หลวงปู่จาม มหาปุญโญ
ประวัติ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
ประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ จาก หนังสือจังหวัดมุกดาหาร
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นบุตรของนายกา ผิวขำ กับ นางมะแง้ ผิวขำ ที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันหลวงปู่จาม มีอายุ ๙๕ ปี
ชีวิตการอุปสมบท
เมื่อ อายุ ๗ ขวบ ได้บวชเรียนที่วัดหนองแวง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ต่อมาได้ติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เพื่อศึกษาพระวิปัสสนากรรมฐาน ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือเป็นเวลา ๑๕ ปี และได้ลาสิกขาออกมาอยู่กับบิดามารดา เนื่องด้วยสุขภาพไม่ดี
ครั้นอายุ ๒๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๒) จึงได้บวชอีกครั้งหนึ่งและได้ธุดงค์ไปภาคเหนือ จำพรรษาอยู่วัดเจดีย์หลวง ๓๒ พรรษา จากนั้น ได้ไปปฏิบัติธรรม กับ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงกลับมาปักกรด จำพรรษาที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม สร้างวัดป่าวิเวกวัฒนาราม ให้เป็นที่พำนักนั่งวิปัสสนากรรมฐาน
ผลงานที่เป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ท่านเป็นพระที่อารมณ์ดี มีเมตตาสูง ปฏิบัติตามกฎระเบียบ วินัยพระ อย่างเคร่งครัด แม้ว่าสุขภาพไม่ดี ท่านก็ยังออกบิณฑบาต ทุกเช้า ไม่เบื่อหน่ายในความเพียร จึงทำให้มีศิษยานุศิษย์ ทั่วประเทศ พุทธศาสนิกชน หลั่งไหลมาฟังพระเทศนา ของหลวงปู่จามอยู่มิได้ขาด วันหนึ่ง ๆ มีญาติโยมมาเป็นจำนวนมากแต่หลวงปู่จาม ก็ไม่เคยบ่นมีแต่ความพึงพอใจ ที่ได้เทศนาสั่งสอน ด้วยใบหน้ายิ้มละไมอยู่เป็นนิจ ครั้งหนึ่ง ท่านเคยกล่าวว่า “ คนเรา เมื่อประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม อยู่ในความไม่ประมาท หมั่นบำเพ็ญบุญ สวดมนต์ไหว้พระทุกวัน แล้วก็ไม่ต้องวิ่งไปหาพระที่ไหนชีวิตก็เป็นสุข ” ซึ่งหลวงปู่ ได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด แก่พุทธศาสนิกชน ทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนี้
๑. เทศนาสั่งสอน ญาติโยมที่มานมัสการหลวงปู่ ทุกวันพระ และวันสำคัญจะมีประชาชนมาเป็นจำนวน ๑๐๐ - ๒๐๐ คนขึ้นไป
๒. หลักธรรม คำสั่งสอนของหลวงปู่ ได้มีคนบันทึกเทปไว้เป็นจำนวนมาก
๓. หลวงปู่จาม มีความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ธรรมชาติให้เป็นที่นั่งวิปัสสนา ได้อย่างกลมกลืนร่มรื่น ปราศจากสิ่งรบกวน
๔. สร้างพระเจดีย์ทรงจุฬามณีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๕. สร้างกุฏิเสาเดียว จำนวน ๑๑ หลัง
๖. สร้างศาลาการเปรียญ และหอฉันสำหรับไว้เทศนาญาติโยมในวันสำคัญต่าง ๆ
คุณความดี ผลงานของท่านล้วนเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง สรรเสริญ ที่บุคคลทั่วไปควรยึดไว้เป็นที่พึ่งและเป็นตัวอย่างที่เราควรจะจารึกไว้ให้ แก่ประชาชนทั่วไป ได้เลื่อมใสศรัทธา ปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนของท่านจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dhammasavana.or.th
ประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ รวบรวมโดย พ.ต.อ. ญาณพล ยั่งยืน
พ.ศ. ๒๔๕๓ กำเนิด เด็กชายจาม ผิวขำ ในปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ช่วงก่อนที่จะทรงเสด็จสวรรคต ( ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ) ในปีนั้น หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ได้ถือกำเนิด เป็นเด็กชายจาม ผิวขำ เมื่อ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๓ ตรงกับวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปี จอ ณ บ้านห้วยทราย คำชะอี จ.นครพนม ( ปัจจุบันเป็น อ.คำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ) โดยเป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายกา นางมะแง้ ผิวขำ หลวงปู่จาม มีพี่น้องรวม ๙ คน ดังนี้คือ นายแดง นายเจ๊ก นายจาม นางเจียง นายจูม นางจ๋า นายถนอม นายคำตา และนางเตื่อย
พ.ศ. ๒๔๕๙ ไปกราบ หลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่มั่น เมื่ออายุได้ ๖ ปี พ่อแม่ได้พา เด็กชายจามฯไปกราบ หลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่มั่น ซึ่งได้มาจำพรรษาอยู่ใกล้บ้านที่ภูผากูด คำชะอี
พ.ศ. ๒๔๖๔ ดูแลอุปัฏฐากพระกรรมฐาน บรรดาศิษย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นจำนวนประมาณ ๗๐ รูป ได้มารวมกันเป็นกองทัพธรรมสายพระกรรมฐานมากเป็นประวัติการณ์ ที่ภูผากูด เนื่องจาก หลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่มั่น ได้มาพักประจำอยู่ที่ถ้ำจำปา ขณะเด็กชายจาม อายุได้ประมาณ ๑๑ ปี ได้ติดตามพ่อแม่ไปอุปัฏฐากดูแลพระกรรมฐานทั้งหลายอย่างใกล้ชิด( สถานที่ซึ่งรวมตัวกันนั้น ต่อมาได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์หนองน่อง ทางทิศใต้ของบ้านห้วยทราย และได้ย้ายมาเป็น วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ในปัจจุบัน )
พ.ศ ๒๔๖๙ ถวายตัวกับหลวงปู่มั่น เมื่อ เด็กชายจาม อายุได้ ๑๖ ปี พ่อแม่ได้พาไปถวายตัวกับหลวงปู่มั่น ที่ จ.อุบลราชธานี นุ่งขาวห่มขาว เป็นเวลา ๙ เดือน หรือที่เรียกว่าเป็น ผ้าขาว ๙ เดือน
พ.ศ. ๒๔๗๐ บรรพชาเป็นสามเณร ครั้งที่ ๑ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ๑ พรรษา ที่บ้านหนองขอน อ.บุ่ง จ.อุบลราชธานี (อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ) ได้รับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน ได้แก่ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ , หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ , ท่านพ่อลี ธมฺมธโร , หลวงปู่สิงห์ ขนฺยาคโม , หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็น สหธรรมิกเพื่อนสามเณร กับ สามเณรสิม ( หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ) อีกด้วย
