ประวัติ พระครูญาณโศภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี) - วัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา - webpra
สมัครสมาชิกใหม่
|
เข้าสู่ระบบ
|
รายการแจ้งเตือน
ไม่มีรายการ
Toggle navigation
เว็บ-พระ
ทำเนียบ
ประมูล
ร้านค้า
เว็บบอร์ด
My Box
Help
Login
Toggle navigation
ทำเนียบพระเครื่อง
พระครูญาณโศภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี)
ประวัติ
พระครูญาณโศภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี)
ประวัติ วัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
ประวัติและปฏิปทา
พระครูญาณโศภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี)
วัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน)
ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
๏ ชาติภูมิ
“ท่านพระครูญาณโศภิต” หรือ “หลวงปู่มี ญาณมุนี” มีนามเดิมว่า มี สว่างธรรม ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๗ ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑ ปีมะเมีย จ.ศ.๑๒๕๖ ณ บ้านสูงเนิน ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรของนายดี สว่างธรรม และนางมา สว่างธรรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ มีชื่อตามลำดับดังนี้
(๑) นายแสง สว่างธรรม
(๒) พระครูญาณโศภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี)
(๓) นายรอด สว่างธรรม
(๔) นางแพง สว่างธรรม
ในวัยเด็ก ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดใหญ่สูงเนิน สอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
๏ การอุปสมบท
เมื่ออายุ ๒๐ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ณ พัทธสีมาวัดใหญ่สูงเนิน ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระครูสีหราชสมาจารมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น วัดกลางนคร (ปัจจุบันคือ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระเทิ่ง วัดกลางนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระชื่น วัดกลางนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ญาณมุนี” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้ปรีชาหยั่งรู้” หลังอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดใหญ่สูงเนิน
ปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดดิษานุการาม (จางวางดิษฐ์) และวัดพลับพลาชัย แล้วย้ายไปอยู่วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมและบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนกระทั่งแตกฉานสามารถแปลภาษาบาลีได้ รวมทั้งมีความเข้าใจในอรรถธรรมบาลีเป็นอย่างดี ท่านเป็นผู้มีนิสัยสันโดษมักน้อย ไม่ทะเยอทะยานต่อลาภยศ และชอบบำเพ็ญสมถวิปัสสนาธุระเป็นประจำ
ท่านได้ออกธุดงค์ติดตาม หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปสถานที่ต่างๆ เป็นเวลาหลายปี กล่าวได้ว่า ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นรูปหนึ่งที่เป็นสายมหานิกาย
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หลวงปู่มั่นได้กล่าวสอนเรื่องนิกายแก่หลวงปู่มีไว้ว่า
