ประวัติ หลวงปู่กินรี จนฺทิโย - วัดกันตศิลาวาส อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม - webpra

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย

ประวัติ วัดกันตศิลาวาส อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

หลวงปู่กินรี จนทิโย

 

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย กำเนิดในสกุล "จันศรีเมือง" เดิมท่านมีชื่อว่า "กลม" โยมบิดาชื่อ โพธิ์ โยมมารดาชื่อ วันดี เกิดเมื่อวันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2439 ตรงกับปีวอก แรม 11 ค่ำ เดือน 5 ร.ศ. 115 ณ บ้านหนองฮี ตำบลปลาปาก อำเภอหนองบึก (อำเภอเมือง) ปัจจุบัน เป็นตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม มีพี่น้อง 7 คน หลวงปู่เป็นลูกหล้าน้องสุดท้อง ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ประกอบอาชีพชาวนา และมีพี่น้องหลายคน แม้จะมีใจรักในการศึกษา แต่ก็ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ จึงได้รับการศึกษาสามัญเบื้องต้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่ออายุ 10 ขวบ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหนองฮี ได้ศึกษาหนังสือธรรม หนังสือผูก ทั้งภาษาขอม ภาษาไทยน้อยหรืออักษรธรรม และภาษาไทย สมัยปัจจุบัน เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบทที่วัดเกาะแก้ว เขตอำเภอธาตุพนม ต่อมาด้วยความห่วงใยบิดา-มารดา และได้รับการขอร้อง ด้วยความเป็นบุตรคนเล็ก ท่านจึงลาสิกขา ตามความต้องการของโยมพ่อและโยมแม่ ใช้ชีวิตฆราวาสไม่ราบรื่นและไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เป็นนายฮ้อยวัวควายก็ขาดทุนอย่างหนัก หลวงปู่เล่าว่า เพราะการกระทำของท่าน พรากพ่อ-แม่-ลูก วัว ควาย ที่ขายไปถิ่นต่างๆ ย่อมเป็นบาปอย่างมหันต์ ผลกรรมจึงย้อนตอบสนอง ให้ต้องสูญเสียภรรยา หลังจากคลอดบุตรได้ไม่นาน และได้สูญเสียลูกอันเป็นสุดที่รักซ้ำอีก เพราะทารกน้อยขาดนมจากผู้เป็นแม่ ความสูญเสียอันใหญ่หลวงของท่านทำให้เป็นทุกขเวทนา ความอาลัย อาวรณ์ ความโศกเศร้า ทับถมเพิ่มทวีความทุกข์ยิ่งขึ้น ด้วยความทุกข์เป็นกุศลปัจจัยผลักดัน และบันดาลใจให้ท่านก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ สู่ความเป็นบรรพชิตในบวรพุทธศาสนา อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดศรีบุญเรือง ตำบลกุดตาไก้ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2465 (อายุครบ 25 ปี พอดี) โดยมีพระอาจารย์วงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์พิมพ์กับพระอาจารย์พรหมา เป็นพระคู่สวด ได้ชื่อใหม่ จากพระอุปัชฌาย์ จาก "กลม" เป็น "กินรี" ฉายาว่า "จนฺทิโย" หลังจากอุปสมบท หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองฮี ได้สงเคราะห์ญาติหลานๆ ด้วยการให้ความรู้เรื่องภาษาไทย อบรมสั่งสอนการอ่านเขียนภาษาไทย หลวงปู่เป็นตัวอย่างแห่งความมุ่งมั่นจริงจังและพากเพียร ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองฮี ท่านได้ขุดลอกสระน้ำขนาดใหญ่ ด้วยตัวของท่านเอง จนเป็นผลสำเร็จให้วัดและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มีน้ำอุปโภคบริโภคมาจนทุกวันนี้

การแสวงหาธรรมปฏิบัติได้เกิดขึ้น เป็นช่วงตอนปลายของทศวรรษแรกของการอุปสมบท ด้วยการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระกรรมฐาน กับท่านพระอาจารย์ หลวงพ่อทองรัตน์ กนฺตสีโล ที่สำนักบ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นจุดเกิดและเป็นก้าวแรก ที่ท่านรับเอาพระกรรมฐาน เข้าไว้ในจิตของท่าน หลวงปู่ได้ศึกษาการปฏิบัติ ภาวนากับครูอาจารย์ระยะหนึ่ง ท่านก็เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดบ้านเกิดและไปกราบครู อาจารย์ร่วมธุดงค์ ไปมาหาสู่อยู่เสมอ ท่านได้นำเอาข้อปฏิบัติ พระธรรมกรรมฐานมาอบรมสั่งสอนชาวบ้านหนองฮี ได้สงเคราะห์โยมมารดาและญาติด้วยการบวชชี และได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีในบ้านเกิด ชื่อว่า "สำนักสงฆ์เมธาวิเวก"

ในระหว่างที่หลวงปู่ไปมาหาสู่เพื่อคารวะ และปฏิบัติธรรมในสำนักของพระอาจารย์ทองรัตน์นั้น ท่านอาจารย์ทองรัตน์ได้พาหลวงปู่เดินทางไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานผู้มีชื่อเสียงและเกียรติคุณเลื่องลือโด่งดังมาก ในขณะที่หลวงปู่มั่นธรรมจารย์ผู้มีปรีชาสามารถ พำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เพื่อรับโอวาทจากท่าน หลวงปู่มั่นท่านได้อบรมสั่งสอนธรรมแก่หลวงปู่กินรี ถึงข้อปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้น ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่ การกระทำศีล ให้สมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมๆ ไปกับการเจริญ สมาธิ ภาวนา เพื่อจะทำจิตให้สงบระงับจากอารมณ์ทั้งปวง เพราะความที่จิตปลอดจากอกุศล ว่างเว้น จากอารมณ์ อันเกิดจากการสัมผัสทางอายตนะ คือ ที่ตั้งแห่งการกระทบมี 6 คู่ อันได้แก่ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับการสัมผัสทางกาย และใจที่กระทบกับอารมณ์ในภายในที่ทำให้เกิด เวทนาความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้ดี รู้ชั่ว รู้สวย รู้ไม่สวย รู้น่ารัก รู้ไม่น่ารัก ทั้งหลายแล้ว จิตใจก็ย่อมจะตั้งมั่นอยู่ใน อารมณ์อันเดียว อารมณ์นั้นก็ได้แก่พระกรรมฐาน หมายถึง การเอาพระกรรมฐานเข้ามาตั้งไว้ในใจความตั้งมั่นของจิตในลักษณะการเช่นนี้ ย่อมจะทำจิตให้สงบอย่างเดียว เป็นความสงบที่สะอาดและบริสุทธิ์ผุดผ่องใส

หลังจากนั้นแล้วจึงหันมาพิจารณาธาตุ ทั้ง 4 อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม และพิจารณาขันธ์ทั้ง 5 อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ให้รู้ว่าธาตุขันธ์และรูปนามทั้งหลายเหล่านี้ แท้จริงก็คือบ่อเกิดของความทุกข์โศกร่ำไรรำพันนานาประการทั้งปวงนั่นเอง

หลวงปู่มั่นท่านได้อบรมสั่งสอนข้อธรรมแก่หลวงปู่กินรีเป็นประจำ และเมื่อท่านพบหน้าหลวงปู่กินรี ท่านมักจะเอ่ยถามไปว่า

"กินรี ได้ ที่อยู่แล้วหรือยัง? "

คำถามของหลวงปู่มั่นนั้นมิได้หมายถึงที่อยู่ในวัดปัจจุบัน แต่ท่านถามถึงส่วนลึกของใจว่ามีสติตั้งมั่นหรือยัง ถ้ายังท่านก็จะกล่าวอบรมต่อไป ซึ่งส่วนมากหลวงปู่มั่นท่านจะเน้นให้เห็นถึงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ เพราะเกิดจากอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งในความเป็นของไม่เที่ยง ในความเป็นของเสื่อมโทรมของธาตุขันธ์ทั้งหลาย เป็นเหตุ และเพราะความไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงว่า มันมิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่รู้จักความไม่เที่ยง ไม่รู้จักความเป็นทุกข์และไม่รู้ความเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริงแล้ว อาสวะกิเลส คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ย่อมครอบงำจิตของคนๆ นั้นให้มืดมัว เร่าร้อนและเป็นทุกข์ได้ในที่สุด

