ประวัติ หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก - วัดป่าหนองไคร้ ต.หนองหิน อ.เมือง จ.ยโสธร - webpra

หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก

ประวัติ วัดป่าหนองไคร้ ต.หนองหิน อ.เมือง จ.ยโสธร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก

หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก

วัดป่าหนองไคร้
ต.หนองหิน อ.เมือง จ.ยโสธร


“พระอริยเจ้าผู้มีปฏิปทาประดุจม้าศึก”

พระเดชพระคุณหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก พระอริยเจ้าผู้มีวิถีชีวิตและปฏิปทาที่ไม่หยุดนิ่งในความเพียรที่จะเสาะแสวง หาที่สงัดวิเวกเปล่าเปลี่ยว อดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นคนประเทศฟิลิปปินส์

ท่านเป็นศิษย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่สำคัญรูปหนึ่ง เริ่มแรกท่านศึกษาธรรมกับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านมีอุบายในการปฏิบัติที่แปลกแต่อุบายนั้นให้ผลในทางบวกเสมอ และมีวิถียาวไกลสามารถบอกวันตายล่วงหน้าได้ถึง ๒ ปี

ท่านชอบธุดงค์และท่องเที่ยวอยู่ตามถ้ำเป็นส่วนมาก ถ้ำทั่วทุกภาคในประเทศไทยไม่ว่าใกล้หรือไกลท่านได้เข้าไปอาศัยภาวนามาแล้ว แทบทั้งนั้นตามบันทึก การเดินทางธุดงค์ของท่านนับได้กว่า ๗๒ ถ้ำ ถ้ำที่ท่านสร้างและอยู่จำพรรษาคือ ถ้ำเอราวัณ อำเภอนากลาง จังหวัดอุดรธานี และถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

ท่านได้รับการยกย่องจาก พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ว่า “เป็นพระกรรมฐานม้า” หมายความว่า เหมือนม้าศึกตัวปราดเปรียวฝีเท้าเร็วในเชิงรุกและรับ ท่านมีนิสัยต้องเที่ยวไปเหมือนม้า คือต้องเดินท่องเที่ยวรอนแรมปีนป่ายป่าเขาอาศัยอยู่ตามท้องถ้ำ อาศัยปัญญาเป็นอาวุธในการรุกรบกับกิเลส
 
ท่านเกิด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๑ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก เวลาใกล้รุ่ง ณ บ้านหนองหิน หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นบุตรของขุนเสลวาปี (ศรีคัทธมาส ลูกคำ) และนางหา ลูกคำ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๑๑ คน เป็นชาย ๕ คน และหญิง ๖ คน

ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ หลังฤดูกาลออกพรรษา เดือนพฤศจิกายน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ มีพระธุดงค์กรรมฐานมาพักใต้ร่มไม้ในป่าช้าบ้านยางเดี่ยว ๔ รูป สามเณร ๕ รูป ตาผ้าขาว ๒ คน มีพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นหัวหน้าคณะ ท่านได้ฟังเทศน์จากพระอาจารย์มหาปิ่น ทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ในขณะนั้นท่านอายุได้ ๑๙ ปี รับราชการเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ อายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย บวชได้ ๔ เดือนก็ลาสิกขา เข้ารับราชการเป็นนายทหาร

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้รับเลื่อนยศเป็นสิบเอก ทุกวันหยุดราชการได้เดินทางไปฟังธรรมจากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ที่วัดป่าสาลวัน จากพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญพโล และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าศรัทธารวม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนสามารถรวมจิตเป็นหนึ่ง ยกจิตขึ้นมาพิจารณาอสุภะกรรมฐานเป็นที่น่าเบื่อหน่ายในกายสังขาร จึงตัดสินใจลาออกจากราชการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยความเลื่อมใส
 
ครั้นต่อมา ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุครั้งที่ ๒ ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ อายุได้ ๒๙ ปี ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาควโร พันธ์เพ็ง ป.ธ. ๕) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิวงศาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระมหาสุทัศน์ สุทสฺสโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อบวชแล้วไปศึกษาธรรมกับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จากนั้นท่านธุดงค์ไปจำพรรษาตามถ้ำและป่าเขาในจังหวัดต่างๆ

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ อายุ ๓๙ ปี พรรษา ๑๐ จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ในวันพระปาฏิโมกข์วันหนึ่ง ท่านนั่งคิดคนเดียวว่าอยากจะลงสวดปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถ พอถึงเวลาลงอุโบสถ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน กำลังจะขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นรีบพูดขึ้นว่า

