ประวัติ หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม - วัดป่าสีห์พนมประชาคม ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร - webpra

หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม

ประวัติ วัดป่าสีห์พนมประชาคม ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

 

ประวัติและปฏิปทา  หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม   วัดป่าสีห์พนมประชาคม  ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา 
หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม 

วัดป่าสีห์พนมประชาคม 
ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร 


“หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม” ท่านถือกำเนิดตรงกับวันจันทร์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๑ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง ณ บ้านขาม ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บิดาท่านชื่อ นายเข่ง ธิอัมพร มารดาท่านชื่อ นางชาดา ธิอัมพร สำหรับบิดาของหลวงปู่บุญมาภายหลังได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง มีชื่อและฉายาตามพระพุทธศาสนาว่า “หลวงปู่เข่ง โฆสธัมโม” ขณะนั้นหลวงปู่บุญมาได้พรรษาที่ ๑๐ แล้ว จากนั้นจึงได้ออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ และบั้นปลายชีวิตหลวงปู่เข่ง ท่านได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่บุญมา ที่วัดป่าสีห์พนมประชาคม จ.สกลนคร และได้มรณภาพลงเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.๒๕๓๗ ขณะมีอายุได้ ๙๐ ปี พรรษา ๓๓

ชีวิตในวัยเด็กของหลวงปู่บุญมา ท่านได้เรียนจนจบชั้นประถมบริบูรณ์ แล้วได้ออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา เมื่ออายุได้ ๑๗-๑๘ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาธรรมอยู่ได้ ๑ พรรษา ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘) หลังจากสึกออกมาช่วยบิดามารดาทำนานั้น ในใจท่านก็คิดเสมอว่า “ถ้ามีโอกาสเมื่อไร ก็จะรักษาศีลอุโบสถเมื่อนั้น” ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จนเป็นที่เลื่องลือของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า ทำไมเด็กหนุ่มนี้จึงมีอุปนิสัยแตกต่างจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่หันเหมาทางพระพุทธศาสนา เข้าวัดเข้าวารักษาศีลอุโบสถเหมือนคนเฒ่าคนแก่ 

หลวงปู่บุญมาท่านได้เล่าถึงชีวิตเมื่อวัยหนุ่มว่า “เมื่อเข้าหาครูบาอาจารย์ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ในเรื่องอานิสงส์ในการรักษาศีล ๕ และทุกข์โทษของการละเมิดผิดศีลผิดธรรมเป็นอย่างไร ก็นำมาพิจารณา และครั้นเวลาครูบาอาจารย์ชวนไปวิเวก ฝึกสมาธิ ศึกษาธรรมะ ก็สนใจปฏิบัติตาม ทำให้จิตเกิดความสงบเยือกเย็น” นับว่าท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีที่ส่อแววให้เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ

หลวงปู่บุญมาเล่าถึงสมัยชีวิตฆราวาส ได้พิจารณาความตายถึง ๓ วาระ สมัยท่านเป็นฆราวาสได้แต่งงานมีเหย้ามีเรือน ใช้ชีวิตตามวิถีชาวโลก จนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน เหตุการณ์หลังจากนั้นวาสนาบารมีทางธรรมท่านได้ใกล้เข้ามา จึงดลบันดาลให้เหตุการณ์กระทบอารมณ์ เป็นทุกข์อย่างหนักทางโลก ปีแรก น้องสาวท่านตาย ปีที่สองมารดาก็มาตายอีก หลวงปู่บุญมาท่านเล่าว่าตอนนั้น จิตของท่านเกิดธรรมะ ได้คิดว่า “ความตายมันได้ใกล้เข้ามาหาเรา...ถ้าเราอยู่ต่อไป ไม่กี่วันก็คงตาย ถ้าจะตาย ขอให้ไปส่งความดีก่อนตาย เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งในอนาคต” เป็นทางออกที่ดีที่สุด ก่อนความตายจะมาถึง แต่ไม่ทันที่ท่านจะได้ออกบำเพ็ญความดีตามที่ท่านตั้งใจไว้ พายุโลกโหมกระหน่ำซ้ำเติมซ้ำสามในระยะเวลาไม่นาน ภรรยาท่านก็มาเสียชีวิตลง “ทุกข์เกิดขึ้น” เป็นทุกข์ที่ทำให้ท่านต้องตั้งคำถาม และพิจารณาปัญหาต่อไปว่า “ลูกที่่เกิดมา จะทำอย่างไร ใครจะเลี้ยงลูก”