หลวงปู่มั่นท่านอบรมสั่งสอนหลวงปู่กินรีต่อไปว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีรากฐานสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติศีลเป็นเบื้องต้น และทำ สมาธิ ในท่ามกลาง เพื่อจะให้เกิดปัญญา ความรู้แจ้งแทงตลอดในธาตุขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ในที่สุด และเพื่อจะให้รู้ความจริง ก็ต้องหมั่นพิจารณาว่า ร่างกายของเราที่ปั้นปรุงขึ้นมา จากธาตุทั้ง 4 นี้ ประกอบอยู่ด้วยธาตุอีกอย่างหนึ่งซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 อย่าง ได้แก่

เวทนา คือ ความรู้สุข รู้ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในอายตนะทั้งหลายที่มากระทบแล้วรู้สึกแล้ว
สังขาร คือ ความไกลเวียนปรุงเปลี่ยนไม่หยุดอยู่ของนามธาตุนั้น
วิญญาณ คือ ความรู้สึกได้
รวมเป็น 4 อย่างด้วยกัน เรียกว่า นามขันธ์


เมื่อรวมเข้ากับธาตุ 4 คือ รูปขันธ์ด้วยแล้วจึงเป็นขันธ์ รวมย่อแล้วเรียกว่า กายกับใจนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยืนยงคงที่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ร่างกายเนื้อหนังของเรานี้เป็นของไม่สวยไม่งาม สกปรกโสโครกโดยประการทั้งปวง การภาวนาที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ นักภาวนาเมื่อรู้เห็น ซึ่งสภาพตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว ย่อมจะมีความสะดุ้งกลัวต่อภัยและความเป็นโทษทุกข์ของสังขาร ไม่อยากประสบพบเห็นกับความทุกข์ทรมารเหล่านี้อีกแล้ว เมื่อนั้นจิตก็ย่อมจะคลายจากความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ย่อมคลายความกำหนัดรักใคร่ชอบใจ ในสิ่งอันเป็นที่ตั้ง แห่งความรักใคร่ชอบใจ เมื่อจิตมีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดเช่นนี้แล้ว ทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมดับลงได้โดยแท้ ข้อที่ว่าทุกข์ทั้งปวงดับลงนี้เป็นเพราะอวิชชา คือความไม่รู้ ความเป็นจริงในธรรมดับไปนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้รู้ความเห็นในธรรมที่เรียกว่า ปัญญา นั้น เจริญถึงที่สุด ผลที่ได้รับก็คือ "ปัญญาอันสงบระงับและแจ่มแจ้ง" หลวงปู่มั่นท่านกล่าวอบรมหลวงปู่กินรี

หลวงปู่กินรีท่านได้เล่าเรื่องราวของท่านสมัยที่ท่านไปฝึกอบรมกรรมฐานกับหลวงปู่มั่น ให้สานุศิษย์ทั้งหลายฟังอยู่เสมอว่า ในขณะที่ท่านนั่งสมาธิ บริกรรมภาวนา อยู่นั้น ก็รู้สึกว่าจิตค่อยๆ สงบเข้าไปทีละน้อยๆ แล้วปรากฏว่า ทั้งร่างกายและเนื้อหนังของท่านนั้น ได้เปื่อยหลุดออกจากกัน จนเหลือแต่ซากของกระดูก อันเป็นโครงร่าง ที่แท้จริงในกายของท่านเอง "สิ่งที่ปรากฏในอาการอย่างนั้นมันชวนให้น่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก" หลวงปู่ท่านกล่าว

ประสบการณ์ในธรรมโดยลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นกับท่านอีกครั้งหนึ่ง ในเวลาต่อมาแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าในขณะนั้นท่านพำนักอยู่ที่ใด ซึ่งครั้งนี้ท่านกล่าวว่า "ในขณะที่ภาวนาอยู่นั้น ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในตัว เปลวเพลิงได้ลุกลามพัดไหม้ทั่วร่าง ในที่สุดก็เหลืออยู่แต่ซากกระดูกที่ถูกเผา และคิดอยู่ที่นั้นว่า ร่างกายคนเราจะสวยงามแค่ไหน ในที่สุดมันก็ต้องถูกเผาอย่างนี้เอง" หลวงปู่กินรีท่านได้อธิบายถึงการภาวนาว่ามีอยู่ 3 ขั้นด้วยกัน กล่าวคือ

1. บริกรรมภาวนา คือ การภาวนาที่กำหนดกรรมฐาน 40 อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ เพื่อจะทำจิตให้ตั้งมั่น ขั้นนี้ยังเป็นเพียงการกำหนดนึก ยังไม่เป็นอารมณ์ที่แน่นแฟ้นจริงจัง มีการภาวนา "พุทฺโธ" เป็นอาทิ ข้อนี้เป็นการภาวนาในระดับที่จะทำให้เกิดบริกรรมนิมิต อันเป็นนิมิตข้อต้นเท่านั้น

2. อุปจารภาวนา คือ การภาวนาที่เริ่มจะทำจิตให้ตั้งมั่นดีกว่าข้อแรกขึ้นนิดหนึ่ง ข้อนี้อุคหนิมิตจะปรากฏขึ้นได้

3. อัปนาภาวนา เป็นการภาวนาที่แน่วแน่ อาจทำให้เกิดปฏิภาคนิมิตได้

หลวงปู่กินรี ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับ ท่านหลวงปู่มั่นเพียง 2 ปี เท่านั้น ส่วนเวลานอกนั้นท่านมักจะอยู่ตามลำพัง เป็นตัวของตัวเองมากกว่า ส่วนผู้ที่หลวงปู่กินรี จะลืมเสียมิได้ ถึงแม้จะมาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นก็ตาม ท่านคือ พระอาจารย์ทองรัตน์ เพราะท่านเป็นผู้ที่ให้วิชาความรู้ในการปฏิบัติแก่หลวงปู่ นับว่าเป็นองค์แรก ที่เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรี ซึ่งท่านมักจะไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้หลวงปู่กินรีชอบอยู่อย่างสันโดษแต่ผู้เดียวนั้น เนื่องจากไม่ได้ญัตติ เป็นธรรมยุต เช่นพระทั้งหลายรูปอื่นๆ

ด้วยเอกลักษณ์พิเศษที่ท่านมีอุปนิสัยสมถะไม่นิยมในหมู่คณะมาก ชอบความเป็นคนผู้เดียวตามครูอาจารย์ที่สั่งสอนทั้งหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ทำให้ท่านแยกตัวไปเฉพาะตนและธุดงค์เรื่อยไป ตามป่าเข้า ถ้ำ หุบเหว รื่นเริงและห้าวหาญที่จะแสวงหาโมกขธรรมการมุ่งเข้าป่าหาที่วิเวกที่สัปปายะ จึงเป็นเอกนิสัยของท่าน แล้วกลับมากราบคารวะบูรพาจารย์ เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติและตรวจสอบอารมณ์ธรรม แล้วจะแยกจากหมู่คณะ เสพเสนาสนะตามธรรมชาติ ตามอุปนิสัยของท่าน ปฏิปทาของหลวงปู่จึงนับได้ว่า ได้ดำเนินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน หลวงปู่ธุดงค์ในเขตอีสานเหนือ เป็นปกติ และบางครั้งข้ามไป ฝั่งซ้าย แม่น้ำโขง สู่ประเทศลาว เช่น ครั้งหนึ่งท่านธุดงค์ไปยังฝั่งลาว ตรงข้ามกับบ้านแพง พร้อมกับพระอาจารย์อวน อคุโณ เพื่อไปกราบหลวงปู่ทองรัตน์

การเดินธุดงค์ครั้งยิ่งใหญ่ของท่านก็คือ การเดินธุดงค์สู่ดินแดงพุทธภูมิ พร้อมศิษย์คือ พระภิกษุยศและพระภิกษุหลอด จากบ้านเกิดบ้านหนองฮี มุ่งหน้าสู่ท่าอุเทน และเลียบริมฝั่งโขงไปทางเหนือ ตามสายน้ำสู่ต้นน้ำ ผ่านอำเภอศรีสงคราม บ้านแพง บึงกาฬ แล้วข้ามโขงไปกราบนมัสการ พระพุทธบาทโพนสันของลาว หลวงปู่เดินทวนกระแสน้ำ ผ่านโพนพิสัย ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ สังคมปากชม จนกระทั่งถึงอำเภอเชียงคาน การธุดงค์ด้วยระยะทางนี้ยาวไกล ต้องทั้งอดทั้งทน บางคราว ต้องอดอาหารถึง 7 วัน ก็ยังเคยมี จนเป็นสิ่งปกติ แม้จะทุกข์ยากลำบาก ทุกข์เวทนาเพียงใด หลวงปู่ยิ่งยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติ เคร่งครัดหนักยิ่งขึ้น ท่านอบรมสอนศิษย์ ให้พากเพียรรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ระมัดระวังยิ่งนักขณะธุดงค์ทางไกล การปฏิบัติต้องทุกอิริยาบถ จะนั่ง จะยืน จะนอน จะทำสิ่งใดในขณะใดๆ ต้องมีสติ ทุกขณะลมหายใจเข้าออก

