หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร
ประวัติ วัดดอนมูล(สันโค้งใหม่) ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
นามเดิม
คำแสน เพ็งทัน เป็นบุตรของนายเป็งและนางจันทร์ตา เพ็งทัน
เกิด
วันอังคารที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ ปีมะเมีย ที่บ้านสันโค้งใหม่ ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
บรรพชา
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุ ๑๗ ปี ที่วัดดอนมูล มีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท
เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ณ วัดดอนมูล โดยมีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาพิมพิสาร วัดแช่ช้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
อุปนิสัย
หลวงปู่คำแสนมีอุปนิสัยเยือกเย็น อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้ที่ได้รับฟังธรรมจากท่านแล้วก็หายทุกข์โศก ท่านได้เสริมสร้างคุณงานความดีทั้งที่เป็นอัตประโยชน์ และปรหิตประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ
มรณภาพ
วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เวลา ๑๐.๑๒ น. สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี พรรษา ๖๔
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำกับหลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร
แผ่นดินไทยเราเป็นแผ่นดินพระพุทธศาสนา ก่อตั้งมาด้วยทั้งความดีงาม ของพระธรรม และพระอริยสงฆ์ สมเด็จพ่อพระบรมศาสดา และด้วยชีวิตเลือดเนื้อ ความจงรักภักดีของเหล่าคนไทย ตั้งแต่องค์พระประมุข ลงมาถึงทหารกล้า ประชาราษฎร์ทั้งปวง และแน่นอนที่สุด จะต้องมีผู้คนพวกหนึ่งที่ปักใจเวียนเกิดเวียนตาย จงรักปกป้องบำรุงแผ่นดินอยู่ไม่ยอมห่าง ไม่ยอมทอดทิ้ง บางชาติก็เป็นนักรบของอาณาจักร บางชาติก็เป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญ เกื้อกูลกำลังใจแก่ประชาชน ท่านเหล่านี้ นอกจากพระคุณพ่อของพวกเราแล้ว ยังมี “หลวงปู่คำแสนเล็ก” และ “หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก” อีกสองท่านที่หลอมน้ำใจห่วงหวงแผ่นดินไทยคู่กับพ่อโดยตลอดมา จนตราบท้าวเข้าสู่พระนิพพาน ในชาติสุดท้ายของพระคุณท่านทั้งสามพี่น้องร่วมบุญบารมีนั้น