พ.ศ. ๒๔๗๑ ออกธุดงค์ เป็นครั้งแรก เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี หลวงปู่มั่น ได้ฝากสามเณรจาม ไว้กับ หลวงปู่กงมา หลวงปู่อ่อน หลวงปู่มหาปิ่น โดย สามเณรจาม ได้ติดตามครูบาอาจารย์ออกธุดงค์ไปยโสธร เป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๗๒ ป่วยจำเป็นต้องลาสิกขา เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี สามเณรจาม ได้ออกธุดงค์ไปยังขอนแก่น กับหลวงปู่อ่อน หลวงปู่กงมา ต่อมาในปีนั้น สามเณรจาม ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคเหน็บชา จึงจำเป็นต้องลาสิกขา เพื่อกลับ เพื่อกลับไปรักษาตัวที่ บ้านห้วยทราย คำชะอี จนหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ทำไร่ ทำนา ค้าขาย ต่อมาจนถึงอายุ ๒๘ ปี
พ.ศ. ๒๔๘๐ อธิฐานขอบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อ นายจาม ผิวขำ มีอายุได้ ๒๗ ปี พ่อกา ( โยมพ่อ ) บวชเป็นพระภิกษุ ( ใช้ชีวิตอีก ๖ ปี ก็มรณภาพในปี ๒๔๘๖ ) ส่วน แม่มะแง้ (โยมแม่) ก็ได้บวชชี ( ใช้ชีวิตอีก ๓๖ ปี จึงถึงแก่กรรม ) ช่วงเดือน พฤศจิกายน ๒๔๘๐ นายจาม ผิวขำ ไปไหว้พระธาตุพนม จ.นครพนม เพื่ออธิฐานขอบวชในพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๔๘๑ บรรพชาเป็นสามเณร ครั้งที่ ๒ คณะ ญาติ ได้พาไปซื้อเครื่องบวชที่ร้านขายสังฆภัณฑ์ ที่ตลาดบ้านผือ นายจาม ผิวขำ พบนางสาวนาง เป็นลูกสาวเจ้าของร้าน เกิดปฏิพัทธ์จิตรักใคร่ทันทีเมื่อแรกพบ แม่ชีมะแง้ ได้ปรึกษากับแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เกรงจะมีปัญหาจึงได้พานายจาม ผิวขำ บวชเป็นสามเณร ไว้ก่อนที่วัดป่าโคกคอน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๘๑ เพื่อหนีผู้หญิง แล้วเดินเท้าต่อไป ไหว้พระพุทธบาทบัวบก หอนางอุษา และมุ่งหน้าไป วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๘๒ ( อายุ ๒๙ ปีบริบูรณ์ ) อุปสมบท เมื่อ อายุได้ ๒๙ เต็มปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๒ ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระเทพกวี ( จูม พนฺธุโล ) เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อบวชเสร็จ พระจาม มหาปุญโญ ได้ออกธุดงค์ไปองค์เดียวไปภาวนาที่พระบาทคอแก้ง อยู่บริเวณ วัดพุทธบาท ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ขณะภาวนาเกิดนิมิตเห็นพญานาคขึ้นมาแล้วบอกว่าที่นี่เป็นพระพุทธบาทจริง พวกตนได้ขอไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จ ผ่านมา ต่อมา พระจาม ได้ภาวนาอยู่ถ้ำพระ อ.บ้านผือ แล้วย้ายไปภาวนาที่หออุษา และย้ายไปภาวนาที่ถ้ำบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งไม่ไกลกันนัก ที่ถ้ำพระพุทธบาทบัวบกนี้ พระจามได้ตั้งใจปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก จนได้รู้ว่า เจดีย์เก่าองค์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระอาจารย์ หลวงปู่บุญ ปญฺญาวุโธ อัฐิได้กลายเป็นพระธาตุแล้ว ซึ่งท่านได้เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ซึ่งพระจามไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ขณะภาวนาอยู่ได้เกิดแสงสว่างเป็นลำพุ่งลงมาจากท้องฟ้า สว่างเฉพาะบริเวณเจดีย์ พอรุ่งเช้าขึ้นจึงไปค้นดู ปรากฏหลักฐานที่สลักไว้ที่ฐานเจดีย์เท่านั้น จึงทราบความจริงดังกล่าวหลังจากนั้น พระจาม จึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองน่อง บ้านห้วยทราย คำชะอี เป็นพรรษาที่ ๑
พ.ศ. ๒๔๘๓ ( อายุ ๓๐ ปี ) เมื่อ ออกพรรษา จึงเดินทางไปอยู่ที่ภูเก้ากับหลวงพ่อกา ( โยมพ่อ ) ระยะหนึ่ง จึงไปอยู่ภูจ้อก้อจนถึง เดือน ๗ ( กรกฎาคม ๒๔๘๓ ) จึงเดินทางต่อไป อยู่กับพระอาจารย์คูณ อธิมุตโต วัดป่าพูนไพบูลย์ บ้านหินตั้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม จำพรรษาที่ ๒ กับพระอาจารย์คูณ ซึ่งเป็นญาติกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เมื่อออกพรรษาแล้ว พระจาม จึงได้เดินทางต่อไปบ้านห้วยยาง อ.ชุมแพ ต่อจากนั้นก็เดินทางต่อไปบ้านกกเกลี้ยง ต่อไปยังถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ถ้ำผาบิ้ง หลวงปู่จามได้นั่งภาวนา จนถึงคืนสุดท้าย เวลาใกล้รุ่ง ก่อนจะเดินทางไปยังเพชาบูรณ์ เกิดจิตแจ้งสว่างไปหมด เห็นทุกทิศทุกทางสว่างไสว จิตตั้งอยู่ในความสว่างประมาณ ๒๐ นาที เหมือนจุเทียนแล้วความสว่างก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสว่างรอบทิศ แล้วค่อยๆ ลดความสว่างลงไปๆ จนดับมืด ขณะสว่างนั้น ได้ยินคนคุยกันซึ่งเป็นอาโลกกสิณ และ ในตอนท้ายของการภาวนานั้น ได้ทราบว่าถ้ำผาบิ้งแห่งนี้ เป็นสถานที่นิพพานของพระอุบาลีมหาเถระ ตั้งแต่ พ.ศ.๔ หลังจากนั้นจึงได้ออกจากถ้ำผาบิ้ง มุ่งไปเพชรบูรณ์ พักที่เชิงเขาใกล้บ้านเลยวังใส ริมแม่น้ำเลย
พ.ศ. ๒๔๘๔ อายุ ๓๑ ปี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อ ออกจากบ้านเลยวังใส ไปบ้านเลยวังกลอย เดินต่อไปอีกประมาณ ๔ โมงเย็น ถึงสำนักสงฆ์บ้านหินกลิ้ง เป็นที่ซึ่งพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และโยมสร้างไว้ และพระอาจารย์มหาปิ่น ได้เคยจำพรรษาที่นั่นมาก่อนพระจาม พักอยู่ที่นั่นนานพอสมควร เนื่องจากพระสิงห์ ซึ่งเดินทางไปด้วยกันเกิดอาพาธด้วยไข้มาลาเรียและได้มรณะภาพ ลงที่นั้น ในพรรษาที่ ๓ พระจาม เดินทางต่อไปจำพรรษา ที่สำนักสงฆ์บ้านโนนผักเนา อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระจาม ได้เดินทางต่อไปโดยเดินข้ามเทือกเขาตะกุดรัง พิจิตร ตะพานหิน ถึงอุตรดิตถ์ต่อไปยังพระแท่นศิลาอาสน์ พักแรมที่นั่นแล้วออกเดินทางต่อไปตามเส้นทางรถไฟ เดินนับหนอนรถไฟจากพระแท่นศิลาอาสน์ ลอดอุโมงค์เขาพึง เด่นชัย – แม่เมาะ – แม่ทะ ถึงแม่ตาลน้อย นายสถานีรถไฟแม่ตาลน้อย เกิดความเลื่อมใสจึงซื้อตั๋วรถไฟถวายถึงทาชมภู จึงได้ขึ้นรถไฟช่วงสั้น ๆ ไปลงที่สถานีท่าชมภู แล้วเดินเท้าตามทางรถไฟต่อไปยังสถานีแม่ทา – ลำพูน – เชียงใหม่ เข้าไปพักที่วัดเจดีย์หลวง ประมาณกลางเดือนธันวาคม ๒๔๘๔
พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุ ๓๒ ปี พรรษาที่ ๔ พบพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร,หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระ จามออกจากวัดเจดีย์หลวง มุ่งหน้าไปจำพรรษาที่ วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้พบกับอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งเป็นสหธรรมิกกันในสมัยที่เป็นสามเณร แม้ว่าจะเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่ขณะนั้นก็ต่างพรรษากัน เป็นระดับครูบาอาจารย์แล้ว ความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็ยังเป็นเชื้อให้มีการถกแถลงด้านธรรมะกันอย่างออก รสในธรรม ในปีนั้น หลวงปู่จามได้เคยโต้วาทีกับบาทหลวงคริสต์ ที่บ้านพุงต้อม ต.ยุวา อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ช่วงนั้นมีหญิงสาวหลายคนพยายามที่จะได้ตัวหลวงปู่จามไปเป็นสามี หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เทศนาภัย ๔ อย่างของนักบวช ได้แก่ มาตุคาม ,ทนคำสอนไม่ได้ , ทนต่อปากท้อง ทนลำบากไม่ได้ และกามคุณ ๕ หลังจากนั้น พระอาจารย์สิม ได้พา พระจาม ออกธุดงค์ขึ้นไปถ้ำเชียงดาว และต่อมาได้พบกับ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่ บ้านป่าฮิ้น เสนาสนะป่าแม่กอย
พ.ศ. ๒๔๘๖ อายุ ๓๔ ปี ธุดงค์กับ หลวงปู่ชอบ ,หลวงปู่สิม หลวง ปู่ชอบ ได้พาอาจารย์สิม และพระจาม ออกธุดงค์ไปที่ อ.ฝาง อ.แม่อาย-บ้านม่วงสุม-บ้านมุ่งหวาย-บ่อน้ำร้อน อ.ฝาง ถึงประมาณเดือน ๖ ของปีนั้น ใกล้เข้าพรรษา พระจาม จึงขอแยกทางมุ่งไปยังวัดโรงธรรมสามัคคี เพื่อจำพรรษา ส่วนหลวงปู่ชอบ เดินทางต่อไปเพื่อจำพรรษาใน พม่าและจะถูกทหารจีนจับ ชาวบ้านต้องพาหลวงปู่ชอบ ไปซ่อนไว้ในยุ้งข้าว สาเหตุที่ หลวงปู่จาม ท่านไม่ชอบที่จะไปพม่า เพราะรู้สึกในส่วนลึกของจิตใจว่า เคยรบพุ่งกับพม่ามาแต่อดีตชาติ จึงไม่อยากไปเมืองพม่า ในปีนั้นจึงได้ จำพรรษา ที่วัดโรงธรรมสามัคคีอีก ๑ พรรษา (พรรษาที่ ๕) พร้อมกับหลวงปู่สิม
พ.ศ. ๒๔๘๗ อายุ ๓๔ ปี ใช้ “ ธรรมโอสถ ” รักษาโรค ได้ ออกธุดงค์ไปกับหลวงปู่สิม ตามป่าเขา ตามดอยต่าง ๆ เขตจังหวัดเชียงใหม่ แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ ( พรรษาที่ ๖ ) อยู่กับหลวงปู่สิม วัดอุโมงค์เชิงดอยสุเทพ อ. เมือง จ.เชียงใหม่ ในสมัยนั้นเป็นป่าทึบมีเจดีย์ทรงลังกา ๑ องค์ และอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันวัดอุโมงค์ อยู่ติดกับด้านหลังของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีนั้น ( ๒๔๘๗ ) หลวงปู่จามได้ป่วยเป็นโรคกระเพาะ มีอาการปวดท้อง ได้รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันก็ไม่หาย เปลี่ยนมารักษาแผนโบราณก็ไม่หาย ในที่สุดท่านก็ได้ใช้วิธีภาวนาบำเพ็ญสมาธิและงดอาหารหยาบทั้งหมด ฉันเฉพาะนมถั่วเหลืองวันละ ๑ แก้วและน้ำเท่านั้น ใช้ “ธรรมโอสถ” รักษาโรคกระเพาะ อีกไม่นานนัก อาการป่วยก็ทุเลาเบาบางลง ในที่สุดก็หายจากโรคกระเพาะ มีอาการปกติ สามารถฉันอาหารได้เป็นปกติ
พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๓๕ ปี ( พรรษาที่ ๗ ) หลวง ปู่สิ ม และหลวงปู่จาม ได้เคยไปอยู่ที่บ้านพักบนดอยของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กิรติปาล ซึ่งเป็นภรรยาของนายคิวลิปเปอร์ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ บ้านพักส่วนตัวนี้ตั้งอยู่บนดอย อยู่ทางทิศใต้ ของเมืองเชียงใหม่ และพักภาวนาอยู่ที่นั่นนานพอสมควร
พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๓๖ ปี ( พรรษาที่ ๘ ) พบ หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ , พระอาจารย์น้อย สุภโร หลวง ปู่จาม กับหลวงปู่สิม ไปจำพรรษาที่ป่าช้าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ก่อนเข้าพรรษา ได้พบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่บ้านแม่หนองหาน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หลวงปู่ขาว ได้เตือนหลวงปู่จามให้ระวังเรื่องผู้หญิงว่า “ ให้ระวังเรื่องผู้หญิงให้มาก ถ้ารอดได้ก็สามารถรักษาพรหมจรรย์ตลอดรอดฝั่ง ถ้าไม่ได้ก็ต้องแพ้มาตุคาม ( หญิง ) แน่นอน ” หลวงปู่จาม สำนึกในคำสอนของหลวงปู่ขาว ไว้เสมอ ซึ่งแต่ละแห่งที่ไปจำพรรษาอยู่หรือไปพักอยู่นาน ๆ ก็จะพบผู้หญิงมาชอบเสมอมา เว้นแต่ที่ช่อแล ไม่มีผู้หญิงมาชอบ จึงบำเพ็ญอยู่ที่นั้นนานมากกว่าที่อื่น นอกจากที่นี่แล้ว เกือบทุกแห่งที่ไปพักแม้ไปปักกลดภาวนาอยู่ระยะสั้นก็พบผู้หญิงมาชอบ จนกระทั้งอายุ ๖๐ ปี จึงไม่มีผู้หญิงมายุ่งเกี่ยวในเชิงชู้สาวอีกเลย หลวงปู่จาม จึงมักเตือนพระหนุ่ม ๆ เสมอ ในเรื่องผู้หญิง ( แม่หญิง ) ให้ระวังเป็นอันดับแรก ต่อไปก็เรื่องเงิน และอวดอุตริ หลวงปู่จาม กับ พระอาจารย์น้อย สุภโร ไปฟังธรรมจากหลวงปู่ขาว ซึ่งท่านแสดงสติปัฏฐานสี่ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้งกินใจมาก พระอาจารย์ น้อย องค์นี้รุ่นราวคราวเดียวกับ ท่านพ่อลี (วัดอโศการาม) ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และต่อมาท่านพระอาจารย์น้อยได้มรณะภาพ ที่ถ้ำพระสบาย ในปี ๒๕๐๐ ( พระอาจารย์น้อย เป็นคนบ้านผักบุ้ง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี รูปถ่ายในหนังสือบูรพาจารย์ หน้า ๑๔๒ มี ๕ องค์ รูปแรกที่ระบุว่าไม่ทราบชื่อ นั้นคือ พระอาจารย์น้อย ) หลวงปู่จามได้ศึกษาธรรมะกับหลวงปู่ขาว อยู่เสนาสนะป่าบ้านป่าเต้ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โดยอยู่กับหลวงปู่แหวน และหลวงปู่ชอบ ด้วยที่นั่น ต่อมา หลวงปู่จามได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่มั่น อยู่อีสาน ที่บ้านหนองผือนาใน จึงได้กราบเรียน หลวงปู่แหวน หลวงปู่ชอบได้ทราบ หลังจากนั้นจึงเดินทางจากเชียงใหม่เพื่อมุ่งไปอีสาน บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยเดินทางเลาะมาทางหนองคายและเดินทางต่อไป บ้านหนองผือ นาใน กราบหลวงปู่มั่น ที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม
ในปี ๒๔๘๙ หลวงปู่จามไปพักที่วัดบ้านนาในกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ต่อจากนั้นหลวงปู่หลุยจึงพาหลวงปู่จามเข้ากราบหลวงปู่มั่น ซึ่งพักอยู่บ้านหนองผือนาใน แล้วกราบเรียนหลวงปู่มั่นว่า “ สามเณรจาม ตอนนี้บวชเป็นพระแล้วครับกระผม ” หลวงปู่มั่นกล่าวว่า “ บวชแล้ว เพราะท่านมีนิสัยนักบวช ” หลวงปู่มั่นจึงให้โอวาทแก่หลวงปู่จามว่า “เมื่อก้าวมาสู่หนทางแห่งความดี ต้องเดินหน้าสู้ทน ตายเป็นว่า ( ายเป็นตาย ) อยู่เป็นว่า (อยู่เป็นอยู่ ) เหตุเพราะทางอื่นนั้นปราศจากความร่มเย็น ไม่เป็นความสุข อันนี้ความดีจะเป็นผลของตน ผู้เดินอยู่ในทางนี้ได้ตลอดไปนั้น จิตใจก็อยู่ใกล้ธรรมอยู่กับธรรมะไม่ละทิ้งความดี ตนก็จะเป็นผู้ราบรื่น ร่มเย็น ผาสุกอยู่ได้ในปฏิปทาแห่งตน ” เมื่อให้ธรรมะจบ หลวงปู่มั่นถามว่า “เข้าใจไหม จำไว้ให้ดี ” เมื่อลากลับไปที่วัดบ้านนาใน หลวงปู่จาม ซาบซึ้งในคำสอนนี้ ด้วยความปีติสุขใจยิ่ง พยายามทบทวนเพื่อให้จำไว้ให้ขึ้นใจ จะได้ไม่ลืม เพราะถือว่าคำสอนนี้เป็นกุญแจสำคัญแห่งชีวิตนี้ ต่อมาหลวงปู่จาม ได้มีโอกาสฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นในวาระสำคัญหลายครั้ง โดยที่หลวงปู่จาม ได้ อธิฐานจิตถามหลวงปู่มั่นล่วงหน้าไว้ทั้ง ๔ ครั้ง ปรากฏว่าหลวงปู่มั่นทราบ ได้ด้วยญาณทัศนะและเทศนาในเรื่องที่หลวงปู่จามต้องการทราบทุกครั้ง
ครั้ง ที่ ๑ หลวงปู่จามมีความสงสัยว่า ” คนที่ได้ธรรมะเป็นอย่างไร ทำไมถึงได้ธรรมะปฏิบัติอย่างไร “ จึงอธิษฐานถามหลวงปู่มั่น คืนวันนั้น หลวงปู่มั่นยก หิริ โอตฺตปฺป” ขึ้นมาเป็นหัวข้อแสดงพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ที่พักอย่าตามสถานที่ต่างๆ จะมารวมกันฟังธรรมเสมอ เมื่อหลวงปู่มั่น เทศนาจบลงก็หันหน้ามามองไปที่หลวงปู่จาม แล้วถามเป็นเชิงปรารภว่า “เป็นอย่างไรท่านจาม ผู้ได้ธรรมเป็นอย่างนี้ เข้าใจไหม” หลวงปู่จามตอบว่า”เข้าใจครับกระผม” บรรดาพระสงฆ์ที่นั่งฟังก็หันมามองหลวงปู่จามก้นทั้งหมด เมื่อหลวงปู่จามมกลับไปที่พัก ก็รีบนั่งภาวนาเพื่อทบทวนคำสอนของหลวงปู่มั่น เพื่อให้จำได้อย่างขึ้นใจ
ครั้ง ที่ ๒ หลวงปู่จามอยากรู้เรื่อง ”พระธรรมวินัยว่า ธรรมอย่างหยาบ ธรรมอย่างกลาง ธรรมอย่างละเอียด เป็นอย่างไร” จึงได้กำหนดจิต อธิษฐานถามหลวงปู่มั่น และหลวงปู่จาม ก็คิดนึกในใจต่อ ไปว่า “ อยากรู้ถึงปฏิปทาภพชาติของตนเองด้วย ” ในคืนนั้นหลวงปู่มั่น ได้เทศนา โดยยกหัวข้อธรรมขึ้นว่า “ หีนา ธมฺมา มชฺฌิมา ธมฺมา ปณีตา ธมฺมา ” แล้วอธิบายธรรมและวินัยควบคู่กันไปให้รู้เข้าใจกระจ่าง และ ได้แจกแจงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืนพอดี ต่อจากนั้นหลวงปู่มั่นก็เทศนาต่อไปว่า
“ ให้ตั้งใจเจริญพุทธคุณ ตามรอยบาทของพระพุทธเจ้า ถือด้วยใจ ปฏิบัติด้วยใจ เจริญพุทธเนตฺติ ด้วยการประพฤติเพื่อความหนักแน่นในธรรม ผู้ถึงพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจ เท่านั้นที่เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัยอยู่ได้…” เมื่อเทศน์จบหลวงปู่มั่น ก็หันมาถามอีกว่า “ ท่านจามเข้าใจไหม ที่ต้องการรู้นะ จำไว้ให้ดี ”
ครั้งที่ ๓ หลวงปู่จามอยากรู้เรื่องพระอภิธรรม จึงอธิษฐานจิตถามไว้ พอตอนกลางคืน หลวงปู่มั่นก็เทศนาเริ่มต้นที่มูลกัจจายนะ ตรงตามที่หลวงปู่จาม ตั้งอธิฐานไว้
ครั้งที่ ๔ หลวงปู่ เกิดข้อสงสัยว่าเราเองก็ทำความเพียร อย่างจริงจังมาก แต่ไม่ค่อยได้ผลดีตามที่ปรารถนา พระองค์อื่นก็คงเป็นเช่นเดียวกันกับเราเองก็คงมีอีก ไม่น้อยจึงอธิษฐานจิตถามไว้ล่วงหน้า เมื่อหลวงปู่มั่น ได้เทศนากัณฑ์แรกจบไป ก็เทศนาเตือนสติในตอนท้ายว่า “ เอาจริงเอาจังเกินไป หรือขวนขวายพยายามพากเพียรมากไปแต่ขาดปัญญา ก็เป็นเหตุ ให้ใจดิ้นรนอยากได้ อยากเป็น อยากเห็น อยากสำเร็จ อยากบรรลุธรรม โลโภ ธมฺมานํ ปริปนฺโถ ความอยากของตนจึงเป็นอุปสรรคของตน จึงให้ดูใจดูตนของตนด้วยสติปัญญา “ เมื่อเทศน์จบหลวงปู่มั่นก็หันหน้ามาทางหลวงปู่จาม แล้วถามว่า “ เป็นอย่างไรท่านจาม ความโลภเป็นอย่างนี้ เข้าใจไหม ” หลวงปู่จาม ตอบอย่างเคารพและเกรงกลัวเป็นที่สุดว่า “ เข้าใจซาบซึ้งเป็นที่สุดครับกระผม”
พ.ศ. ๒๔๙๐ อายุ ๓๗ ปี ( พรรษาที่ ๙ ) หลวงปู่จามจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง
พ.ศ. ๒๔๙๑ อายุ ๓๘ ปี ( พรรษาที่ ๑๐ ) พบ ครูบาไชยา ( ใจยา ) หลวง ปู่จามจำพรรษา กับหลวงปู่สิมที่ถ้ำผาพั้วะ ใกล้บ้านห้วยอีลิง เขตอำเภอจอมทอง ได้หาโอกาสไปกราบและศึกษาธรรมะกับ ครูบาไชยา (ใจยา) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่จอมทอง สมัยนั้น ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย เมื่อออกพรรษา ก็ลงจากถ้ำผาพั้วะ ส่วนหลวงปู่สิม ขอแยกไปตั้งวัดป่าสันติธรรม
พ.ศ. ๒๔๙๒ อายุ ๓๙ ปี ( พรรษาที่ ๑๑ ) ถูกยิงด้วยปืนลูกซอง หลวง ปู่จาม จำพรรษาที่สวนลำไย ระหว่างบ้านท่ากานและบ้านทุ่งเสี้ยว เขตอำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนลำไยของพ่อน้อยมา ในพรรษานี้ หลวงปู่จาม เริ่มเทศนาเปิดธรรมะพิศดารให้ญาติโยมฟังมากขึ้น เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่จามได้ไปพักภาวนาอยู่ในป่าอยู่กลางทุ่ง ถูกชาวบ้านชื่อนายดวง ซึ่งเป็นนักเลงโตแถบนั้น เป็นหลานกำนันซึ่งไม่เคยศรัทธาพระ นายดวงต้องการทดลองพระธุดงค์กรรมฐานที่แปลกหน้ามา นายดวงจึงยิงหลวงปู่จามด้วยปืนลูกซอง ยิงออกเสียงดังแต่กระสุนไม่ถูก จึงพูดกับลุงกำนันว่า “ พระองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ดี จริง ๆ ข้า ฯ ไปยิงมาเมื่อกี้นี่ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ”
หลวงปู่จามได้ธุดงค์ต่อไป มุ่งไปสะเมิง ได้พบกับหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบจึงชวนหลวงปู่จามธุดงค์ไปดอยอินทนนท์ ต่อจากนั้นหลวงปู่ชอบได้ชวนหลวงปู่จามให้ไปบำเพ็ญภาวนาที่พระธาตุองค์หนึ่ง เจดีย์เก่าแก่ ตั้งอยู่กลางป่าบนเทือกเขา หลวงปู่ชอบบอกว่า ได้เคยไปมาก่อนแล้ว ท่านว่า “ เป็นสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์เละเคยเป็นบริเวณรุ่งเรืองมาก่อน ”
