ประวัติ หลวงปู่ทองมา ถาวโร - วัดสว่างท่าสี ต.เกาะแก้ว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด - webpra

หลวงปู่ทองมา ถาวโร

ประวัติ วัดสว่างท่าสี ต.เกาะแก้ว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

 

หลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างท่าสี เกาะแก้ว เสลภูมิ ร้อยเอ็ด

หลวงปู่ทองมา ถาวโร


ประวัติ

หลวงปู่ทองมา ถาวโร เกิดเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๔๓ ปีชวด ที่บ้านท่าสี ตำบลท่าสี อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ นายแก่นท้าว มารดาชื่อนางหา ภูมิวัล เป็นตระกูลที่มั่งคั่งในละแวกนั้น โยมบิดามารดาของท่านเป็นชาวลาวเกิดที่หลวงพระบาง ได้อพยพกันมาตั้งรกรากที่บ้านท่าสี ในวัยเด็กท่านได้ติดตามพระเณรไปอยู่วัดเสมอ เพราะต้องการศึกษาคาถากันผีตามประสาเด็ก 


การศึกษา
จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านเป็นคนเรียนเก่งและอ่อนน้อมถ่อมตน กิริยามารยาทเรียบร้อยและไม่เคยเอาเปรียบเพื่อนฝูงทำให้เพื่อนฝูงรักใคร่กันทุกคน จนกระทั่งอายุได้ ๑๕ ปี ท่านจึงถูกทาบทามให้เป็นครูชั่วคราว ที่โรงเรียนบ้านเชียงใหม่ ทำการสอนได้ ๓ เดือนจึงมีครูใหม่มาสอนแทน หลังจากนั้นท่านได้บรรพชา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๕๙ โดยมีพระอธิการคำแห่งบ้านงิ้วโพธิ์ อำเภอธวัชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ และจำพรรษา ณ วัดสว่างท่าสี ท่านมีความสนใจหนังสือจารใบลานที่ผูกเป็นมัดๆ เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นบทสวดมนต์เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือนิทานพื้นบ้าน และมีวิชาคาถาอาคมบ้าง ท่านได้เรียนบุพพสิกขาวรรณา สวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง สวดมนต์ใหญ่ เรียนตัวธรรม เรียนเทศน์พระเวสสันดรทำนองอีสานจนสามารถเทศน์ได้ทุกกัณฑ์ เมื่อครบ ๓ ปี ที่วัดสว่างท่าสี ท่านจึงย้ายสำนักไปเรียนมูลกัจจายน์ จากพระอาจารย์คำภา ที่วัดบ้านใผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพระเณรนิยมเรียนกันมากในสมัยนั้น เพราะถือว่าเป็นของสำคัญเรียกว่าธรรมะชั้นสูง ถ้าใครเรียนสำเร็จจะมีความรู้แตกฉานมากเพราะเป็นการเรียนภาษาบาลีล้วนๆ กับพระอาจารย์คำภา ๑ ปี จึงได้ลากลับและบวชเป็นพระในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ณ พัทธสีมาวัดท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ โดยมีพระสีลาจารวิสุทธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพักอยู่วัดสว่างท่าศรี ได้เพียง ๖ วัน แล้วกลับไปยังอุบลราชธานีอีกครั้ง เพื่อเรียนแปลธรรมบทมงคลทีปนี กับพระอาจารย์มหาพันธ์ ที่วัดท่าศาลา อำเภอเขื่องใน เป็นเวลา ๒ พรรษา จึงย้ายไปเรียนที่วัดทุ่งศรีเมือง เพื่อเรียนวิปัสสนากรรมฐาน กับพระครูมหาสมณาจารย์ได้ ๓ เดือน จึงกราบลาอาจารย์ผู้สอนออกเดินธุดงค์ หลวงพ่อทองมาผ่านการธุดงค์มาอย่างโชกโชน ถึง ๖ ประเทศคือ ไทย ลาว เขมร เวียดนาม พม่าและอินเดีย ท่านได้ผ่านอุปสรรคนานับประการโดยที่ท่านมีเพียง "ธรรมาวุธ" เพียงอย่างเดียว ทุกแห่งที่ท่านธุดงค์ผ่าน ท่านจะอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 