แล้วท่านก็พิจารณาเรื่องลูกว่า “ถึงแม้ว่าแม่จะตาย พ่อก็ยังอยู่ เด็กบางรายเกิดมาไม่กี่วันก็ตาย บางคนเดินได้ วิ่งได้ แล้วก็มาตาย แล้วแต่บุญวาสนาของแต่ละคน ไม่ถึงวันตายก็ไม่ตาย ถ้าจะให้ทานลูกแก่ผู้ต้องการ ลูกก็คงเติบใหญ่ขึ้นได้ด้วยบุญวาสนาบารมีของตนเองที่สร้างสมมาแต่ปางก่อน” ท่านคิดได้อย่างนี้ จึงยกลูกให้แก่พ่อตา แม่ยาย เป็นผู้เลี้ยงดู และตัดสินใจออกบวช ช่วงนั้นประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ระหว่างช่วงจัดงานศพให้ภรรยาท่านนั้น ได้นิมนต์ หลวงปู่สิงห์ สหธัมโม ไปสวดบังสุกุล หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์ผู้ที่ให้ธรรมะแนะนำการปฏิบัติแก่ท่านอยู่ก่อนแล้ว ได้ถามท่านว่า “จะบวชไหม” ซึ่งท่านก็ตอบหลวงปู่สิงห์ไปว่า “บวชแน่นอนครับ” หลังจากจัดการงานศพของภรรยาเสร็จ ท่านก็ลาบิดา พ่อตา แม่ยาย เข้าไปวัดพระธาตุฝุ่น ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เพื่อรอบวชในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ 

ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ เวลา ๑๔.๑๕ น. ขณะอายุได้ ๒๔ ปี ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูสมุห์สวัสดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “คัมภีรธัมโม” ซึ่งแปลว่า ผู้มีธรรมอันลึกซึ้ง

เมื่ออุปสมบทแล้วเสร็จ ท่านได้ไปอยู่จำพรรษาศึกษาข้อวัตรปฏิปทากับหลวงปู่สิงห์ สหธัมโม วัดพระธาตุฝุ่น จ.สกลนคร ในพรรษาแรก หลวงปู่สิงห์ได้ให้ท่านฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาขนานใหญ่ ขนาดยอมอดนอน ไม่ยอมหลับในตอนกลางคืน ช่วงเข้าพรรษาตลอด ๓ เดือน พระเณรที่อยู่ด้วยต้องยืน เดิน นั่ง ๓ อิริยาบถตลอดทั้งคืน ห้ามนอนเวลากลางคืน จึงทำให้ได้รับผลจากการภาวนามากตลอดพรรษา

