หลวงปู่คำแสน อินทจักโก ( พระครูสุคันธศีล )
ประวัติ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
หลวงปู่คำแสน กำเนิดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2431 ตรงกับเดือน 3 เหนือ แรม 9 ค่ำ เวลา 06.00 น. ปีชวด ณ บ้านป่าพร้าวใน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ บิดาชื่อท้าวภูมินทร์พิทักษ์ มารดาชื่อคำป้อ รังสี มีนามเดิมว่า ทิม เมื่อครั้งเยาว์วัย หลวงปู่เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย อารมณ์แจ่มใส รู้จักคุณบิดามารดา ช่วยบิดามารดาทำนา
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
เมื่ออายุ 10 ขวบได้เข้าวัด พออายุ 12 ปี จึงได้ขอบวชเป็นสามเณร ได้ตั้งใจเล่าเรียนค้นคว้าพระธรรมวินัย และวิปัสสนากรรมฐานกับครูบาอริยะ วัดคับภัย จนถึงอายุครบบวช 20 ปีบริบูรณ์ ได้รับฉายาว่า "อินฺทจกฺโก" แปลว่าผู้มีพลังดุจจักรพระอินทร์
ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นอยู่ในสัมมาปฏิบัติ เมื่อบวชได้ 1 พรรษา ได้มีผู้นิมนต์ไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดอื่นๆ เกือบ 10 ปี หลวงปู่ได้ออกจาริกอบรมเผยแพร่ไปในท้องที่ต่าง ๆ เช่น อำเภอสะเมิง และตามป่าดอยของภาคเหนือ ต่อมาภายหลังท่านหลวงปู่คำแสน หรืออีกนามหนึ่งคือ "พระครูสุคันธศีล" ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอก ซึ่งเป็นวัดหลวงของจังหวัด เชียงใหม่ ท่านได้ทำนุบำรุง และอนุรักษ์วัดสวนดอกเป็นเวลา 30 ปี ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่อง ท่านได้อุทิศชีวิตบำรุงพระพุทธศาสนา มั่นคงดำรงตนในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ประพฤติธรรมสมถะ มีดวงจิตเหนืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ จนได้รับสมญานามว่า "รอยยิ้มแห่งพระอรหันต์"
หลวงปู่คำแสนได้มรณภาพด้วยความสงบ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2519 เวลา 24.00 น. รวมอายุได้ 88 ปี 3 เดือน
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำพูดถึงหลวงปู่คำแสนใหญ่
ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นแล้ว งานฉลองวัดหรือว่างานครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของหลวงปู่ปานเริ่มขึ้น ผู้เขียนกับผู้ร่วมงานแผนกต้อนรับพระสุปฏิปันโน ก็คอยจ้องดูว่า พระคุณหลวงปู่องค์ใดมา
ตอนนั้นผู้เขียนจัดอะไรเพลินอยู่จำไม่ได้ รู้สึกว่าใจตัวเองมีความเยือกเย็นสว่างไสวขึ้นมาอย่างฉับพลัน มันเป็นสุขอย่างบอกไม่ได้เอาเสียเลย และรู้สึกว่ากระแสแห่งความสุขสว่างไสวนั้นมาจากอีกด้านหนึ่งของพระอุโบสถ วิ่งอ้อมไปดูก็เห็นพระภิกษุชราภาพรูปหนึ่ง ร่างกายสูงใหญ่ แต่เดินหลังค้อมลงมาบ้างแล้ว
ท่านผู้อ่านเอ๋ย เพียงเห็นท่าเดิน เห็นอิริยาบถคนแก่ของท่าน ใจผู้เขียนมันมีปีติล้นหลามออกมา ซ้ำเห็นยิ้มของท่าน ใจเราก็อาบชุ่มด้วยความสุข เห็นโยมผู้หญิงศิษย์หลวงพ่อคนหนึ่ง กำลังกราบแนบหน้ากับพื้นฝุ่นลูกรัง น้ำตาแกไหล ปากก็บ่นว่า
"หลวงปู่เจ้าขา หลวงปู่เจ้าขา..."