“เราไม่ได้บัญญัติ เพราะธรรมดาโลกเราถือคณะนั้น คณะนี้ เมื่อท่านมาบัญญัติเสียแล้ว บรรดาเพื่อนฝูงที่เป็นสายเดียวกันก็เข้าหากันลำบาก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ให้บัญญัติ เพื่อจะเปิดทางให้เพื่อนฝูงทั้งหลาย เข้ามาแล้วได้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง”
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
๏ สร้างวัดป่าสูงเนินและวัดป่าสระเพลง
ท่านได้นำพาญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์วัดป่าสูงเนิน และวัดป่าสระเพลง เพราะสถานที่ทั้ง ๒ แห่งนี้เป็นที่วิเวกสงบสงัดดี เดิมเป็นป่ารกและเป็นป่าช้า จึงเหมาะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ-สามเณร ตามแนวทางปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ต่อมาท่านมักปลีกวิเวกจากวัดใหญ่สูงเนิน ออกไปบำเพ็ญสมถวิปัสสนาอยู่ที่วัดป่าสูงเนิน และบางครั้งก็ไปอยู่ที่วัดป่าสระเพลง เป็นประจำ
สำหรับ “วัดป่าสูงเนิน” หรือมีชื่อเป็นทางการว่า “วัดญาณโศภิตวนาราม” ตั้งอยู่เลขที่ ๐๐๑ หมู่ที่ ๑๐ บ้านญาติเจริญ ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย วัดอยู่ในเขตเทศบาลตำบลสูงเนิน มีเนื้อที่ตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๘๘๓๒ จำนวน ๒๓ ไร่ ๒ งาน ๕๗ ตารางวา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘
พระอุโบสถ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร (วัดกลางนคร) จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน
อุโบสถและบริเวณลานวัด วัดใหญ่สูงเนิน จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน
หลวงปู่ทา จารุธมฺโม ลูกศิษย์หลวงปู่มี ญาณมุนี
๏ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ของหลวงปู่ทา จารุธมฺโม
เมื่อครั้งหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล, หลวงปู่มี ญาณมุนี, หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล และคณะสานุศิษย์ ได้เดินทางธุดงค์มาปักกรดที่ป่าบ้านชีทวน (วัดป่าชีทวน ในปัจจุบัน) เพื่อจะเดินทางต่อไปยังบ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล การมาพักที่ป่าบ้านชีทวนในครั้งนั้น คณะพระธุดงค์ได้เปลี่ยนกันขึ้นแสดงธรรม นำพาญาติโยมชาวบ้านปฏิบัติธรรมตลอดทั้งคืน หลวงปู่ทา จารุธมฺโม ได้ฟังธรรมในลำดับหลวงปู่มี ญาณมุนี เป็นองค์ผู้แสดงธรรม มีความตอนหนึ่งว่า
...ความรักในโลกย่อมมีนานาประการ ความรักลูก ความรักเมีย เป็นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และกล่าวว่า รักพ่อรักแม่ เป็นความรักกว่าอะไรทั้งหมด บางคนก็ว่า รักศีลรักธรรม เป็นความรักกว่าอะไรทั้งนั้น หรืออาจกล่าวว่า รักวิชารักเรียน เป็นต้องรักกว่าสิ่งอะไรๆ ในโลก
ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ หรืออัครสาวกภูมิ และปัจเจกภูมิ ก็น่าจะกล่าวว่า พุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ อัครสาวกถูมิ เป็นที่รักอย่างยิ่งไม่มีอะไรสู้ได้ แต่พึงรู้เถิดว่าความรักตนนั้นแล เป็นความรักยิ่งกว่าความรักทั้งหลาย ได้ที่มาในบาลีว่า“นตฺถิ อตฺตสมัง เปมัง ความรักจะเสมอด้วยรักตนไม่มี” รักสิ่งอื่นมากก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องปรารถนาตนก่อน