หลวงปู่นำคณะศิษย์ผ่านป่าดินแล้ง ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา บุกป่าปีนเขาลูกแล้วลูกเล่า ผจญสัตว์ป่า ไข้ป่าที่ชุกชุมและคุกคาม จากเชียงคาน สู่เขตอำเภอท่าสี จังหวัดเลย แล้วเข้าสู่เมืองปากลาย เมืองบ่อแตน แขวงไชยบุรีของลาว ได้พบพระอลัชชี ป่าตองเหลือง ที่นุ่งห่มใบไม้ และคนป่าถักแถ่ แล้วหลวงปู่วกเข้าสู่บ้านห้วยหมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ หลวงปู่เคยจำพรรษาอยู่กับเผ่าแม้ว ตลอดพรรษาได้ฉันแต่ข้าวโพด เพราะไม่มีข้าว

ออกจากบ้านน้ำปาดมุ่งสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วต่อไปสรรคโลก จึงขึ้นรถยนต์ไปลงที่บ้านระแหง อำเภอเมืองตาก ต่อจากนั้นหลวงปู่ก็เดินธุดงค์เข้าสู่แม่สอด ข้ามเข้าสู่ประเทศพม่า โดยไม่ได้ใช้หนังสือเดินทางใดๆ พระยศกับพระหลอด หมดความอดทนที่จะเดินทางต่อไป ด้วยห่างไกลบ้านมานาน หลวงปู่จึงส่งกลับเขตแดนไทย ส่วนหลวงปู่กับหลานลูกพี่ชายที่บ้านห้วยหมุ่น น้ำปาด ได้เดินทางต่อสู่ย่างกุ้ง และได้พำนักอยู่วัดแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ต่อมาได้รับศรัทธาจากอุบาสกชาวพม่า จึงได้รับนิมนต์ ให้ไปอยู่ "วัดกุลาจ่อง" ต่อมาหลวงปู่ได้พบกับพระภิกษุไทยรูปหนึ่ง ได้นำทางไปสู่แดนพุทธภูมิ เพื่อนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 หลัง จากนั้น หลวงปู่ได้นำคณะ เดินทางกลับพม่า และหลวงปู่จำพรรษาอยู่ในพม่าถึง 12 ปี ทำให้หลวงปู่พูดภาษาพม่าได้

ในคืนหนึ่ง หลังจากที่หลวงปู่ภาวนา ... ได้จำวัดพักผ่อนและเกิดนิมิตว่า โยมมารดาของท่านซึ่งบวชชี มานอนขวาง หลวงปู่รู้สึกแปลกใจในนิมิต คิดว่าคงจะมี เหตุการณ์เกิดขึ้นกับโยมมารดา ท่านจึงต้องเดินทางกลับบ้าน ทั้งที่ไม่คิดที่จะเดินทางกลับ คาดว่าหลวงปู่กลับโดยพาหนะรถยนต์ ระยะนั้นหลวงปู่มั่น จำพรรษา ที่บ้านตองโขบ บ้านนามน พอหลวงปู่ทราบ ได้เข้าไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่นได้ถามว่า กินรี ได้ที่อยู่แล้วหรือยัง หลวงปู่ตอบว่า "ได้แล้วครับ" หลังจากนั้นหลวงปู่กินรี ได้เดินทางไปกลับบ้านหนองฮี ผ่านป่าช้าของหมู่บ้าน พบแต่เถ้าถ่านกองฟอนที่เผามารดา ท่านจึงนำคณะญาติพี่น้อง ทำบุญเก็บอัฐิของโยมมารดา ด้วยการทำบุญ ให้เป็นบุญ คือห้ามมิให้ฆ่าสัตว์ และไม่ให้ดื่มสุรา หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ธุดงค์กลับไปยังพม่า ผ่านบ้านลานสาง จังหวัดตาก ได้จำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านมูเซอ ระหว่างนี้ ท่านอาพาธด้วยโรคหัวใจ ฉันไม่ได้อยู่ประมาณ 3 เดือน ซึ่งท่านเล่าว่า "ความเจ็บไข้ทางกายนี้ เมื่อเป็นหนักเข้า มันก็เป็นอุปสรรคต่อการภาวนา อยู่มาก เหมือนกัน เป็นที่ตั้งแห่งนิวรณ์ ความฟุ้งซ่าน รำคาญทั้งหลาย บางครั้งก็ทำให้เกิดความเครียด ความสงสัยเคลือบแคลงลังเลใจ ไม่แน่ใจ ไปเสียทุกอย่าง สงสัยอาบัติที่มีแก่ตัวสงสัยอย่างอื่น จนทำให้การภาวนาไม่สบาย ที่ทรงไว้ได้ดีก็คือศีล แต่ในที่สุดอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็สงบลง เพราะทางเพ่งพิจารณา อยู่ในอารมณ์" หลวงปู่ได้ยาพระโบราณบอก ด้วยการจัดหาตามคำบอกของชาวเขา ทำให้หลวงปู่หายจากอาพาธอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนใจที่จะละ สังขารที่พม่ากลับมาสู่มาตุภูมิ


ธรรมโอวาท

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย กลับมาพำนักอยู่สำนักสงฆ์เมธาวิเวก แล้วต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดกันตศิลาวาส แม้ว่าปฏิปทานของหลวงปู่ จะไม่นิยมและเผยแพร่ศาสนา ด้วยการเทศนาเชิงโวหารหรือคำพูด หลวงปู่เป็นตัวอย่างของการทำให้ดู ปฏิบัติให้เห็นมากกว่า แต่อุบายธรรมคำสั่งสอนของท่านทรงปัญญาและลุ่มลึกมาก เช่น

- เตือนและให้สติหลวงปู่ชา ผู้เป็นลูกศิษย์ที่จะขอลากลับสู่บ้านเกิดว่า "ระวังให้ดีถ้าท่านรักใคร คิดถึงใคร เป็นห่วงใครผู้นั้นจะให้โทษแก่ท่าน"

- ให้รักษาศีลให้ดี ทำความเพียรให้มาก มันก็จะรู้เองเห็นเอง เป็นคำสอนที่หลวงปู่บอกกับลูกศิษย์เสมอ

- สตินี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราทราบระเบียบวินัยที่มีอยู่มากมาย อย่างละเอียดรอบคอบแล้ว และตามรักษาได้อย่างครบถ้วน สติของเราก็จะต่อเนื่องกัน จิตใจก็จักจดจ่ออยู่แน่ ในข้อวัตรปฏิบัติของตน ไม่มีโอกาสที่จะแส่ส่ายไปภายนอก ถ้าขาดสติ โอกาสที่จิตใจจะวิ่งไปตามอารมณ์ภายนอก มันก็มีมากขึ้น และอารมณ์ทั้งหลาย ก็ย่อมครอบงำจิตให้หลงใหลมัวเมาได้ง่ายขึ้น

- ไม่ควรคลุกคลี ให้อยู่คนเดียวมากๆ สาธยายด้วยตัวเองให้มาก มีจิตใจกำหนดจดจ่ออยู่ในพระธรรมให้มากนี้เป็นการดีที่สุด

- สังขาร คือ ร่างกาย จิตใจนี้ เป็นของไม่เที่ยง และจะหาสาระแก่สารอะไรมิได้ โดยประการทั้งปวง

- จะให้ลูกเป็นคนดี ต้องทำดีให้ลูกดู

- บุรุษพึงพยายามไปกว่าจะสำเร็จประโยชน์

- ผู้ขยันในหน้าที่ การงานไม่ประมาทเข้าใจการเลี้ยงชีวิต ตามสมควรจึงรักษาทรัพย์ที่หามาได้