“เดี๋ยวก่อนท่านมหา (บัว) วันนี้พักก่อน เห็นท่านผั่นอยากสวดปาฏิโมกข์อยู่พอดี ให้ท่านผั่นสวดแทนก็แล้วกัน” ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต รู้วาระจิตของท่านที่คิดเช่นนั้น ท่านแทบล้มสลบไปต่อหน้า เหงื่อซึมไหลไปทั้งตัว มึนชาไปหมด นี่คือความมหัศจรรย์ในวาระจิตของท่านพระอาจารย์มั่น ถ้าเราคิดดีก็ดีไป แต่ถ้าคิดไม่ดีนี่สิ ย่อมอยู่กับท่านไม่ได้ เพราะท่านรู้หมดทุกอย่าง


ท่านได้ศึกษาวัตรปฏิบัติ และอุบายธรรมในสำนักของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่เข้าใจสมประสงค์แล้ว เมื่อท่านจะออกไปทำความเพียรเฉพาะตน ท่านได้ตั้งเจตนาของท่านไว้ ๙ ข้อ ดังนี้

๑. จะไม่ไปคลุกคลีหมู่คณะอีก นอกเสียจากสามเณรที่ติดตามท่านมาแต่ไหนแต่ไรมา ๒ รูป

๒. จะไปเลือกหาสถานที่ ที่เห็นว่าเหมาะพอสะดวกในการทำความเพียรได้แล้ว จะอยู่เป็นที่ ไม่เที่ยวเตร็ดเตร่

๓. จะพยายามใช้สติปัฏฐานให้มาก พิจารณากายคตาสติแต่อย่างเดียว ให้เป็น เอกายโน มคฺโค วิสุทฺธิยา

๔. การเทศนาแก่สานุศิษย์ และพุทธบริษัทภายนอกจะให้มีน้อยที่สุด

๕. คุณวิเศษจะไม่เกิดขึ้นในจิตโดยเร็วพลัน ทันความประสงค์ของตนสักปานใดก็ตาม จะถือเอาความสงบสงัด วิเวกกาย วิเวกวาจาเป็นหลัก

๖. เท่าที่ศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พอควรแก่การอบรม ย่อมเป็นแนวทางจะฝึกตนดำเนินตนไปข้างหน้าได้แล้ว ไม่ต้องได้ยินได้ฟังอีก ก็พอจะเป็นไปบ้างแล้ว เว้นเสียแต่จะเกิดวิจิกิจฉาลังเลขึ้นภายหลังอีก จึงจะไปศึกษากราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

๗. จะเที่ยวเลือกหาสถานที่ทำความเพียร ที่ไม่ห่างไกลจากท่านพระอาจารย์มั่นจนเกินไป สถานที่ที่ได้เลือกคือ บ้านหนองมะโฮง ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ระยะทางห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตรเท่านั้น และจำพรรษาที่นี่ ๑ พรรษา

๘. ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ซึ่งศึกษาอบรมมาจะพยายามทำให้เป็นเนืองนิจ สม่ำเสมอ ไม่ให้ลุ่มๆ ดอนๆ ให้คงเส้นคงวา เป็นบรรทัดฐานตั้งอยู่ ถึงแม้จะเสื่อมถอยไปโดยอนุโลมสานุศิษย์หรือญาติโยม และกิเลสของตน เหล่านี้ให้มีน้อยครั้งที่สุด

๙. ถ้าเห็นสำนักใดหรือหมู่คณะใดประพฤติเลวทรามกว่าตน เจตนาจะไม่เพ่งโทษสำนักใดหรือใครเป็นอันขาด

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ กำนันโทน ลูกคำ ซึ่งเป็นพี่ชาย ได้นิมนต์ท่านให้กลับมาโปรดคณะศรัทธาญาติโยมในถิ่นเกิด ท่านพักภาวนาที่เสนาสนะป่าแห่งหนึ่ง

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ขณะที่ท่านพักจำพรรษา มีแสงสว่างสุกใสพวยพุ่งขึ้นมาจากทางด้านทิศตะวันตก เป็นอย่างนี้ตลอดพรรษา ด้วยบุพพนิมิตแห่งเทพบันดาลแนะนำสถานที่อันเป็นมหามงคล ท่านจึงได้สร้าง “วัดป่าหนองไคร้” ขึ้น ณ บ้านหนองทองหลาง ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
 
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ ท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ เมตร สูง ๕ เมตร (วัดจากฐาน ๗ เมตร) เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ อีกทั้งเพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับจาก ท่านพ่อลี ธมฺมธโร กับอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งท่านมีอยู่มาก (ท่านรับแต่งตั้งให้เป็นพระผู้มีหน้าที่ลงไปเก็บอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์มั่น จึงได้รับส่วนแบ่งมามาก) เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ ได้ประทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพิชิตมาร” โดยได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระเศียร และบรรจุอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่นจำนวนหลายร้อยองค์ ประมาณครึ่งแก้วไว้ที่พระนาภี (สะดือ) ในงานคราวนั้นพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ท่านบรรลุอุดมธรรมขั้นสูงสุดที่วัดป่าหนองหัวเสือ บ้านโต่งโต้น ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ก่อนมรณภาพเพียง ๕ เดือน โดยท่านมรณภาพเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ณ โรงพยาบบาลยโสธร สิริรวมอายุได้ ๗๙ ปี ๑๐ เดือน พรรษา ๔๙