...แสงสว่างที่มีอยู่ในโลกนี้มากหลาย มีทั้งแสงพระอาทิตย์ที่สว่างไปได้ในที่ไกล และแสงพระจันทร์ก็นับว่าเป็นแสงสว่างหนึ่งได้ แม้แต่แสงไฟก็นับเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน ซ้ำยังประกอบไฟนั้นให้แสงสว่างเป็นพิเศษ ถ้าจะกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้และแสงสว่างมากก็ชอบอยู่แล แต่พึงรู้เถิดว่าแสงสว่างคือปัญญาเป็นแสงสว่างกว่าแสงสว่างทั้งหลาย ได้ในบาลีเป็นใจความว่า “แสงสว่างจะเสมอด้วยปัญญาไม่มี”
ความสว่างอย่างอื่นเป็นแต่สว่างภายนอก จะส่องไปให้เห็นกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เช่นนี้เป็นต้น ก็ส่องไปให้ไม่ถึง แต่ปัญญาย่อมสว่างไปได้โดยประการทั้งปวง ไม่มีอะไรส่องถึงเท่าปัญญาได้
ถึงแม้จะมีสิ่งที่อยู่ใต้น้ำหรือใต้ดิน ปัญญาย่อมส่องได้ หรือฝ่ายธรรมที่เป็นโลกียธรรมถึงโลกุตรธรรม มรรคผลนิพพาน ปัญญาก็ทำให้แจ้งได้
...คนเราย่อมมีการเมาอยู่แล บางครั้งก็เมาฝิ่น บางครั้งก็เมากัญชา และบางทีก็เมาอาหารที่เรากินอันใดอันหนึ่งก็มี เมาอย่างที่กล่าวมานี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง และก็อาจเป็นได้ แต่ให้คิดเห็นไปอีกว่า เมาโลกีย์ลืมตาย เมากายลืมแก่ เมาเมียลืมแม่ เมาเนื้อลืมกรุณา เมาสุราลืมคำสัตย์
...คนเราย่อมให้กันในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นมาแต่นมนาน ให้เป็นการตอบแทนบุญคุณ อย่างให้พ่อให้แม่ก็มี หรือให้ด้วยเพราะกรุณาแก่ผู้ขอก็มี แต่ในที่นี้ใคร่จะกล่าวอีกว่า ผู้ซาว (จับ) อยู่ที่มือ ผู้ถืออยู่ที่โกรธ ผู้ให้คุณให้โทษอยู่ที่กรรม (ทำดีทำชั่ว) ทำดีให้รับผลดี ทำชั่วให้รับผลชั่ว
...วาจาที่คนเราต้องพูดต้องกล่าวมีมากหลาย บางคนก็มักบรรยายความให้มากได้ บางคนก็มักพูดน้อย แต่บางคนก็มักกล่าวพอประมาณ การเจรจาดังที่กล่าวมาก็ยังดีย่อมจะพอฟังได้ แต่พึงรู้ว่า วาจาแม้สักร้อยหนึ่งหรือยิ่งมากกว่าพัน ถ้าวาจานั้นฟังไม่ได้ปัญญาเครื่องรู้ และไม่ได้สติเครื่องตื่นเครื่องเตือนใจอันใดได้ วาจานั้นยังไม่ประเสริฐ แต่วาจาใดฟังแล้วแม้เล็กน้อย แต่ฟังได้สติ วาจานั้นคำเดียวยังดีกว่า ได้ในบาลีที่มีใจความว่าวาจาแม้สักพันหนึ่ง แต่ไม่แสดงประโยชน์ (ฟังไม่เป็นที่สงบระงับได้) วาจานั้นยังไม่ประเสริฐ ผู้ใดกล่าวคาถาแม้บทหนึ่ง ฟังเป็นที่สงบระงับได้ คาถาที่ผู้นั้นกล่าวแล้วนั้นบทเดียวประเสริฐกว่า
...วาจาที่กล่าว ถ้าเว้นวาจาส่อเสียด เว้นวาจามุสาได้ก็เป็นการดี ที่กล่าวแล้วเว้นคำหยาบ เว้นคำเพ้อเจ้อได้ก็เป็นการดี แต่พึงรู้ว่า วาจาที่ผู้ใดกล่าวด้วยปัญญาแสดงเหตุด้วย แสดงผลด้วย วาจาของผู้นั้นจึงไพเราะ
...ไฟใดที่เกิดแล้วที่บ้านนอกและในเมืองที่ว่าร้อน หรือไฟใดที่เกิดในภูเขาและในป่าที่ราบ หรือที่ดอนและที่ใดแม้แต่พระอาทิตย์ก็ไม่ร้ายแรงเท่า ไฟ คือ ราคะ ไฟ คือ โมหะ เพราะยากยิ่งจะดับแล้วให้ใจนั้นถึงความสุขอันแท้จริงได้
...ถ้าจะกล่าวใกล้ๆ ว่า ทุกข์เกิดแต่ความยากจน ไม่มีทรัพย์จะจ่ายบริโภคเครื่องนุ่งห่มที่อยู่ที่นอน ทุกข์เกิดแต่เพราะเป็นหนี้ท่านผู้อื่น ทุกข์เกิดแต่ประกอบการงานทางผิดมาก แต่พึงรู้เถิดทุกข์ในโลกจะเสมอด้วยขันธ์ ๕ ไม่มี