จะขอกล่าวถึงหลวงปู่คำแสนเล็ก (สำนวนอย่างกับผู้ชนะสิบทิศ) เสียก่อน พระคุณเจ้าองค์นี้ พ่อบอกว่าเป็นพี่ชายองค์หนึ่งของพ่อมาแทบทุกชาติ น้ำใจที่รักน้องนั้นมากมาย ขนาดยอมสละทุกสิ่งที่น้องต้องการได้ แม้สิ่งนั้นจะมีเศวตรฉัตรบัลลังก์เจ้าเหนือหัวคนทั้งแผ่นดิน ท่านก็ให้น้ององค์นี้ได้ ส่วนองค์ท่านเองนั้นชอบแต่ความสงบสันโดษมาโดยตลอด จนชาติปัจจุบันนี้ บวชเรียนมาแต่เล็กจนได้พบพ่อเมื่ออายุ 80 แล้ว จึงมีจริยาที่สงบเย็นเมตตาการุณย์ต่อพวกเราลึกซึ้งไม่มีประมาณ สมกับฉายาพระภิกษุของท่านที่ว่า “คุณาลังกาโร” เป็นที่สุด
ผู้เขียนจำได้ว่าในปีแรกของงานฉลองวัด คือปี 18 นั้น หลวงปู่คำแสนเล็กพักอยู่กุฏิ 3 ที่จำได้เพราะอยู่ติดกับกุฏิหลวงปู่บุดดา ซึ่งอยู่กุฏิ 2 และเพราะอยู่ติดกัน ทำให้ศิษย์ติดตามองค์หลวงปู่บุดดาคนหนึ่ง ขึ้นไปหาหลวงปู่คำแสนเล็ก และเกิดเรื่องทั้งขำขันและชื่นใจในจริยาของหลวงปู่คำแสนไม่มีลืม เอาสักเรื่องก่อนดีไหม ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องลึกๆ ของพระคุณท่าน
คือมันอย่างนี้..... ผู้เขียนน่ะได้ยินคำพ่อบอกเล่ามาก่อนว่า หลวงปู่คำแสนเล็กท่านมีจริยานุ่มนวลเยือกเย็น มีเมตตาปราณีให้อภัยไม่ว่าคนหรือสัตว์ ท่านไม่มีโทษภัยให้แก่ใครๆ ตลอดมา จึงดูเหมือนว่า จะเสียเปรียบเขามาทุกชาติ และก็ขี้อาย ขี้เกรงใจเอามากๆ ด้วย
ผู้เขียนยิ่งเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อมีศิษย์ประจำตัวหลวงปู่บุดดาคนหนึ่งผลุนผลันขึ้นไปหาท่านถึงห้องนอนชั้นบน ผู้เขียนจะห้ามปรามก็ไม่ทันการณ์แล้ว เขาเข้ามากราบ ท่านก็ยิ้มสวยเชียว หน้ายังงี้ก็แววขำๆ จำยอมอยู่เป็นปกติ เขามาชวนท่านคุย ท่านก็พยักหน้า “เอ้อ....เอ้อ ๆ...” ฟังเขาพูด เขาถามท่านก็ตอบคำเดียวสั้นๆ ตอบไปยิ้มไป จนตาคนนั้นแหละเครื่องร้อนได้ที่ก็ได้เรื่อง แกก็นั่งขัดสมาธิปั๊บต่อหน้าหลวงปู่คำแสนนั่นแหละ ทำตาหลุบต่ำ หน้าเคร่งขรึม พูดออกมาว่า
“ผมนี่ทรงพระพุทธเจ้าได้ หลวงปู่อยากพบพระพุทธเจ้าไหมครับ ?”
หลวงปู่ก็ยิ้มตามกระแสน้ำเหมือนเดิม ตอบเขาไปว่า
“ เอาก็เอา”
“เอ้าพระพุทธเจ้ามาแล้วนะ....”
เขาพูดเสียงดังก้อง.....ตัวสั่นไปถึงหน้าตัก... หน้าเบี้ยวเชียว หลวงปู่ก็ยิ้ม ยิ้มขำชัดเจนเลย ท่านคงจะสงสัยว่าพระพุทธเจ้าของเราทำไมหน้าไม่สวยกระมัง ตาคนนั้นก็รุกต่อ
“เอ้า.... จะถามอะไรฉันไหม.....”
ถึงตอนนี้ค่อยเข้าท่าหน่อย คือ ท่าทางน้ำเสียงเริ่มมีเค้าขึ้นหน่อย หลวงปู่เราก็....แหม.....เกิดไม่มีอะไรจะสงสัย ตอบเขาไปว่า
“ไม่มี”
“เอ้า.... ไม่มีผมจะกลับละนะ”
หมดเค้าเลย.... อีตอนนี้พระพุทธเจ้าเกิดตรัสกับพระสาวกว่า “ผม” ขึ้นมาเสียได้
“ก้อ..... กลับเถอะ...”
เอ๊า.... หลวงปู่ก็ปล่อยให้ท่านกลับไปเสียง่ายๆ ยิ้มสวยส่งเสด็จอีกด้วย
“ปั๊บ.... ปั๊บๆ ๆ ๆ.....”