 
.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือ...พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

 



หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก
ไม่ยอมแพ้กิเลสตัณหา มุ่งรักษาพระธรรมวินัย

หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ท่านได้ทำหน้าที่เก็บอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น จึงได้รับส่วนแบ่งมามาก
ต่อมาท่านจึงสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า “พระพิชิตมาร”
ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ เมตร ความสูงวัดจากฐาน ๗ เมตร
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับจากท่านพ่อลี ธมฺมธโร ไว้ที่พระเศียร
และบรรจุพระธาตุของท่านพระอาจารย์มั่นจำนวนหลายร้อยองค์ไว้ที่พระนาภี (สะดือ)


หลวงปู่ผั่นมักธุดงค์และอยู่ตามป่าเขา ถ้ำต่างๆ แม้กระทั่งป่าช้า
แม้สถานที่ต่างๆ นั้นจะน่ากลัวและยากลำบากในการบิณฑบาต
ดังเหตุการณ์ในช่วงพรรษาที่ ๕ ของการบวชครั้งที่ ๒
(ซึ่งในการอุปสมบทคราวนี้ ท่านครองสมณเพศตราบจนมรณภาพ)
ในปีนั้นท่านเลือกพักอยู่ในป่าไผ่ กลางป่าช้าบ้านพระเนาว์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
โดยมีโยมบิดาที่เป็นผ้าขาว รักษาศีล ๘ ติดตามมาภาวนาอยู่ด้วย

หลวงปู่เล่าถึงเหตุผลที่เลือกพำนักในป่าช้าไว้ดังนี้

“ในฤดูแล้งปีนี้ การพักภาวนาในป่าช้ามีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ
๑. เจริญธุดงค์ข้อสุสานิกังคะ เพื่อพิจารณากายคตาสติ ให้แน่ชัดเท่าที่สามารถจะกระทำได้
๒. เป็นที่ลี้ลับซ่อนเร้น ในป่าไผ่กลางป่าช้าเป็นสถานที่ผู้คนกลัวผี ไม่กล้าเข้ามาพลุกพล่าน
หวังความสงบวิเวก ไม่ต้องการให้หมู่มนุษย์เข้ามารบกวน จะได้มีเวลาภาวนามากๆ
ในเรื่องมรณัสสติ มีหลุมฝังผี เผาผีคนตายเป็นสักขีพยาน เป็นเครื่องอุปกรณ์ในการพิจารณาได้อย่างดี”


หลังจากพักอยู่ในป่าช้าได้ ๑ คืน พอรุ่งเช้าก็ออกบิณฑบาตเข้าไปในหมู่บ้านพระเนาว์
ส่วนโยมบิดาก็เฝ้าสิ่งของและบริขารอยู่ ณ ที่พัก
ท่านบิณฑบาตตามบ้านได้ประมาณ ๒๐-๓๐ หลังคาเรือน
เหลืออีกเพียง ๒-๓ หลัง ก็จะพ้นจากเขตหมู่บ้านไป
ปรากฏว่าโยมทุกคนตักบาตรแต่ข้าวสุก ได้ประมาณครึ่งบาตร แต่ไม่มีกับข้าวเลย

“ขณะเดินบิณฑบาตอยู่กิเลสเข้าสิงใจ ข้าพเจ้าเกิดอาละวาดขึ้นมา
บังคับให้ข้าพเจ้าออกปากขออาหารกับข้าวจากโยมผู้ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
โดยข้าพเจ้าไม่รู้สึกตัวว่าผิดต่อพระวินัย
ที่พระพุทธองค์บัญญัติห้ามไว้ในหนังสือปาติโมกข์ หมวดปาจิตตียวรรค”


ในขณะที่โยมตักบาตรอยู่ ท่านจึงบอกไปว่า

“โยม เช้าวันนี้มีผู้ใส่บาตรให้แต่ข้าวสุก อาหารกับข้าวไม่มี
ถ้าได้อาหาร เกลือ พริก ผัก น้ำปลา ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาเค็ม
อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งไป ฉันกับข้าวสุกพอกลืนลงคอง่ายๆ ก็จะเป็นการดี”