...ถ้าจะกล่าวว่าความประจวบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจเป็นทุกข์ ความพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ตามปรารถนาเป็นทุกข์ ก็ยิ่งเป็นการถูกต้อง ก็แต่พึงเข้าใจอีกว่า ความทุกข์ยิ่งกว่าความไม่สงบไม่มี ไม่สงบกาย ไม่สงบวาจา ไม่สงบใจลงได้ เพราะอวิชชา ตัณหา เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
...ใครเรียนใครก็รู้สิ่งทั้งหลาย ใครเรียนช่างไม้ก็รู้ช่างไม้ ใครเรียนวิศวกรรม พาณิชยกรรม กสิกรรมแต่ละอย่าง ก็อาจรู้ได้ตามวิชา เหล่านี้นักปราชญ์ทั้งหลายไม่กล่าวว่าหาได้ยากนัก “บุคคลผู้รู้คุณของผู้อื่นที่ทำให้แก่ตนแล้วตอบแทน” ความรู้อย่างนี้เป็นคุณธรรมของผู้ดีที่หาได้ยากในโลก ถ้าหากมีอยู่และหาได้แล้ว ผู้นั้นควรชมและควรถือเป็นแบบอย่างได้
...ความมีทรัพย์เป็นวิญญาณกทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น อวิญญาณกทรัพย์ แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นต้น ความมีดังที่กล่าวมานี้ มีนั้นแลเป็นดี ใครเลยจะไม่กล่าวว่า ความมีทรัพย์เป็นของดีในโลก ซึ่งทำให้ได้ความสุขความสนุกใจแก่ผู้มั่งมีเหลือที่จะกล่าวให้ทั่วถึง แต่พึงรู้เถิดว่า ยังเป็นความมีภายนอก แต่ศีลธรรมในที่นี้ชื่อว่าเป็นทรัพย์ในตัวแท้ที่ไม่มีภัยแก่ผู้ทรงศีลผู้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้
หลวงปู่ทา จารุธมฺโม สมัยท่านยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ ครั้นได้ฟังธรรมอันมีรสชาติเข้มข้นดังนั้น ก็ก่อให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง มีศรัทธาหยั่งรากฝังลึกในพระรัตนตรัย หัวใจมีเท่าไหร่ขอมอบไว้ให้กับพระธรรมเท่านั้น ไม่หวังพึ่งอย่างอื่นอีกต่อไป ท่านได้ตั้งสัจจะไว้ในใจอย่างแม่นมั่นว่า “เราจะต้องบวชอีกเป็นครั้งที่ ๒ เราจะต้องไม่มีครอบครัว เพราะการมีครอบครัวเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก หากเรามีโอกาสได้บวชเมื่อไหร่ ก็จะขอบวชและต้องบวชอยู่กับหลวงปู่มี ญาณมุนี เพียงเท่านั้น”
หลวงปู่ทา ได้เล่าถึงการที่ท่านได้ทำวัตรปฏิบัติต่อหลวงปู่มี ที่เสนาสนะป่าบ้านชีทวนในครั้งนั้นว่า “มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่มีได้ล้มป่วยที่ป่าบ้านชีทวน ไม่ฉันอาหารเป็นเวลา ๓ วัน หลวงปู่ทาซึ่งยังเป็นฆราวาสอยู่ได้คอยเอาผ้าชุบน้ำลูบตัวให้หลวงปู่มี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้มีหนังสือมาถึงความว่า ให้หลวงปู่มีเดินทางกลับโคราช หลวงปู่มีได้ทราบข่าวดังนั้น จึงลุกปุบปับขึ้นฉันอาหาร กุลีกุจอจัดบริขารเดินทางด้วยเท้าเปล่า ไปขึ้นรถที่วารินชำราบ โดยมีชาวบ้านสูงเนินไปทำงานอยู่ที่วารินชำราบ เป็นธุระจัดตั๋วให้ เป็นที่ประหลาดใจแก่ชาวบ้านชีทวนเป็นยิ่งนัก ท่านนอนป่วยเหมือนจะตาย พอได้รับหนังสือของสมเด็จฯ ท่านลุกขึ้นฉันอาหาร เสร็จแล้วเดินทางด้วยเท้าเปล่าไปขึ้นรถไฟที่วารินฯ เหมือนกับท่านไม่ได้เป็นอะไร เป็นเรื่องที่น่าแปลกจริงๆ”
หลังจากนั้น ๓-๔ ปี ด้วยความศรัทธาเปี่ยมล้นที่มีต่อหลวงปู่มี ญาณมุนี ทั้งนึกถึงธรรมะคำสอนท่านอยู่ไม่ห่างหาย จิตใจก็กระตุ้นเตือนรำพึงถึงเพศบรรพชิต หลวงปู่ทาได้กราบลาพ่อน้า-แม่น้า ซึ่งเปรียบเหมือนบิดามารดาคนที่สอง เพื่อจะไปฝากตัวขอบวชเป็นศิษย์ ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มี ญาณมุนี ที่เสนาสนะป่าบ้านสูงเนิน (วัดป่าสูงเนิน หรือวัดญาณโศภิตวนาราม ในปัจจุบัน) จังหวัดนครราชสีมา