- คนโกรธที่วาจาหยาบ

- วาจา เช่น เดียวกับใจ

- ธรรมเป็นของแน่นอน แต่รูปเป็นของไม่แน่นอน

- กิเลสคือตัวมารอันร้ายกาจ แม่น้ำเสมอด้วยความอยากไม่มี

- ความอยากไม่มีขอบเขต ความอยากย่อมผลักดันให้คนวิ่งวุ่น

- โลกถูกความอยากนำไป ความอยากเป็นแดนเกิดของความทุกข์


ปัจฉิมบท

หลวงปู่พระอาจารย์กินรี จนฺทิโย ได้ยึดมั่นถือปฏิบัติตามบูรพาจารย์ใหญ่ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ที่อยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ไม่เปิดเผยตน เก็บตัว ไม่ชอบคนหมู่มาก ไม่มักมากไม่ต้องการความมีชื่อเสียง พูดน้อย ไม่ชอบเทศน์ถ้าไม่นิมนต์ให้เทศน์ หลวงปู่อยู่อย่างสงบๆ เหมือนพระผู้เฒ่าไม่มีอะไรดี

การปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่กินรี เพียงวิธีการสังเกตดูกิริยาภายนอกนั้นอยากที่จะเข้าใจ เพราะกิริยาพฤติกรรมที่แสดงออกกับภูมิจิต ภูมิธรรม ภายใน นั้นเป็นคนละเรื่อง ดังคำปรารถของพระอาจาย์ชา สุภทฺโท ครั้งปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่ ทั้งก่อนและหลังที่เดินธุดงค์สู่ภูลังกา นครพนม ได้กล่าวว่า ท่านเอง ทำความเพียรอย่างสาหัส เดินจงกรมทั้งวัน ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกจนแผ่นดินทรุดทางเดินเป็นร่องลึกหลายต่อหลายร่องปฏิบัติมิได้หยุดหย่อน ยังไม่รู้ไม่เป็นอะไร แล้วท่านอาจารย์ปฏิบัติเพียง เดินจงกรมก็ไม่เคยเดิน จะนั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เห็นนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ แล้วจะไปถึงไหนกัน แล้วหลวงปู่ชา ได้กล่าวภายหลังว่า เรามันคิดผิดไป ท่านพระอาจารย์ทำความเพียรขั้นอุกฤกษ์ มากต่อมาก หลายต่อหลายปี รู้อะไรมากกว่าเราเป็นไหนๆ คำเตือนสั้นๆ ห้วนๆ แม้จะนานๆ ครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิด ไม่เคยเห็นมาก่อน อุปมาเหมือนแสงจันทร์กับแสงเทียน การปฏิบัติแท้ๆ นั้นไม่ใช่กิริยาอาการภายนอก ไม่ใช่การเดินจงกรมด้วยเท้า ไม่ใช่การนั่งสมาธิ มิใช่การศึกษาตำราตัวหนังสือ มิใช่เพียงคำพูด และมิใช่สิ่งที่จะยกเป็นตัวเป็นตน ได้แต่การปฏิบัติภาวนาที่แท้จริงนั้น เป็นกิริยาภายใน เป็นอาการภายใน เป็นการปฏิบัติทางใจ นั่งนิ่งอยู่ที่จิต ทำอารมณ์ให้นิ่ง ทำจิตให้นิ่ง มีสมาธิจนเป็นหนึ่ง อยู่ทุกขณะจิต ตลอดภาวนา ทุกเวลาทุกอริยาบท แม้การทำจิตอันใด ฉะนั้น การจะไปจับเอาการกระทำ ด้วยการนั่งสมาธิ กายเดินจงกรม ของครูบาอาจารย์นั้นไม่ได้ และไม่ถูก

หลวงปู่กินรี เป็นพระที่ยึดมั่นในศีลธรรม อบรมลูกศิษย์อย่าประมาทในศีล แม้สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ในพระวินัย จะประมาทไม่ได้เด็ดขาด แม้เพียงการ ตากผ้าสบง จีวร แล้วมิได้เฝ้าดูรักษา หลวงปู่ก็ตำหนิพระลูกศิษย์ว่าประมาทในสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ การเป็นสมณะ ต้องเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เป็นอยู่ง่ายๆ กินแต่น้อย มีทรัพย์สิ่งของน้อย และไม่สะสม จะต้องทะนุถนอมรักษาใช้ให้นานๆ เป็นผู้ไม่สิ้นเปลืองมาก ถ้าใช้สุรุ่ยสุร่าย แสดงถึงการขาดสติ ในการประคับประคองตัว ให้อยู่ในครอบร่างรอยของสมณะ แล้วจะมีอะไรเป็นเครื่องมือปฏิบัติภาวนา สตินั้นต้องมั่นคง และต่อเนื่องด้วยการสังวรระวังในวินัยสิกขาบท สติเราก็จะมั่นคงต่อเนื่อง ถ้าขาดวินัยย่อมขาดสติ จิตจะวิ่งไปตามอารมณ์ภายนอก อารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมครอบงำจิต ให้หลงใหลมัวเมา การมีสติอยู่กับข้อวัตรพระวินัย ย่อมเป็นเครื่องกั้นอารมณ์ทั้งปวง และทำให้สติต่อเนื่อง จิตใจย่อมตั้งมั่น เป็นสมาธิจิตตลอดกิริยาบถ คำสอนของหลวงปู่ จึงเป็นคำสอนที่ง่ายๆ เป็นการสอนด้วยข้อปฏิบัติ และกระทำทันที

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย ท่านเป็นคนพูดน้อย แต่ละคำพูดที่พูดจึงมีแต่ความบริสุทธิ์ และจริงใจท่านยึดถือคติธรรม "สติโลกสฺมิ ชาคโร" สติเป็นธรรมเครื่องตื่น อยู่เสมอ จงเอาสติตามรักษาจิตไว้ เพราะคนมีสติย่อมประสบแต่ความสุข จะพูดจะคิดจึงควรมีสติทุกเมื่อ ท่านมักจะอยู่คนเดียว ไม่ชอบ คลุกคลีกับหมู่คณะ พยายามให้พระเณรในวัดมีการร่วมกันน้อยที่สุด ให้เร่งทำความเพียร อย่าได้อยู่ด้วยความเกียจคร้าน อย่าเป็นผู้พูดมาก เอิกเกริกเฮฮา ไม่จำเป็น ท่านจะไม่ให้ประชุมกัน แม้การสวดมนต์ทำวัตร ยังให้ทำร่วมกันสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยตนเองอยู่แล้ว ให้อยู่คนเดียวทำคนเดียวมากๆ จิตจดจ่อ อยู่ในพรรษาให้มาก โดยเฉพาะเตือนลูกศิษย์ให้อยู่ในป่าช้าให้มาก อานิสงส์ของการอยู่ในป่าช้า ทำให้จิตใจกล้า องอาจจิตตื่นอยู่เสมอ พิจารณาข้อธรรมได้ถี่ถ้วน เพราะจิตปราศจากนิวรณ์

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เคยอยู่กับหลวงปู่เสาร์นานถึง 6 ปี อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น 2 ปี และอยู่กับหลวงปู่ทองรัตน์ 4 ปี หลังจากนั้น ได้กราบคารวะบูรพาจารย์ ทั้งสามอยู่เนืองนิจ ท่านได้กล่าวกับพระอาจารย์ชา จึงประกาศประดิษฐานพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติธรรม ขยายไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก แต่ชีวิตปั้นหลายของหลวงปู่กินรี จนฺทิโย ทุกสิ่งทุกอย่างปกติ คือพูดน้อย เก็บตัวอยู่เรียบง่าย สงบระงับ หยุดการเดินทาง หยุดการธุดงค์ มีนานๆ ครั้งจะไปเยี่ยมพระอาจารย์ชา ผู้เป็นศิษย์ที่วัดหนองป่าพง ด้วยลักษณะนิสัยต้องการอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียว ไม่เปิดเผยตัวเอง จึงไม่มีผู้ใดที่จะเคยได้ยิน คำพูดที่จะเป็นไปในทางโอ้อวดการมีดี การอวดคุณธรรมวิเศษจากหลวงปู่ ท่านสมณะที่สงบเสงี่ยมเจียมตน จึงไม่อุดมด้วยศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส หลวงปู่ชา สุภทฺโท จึงส่งพระลูกศิษย์ 2 รูปมาอุปัฏฐานดูแลท่าน

