ประวัติ หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต - วัดศรีจำปาชนบท ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร - webpra

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต

ประวัติ วัดศรีจำปาชนบท ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต
หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต
วัดศรีจำปาชนบท
ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร


๏ อัตโนประวัติ

“หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต” เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีความเคร่งครัดในหลักพระธรรมวินัย เป็นพระที่เรียบง่าย แต่ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างจริงจัง ทำให้ท่านรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม เป็นพระมหาเถระที่พุทธศาสนิกชนให้ความเลื่อมใสศรัทธา ท่านมีนามเดิมว่า คำ เดชภูมี เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2424 ณ บ้านปลาโหล ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร โยมบิดาชื่อ นายขุนเดช เดชภูมี ส่วนโยมมารดานั้นไม่ปรากฏนาม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ใน วัยเยาว์ ท่านเป็นคนที่เฉลียวฉลาด มีสติปัญญาดี เมื่ออายุ 16 ปี โยมบิดาได้เสียชีวิตลง โยมมารดาจึงให้บุตรชายบรรพชาเป็นสามเณร เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้โยมบิดา แล้วได้นำไปฝากไว้กับเจ้าอาวาสวัดบ้านปลาโหล ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน

ภายหลังบรรพชา สามเณรคำมุ่งมั่นเอาใจใส่ในการศึกษาพระปริยัติธรรม สวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน หนังสือเทศน์จากสมุดข่อยใบลาน อักษรธรรม ภาษาขอม โดยใช้เรื่องปัญญาบารมี อุณหัสสวิชัย ทิพย์มนต์ และมหาชาติเวสสันดรชาดก ส่วนการเรียนปาติโมกข์ ท่านเรียนแบบปากต่อปาก เพราะตำรามันหายาก

พ.ศ. 2446 ครั้นอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ สามเณรคำ เดชภูมี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบ้านปลาโหล จ.สกลนคร อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้เพียงสองพรรษาเท่านั้น ท่านก็ได้ลาสิกขา


๏ ชีวิตครอบครัว

พ.ศ. 2448 อายุ 23 ปี ครั้นเมื่อท่านได้ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตแบบฆราวาส ต่อมาก็ได้แต่งงานอยู่กินกับนางสาวเคน สาขามุละ มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 คน มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นายนอ เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
2. นายนิล เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
3. นายนัน เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
4. นายนนท์ เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
5. นายสำเนาว์ เดชภูมี (ยังมีชีวิตอยู่)
6. ด.ญ.แก้ว เดชภูมี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)

เมื่อ ครั้งหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ยังเป็นเพศฆราวาสอยู่ ท่านดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชอบทำบาป นิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ทำอะไรทำจริง ท่านเป็นคนที่มีเหตุผล ตรงไปตรงมา ถ้าพูดภาษาบ้านเราก็เรียกว่า “พูดน้อย แต่ต่อยจริง” หมู่คณะและเพื่อนฝูงจึงยกย่องให้ท่านเป็น “ผู้นำ” มาตลอด และชาวบ้านทั่วไปมักจะเรียกขานท่านว่า “อาจารย์คำ”

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต

รูปหล่อและรูปภาพหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ณ วัดศรีจำปาชนบท

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต “เจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต” ณ วัดศรีจำปาชนบท


หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต อนุสรณ์สถาน กุฏิหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ณ วัดศรีจำปาชนบท


หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน ณ วัดศรีจำปาชนบท


 ๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

ปี พ.ศ. 2473 อายุได้ 49 ปี ท่านได้สร้างครอบครัวให้มั่นคงถาวร พออยู่พอกินตั้งหลักปักฐานได้แล้ว ท่านจึงได้ลาภรรยาและบุตร รวมทั้งญาติพี่น้อง เพื่อขอกลับเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง พอดีในช่วงนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล สองขุนพลแห่งกองทัพธรรม ศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระปรมาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐาน ได้ออกจาริกธุดงค์ผ่านมาพักอยู่ที่ป่าช้าบ้านปลาโหล (ปัจจุบันเป็นวัดป่ารัตนโสภณ บ้านปลาโหล) ท่านได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์ทั้งสองแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้เข้าไปขอมอบกายถวายตัวเป็นศิษย์

ซึ่งครูบาอาจารย์ทั้งสองก็ เมตตาและรับท่านเป็นศิษย์ พร้อมกับได้บวชเป็นตาผ้าขาวให้อยู่รักษาศีลแปด บำเพ็ญธรรม ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติไปก่อน เพื่อให้รู้ถึงแนวทางการประพฤติปฏิบัติของพระกรรมฐาน ฝึกหัดเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และก็ได้พาหลวงปู่คำ ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งในขณะนั้นท่านได้เดินธุดงค์มาพำนักเพื่อภาวนาในเขตจังหวัดสกลนคร

