หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต
ประวัติ วัดป่าอัมพวัน อำเภอเมือง จังหวัดเลย
๏ อัตโนประวัติ
“หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าอัมพวัน ต.น้ำหมาน อ.เมือง จ.เลย เป็นพระมหาเถระสายปฏิบัติที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นพระนักพัฒนา และเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเชื่อในตัวเอง และรับฟังครูบาอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนนั้นด้วยความศรัทธายิ่ง ทำให้เป็นที่นับถือศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนในจังหวัดเลยและใกล้เคียงเป็นอัน มาก
ครูบาอาจารย์ศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่หลวงปู่ซามาเคยได้อยู่ปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากรับใช้อย่างใกล้ชิดด้วย เสมอๆ เช่น หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย, หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร, หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย เป็นต้น
หลวงปู่ซามา มีนามเดิมว่า ซามา สินทอน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๗ ตรงกับขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง ณ บ้านดอนแขม ต.บางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายลุย และนางบุญ สินทอน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่
๏ การอุปสมบท
ท่านอยู่ช่วยเหลือโยมบิดา-โยมมารดาทำงานบนท้องนา จนเป็นหนุ่มใหญ่ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในครั้งแรก ต่อมาได้ลาสิกขาออกไปช่วยบิดามารดาทำนาทำไร่ต่อไปอีก เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณของท่าน
ครั้นหมดภาระหน้าที่ของตน เพราะได้ทำงานหาเงินพอที่โยมบิดา-โยมมารดาไม่ลำบากแล้ว ท่านก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ที่วัดข้างๆ บ้าน คราวนี้อยู่ได้ถึง ๔ พรรษา แต่เป็นฝ่ายมหานิกาย สมัยนั้นการควบคุมดูแลยังไม่ทั่วถึง จึงเป็นเหตุให้พระสงฆ์หย่อนยานทางพระธรรมวินัยมาก คือพระธรรมวินัยสอนอย่างหนึ่ง แต่ผู้บวชปฏิบัติตนไปอีกอย่างหนึ่ง
๏ ฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์
ครั้งแรกได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ว่าเป็นพระผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากและท่านก็เป็นพระธุดงคกรรมฐาน หลวงปู่ซามาจึงอยากฝากตัวเป็นศิษย์ ก่อนจะได้พบกับหลวงปู่มั่น ท่านมีโอกาสได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ถึง ๔ พรรษา
การที่หลวงปู่ซามาออกติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ไปทางภาคหนือนั้น ก็เพื่อหวังสดับรับฟังพระธรรมเทศนาและอุบายธรรมจากหลวงปู่มั่นเท่านั้น โดยคิดว่า “ถ้าพบและได้รับอุบายธรรมแล้วจะปฏิบัติตามนั้น แม้นไม่ได้ธรรมที่ตนจะปฏิบัติก็ขอยอมตาย”
หลวงปู่ซามา มีโอกาสดี ได้เข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แล้วได้รับฟังพระธรรมเทศนาจากท่าน จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า ก็เข้าใจว่า “บัดนี้เราได้มาพบพระดีมีวินัยชอบแล้ว” ท่านจึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์
แต่มีเหตุขัดข้องในเรื่องนิกายอยู่ ท่านจึงต้องให้ขออนุญาตจากพระอุปัชฌาย์องค์เดิม ก็ได้รับอนุญาตด้วยความเต็มใจ พร้อมกับอวยพรให้มีดวงตาเห็นธรรม หลวงปู่ซามาจึงได้มาแปรญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดบ้านเต่าชัยชุมพล ต.บ้านเต่า อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๓ โดยมีท่านพระครูพิศาล (ศรีจันทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์หล้า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อาจุตฺโต”
เมื่อแปรญัตติแล้วเท่ากับเป็นพระบวชใหม่ ท่านหลวงปู่ซามาได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จนเกิดสมาธิขั้น “ฌาน” และได้ติดตามเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ขณะนั้นท่านได้สมาธิแล้ว จึงรีบเร่งการภาวนาเดินจงกรม ตลอดวันตลอดเวลา บางวันอดอาหารเสียเพราะเสียดายเวลาการปฏิบัติธรรม