หลวงปู่มีโรคประจำตัว คือ ไออยู่เป็นนิจ เนื่องจากเกี่ยวกับปอดชื้น แต่ไม่ยอมให้หมอรักษาไม่ว่าท่านจะเป็นอะไร จะอาการหนักหรือไม่หนัก ท่านจะไม่ยอมให้ใคร นำตัวท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเด็ดขาด อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด จนกระทั่งวันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2523 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก หลวงปู่จึงได้ละสังขารจากพวกเราไป สิริรวมอายุ 84 ปี 7 เดือน 16 วัน 58 พรรษา

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.dharma-gateway.com

 

 

 

ชีวประวัติหลวงพ่อชาส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่กินรี

คัดลอกจาก http://203.154.140.2/isangate/dhamma/life-09.htm

หลบหลีกออกจากบ้านต้องในคืนนั้น หลวงพ่อเดินทางไปยังวัดป่าหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมี หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เป็นประหนึ่งร่มโพธิธรรมอยู่ที่นั่น ศึกษา ประพฤติปฏิบัติอยู่กับท่านหลายวันได้กำลังใจคืนมา ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อ การหลีกเร้นภาวนาในป่าตามธรรมชาติ หลวงพ่อจึงกราบลาหลวงปู่กินรีออกจาริกธุดงค์ ต่อไป

ครั้นย่างเข้าฤดูฝนในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นพรรษาที่เก้าของหลวงพ่อ ท่านได้ย้อนกลับมา จำพรรษากับหลวงปู่กินรีที่วัดป่าหนองฮี

หลวงปู่กินรีเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่าน ล้วนแต่เป็นของปอน ๆ เรียบง่าย และส่วนใหญ่ท่านทำใช้เอง แม้ไม่สวยงาม แต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนไปตามกาลเวลา

อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนาเท่านั้น แม้ในวัยชรา หลวงปู่ก็ยังรักษาปฏิปทา นี้ไว้อย่างมั่นคง

หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า...

ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งวัน ฝนตก แดดออกอย่างไรก็เดินจนทางจงกรมเป็นร่องลึก

แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียงสองสามเที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะ มาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่...

เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินาน ๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็น อะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไร

เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์ กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหน ๆ ...ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียรกำจัดอาสวะ กิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์...

ในปีนั้นจีวรของหลวงพ่อเก่าคร่ำคร่า จนผุขาดเกือบทั้งผืน แต่ท่านไม่ยอมออกปากขอใคร หลวงปู่กินรีก็มองดูอยู่เงียบ ๆ ไม่ว่ากระไร

วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งปะชุนจีวรอยู่ ขณะเย็บผ้าคิดอยากให้เสร็จเร็ว ๆ จะได้หมดเรื่องหมด ราว แล้วไปนั่งภาวนา เดินจงกรมให้เต็มที่สักที หลวงปู่กินรีเดินมาหยุดยืนดูอยู่ใกล้ ๆ หลวงพ่อ ก็ยังไม่รู้ เพราะจิตกังวลอยากเย็บผ้าให้เสร็จเร็ว ๆ เท่านั้น

หลวงปู่ถามว่า "ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า"

"ผมอยากให้เสร็จเร็ว ๆ"

"เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร" หลวงปู่ถามอีก

"จะไปทำอันนั้นอีก"

"ถ้าอันนั้นเสร็จ ท่านจะทำอะไรอีก" หลวงปู่ถามต่อ

"ผมจะทำอย่างอื่นอีก"

"เมื่ออย่างอื่นของท่านเสร็จ ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า ?"

หลวงปู่กินรีให้ข้อคิดว่า... "ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่า เป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความ อยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตัวเองอีก"

คำพูดสั้น ๆ แต่มีความหมายและเจือความปรารถนาดีของหลวงปู่ ทำให้หลวงพ่อหูตา สว่างขึ้น ท่านปรารภให้ฟังว่า "เรานึกว่าทำถูกแล้ว อุตสาห์รีบทำ อยากให้มันเสร็จเร็ว ๆ จะได้ภาวนา แต่ที่ไหนได้ เราคิดผิดไปไกลทีเดียว"

อยู่ต่อมา หลวงปู่กินรีปรารภกับญาติของท่านว่า มีพระรูปหนึ่งมาอยู่ด้วย จีวรขาดหมดแล้ว ช่วยตัดจีวรใหม่ถวายท่านด้วย พอดีมีคนเอาผ้าฝ้ายด้ายดิบเนื้อหนามาถวาย หลวงปู่จึงให้แม่ชี ช่วยกันตัดเย็บถวายหลวงพ่อ

หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า... "ดีใจที่สุด ใช้อยู่ตั้งหลายปีก็ยังไม่ขาด ใส่ใน ครั้งแรกดูกระปุกกระปุย เพราะผ้าหนาและแข็งกระด้าง ยิ่งใส่สังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้น ยิ่งดูตัวเองอ้วนใหญ่ เวลาเดินดังสวบสาบ ๆ เพราะผ้ามันแข็ง ใส่ไปตั้งปีสองปีผ้าจึงอ่อน แต่เราก็ไม่เคยบ่น ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ..."

เมื่อปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ใจเร่าร้อนกระสับกระส่ายถูกดับลงด้วยการภาวนา และหยาดน้ำใจจากครูอาจารย์ผ่านไปไม่นาน ศัตรูคู่ปรับเก่า ที่หลวงพ่อเคยออกปากในทำนองว่า ยากยิ่งสิ่งเดียวได้หวนกลับมาย่ำยีจิตใจอีกครั้ง...

คืนหนึ่ง ขณะหลวงพ่อพากเพียรภาวนาอยู่ตามลำพัง อารมณ์แห่งกามราคะได้เกิดขึ้น

คืนนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพลิกยุทธวิธีใด ๆ ก็ไม่สามารถกำราบกิเลสมาร ลงได้ รูปลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงปรากฏเป็นมโนภาพเด่นชัดตลอดเวลา เกิดความรู้สึกทาง ธรรมชาติของบุรุษอย่างรุนแรง จนแทบภาวนาต่อไปไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู่กับความรู้สึกและ มโนภาพนั้นอย่างยากเย็น

หลวงพ่อเปรียบเทียบว่า จิตใจถูกกิเลสย่ำยี อย่างหนัก พอ ๆ กับครั้งที่เกิดความกลัวใน คราวอยู่ ป่าช้าครั้งแรกนั่นเอง

การต่อสู้กับราคะดำเนินไปอย่างดุเดือด ขับ เคี่ยวรุกไล่กันอยู่ถึง 10 วัน ความรู้สึกและมโนภาพ นั้นจึงได้เลือนหายไป

หลังการต่อสู้กับกามราคะในวันนั้น หลวงพ่อ ยิ่งบากบั่นเร่งภาวนาหนักขึ้น เพื่อสร้างเกราะ และ ภูมิคุ้มกันภัยให้มั่นคง ศรัทธาและกำลังใจกล้าแกร่ง ขึ้นตามลำดับ

คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบน กุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า... "ชา... เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมี สว่างไสวมากนะ" ในนิมิตนั้น ปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจาก หลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจ เกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา

หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา กระทั่งถึงฤดูแล้ง ของปี พ.ศ. 2491 หลวงพ่อจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป

ก่อนจาก หลวงปู่กล่าวตักเตือนศิษย์สั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า "ท่านชา อะไร ๆ ในการปฏิบัติ ท่านก็พอสมควรแล้ว แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ"

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.dharma-gateway.com

 

 

จันทร์กระจ่างฟ้า – จันทิโย

โดย...อำพล เจน

คัดลอกจาก สวนขลังดอทคอม

http://www.suankhung.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=407474&Ntype=777


1. พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) รำพึงถึงหลวงปู่กินรี จันทิโย ครั้งหนึ่งว่า

            “ปัญญาของครูอาจารย์ผู้เฒ่าเหมือนพระจันทร์กระจ่างฟ้า ไม่มีเมฆบัง”

            เป็นคำรำพึงถึงซึ่งความซาบซึ้งตรึงใจของศิษย์ที่มีต่อครู

            ลึกล้ำ กว้างไกล อย่างไรนั้น บอกได้ว่าเกินกว่าปัญญาผู้ได้ฟังจะวัดหรือหยั่งได้ถึงแก่น

            จันทิโย คือ ผู้เปรียบประดุจพระจันทร์

            “เราเคยประมาทคิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินานๆ ก็ไม่นั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี้ปฏิบัติไม่หยุดเลยถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่กินรีปฏิบัติอยู่แค่นั้นจะไปรู้เห็นอะไร”

