ประวัติ หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา - วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน - webpra

หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา

ประวัติ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน

หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้มพระครูพัฒนากิจจานุรักษ์  (หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒน)

สถิต ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

นามเดิม
วงศ์หรือชัยวงศ์ ต๊ะแหนม
ฉายา
ชัยยะวงศา
เกิด
วันอังคาร เดือน ๗ (เหนือ) แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖ เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา
อุปสมบท
ครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้า

หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา (พระครูพัฒนากิจจานุรักษ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน ชาติภูมิ นามเดิม วงศ์หรือชัยวงศ์ นามสกุล ต๊ะแหนม เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ (เหนือ) แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖ เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา

ชาติภูมิ
นามเดิม วงศ์หรือชัยวงศ์ นามสกุล ต๊ะแหนม เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ (เหนือ) แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖ เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา โยมบิดาชื่อ น้อย จันต๊ะ (ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๔๔ ปี) โยมมารดาชื่อ บัวแก้ว (ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๗๘ ปี) จำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ มีน้องต่างบิดาอีก ๑ คน รวมเป็น ๙ คน ดังนี้
๑. เด็กหญิงคำเอื้อย ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม
๒. เด็กชายก่องคำ ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม
๓. เด็กชายวงศ์ ปัจจุบัน หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ถึงแก่มรณภาพ)
๔. เด็กชายคำตั๋ว ปัจจุบัน นายคำตั๋ว
๕. เด็กหญิงบัวผัน ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม
๖. เด็กหญิงบัวใย ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม
๗. เด็กหญิงเฮือนมูล ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม
๘. เด็กชายอินปั๋น ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม
๙. เด็กชายหมอก ปัจจุบัน นายหมอก (เคยอุปสมบทกับหลวงปู่)

ชิวิตในวัยเด็ก
หลวงพ่อเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่ ควาย ๒-๓ ตัว ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าวและอาศัยของในป่า รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี แม่ต้องไปขอญาติพี่น้องๆ เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน แม่ต้องกลับมามือเปล่าพร้อมน้ำตาบนใบหน้ามาถึงเรือน ลูกๆ ก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยากแต่ก็ไม่ได้ละทิ้ง เรื่องการทำบุญให้ทาน ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆ ละปั้นไปใส่บาตร บูชาพระพุทธทุกวันพระ
โยมพ่อเคยสอนว่า “ตอนนี้พ่อแม่อด ลูกทุกคนก็อดแต่ลูกๆ ทุกคนอย่าท้อแท้ใจ ค่อยทำบุญ ไปเรื่อยๆ บุญมีภายหน้าก็จะสบาย” และโยมพ่อเคยพูดกับท่านว่า
“ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ ข้าวจะกินก็ไม่มี ต้องกินไปอย่างนี้ ค่อยอดค่อยกลั้นไปบุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก ทรมานมานานแล้วถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย มันจะตายก็ตายไม่ตายก็แล้วไป ให้ลูกอดทนไปนะ ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดีตายไปแล้วก็ดี บางทีลูกจะได้ “นั่งขดถวายหงายองค์ตีน (บวช)” กินข้าวดีๆ อร่อยๆ พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้”

เป็นผู้มีความขยันและอดทน
ในสมัยที่ท่านยังเล็กๆ อายุ ๓-๔ ขวบ ท่านมีโรคประจำตัวคือโรคลมสันนิบาต ลมเปี่ยวลม กัง ต้องนั่งทุกข์อยู่เป็นวันเป็นคืน เดินไปไกลก็ไม่ได้ วิ่งก็ไม่ได้เพราะลมเปี่ยว ตะคริวกินขากินน่อง เดินเร็วๆ ก็ไม่ได้ ต้องค่อยไปค่อยยั้ง เวลาอยู่บ้านต้องคอยเลี้ยงน้อง ตักน้ำติดไฟไว้คอยพ่อแม่ที่เข้าไปในป่าหาอาหาร

ในช่วงที่ท่านมีอายุได้ ๕-๑๐ ขวบ ท่านต้องเป็นหลักในบรรดาพี่น้องทั้งหมดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่มากที่สุด เวลาพ่อแม่ไปไร่ไปนาก็ไปด้วย เวลาพ่อแม่ไปหากลอบขุดมัน หาลูกไม้ในป่า ท่านก็ไปช่วยขุดช่วยหาบกลับบ้าน บางครั้งพ่อแม่หลงทางเพราะไปหากลายตามเนินดอยเนินเขากว่าจะหากลอยได้เต็มหาบ ก็ดึก ขากลับพ่อแม่จำทางไม่ได้ ท่านก็ช่วยพาพ่อแม่กลับบ้านจนได้

ครั้นถึงหน้าฝน พ่อแม่ออกไปทำนา ท่านก็ติดตามไปช่วยทุกอย่าง พ่อปั้นคันนาท่านก็ช่วยพ่อ พ่อไถนาท่านก็คอยจูงควายให้พ่อ เวลาแม่ปลูกข้าวก็ช่วยแม่ปลูกจนเสร็จ
เสร็จจากหน้าทำนา ท่านก็จะเผาไม้ในไร่เอาขี้เถ้า ไปขุดดินในถ้ำมาผสมทำดินปืนไปขายได้เงินซื้อข้าวและเกลือ บางครั้งก็ไปอยู่กับลุงน้อยเดชะรับจ้างเลี้ยงควายบางปีก็ได้ค่าแรงเป็นข้าว ๒-๓ หาบ บางปีก็เพียงแต่ขอกินข้าวกับลุงพอตุนท้องตุนไส้ไปวันๆ
พอถึงเวลาข้าวออกรวง นกเขาจะลงกินข้าวในนา ท่านก็จะขอพ่อแม่ไปเฝ้าข้าวในนาตั้งแต่ เช้ามืดกว่าจะกลับก็ตะวันลับฟ้าไปแล้ว

เป็นผู้มีความกตัญญู
หลวงพ่อมีความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก ท่านช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ ท่านก็ช่วยพ่อแม่เฝ้านาเลี้ยงน้องตลอดจนช่วยงานทุกอย่างของพ่อแม่ เมื่อเวลาที่พ่อแม่หาอาหารไม่ได้ ท่านก็จะไปรับจ้างชาวบ้านแถบบ้านก้อทำความสะอาดหรือช่วยเฝ้าไร่นา เพื่อแลกกับข้าวปลาอาหารมาให้พ่อแม่และน้องๆ กิน

ในบางครั้ง อาหารที่ได้มาหรือที่พ่อแม่จัดหาให้ไม่เพียงพอกับคนในครอบครัว ด้วยความที่ท่านมีนิสัยเสียสละและไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องเจียดอาหารของท่าน ทั้งสอง ซึ่งมีน้อยอยู่แล้วออกมาให้ท่านอีก ท่านจึงได้บอกว่า “กินมาแล้ว” เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ แต่พอลับตาผู้อื่นหรือเมื่อผู้อื่นในบ้านหลับกันหมดแล้ว ท่านก็จะหลบไปดื่มน้ำหรือบางครั้งจะหลบไปหาใบไม้ที่พอจะกินได้มาเคี้ยวกิน เพื่อประทังความหิวที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้รับฟังมาจากน้องของท่านว่า “หลวงพ่อเติบโตขึ้นมาโดยพ่อแม่เลี้ยงข้าวท่านไม่ถึง ๑๐ ถัง แต่ท่านในสมัยเป็นเด็กกลับหาเลี้ยงพ่อแม่มากกว่าที่พ่อแม่หาเลี้ยงท่าน”