โยมจึงนิมนต์ให้รอประมาณ ๑๐-๑๕ นาที แล้วกลับมาใส่บาตรด้วยห่ออาหารขนาดใหญ่เท่าผลส้มโอ
เมื่อท่านบิณฑบาตเสร็จแล้วก็เดินกลับที่พัก ด้วยความปีติยินดีว่าได้กับข้าวแล้ว
ต่อเมื่อได้เดินพ้นรั้วหมู่บ้านไปแล้ว ท่านจึงรู้ตัวว่าได้ทำผิดไป

“ข้าพเจ้าเผลอ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ว่าเห็นโยมไม่ฉลาดในการตักบาตร
ที่แท้จริงตัวเราเองไม่ฉลาด โง่บัดซบ กระทำผิดต่อพระวินัยที่ห้ามไว้
เชื่อกิเลสตัณหาฝ่ายพญามารเข้าสิงใจแต่ด้านเดียว คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นความชั่วเป็นของดี ได้อาหารขอมาในทางมิจฉาชีพ ไม่เป็นสัมมาชีพโดยแท้”


ท่านเล่าความรู้สึกในตอนนั้นไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้าสะดุ้งกระเทือนรู้ตัวภายหลัง ขณะเดินพ้นรั้วประตูเขตหมู่บ้านไปแล้ว
แต่ยังไม่ถึงที่พักกลางป่าช้า ข้าพเจ้ารู้สึกตัว เสียใจเป็นอันมาก
ว่าได้หลงเล่ห์กลของกิเลสตัณหาพญามารเสียแล้ว”


เมื่อรู้สึกตัวดังนั้นแล้ว ท่านจึงปฏิบัติตนอย่างสงฆ์ผู้เคารพในพระธรรมวินัย

“เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าได้กระทำผิดไปแล้วดังนี้ ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้เร็วพลัน
เปิดฝาบาตรออกเอามือขวาล้วงลงไปในบาตร จับเอาห่ออาหารนั้นขึ้นมาขว้างทิ้งเข้าป่าไป
โดยไม่มองหน้าไปดูว่าไปตกที่ใด ห่างไกลกี่มากน้อย ไม่ยอมให้ฉันเป็นเด็ดขาด
เพราะอาหารได้มาโดยไม่ชอบทางพระวินัยเป็นมิจฉาชีพ ไม่ใช่สัมมาชีพดังกล่าวมาแล้ว
เหลือแต่ข้าวสุกแต่อย่างเดียวที่ได้มาโดยชอบ จำต้องฉันแต่ข้าวเปล่าๆ ไปตามมีตามได้
จึงจะจัดว่าเป็นสมณสารูป สงฆ์ผู้ไม่ลุอำนาจชั่วแก่กิเลสตัณหา


เมื่อกลับมาถึงที่พักท่านแจ้งแก่โยมบิดาว่าวันนี้บิณฑบาตได้เพียงข้าวเปล่า
โยมบิดามีน้ำตาลที่กลั่นจากต้นตาล ขนาดเท่าผลสมออยู่ ๔ ก้อน จึงแบ่งกันคนละ ๒ ก้อน
ท่านฉันน้ำตาลกับข้าวสุกไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลหมดไป ๑ ก้อนครึ่ง
ก็มีเสียงโยมเรียกจากริมป่าช้า ขอให้ท่านช่วยบอกทางเข้าไปพบ
ปรากฏว่าเป็นโยมผู้หญิง ๒ คน โยมผู้ชาย ๑ คน ได้นำอาหารและเครื่องไทยทานมาถวายหลายอย่าง

“เมื่อเช้านี้พระคุณเจ้าออกบิณฑบาตตามถนนในบ้าน แลเห็นพระคุณเจ้าอยู่
ตักบาตรไม่ทัน คิดว่าจะนิมนต์ขึ้นฉันในบ้านก็ไม่ทันอีก
บ้านดิฉันทำบุญเลี้ยงพระ จึงได้แบ่งอาหารเครื่องไทยทานมาถวายทางป่านี้อีก”


ท่านจึงได้ฉันอาหารที่พวกเขานำมาถวาย แล้วจึงให้ศีลให้พรแก่โยมทั้งสามนั้น
หลวงปู่ได้กล่าวถึงเรื่องราวในครั้งนี้ว่า
“นี่แหละหนอที่ท่านว่าผู้มีศีลมีความสุข ผู้มีศีลมีโภคทรัพย์สมบัติ ผู้มีศีลไปนิพพานได้”


หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของสงฆ์ผู้เคารพต่อพระวินัย
ยอมอดทนลำบากแต่ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจกิเลสตัณหา
พากเพียรปฏิบัติภาวนาเพื่อความหลุดพ้นจากวัฏสังสาร
เป็นพระสุปฏิปัณโณผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชาโดยแท้จริง


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18524&sid=c4aa1126f88928e75b49d6868e15f897

Top