            หลวงพ่อชาเล่า

            “เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆมากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้นๆ ไม่ค่อยจะมีให้ฟังบ่อยนักเป็นสิ่งลุ่มลึก แฝงไว้ด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหนๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติคือความพากเพียรกำจัดกิเลสภายในใจไม่ใช่ถือเอากิริยาภายนอกของครูบาอาจารย์มาเป็นเกณฑ์”

            และนี่คือคำเตือนอันเป็นอมตะวาจาตลอดกาล

            “ท่านชา อะไรๆในการปฏิบัติของท่านก็พอสมควรแล้ว อยากให้ระวังแต่เรื่องเทศน์นะ”

            และ

            “ท่านคิดถึงใครผู้นั้นจะให้โทษแก่ท่าน”

2. หลวงปู่กินรี จันทิโย เป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ไม่ใช่ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ แม้ไม่ใช่แต่โยงใยเป็นสายเดียวกัน เพราะว่าพระอาจารย์มั่นก็เป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์เหมือนกัน

            โดยทางธรรมแล้วผู้ให้ความรู้หรือผู้ชี้ความผิดของตนถือเป็นครู พระอาจารย์มั่นก็เป็นครูของหลวงปู่กินรีได้

            โอวาทธรรม และคำแนะนำในการประพฤติปฏิบัติก็มีให้กันหลายวาระ

            “กินรี ท่านได้ที่อยู่หรือยัง”

            มันเป็นคำถามที่พระอาจารย์มั่นมีกับหลวงปู่กินรีเสมอ

            ผู้มีธรรมถาม-ตอบผู้มีธรรมด้วยกัน แม้คำถามพื้นๆ ธรรมดา แต่กับผู้มีธรรมแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

            ใครจะไปรู้จักดีเท่าผู้ถามหรือผู้ถูกถาม

            ประสบการณ์ที่หลวงปู่กินรีไม่เคยลืมได้เกิดขึ้นคราวหนึ่งระหว่างอยู่รับการอบรมกรรมฐานกับพระอาจารย์มั่น ท่านว่าเมื่อลงนั่งภาวนา จิตสงบลึกจนเกิดอาการเน่าเปื่อยขึ้นที่กาย หนังเนื้อหลุดออกจนเหลือแต่โครงกระดูก

            “นั่นน่าเบื่อหน่ายนัก” ท่านกล่าว

            บางครั้งเกิดไฟไหม้ตัวโหมกระพือ ลุกเผาจนเหลือแค่กองกระดูกและเถ้าถ่าน

            ไม่ว่าคนจะงามจะเลอโฉมเพียงใด ที่สุดแล้วก็ต้องถูกเผาจนเกิดภาพเดียวกัน

            จากพระอาจารย์เสาร์สู่พระอาจารย์มั่น และถึงมือพระอาจารย์ทองรัตน์ เป็นการเดินทางของศิษย์ที่ชื่อกินรี

            พระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล คืออีกท่านหนึ่งที่หลวงปู่กินรียกย่องให้เป็นครูอาจารย์

            “นิสัยของท่านอาจารย์ทองรัตน์นั้น มีความห้าวหาญและน่าเกรงขามยิ่งนัก บางครั้งกิริยาดุดัน วาจาก้าวร้าวแต่ในใจกลับไม่มีอะไรเลย” หลวงปู่กินรีเล่า

            “ในคราวหนึ่ง หลวงปู่มั่นได้กล่าวกับท่านอาจารย์ทองรัตน์ว่า พระเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เครื่องใช้ไม้สอยอะไรๆ มันหอมฟุ้งไปหมด ซึ่งท่านหมายถึงสบู่หรือผงซักฟอกต่าง ๆ และในวันหนึ่งมีกลุ่มภิกษุสองสามรูปเดินผ่าน ท่านอาจารย์ทองรัตน์ร้องลอยๆ ลั่นว่า โอ๊ยหอมกลิ่นผู้บ่าว”

            นี่คือลักษณะของท่านอาจารย์ทองรัตน์

            ดูๆไปก็คล้ายกับหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

            ท่านทั้งสองแทบจะเป็นคนชนิดเดียวกัน หลวงปู่ตื้ออยู่ประดับธรรมยุติกนิกาย ท่านอาจารย์ทองรัตน์ประดับฝ่ายมหานิกาย

            ส่วนหลวงปู่กินรี คือ โดดเดี่ยวผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหานิกาย

            ท่านชอบอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวที่แท้จริง

3. ประวัติชีวิตของหลวงปู่กินรี แทบจะมีแต่ท่านผู้เดียวที่เป็นเจ้าของรู้เรื่องอยู่ตามลำพัง ที่ปรากฏเรื่องราวในที่ต่างๆ ก็ล้วนแต่เกิดด้วยปากของศิษย์ผู้ใกล้ชิด หรือผู้รู้จักท่านเล่าสู่กันฟัง เช่นเรื่องธุดงค์ไปเมืองลาวก็เกือบจะไม่เป็นประวัติชีวิตอย่างที่คนนิยม หากแต่เป็นเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์ในการแสวงหาโมกขธรรม

            พระยศ (ปัจจุบันสึกแล้ว) กับพระหลอด คือผู้ติดตามหลวงกินรีในการธุดงค์สู่เมืองลาว

            เรื่องธุดงค์ต่อไปนี้เกิดด้วยบันทึกของหลวงปู่กินรีเองและคำบอกเล่าเท่าที่นึกออกของพระลูกศิษย์ทั้งสอง

            บันทึกของหลวงปู่ ได้อธิบายว่าได้เดินทางผ่านบ้านต้อง, นาทราย, บ้านใหม่, บ้านโนนสมบูรณ์ จนลุเข้าอำเภอบึกกาฬหลายหมู่บ้านไม่รู้จักพระแต่ก็ยังพอได้ข้าวเปล่าๆ ในการบิณฑบาตบ้าง

            ท่านว่าภาวะเช่นนี้บางทีจะทำให้พระที่ยังใหม่ต่อการฟันฝ่าอุปสรรคในคราวยากเข็ญแทบทนไม่ไหว

            สำหรับพระที่เก่าแล้วเช่นตัวท่านไม่ได้ฉันข้าว 7 วันก็เคย เรื่องอดข้าวบ่อยๆ นั้นเกือบจะเป็นธรรมดา ไม่ทำให้รู้สึกท้อถอยแต่อย่างใด

            จากบึงกาฬ ท่านนำลูกศิษย์ข้ามโขงขึ้นฝั่งลาว เริ่มก้าวแรกในแผ่นดินลาวที่ริมฝั่งเพื่อรุดหน้าไปสู่พระบาทพลสันต์ (บางแห่งเขียนโพนสัน ไม่ทราบว่าที่ถูกคืออย่างไร) นมัสการพระพุทธบาทแล้วย้อนกลับไทย เดินเลาะริมฝั่งเพื่อข้ามสู่ลาวอีกครั้งที่เชียงคานจังหวัดเลย

            เข้าเขตลาวแล้วพบว่ามีแต่ป่าดงดิบและทิวเทือกเขาต่อเนื่องกันตลอด สัตว์ป่าชุกชุม แต่ปลอดภัยดี แม้พระลูกศิษย์จะเป็นไข้ก็พอเดินไปกันไหว จนถึงหมู่บ้านป่าใกล้ชุมชนชาวเขาแห่งหนึ่ง มีพระออกมาต้อนรับรูปหนึ่ง

            “ดีแล้วที่พวกท่านมากันถึงที่นี่ มาแล้วก็อยู่เสียด้วยกันอยู่ที่นี่ดีนักหนา” พระเจ้าถิ่นปฏิสันถารด้วยไมตรีจิต

            “อยู่ที่นี่ดีนั้นดีอย่างไร” หลวงปู่กินรีถาม “พวกชาวเขาที่นี่น้ำใจดีมีศรัทธาแรงกล้า และประเพณีของพวกเขาก็ส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวที่จะแต่งงานกัน ต้องนำเจ้าสาวมาให้เชยชมก่อน เขาว่าเป็นบุญอันเลิศและเราก็จะได้เชยชมผู้หญิงก่อนเจ้าบ่าวทุกครั้งไป”

            หลวงปู่กินรีสะดุ้ง

            ท่านกล่าวนั้นพระอลัชชีไม่ละอายต่อบาป ขืนอยู่จะแย่จึงพาลูกศิษย์เดินหนีไปจากที่นั่นทันที