สั่น.... ล้มกระตุก 2 ที แล้วลุกขึ้นมาลืมตา ทำท่างงๆ พระพุทธเจ้าคงจะออกไปแล้วกระมัง เขากราบหลวงปู่ ท่านก็ยิ้มตามเดิม ตาคนนั้นก็ทำเก้อ หันมาดูหน้าผู้เขียนแล้วรีบลงจากกุฏิไป เพราะรับรองได้เลยว่าทั้งสีหน้าและสายตาผู้เขียนตอนนั้นจงใจบอกให้รู้ว่า หากแกขืนแสดงฤทธิ์ต่อไปอีกจะประเคนสมบัติส่วนตัวคือเท้า 2 ข้าง มืออีกต่างหากให้ ครั้นจะส่งตามหลังให้ไปเสียเลยตอนนั้นก็เกรงใจหลวงปู่คำแสน ก็เลยถามท่านว่า
“เขาทรงจริงหรือครับ หลวงปู่”
“ก้อ... จริงของเขา”
ทั้งเสียงทั้งสีหน้าไม่มีอาการถือโทษหรือรำคาญอะไรให้เห็นเลย แถมหัวเราะสบายใจเสียอีกด้วย
ท่านผู้อ่าน.... ที่เล่ามานี่จะเชิญท่านชมจริยาของพระอรหันต์องค์หนึ่ง ผู้ไม่เคยถือสาหาอารมณ์กับใครๆ แม้คนนั้นจะขาดมารยาท จะหยาบหยามต่อคุณพระรัตนตรัย และต่อองค์ท่านอยู่ชัดแจ้ง ถ้าเป็นผู้เขียนละก้อ..... จะขอออกฤทธิ์ซะให้ตกกะไดไปเลย ตามประสาผู้ที่ทรงพิโรธสมาบัติได้เป็นปกติวิสัย
หลวงปู่คำแสนเล็กท่านฉันหมาก วิธีฉันน่ารัก มองไม่มีเบื่อ ......ทีนี้ท่านลองนึกดูว่า เมื่อมีพระอรหันต์อายุ 80 ปี แล้วน่ารักอย่างหลวงปู่คำแสนมานั่งเคี้ยวหมากเจริญศรัทธาที่งานวัดท่าซุง คนที่มุ่งมากราบท่านจะชื่นใจกันเพียงไหนหนอ เวลาคนมากราบมาถวายปัจจัยไทยทาน ท่านก็ค้อมกายก้มหน้าลงมานิดๆ ยิ้มรับ เอื้อนคำอวยพรเบาๆ เวลาคนมาถามปัญหาปรึกษาอารมณ์ ท่านก็ยิ้มเงยหน้าหน่อยๆ ตอบสั้นๆ แต่ว่าแทงใจดำตำใจแดง ปลื้มกันได้ทุกคน ทุกครั้งไป ท่านสงเคราะห์อย่างนี้ไปจนสิ้นวันงาน คือ 3 วันต่อกัน
แถมเรื่องที่วัดท่าซุงอีกเรื่องหนึ่งก่อน หลวงปู่คำแสนนี่ผู้เขียนมั่นใจว่าทิพจักขุญาณของท่านนั้นสุดจะประมาณได้ ไม่ใช่ผู้เขียนรู้อารมณ์ใจท่านหรอก แต่ว่าโดนมาเองจะๆ แจ้งๆ คือคืนหนึ่ง ผู้เขียนและสหธรรมมิกผู้มีน้ำใจอันเดียวกันกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปถวายสังฆทานหลวงปู่ที่ศาลารับแขกหน้ากุฏิ เผอิญว่ายังไม่มีท่านใดแปลกปนเข้าไปมากนัก ปกติพวกเราชอบเจริญมรณานุสสติ ตามพ่อบอกให้ทำ ทำได้ไม่ได้ก็ท่องบ่นไว้เสมอว่า
“อนิจฺจา วต สงฺขารา ฯลฯ ...”
ท่องไปพิจารณาความหมายตามกระแสธรรมไปด้วย คือชอบอย่างนี้เหมือนกันทุกคน พอถวายเสร็จหลวงปู่ก็ยิ้มเงยหน้าสง่าสวยเชียวล่ะ บอกเราว่า
“เอ้า.... หลวงปู่จะให้พรเน้อ ตั้งใจรับพรกันเน้อ.....”
พวกเราก็ยิ้มพริ้มหน้า สงบใจฟังท่านยะถา สัพพี เปล๊า..... แทนที่จะยะถาท่านกลับยิ้นแป้นเอ่ยพรว่า......
“อนิจจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวย ธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชชนฺติ เตสงฺวูปสโม สุโข เน้อ.....”
พวกเรานี่ฮือกันเลย บางคนก็โฮ หญิงก็มีกรี๊ดสุภาพๆ โธ่เอ๋ย... พระคุณของลูกหลานเอ๋ย ช่างแจ้งแทงตลอดเข้าไปในก้นบึ้งสันดานของลูกเชียวหนอ ตาที่มองหลวงปู่ยังงี้เหมือนจะกินหลวงปู่ กลืนเข้าไปเก็บไว้ ไม่ให้กลับวัดดอนมูลเลยละ ท่านก็ยิ้มชอบใจ สายตาท่านก็ยิ้มได้พูดได้ เราผู้หยาบช้าก็ยังสามารถดูสายตาท่านออก มันเป็นภาษาบุญบารมีที่ท่านบอกว่า
“ฉันรักพวกเธอ รักมาทุกชาติ รักและเลี้ยงดูมานานแสนนาน เธอรู้ไหม”
โธ่.... รู้ซีครับ รู้ซีเจ้าคะ เจ้าประคุณของลูก น้ำตาอย่างงี้ไม่ยอมเช็ดกันเลย อยากให้มันออกมามากๆ ไหลให้นานแสนนาน นานสมกับความเกี่ยวเนื่องกันด้วยสายใยบารมีย้อนหลังนับชาติไม่ได้ แล้วท่านก็เอื้อนอธิบายอีกว่า
“ เออ... เขาหมายความว่า สังขารร่างกายนี่มันไม่เที่ยงน้อ เกิดมาแล้วเลื่อนไหลไปหาความตายเป็นธรรมดาน้อ.... ลงได้เกิดมาแล้วก็ต้องตายไปเป็นธรรมดาของมัน การสงบไม่คบกายไปนิพพานเสียได้ นี่มันเป็นสุขจริงน้อ.....”