ชอบลองใจ
ปกติท่านมักจะหาเวลาว่างไปทำบุญช่วยเหลือการงานที่วัดก้อจอกซึ่งอยู่ใกล้ บ้านเสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ชวนผู้เฒ่าคนหนึ่งซึ่งโดยปกติไม่ชอบไปวัดทำบุญแต่ชอบยิงนก ตกปลาเป็นประจำและมักจะมีข้ออ้างเสมอเมื่อถูกชวนไปวัด คราวนี้แกก็ปฏิเสธเช่นเคย โดยอ้างว่าเท้าเจ็บไปไหนไม่ได้ ท่านอยากจะลองดูซิว่าเท้าแกเจ็บจริงหรือไม่ เมื่อท่านเดินออกไปได้สักระยะหนึ่งก็ทำเสียงอีเก้งร้อง เมื่อร้องครั้งแรก ผู้เฒ่าคนนั้นก็ยกหัวขึ้นมาดู (ขณะนั้นนอนทำเป็นป่วยอยู่) หันซ้ายหันขวามองตามเสียงอีเก้งร้อง เมื่อแกได้ยินเสียงร้องครั้งที่สอง ก็ลุกนั่งมีอาการอยากจะออกไปยิงอีเก้ง พอได้ยินเสียงร้องครั้งที่สามผู้เฒ่าทนไม่ไหวลุกขึ้นไปหยิบเอาปืนจะออกไปยิง อีเก้งตัวนี้เสียทันทีทันใด จนท่านเห็นแล้วต้องรีบวิ่งหนีเพราะกลัวจะโดนลูกหลง

มีนิสัยกล้าหาญ
เมื่อท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ ท่านต้องออกไปเฝ้านาข้าว เพื่อคอยไล่นกที่จะมากินข้าวในนา ท่านต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี ๔ ยังไม่สว่างนกยังไม่ตื่นออกหากิน การที่ท่านต้องออกไปไร่นาแต่เพียงลำพังคนเดียวเป็นประจำ ทำให้ลุงตาลซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของท่านอกสงสัยไม่ได้จนต้องเข้ามาถามท่าน

ลุงตาล : มึงนี้เป็นผีเสือหรือไร แจ้งมากูก็เห็นมึงที่นี่ มึงไม่ได้นอนบ้านหรือ
ด.ช.วงศ์ : เมื่อนกหนูนอนแล้ว ข้าจึงกลับไปบ้าน เช้ามืดไก่ขันหัวที ยังบ่แจ้ง นกยังบ่ลงบ่ตื่นข้าก็มาคนเดียว
ลุงตาล : ไม่กลัวเสือ ไม่กลัวผีป่าหรือ?
ด.ช.วงศ์ : ผีเสือมันก็รู้จักเรา มันไม่ทำอะไรเรา เราเทียวไปเทียวมา มันคงรู้ และเอ็นดูเรา บางวันตอนเช้าเราเห็นคนเดินไปข้างหน้าเราก็เดินตามก็ไม่ทัน จนถึงไร่มันก็หายไปเราก็เข้าใจว่ามันไปส่งเรา เราก็ไม่กลัว บางเช้าก็ได้ยินเสียงเสือร้องไปก่อนหน้า
ลุงตาล : ไม่กลัวเสือหรือ ?
ด.ช.วงศ์ : เราไม่กลัว มันเป็นสัตว์เราเป็นคน มันไม่รังแกเรา มันคงสงสารเรา ที่เป็นทุกข์ยาก มันคงจะมาอยู่เป็นเพื่อน เราจะไปจะมาก็ขอเทวดา ที่รักษาป่า ช่วยรักษาเรา เราจึงไม่กลัว
ลุงตาล : มึงเก่งมาก กูจักทำตามมึง
ด.ช.วงศ์ : เราไม่ได้ทำอะไรมัน มันก็ไม่ทำอะไรเรา มันไม่รังแกเรา เราคิดว่าคนที่ใจบาปไปเสาะหาเนื้อในป่า กินกวางกินเก้งกินปลา เสือก็ยังไม่กัดใครตายในป่าสักคน เวลาเราจะลงเรือน เราก็ขอให้บุญช่วยเรา
ลุงตาล : มึงยังเด็ก อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ มืด ๆ ดึก ๆ ก็ไม่กลัวป่า ไม่กลัวเถื่อน ไม่กลัวผีป่า ผีพง ไม่กลัวช้าง กูยอมมึงแล้ว

มีปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์
ขณะที่ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ในป่าคนเดียวตามลำพัง ท่านได้เปรียบเทียบชีวิตท่านกับสัตว์ป่า ทั้งหลายว่า “นกทั้งหลายต่างก็หากินไปไม่มีที่หยุดต่างก็เลี้ยงตัวเองไปตามประสามันก็ยัง ทนทานไปได้ ตัวเราค่อยอดค่อนทนไปก็ดีเหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายก็ทุกข์ยากอย่างเรา เราก็ทุกข์ยากอย่างเรา สัตว์ในโลกก็ทุกข์เหมือนกันทุกอย่าง เราไม่ควรจะเหนื่อยคร้าน ค่อยอดค่อยทนตามพ่อแม่นำพาไป”

เป็นผู้มีพรหมวิหารสี่
หลวงพ่อมีความเมตตากรุณาและพรหมวิหารสี่มาแต่เยาว์วัยเยาว์วัยอย่างหาที่ เปรียบมิได้ เพื่อนของหลวงพ่อตั้งแต่สมัยนั้นเล่าว่า เมื่อสมัยที่ท่านเป็นเด็กระหว่างทางไปหาของหรืออาหารป่า ทุกครั้งที่เห็นสัตว์ถูกกำดักของนายพราน ท่านจะปล่อยสัตว์เหล่านั้นให้มีอิสรภาพเสมอ แล้วจะหาสิ่งของมาทดแทนให้กับนายพราน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับชีวิตของมันครั้งหนึ่งท่านเห็นตัวตุ่นถูกกำดักนาย พรานติดอยู่ในโพรงไม้ไผ่ ด้วยความสงสารท่านจึงปล่อยตัวตุ่นนั้นไป แล้วหยิบหัวมันที่หามาได้จากในป่า ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้อง ๆ กิน ใส่เข้าไปในโพรงไม้นั้นแทน เพื่อเป็นการชดใช้แลกเปลี่ยนกับชีวิตของตัวตุ่นนั้น

ต่อมามีอยู่วันหนึ่งท่านไปพบปลาดุกติดเบ็กของชาวบ้านที่นำมาปักไว้ที่ ห้วย ท่านเห็นมันดิ้นทุรนทุรายแล้วเกิดความสงสารเวทนาปลาดุกตัวนั้นมาก จึงปลดมันออกจากเบ็ดแล้วเอาหัวผักกาดที่ท่านทำงานแลกมา ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้อง ๆ กิน มาเกี่ยวไว้แทนเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตปลาดุกนั้น หลวงพ่อได้เมตตาบอกถึงเหตุผลที่กระทำเช่นนั้นว่า ในเวลานั้นท่านมีความเวทนาสงสาร สัตว์เหล่านั้นจึงได้ช่วยชีวิตของมันไว้ ท่านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “ชีวิตของใคร ๆ ก็รักทั้งนั้น เราทุกคนควรจะเมตตาตนเอง และเมตตาผู้อื่นอยู่เสมอโลกนี้จะได้มีความสุข”

ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่ไม่ชอบการผิดศีลมาตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่อท่านเห็นว่าคนอื่นจะผิดศีล ข้อปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต) ก็รู้สึกสงสารทั้งผู้ทำปาณาติบาตและผู้ถูกปาณาติบาต ซึ่งท่านไม่อยากเห็นพวกเขามีเวรมีกรรมกันต่อไป แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ไม่ต้องการให้ตัวเองต้องผิดศีลโดยไปลักขโมยของผู้ อื่น ซึ่งในเวลานั้นท่านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ท่านจึงต้องหาสิ่งของมาตอบแทนให้กับเขา แต่ในบางครั้งก็ไม่มีสิ่งของมาแลกกับชีวิตของสัตว์เหล่านั้นเหมือนกัน แต่ท่านก็สามารถจะช่วยมันได้โดยปล่อยมันให้เป็นอิสระ แล้วท่านะนั่งรอนายพรานจนกว่าเขาจะมาและก็ขอเอาตัวเอง ชดใช้แทน ซึ่งท่านได้เล่าว่า บางคนก็ไม่ถือสาเอาความ แต่บางคนก็ให้ไปทำงานหรือทำความสะอาด ทดแทนกับที่ท่านไปปล่อยสัตว์ที่เขาดักไว้ แต่ไม่เคยมีใครทำร้ายทุบตีท่าน อาจจะมีบ้างก็เพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือน

ท่านได้พูดกับผู้เขียนว่า “แม้ว่าบางครั้งจะต้องทำงานหนักเพื่อใช้ชีวิตของสัตว์ที่ท่านได้ปล่อยไป แต่ท่านก็รู้สึกยินดีและปิติใจเป็นอันมากที่ได้ทำในสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ ”

กินอาหารมังสวิรัติ
เมื่อท่านอายุได้ ๑๒ ปี ท่านได้พบเหตุการณ์สำคัญที่ทำไม่อยากจะกินเนื้อสัตว์นั้นเลยนับแต่นั้นมา กล่าวคือ มีครั้งหนึ่งท่านได้เห็นพญากวางใหญ่ถูกนายพรานยิง แทนที่พญากวางตัวนั้นจะร้องเป็นเสียงสัตว์มันกลับร้องโอย โอย ๆ ๆ ๆ เหมือนเสียงคนร้อง แล้วสิ้นใจตายในที่สุด และเมื่อท่านไปอยู่กับครูบาชัยลังก๋าซึ่งไม่ฉันเนื้อสัตว์ หลวงพ่อจึงงดเว้นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ตั้งแต่นั้นมา อีกประการหนึ่ง

อาจเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านได้สร้างสมมาแต่อดีตชาติ ประกอบกับได้เห็นความทุกข์ยากของสัตว์ต่าง ๆ ที่ถูกทำร้าย จึงทำให้ท่านเกิดความสลดใจอยู่เสมอ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานถึงคุณพระศรีรัตนตรัยตั้งแต่นั้นมาว่า “จะไม่ขอเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์และจะไม่ขอกินเนื้อ สัตว์อีกต่อไป” ท่านไม่เมตตาสอนว่า “สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมรักและหวงแหนชีวิตของมันเอง เราทุกคนไม่ควรจะเบียดเบียนมัน มันจะได้อยู่อย่างเป็นสุข” และท่านยังพูดเสมอว่า “ท่านต้องการให้ศีลของท่านบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ ”
สัตว์ทุกตัวมันก็รักชีวิตของมันเหมือนกัน เมื่อเราฆ่ามันตายเพื่อกินเนื้อมัน จิตของมันไปที่สำนักพญายม ก็จะฟ้องร้องว่าคนนั้นฆ่ามันตาย คนนี้กินเนื้อของมัน ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่า คนกินก็เป็นจำเลยด้วยก็ย่อมต้องได้รับโทษ แต่จะออกมาในรูปของการเจ็บไข้ได้ป่วยและความไม่สบายต่าง ๆ ซึ่งเจ้าตัวไม่รู้สึก เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

บรรพชาเป็นสามเณร
เมื่อท่านอายุย่าง ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๘) ด้วยผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ปางก่อนในอดีตชาติ และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในชาตินี้ จึงดลบันดาลให้ท่านมีความ เบื่อหน่ายต่อชีวิตทางโลก อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แห่งนี้ ท่านจึงได้รบเร้าขอให้พ่อแม่ท่านไปบวช เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมือบิดามารดาได้ฟังก็เกิดความ ปิติยินดีเป็นยิ่งนัก

ไม่นานหลังจากนั้น พ่อแม่ก็ได้นำท่านไปฝากกับหลวงอาท่านได้อยู่เป็นเด็กวัดกับหลวงอาได้ไม่นาน หลวงอาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์และบวชเณรกับครูบาชัยลังก๋า (ซึ่งเป็นธุดงค์กรรมฐานรุ่นพี่ของครูบาศรีชัย) ครูบาชัยลังก๋าได้ตั้งชื่อให้ท่านใหม่หลังจากเป็นสามเณรแล้วว่า “สามเณรชัย ลังก๋า” เช่นเดียวกับชื่อของครูบาชัยลังก๋า

มีความเคารพเชื่อฟัง
ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรและเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ตลอดจนผู้ สูงอายุ จึงทำให้ครูบาอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่รักใคร่เอ็นดูมาก จนเป็นเหตุทำให้เพื่อนเณรบางคนพากันอิจฉาริษยา หาว่าท่านประจบครูบาอาจารย์ เมื่อใดที่ท่านอยู่ห่างจากครูบาอาจารย์เป็นต้องถูกรังแกเสมอ ทำให้การอยู่ปรนนิบัติติดตามครูบาอาจารย์เป็นไปอย่างไม่มีความสุข แต่ด้วยความเคารพกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ และต้องการที่จะปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ท่านจึงได้ใช้ขันติและให้อภัยแก่พระเณรเหล่านั้น ที่ไม่รู้สัจจธรรมในเรื่องกฎแห่งกรรม ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้กล่าวไว้ว่า “ทำความดีได้ดี ทำความชั่วผลแห่งความชั่วย่อมตอบสนองผู้นั้น”

พบชายชราลึกลับ
เพื่อนพระสงฆ์ที่เคยอยู่ร่วมกันกับท่านในสมัยเป็นเณรได้เล่าว่า “หลวงพ่อวงศ์เป็นผู้มีขันติและอภัยทานสูงส่งจริงๆ ” ครั้งหนึ่งท่านเคยถูกเณรองค์อื่น (ซึ่งไม่ควรจะถือว่าเป็นพระหรือเณร) เอาน้ำรักทาไว้บนที่นอนของท่านในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า และเทียนก็หาได้ยาก ท่านจึงมองไม่เห็น เมื่อท่านนอนลงไป น้ำรักก็ได้กัดผิวหนังของท่านจนแสบจนคัน ท่านจึงได้เกาจนเป็นแผลไปทั้งตัว ไม่นานแผลเหล่านั้นก็ได้เน่าเปื่อยขึ้นมาจนทำให้ท่านได้รับทุกขเวทนามาก แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนดีมีธรรมะเมตตา ให้อโหสิกรรมกับผู้อื่น ท่านจึงใช้ขันติข่มความเจ็บปวดเหล่านั้นโดยไม่ปริปากหรือกล่าวโทษผู้ใด

ทุกครั้งที่ครูบาอาจารย์ถาม ท่านก็ไม่ยอมที่จะกล่าวโทษใครเลย เพียงเรียนไปว่าขออภัยให้กับพวกคนเหล่านั้นเท่านั้นและขอยึดเอาคำของครูบา อาจารย์มาปฏิบัติ เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมกันต่อไปในอนาคต และเพื่อความหลุดพ้นจากวัฎสงสารแห่งนี้เข้าสู่นิพพาน ดังที่ครูบาอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนมาด้วยความยากลำบาก ในการที่จะให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนดีและเป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของ พุทธบริษัทต่อไป