            ต่อจากนั้นได้เดินทางจนพบคนชาวป่าเผ่าหนึ่งเรียกว่าข่าตองเหลือง นับว่าเป็นคนป่าที่แท้จริง เพราะว่ายังคงนุ่งห่มตนด้วยใบไม้อยู่ ท่านว่าตอนที่พบนั้น หญิงข่าตองเหลืองกำลังคลอดลูกพอดีที่ริมลำธาร

            “กิริยาอาการมันไม่แปลกต่างจากสัตว์เลย” ท่านปลง

            ต่อมาก็ได้พบคนป่าอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “ถักแถ่” ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือไม่มีสะบ้าหัวเข่า ถ้าหกล้มแล้วลุกไม่ได้ ต้องอาศัยเกาะโคนไม้หรือโขดหินพยุงตัวขึ้นมายืน

            คนป่าเผ่านี้ผมเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่าทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ในป่าเมืองลาว บางท่านว่าพวกนี้มีขนรุงรังตามตัวคล้ายลิง ไม่มีภาษาพูดหรือจะมีก็หาคนภายนอกเข้าใจได้ยาก นอกจากพวกเขาด้วยกัน เคยได้ยินว่าถูกจับตัวไปแสดงที่เวียงจันทน์ครั้งหนึ่ง ในกรงเหมือนขังสัตว์ป่าและอยู่ไม่นานก็ตายไปน่าสงสารมาก

            หลวงปู่กินรีเล่าว่าได้พบคนป่าพวกนี้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามีกิจกรรมอะไรร่วมกันหรือไม่ เข้าใจว่าบอกเพื่อให้คนฟังทราบว่าคนป่าพวกนี้มีจริงและท่านก็ได้พบเหมือนกัน

            พระธุดงค์ส่วนหนึ่งจะได้เคยพบพวกถักแถ่ ใช่ว่าจะได้พบทุกองค์ก็หาไม่ พวกนี้อยู่ในป่าลึก ไม่มีคนรุกล้ำเข้าถึง เป็นคนป่าอีกพวกที่นับว่าแปลกประหลาดมาก วันหนึ่งถ้าถูกเปิดเผยตัวควรจะเกิดเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกก็ได้

            หลวงปู่พรหมา เขมจาโร ก็เคยกล่าวถึงคนป่าพวกนี้เหมือนกัน โดยเล่าถึงลักษณะที่เวลาหกล้มแล้วลุกไม่ได้ ต้องใช้วิธีกลิ้งตัวหนีภัย ท่านยังได้บอกอีกว่าสิ่งแปลกประหลาดในเมืองลาวยังมีอีกมาก แต่เล่าแล้วเหมือนป่าหิมพานต์ที่ไม่ควรมีจริง

            การธุดงค์ของหลวงปู่กินรีในป่าเมืองลาวนั้น ไม่แสดงรายละเอียดถี่ถ้วนเหมือนครูบาอาจารย์อื่น ซึ่งก็เป็นลักษณะนิสัยไม่ช่างพูดของท่านนั่นเอง และธุดงค์เมืองลาวก็มาสิ้นสุดเมื่อท่านข้ามกลับเข้าฝั่งไทยที่บ้านห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

            จำพรรษาที่นั่นกับหมู่บ้านชาวแม้วจนได้เห็นประเพณีแปลก ซึ่งใช้สำหรับปลงอสุภกรรมฐาน ได้เรียกว่าพิธีเฝ้าศพ คือเมื่อมีคนตาย เขาจะเอาศพไว้ในบ้าน 7 วัน ผลัดเปลี่ยนเวรยามเข้าเฝ้าศพเพื่อจะช่วยไล่แมลงวันตอมศพ และศพก็ย่อมขึ้นอืดไปตามเวลาที่ล่วงไป

            มีน้ำเหลืองน้ำหนองเยิ้มออกมา เด็กๆที่เป็นลูกหลานผู้ตายก็ช่วยกันเอามือเช็ดลูบน้ำเหลืองน้ำหนองออกจากศพแล้วเอามาทาตัวโดยไม่รังเกียจเลย พวกที่มาเฝ้าศพก็พากันร้องไห้คร่ำครวญและที่เล่นดนตรีเป็น จับเครื่องดนตรีเล่นไป

            “ได้ยินทั้งเสียงดนตรี ทั้งเสียงร้องไห้สลับกันไปพิลึกดี ชวนให้สลดหดหู่ไปกับเขาเหมือนกัน”

            หลวงปู่กินรีเล่า

            เฝ้าศพครบ 7 วันแล้วก็หามไปฝัง

            ออกพรรษาที่บ้านห้วยมุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว หลวงปู่กินรีวางเข็มทิศธุดงค์ไว้ที่ประเทศพม่า ได้เดินทางเข้าถึงหมู่บ้านชาวลาวแห่งหนึ่ง ไม่มีชื่อปรากฏในแผนที่ เป็นพวกลาวประจำหมู่บ้านชวนท่านอยู่ด้วย แต่ท่านปฏิเสธและออกเดินทางมุ่งไปจนถึงเมืองย่างกุ้ง

            ลูกศิษย์สองรูปที่ติดตามตลอด เกิดความท้อถอย ถึงกับกล่าวว่า จะเดินกันไปถึงไหนไปหาอะไร ถ้าจะหาธรรมะก็ไม่น่าจะอยู่ไกลเพียงนี้ ธรรมะหาได้ที่ใจตนเองไม่เห็นจะต้องมาลำบากกับการเดินทางไกลถึงปานนี้

            ท่านจึงปล่อยให้ลูกศิษย์กลับตามความสมัครใจ ส่วนตัวท่านออกเดินหน้าต่อไปตามลำพัง

            หลวงปู่กินรีเล่าถึงวัดกุลาจ่อง อยู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง ซึ่งท่านได้พำนักอยู่ที่นั่นว่าได้เห็นเณรมาทำลับล่อ จรดมวยตั้งท่าจะชกแล้วหลบหายไป แสดงว่าพระเณรที่นี่ขาดการอบรมเรื่องพระวินัย จึงไม่อยากอยู่และได้ออกเดินทางต่อไปสู่ประเทศอินเดีย

            สมัยที่ท่านไปอินเดียนั้นสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ยังไม่ได้รับการทำนุบำรุง เฉพาะสถานที่ประสูติ มีพงหญ้ารกมาก รวมทั้งอีก 3 แห่งก็พอๆ กัน

            ที่ท่านประทับใจมากที่สุดคือมกุฏพันธนเจดีย์อยู่ห่างจากที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไม่ไกล เชื่อว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ รอบๆ สถานที่แห่งนั้นมีสถูปเล็กๆ รายรอบ เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของพระอานนท์และพระพุทธสาวกทั้งหลาย

            “ดอกสาละออกช่อเต็มที่แล้วโรย สังขารมนุษย์ทั้งปวงไม่เว้นแม้พระพุทธองค์และเหล่าสาวกก็ดับสลายไปสิ้นด้วยกัน”

            บำเพ็ญประทักษิณวนขวาแสดงสักการะ และรำลึกถึงคุณพระพุทธองค์และเหล่าพระสาวกแล้วเดินทางกลับสู่พม่า และพำนักในพม่าติดต่อกันนาน 12 ปี แต่รายละเอียดการอยู่ในพม่าไม่มีปรากฏ ดูเหมือนจะเงียบหายไปเหมือนคำพูดที่มีน้อยของท่าน

4. ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่ขาดความต่อเนื่อง ไม่ทราบว่าเรื่องใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง แต่เป็นเหตุการณ์เฉพาะอย่างไป อาจเรียกวาเกร็ดประวัติก็ได้


ยาได้มาแปลกๆ

            ครั้งหนึ่งท่านพำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอ ในเขตจังหวัดตาก เกิดอาพาธ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาการทรุดหนักจนออกบิณฑบาต หรือทำกิจใดๆ ไม่ไหว พวกชาวเขาที่เคารพเลื่อมใสท่านมาช่วยกันพยาบาล ก็ไม่ดีขึ้น อาพาธอยู่นานเดือนไม่รู้วันหายไม่รู้ว่าจะหาย หรือเปล่า

