก) เคยมาหาท่านแล้วปรับทุกข์ว่า เงินที่ขายที่ทางได้หลายล้านนั้น เลี้ยงลูกวงไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงไม่กี่แสนบาท ขอให้หลวงปู่แนะนำว่าควรจะเลิกวงดนตรี หรือเล่นต่อไป หลวงปู่สีบอกว่าให้เล่นต่อเพราะว่าต่อไปนี้ จะดังไปทั่วประเทศ ศิษย์คนนั้นก็ให้สัจจะว่า ถ้าดังทั่วประเทศเหมือนหลวงปู่ว่าจริง จะมาเล่นฟรีให้วัดปีละครั้งทุกปี ต่อมาก็ปรากฏว่าวงดนตรีนี้มีชื่อเสียง ระดับเดียวกับวงดนตรีสายัณห์ สัญญา รับงานแสดงทั่วประเทศ สร้างความร่ำรวยให้เป็นอย่างมาก และเขาก็นำวงมาแสดงตามสัญญาทุกปี จนกระทั่งหลวงปู่สีมรณภาพ ก็ยังมาเล่นให้ฟรีจนถึงปี ๒๕๒๕ ก็ไม่มาเล่นเช่นเคย พอปี ๒๕๒๖ ชื่อเสียงของวงก็เริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ จนในปี ๒๕๒๗ จึงกลับมาขอขมาเล่นให้ฟรีอีก ปัจจุบันนี้เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้ง (ตอนเขียนเรื่องนี้ปี ๒๕๒๘ นะครับ) ใครเคยให้สัจจะไว้กับหลวงปู่สี ถ้าไม่รักษาสัจจะ จะต้องมีอันตกต่ำไม่มีความเจริญ
ปกติหลวงปู่สีท่านชอบหมอลำมาก (เข้าใจว่าเป็นแหล่เทศน์ แต่ลูกศิษย์เข้าใจว่าเป็นหมอลำ) เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วทุกปีในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ทางวัดจะจัดงานครบรอบวันมรณภาพของท่าน โดยมีหนังกลางแปลง ๑ จอ และหมอลำ จัดมาได้สองปี ปีต่อไปงดหมอลำ ให้มีหนังกลางแปลงอย่างเดียวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ปรากฏว่ารถฉายภาพยนตร์ไปเสียกลางทาง จน ๓ ทุ่มจึงได้ตั้งจอ พอจะฉายไฟดับ ต้องแก้ระบบไฟฟ้า และฝนตั้งเค้ามาทันทีทันใด แล้วตกอย่างหนัก เป็นอันว่าฉายภาพยนตร์ไม่ได้ จนต่อมาต้องมีหมอลำ (แหล่เทศน์)ถวายท่านด้วย (นี่แหละครับ ถือเป็นบทเรียน ลูกศิษย์เวลาจะทำอะไรต้องเคารพครูบาอาจารย์ ต้องขออนุญาตท่านก่อน เมื่อคราววัดโพธิ์ทองหล่อรูปหลวงปู่สี ก็ครั้งหนึ่งแล้ว น่าจะจำกันไว้ พวกเราลูกศิษย์หลวงพ่อฯ ก็ขอให้ถือเป็นแบบอย่าง อะไรไม่แน่ใจให้เรียนถามท่านก่อน มโนมยิทธิก็ได้กันเยอะแยะ จะทำอะไรเรียนถามท่านก่อนจะปลอดภัยที่สุดครับผม)
หลวงปู่สีท่านป่วยด้วยโรคต่อมลูกหมากบวม โดยเข้าโรงพยาบาลเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ และเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่ ๒-๓ ครั้ง พอถึงปลายเดือน ๓ ท่านก็บอกกับพระเณรในวัดว่า เดือน ๔ ท่านจะไปแล้ว ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ท่านมรณภาพในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ เวลา ๓ โมงเย็น ตรงกับ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ อายุ ๑๒๘ ปี
ก่อนท่านมรณภาพ ท่านพระครูนิวิฐปริยัติคุณ ถามท่านว่า หากหลวงปู่สีไป แล้วใครจะสร้างศาลาต่อล่ะ เพราะยังสร้างค้างอยู่ ท่านบอกว่า เสร็จแน่ จะมีคนช่วยสร้างเยอะ อย่าเอาศพท่านไปเผาก็แล้วกัน ซึ่งต่อมาศพของหลวงปู่สี ก็ไม่เน่าเปื่อย มีผู้คนศรัทธาไปร่วมทำบุญสร้างศาลากันมาก จนศาลาเสร็จเรียบร้อย และยังมีเงินเหลือพอที่จะสร้างหอสวดมนต์ได้อีก ๑ หลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ๓ ปี คณะศิษย์ได้นำศพท่านออกมาจากโลงแก้ว เพื่อจะเปลี่ยนผ้าครองให้ท่านใหม่ ช่างภาพในอำเภอตาคลี มาขอกรรมการถ่ายรูปท่านไป ๕ รูป เมื่อล้างฟิล์มออกมา ปรากฏว่าไม่ติดสักรูปเดียว รูปอื่นๆ อีก ๓๑ รูป มีภาพทุกใบ เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก เพราะแม้แต่ศพของท่านยังถ่ายรูปไม่ติด หากผู้ใดจะถ่ายรูปศพท่าน จะต้องจุดธูป ๙ ดอก ขอต่อท่านก่อน มิฉะนั้นจะถ่ายรูปไม่ติดเพราะเป็นเช่นนี้หลายรายแล้ว ชาวตาคลีรู้เรื่องนี้ดีทุกคน
มีบางคนไปนมัสการพระศพของหลวงปู่สี แล้วนำเอาเถ้าขี้ธูป และก้านธูปในกระถางหน้าศพท่าน กลับไปเลี่ยมห้อยคอแทนพระเครื่อง ปรากฏว่ามีอานุภาพดีมากทางป้องกันอันตรายต่างๆ อีกทั้งโชคลาภค้าขายก็ไม่ใช่ย่อย ฉะนั้นก้านธูป และขี้ธูปในกระถางธูปหน้าศพท่าน จึงมักไม่ค่อยมีเหลือ หากผู้ใดไปนมัสการท่าน ลองจุดธูปแล้วอธิษฐานขอจากหลวงปู่สี แล้วดึงเอามาบูชาเพียงก้านเดียวก็พอ อย่าโลภมากเป็นอันขาด รับรองว่าใช้แทนวัตถุมงคลของท่านได้เป็นอย่างดี