เมื่อ ลงจาก พระธาตุดังกล่าวแล้ว จึงแยกกับหลวงปู่ชอบ ไปอยู่คนละดอยในเขต อ.สะเมิง นั้นเอง หลวงปู่จาม แยกไปพักอยู่ใกล้บ้านกระเหรี่ยงอีกดอยหนึ่ง ต้องเดินลัดเลาะไปตามลำห้วยเพราะไม่มีเส้นทาง หลวงปู่จามไปอยู่ที่บ้านแม่บ่อแก้วประมาณ ๑ เดือน ( ต่อมาภายหลังเมื่อหลวงปู่จามได้มาอยู่ที่บ้านห้วยทรายแล้ว ก็ได้ภาวนาปรากฏเหตุการณ์ย้อนอดีตว่า หลวงปู่จามเคยเป็นกระเหรี่ยง เป็นหัวหน้าพวกนี้มาก่อนแต่อดีตชาติ ) เมื่อได้ลาจากบ้านแม่บ่อแก้วแล้ว ก็ได้มุ่งไปอีกดอยหนึ่งซึ่งอยู่ห่างไกล เลยบ้านแม่บ่อแก้วขึ้นไปอีกไกลมาก จึงไปปักกลดอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงบนดอยนั้น หลวงปู่จามจึงได้พบกับความสัปปายะหลายอย่าง อันได้แก่ สถานที่สัปปายะ คนสัปปายะ อาหารสัปปายะ เป็นต้น ท่านจึงพักอยู่บำเพ็ญเพียร ประมาณ ๒ - ๓ เดือน ชาวกระเหรี่ยงศรัทธามาก จะมาหาหลวงปู่ทุกวัน หลวงปู่ต้องบอกหัวหน้าหมู่บ้านให้จัดแบ่ง ผู้ชายมาเข้าเวรเฝ้าหลวงปู่จาม เพราะจะมีผู้หญิงเข้ามาหาท่านตลอด และมาช่วยท่านแม้กระทั่งหาฟืน หิ้วขนน้ำมาให้ท่าน บนดอยอากาศหนาว ชาวบ้านชายหญิงจะผลัดเปลี่ยนกันมาปรนนิบัติ ต้มน้ำ ก่อไฟ เพราะอากาศหนาวจัด ชาวบ้านจะติดตามท่านมาดูแลตอนฉันภัตตาหาร หลวงปู่จามอยู่ที่นั้นประมาณ ๒ เดือนครึ่ง เนื่องจากอากาศบนดอยหนาวมาก หลวงปู่จามจึงลาชาวบ้านกลับลงมา ชาวกระเหรี่ยงศรัทธามาก เสียดายหลวงปู่ ก็ได้แต่ขอร้องและร้องไห้ หลวงปู่จาม มุ่งไปบ้านหาดเสี้ยว เขต อ.สะเมิง ไปอยู่ถ้ำเสือนอน วันหนึ่งหลวงปู่จามได้เดินไปเที่ยวป่า ได้พบซากสลักหักพัง และพบพระหัตถ์เบื้องขวาของ พระพุทธรูปเป็นทองสำริด จึงเก็บมาไว้กราบไหว้บูชา พอถึงกลางคืนขณะนั่งภาวนาอยู่ที่ถ้ำเสือนอน ปรากฏภาพเทวดามาบอกว่าให้ท่านเอาพระหัตถ์ พระพุทธรูปนั้นไปคืนไว้ที่เดิม หลวงปู่จามก็บอกว่า “ เราเอามาไว้กราบไหว้บูชาเฉย ๆ ไม่เอาไม่หวังสมบัติใด ๆ ” คืนต่อมา เทวดาก็มาบอกอีกว่า “ให้เอาไปคืนไว้ที่เดิม เนื่องจากผู้สร้างได้อธิษฐานไว้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา ให้เป็นสมบัติของแผ่นดินแห่งนั้น การนำไปที่อื่นจะเป็นบาปกรรมติดใจ ติดตัวท่านไป” ต่อมาหลวงปู่จามจึงได้นำเอาไปคืนไว้ที่เดิม
พ.ศ. ๒๔๙๓ พรรษาที่ ๑๒ ท่องพระปาฏิโมกข์ หลวง ปู่ จามออกจากสะเมิง กลับไปจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เมื่อออกพรรษาแล้วจึงกลับไปสะเมิงอีก ไปองค์เดียว ไปพักอยู่บนดอยแห่งหนึ่ง เป็นดงป่าทึบในหุบเขา ห่างออกไปจากหมู่บ้านเชิงดอย หลวงปู่ได้ตั้งใจว่าจะขึ้นดอยท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้คล่องขึ้นใจให้ได้ก่อน จึงจะกลับลงมา หลวงปู่จามใช้เวลาเพียง ๑๕ วัน ก็ท่องได้จบด้วยความถูกต้อง ทั้งในอักขระและออกสำเนียงภาษาบาลี ต่อจากนั้นก็ได้ทบทวนจนคล่องและมั่นใจใน ๑๕ วันต่อมาร่วม ๓๐ วันพอดี ขณะที่หลวงปู่จามท่องพระปาฏิโมกข์อยู่นั้น จะมีอีเก้งขนาดรุ่น ๆ ตัวหนึ่งมาแอบฟัง พอนาน ๆ ไปก็คุ้นและเชื่อง พอได้ยินเสียงสวดก็โผล่ออกมาจากป่ามายืนฟังเฉยอยู่เป็นประจำ เมื่อหลวงปู่จามจะเดินจงกรมสลับกับการท่องพระปาฏิโมกข์เพื่อเปลี่ยนอิริยา บท อีเก้งตัวนั้นก็เดินไปเดินมาตามแนวขนานกับทางจงกรมเป็นทางลึก ต้นไม้ใบหญ้าถูกเหยียบจนเป็นทางเดิน ซึ่งอยู่ห่างจากทางเดินจงกรมประมาณ ๒ วา (๔ เมตร) เมื่อหลวงปู่เดิน อีเก้งก็เดินด้วย กลับไปกลับมา เห็นท่านหยุดมันก็หยุด บางวันหลวงปู่เดินจงกรมนาน ๆ อีเก้งเดินไปเดินมาพอมันเมื่อยก็ไปนอนพักดูหลวงปู่เดิน พักสักครู่มันก็เดินต่ออีก บางวันหลวงปู่เดินจงกรมเสร็จกลับไปพัก พอหลวงปู่ออกมาทำธุระส่วนตัว หรือเดินจงกรม มันก็ออกมาอีก
พ.ศ. ๒๔๙๔ อายุ ๔๑ ปี ( พรรษาที่ ๑๓ ) หลวงปู่ได้ธุดงค์ต่อไป เดิน ไปตามเนินตามล้ำห้วย มุ่ง ไปเชียงราย ต่อไปแม่สาย แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่หลวงปู่ ได้ไปศึกษาธรรมกับ หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร ที่วัดดอนมูล (สันโค้งใหม่)ต.ทรายมูล อ.สันกำแพง เมื่อออกพรรษาแล้วจึงเดินธุดงค์ไป อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มุ่ง ไปแม่อาย เชียงใหม่ แล้วลงแพล่องไปตามลำแม่น้ำกก ไปกับคณะโยม มุ่ง ไปเชียงราย ผ่านตามแก่งต่างๆ เมื่อล่องแพไปถึงเชียงราย เลยไปลำปางและส่งคณะโยมกลับไปเชียงใหม่ หลวงปู่จามก็ย้อนกลับไปเชียงราย อีกครั้งเพียงองค์เดียว ขณะที่ได้บำเพ็ญภาวนาบริเวณริมแม่น้ำกก ไม่ ไกลจากเมืองเชียงรายมากนัก ได้ภาวนาแต่จิตไม่สงบก็ได้มีพญานาคโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำกกบอกว่า ” จิตสงบหรือไม่สงบไม่เกี่ยวกับพญานาค อยู่ที่จิตของท่านเอง” หลวงปู่จามถามว่า” ถ้าไม่เกี่ยวแล้วขึ้นมาทำไป” พญานาคตอบว่า ” ได้ยินเสียงสนั่นหวั่นไหว เหมือนดินจะถล่ม มีอะไรเกิดขึ้นจึงโผล่ขึ้นมาดู ก็เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้านั่งสมาธิถาวนาจึงขออนุโมทนาแสดงความยินดีต่อการ บำเพ็ญสมณธรรมของท่านพระผู้เป็นเจ้าด้วย” หลวงปู่จามเล่าว่า เห็นภาพปรากฏในสมาธิโผล่ขึ้นเหมือน้ำสูงประมาณ ๓ เมตร ลำตัวใหญ่ประมาณเท่ากระบุงข้าวตัวขนาดเท่าลำต้นตาล สีเลื่อมพราย มีหงอนแดง ต่อมาในภายหลังหลวงปู่ได้ภาวนาจึงได้ทราบต่อมาว่าพญานาคตนนี้ได้ปรารถนาจะ เป็นพระอสีติมหาสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเบื้องหน้า(พระพุทธเจ้า ที่อุบัติขึ้นในโลกแต่ละพระองค์จะมีพระอสีติมหาสาวก ๔๐ องค์ ที่มีความสามารถเฉพาะตัวในด้านต่าง ๆ และมีพระอนุอสีติมหาสาวกอีก ๔๐ องค์ มีความสามารถรองลงมาในด้านต่าง ๆ ) หลวงปู่สิม ก็เคยกล่าวชื่นชมว่า หลวงปู่จาม เป็นผู้รู้เรื่องพญานาค เป็นอย่างดี
พ.ศ. ๒๔๙๕ อายุ ๔๒ ปี อ่านพระไตรปิฏก ๓ รอบ หลวง ปู่จามเดินธุดงค์ต่อไป มุ่งไปพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปภาวนาหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดป่าสัก วัดเก่าแก่หลายแห่งในเขตอำเภอเชียงแสน สมัยนั้นมักเป็นวัดร้าง หลวงปู่จามเล่าว่า ภาวนาแถบนี้ได้รับผลดีมีความเจริญก้าวหน้าในด้านจิตใจ และภาวนาได้ทราบว่าที่ท่านเป็นผู้หนึ่งในอดีตชาติที่ร่วมก่อสร้างพระธาตุจอม กิตติ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพุทธเจ้าในสมัยยุคเชียงแสน หลวงปู่จามได้ธุดงค์วกกลับไปลำปาง ไปพักอยู่ในป่าช้าแห่งหนึ่ง และได้เทศนาสั่งสอนพระสงฆ์สามเณรฝ่ายมหานิกายและคณะญาติโยม เพื่อให้ได้สัมมาปฏิบัติ หลวงปู่จามพักอยู่ที่นั้นเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนเป็นที่ทราบถึงพระเณรและคณะศรัทธาญาติโยมจากอำเภอต่าง ๆ ใกล้เคียงได้เดินทางมาฟังธรรมอยู่เป็นประจำหลวงปู่จามเล่าว่า อานิสงส์ของการเทศน์สั่งสอนพระสงฆ์สามเณรและญาติโยมคราวนั้นได้ปรากฏนิมิต ขณะเทศนานั้นปรากฏเป็นภาพฝนตกมาจากท้องฟ้าเป็นแสงระยิบระยับเหมือนเพชรพลอย ตกลงมา โปรยลงมาเฉพาะบริเวณที่เทศนาในป่าช้านั้นตลอดเวลาที่เทศนาอบรม เหนือพระสงฆ์สามเณรและญาติโยมที่มาฟังธรรมตอนนั้น หลวงปู่จามให้เหตุผลว่า “ ผู้เทศน์ได้อานิสงส์ ผู้ฟังได้อานิสงส์ ตลอดจนได้รับความรู้ฉลาดในเชิงอรรถภูมิธรรม ” ในปีนั้นได้จำพรรษาที่วัดเชตวัน อ.เมือง จ.ลำปาง โดยหลวงปู่จามได้อธิฐานจะอ่านพระไตรปิฏกให้จบทุกเล่มในพรรษานี้ ปรากฏว่าท่านได้จบถึง ๓ รอบ มุมานะทั้งกลางวัน กลางคืน เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์ไปลำพูน เดินธุดงค์ผ่านเข้าเชียงใหม่ ไปบ้านช่อแล ไปวัดหลวงปู่ตื้อ ไปโรงธรรมสามัคคี (อยู่แทนหลวงปู่สิม ๑ พรรษา)