พอพรรษาที่ ๒ พระบุญมา จิตท่านเกิดฟุ้งซ่านอยากจะสึก ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สิงห์ สหธัมโม จึงได้ให้ท่านไปหาหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งขณะนั้นท่านอยู่ที่ถ้ำค้อ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ห่างจากวัดถ้ำฝุ่นไป ๒๐-๓๐ กิโลเมตร เมื่อไปถึงถ้ำค้อ ที่หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านพำนักจำพรรษาอยู่ พระบุญมาได้เข้าไปกราบคารวะ หลวงปู่ขาวจึงได้พูดขึ้นว่า “ทำไมถึงอยากสึก แยกจิตออกนอกทำไม” พระบุญมาท่านยังไม่ทันตอบ หลวงปู่ขาวก็พูดต่อไปอีกว่า “ออกก็ออกมาจากที่นั่น จะเข้าไปที่เดิม มันถูกรึ” หลวงปู่ขาวท่านรู้วาระจิต จากนั้นก็อบรมสั่งสอนให้ท่านอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่กับช้าง กับเสือ กับผีสาง เป็นการให้มีสติอยู่กับตนไป ไม่ให้ฟุ้งซ่านส่งจิตออกไปไหน” หลวงปู่บุญมา ท่านเล่าว่า “ช่วงนี้กลัวมาก ถึงสวดมนต์อย่างไรก็กลัว กลัวตาย ช่วงที่อยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาตามคำสอนขององค์ท่าน ปรากฏผลดีมาก จิตใจสบาย วิเวกดี จิตไม่ปรุงแต่งอะไร ไม่ออกไปสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างครอบครัวอีก เพราะกลัวตาย คนกลัวตายต้องหาที่พึ่ง ถ้าได้ที่พึ่งทางจิตแล้วสบาย ไม่กลัวตายต่อไปอีกแล้ว”

ครั้นออกพรรษาได้จาริกธุดงค์เข้ากราบรับข้ออรรถข้อธรรมจากพระเถระผู้ใหญ่ ศิษย์ในองค์หลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต หลายองค์ อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู, หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย และหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี เป็นต้น และได้จาริกธุดงค์ร่วมกันกับ หลวงปู่คำบุ ธัมมธโร ซึ่งเป็นพระอาจารย์รูปสำคัญของท่าน ออกวิเวกตามสถานที่ต่างๆ ไปยังป่าช้าง ป่าเสือ ฝึกจิตตามป่าตามเขาโถงถ้ำ ไปในที่ๆ ขึ้นชื่อว่าอาถรรพณ์ผีดุ เปลี่ยนที่จำพรรษาไปเรื่อยๆ ไม่ติดถิ่น ทั้งที่กันดารห่างไกลจากบ้านจากเรือนสลับกับการไปฝึกอบรมยังสำนักของพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๙ พรรษา

เริ่มจำพรรษาที่ วัดป่าสีห์พนมประชาคม บ้านหนองกุง ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ในพรรษาที่ ๒๐ เป็นพรรษาแรก ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๑๔ จากนั้นจึงออกจาริกธุดงค์ไปจำพรรษาในที่ต่างๆ แล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ หลวงปู่บุญมาท่านก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าสีห์พนมประชาคม มาโดยตลอดจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

 

หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม กับ หลวงปู่ล้วน จันทสาโร  ในพิธีสรงน้ำและขอขมาสรีระสังขารหลวงปู่จาม มหาปุญโญ  ณ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม กับ หลวงปู่ล้วน จันทสาโร 
ในพิธีสรงน้ำและขอขมาสรีระสังขารหลวงปู่จาม มหาปุญโญ 
ณ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

 

หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม

หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม

 

หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม สอนกรรมฐาน 

“...เรื่องการกระทำบำเพ็ญ เราก็คงจะพอเข้าใจกันบ้างแล้ว มีแต่พวกเราจะทำให้มันมาก เจริญให้มันยิ่งขึ้นไป ให้มันได้รับผลของการปฏิบัติ การปฏิบัตินี่ส่วนมากจิตใจของพวกเรา หรือว่าจิตใจของครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ที่ท่านได้ปฏิบัติมาก่อนพวกเรา มันก็เป็นของทำได้ยากอยู่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะมันต้องได้ฝืนธรรมดา ฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติจิตใจมันชอบจะไหลลงไปทางต่ำเสมอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝ่าฝืน 

ทีนี้ข้อวัตรปฏิบัติที่เราได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ เราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่ว่าอาจารย์รูปนี้สอนอย่างนี้ อาจารย์รูปใหม่สอนอีกอย่าง เราก็เปลี่ยนไปอีก มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน ต้องจับให้มันมั่น ทำอะไรทำให้มันจริงมันจัง เมื่อเราทำจริง ปฏิบัติจริง มันก็จะได้เห็นของจริง มันก็รู้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริง มันก็เห็นไม่จริง มันก็ไม่รู้จริง 

