หลวงปู่ชา สุภัทโท
ประวัติวัด วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี เป็นวัดป่าสายปฏิบัติ ซึ่งพระอาจารย์ชา สุภทฺโท ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติ ฝึกฝน อบรมพระภิกษุ-สามเณร ผู้มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ ให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เสียสละ พากเพียรเพื่อมรรคผลนิพพาน และนำพาไปสู่การเป็นสมณะที่งดงาม ด้วยการรักษาวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ร่วมประคองค้ำชูพระศาสนาให้มีอายุยืนยาว เจริญรุ่งเรือง กระทั่งต่อมาได้เป็นศูยน์กลางการอบรมสั่งสอน ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ให้กับนักปฎิบัติธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จนเป็นแรงศรัทธาเกิดสาขาขยายไปยังประเทศทั่วโลก วัตถุประสงค์ คณะศิษยานุศิษย์พระอาจารย์ชา สุภทฺโท ได้จัดทำเว็บไซด์นี้ขึ้น โดยมีคณะสงฆ์เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้โอกาสแก่บุคคล(สาธุชน)ผู้สนใจได้ศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ มุ่งปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง โดยยึดหลักพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีพระอาจารย์ชา สุภทฺโท เป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ และเผยแผ่พระธรรมฯ สถานที่ตั้ง ๔๖ หมู่ ๑๐ บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ๓๔๑๙๐ โทรศัพท์: ๐๔๕-๓๒๒๗๒๙ โทรสาร: ๐๔๕-๒๖๗๕๖๓ ประวัติวัดหนองป่าพง สาเหตุที่ป่าส่วนนี้ไม่ถูกบุกรุกถากถาง เพราะชาวบ้านเชื่อถือกันว่า มีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ในดงนั้น เพราะปรากฏอยู่เสมอว่า คนที่เข้าไปทำไร่ตัดไม้หรือล่าสัตว์ เมื่อกลับออกมามักมีอันต้องล้มตายไปทุกราย โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านจึงพากันเกรงกลัวภัยมืดนั้น ไม่มีใครกล้าเข้าไปทำลาย หรืออาศัยทำกินในป่านี้เลย ดงป่าพงจึงดำรงความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์ ชื่อ “วัดหนองป่าพง” นี้ เป็นชื่อที่หลวงพ่อคิดตั้งขึ้นเอง โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก แต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากก็คือ “ วัดป่าพง” โดยระยะแรกๆ หลวงปู่ชา สุภทฺโท และลูกศิษย์ต้องต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกับไข้ป่า ซึ่งขณะนั้นชุกชุมมาก เพราะเป็นป่าทึบ ยามพระเณรป่วยหายารักษายาก ต้องต้มบอระเพ็ดฉันพอประทังไปตามมีตามเกิด โดยที่ท่านไม่ยอมขอความช่วยเหลือเลย เพราะว่า ท่านต้องการให้ผู้ที่มาพบเห็นด้วยตา แล้วเกิดความเลื่อมใสเอง หลวงพ่อสอนอยู่เสมอว่า พระไปยุ่งกับการหาเงินก่อสร้างวัด เป็นสิ่งน่าเกลียด แต่ให้พระสร้างคน คนจะสร้างวัดเอง ข้อมูลอ้างอิงจาก : p.moohin.com
วัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ที่บ้านพงสว่าง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ไปทางอำเภอกันทรลักษณ์ ตามถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๗๘ ประมาณ ๘ กม. โดยได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๑ ตอนที่ ๗๑ โดยกำหนดเขตกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร มีพื้นที่ป่าภายในเขตกำแพง ๑๘๖ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา
จุดเริ่มต้นของวัดหนองป่าพง เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ (ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง) พระโพธิญาณเถร(ชา สุภทฺโท) ท่านได้เดินธุดงค์มาถึง "ดงป่าพง"ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๓ กิโลเมตร พร้อมด้วยลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง เมื่อเดินทางมาถึง ก็ได้ทำการปักกลดเรียงรายอยู่ตามชายป่าประมาณ ๕-๖ แห่ง ดงป่าพงในสมัยนั้น มีสภาพเป็นป่าทึบรกร้าง ชุกชุมด้วยไข้ป่า ในอดีตป่าพงเป็นดงใหญ่ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านเรียกดงดิบนี้ว่า “หนองป่าพง” เพราะใจกลางป่ามีหนองน้ำใหญ่ที่มีกอพงขึ้นอยู่หนาแน่น ต่อมาบริเวณผืนป่าส่วนใหญ่ถูกทำลายหมดไป ยังคงเหลือเพียงส่วนที่เป็นบริเวณของวัดในปัจจุบันเท่านั้น