ต่อมาได้ติดตามหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ไปทางเหนือ และได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อีก ๑ พรรษา รวมทั้ง ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่คำดี ปภาโส นานถึง ๑๐ พรรษา เพราะว่าหลวงปู่ซามาเคยพูดว่า “ได้พระอาจารย์ที่วิเศษ จึงอยู่นานหน่อย” การปฏิบัติธรรมด้วยความดีบริสุทธิ์นั้น หลวงปู่ซามาถือว่า “เป็นกำไรของจิตใจ เราจะได้หมดทุกข์เสียที”
นอกจากนี้แล้ว ท่านเคยได้ร่วมคณะกับพระอาจารย์ใหญ่หลายองค์ ไปเป็นธรรมทูตขอนิมนต์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ให้กลับมาอยู่เพื่อโปรดศรัทธาญาติโยมในจังหวัดเลย แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะหลวงปู่แหวนไม่ยอมกลับ ขออยู่บนดอยแม่ปั๋งดังเดิม หลวงปู่ซามาเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รุ่นเดียวกันกับพระอาจารย์กว่า สุมโน แห่งวัดกลางโนนกู่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
หลวงปู่ซามา ท่านเคยเดินธุดงค์ไปจนถึงประเทศลาว และได้ไปรับข้ออรรถข้อธรรมทางใจอีกเป็นอันมาก ด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญท่านเดินธุดงคกรรมฐานไปในป่าเขาดงเสืออยู่ตลอด เวลา การที่ท่านได้สละกายและใจออกปฏิบัติธรรมกรรมฐานนี้เป็นความสมัครใจของท่าน เอง
เพราะในครั้งแรกที่ได้มีโอกาสพบเห็นพระธุดงคกรรมฐานคือ พระอาจารย์สิงห์, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่อ่อน, หลวงปู่เทสก์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ครั้นเมื่อได้ฟังธรรมะปฏิบัติ ก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า
ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา เพื่อแสวงหาวิโมกขธรรมเกือบทั่วประเทศไทย
ต่อมา หลวงปู่ซามา ได้ไปร่วมผนึกกำลังออกเผยแผ่ธรรมร่วมกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ยังภาคใต้ แม้จะเกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานา ท่านก็มิได้ท้อถอยท้อแท้แต่อย่างใด จนกระทั่งสามารถสร้างความเคารพศรัทธาในพระป่าสายการปฏิบัติ ไม่ว่าท่านจะออกเดินธุดงค์ไปเผยแผ่ธรรม ณ ที่ใด ชาวบ้าน ป่า นา เขา ต่างพากันเลื่อมใสศรัทธาท่าน และพากันเศร้าโศกเสียใจเมื่อท่านเสร็จกิจในการเผยแผ่ธรรม และอำลาจากสถานที่แห่งนั้น แต่ธรรมะที่ได้รับจากท่านก็ยังฝังใจเขาไปตราบนานแสนนาน
๏ มีความเคารพนับถือหลวงปู่ศรีจันทร์
ช่วงหนึ่งท่านมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าอัมพวัน บ้านไร่ม่วง ซึ่งหลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอดิสัยคุณาธาร และเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาส รวมทั้ง เป็นเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต) ท่านได้แต่งตั้งให้หลวงปู่ซามา เป็นเจ้าคณะตำบล
ในบรรดาพระเถระในจังหวัดเลย หลวงปู่ศรีจันทร์ มีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับหลวงปู่ซามาเป็นพิเศษ และหลวงปู่ซามาก็ไปมาหาสู่กับหลวงปู่ศรีจันทร์เป็นประจำ โดยหลวงปู่ซามาจะมีความเคารพนับถือหลวงปู่ศรีจันทร์มาก เมื่อชาวบ้านมาทำบุญและงานมงคลต่างๆ จะนิมนต์หลวงปู่ทั้งสองไปสวดเจริญพระพุทธมนต์ หากมีการฟังธรรม หลวงปู่ศรีจันทร์จะมอบให้หลวงปู่ซามาบรรยายธรรมเทศนา
๏ ธรรมะเป็นเกาะแก้วเกาะขวัญ
หลวงปู่ซามา เคยเล่าเหตุการณ์ตอนหนึ่งให้ฟังว่า “อาตมาเคยใช้กรรมครั้งหนึ่งเกือบตายมาแล้ว คือ รถไปคว่ำ การไปให้รถคว่ำได้นี้ มีพระอาจารย์หลายองค์ มีอาจารย์ท่อน เป็นต้น ความสำคัญมั่นหมายไม่ได้อยู่กับตอนรถคว่ำนั้นหรอก เพราะเป็นเรื่องธรรมดาเชิงขบขันมากกว่า