เมื่อเราปฏิบัติได้แล้ว ทีนี้มันเป็นของใคร มันก็เป็นของเรา เป็นที่พึ่งของเราโดยตรง และเป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุด คือพึ่งตัวเรา ตัวของเราผู้ซึ่งเป็นคนปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไป บางคนจิตใจคงเคยได้รับความสงบเข้าไปบ้าง แต่บางคนก็อาจจะยังไม่เคยสงบ ยังไม่เคยได้รับผล แต่อย่าไปสงสัย อย่าไปน้อยใจว่าเราปฏิบัติไปจะไม่ได้รับผล ต้องได้รับผลแน่นอนตามเหตุ ตามปัจจัย ทำน้อยได้รับผลน้อย ทำมากได้รับผลมาก จนกว่ามันจะรู้จะเห็นเป็นไปของเรา ความเป็นไป ความได้มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ในจิต คือ ตัวสติ ตัวรู้ คือความรู้นี่ฟื้นฟูดวงรู้นี่ขึ้นมา ดวงรู้นี่คือดวงใจของเรามีทุกคน แต่ว่ามันรู้อยู่แต่มันไม่เต็มภูมิ เปรียบประมาประมัยเหมือนกับพระจันทร์ข้างขึ้น-ข้างแรม ที่มันยังเว้ายังแหว่งอยู่ มันไม่เต็มภูมิ

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาศึกษาปฏิบัติ มารักษาตัวสติให้มันติดต่อ ให้มันต่อเนื่องกัน บำรุงตัวสติให้มันเด่นดวงขึ้นมา คือ ตัวรู้ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ปัญญามันก็จะตามมา เพราะปัญญากับสติมันอยู่ด้วยกัน มีสติรู้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่เราปฏิบัติอยู่ บางคนก็กำหนดลมหายใจ หรือกำหนดคำบริกรรม หรือกำหนดที่ใดที่หนึ่ง เมื่อเรากำหนดอยู่ที่จุดใด ก็กำหนดให้มันอยู่ที่จุดนั้น เมื่อเวลาจิตมันแว่บไปก็ให้มันรู้ มันอยู่ก็ให้มันรู้ หรือมันฟุ้งซ่านก็ให้มันรู้ ให้ฝึกตัวรู้นี่ก่อน เหมือนกับเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ เมื่อมันเกิดมาใหม่ ก็ต้องฝึกนั่ง แล้วก็มาฝึกยืน เมื่อยืนมั่นคงแข็งแรงแล้วค่อยก้าวออกไป ถ้ามันไม่แข็งแรงก้าวออกไปมันก็จะล้ม

ต้องฝึกอบรมตัวสติ ฝึกไป ฝึกไป ทำไป ทำไป เว้นไว้แต่หลับ เมื่อนานๆ ไป เมื่อจิตมันอยู่เป็นสมาธิ เราบริกรรมพุทโธ พุทโธไป บริกรรมไป บริกรรมไป จนจิตมันวางคำบริกรรม มันจะวางพุทโธ เมื่อมันวางพุทโธแล้วจิตมันจะนิ่ง เมื่อมันนิ่งเข้าไปแล้ว ทีนี้มันจะเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เมื่อมันเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เราก็กำหนดรู้อยู่นั่นแหละ ประคับประคองดวงรู้ให้มันเด่นดวงอยู่นั่นแหละ ถ้าอยู่ได้นานก็ยิ่งดีเมื่อฝึกครั้งแรก