พ.ศ. ๒๔๙๙ อายุ ๔๖ ปี พรรษาที่ ๑๗ ถ้ำพระสบาย ที่ ถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม ขณะสมณศักดิ์เป็นพระครูสุทธิธัมมาจารย์ได้นำคณะญาติโยมจัดสร้างเจดีย์เพื่อ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในถ้ำพระสบายโดยมีเจ้าแม่สุข ณ ลำปาง แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ แม่เหรียญ กิ่งเทียน เป็นเจ้าศรัทธาใหญ่ตามคำปรารภของท่านพ่อลี ให้จัดสร้างและทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และด้วยจิตอธิฐานของท่านพ่อลี ได้เกิดต้นโพธิ์ขึ้นเอง ๓ ต้นบริเวณหน้าถ้ำพระสบาย เมื่อสร้างเจดีย์เสร็จ ท่านพ่อลีได้นิมนต์ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ หลวงปู่แว่น ธนปาโล พระอาจารย์น้อย สุภโร ไปทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยต่างองค์ก็ต่างสวดบทมนต์ตามถนัดตั้งแต่หัวค่ำจนถึงตีสี่จึงจบเสร็จพิธี พิธีที่แปลก แต่ละองค์จะมีพานไว้ข้างหน้าเพื่อเสี่ยงทายบารมี และจะนั่งอยู่องค์ละทิศของเจดีย์ หลวงปู่แว่น ธนปาโล นั่งอยู่หน้าถ้ำ จึงอธิษฐานว่าถ้าพระธาตุเสด็จมาในพานของใครมากน้อยก็แสดงว่าผู้นั้นได้ทำ ประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากน้อยตามปริมาณที่พระธาตุเสด็จมา แต่ละองค์ก็สวดบทมนต์ที่ตนถนัดหรือจำมาได้ ตลอดเวลารวมทั้งสวดปาฏิโมกข์ เมื่อสวดถึงประมาณตีสี่ ปรากฏว่าเสียงตกกราวลงมาคล้ายกระจกแตก จึงให้สัญญาณหยุดสวดเจริญพระพุทธมนต์ แล้วจึงได้ตรวจดูในพานของแต่ละท่านที่วางอยู่หน้าที่นั่งปรากฏว่าในพานของ ท่านพ่อลี มีพระธาตุมากที่สุด รองลงมาก็เป็นของหลวงปู่จาม ต่อมาก็พระอาจารย์น้อย,หลวงปู่ตื้อและหลวงปู่แว่น ตามลำดับ ในมติคณะสงฆ์ตอนนั้น ได้มอบหมายให้หลวงปู่ตื้อ เป็นผู้วินิจฉัยถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะทุกองค์ยอมรับในความสามารถเข้าฌาณของหลวงปู่ตื้อ ว่ามีญาณทัศนะเป็นที่แน่นอน เมื่อหลวงปู่ตื้อเข้าสมาธิ เล็งญาณดูในอดีต จึงแจ้งให้คณะสงฆ์ทราบร่วมกันว่า ท่านพ่อลี เป็นพระเจ้าอโศกมหาราช หลวงปู่จาม เป็นกษัตริย์ชื่อ เทวนัมปิยะ ของประเทศศรีลังกา พระอาจารย์น้อย เป็นเสนาอำมาตย์ของกษัตริย์ศรีลังกาองค์นั้น (เทวนัมปิยะ) หลวงปู่ตื้อ เป็นโจรมีเมตตาคนจน ตั้งปางโจรอยู่แถวถ้ำพระสบาย ปล้นคนรวยเอาไปช่วยคนจน หลวงปู่แว่น เจ้าเมืองลำปางในอดีต ช่วงนั้นท่านพ่อลีได้บอกหลวงปู่จามอีกว่า “ได้พบสาวกของท่านองค์หนึ่งเป็นเจ้าแห่งผีที่ผานกเค้า (จ.เลย) อย่าลืมไปโปรดเขาด้วย” ต่อมาท่านพ่อลีได้ชวนหลวงปู่จามลงไปกรุงเทพฯ เพื่อไปสร้างวัดที่นาแม่ขาว ที่สมุทรปราการ ( วัดอโศการาม ในปัจจุบัน ) แต่หลวงปู่จาม ออกอุบาย อ้างว่าชอบที่จะหาสถานที่วิเวกต่อไป
หลวงปู่จามเล่าว่า ชอบที่จะไปภาวนาที่ถ้ำเชียงดาว ถ้ำปากเปียง ถ้ำจันทร์ ถ้ำพระสบาย และถ้ำอื่น ๆ ในเขตเชียงใหม่ ซึ่งล้วนเป็นสถานที่สัปปายะ
พ.ศ. ๒๕๐๐ อายุ ๔๗ ปี หลวงปู่จามไปภาวนาอยู่เกาะคา ลำปาง เป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราว ในปีนั้นพระอาจารย์น้อย สุภโร มรณภาพ จึงได้ทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสำราญนิวาส อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๐๑ ห้วยน้ำริน หลวง ปู่จามธุดงค์ไป ลำพูน ไปพักอยู่ตามป่าช้า เพื่อตระเวนเทศนาสั่งสอนพระสงฆ์ สามเณร ญาติโยมได้พบกับหลวงปู่หลอด ปโมทิโต ( วัดใหม่เสนานิคม กรุงเทพฯ ) จึงธุดงค์ไปด้วยกันเป็นสหธรรมิกกัน ต่อมาภายหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หลวงปู่หลอดได้มาเยี่ยมหลวงปู่จามที่ห้วยทราย ( วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ) ได้พูดกับพระอุปัฏฐากหลวงปู่จามว่า “ ขณะอยู่ลำพูน หลวงปู่จาม เทศน์เก่งมาก ผู้ฟังธรรมล้นหลาม ”
พ.ศ. ๒๕๐๑ ( พรรษาที่ ๒๐ ) อายุ ๔๙ ปี จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ หลวงปู่จาม ได้เทศนาอบรมพระสงฆ์ สามเณร ญาติโยมในด้านการภาวนาในช่วงตอนบ่ายเป็นประจำ
พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๐๔ ( พรรษาที่ ๒๑ - ๒๓ ) อายุ ๕๐–๕๒ ปี โยม แม่ผัน โยมเลียงพัน ทิพยมณฑล ได้นิมนต์หลวงปู่จาม ไปพักที่โรงบ่มใบยาบ้านแม่แต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้สร้างเป็นที่พักสงฆ์ถวายเพื่อจะด้อบรมสั่งสอนธรรมะแก่พระเณรและญาติโยม มีพระสงฆ์ สามเณร จำพรรษาอยู่ด้วยหลายองค์ ได้แก่ หลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินโน( วัดโสตถิผล อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ปัจจุบัน ) ได้เคยจำพรรษาอยู่ที่พักสงฆ์โรงงานบ่มใบยา ๒ พรรษา กับหลวงปู่จาม หลวงปู่จาม จำพรรษาอยู่ที่พักสงฆ์โรงบ่มใบยาแห่งนี้ ๓ พรรษา แต่ระหว่างที่พักอยู่ที่นี้ เมื่อออกพรรษาก็ไปธุดงค์ที่อื่นบ้าง ไปธุระบ้าง ตามเหตุอันควร
พ.ศ. ๒๕๐๕ พรรษาที่ ๒๔ อายุ ๕๓ หลวงปู่จาม มีกิจนิมนต์ไปกรุงเทพฯ ได้พบกับ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี ขณะมีสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณพุทธปาพจนจินดา ก็ได้สนธนาธรรมตามสมควร หลวงปู่จาม ได้ไปสนทนาธรรมกับ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์(สนั่น) หลวงปู่จาม ชวนท่านออกไปปฏิบัติธรรมในป่าเขา สมเด็จฯท่านบอกว่าหาอุบายหลายปียังหาช่องทางออกไม่ได้ การสนทนาธรรม ได้สอบความถูกต้องระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ ทำให้เข้าใจกันได้ดี