จาก นั้นท่านพระอาจารย์สิงห์และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ได้นำหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประสาทศาสนกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ยสกุลปุตฺโต” ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว ได้เดินทางมาพำนักจำพรรษา ณ วัดศรีโพนเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

ครั้นเมื่อออกพรรษาปาวารณาแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปภูลังกา ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย ร่วมกับ พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร และเดินทางเข้าไปอยู่กับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร รวมทั้งได้จำพรรษากับองค์ท่านด้วย

ขณะ จำพรรษา ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่มั่น ได้รับฟังธรรมะและอุบายธรรมในการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ครั้นได้ทราบแนวทางการปฏิบัติธรรม ข้อวัตรต่างๆ แล้ว ท่านได้กราบลาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ออกเดินธุดงค์ไปตามเทือกเขาภูพาน ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาความสงบวิเวกในการบำเพ็ญธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา

สำหรับครูบาอาจารย์สหธรรมิกที่เคยร่วมเดินธุดงค์กับหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต มีมากมายหลายท่านด้วยกัน อาทิเช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย และ หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นต้น

 หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต , พระอาจารย์ฝั้น

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร กับ หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต
ถ่ายภาพ ณ วัดป่าศรีจำปาชนบท อ.พังโคน จ.สกลนคร


๏ สร้างวัดศรีจำปาชนบท

ครั้น เมื่อปีพุทธศักราช 2483 ขุนศรีปทุมวงศ์ เจ้าเมืองสกลนคร และนางหล้า ศรีปทุมวงศ์ ซึ่งเป็นน้องเขยและน้องสาวของท่าน ได้มีจิตศรัทธาประสงค์จะบริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างเป็นวัดไว้ในบวรพระพุทธ ศาสนา ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ที่บ้านพังโคน ต.ม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ปัจจุบันคือ บ้านพังโคน ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร จึงได้พากันเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ในตอนนั้นท่านพำนักอยู่ที่ป่าช้าบ้านปลาโหล และได้แจ้งวัตถุประสงค์ให้ท่านทราบ พร้อมทั้งกราบอาราธนาท่านให้มาดูที่ดินผืนดังกล่าว ซึ่งองค์หลวงปู่ท่านก็ไม่ขัดข้อง และได้เมตตารับอาราธนาคณะศรัทธาญาติโยม

หลวง ปู่คำ ได้รับมอบถวายที่ดินจากน้องเขยและน้องสาวของท่าน และได้เริ่มก่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ชาวอำเภอพังโคนและใกล้เคียง พัฒนาวัด ก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงครัว รวมทั้งได้ขออนุญาตสร้างวัดให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดศรีจำปาชนบท” และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

หลวง ปู่คำ ท่านได้ทำการอบรมสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมในท้องถิ่น ตลอดทั้งหมู่บ้านใกล้เคียง ให้รู้จักศีล รู้จักธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ในสมัยนั้นชาวบ้านส่วนมากจะนับถือผี เลี้ยงผี บวงสรวงปู่เจ้าเข้าทรง ท่านก็สอนให้ชาวบ้านเลิกนับถือสิ่งที่ผิดๆ เหล่านั้นเสีย แล้ว สอนให้มาเคารพนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด ให้ภาวนา “พุทโธ” และให้สมาทานศีลห้า ศีลแปด ไหว้พระสวดมนต์ ก่อนหลับนอน รวมทั้งให้มารักษาศีล ปฏิบัติธรรมภายในวัดทุกวันพระด้วย

องค์หลวงปู่ท่านเป็นพระสุ ปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในหลักพระธรรมวินัย เป็นพระที่เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ ทำอะไรทำจริงปฏิบัติจริง ท่านจึงรู้เห็นธรรมจริงในทางพระพุทธศาสนา และเป็นพระมหาเถระที่พุทธศาสนิกชนให้การเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ๏ การมรณภาพ

เมื่อ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2520 หลวงปู่คำ ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ณ วัดศรีจำปาชนบท สิริอายุรวม 96 พรรษา 42 ทั้งนี้ คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้ทำการถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 ภายหลังจากการถวายเพลิงศพได้ไม่นาน เถ้าถ่านอัฐิของท่านก็ได้กลายเป็นพระธาตุ เป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญสมณธรรมขององค์ท่าน ว่าบำเพ็ญจนบรรลุมรรคผลสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา

จนกระทั่งเมื่อวัน ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2542 คณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันก่อสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุ อัฐบริขาร รวมทั้ง แสดงชีวประวัติและปฏิปทาอันงดงามขององค์ท่าน โดยมี พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) แห่งวัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์

ครั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2546 ได้มีการทำพิธีเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ ในการทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและยกฉัตร “เจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต” ณ วัดศรีจำปาชนบท ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร

..........................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.sakoldham.com/
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
โดยเฉพาะจาก : fb. ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19987

Top