หลวงปู่ทาได้ติดตามรับใช้หลวงปู่มีตลอดระยะเวลา ๓ ปี โดยท่านได้เป็นตาปะขาวรักษาศีลอย่างเคร่งครัด มีกิริยามารยาทเรียบร้อย ความประพฤติดี หลวงปู่มีจึงอนุญาตให้ท่านอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๓๔ ปี ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๕ เวลา ๑๒.๒๔ น. ณ อุโบสถวัดใหญ่สูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา โดยมีหลวงปู่มี ญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เนียม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการถนอม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านได้รับนามฉายาว่า “จารุธมฺโม” แปลความหมายว่า “ผู้มีธรรมอันงามพร้อม”
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
๏ หลวงปู่มี สอนอะไรหลวงปู่ทา
===================
หลวงปู่มี ญาณมุนี เคยปรารภกับหลวงปู่ทา จารุธัมโม ว่า “ให้ภาวนาจนถึงขั้นพระพุทธเจ้ามาเทศน์ให้ฟัง นั่นถึงจะดี” และหลวงปู่ทาท่านเป็นผู้สืบทอดข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทาจากหลวงปู่มีได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวก็ว่าได้
หลวงปู่สีลา อิสฺสโร
หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร
๏ ถ้ำซับมืดแดนธรรมอันล้ำค่า
ปี พ.ศ.๒๕๐๐ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร ซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสรูปหนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ท่องเที่ยวธุดงค์กรรมฐานไปทางอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แล้วได้พบป่าเขาและถ้ำเหมาะเป็นสถานที่สำหรับการบำเพ็ญภาวนา และเจริญสมณธรรมสำหรับอริยมุนีผู้มุ่งตรงสู่แดนแห่งความหลุดพ้น ถ้ำแห่งนั้นสงบวิเวกสงัด สัตว์ไพรก็มีอยู่มากหลาย น้ำอุดมสมบูรณ์ ไม่ลำบากในการดำรงชีพแบบสมณะ
ท่านจึงนำเรื่องค้นพบถ้ำอันเป็นสถานที่สัปปายะมากราบเรียนท่านพระครูญาณโศภิต หรือหลวงปู่มี ญาณมุนี หลวงปู่มีท่านเป็นนักท่องเที่ยววิเวกธุดงค์ตามป่าตามเขาอยู่แล้ว เมื่อท่านทราบดังนั้นจึงนำพาคณะสานุศิษย์ไปปฏิบัติธรรมรวมทั้งหมด ๕ รูป หนึ่งในนั้นมี หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร ด้วยรูปหนึ่ง
จากหนังสือประวัติหลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร หลวงปู่เครื่องท่านได้เล่าไว้ว่า...การเดินธุดงค์เข้าไปในป่าลึกทางซับม่วง ในเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะเป็นป่าดิบชื้นตามเชิงเขา และชุกชุมไปด้วยไข้ป่าหรือไข้มาลาเรีย พระภิกษุทั้งหมดได้เข้าพักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ถ้ำสวยงามที่ชื่อว่า “ถ้ำมืด” ไม่เพียงแต่ถ้ำเท่านั้นที่มืด ป่าเขาก็มืดทึบไปหมด ที่ชื่อว่า “ถ้ำมืด” เพราะว่าแสงแดดส่องเข้าไปไม่ถึง อากาศหายใจไม่ค่อยจะพอ ภายในถ้ำมีความเย็นยะเยือก มีเถาวัลย์เครือไม้ระโยงระยาง ซึ่งต่อมาได้เรียกถ้ำนี้ว่า “ถ้ำซับมืด”
หลวงปู่มีนำคณะธุดงค์เข้าบำเพ็ญอยู่ภายในถ้ำมืด นานถึง ๖ วัน ๖ คืน อธิษฐานภาวนาสู้ตาย หมายธรรมขั้นสูง หวังปิดชีพกิเลสอวิชชาที่ก่อกวนมานานด้วยดาบอันคมกริบคือธรรม