ในปีนั้นมีศิษย์หลวงปู่จามท่านหนึ่งซึ่งได้ไปบวชที่วัดเจดีย์หลวง จากนั้นจึงได้ไปส่งที่บ้านเกิดที่ลพบุรี หลวงปู่จาม จึงถือโอกาสนั้นได้ไปแสวงหาสถานที่ภาวนาแถวลพบุรี มีหลายแห่ง หลวงปู่จามได้ไปภาวนาอยู่บนเชิงเขาแห่งหนึ่ง มีนกเอี้ยงจำนวนมากร้องเสียงดังมาก ท่านได้นั่งภาวนาและกำหนดจิตดูว่าทำไมนกตัวนี้จึงเสียงดังผิดปกติ จึงส่งจิตถามหัวหน้านกเอี้ยง หัวหน้าก็ร้องบอกเจ้านกบริวารว่าอย่าส่งเสียงดังรบกวนพระคุณเจ้ากำลังบำเพ็ญ ถาวนา ถ้าหากจะไปหากินหัวหน้าก็จะร้องเสียงดังครั้งเดียวนกเหล่านั้น ก็จะกระจาย สลายตัว ต่างก็บินไปหากินที่อื่นโดยไม่ส่งเสียงดังรบกวนอีกต่อไป หลวงปู่จามได้พัก อยู่ระยะหนึ่งก็ลานกเอี้ยงว่าจะกลับไปเชียงใหม่แล้ว พอวันที่ท่านออก เดินทางกลับด้วยเท้าพร้อมบริวาร บรรดานกเอี้ยงก็ร้องให้สัญญาณ แล้วทุกตัวก็บินมารวมกันเป็นขบวน อ้อมไปอ้อมมา นำหน้าท่านบ้างอ้อมมาตามหลังบ้าง เมื่อเดินทางออกไปได้หลายกิโลเมตร ประมาณ ๑ ชั่วโมง ฝูงนกเอี้ยงที่บินมาร้องดังระงมมาส่งตลอดทางนั้น ก็บินวนแล้วก็กลับไป
พ.ศ. ๒๕๐๖ อายุ ๕๔ ปี กลับเยี่ยมบ้านครั้งแรก ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นปีแรกที่หลวงปู่จามยินยอมเดินทางกลับมาที่บ้านห้วยทราย หลังจากไปอยู่ทางภาคเหนือกว่า ๒๒ ปี ( ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๔–๒๕๐๖ ) ขณะนั้นแม่ชีมะแง้ โยมแม่ของหลวงปู่จาม ซึ่งบวชเป็นแม่ชีและพำนักที่สำนักชีบ้านห้วยทราย ส่วนหลวงปู่จาม พำนักอยู่กับสามเณรอินทร์ ( พระอาจารย์อินทร์ถวาย )ที่ป่าช้าบ้านห้วยทราย คำชะอี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นปีแรกที่คณะญาติโยมบ้านห้วยทรายได้ไปรับคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ กลับจากวัดป่าบ้านตาด เมื่อพักอยู่พอสมควรแล้ว หลวงปู่จาม ได้เดินทางกลับไปภาคเหนืออีกครั้ง และเปิดโอกาสให้คณะญาติไปเยี่ยมเยียนที่ภาคเหนือได้เป็นครั้งคราว และพร้อมจะเดินทางกลับมาโปรด หากคณะญาติมีความจำเป็น
เมื่อได้เดินทางกลับถึงภาคเหนือแล้ว หลวงปู่จามได้พักอยู่ที่ป่าช้าบ้านปากทาง อ.แม่แตง หลวงปู่จาม ต้องไปนอนในโลงศพเพราะอากาศหนาวมาก ต่อมาภายหลังได้มีผู้นิมนต์หลวงปู่ตื้อมาจากน้ำตกแม่กลาง ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ ให้มาสร้างวัดขึ้นให้ชื่อต่อมาว่า “ วัดป่าอาจารย์ตื้อ ” หลวงปู่จามก็ได้อยู่ร่วมก่อสร้างวัดนี้ด้วย หลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ชอบ และหลวงปู่จาม เคยไปพักอยู่ด้วยกันที่วัดป่าห้วยน้ำริน อ.แม่ริม เคยไปพักอยู่ร่วมกันที่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง อ.แม่แตง
พ.ศ. อายุ ๕๗ ปี ( พรรษาที่ ๒๘ ) หลวง ปู่จามไป อยู่บ้านช่อแล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ รวม ๔ ปี เขต อ.แม่แตง ติดกับเขื่อนแม่งัด แต่เดิมเป็นสวนมะม่วงของโยมพ่อทิดพรหมมา เป็นชาวหลวงพระบาง ได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งอยู่เชียงใหม่นี้ ได้ถวายที่ดินเริ่มแรกจำนวน ๓ งาน ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ อุทการาม เพราะอยู่ติดริมน้ำแม่งัด ต่อมาขยายที่ดินเป็น ๖ ไร่เศษ จึงได้สร้างเป็นวัดให้ชื่อว่า วัดจิตตาราม
หลวงปู่จาม ได้ลงมาเยี่ยมโยมแม่ที่ห้วยทราย หลวง ปู่ จาม จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปห้วยทรายโดยไม่บอกให้ใครทราบล่วงหน้าก่อนเลย เมื่อหลวงปู่จามไปถึงห้วยทราย ก็มุ่งไปเยี่ยมโยมแม่ที่บ้านอย่างไม่มีใครคาดฝัน ญาติก็ตะโกนบอกโยมแม่ท่าน โยมแม่อยู่ในห้องนอนพอได้ยินเท่านั้นก็ร้องไห้โฮด้วยความดีใจมากที่มา อย่างกระทันหัน โดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า หลวงปู่จาม ก็พูดว่า มาแทนที่จะดีใจกลับร้องไห้ ถ้าไม่หยุดร้องไห้ก็จะกลับละ พอขาดคำเสียงร้องไห้ทุกคนก็หยุดนิ่งเงียบเสียง เสมือนถูกมนต์สะกดจิต
หลวงปู่จามจึงได้อยู่อุปัฏฐากดูแลโยมแม่ตลอด ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ไปเยี่ยมโยมแม่ที่สำนักแม่ชีแก้วเป็นประจำ จนกระทั่งโยมแม่ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และทำ ฌาปนกิจศพโยมแม่จนเป็นที่เรียบร้อย
พ.ศ. ๒๕๑๐ อายุ ๕๗ ปี พรรษาที่ ๒๙ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ ภายหลังจากโยมแม่ของหลวงปู่จามเสียชีวิต ท่านได้ทำฌาปนกิจจนเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นก็ได้ออกปลีกวิเวก ธุดงค์ทางภาคเหนืออีกครั้ง เดินทางจนถึง วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ได้ไปกราบหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว แล้วหลวงปู่จามได้เดินทางกลับไปจำพรรษาอยู่ที่ช่อแล
พ.ศ. ๒๕๑๑ อายุ ๕๘ ปี พรรษาที่ ๓๐ นิมนต์กลับ บ้านห้วยทราย ใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ญาติลูกหลานมีผู้ใหญ่จูม ผิวขำ ซึ่งเป็นน้องชายของหลวงปู่จามเป็นหัวหน้า ได้ไปนิมนต์หลวงปู่จามให้กลับมาอยู่ที่บ้านห้วยทราย คำชะอีโดยให้เหตุผลที่ว่าหลวงปู่ก็อายุมากแล้ว ควรอยู่เป็นที่ และคณะญาติทางบ้านห้วยทราย ก็รอคอยการกลับมาโปรดของตุ๊เจ้าจามอยู่ ( รวมเวลาที่หลวงปู่จาม อยู่ทางภาคเหนือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๕๐๖ , ๒๕๑๐ -๒๕๑๑ รวม ๒๔ ปี )
พ.ศ. ๒๕๑๒ อายุ ๕๙ ปี พรรษาที่ ๓๑ หลวงปู่จาม ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด และได้อยู่พำนักที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย คำชะอี นับแต่นั้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
หลวงปู่จามเล่าว่า ทางภาคเหนือมีสถานที่สัปปายะ ภาวนาดี สมาธิเจริญดี ได้แก่ ถ้ำเชียงดาว อ.เชียงดาว เขต อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เขต อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เขต อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เขต อ.เกาะคา จ.ลำปาง และที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง
หลวงปู่จามว่า สถานที่ต่าง ๆ ที่ภาวนาเจริญก้าวหน้าทางจิตดีนั้น ก็เพราะอดีตกาลเป็นสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าในอดีตได้มาตรัสรู้บ้าง ตั้งพระพุทธศาสนาบ้าง เสด็จดับขันธปรินิพพานบ้าง ถือว่าเป็นเขตมงคล แม้ต่อไปภายภาคหน้าก็จะเป็นถิ่นมงคลสำหรับพระพุทธเจ้าในอนาคตอีกด้วย เช่นบริเวณวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ. เชียงใหม่ เคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอัครสาวกคือพระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร จำนวน ๑ พรรษา ที่ในถ้ำตับเต่า อ.ฝาง และเคยเป็นที่นิพพานของ พระกิมพิละเถระ แม้กระนั้น หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาอยู่ ๑ พรรษา หลวงปู่จามก็เคยภาวนาที่นั้น จึงได้ทราบถึงเรื่องราวในอดีตดังกล่าว