จับหลักสมาธิตัวนี้ให้มันมั่นคงก่อน เมื่อสมาธิตัวนี้มันมั่นคงแล้ว ทีนี้อันดับต่อไปเราจะได้ค้นคว้าพิจารณาร่างกายนี่แหละ ถ้าสมาธิดีแล้ว ดูกายแยกออกไปว่า ในร่างกายนี้มีอะไรบ้าง ร่างกายนี้มีรูป รูปคือขันธ์ มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ นี่ท่านเรียกว่าขันธ์ ๕...ขันธ์ แปลว่าผูก แปลว่ามัด แปลว่าถ่วง แปลว่าดึง แปลว่าทับ มันจึงหนัก มาพิจารณาแยกแยะออกจากรูปอันนี้ ร่างกายนี้มีอะไรบ้างอยู่ในรูปนี้ มันมีธาตุทั้ง ๔ มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม ประชุมกันอยู่นี่ ธาตุดิน มีขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นต้น ธาตุเหล่านี้คือธาตุดิน...ธาตุน้ำ มีน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร นี่เป็นธาตุน้ำ...ธาตุไฟ ไฟยังกายให้อบอุ่น ไฟยังกายให้ทรุดโทรม ไฟยังกายให้กระวนกระวาน ไฟเผาอาหารให้ย่อย...ธาตุลม ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รวมทั้ง ๔ ธาตุที่มาประชุมกันเป็นก้อนสกนธ์กายขึ้นมา เรียกว่าสัตว์ เรียกว่าบุคคล เมื่อมันแตกออกจากกันแล้ว ดินไปสู่ดิน น้ำลงไปสู่น้ำ ไฟไปสู่ไฟ ลมไปสู่ลม เมื่อมันแตกออกจากกันแล้วก็ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีรูปร่าง มีแต่ดวงรู้ ทีนี้ร่างกายมันแตกเป็น มันแปรปรวนเป็น ร่างกายนี่มันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเป็นอนัตตา มันแปรปรวน เปลี่ยแปลง มันไม่เที่ยง

สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งใดเป็นทุกข์ ตรงนี้จำเอาไว้ให้ดีว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตน" ถ้ามีแต่ตนของตนล้วนๆ อยู่แล้ว มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น มันไม่มีสุข มันไม่มีทุกข์ มันไม่มีร้อน มันไม่มีหนาว มันไม่มีมืด มันไม่มีสว่าง ถ้าเข้าไปถึงดวงใจจริงๆ นั่นล่ะ มันเป็นอย่างนี้ แต่นี่เรามันหลง หลงมายึดกาย กายนี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสุข พาให้เกิดทุกข์ พาให้ร้อน พาให้หนาว พาให้เย็น พาให้วุ่นวาย พาให้เจ็บนั่นเจ็บนี่ ปวดนั่นปวดนี่ เพราะกายนี่ ถ้ามีแต่จิตล้วนๆ มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น ทีนี้จิตเรามายึดกาย ตรงนี้แหละทำให้เกิดทุกข์ เกิดเวทนา เวทนา ก็มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ทำให้เกิดราคะตัณหา เกิดโทสะ เกิดโมหะ เกิดอวิชชาตัณหา เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง โกรธเพราะมันมีกาย ถ้าไม่มีกายมันก็จะไม่มีอะไร

เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติค้นคว้า มาดูกาย แยกแยะถอนจิตออกจากกาย ทำลายกายออกจากจิต แยกเป็นส่วนๆ อย่างอาการ ๓๒ แยกเอาผมมากองไว้ที่หนึ่ง เอาขนมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเล็บมากองไว้ที่หนึ่ง เอาฟันมากองไว้ที่หนึ่ง เอาหนังมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเนื้อมากองไว้ที่หนึ่ง เอากระดูกมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับมากองไว้ที่หนึ่ง เอาไตมากองไว้ที่หนึ่ง เอาม้ามมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเอ็นมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับไตไส้พุงเอาไปแยกเป็นกองๆ ไว้ อาการ ๓๒ นี้ ทั้งน้ำ น้ำดีก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเสลดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเหลืองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำหนองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเลือดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง กองให้มันเรี่ยรายออกไป แล้วเราก็ดูกำหนดไปแต่ละอย่างๆ พอกระจายออกไปแล้วทีนี้ก็เอารวมเข้ามาอีก แล้วก็แยกกระจายออกไปอีก เล่นอยู่อย่างนั้นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ 