จากวัดเล็กๆที่มีบรรณศาลา (กระท่อม) ไม่กี่หลัง จึงได้มีสิ่งก่อสร้างอันควรแก่สมณวิสัยเพิ่มเติม จนพอแก่ความต้องการในปัจจุบัน ทั้งที่พักอาศัยของภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาที่มาค้างแรมเพื่อปฏิบัติธรรม กระท่อมชั่วคราว ได้กลายมาเป็นกุฏิถาวรจำนวนมาก ศาลามุงหญ้า ซึ่งเคยใช้เป็นที่ฉันและแสดงธรรม ได้เปลี่ยนมาเป็นศาลาและโรงฉันอันถาวร กำแพงวัด หอระฆังเสนาเสนาะอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้นจากแรงศรัทธา ความเลื่อมใสนั้นเอง
วัดหนองป่าพงเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ อันสงบอันสงัด มีบรรยากาศร่มเย็นเหมาะ แก่การพำนักอาศัยเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
ชีวิตพระในวัดหนองป่าพง มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การประพฤติพรหมจรรย์์ตามรอยพระยุคลบาท ของพระบรมศาสดา ที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบเงียบ และเรียบง่ายภายในป่า เพื่อค้นคว้าแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วทรงนำความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น มาเผยแผ่เกื้อกูลความสุขแก่มหาชนทั่วไป
การดำเนินชีวิตในวัดหนองป่าพง ยึดหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เป็นแนวทางปฏิบัติฝึกหัดกายวาจาใจในชีวิตประจำวัน เน้นการศึกษาประพฤติ ปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ในศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งนำธุดงควัตร ๑๓ วัตร ๑๔ และกำหนดกฎกติการะเบียบต่างๆ มาผสมผสานเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการบำเพ็ญสมณธรรมให้ดำเนินไปด้วยดี และมีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น
แนวทางการปฏิบัติและธรรมชาติของป่าภายในสำนัก เป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมให้การดำรงชีวิตของพระภิกษุเป็นไปด้วยความเรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติ และประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะ ตามแบบของพระธุดงค์กรรมฐาน ผู้มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นไปเพื่อขัดเกลาทำลายกิเลสที่ครูบาอาจารย์ได้พาดำเนินมา
จีวรและบริขารอื่นๆ ของภิกษุจะมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งจัดรวบรวมไว้เป็นของสงฆ์หรือของส่วนกลาง มีภิกษุผู้รักษาเรือนคลังสงฆ์เป็นผู้แจกในกาลเวลาที่เหมาะสม การบริโภคอาหารมีเพียงมื้อเดียวตอนเช้า และฉันในบาตร เสนาสนะที่พักอาศัยเป็นกุฏิหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างกันในราวป่าท่ามกลางความร่มรื่นแห่งหมู่ไม้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภาวนาได้อย่างสงบ
สภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอันสงบและบริสุทธิ์ของป่า ช่วยให้จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติได้สัมผัสกับความรู้สึกสงบเย็น สดชื่น เบิกบาน มีอิสระ เป็นความสุขที่ปราศจากความเร่าร้อน กระวนกระวาย เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิเวก ความสงบกาย และอุปธิวิเวก ความสงบกิเลส อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาต่อไป สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดหนองป่าพง คือ
๑. พระอุโบสถ
เกิดจากแนวความคิดของพระอาจารย์ชา คือ โบสถ์คือบริเวณหรืออาคารที่พระสงฆ์ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม ให้สร้างพอคุ้มแดดคุ้มฝน ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องประดับให้สิ้นเปลืองแต่อย่างใด พระอาจารย์ชา จึงวางหลักในการสร้างอุโบสถดังนี้
๑. ตั้งอยู่บนเนินดินคล้ายภูเขา ให้พื้นโบสถ์ยกลอยสูงขึ้นจากพื้นดิน พื้นโบสถ์ส่วนที่ลอยนี้จะใช้เป็นถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่
๒. ให้เข้ากับธรรมชาติมากที่สุด
๓. เรียบง่าย แข็งแรง ทนทาน ประหยัด
๔. ให้มีขนาดกว้างใหญ่ สำหรับพระภิกษุใช้ร่วมลงสังฆกรรมได้อย่างน้อย ๒๐๐ รูป
๕. ให้มีเครื่องตกแต่งสิ้นเปลืองน้อยที่สุดไม่ควรมีช่อฟ้าใบระกา ไม่ต้องมีผนัง มีประตู หน้าต่าง และฝนสาดไม่ถึง