ด้วยผลบุญที่ท่านได้สั่งสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน จึงดลบันดาลให้มีชายชราชาวขมุนำยามาให้ท่านกินให้ท่านทาเป็นเวลา ๓ คืน เมื่อท่านหายดีแล้ว ชายชราผู้นั้นก็ได้กลับมาหาท่านและได้พูดกับท่านว่า “เป็นผลบุญของเณรน้อยที่ได้สร้างสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบันไว้ดีมากและมีความ กตัญญูเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ดีมากจึงทำให้แผลหายเร็ว ขอให้เณรน้อยจงหมั่นทำความดีปฏิบัติธรรมและเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ต่อไป อย่าได้ท้อถอยไม่ว่าจะมีมารมาขัดขวางอย่างไรก็ดี ขอเณรน้อยใช้ความดีชนะความไม่ดีทั้งหลายต่อไปในภายภาคหน้า สามเณรน้อยจะได้เป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของพุทธบริษัทต่อไป”
เมื่อชายชราผู้นั้นกล่าวจบแล้ว จึงได้เดินลงจากกุฏิที่ท่านพักอยู่ สามเณรชัยลังก๋านึกได้ยังไม่ได้ถามชื่อแซ่ของชายชราผู้มีพระคุณ จึงวิ่งตามลงมา แต่เดินหาเท่าไรก็ไม่พบชายชราผู้นั้น ท่านจึงได้สอบถามผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่พบเห็นชายชราเช่นนี้มาก่อนเลย นอกจากเห็นท่านนอนอยู่องค์เดียวในกุฏิ จากคำพูดของคนเหล่านี้ทำให้ท่านประหลาดใจมาก เพราะท่านได้พูดคุยกับชายชราผู้นั้นถึง ๓ คืน ทุกครั้งที่ชายชราผู้นี้มาทายา และทำยาให้ท่านกินเหตุการณ์นี้ ทำให้ท่านคิดว่าชายชราผู้นั้นถ้าไม่เป็นเทพแปลงกายมา ก็อาจจะเป็นผู้ทรงศีลที่บำเพ็ญอยู่ในป่าจนได้อภิญญา
การกลั่นแกล้งจากพระเณรที่อิจฉาริษยายังไม่สิ้นสุดแค่นั้น บางครั้งเวลานอนก็ถูกเอาทราบกรอกปาก ถึงเวลานั้นก็ฉันไม่ได้มาก เพราะถูกพระเณรที่ไม่เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษรังแกหรือหยิบอาหารของท่านไป กิน แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความอดทนและยึดมั่นในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงอโหสิกรรมพวกเขาและใช้ขันติในการปฏิบัติธรรมรับใช้ปรนนิบัติครูบา อาจารย์ด้วยดีต่อไป

ครูบาชัยลังก๋ามักลูบหัวของท่านด้วยความรักเอ็นดูและสั่งสอนให้ด้วยความ เมตตาอยู่เสมอว่า “มันเป็นกรรมเก่าของเณรน้อยตุ๊ลุงขอให้เณรน้อยใช้ขันติและความเพียรต่อไป เพื่อโลกุตตรธรรมอันยิ่งใหญ่ในภายหน้า เมื่อถึงเวลานั้นแล้วทุกคนที่เคยล่วงเกินเณรน้อย เขาจะรู้กรรมที่ได้ล่วงเกินเณรน้อยมา”

พระเจดีย์ชเวดากอง(จำลอง) วัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

พระเจดีย์ชเวดากอง(จำลอง)

ไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ในระยะที่อยู่กับครูบาชัยลังก๋าๆ ได้เมตตาอบรมสั่งสอนวิชาการต่างๆ ให้แก่ท่านเช่น ภาษาลานนา ธรรมะ การปฏิบัติกรรมฐาน รวมทั้งธุดงควัตร ตลอดถึงการดำรงชีวิตในป่าขณะธุดงค์ ครูบาชัยลังก๋ามักพาท่านไปแสวงบุญและธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เสมอ เพื่อให้ท่านมีประสบการณ์ ทั้งยังเคยพาท่านไปนมัสการรอบพระพุทธบาทห้วยต้มหลายครั้ง (วัดพระพุทธบาทห้วยต้น ในสมัยก่อนนั้นชื่อว่า วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม) สมัยนั้นวัดนี้เป็นวัดร้างยังเป็นเขาอยู่

ครั้งหนึ่งสามเณรชัยลังก๋าเห็นวิหารทรุดโทรมมาก จึงกราบเรียนถามครูบาชัยลังก๋า “ทำไมตุ๊ลุงถึงไม่มาสร้างวัดนี้มันทรุดโทรมมาก” ครูบาชัยลังก๋าตอบด้วยความเมตตาว่า “มันไม่ใช่หน้าที่ของตุ๊ลุงแต่จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้าง” ขณะที่ครูบาชัยลังก๋ากล่าวอยู่นั้น ท่านก็ได้ชี้มือมาที่สามเณรน้อยชัยลังก๋าพร้อมกับกล่าวว่า “อาจจะเป็นเณรน้อยนี้กะบ่ฮู้ที่จะมาบูรณะวัดนี้” ท่านจึงได้เรียนไปว่า “เฮายังเป็นเณร จะสร้างได้อย่างใด” ครูบาชัยลังก๋าจึงกล่าวตอบไปด้วยความเมตตาว่า “ถึงเวลาจะมาสร้าง ก็จะมาสร้างเอง”

คำพูดของครูบาชัยลังก๋านี้ไปพ้องกับคำพูดของครูบาศรีวิชัย ที่เคยกล่าวกับหม่องย่นชาวพม่า เมื่อตอนที่หลวงพ่ออายุได้ ๕ ขวบ ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้รับนิมนต์จากหม่องย่นให้มารับถวายศาลาที่วัดพระ พุทธบาทห้วยต้ม หม่องย่นให้ขอนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้มให้เจริญ รุ่งเรือง แต่ครูบาศรีวิชัยได้ตอบปฏิเสธไปว่า “ไม่ใช่หน้าที่กู จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้างในภายภาคหน้า”

ท่านอยู่กับครูบาชัยลังก๋าที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยเป็นเวลา ๑ ปี หลังจากนั้นครูบาชัยลังก๋าได้ออกจาริกธุดงค์ไปโปรดชาวบ้านที่จังหวัด เชียงราย ครูบาชัยลังก๋าได้ให้ท่านอยู่เฝ้าวัดกับพระเณรองค์อื่นในช่วงที่ท่านอยู่วัด นี้ ท่านก็ได้พบกันครูบาศรีวิชัยเป็นครั้งแรกซึ่งท่านเคารพนับถือครูบาศรีวิชัย มาก่อนหน้านี้แล้ว

ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้มาเป็นประธานในการฉลองพระธาตุที่วัดพระธาตุ แก่ง สร้อยในโอกาสนี้ท่านจึงได้อยู่ใกล้ชิดปรนนิบัติรับใช้ครูบาศรีวิชัยเป็นเวลา ๗ วัน การพบกันครั้งแรกนี้ ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับท่านไว้เป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านก็ยังประจำอยู่ที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยได้ไม่นาน เพราะทนต่อการกลั่นแกล้งจากพระเณรอื่นไม่ไหว จึงได้เดินทางกลับมาอยู่กับหลวงน้าของท่านเพื่อช่วยสร้างพระวิหารที่วัดก้อ ท่าซึ่งเป็นวัดร้างประจำหมู่บ้านก้อท่า ตำบลก้อทุ่ง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ในระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปีนั้น ท่านได้ติดตามครูบาอาจารย์หลายองค์ และได้จาริกออกธุดงค์ ปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ ตลอดจนได้ไปอบรมสั่งสอนชาวบ้านชาวเขาในที่ต่างๆ ด้วยเช่นกันในบางครั้งก็ไปกับครูบาอาจารย์ในบางครั้งก็ไปองค์เดียวเพียง ลำพัง เมื่อมีโอกาสท่านก็จะกลับมารับการ ฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์ทุกองค์ของท่านเสมอๆ

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่ออายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้าเป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ชัยยะวงศา” ในระหว่างนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติและศึกษาธรรมะกับครูบาพรหมจักร ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆ ทั้งลาวและพม่า ท่านได้อยู่กับครูบาพรหมจักรระยะหนึ่งแล้ว จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรม ความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขา ในที่ต่างๆ เช่นเคย

สอนธรรมะแก่ชาวเขา
ขณะที่ท่านธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ท่านได้พบและอบรมสั่งสอนธรรมะของพระพุทธองค์ให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ ต่างๆ ท่านเล่าว่า ตอนที่ท่านพบชาวเขาใหม่ๆ นั้น ในสมัยนั้นชาวเขาส่วนใหญ่ยังไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ในขณะที่ท่านจาริกธุดงค์ไปตามหมู่บ้านของพวกชาวเขา พวกชาวเขาเหล่านี้ก็จะรีบอุ้มลูกจูงหลานหลบเข้าบ้านเงียบหายกันหมดพร้อมกับ ตะโกนบอกต่อๆ กันว่า “ผีตาวอดมาแล้วๆ ๆ …”

ในบางแห่ง พวกผู้ชายบางคนที่ใจกล้าหน่อยก็เข้ามาสอบถามและพูดคุยกับท่าน บางคนเห็นหัวของท่านแล้วอดรนทนไม่ไหวที่เห็นหัวของท่านเหน่งใส จึงเอามือลูบหัวของท่านและทักทายท่านว่า “เสี่ยว” (แปลว่าเพื่อน) หลวงพ่อว่าในตอนนั้นท่านไม่รู้สึกเคืองหรือตำหนิเขาเหล่านั้นเลย นอกจากขบขันในความซื่อของพวกเขา เพราะพวกเขายังไม่รู้จักพุทธศาสนาในสมัยนั้นพวกชาวเขายังนับถือลัทธิบูชาผี บูชาเจ้าด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ถือธุดงค์ปฏิบัติกรรมฐานในสถานที่แห่งนั้น เพื่อจะหาโอกาสสอนธรรมะของพระพุทธองค์ให้กับพวกชาวเขา การสอนของท่านนั้น ท่านได้เมตตาบอกว่า ท่านต้องทำและสอนให้พวกเขารู้อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำให้พวกเขามีความรู้สึกแปลกประหลาดและขัดต่อจิตใจความเป็นอยู่ที่เขา มีอยู่

ท่านได้ใช้ตัวของท่านเองเป็นตัวอย่างให้เขาดู ในการที่จะทำให้พวกเขาหันมาปฏิบัติธรรมะของพระพุทธองค์ เมื่อพวกเขาถามท่านว่า “ทำไมทานจึงโกนผมจนหัวเหน่งและนุ่งห่มสีเหลืองทั้งชุดดูแล้วแปลดี” ท่านก็จะถือเอาเรื่องที่เขาถามมาเป็นเหตุในการเทศน์ เพื่อเผยแพร่ธรรมะให้พวกเขาได้ปฏิบัติและรับรู้กัน

หลวงพ่อได้เล่าว่า การสอนให้เขารู้ธรรมะนั้น ท่านต้องสอนไปทีละขั้น เพื่อให้เขารู้จัก พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เสียก่อน จากนั้นท่านจึงสอนพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระ- สัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกเขา โดยเฉพาะการทำงาน การถือศีลและการนั่งภาวนา ให้พวกเขาได้ปฏิบัติยึดถือกัน โดยเฉพาะเรื่องของศีล ๕ ท่านจะสอนเน้นให้พวกเขาไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่ทำร้ายผู้อื่น เพื่อจะได้ไม่เป็นเวรกรรมกันต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งการสอนของท่านทำให้พวกชาวเขาได้รับความสงบสุขภายในหมู่บ้านของเขาอย่าง ที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาจึงยิ่งเคารพนับถือและเชื่อฟังใน คำสั่งสอนของท่านมากยิ่งขึ้น

สอนกินมังสวิรัติ
หลวงพ่อได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าในสมัยนั้น พวกชาวเขาได้นำอาหารที่มีเนื้อสัตว์มาถวาย แต่ท่านหยิบฉันเฉพาะที่เป็นผักเป็นพืชเท่านั้น ทำให้เขาเกิดความสงสัย ท่านจึงได้ยกเอาเรื่องในพุทธชาดกมาเทศน์ให้พวกเขาฟัง เพื่อเป็นการเน้นให้เห็นถึงกฎแห่งกรรมและผลดีของการรักษาศีล

ท่านได้อยู่อบรมสั่งสอนให้พวกเขารับรู้ถึงธรรมะและการรักษาศีลอยู่เสมอๆ ทำให้พวกเขาเลื่อมใสและหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาโดยละทิ้งประเพณีเก่าๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา
ต่อมาพวกชาวเขาเหล่านี้ก็ได้เจริญรอยตามท่าน โดยเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสาวิรัติแทน (ดังที่เราจะเห็นได้จากกะเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน นี้) เมื่อท่านได้สอนพวกเขาให้นับถือศาสนาพุทธแล้ว ท่านก็จะจาริกธุดงค์แสวงหาสัจธรรมต่อไป และถ้ามีโอกาสท่านก็จะกลับไปโปรดพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ชาวเขาและชาวบ้านในที่ต่างๆ ที่ท่านเคยไปสั่งสอนมาจึงเคารพนับถือท่านมาก

ช่วยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ
เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงเดินทางกลับมาหาครูบาศรีวิชัยพร้อมกับชาวกะเหรี่ยงที่เป็นศิษย์ของ ท่าน เพื่อช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพในครั้งนี้ ครูบาศรีวิชัยได้เมตตาให้ท่านเป็นกำลังสำคัญทำงานร่วมกับครูบาขาวปีในการควบ คุมชาวเขาช่วยสร้างทางอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ยากลำบา เช่น การสร้างถนนในช่วงหักศอกก่อนที่จะถึงดอยสุเทพ (ช่วงที่คนวิพากษ์วิจารณ์ครูบาศรีวิชัยกันมากที่สร้างถนนหักศอกมากเกินไป)
ในระหว่างกำลังสร้างทางช่วงนี้ ได้มีหินก้อนใหญ่มากติดอยู่ใกล้หน้าผา จะใช้กำลังคนหรือช้างลากเช่นไรก็ไม่ทำให้หินนั้นเคลื่อนไหวได้ ชาวกะเหรี่ยงที่ทำงานอยู่นั้นจึงไปกราบเรียนให้ ครูบาศรีวิชัยทราย ท่านจึงให้คนไปตามหลวงพ่อซึ่งกำลังสร้างทางช่วงอื่นอยู่ เมื่อหลวงพ่อวงศ์มาถึงท่านได้ยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง จึงได้เดินทางไปผลักหินก้อนนั้นลงสู่หน้าผานั้นไป เหตุการณ์นี้ทำให้ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แปลกใจไปตามๆ กันที่เห็นท่านใช้มือผลักหินนั้นโดยไม่อาศัยเครื่องมือใด ๆ ครูบาศรีวิชัยได้ยืนยิ้มอยู่ข้างๆ ท่านด้วยความพอใจ (เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระและกะเหรี่ยงที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น)