เมื่อจิตมันทำได้อยู่อย่างนี้ ก็แปลว่า จิตของเราก็เป็นสมาธิอยู่โดยปริยาย พิจารณาอยู่อย่างนี้มันก็เป็นสมาธิอยู่กับการที่เราพิจารณานี้ นี่ท่านเรียกว่า ใช้ปัญญาพิจารณา เมื่อเราพิจารณาดูกายของเราได้ชัดเจนแล้ว ทีนี้ของภายนอกก็อย่างเดียวกัน สัตว์ก็อย่างเดียวกัน ต้นไม้ก็อย่างเดียวกัน ภูเขาก็อย่างเดียวกัน เพราะมันเป็นวัตถุอย่างเดียวกัน มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีแปรปรวนในท่ามกลาง และมีแตกสลายในที่สุด มันเป็นอยู่อย่างนั้น ให้ยกขึ้นมาพิจารณาให้จิตมันรู้ ให้มันเห็น ให้จิตมันถอนออก ไม่ให้จิตมันหลง หลงรัก หลงชัง ไม่ให้จิตมันหลงยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ แยกแยะดูกาย วันนี้ก็ดู วันหน้าก็ดู ดูมันอยู่นั่นแหละ จนให้จิตมันถอนออกหรือคลายออก อันนั้นมันจะเป็นไปของมันเอง เมื่อมันรู้แล้วมันจะวางของมันเอง วางตรงไหน รู้ตรงไหน เห็นว่าไม่ใช่เรา เห็นว่าไม่ใช่ตน เห็นว่ามันเป็นดิน เห็นว่ามันเป็นน้ำ เห็นว่ามันเป็นไฟ เห็นว่ามันเป็นลม เห็นมันเป็นอาการ ๓๒ อยู่เฉยๆ มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ดูมันอยู่นั่นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ ให้มันเร็วขึ้น พอเห็นรูปปั๊บ ถ้ามันเห็นเกิดความสวยงามขึ้นมา เราก็กำหนดเข้ามา เข้ามาดูกายของเรา เมื่อดูกายของเรามันเห็นอย่างเดิม ที่เราได้พิจารณาค้นคว้าอยู่แล้ว มันก็จะหายจากความกำหนัดยินดีในรูป

ดูภายนอกและก็ดูภายใน ภายนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ เถาวัลย์ ภายในก็คือ ร่างกายของเรา มันก็อย่างเดียวกัน ถ้ามันแจ้งภายใน มันก็แจ้งภายนอก เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติให้รู้แจ้งโลก โลกนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ โลกในก็คือ ร่างกายของเราและจิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรายังยึดมั่นถือมั่นร่างกายนี่อยู่ว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่มันก็ยังเป็นโลกอยู่ มันยังไม่เป็นธรรม ถ้ามันถอนออกมาว่า จิตเป็นจิต กายเป็นกาย มันก็จะถอนออกมาจากโลก มันถึงจะเป็นธรรมตรงนี้ ตรงที่มันถอนออกมา ธรรมคือตัวรู้ ตัวรู้คือดวงใจของเรา พอมันแยกออกมาเป็นตนของตนแล้ว ศีลก็อยู่ที่นี่ อันเดียวกันนี่ที่ดวงใจของเรานี่ ดวงใจคือดวงรู้ของเรานี่ สมาธิก็คือดวงรู้ ปัญญาก็คือดวงรู้ นิโรธะ คือ ความดับทุกข์ มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ศีล-สมาธิ-ปัญญา ก็คืออันเดียวกันอันเดิมนี่ล่ะ สรุปแล้วมารวมอยู่จุดเดียวคือ "ดวงใจ" อะไรๆ อยู่ที่นี่ เกิดขึ้นที่นี่ ดับลงที่นี่ รักก็เกิดที่นี่ ชังก็เกิดที่นี่ โกรธก็เกิดที่นี่ โลภก็เกิดที่นี่ หลงก็อยู่ที่นี่ มันรวมอยู่ที่จิต ถ้าจิตเรารู้เแล้วก็พยายามบำรุงตัวรู้ ตัวสติให้มันเด่นขึ้นมา เมื่อตัวรู้ ตัวสติมันเด่นขึ้นมา ความไม่รู้-ความหลงคืออะไร ความไม่รู้-ความหลงก็คือตัวอวิชชา ตัวอวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้นี่แหละมันพาให้เราเกิด มันพาให้เราแก่ มันพาให้เราเจ็บ มันพาให้เราตายอยู่ในโลกนี้...ท่านจึงว่า "อวิชชา ปัจจยาสังขารา" เมื่อมันมีอวิชชาคือความไม่รู้นี่มันพาให้เกิดเป็นสังขาราขึ้นมา ถ้ามันรู้แล้วมันจะมีอะไรพาให้เกิดขึ้นมา เมื่อมันรู้แล้วมันไม่หลงแล้ว ความหลงก็คือความมืด ถ้าความมืดความหลงมันตกไปหมดของเราแล้ว มันก็ไม่กลับมามืดไม่กลับมาหลงอีก มันก็จบแล้วที่นี่จะให้มันเป็นอะไรอีก

กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ รูปเป็นรูป เวทนาก็เป็นเวทนา สัญญาเป็นสัญญา สังขารเป็นสังขาร วิญญาณก็เป็นวิญญาณ จิตก็เป็นจิต ไม่ได้เป็นอะไรมันก็จบ 

วาสนาคือการกระทำ มันไม่มีทำให้มันมีได้ มันมีน้อยทำให้มันมีมากได้ ทำไป ทำไป มันก็เต็มของมันเอง เหมือนกับเราทานอาหาร ทานเข้าไป ทานเข้าไป เมื่อมันอิ่มแล้ว มันก็หยุดของมันเอง

ของดีวิเศษที่สุดในโลก ก็คือจิตใจของเรา จิตใจของเราแต่ละรายๆ มันไม่ได้อยู่ที่อื่นนะ ของดีของวิเศษนี่มันอยู่ที่ดวงใจของเรา อย่าดูถูกดูหมิ่นตัวเองว่า บุญน้อย วาสนาน้อย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่วาสนาของเราที่จะมาปฏิบัติ โยนให้พระอริยเจ้า พระอริยเจ้ามีอยู่ที่ใด พระอริยเจ้าก็แปลว่าประเสริฐ พระอริยเจ้าที่ท่านรู้ ท่านรู้อะไร ท่านก็รู้ทุกข์ แล้วทุกข์มันไม่มีกับเราหรือไง มันก็มี เพราะฉะนั้นทำไมเราจะรู้ไม่ได้ ทีนี้ทุกข์อันใดก็สมุทัยอันนั้น สมุทัยอันใดก็นิโรธอันนั้น มันอยู่ที่เดียวกัน นิโรธก็คือความดับทุกข์ มันเกิดได้ มันก็ดับได้ ทุกข์มันเกิดที่ไหน ทุกข์มันเกิดที่จิต มันก็ต้องดับที่จิต และเราจะไปหาของดีที่ไหน มันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เอากันเท่านั้น

ให้เข้าไปหาความสุขที่แท้จริง มันอยู่ในดวงใจของเรา อันนี้เป็นสุขแท้ๆ หาที่เปรียบไม่ได้ คือนั่งก็เป็นสุข เดินก็เป็นสุข ยืนก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็เป็นสุข ถ้าใครเข้าไปถึงแล้ว พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าพากันปฏิบัติมันก็จะได้ สุขหนอ สุขหนอ เหมือนกันนั่นล่ะ...”


นิตยสารโลกทิพย์ ฉบับ ๒๘๒ ปีที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ๒๕๓๗ 
จัดทำขึ้นโดย คุณคะนอง เนินอุไร (คุณอานนท์ เนินอุไร)

แหล่งที่มา นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

 

Top