บรรเลงเพลง “ลิงร้องไห้” กันทั้งวงเลยทีนี้.... คนที่มาสมทบทีหลังนี่ออกจะงงๆ มาตั้งแต่คำให้พรแล้ว พอมาเห็นพวกเราเป่าปีสีซอออเคสตร้า ผู้หญิงก็ร้องขับคลอไปว่า
“หลวงปู่เจ้าขา.... ฮือ....ฮือ....ฮื้อ..”
เขาก็งงละล้าละลัง คงจะคิดว่าพวกคนไข้โรงพยาบาลศรีธัญญา (คนบ้า) หลุดมาถึงวัดท่าซุงตั้งกลุ่มเบ้อเริ่มเชียวหนอ....
หลังจากงานวัดท่าซุงปีแรกคือปี 2518 แล้ว พวกเราก็ตามพ่อไปพบหลวงปู่คำแสนในที่อื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง อย่างที่บ้านซอยสายลมละก้อ.... บ่อยที่สุด ! เพราะอะไรผู้เขียนบอกไม่ถูก ที่หลวงปู่สุปฏิปันโนทั้งหลายที่มางานวัดเราแล้ว จะต้องวนเวียนไปพบกันทั้งที่นัดหมายบ้าง ไม่ได้นัดหมายบ้างอยู่เป็นเรื่องปกติที่บ้านซอยสายลม แม้เวลาที่พ่อยังไม่ได้กำหนดไปซอยสายลมท่านก็มากัน มาเยี่ยมท่านเจ้าของบ้าน คือ ท่านเจ้ากรมเสริมและคุณอ๋อยภรรยา มากันทีละหลายองค์ คนที่รับมอบหมายให้จัดที่พักให้ท่านก็คือ..... ผู้เขียนคนหนึ่งละ ที่นอนของท่านก็คือพื้นที่ตรงที่พวกเรายืนเลือกหนังสือและบูชาเครื่องสังฆทานนั่นแหละ.... เอาผ้าม่านขึงราวเข้า กั้นเป็นห้องเป็นล็อคๆ บางคราวก็ย้ายไปทำ “ห้องพักเฉพาะกิจ” อย่างนั้น ตรงบริเวณที่พ่อและหลวงพี่นันต์รับแขกปัจจุบันนี้แหละ (พ.ศ.2543)
ทีนี้ก็มาถึงบทหลวงปู่คำแสนโคจรมาพักที่ซอยสายลม วันนั้นอัศจรรย์แฮะ.... มาตรงเป๊ะกับ “หลวงปู่ธรรมชัย” และ “หลวงปู่ครูบาชัยวงษ์” และที่สำคัญคือ “พ่อของเรา” ก็มาด้วย
เอาละพอตกค่ำฉ่ำอารมณ์ก็จัดอาสนะเก้าอี้ตั้งเป็น 4 เส้า บริเวณท้ายห้องโถงปฏิบัติกรรมฐานนั่นแหละ สมัยโน้นยังยกพื้นไม้สูง ขัดมันเงาวับ ลองนึกภาพด้วยมโนมยิทธิตามไปดู ถ้าเดินเข้าประตูเลื่อน จากห้องสังฆทานเข้าห้องโถง ตรงมุมขวามือแรก คือ ที่นั่งหลวงปู่วงษ์ ซ้ายมือห่างมาสัก 2 วา พ่อเรานั่ง เว้น 2 ศอก อยู่กับหลวงปู่คำแสน
เดินลงไปถึงมุมขวามือ ท้ายห้องโถงเป็นที่นั่งหลวงปู่ธรรมชัย แล้วพวกเราลูกหลานก็นั่งตรงกลางวงบ้าง รอบล้อมแน่นปึ้กออกไปอีกชั้นบ้าง แทบจะขี่คอกันเลยล่ะ