ประทับรอยเท้าเป็นอนุสรณ์
ขณะที่ท่านช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพท่านได้ประทับรอยเท้าลึกลง ไปในหินประมาณ ๑ ช.ม. ข้างน้ำตกห้วยแก้ว (ช่วงตอนกลางๆ ของทางขึ้นดอยสุเทพ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ท่านได้มาช่วย ครูบาศรีวิชัยสร้างทาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ผู้เขียนและคณะได้มีโอกาสติดตามหลวงพ่อขึ้นไปนมัสการพระธาตุ-ดอยสุเทพ ขากลับท่านได้พาไปนมัสการวัดอนาคามี (ซึ่งเป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยได้มอบให้ท่านเป็นผู้ควบคุมการสร้าง ปัจจุบันทรุดโทรมหมดแล้ว) ระหว่างทางท่านได้พาพวกเราไปดูรอยเท้าที่ท่านประทับไว้ รอยเท้านั้นลึกลงไปในหินประมาณครึ่งเซนติเมตรมีรอยถูกน้ำกัดเซาะ พวกเราแปลกใจมากที่เห็นรอยเท้านั้น พอดีกับเท้าของท่านเมื่อท่านเหยียบลงไป (การประทับรอยเท้าเช่นนี้ท่านเคยไปประทับรอยเท้าและรอยมือไว้บนแผ่นหิน ณ ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นอนุสรณ์เช่นกันเป็นที่ประจักษ์สายตาของคณะศิษย์ที่ร่วมเดินทางไป ทุกครั้ง)

อุปสรรค
ท่านเป็นผู้ที่ครูบาศรีวิชัยไว้ใจมากองค์หนึ่งเพราะเมื่อครูบาศรีวิชัยมี ปัญหาเรื่องขาดกำลังคน ครูบาศรีวิชัยก็จะมอบหน้าที่ให้ท่านไปนำกะเหรี่ยงอยู่บนดอยต่างๆ มาช่วยสร้างทาง
หลวงพ่อเล่าว่า การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ และการสร้างบารมีของครูบาศรีวิชัยนั้นทุกข์ยากลำบากมาก เพราะถูกกลั่นแกล้งจากบุคคลอื่นที่ไม่เข้าใจและอิจฉาริษยาอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ครูบาศรีวิชัยให้ท่านไปนำกะเหรี่ยงมาช่วยสร้างทาง ระหว่างการเดินทางต้องคอยหลบเลี่ยงจากการตรวจจับของพวกตำรวจหลวง และคณะสงฆ์ที่ไม่เข้าใจ ครูบาศรีวิชัยท่านได้เล่าว่าในเวลากลางวันต้องหลบซ่อนกันในป่าหรือเดินทาง ให้ห่างไกลจากเส้นทางสัญจร เพื่อหลบให้ห่างจากผู้ขัดขวาง ส่วนในเวลากลางคืนต้องรีบเดินทางกันอย่างฉุกละหุก เพราะเส้นทางต่างๆ มืดมากต้องอาศัยโคมไฟตามบ้านเป็นการดูทิศทาง เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยบารมีและความตั้ง มั่นในการทำความดีของครูบาศรีวิชัยที่มีต่อพระพุทธศาสนาทำให้พุทธบริษัททั้ง ชาวบ้านและชาวเขาจากในที่ต่างๆ จำนวนมาก มาช่วยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพได้สำเร็จดังความตั้งใจของครูบาศรีวิชัย โดยใช้เวลาสร้างเพียง ๗ เดือนเท่านั้น

เมื่อครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพสำเร็จแล้ว หลวงพ่อจึงได้ไปกราบลาครูบาศรีวิชัย กลับไปอยู่ที่เมืองตื๋น วัดจอมหมอก ตำบลแม่ตื๋น กิ่งอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ถูกจับห่มขาว
เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ขณะที่ท่านอยู่ที่วัดจอมหมอก เจ้าคณะตำบลได้มาจับท่านสึก ในข้อหาที่ท่านเป็นศิษย์และเป็นกำลังสำคัญที่ปฏิบัติเชื่อฟังครูบาศรีวิชัย อย่างเคร่งครัด (ซึ่งในขณะนั้นครูบาศรีวิชัยได้ถูกจับมาสอบสวนอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ) แต่ตัวท่านเองไม่ปรารถนาที่จะสึกจะหนีไม่ได้ เมื่อทางคณะสงฆ์จะจับท่านสึกและให้นุ่งห่มดำหรือแต่งแบบฆราวาส ท่านไม่ยอมเพราะท่านไม่ได้ผิดข้อปฏิบัติของสงฆ์ แต่เมื่อคณะสงฆ์ที่ไปจับท่านสึกไม่ให้ห่อเหลือง ท่านจึงหาผ้าขาวมาห่มแบบสงฆ์เลียนเยี่ยงอย่างครูบาขาวปี วัดผาหนาม (ซึ่งเคยถูกจับสึกไม่ให้ห่อเหลืองในข้อหาเดียวกัน ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยถูกอธิกรณ์ก่อนที่จะมีการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ และยึดถือข้อวัตรปฏิบัติเหมือนที่เป็นสงฆ์อย่างเดิม ผู้เขียนได้ทราบจากหลวงพ่อครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้า , ครูบาบุญทืม และ เจ้าคุณราชฯ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนองค์ก่อนวัดจามเทวีพูดให้ผู้เขียนฟังว่า “ในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสที่เป็นศิษย์ของครูบาศรีวิชัยก็ยังนับถือหลวงพ่อ เป็นพระสงฆ์เช่นเดิม เพราะการสึกในครั้งนั้นไม่สมบูรณ์ ครูบาวงศ์ไม่ได้ทำผิดพระวินัยของสงฆ์ และในขณะที่สึกนั้นจิตใจของท่านก็ไม่ยอมรับที่จะสึก ยังยึดมั่นว่าตัวเองเป็นพระสงฆ์เหมือนเดิม ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านยังปฏิบัติข้อวัตร พระธรรม-วินัยของสงฆ์ทุกประการ”

หลวงพ่อได้เล่าว่า ในคราวนั้นลูกศิษย์ลูกหาของครูบาศรีวิชัยระส่ำระสายกันมาก บางองค์ก็ถูกจับสึกเป็นฆราวาส บางองค์ก็หนีไปอยู่ที่อื่นบ้าง ในป่าในเขาบ้าง เพื่อไม่ให้ถูกจับสึก
รวมตัวที่บ้านปาง

หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยพ้นจากอธิกรณ์ครูบาศรีวิชัยได้เดินทางกลับไป จังหวัด ลำพูนเพื่อไปบูรณะและสร้างวัดบ้างปาง อันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน หลวงพ่อและครูบาขาวปี (ซึ่งขณะนั้นนุ่งขาวห่มขาวทั้งคู่) ตลอดจนลูกศิษย์ทั้งที่ถูกจับสึกเป็นฆราวาส และที่หนีไปในที่ต่างๆ ต่างก็ได้เดินทางกลับมาช่วยกันสร้างและบูรณะวัดบ้านปางเพื่อให้เป็นที่อยู่ ที่ถาวรของครูบาศรีวิชัย