ปรากฏการณ์ในวันแรก มีสหธรรมิกท่านหนึ่งชื่อว่า พระมหาบุญ ท่านบำเพ็ญธรรมอยู่ได้เพียงวันเดียว ก็มีอาการอาพาธด้วยไข้มาลาเรียอย่างหนัก จึงนำท่านออกจากถ้ำซับมืด ถอนการอธิษฐานธุดงค์ กลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครราชสีมา และอยู่ได้เพียงวันเดียวก็ถึงแก่มรณภาพ
หลวงปู่เครื่องก็จับไข้ มีอาการหนักหัว แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หลวงปู่เครื่องได้นั่งสมาธิ ใช้สติสัมปชัญญะตรวจสอบอาการไข้ รวบรวมพลังจิตให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อเอา่ชนะ แต่อาการไข้ก็ไม่ทุเลาลง สติรับรู้ได้ว่าอาการไข้กลับหนักยิ่งขึ้น จึงรำพึงในใจว่าถ้าขืนปล่อยให้ไข้กำเริบต่อไปอีกคงตายแน่
หลวงปู่เครื่องจึงได้ตัดสินใจปีนหน้าผาเกาะต้นไม้ เกี่ยวเถาวัลย์หรือเครือกระไดลิงขึ้นไปเพื่อขอยาแก้ไข้มาลาเรียจากพวกฝรั่ง ที่กำลังระเบิดหินอยู่บนหลังเขาเพื่อก่อสร้างถนนมิตรภาพ ได้พบล่ามคนไทย บอกเขาว่าเป็นไข้มาลาเรีย แจ้งความประสงค์ ล่ามจึงพาไปพบฝรั่งได้ยามา ๖ เม็ด แต่เขาสั่งให้กินเพียงเม็ดเดียวก็พอ จึงได้กินยาตามที่เขาสั่ง อาการไข้จึงหายไป ภายในใจก็คิดว่าได้รอดพ้นจากความตายแล้ว
การออกเดินธุดงค์ในครั้งนั้น พระภิกษุทั้ง ๕ รูปต่างก็ได้รับเชื้อมาลาเรียกันครบทุกรูป แม้แต่หลวงปู่มีเอง ท่านก็ป่วยเป็นไข้ป่ามีอาการปางตายเช่นเดียวกัน แต่ธรรมะท่านแกร่งกล้าประกอบกับหมอมารักษาได้ทันเวลา อาการท่านดีขึ้นแต่ก็ยังไม่หายขาดทันที หลวงปู่มีท่านจึงได้ถอนธุดงค์ในคราวนั้นเสียก่อน เพราะขืนดึงดันไปสู้กับภัยธรรมชาติก็ไม่มีความหมาย มีแต่จะตายไปเปล่าๆ ยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา หลักเหตุผล ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นการชอบกว่า ดังนั้น ท่านจึงกลับมายังวัดป่าสูงเนิน
เมื่อท่านมาเห็นศพพระมหาบุญ ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งมรณภาพด้วยพิษไข้มาลาเรียจากโรงพยาบาลนครราชสีมา กลับมาถึงวัด จึงเกิดความโทมนัสเป็นอย่างมาก จนถึงกลับหน้ามืดเป็นลม ต้องช่วยกันนวดเฟ้นเกิดความชุลมุนกันพักใหญ่ ท่านรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ! ที่ลูกศิษย์อายุยังน้อย เป็นมหาเปรียญยังสามารถทำประโยชน์ให้กับพระศาสนาได้ แต่มาด่วนตายเสียก่อน แต่...ถึงจะตาย ก็ตายอย่างห้าวหาญ ใจเด็ดเดี่ยว ไม่ได้นอนตายอย่างพระขี้ขลาด ตายอย่างนักสู้ สู้สุดตัว ไม่ถนอมออมแรงและอ่อนข้อต่อกิเลสตัวมีพิษร้าย ตัวพาเกิดพาตายมาหลายภพชาติ ตายอย่างสมศักดิ์ศรีนักรบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านพอใจที่จะตายอย่างนี้ ถึงตายก็ได้ปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต กล่าวสอนว่า
“ธรรมมันอยู่เลยความตาย ใครยังกลัวตายอยู่ก็จะไม่พบพระสัทธรรม”
ผลของการออกปฏิบัติธรรมด้วยการเดินธุดงค์ไปที่ถ้ำซับมืดในครั้งนั้น มีพระภิกษุถึงแก่มรณภาพลงเพราะไข้มาลาเรียเพิ่มอีก รวมกับพระมหาบุญเป็น ๓ องค์ ทำให้เกิดความวุ่นวายทางใจอีกครั้งหนึ่ง
===================
ปี พ.ศ.๒๕๐๖ หลวงปู่ทา ได้เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดถ้ำซับมืด
ปี พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๑๑ หลวงปู่มี พร้อมศิษย์ทั้งสอง คือหลวงปู่ทา จารุธมฺโม และ หลวงปู่สุพีร์ สุสญฺญโม ได้มาจำพรรษา ณ วัดดอยพระเกิ๊ด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงปู่ทา ได้มาจำพรรษา ณ วัดถ้ำซับมืด กับหลวงปู่มีและหลวงปู่สุพีร์ อีกครั้งหนึ่ง