ทีนี้องค์แสดงบทพระเอกวันนั้นเป็นหลวงปู่ธรรมชัย พ่อบอกให้รับสังฆทานแก้กรรมตามพิธีที่หลวงปู่ถนัดจัดเจน เรื่องของหลวงปู่ธรรมชัยนี่พวกเราก็ทราบกันว่า ท่านเป็นพระยอดกตัญญูรู้คุณคน ท่านก็ร่ายยาวบูชาคุณครูบาอาจารย์เสียงดังฟังชัด ครูท่านมาก ท่านก็ร่ายโองการตามพระนามที่ท่านเคารพ ร่ายไปสัก 10 นาที ยังไม่จบ ยังไม่ได้รับสังฆทาน ที่พูดนี่โปรดเข้าใจว่าผู้เขียนเคารพหลวงปู่ธรรมชัยไม่น้อยกว่าใครๆ แต่ที่เล่านี่ไม่ได้เจตนาปรามาส จะเล่าถึงเรื่องสนุกจริยาหลวงปู่แสนคำเล็กประกอบกัน
หลวงปู่คำแสนทีแรกก็ฟังยิ้มเงยหน้าสวย สักครู่ก็หันไปทำหน้าดุๆ กับหลวงปู่ธรรมชัย พูดขัดจังหวะเลย
“เอ๊อ.... เรื่องมาก.....ยังลำบากอีกนานเน้อ”
หลวงปู่คำแสนชี้มือจิ้มไปที่หลวงปู่ธรรมชัย หลวงปู่ธรรมชัยก็ยิ้มน้อมรับ ปากก็ยังว่าต่อไป แล้วหลวงปู่คำแสนก็หันมาหัวเราะ จิ้มมือไปที่หลวงปู่ชัยวงษ์
“นี่ก็อีกองค์ เหนื่อยอีกมากนักเน้อ.....”
หลวงปู่ชัยวงษ์ก็ยิ้ม... ยิ้มอมแก้มตุ่ยน่ารักไปคนละแบบ แล้วหลวงปู่ก็นั่งยิ้มมาทางพ่อ พ่อกำลังเขียนอะไรขยุกขยิกใส่สมุดพกอยู่ เอ.... ทีนี้ไม่ยักกล้าว่าอะไรแฮะ... ยิ้มเฉยๆ ยิ้มชื่นชมเหมือนพี่มองน้องสุดรัก พี่หนุ่ยลูกสาวเจ้ากรมเสริมทนไม่ไหวถามพ่อเบาๆ ว่า
“หลวงพ่อเขียนเลขหวยหรือเจ้าคะ”
“หวยห่าอะไรล่ะ.... ข้ากำลังคิดหนี้ค่าลูกรัง ยังไม่ได้ให้เขา”
ท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจพี่หนุ่ยผิดไปนะจ๊ะ ที่บ้านสายลมนี้ นอกจากแม่อ๋อยผู้แม่แล้ว ก็มีพี่หนุ่ยผู้ลูกสาวนี่แหละที่พ่อชอบคุยด้วยเป็นที่สุด เพราะว่ามีปฏิภาณถามปัญหาเป็นเลิศ ถามให้พ่อคลายอารมณ์ได้ไม่มีใครเหมือน
ดูเอาเถิดท่านเอ๋ย พระผู้เป็นดวงประทีปของพวกเราทั้งหลายนั้น ต่างองค์ก็ต่างมีหน้าที่กันคนละอย่าง จรรโลงงานพระศาสนากันคนละจุด อยู่กันคนละภูมิประเทศ ต่างมานั่งล้อมวงให้ลูกหลานชื่นชมสมปรารถนา..... และบัดนี้ดวงประทีปแก้วเหล่านั้นได้พากันดับวูบสิ้นแสงสังขาร... จากพวกเราไปเกือบหมดแล้วหนอ
“อนิจฺจา วต สงฺขารา .....”
คิดถึงคำให้พรของหลวงปู่คำแสนเสียจริงๆ....
อีกวาระหนึ่งที่วัดวังมุย ลำพูนโน้น...
พระคุณหลวงปู่ชุ่มเมตตาเข้านิโรธสมาบัติ นัดหมายให้พ่อนำลูกหลานไปบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ....