            ถึงกับรำพึงว่า

            ความเจ็บไข้ทางกายนี้หนักเข้าก็เป็นอุปสรรคแก่การภาวนา เป็นที่ตั้งแห่งนิวรณ์ทั้งหลาย บางครั้งเกิดสงสัยลังเลใจไปทุกอย่าง ทั้งสงสัยอาบัติที่จะมีแก่ตัว ที่ทรงก็แต่ศีลเท่านั้น แต่ในที่สุดอารมณ์ทั้งหลายก็สงบลง เพราะได้เพ่งอยู่แต่กับอารมณ์จึงเกิดความรู้ว่าธรรมะนี้ไม่เกินกว่าวิสัยตนจะทำได้

            คืนหนึ่งฝันว่า มีพระรุ่นโบราณมานั่งเฝ้า 6 รูป ท่านเห็นจึงบอกว่า อย่ามาเฝ้าท่านอยู่เลย อีกหน่อยก็จะต้องตายแล้ว ร่างกายก็จะเน่าเฟะหาประโยชน์ไม่ได้ จงพากันกลับไปเสียเถิด แต่เหล่าพระโบราณกลับบอกว่าท่านยังไม่ตายหรอก ให้บอกพวกชาวเขาไปหาของสิ่งนี้ (ชูให้ดู) มากินก็จะหาย

            รุ่งขึ้นหลวงปู่กินรีได้บอกให้ชาวเขาไปเอายาที่เห็นในฝันมาถวาย พอได้ยาอาการอาพาธที่เป็นมานานเดือนก็หายอย่างน่าแปลกประหลาดใจ


50 เมื่อไหร่เข้าวัด

            หลวงปู่กินรีเล่าเรื่องธรรมเนียมคนพม่าในสมัยนั้นว่าผู้ครองเรือน ถ้ามีอายุถึง  50 ปี เมื่อไหร่จะต้องเข้าวัดสามีอยู่วัดหนึ่ง ภรรยาอยู่วัดหนึ่ง ถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต ถ้าใครอายุ 50 แล้ว ยังหมกมุ่นในกามารมณ์เขาเรียกว่าคนบ้าตัณหา


สตรีลึกลับ

            ครั้งหนึ่งท่านพำนักอยู่ในถ้ำบนเขาเปลี่ยวเดียวดาย มีผู้หญิง 2 คน เดินขึ้นมาหา ท่านก็ไล่กลับ ว่าเป็นผู้หญิงขึ้นมาหาพระทำไม ถ้ามาต้องมีผู้ชายมาด้วย ผู้หญิงทั้งสองคนบอกว่าจะมาขอรับศีลและฟังธรรม

            “รับแค่ศีลก็พอแล้ว ไม่ต้องฟังธรรม"

            พอให้ศีลเสร็จก็ไล่กลับอีก ผู้หญิงทั้งสองกลับลงไปในทิศทางเดิมที่ขึ้นมา ซึ่งหลวงปู่กินรีบอกว่ามองตามหลังไปเห็นเดินหายเข้าไปในซอกหินแคบๆที่ไม่น่าจะมีใครลงไปได้เลย


ไม่เคยสอน?

            พระลูกศิษย์รูปหนึ่งเล่าว่าอยู่กับหลวงปู่มานาน หลวงปู่ไม่เคยอบรมสั่งสอนอะไรนอกจากบอกสั้นๆ ว่าให้รักษาศีลให้ดี และทำความเพียรมากๆ เท่านั้น


ไม่คลุกคลี

            หลวงปู่กินรีชอบอยู่คนเดียว แม้อยู่ร่วมกันหลายคนในวัดท่านก็เสมือนอยู่คนเดียวและให้โอกาสผู้อื่นอยู่คนเดียวเหมือนท่าน

            แม้การสวดมนต์ทำวัตร ท่านยังให้ทำคนเดียว อนุญาตทำร่วมกันแต่เพียงสัปดาห์ละครั้งท่านมีเหตุผลว่า

            “ท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่นไม่เคยทำอย่างนี้”


บุรุษเสื้อแดง

            ครั้งหนึ่งในป่าช้าแห่งหนึ่ง ภายหลังจากการเดินจงกรมก็เข้าที่ลงนั่งสมาธิภาวนา สักครู่ได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินมาหาทางด้านหลัง ท่านเหลือบไปดู เห็นเป็นชายคนหนึ่งใส่เสื้อสีแดงมีผ้าขาวม้าคาดพุงทำกิริยารีๆ รอๆ แล้วหันหลังเดินกลับไป ต่อมาจึงทราบจากชาวบ้านว่าชายใส่เสื้อแดง มีผ้าขาวม้าคาดพุงถูกเขาฆ่าตายอยู่ในละแวกนั้น

            หลวงปู่กินรีมักบอกลูกศิษย์ว่า ให้ฝึกอยู่ป่าช้า เพราะอานิสงส์ของการอยู่ป่าช้านี้ดีนักหนา เป็นเครื่องทำจิตให้กล้า องอาจ และตื่นตัวอยู่เสมอ จิตในป่าช้ามีความง่วงไม่มีนิวรณ์ทำให้ภาวนาดีและไม่ต้องวิตกว่าจะมีอันตราย


ฤทธิ์เป็นของเล่น

            ท่านกล่าวว่าสิ่งเดียวที่ควรค่าแก่การสรรเสริญคือ การปฏิบัติธรรม สิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายเป็นเพียงของเล่นยามว่างของครูบาอาจารย์เท่านั้น

            แต่กับวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง ท่านก็อนุโลมให้ทำ และท่านก็ทำด้วยตนเองออกแจก เช่น ตะกรุด ซึ่งว่ากันว่าดีนักหนา เคยมีตำรวจกลุ่มหนึ่งมากราบท่าน และได้รับตะกรุดไปคนละดอก ขากลับออกจากวัด (สมัยนั้น) โดนดักยิงถล่มแต่ไม่มีใครถูกกระสุน ต้องรีบย้อนกลับมาวัด พบท่านยืนรออยู่หน้าวัด และท่านบอกว่ากลับไปทางเดิมนั่นแหละ ไม่ต้องหนีมาทางนี้ก็ได้

            ลุงเกลี้ยง อุกาพรหม ผู้เคยติดตามใกล้ชิดหลวงพ่อชา ก็เคยบอกว่าตะกรุดของหลวงปู่กินรีนั้นห้ามปืนจนแตกได้

            มีบ้านคนถูกไฟไหม้ แต่หน้าต่างบานหนึ่งที่มียันต์ของหลวงปู่เขียนติดไว้กลับไม่ถูกไฟไหม้เลย นับว่าแปลกดี


เก็บตัวจนเก็บประวัติ

            ท่านชอบอยู่โดดเดี่ยว เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร หลายคนพยายามมาซักถามขอประวัติ ท่านมักบ่ายเบี่ยงเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่นที่ไกลๆ ตัวท่านเสมอ ประวัติของท่านจึงแทบไม่มีปรากฏที่ไหนโดยละเอียด เรื่องราวของท่านล้วนเกิดขึ้นมาด้วยการเก็บความของคนหลายฝ่าย แล้วนำมาประติดประต่อกันอย่างยากลำบาก

5. วัดกันตะศิลาวาส เดิมเป็นที่ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ กันตะสีโล มาพำนักภาวนา หลวงปู่กินรีเห็นซึ่งครูบาอาจารย์ของท่านเคยอยู่ จึงได้มาพัฒนาจนกลายเป็นวัดกันตะศิลาวาสอยู่จนทุกวันนี้

            ในบั้นปลายชีวิตของท่านยามแก่เฒ่าชรา ศิษย์ผู้มีกตัญญูยิ่งใหญ่เช่น หลวงพ่อชา ได้รบเร้านิมนต์ท่านไปอยู่วัดหนองป่าพง เพื่อการปรนนิบัติท่านก็ไม่ยอม โดยจะขออยู่ผู้เดียวต่อไป หลวงพ่อชาจึงต้องอาศัยส่งพระลูกศิษย์มาอยู่กับท่านเพื่อคอยรับใช้และดูแลแทนตัวท่านเองตลอดเวลาจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ

            วันพุธที่ 26 พ.ย. 2523 เป็นวันสุดท้ายที่ท่านมีลมหายใจและหมดลม

            หลวงพ่อชาได้เป็นธุระดำเนินการบำเพ็ญกุศลศพของหลวงปู่กินรีจนเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน

            เป็นครูบาอาจารย์ใหญ่อีกรูปหนึ่งที่เกิดและดับไปเพื่อแสดงสัจธรรมของพระพุทธองค์และผ่านการดำเนินชีวิตตามรอยบาทพระพุทธองค์อย่างเคร่งครัด

            นิพพาน ปัจจโย โหตุ .....

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.dhammajak.net

Top