หลวงปู่องค์นั้นก็หันมายิ้ม ยิ้มสวยจริงๆ สวยออกมาจากใจเลย ท่านบอกว่า
"เออ...เออ...เป็นสุขเน้อ"
ท่านเอ๋ย ผู้เขียนไม่ทราบว่าหลวงปู่คำแสนใหญ่องค์นั้น(พระครูสุคันธศีล แห่งวัดสวนดอก เชียงใหม่) จะมีจิตตานุภาพเป็นอย่างไร แต่ผู้เขียนยอมคุกเข่าลงกราบ กราบด้วยความสุขใจ น้ำตาคงจะไหลออกมาด้วย ช่างเป็นบุญของเราจริงหนอ ที่ได้ประคองพระคุณท่านเข้ากุฏิรับรอง
คืนนั้น ที่หลวงปู่เพิ่งมาถึงนั่นเอง ก็มีผู้ปฏิบัติพระด้วยกันท่านหนึ่ง นั่งอยู่ตรงหน้าหลวงปู่คำแสนใหญ่ด้วยกันกับผู้เขียน ท่านผู้นั้นก็ชวนหลวงปู่สนทนาขึ้นมาว่า
"เขาลือกันว่าหลวงปู่ยิ้มสวย จนเรียกว่ารอยยิ้มพระอรหันต์ ทำอย่างไรจึงจะยิ้มได้เหมือนหลวงปู่ครับ?"
เขาพูดลอยๆ ออกมา ท่าทางก็ไม่ค่อยจะนุ่มนวลนัก ใจผู้เขียนก็ขุ่นขึ้นมาตามแบบน้ำใจของเราเอง แต่ว่าน้ำใจท่านไม่เหมือนเรา ท่านยิ้มจนหางตาย่นมากๆ แต่ว่าริมฝีปากกับดวงตาท่านมีอะไรหนอ...มีประกาย มีความงาม มีความสุขฉายออกมาพร้อมกับคำตอบ
"เอ้อ..ถ้าใจมันไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ มันก็ยิ้มสวยเองแหละเน้อ"
ท่านผู้อ่านที่รัก ผู้เขียนได้ยินเสียง ได้เห็นกระแสสายตา ความงามของมุมปากยิ้มขำๆ ปนใจดีมีสุข มันบอกไม่ถูกว่าเป็นสุขอย่างไร รู้แก่ใจตัวว่า "ท่านเอาใจของท่านออกมาพูด" ผู้เขียนเลยลืมขุ่นใจท่านผู้นั้นไปเลย
พอท่านผู้นั้นลุกออกจากกุฏิไปแล้ว ผู้เขียนก็ได้ใจจะเอาบ้าง กระหย่งเท้ากราบลงแทบเท้าหลวงปู่คำแสนใหญ่ ละล่ำละลักประจบประแจง
"หลวงปู่ครับ ผมอยากบวช"
"เอ้อ..อยากบวชจริง ก็ได้บวชเน้อ"
แหม..มันไม่หายคันหัวใจ
"บวชแล้ว ผมจะได้เป็นพระอรหันต์ไหมครับ?"
(เอาเข้านั่น)
"เอ้อ...ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติให้มันดี ปฏิบัติให้มันตรงทาง พอถึงปลายทางก็เป็นพระอรหันต์เองแหละเน้อ"
โอย..ไม่เอาใจกันบ้างเลย มันจะหายโรคคันได้อย่างไร
"หลวงปู่ครับ ผมขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอประทานโอวาทไว้ปฏิบัติครับ"
เท่านั้นแหละท่านผู้อ่านเอ๋ย หน้าที่ยิ้มสวยๆ เสียงที่อ่อนโยนเนิบนาบก็เปลี่ยนไป..เปลี่ยนแบบฟ้าร้องไม่ทันอุดหู
"ไอ้คนจัญไรนี่ พูดเอาอัปปรีย์เข้าตัวนี่"
ชี้หน้าตาลุกเลย !
"อย่าไปพูดจัญไรอย่างนี้กับพระองค์ไหนอีกเลย ครูบาอาจารย์ของตัวเองนะ เป็นพระอรหันต์องค์เอกของโลกในปลายศาสนา ๕,๐๐๐ ปี นี่จะหาใครมาเหมือนท่านได้ นี่ยังจะมีกะใจแส่หาอาจารย์อื่นอีกหรือ ไม่มีใครเขาจะสอนเราได้เหมือนอาจารย์เราสอนหรอก จำไว้นะ อย่าพูดอย่างนี้อีก ตัวเองนี่รีบไปกราบเท้าขอขมาท่านเสีย แล้วมงคลจึงจะเข้าถึงตัวได้ ไปรักษาศีล ๕ ให้ดี เอาไว้รับความดีที่ท่านมอบให้เถิด จำไว้นาลูกเอ๊ย"
ประโยคสุดท้ายเปล่งออกมา ประกายแววตารอยปากก็เปล่งความในใจออกมาอีก ผู้เขียนร้องไห้อยู่นาน ท่านลองเดาดู..ร้องทำไม ?