พ.ศ. ๒๕๑๔ อายุ ๖๑ ปี หลวงปู่จาม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้าน ห้วยทราย คำชะอี ท่านพิจารณาเห็นว่าเสนาสนะเดิมนั้นชำรุดทรุดโทรมจากปลวก เกรงจะเป็นอันตรายต่อบรรพชิตและฆราวาส ท่านจึงได้ดำริให้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพดีขึ้น
พ.ศ. ๒๕๒๑ อายุ ๖๘ ปี หลวงปู่จามได้ออกแบบกุฏิเสาเดียว สร้างเป็นตัวอย่างครั้งแรก ๑ หลัง สามารถกันปลวกได้ จึงได้เปลี่ยนกุฏิไม้เดิมมาเป็นกุฏิเสาเดียว สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก อีกหลายหลังในเวลาต่อมา
พ.ศ. ๒๕๒๓ อายุ ๗๐ ปี หลวง ปู่จาม ได้นิมิตว่า “ เทวดาจะอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระสาวกมาถวายให้ ” หลังจากนั้นต่อมาไม่นาน ก็ได้มีญาติโยมนำพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระสาวก อย่างละไม่กี่องค์มาถวายให้หลวงปู่ จึงได้นำมาบูชาไว้ ต่อมาได้ปรากฏว่า พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระสาวก ได้เสด็จมาเพิ่มเองอีกเป็นจำนวนมากและเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๒๗ อายุ ๗๔ ปี หลวงปู่จาม ได้ดำริให้สร้างเจดีย์ โดยท่านเป็นผู้ออกแบบพระเจดีย์เองในแบบศิลปะประยุกต์ และท่านควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยอาศัยช่างชาวบ้านในละแวกนั้น ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี
พ.ศ. ๒๕๒๘ อายุ ๗๕ ปี วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๘
พ.ศ. ๒๕๓๐ อายุ ๗๗ ปี หลวงปู่จาม ได้ประกอบพิธีบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระสาวก ไว้ในเจดีย์
หลวงปู่จาม ได้ปลูกต้นไม้สักไว้ในบริเวณวัดป่าวิเวกวัฒนาราม
พ.ศ. ๒๕๔๑ อายุ ๘๙ ปี พรรษา ๖๐ เดือนธันวาคม ๒๕๔๑ ออกธุดงค์ครั้งสุดท้ายเพื่อไปโปรดสาวก
คืน วันหนึ่งนั่งภาวนา สัญญาผุดขึ้นว่า ท่านพ่อลีได้เคยบอกไว้นานแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่ถ้ำพระสบาย ลำปาง ว่า “ ผู้ที่จะเป็นสาวกท่านจามผู้หนึ่ง เป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย ที่ชื่อ ตารุกขปติ อยู่ที่ผานกเค้า ถ้ามีโอกาส ขอให้ท่านจามไปโปรดเขาด้วย ” ผานกเค้า อยู่ในเขต อ.ผานกเค้า รอยต่อระหว่าง จ.ขอนแก่น กับ จ. เลย มีศาลตั้งอยู่เรียกว่า ศาลปู่หลุบ มีเจ้าปู่หลุบ ซึ่งผู้คนที่ได้ผ่านไปมา มักจะแวะสักการะอยู่เสมอ
หลวงปู่จาม ระลึกได้จึงได้เดินทางโดยรถยนต์ไปพักแรมอยู่บริเวณใกล้ ๆ นั้นหลายคืน เพื่อเทศนาโปรด ตารุกขปติ เมื่อไปก็ได้พบจริงตามที่ท่านพ่อลีได้บอกไว้ ตารุกขปติจึงเล่าว่าเขาเป็นเทพหัวหน้า มีหน้าที่กำกับดูแลปกครองพวกผี พวกเปรตทั้งหมดในสากลโลกนี้ ความเป็นมาที่ต้องมาเป็นหัวหน้าก็เพราะเหตุเมื่ออดีตชาติ ว่าตนมีลูกชายคนหนึ่งถูกผีมาเบียดเบียนรังควานต่าง ๆ นานา จนกระทั่งลูกชายคนนั้นถึงแก่ความตาย เมื่อลูกชายตายไปแล้วตนตั้งใจทำบุญให้ทานมากมาย วันหนึ่งได้ถวายแตงโมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เลยตั้งจิตอธิษฐาน ขอพร ขอให้ตนได้เป็นเจ้าแห่งผีแห่งเปรตทั้งมวล มีปราสาทวิมาน มีบริวารทั่วโลก ตารุกขปติบอกว่าตนมีปราสาทวิมานอยู่ที่ผานกเค้า ส่วนสำนักงานผีอยู่ที่ภูผาม่าน อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ตารุกขปติ ได้นิมนต์ให้หลวงปู่จามเทศน์ “ มงคลคาถา ” วันละ ๑ คาถา ติดต่อกันทุกวันจนครบ ๓๘ พระคาถา หลวงปู่จามจึงได้เทศนาให้ฟังทุกคืน จนครบ ๓๘ คืน จึงเดินทางกลับ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย คำชะอี
การเทศนาแต่ละคืน จะมีญาติโยมที่อยู่ใกล้เคียงมาฟังด้วยทุกคืน ญาติโยมไม่ทราบเรื่องก็สงสัยว่าทำไมหลวงปู่จามจึงเทศน์แต่มงคลสูตร อย่างอื่นไม่ได้เทศน์ พอขึ้นต้นเทศน์ก็ยกพระคาถามงคลสูตรตามลำดับ ก่อนกลับไปห้วยทราย หลวงปู่จาม จึงเฉลยปัญหาให้โยมฟังว่า เหล่าเทพเทวาแถวนี้ ต้องการฟังมงคลคาถา ขณะโยมรับฟังเหล่าเทพเทวาก็มาฟังด้วย แต่โยมไม่เห็นเขา แต่เขาเห็นโยม
พ.ศ. ๒๕๔๔ อายุ ๙๑ ปี เนื่อง จากศาลาของวัดป่า วิเวกวัฒนารามเดิมที่หลวงปู่จาม ได้สร้างไว้นั้น ได้เกิดความชำรุดทรุดโทรม คณะศิษย์จึงได้กราบขออนุญาตจากหลวงปู่ เพื่อขอรื้อศาลาเก่าและสร้างศาลาใหม่ โดยได้ดำเนินการก่อสร้างอย่างเรียบง่ายและประหยัด ด้วยฝีมือช่างที่เป็นพระสงฆ์ภายในวัดและชาวบ้าน ซึ่งคณะศิษย์ต่างร่วมแรงร่วมใจทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์กันเอง โดยมิได้มีการเรี่ยไร ทอดกฐิน ผ้าป่า แต่อย่างใด
ตลอด ระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า ๖๔ พรรษา หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ท่านได้ตั้งใจเจริญพุทธคุณ ตามรอยบาทของพระพุทธเจ้า ถือด้วยใจ ปฏิบัติด้วยใจ เจริญพุทธเนต.ติ ด้วยการประพฤติเพื่อความหนักแน่นในธรรม ผู้ถึงพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจเท่านั้นที่เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัยอยู่ได้ ท่านยึดมั่นตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหลักใหญ่ รวมทั้งคำเทศนาสั่งสอนของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทั้งศีลของพระสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ และศีลอภิสมาจาร ๓,๕๐๐ ข้อ แม้ในกุฏิของท่านก็อยู่อย่างสมถะ ท่านไม่เคยขอเงินบริจาค ไม่มีการจำหน่ายวัตถุมงคล ดังนั้น ในวัดป่าวิเวกวัฒนาราม จึงไม่มีตู้รับบริจาค ท่านสอนเสมอว่า ใครทำใครได้ ท่านเน้นให้ทุกคนเร่งสวดมนต์ภาวนา ทำจิตให้สะอาด เกรงกลัวบาปกรรม เพื่อให้ได้ถึงพระนิพพานกันทุกคน สมควรแล้วที่พวกเราชาวพุทธ จะได้ยึดถือการปฏิบัติธรรมของท่านเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดความเจริญในธรรมต่อไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dhammasavana.or.th