พระสงฆ์ที่เคยช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวัดบ้านปาง ปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่ที่หลวงพ่อพอจำได้ คือ ครูบาศรีนวล วัดเจริญเมือง จังหวัดเชียงราย , ครูบาก้อน ปัจจุบันย้ายจากวัดสวนดอกไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง (ครูบาก้อนนี้เป็นผู้นำเถ้าอังคารของครูบาศรีวิชัยมาทำพระเครื่องรูปเหมือน ครูบาศรีวิชัย ซึ่งปัจจุบันพระเครื่องชุดนี้ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป)
หลวงพ่อได้ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวิหารที่วัดบ้านปางได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงลาไปบำเพ็ญภาวนาธุดงค์ แสวงหาสัจธรรมต่อไปในป่าในเขา และเผยแพร่ธรรมะให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ ต่อไป

หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ชีวิตเดินธุดงค์
ในสมัยนั้น ท่านได้ธุดงค์บำเพ็ญเพียรไปในที่ต่างๆ องค์เดียวเสมอ ท่านชอบธุดงค์ไปอยู่ในป่า ในถ้ำที่ห่างไกลผู้คน หลวงพ่อเล่าว่า ในสมัยนั้นการเดินธุดงค์ไม่สะดวกสบายเช่นสมัยนี้เพราะเครื่องอัฏฐบริขารและ กลดก็หาได้ยากมาก ตามป่าตามเขาก็มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายอาศัยกันอย่างมากมาย ในขณะถือธุดงค์ในป่าในเขาก็ต้องอาศัยถ้ำหรือใต้ต้นไม้เป็นที่พักที่ภาวนา เมื่อเจอพายุฝนก็ต้องนั่งแช่อยู่ใน น้ำที่ไหลท่วมมาอย่างรวดเร็วเช่นนั้นจนกว่าฝนจะหยุดตก การภาวนาในถ้ำในสมัยก่อนนั้นก็มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เช่น เสือ, ช้าง, งู, เม่น ฯลฯ เป็นต้น แต่มันไม่เคยมารบกวน หรือสร้างความกังวลใจให้ท่านเลย ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้ไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำแห่งหนึ่งที่ตำบลบ้านก้อ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ ต้นสักแต่ละต้นขนาด ๓ คนโอบไม่รอบ ในถ้ำนั้นมีเม่นและช้างอาศัยอยู่ บางครั้งก็มีเสือเข้ามาหลบฝนบ่อยครั้งที่ท่านกำลังภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น พวกมันจะมาจ้องมองท่านด้วยความแปลกใจ ทำให้ท่านรู้สึกถึงความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสาของสัตว์ที่มองดูท่านด้วย ท่าทางฉงนสนเท่ห์ ทำให้ท่านนึกถึงคำสั่งสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ความไม่เบียดเบียนกันเป็นความสงบสุขอย่างยิ่ง” หลวงพ่อบอกว่าพระธุดงค์ในสมัยก่อนต้องผจญอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มากมาย จึงต้องเคี่ยวจิตใจและกำลังใจให้เข้มแข็งและแกร่งอยู่เสมอ ดังนั้น พระธุดงค์รุ่นเก่าจึงเก่งและได้เปรียบ กว่าพระสงฆ์ในปัจจุบัน ทั้งในด้านจิตใจและการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา แต่เสียเปรียบกว่า พระสงฆ์ในยุคนี้ในด้านการใฝ่หาความรู้ทางด้านปริยัติ เพราะในสมัยนี้ความเจริญทำให้ไปไหนมาไหนได้สะดวกและเร็วขึ้น พระสงฆ์ในรุ่นเก่าที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองจึงต้องบังคับจิตใจ บำเพ็ญเพียร ปฏิบัติภาวนาให้เกิดปัญญาและธรรมะขึ้นในจิตในใจ เพื่อนำมาพิจารณาและปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน

ธุดงค์น้ำแข็ง
บ่อยครั้งท่านได้ธุดงค์จาริกผ่านไปที่กิ่งอำเภออมก๋อย ในฤดูหนาวบริเวณภูเขาของกิ่งอำเภออมก๋อยจะมีเหมยค้างปกคลุมไปทั่ว (เหมยค้างนี้ภาษาภาคเหนือ หมายถึง น้ำค้างที่กลายเป็น น้ำแข็ง) ในบริเวณนี้มีต้นสนขนาดต่างๆ ขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย เวลาย่ำเดินไปบนพื้น น้ำแข็ง ขาจะจมลึกลงไปในน้ำแข็งนั้น ทำให้เกิดความหนาวเย็นเป็นอันมาก เพราะท่านมีแต่ผ้าที่ครองอยู่เพียงชั้นเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อมีลมพัดผ่านมา ท่านต้องสั่นสะท้านทุกครั้ง

ท่านได้เล่าว่า ความแห้งแล้งของอากาศและความหนาวเย็นของน้ำแข็ง ทำให้ผิวหนังของท่านแตกปริเป็นแผลไปทั้งตัว ต้องได้รับทุกขเวทนามาก สมัยนั้นในภาคเหนือจะหากลดมาสักอันหนึ่งก็ยากมาก การธุดงค์ของท่านก็มีแต่อัฏฐบริขารเท่านั้น ที่ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง ช้อนก็ทำจากกะลามะพร้าว ถ้วยน้ำก็ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ผ้าจีวรที่ครองอยู่ก็ต้องปะแล้วปะอีก

ท่านได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนว่า แต่การปฏิบัติภาวนาบนภูเขาที่มีน้ำแข็งปกคลุมมากเช่นนี้ ทำให้การปฏิบัติสมถะและวิปัสนากรรมฐานนั้นกลับแจ่มชัดและรวดเร็วดียิ่งกว่า ในเวลาปกติธรรมดาเพราะทำให้ได้เห็นเรื่องของไตรลักษณ์ได้ชัดเจนดี และการพิจารณาขันธ์ ๕ อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็สามารถเห็นอย่างแจ่มชัด ทำให้ในขณะภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น จิตสงบดีมาก ไม่พะวงกับ สิ่งภายนอกเลย

ในบางครั้ง ขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น ไฟที่ก่อไว้ได้ลุกไหม้จีวรของท่านไปตั้งครึ่งค่อนตัวท่านยังไม่รู้สึกตัวเลย เมื่อจิตออกจากสมาธิแล้ว ท่านต้องรีบดับไฟที่ลุกไหม้อยู่นั้นอย่างรีบด่วน ทำให้ต้องครองผ้าจีวรขาดนั้นไปจนกว่าจะเดินทางไปพบหมู่บ้าน ท่านก็จะนำผ้าที่ชาวบ้านถวายให้มาต่อกับจีวรผืนเก่าที่เหลืออยู่นั้น ในบางครั้งท่านจะนำผ้าบังสุกุลที่พบในระหว่างทางมาเย็บต่อจีวรที่ขาดอยู่ นั้นตามแบบอย่างที่ครูบาอาจารย์ในยุคก่อนๆ ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล

หลวงพ่อ เป็นพระสงฆ์ผู้ถ่อมตนและไม่เคยโออวดเป็นนิสัยเมื่อมีผู้สงสัยว่าท่านคงเข้า สมาธิจนสูงถึงขึ้นจิตไม่จับกับ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้ ตัวท่านมักตอบเลี่ยงไปด้วยใบหน้าเมตตาว่า “คงจะอากาศหนาวมากหลวงพ่อจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้จีวร”
หลวงปู่ชัยยะ วงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ
เมื่อท่านได้ ๒๘ ปี ขณะนั้นท่านได้จาริกธุดงค์สั่งสอนชาวป่าชาวเขาดอยต่างๆ ท่านได้ทราบข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย จึงได้เดินทางลงจากเขาเพื่อไปนมัสการพระศพ และช่วยจัดทำพิธีศพของครูบาศรีวิชัย ร่วมกับครูบาขาวปีและคณะศิษย์ของครูบาศรีที่วัดบ้านปาง เมื่อเสร็จจากพิธีบรรจุศพครูบาศรีวิชัยแล้ว กรมทางได้นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างเส้นทางบ้านห้วยกาน - บ้านห้วยหละ ซึ่งในตอนนั้นท่านก็ยังห่มผ้าสีขาวอยู่ เมื่อการสร้างทางได้สำเร็จลงแล้ว ชาวบ้านห้วยหละ จึงได้มานิมนต์ท่านไปจำพรรษา และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทที่สำนักสงฆ์ห้วยหละ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ห่มเหลืองอีกครั้งหนึ่ง
ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๒๘ ปี ครูบายศ (ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของครูบาศรีวิชัย และเป็นเพื่อนสงฆ์กลุ่มเดียวกับหลวงพ่อ, ครูบาขาวปี วัดผาหนาม จังหวัดลำพูน, ครูบาบุญทืม วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน, ครูบาศรีนวล วัดเจริญเมือง จังหวัดเชียงราย, ครูบาก้อน จังหวัดลำปาง ฯลฯ เป็นต้น) และชาวบ้านป่าพลูได้มานิมนต์ให้ท่านไปอยู่ช่วยบูรณะวัดป่าพลูและในปีนี้ท่าน ได้มีโอกาสห่มเหลืองเช่นพระสงฆ์ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง โดยมีครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาใหม่ว่า “จันทวังโส” (ในคราวนี้หลวงปู่แก้วอุบาลี วัดห้วยแทง จังหวัดลำพูนเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในพิธีด้วยองค์หนึ่ง)

ในการห่มเหลืองในครั้งนี้ คณะสงฆ์ได้ออกญัตติให้ท่านต้องจำพรรษาที่วัดป่าพลูเป็นเวลา ๕ พรรษา เมื่อออกพรรษาในแต่ละปีท่านจะเดินทางไปธุดงค์และจาริกสั่งสอนธรรมะให้กับชาว ป่าชาวเขาในที่ต่างๆ เสมอเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมาในอดีต และบ่อยครั้งท่านจะไปช่วยครูบาขาวปีบูรณะวัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ตรงตามคำทำนาย
เมื่อท่านอยู่วัดป่าพลูครบ ๕ พรรษาตามบัญญัติของสงฆ์แล้ว ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๔ ปี นายอำเภอลี้ และคณะสงฆ์ในอำเภอลี้ ได้ให้ศรัทธาญาติโยมวัดนาเลี่ยงมานิมนต์ครูบาขาวปีหรือท่านองค์ใดองค์หนึ่ง เพื่อไปอยู่เมตตาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม แต่ครูบาขาวปีไม่ยอมไป และบอกว่า “ไม่ใช่หนึ่งที่ของกู” ครูบาศรีวิชัยเคยพูดไว้ว่า “วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มนั้น มันเป็นหน้าที่ของครูบาวงศ์องค์เดียว” ด้วยเหตุนี้ ครูบาขาวปีจึงขอให้ท่านไปอยู่โปรดเมตตาสร้างวัด พระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม ซึ่งต่อมาในภายหลังจากที่ท่านได้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มแล้ว ท่านได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลง เป็น “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม”

ในขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองตื๋นนั้น ชาวบ้านและชาวเขาต่างเรียกท่านว่า “น้อย” เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดพระบาทห้วย (ข้าว) ต้ม ชาวบ้านทั้งหลายจึงเชื่อกันว่า ท่านคงเป็น “พระน้อยเมืองตื๋น” ตาม คำโบราณที่ได้จารึกไว้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม และเหตุการณ์นี้ก็ตรงตามคำพูดของครูบาชัยลังก๋า และครูบาศรีวิชัย ดังที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อท่านย้ายมาประจำที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้มและท่านก็ยังออกจาริกไปสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ อยู่เสมอๆ เหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมา

ผู้เฒ่าผู้รู้เหตุการณ์
ในระยะแรกที่หลวงพ่อมาที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านนาเลี่ยงได้พูดกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า “ต่อไปบริเวณเด่นยางมูล (คือหมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน) จะมี ชาวกะเหรี่ยงอพยพติดตามครูบาวงศ์มาอยู่ที่นี่จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ในอนาคต ในครั้งนี้จะใหญ่กว่า หมู่บ้านกะเหรี่ยง ๔ ยุคที่เคยอพยพมาอยู่ที่นี่ในสมัยก่อนหน้านี้” คำพูดอันนี้ในสมัยนั้นชาวบ้านนาเลี่ยงฟังแล้ว ไม่ค่อยเชื่อถือกันนัก แต่ในเวลาต่อมาไม่นานคำพูดอันนี้ก็เป็นความจริงทุกประการ

หลวงพ่อได้เล่าให้คณะศิษย์ฟังเพิ่มเติมว่าคนเฒ่าผู้นี้เป็นผู้รู้ เหตุการณ์ ในอนาคตและมักจะพูดได้ถูกต้องเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากที่ท่านได้สร้างวิหารที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม เป็น รูปร่างขึ้นแล้ว ผู้เฒ่าคนนี้ในสมัยก่อนเคยเห็นคำทำนายโบราณของวัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้มมาก่อน ได้มาพูดกับท่านว่า “ท่านครูบา จะสร้างให้ใหญ่เท่าไหร่ก็สร้างได้ แต่จะสร้างใหญ่จริงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ต่อไปจะมีคนๆ หนึ่งมาช่วย ถ้าคนนี้มาแล้วจะสำเร็จได้”

ชาวเขาอพยพตามมา
เมื่อท่านอยู่ที่วัดห้วย (ข้าว) ต้ม ได้ไม่นาน คำพูดของผู้เฒ่าคนนี้ก็เป็นความจริง เพราะชาวเขาจากที่ต่างๆ ที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมาก็ได้อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามมาอยู่กับท่านเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเพื่อมาขอพึ่งใบบุญและปฏิบัติธรรมะกับท่าน

ในระยะแรกๆ นั้นท่านได้ตั้งกฎให้กับพวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับท่านว่า พวกเขาจะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาถวายวัด และให้สาบานกับท่านว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและจะกินมังสวิรัติตลอดไป ท่านได้เมตตาให้เหตุผลว่า ท่านต้องการให้เขาเป็นคนดี ลดการเบียดเบียน มีศีลธรรม หมู่บ้านห้วยต้มจะได้มีแต่ความสงบสุขทั้งทางโลกและทางธรรม และจะได้ไม่เป็นปัญหาของประเทศชาติต่อไป ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วย (ข้าว) ต้มนี้ มีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบและมีความสงบสุข ตามที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา ทั้งที่ในหมู่บ้านนี้มีกะเหรี่ยงอยู่หลายพันคน

แต่ในสมัยนี้กฎและระเบียบที่ชาวกะเหรี่ยงที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วย ต้ม ที่จะต้องนำมีดไม้ ที่เคยฆ่าสัตว์มาสาบานกับหลวงพ่อนั้นได้ยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะหลวงพ่อเห็นว่าทางราชการ ได้ส่งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาจัดการดูแลช่วยเหลือและให้การศึกษาแก่พวกเขา คงจะช่วยพวกเขาให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสงบสุขเป็นระเบียบเหมือนที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา.

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : buddhawax.com

Top