นับแต่เวลานาทีนั้น ใจผู้เขียนก็มีความปลื้มใจ ภูมิใจและสลดใจปะปนกันทุกครั้งที่นึกถึงพ่อและตัวเอง และสำหรับหลวงปู่คำแสนใหญ่ (ผู้ไม่พูดเอาใจเสียเลย) ผู้เขียนขอเทิดไว้ในความทรงจำด้วยความเคารพและขอบพระคุณสุดจะประมาณได้
รุ่งขึ้นก็สงบเสงี่ยมเจียมวาจาปรนนิบัติบูชาหลวงปู่ ตอนนี้หายคันแล้ว ชักไม่อยากกินข้าวกินน้ำ แต่ก็นึกได้ทันว่ามือพ่อมักจะถือตะพดหัวเลี่ยมเงินอยู่เสมอ แล้วก็ตีแรงด้วย แม่นยำด้วย..ก็เลยหยุด
พอถวายอาหารเช้าหลวงปู่เสร็จ ถ้าท่านประสงค์จะเจริญศรัทธาญาติโยมที่มาในงาน ก็จะประคองท่านออกไปนั่งอาสนะที่จัดไว้นอกกุฏิ
ท่านจะพักก็พากลับ เป็นอย่างนี้จนถึงวันที่สอง...วันรองสุดท้ายของงาน
พอถึงตีสาม ลูกศิษย์ของท่านที่มาด้วยกันก็มาปลุกผู้เขียน บอกว่าหลวงปู่ให้ขึ้นไปพบ ก็ขึ้นไปหาเข้าใจว่าท่านจะต้องการใช้สอย เห็นท่านนั่งขัดสมาธิสบายๆ อยู่ กวักมือเรียกให้เข้าไปใกล้แล้วบอกว่า
"หลวงปู่จะกลับก่อนตอนตีสี่เน้อ ทางวัดสวนดอก มีธุระให้คนมาแจ้งเมื่อตอนดึกนี่ บอกหลวงพ่อด้วยว่า อยู่ลาไม่ทันแล้ว"
แล้วท่านก็ดึงหัวผู้เขียนไปที่หน้าตักท่าน เอาดินสอมาเขียนขยุกขยิกลงบนกระหม่อมแล้วให้พรให้สมปรารถนา ดาราเจ้าน้ำตาก็แสดงบทถนัดอีกครั้ง ท่านจะลงอะไรบนหัวเรา เราคิดอย่างเดียวว่า ท่านได้สลักโอวาทและรอยยิ้มพระอรหันต์ลงในกระดูกศีรษะ ทะลุผ่านเข้าไปติดตรึงในดวงใจเราไม่มีวันจะลบออกได้ แล้วท่านก็ลงมาคอยรถ เขาถอยมารับที่หน้ากุฏิ
ตอนนั้นตีสี่พอได้ ก็ได้ยินเสียงหัวเราะได้เห็นพ่อเดินแกว่งไม้เท้าเข้ามาหา
"..(เรียกชื่อผู้เขียน) เอ๊ย !...เรียบร้อยดีไหมหว่าทางนี้ อ้าว นั่น ! พระอะไรมานั่งอยู่นี่ ข้าวของนี่จะเอาของเขาไปไหน เอ้า..ช่วยกันค้น ! หลวงปู่ขโมยอะไรเราไปบ้างหว่า..."
แล้วท่านก็แหวกย่ามหลวงปู่ เอาซองหนาปึ๊กยัดเข้าไป ทรุดกายลงกราบที่ตักหลวงปู่คำแสนใหญ่ ๑ ครั้ง
"ขอบคุณหลวงปู่ที่เมตตามางานผม ยังไม่ได้คุยกันเลยจะกลับเสียแล้ว นี่ผมนอนไม่หลับเดินเรื่อยเปื่อยมาพบพอดี ปีหน้าเมตตามาใหม่นะขอรับ"
ท่านผู้อ่านเอ๋ย...ภาพนั้น..หลวงปู่ยิ้มแบบเดิม พึมพำรับปากพ่อว่าจะมาอีกในปีหน้า พ่อหัวเราะเสียงดังตามแบบของพ่อ ดวงตาผู้เขียนพิมพ์ภาพนั้นไว้ แต่ใจคิดเตลิดไม่หยุด
พ่อกูเอ๋ย พ่อผู้รู้จบ พ่อผู้ปิดบังตัวเองไว้ ลูกผู้ตาบอดใจจัญไร ต้องให้พระคุณหลวงปู่คำแสนใหญ่มาชำระล้าง ให้มองเห็นพ่อชัดเจนเด่นกระจ่าง จนบัดนี้ลูกเดินอย่างมั่นใจไปบนเส้นทางพระโยคาวจร ตามรอยเท้าพ่อไป..จนตราบรอยเท้าสุดท้าย
ข้อมูลอ้างอิงจาก : จากหนังสือ "เสียงจากถ้ำ (นารายณ์) ฉบับพิเศษ : บนเส้นทางพระโยคาวจร" โดย หลวงตาวัชรชัย เจ้าอาวาสวัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์)