แม้หลวงปู่มี ผู้เป็นอาจารย์ จะมรณภาพไปแล้ว แต่หลวงปู่ทาท่านครองสมณเพศอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ ถือสันโดษ เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม ให้ความเมตตาต่อสาธุชนและศิษยานุศิษย์เสมอกัน โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้สืบทอดข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทาจากหลวงปู่มีอย่างเคร่งครัด มีพระกรรมฐานทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกายเดินทางมาเยี่ยมเยือน สนทนาธรรม มาอยู่ร่วมสำนักกับท่านเสมอ ณ วัดถ้ำซับมืด
หลวงปู่สุพีร์ สุสญฺญโม ลูกศิษย์หลวงปู่มี ญาณมุนี
๏ ตำแหน่งทางคณะสงฆ์และสมณศักดิ์
จนกระทั่งพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๘๒ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอธิการ (เจ้าอาวาส) วัดใหญ่สูงเนิน, เจ้าคณะหมวดตำบลสูงเนิน และพระอุปัชฌาย์ในหมวดสูงเนิน
พ.ศ.๒๔๘๖ ได้เป็นประธานกรรมการสอบไล่นักธรรมสนามหลวง แทนเจ้าคณะอำเภอสูงเนิน
พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูญาณโศภิต
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสาธารณูปการอำเภอสูงเนินด้วย
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิม และได้เป็นประธานในการสร้างอุโบสถวัดใหญู่สูงเนิน โดยท่านได้นำพาญาติโยม อุบาสกอุบาสิกาช่วยกันพัฒนาวัดใหญ่สูงเนิน และวัดป่าสูงเนิน (วัดญาณโศภิตวนาราม) จนเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ
๏ การมรณภาพ
จนกระทั่งถึงวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔ ท่านก็ถึงกาลมรณภาพ ณ กุฏิของท่าน วัดป่าสูงเนิน (วัดญาณโศภิตวนาราม) จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. ในอิริยาบถนั่งสมาธิถอดจิตไปในอาการอันสงบ สำหรับพระธรรมดายากที่จะทำอย่างท่านได้ สิริอายุรวมได้ ๗๗ ปี พรรษา ๕๗
กำหนดการพระราชทานเพลิงศพฯ ในวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๕ ณ วัดป่าสูงเนิน (วัดญาณโศภิตวนาราม) จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันกุฏิที่ท่านมรณภาพนั้นยังคงอนุรักษ์อยู่ที่วัดป่าสูงเนิน (วัดญาณโศภิตวนาราม)
๏ ลำดับเจ้าอาวาสวัดป่าสูงเนิน (วัดญาณโศภิตวนาราม)
๑. พระครูญาณโศภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี) พ.ศ.๒๔๗๑ ถึง พ.ศ.๒๕๑๔
๒. พระครูศาสนการบริรักษ์ (จันทร์ สาสนปโชโต) พ.ศ.๒๕๑๕ ถึง พ.ศ.๒๕๔๐
๓. พระครูปัญญาภิรัต (บุญมี) รักษาการเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๔๐ ถึง พ.ศ.๒๕๔๔
๔. พระครูโสภิตญาณประยุต (บุญจวด ธมฺมพโล) พ.ศ.๒๕๔๕ ถึง ปัจจุบัน
๏ โอวาทธรรมของหลวงปู่มี
- นิพพานไม่ประกอบด้วยทุกข์ นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานไม่มีสมมุติบัญญัติ นิพพานไม่มีสัตว์สังขารใดๆ นิพพานไม่มีเกิดแก่เจ็บตายอะไรทั้งหมด นิพพานรู้นิพพาน
- อย่าส่งใจออกไปภายนอก อย่าวิ่งตะครุบแสงตะครุบเงา ให้จับตัวให้ถูก ให้ทวนกลับใจเข้ามาตั้งที่ใจ
หลวงปู่ทา จารุธมฺโม ลูกศิษย์หลวงปู่มี ญาณมุนี