แต่ความสำคัญในทางธรรมะนี้ซี ทำให้อาตมารู้ซึ้งถึงแก่นใจเลยทีเดียว จึงมาแนะนำญาติโยมว่า ปฏิบัติไปเถิด ธรรมสมาธินี้เมื่อใครได้ปฏิบัติแล้ว แม้เมื่อถึงคราววิบัติธรรมะก็ช่วยได้ ธรรมะเป็นเกาะแก้วเกาะขวัญของพวกเราเป็นอย่างดียิ่ง…เป็นอะไรล่ะ…เป็น พุทธรักษา ธรรมรักษา สังฆ์รักษา รักษาให้พ้นความตายได้จริงๆ ภูมิธรรมเกิดขึ้นมากในช่วงนั้น ขณะเจ็บอยู่นะ อาตมารู้วิธี ตอนที่เราจะตายควรไปฝากชีวิตกับใคร แล้วพวกโยมก็ควรปฏิบัติบ้างจึงจะรู้ชัดเจนนะ”
หลวงปู่ซามาได้มาบูรณะซ่อมแซมวัดป่าอัมพวัน ให้ได้รับความเจริญขึ้น เพราะชาวบ้านไร่ม่วงทุกคนต่างก็มีความศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาข้อวัตรของท่าน จึงนิมนต์ให้มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอัมพวัน และถือเป็นแหล่งสุดท้ายในชีวิตของท่านหลวงปู่ซามา อาจุตฺโต พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแห่งจังหวัดเลย
๏ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าอัมพวัน
หลวงปู่ซามา รู้จักและสนิทสนมกับหลวงพ่อคำพอง ขันติโก ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ซามาพร้อมด้วยหลวงพ่อคำพอง ได้พากันเดินทางไปที่วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติและศึกษาธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ต่อมา ได้พากันเดินทางกลับจังหวัดเลย หลวงปู่แหวนได้มอบเงินมา ๔๐๐ บาท ให้มาแบ่งเป็นค่ารถคนละ ๒๐๐ บาท เพื่อเดินทางกลับจังหวัดเลย แต่หลวงพ่อคำพองเดินทางท่องธุดงควัตรต่อไปในภาคกลาง ไม่ได้กลับจังหวัดเลยพร้อมกับหลวงปู่ซามา
ภายหลังหลวงปู่ซามา ได้ฝากฝังเอาไว้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพว่า ขอให้นิมนต์หลวงพ่อคำพอง มาเพื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน สืบต่อจากท่าน ครั้นต่อมาหลวงปู่ซามา ได้มรณภาพลง ศรัทธาญาติโยมบ้านไร่ม่วงและพระผู้ใหญ่ในจังหวัดเลย จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อคำพอง ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๓ ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
๏ การมรณภาพ
พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ พร้อมด้วยหลวงปู่ซามา อาจุตฺโต และพระเถระผู้ใหญ่ในจังหวัดเลย อาทิ พระราชศิลสังวร อดีตเจ้าคณะจังหวัดเลย วัดศรีโพนแท่น ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย, หลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย และหลวงพ่อสีทน สีลธโน วัดถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย ได้รับนิมนต์ไปในพิธีพุทธาภิเษกที่จังหวัดปราจีนบุรี
ระหว่างเดินทางกลับมาถึงที่ อ.คง จ.นครราชสีมา บังเอิญมีรถยนต์คันหนึ่งเกิดยางแตก รถเสียหลักพุ่งเข้ามาในเลน ทำให้คนขับรถของหลวงปู่หักหลบและเกิดพลิกคว่ำไปหลายตลบ พระที่นั่งมาในรถบาดเจ็บไปตามๆ กัน และหลวงปู่ซามาบาดเจ็บมากที่สุด
ภายหลังเกิดเหตุ รถตำรวจทางหลวงได้นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลนครราชสีมา เมื่อทุกท่านอาการดีขึ้นจึงได้พากันเดินทางกลับจังหวัดเลย ส่วนหลวงปู่ซามาที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
หลวงปู่ซามาเริ่มมีอาการอาพาธ มีอาการทรงๆ ทรุดๆ มาโดยตลอด ต่อมาหลวงปู่ซามา เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดป่าอัมพวัน แม้อาการก็ดีขึ้น แต่ไม่หายขาด อย่างไรก็ดีหลวงปู่ซามายังคงสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้บ้าง
จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ หลวงปู่มีอาการทรุดมาก และในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ได้ไปเยี่ยมและเป็นการเยี่ยมครั้งสุดท้าย ครั้นในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ เวลา ๑๒.๓๐ น. หลวงปู่ซามา ได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบ สิริอายุรวม ๗๖ พรรษา ๕๐
แม้วันนี้หลวงปู่ซามาจะละสังขารไปจากโลกนี้นานแล้ว แต่กุศลผลบุญแห่งความดีที่ยังคงปรากฏอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชน ในฐานะปูชนียบุคคลและผู้สร้างปูชนียบุคคล
ที่มา : http://www.dhammajak.net