ท่านเข้านิโรธ 7 วัน พอวันที่ 6 พวกเราก็เดินทางจากซอยสายลม มากมายล้นหลาม.....
ไปถึงลำพูนฝนตกหนักต้องแวะพักที่วัดจามเทวีของพระคุณหลวงปู่บุญทึม....
ทีนี้ ผู้เขียนก็ไปจัดผ้าไตรจีวรในพระอุโบสถวัดวังมุย โอ้โฮ... กองสูงเกือบครึ่งโบสถ์ ต่างคนต่างเอามาถวายพระออกจากนิโรธสมาบัติ ขณะนั้นหลวงปู่ชุ่ม... กำลังนั่งเสลี่ยงออกจากที่บำเพ็ญเพียร พ่อคอยหลวงปู่ชุ่มบนกุฏิ หลวงปู่คำแสนก็นั่งคอยอยู่ในโบสถ์องค์เดียว ตอนนั้นท่านแหงนหน้ามองฟ้าฉ่ำละอองฝน ยิ้มสงบสุข ยิ้มเย็นเหมือนละอองฝน ท่านพูดขึ้นว่า
“เอ้อ... พระมหาวีระ (ชื่อพ่อไง ลืมกันไปหรือเปล่าก็ไม่รู้) นี่... บุญท่านมากล้นน้อ... ไปทางไหนมันแน่นหนาฝาคั่ง บนพื้นดินลูกศิษย์แน่นล้นหลาม บนฟ้าเทวดาพรหมก็ตามโมทนาแน่นฟ้าเต็มจักรวาลน้อ....”
ผู้เขียนวางจีวรก้มกราบรับคำหลวงปู่ ใจที่มุ่งมั่นไปงานหลวงปู่ชุ่มออกจากนิโรธสมาบัติเคยชุ่มชื่นกระชับอารมณ์มาหลายวันแล้ว แต่บัดนี้นั่งมองหลวงปู่คำแสนรำพึงถึงพ่อ ใจเรามันคลาย มันเบา นึกอยู่ในใจว่า เออนี่.... กูจะเอาอย่างไรอีกหนอ มีพ่อผู้พรหมเทพตามโมทนาทุกสถานที่ที่ย่างบาทไป แม้พระอรหันต์ผู้เลิศอภิญญาผ่องใสก็ยังยอมรับนับถือ นี่กูมางานหลวงปู่ชุ่มหรืองานพ่อกันแน่หนอ
มาถึงเรื่องสุดท้ายตอนที่หลวงปู่คำแสนมรณภาพแล้ว เรื่องนี้... ผู้เขียนไม่ได้เห็นเอง แต่ว่าพ่อเล่าให้ฟัง คือ
มีอยู่ครั้งหนึ่งพ่อออกจากซอยสายลม แล้วก็เลยไปฉันเพลที่บ้านศิษย์คนสำคัญท่านหนึ่ง มียศเป็นพลเอกทหารบก ขอไม่ออกชื่อ เพราะเจ้าตัวอาจจะไม่อยากเปิดเผยก็ได้ คือพ่อถึงวัดก็เล่าให้ฟัง เอาเป็นคำพูดพ่อเลยดีกว่า
“(เอ่ยชื่อพลเอก) เขานิมนต์ข้าไปฉันเพล นิมนต์หลวงปู่ธรรมชัยไปด้วย แหม... ฉันเสร็จ ยถาสัพพีไม่ทันหายเหนื่อย แกก็เล่าเลย เหมือนกับอั้นมานาน แกเล่าถึงหลวงปู่คำแสนเล็ก....”
แล้วพ่อก็เล่าท้าวความว่า ท่านพลเอกเคยมาหาพ่อฝากตัวเป็นศิษย์ แต่พ่อทราบดีว่าเธอยังศรัทธาไม่เต็มใจ ตอนนั้นเธอยังไม่เชื่อว่าในโลกนี้จะยังมีพระอรหันต์หรือพระทรงอภิญญาเหลืออยู่ พ่อก็บอกว่า ฉันไม่รับเธอตอนนี้ ให้เธอไปตามหาพระที่ชื่อหลวงปู่คำแสนให้พบก่อน แล้วค่อยกลับมาหาฉัน (ตอนนั้น พ่อกับหลวงปู่คำแสนยังไม่ได้พบกัน) เธอก็ไปตามหาหลวงปู่จนพบ แล้วก็กลับมาหาพ่อฝึกมโนมยิทธิได้แจ่มใสเก่งมากเชียวละ อยู่มาจนได้ข่าวหลวงปู่คำแสนมรณภาพ วันนั้นแหละ เธอก็ตาลีตาลานนิมนต์พ่อกับหลวงปู่ธรรมชัยไปฉันเพลที่บ้าน แล้วเล่าให้ฟัง ตามคำพ่อเล่าเป็นอย่างนี้.....