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
๏ วาทะธรรมที่กล่าวถึงหลวงปู่มี
๑. หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้กล่าวสอนกรรมฐานแก่หลวงปู่มี ว่า
“ธรรมมันอยู่เลยความตาย ใครยังกลัวตายอยู่ก็จะไม่พบพระสัทธรรม”
๒. หลวงปู่ทา จารุธมฺโม ลูกศิษย์หลวงปู่มี ได้กล่าวถึงปฏิปทาของหลวงปู่มี ว่า
“ท่านเป็นผู้มีใจแน่วแน่ และเป็นยอดของนักปฏิบัติธรรม สายตาและปัญญาแหลมคมฉลาด พระเณรที่ขี้เกียจขี้คร้านอยู่ร่วมสำนักกับท่านไม่ได้ ท่านต้องการคนใจเด็ดเดี่ยวเป็นสานุศิษย์ ถ้าบวชเข้ามาไม่เป็นท่า ท่านจะขับออกจากสำนักของท่านทันที”
“ถ้าเราต้องการเป็นพระปฏิบัติกัมมัฏฐาน หากเรายังยึดติดกับใบลานหรือกระดาษหรือแนวการศึกษาทางด้านปริยัติธรรมอยู่ แม้เราจะขยันหมั่นเพียรเท่าใดก็ยังหาได้บรรลุธรรมขั้นสูงไม่ เหมือนกับคนยังโง่อยู่ หอบปอทั้งขี้ปอ ย่อมเอาไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้ฉันใด พระผู้ปฏิบัติธรรมหากยังยึดติดอยู่กับใบลาน กระดาษ หรือเพียงแต่การเรียนปริยัติธรรมก็ฉันนั้น”
๓. หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวถึงปฏิปทาของหลวงปู่มี ว่า
“ท่านอาจารย์มี ญาณมุนี แห่งวัดป่าสูงเนิน โคราช ท่านเป็นผู้ที่เราเคารพเลื่อมใสมาก ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ท่านไม่ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติ มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ที่ญัตติหรือไม่ญัตติ มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ที่ธรรมยุตหรือมหานิกาย แต่อยู่ที่หัวใจชองผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่ลดละความพากเพียร จะธรรมยุตหรือมหานิกาย ก็เป็นพระกรรมฐานด้วยกัน ท่านอาจารย์ทาก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มี หลวงปู่มีก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็เป็นอาจารย์ของเรา”
“ท่านเป็นพระที่สุขุมและละเอียดมาก สมชื่อสมนามว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นจริงๆ”
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ท่านเคยกล่าวเทิดทูนหลวงปู่มี ญาณมุนี ไว้ในหนังสือสังฆรัตนะ หัวข้อเพชรน้ำหนึ่งฝ่ายมหานิกาย “ท่านอาจารย์มี (พระครูญาณโสภิต) น่ะ เรารักเคารพท่านมาก นั่นละท่านเข้าในขั้นเพชรน้ำหนึ่งนะ เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เออ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น”
.............................................................
♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) ประวัติโดยสังเขป พระครูญาณโศภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี)
จากเว็บไซต์วัดป่าสูงเนิน http://www.watpasungnoen.com
(๒) หนังสือหลวงปู่ทา จารุธมฺโม พระอริยเจ้าผู้มีธรรมงามพร้อม
หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานพิธีถวายเพลิงศพหลวงปู่ทา จารุธมฺโม
แหล่งที่มา นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net
Top
เมนูหลัก
เว็บพระ.คอม
ร้านค้าพระเครื่อง
ประมูลพระเครื่อง
ทำเนียบพระเครื่อง
เว็บบอร์ด
บทความพระเครื่อง
ช่วยเหลือ
สมาชิก
My Box
สมัครสมาชิกใหม่
Login