เกียรติประวัติและผลงาน
คำสอนจากหลวงปู่ หลวงปู่ทองมาถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของท่าน ซึ่งท่านเน้นหนักไปในทางให้พระพุทธศาสนิกชน เคร่งครัดไปในทางถือศีลซึ่งแปลว่าปาติ คือการรักษากาย วาจา ใจของตนให้เป็นอยู่อย่างปกติ ไม่ให้มีความผิดแปลกไปจากความเป็นมนุษย์ได้อย่างปกติ โดยเฉพาะศีล ๕ ถ้าใครรักษาหรือนับถือไม่ได้ ก็เท่ากับนิ้วมือของเราที่มีอยู่ ๕ นิ้ว ถ้าขาดหายไปนิ้วหนึ่งมันก็ไม่ปกติ จะทำอะไรก็ไม่เป็นสุข ผู้รักษาศีลให้สะอาดหมดจดดี ต้องปฏิบัติธรรม ๒ ข้อเสียก่อนคือ หิริ และโอตตัปปะ ส่วนการสมาทานศีลนั้นเราจะสมาทานเองก็ได้ จะไปสมาทานกับพระก็ได้ หรือสมาทานจากสามเณรก็ได้ ทั้งนี้อยู่ที่เราตั้งใจทำให้ถูกต้องเท่านั้น เมื่อศีลเกิดมีขึ้นที่ตัวเรา เราก็เกิดความอิ่มใจ เมื่ออิ่มใจด้วยศีล ใจก็สงบ เมื่อใจสงบ ความสบายก็เกิดขึ้นที่ใจ อีกข้อหนึ่งที่ท่านเทศน์อยู่เสมอคืออย่าให้มีความโลภเกิดขึ้นในสันดานของตนเพราะความโลภคิดอยากได้ของผู้อื่นนั้น เป็นความคิดที่ผิดจะไม่มีมิตรคบค้าสมาคมด้วย และความโลภนี้จะนำท่านไปสู่ความหายนะ นอกจากนี้ท่านยังมีคติธรรมคำกลอนบทหนึ่งที่ว่า 
"มัวรื่นเริงสรวลสันต์กันทำไม เมื่อเปลวไฟกำลังไหม้โลกนี้อยู่ 
ความมืดปกคลุมท่านไม่ทันดู ใยไม่รู้หาโคมไฟไว้ส่องทาง"
อันหมายถึงให้พุทธศาสนิกชนตั้งหน้าปฏิบัติธรรม และหาธรรมะไว้ส่องทางเทวโลกหรือพระนิพพาน ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า "จงยอมโง่ในเรื่องโลกีย์ แต่ให้เข้าใจดีในเรื่องโลกุตตระ" 

หลวงปู่ทองมานับว่าท่านเป็นพระผู้เป็นเนื้อนาบุญของชาวพุทธจริงๆ เพราะท่านเป็นผู้มีคุณธรรมเป็นเลิศ จนชาวบ้านต่างขนานนามให้ท่านว่าเป็น "พระนักบุญแห่งภาคอีสาน" เพราะท่านเป็นผู้ให้ตลอดกาล ไม่ว่าใครจะมีความทุกข์ร้อนใจอย่างไร เมื่อท่านมาหาท่านจะปัดเป่าความอัปมงคล และความเศร้าหมองให้สิ้นไปทุกคน โดยเฉพาะในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ท่านเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นหมอของหมู่บ้าน ในด้านการศึกษาของเยาวชน ท่านได้ช่วยหาทุนทรัพย์ให้บุตรหลานของชาวบ้านได้เข้าศึกษาทั้งในหมู่บ้านและตัวเมือง พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่กับท่านต่างก็ได้รับการส่งเสริมในด้านการศึกษา ในทางปริยัติธรรม และได้ไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ท่านยังพัฒนาถนนหนทาง ตลอดจนแหล่งน้ำให้กับชาวบ้านอีกด้วย ส่วนการพัฒนาวัดสว่างท่าศรี ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญ สร้างอุโบสถ สร้างพระธาตุพนมจำลอง เป็นต้น และวัดอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วัดป่าเมตตาธรรม วัดป่าสักดาราม วัดป่าท่าม่วง วัดป่าหวาย ฯลฯ

หลวงปู่ทองมา ถาวโร มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ รวมอายุได้ ๙๑ ปี พรรษา ๗๑ และพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๕

Top