โดยการก่อสร้างพระอุโบสถหลังนี้ ดำเนินการเขียนแบบโดย อาจารย์บำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ อาจารย์แผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคโนโลยีและอาชีวศึกษา จ.นครราชสีมา เป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรอำนวยการสร้าง ได้เขียนแบบแปลนโบสถ์ ตามแนวความคิดของหลวงพ่อ ทั้ง ๕ ประการ ถวายแก่หลวงพ่อ โดยไม่คิดค่าเขียนแบบและคำนวณโครงสร้าง สร้างรูปแบบอุโบสถสมัยใหม่ขึ้น มุ่งในประโยชน์ใช้สอย ประหยัด แข็งแรงทนทาน รูปแบบอาคารได้พยายามดึงเอาส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมพื้นเมืองทางอีสานเข้ามาผสมปนเปด้วย เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ทางวัฒนธรรม เสาอาคารและผนังบางส่วนประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผาจากบ้านด่านเกวียน โดยมอบให้อาจารย์พิศ ป้อมสินทรัพย์ เป็นช่างปั้นและเผาสุก ภาพปั้นมีทั้งหมด ๘ ภาพ เป็นภาพเกี่ยวกับปูชนียสถานสำคัญทางพุทธศาสนาของประเทศไทย ๔ ภาพ และเป็นภาพปั้นแสดงเรื่องราวของหลวงพ่อที่กำลังธุดงค์อีก ๔ ภาพ โบสถ์หลังนี้จึงมีความแตกต่างจากโบสถ์ทั่วๆไป ดังนี้
๑. พื้นอาสนะอยู่บนเนินดิน สูงจากระดับพื้นดินเดิม ๔ เมตร
๒. ตัวโบสถ์สูงจากเนินดิน ๑๗ เมตร เป็นทรงแหลมหลังคาเป็นโดมสูง ด้านหน้าหลังคา ๓ ชั้น ด้านหลัง ๒ ชั้น ใต้โดมเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน หลังคาคอนกรีตเปลือย
๓. ในเนินดินใต้โบสถ์เป็นถังน้ำขนาดใหญ่ ๒ ถัง ขนาดกว้าง ๕.๕ เมตร ยาว ๕.๕ เมตร สูง ๓.๕ เมตร ทั้งสองถังจุน้ำรวมกัน ๒๑๑,๗๕๐ คิวบิคเมตร มีน้ำพอตลอดฤดูกาล
๔. มีอาสนะ ๓ อาสนะ ใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๖๐ ตารางเมตร
๕. ไม่มีฝาผนัง ประตู หน้าต่าง และเครื่องประดับลวดลาย ลดค่าใช้จ่าย การก่อสร้างมุ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ
๖. การไม่มีฝาผนัง ทำให้ทุกคนได้มองเห็น และมีความรู้สึกว่าได้เริ่มพิธีกรรมในโอกาสต่างๆ ด้วยสายตาได้ ทำให้เกิดความปลื้มสบายใจ เพราะได้พบเห็นพิธีกรรมต่างๆ นั้นเอง
๒. เจดีย์พระโพธิญาณเถร
ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างสถาปัตยกรรมอีสานกับ ล้านช้าง ส่วนองค์เจดีย์เป็นบัวเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานกลม ซึ่งเป็นอาคารโบสถ์ มีทางเข้าสี่ทิศ โดยศิษยานุศิษย์หลวงปู่ชา สุภทฺโท ได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิหลวงปู่ชา ซึ่งท่านได้มรณภาพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เวลา ๐๕.๒๐ น.
๓. พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร
เป็นอาคารสามชั้นทรงไทยประยุกต์ มีโถงบันไดอยู่ตรงกลาง ชั้นล่างมีตู้แสดงโครงกระดูกมนุษย์อยู่สองข้าง ชั้นสองจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด และชั้นสามประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าจริงของหลวงปู่ชา ในท่านั่งอยู่บนเก้าอี้หวายและเครื่องอัฐบริขารของท่าน
๔.หอระฆัง
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหอฉัน ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๑๕ เมตร บนยอดหอระฆังได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เริ่มสร้างปี ๒๕๑๔ เสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๗ ตามผนังประดับด้วยภาพปูนปั้น เรื่องราวพุทธประวัติ และสัตว์ที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติของวัดหนองป่าพง เช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต ตะกวด อันเป็นความคิดของหลวงพ่อ ปั้นโดย พ่อใหญ่บัวพา วงสิงห์ บ้านกลาง
๕.กุฏิหลวงพ่อ
กุฏิหลังที่สาม เป็นกุฏิที่หลวงพ่อพำนักอยู่นานที่สุด ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๒๔ สร้างถวายโดยคุณครูทองคำ สุพิชญ์ อยู่ทางด้านทิศเหนือของโบสถ์ หลังคามุงสังกะสี บุฝ้าเพดาน ฝาและพื้นชั้นบนเป็นไม้แปรรูป มี ๒ ห้อง พื้นชั้นล่างลาดซีเมนต์เปิดโล่ง หลวงพ่อมักนั่งรับแขกสนทนาธรรม ณ ใต้ถุนกุฏิแห่งนี้เป็นประจำ
๖.กุฏิพยาบาล
เป็นกุฏิหลังสุดท้าย สร้างในปี ๒๕๒๕ สร้างอยู่บนเนินซึ่งขุดดินจากบ่อน้ำข้างๆนั้นขึ้นมาถมที่ให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้รับลมตามธรรมชาติ อากาศถ่ายเทสะดวก ภายในกุฏิออกแบบเป็นพิเศษ ให้มีสภาพคล้ายกับห้องพิเศษของโรงพยาบาล ภายนอกกุฏิปลูกหญ้า จัดสวนหย่อมให้บรรยากาศร่มรื่น หลวงพ่อเมตตาเข้าพำนักตามคำนิมนต์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