“แกว่า แกรอให้หลวงปู่คำแสนตาย จึงจะเล่าให้ฟังว่า
..... เมื่อไปหาหลวงปู่พบก็กราบ.... กราบ.... เงยหน้าขึ้นมา หลวงปู่ก็พูดแทงใจดำแกเลย ถึงเรื่องที่แกสงสัยอยู่ พูดไปร่างหลวงปู่ก็ค่อยๆ... จางหายเป็นอากาศหายขึ้นมาจากเท้า เสียงก็พูดไป หายจนหมดถึงหัว หายตัวตลอดก็ยังได้ยินเสียงชัดเจน
เอาล่ะสิ.... พ่อตัวดีก็ตกตะลึง แล้วหลวงปู่ก็คืนหัว เห็นถึงกลางตัว ค่อยๆ เห็นเต็มถึงเท้า ตลอดเวลาก็พูดไม่หยุด จนคืนเต็มร่าง แล้วก็ชี้หน้าพ่อพลเอกตัวดี พูดชัดเจนกำชับ “นี่แกเอาเรื่องนี้ไปพูดไม่ได้นะ ถ้าเราไม่ตาย เอาไปพูดขอให้ตาแตก” (หรืออะไรทำนองนี้ คือแช่งกันให้กลัวนั่นแหละ)
ทีนี้พอหลวงปู่ตายปั๊บ แกก็เลยนิมนต์ไปฟังแกเล่า เอาหลวงปู่ธรรมชัยไปเป็นพยานด้วย นี่มันต้องเจออย่างนี้จึงจะเอาพ่อคนนี้อยู่หมัดได้....”
ท่านทั้งหลายเรื่องราวของพระ ลูกพระ ฟังชื่นใจ คนจะเชื่อกันได้ ก็ต้องเคยเกิด....ตาย บำเพ็ญบารมีร่วมกันมานับชาติไม่ถ้วน พระคุณเจ้าทั้งสามท่านนั้นบัดนี้ได้ละชาติขาดชีวิตจากเราไปแล้ว เหลือแต่ความทรงจำฉ่ำชื่นในเรื่องราวความดีและความเมตตาไม่มีประมาณของพระคุณท่านให้เราไว้เป็นอนุสสติ
หากจะย้อนชาติถอยไกลออกไปอีกก็คงจะพบว่า ท่านและพวกเราเกี่ยวพันกันมาอย่างนี้โดยตลอด บางชาติก็เป็นกษัตริย์ บางชาติเป็นนักรบป้องกันแผ่นดินบำรุงพระพุทธศาสนามาทุกชาติ จนชาติสุดท้ายนี้ ชาติสุดท้ายของพวกเราก็พากันมาเป็นพระ เป็นลูกพระ เป็นทหารของพุทธจักรทุ่มเทกำลังทั้งสิ้นสุดตัว รบถอนรากถอนโคตรกองทัพกิเลส
จนบัดนี้จอมทัพผู้เป็นพ่อ ผู้เป็นท่านลุงคำแสนได้ถึงหลักชัย... ไม่มีแพ้อีกต่อไปแล้ว.... ท่านทั้งสองได้เสวยวิมุติเศวตฉัตรในเมืองแก้วมหานฤพานเป็นบรมสุข.... เราผู้เป็นลูก.... มีสายเลือดเดียวกับท่าน... ถ้าไม่มุ่งพระนิพพาน จะไปที่ไหนได้.....
เดินต่อไปเถิด.... เดี๋ยวก็ถึง
ทนอีกหน่อยเถิด.... เดี๋ยวก็สบาย
ตายเมื่อไร... เราก็ชนะแล้ว
ข้อมูลอ้างอิงจาก : จากหนังสือ "เสียงจากถ้ำ (นารายณ์) ฉบับพิเศษ : บนเส้นทางพระโยคาวจร" โดย หลวงตาวัชรชัย เจ้าอาวาสวัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์)