ประวัติ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ - วัดโพธิ์ชัยมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ - webpra

หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

ประวัติ วัดโพธิ์ชัยมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

 ผม (คุณภิเนษกรมณ์ ผู้โพสท์) ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "รำลึกวันวาน" อันเป็นบันทึกของ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ เกี่ยวกับเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจ ชวนให้คิด และอ่านสนุก อาจจะพอเหมาะสมกับกระดานนี้ จึงจะได้ทยอยนำมาพิมพ์ให้อ่านกัน โดยขอเป็นสรุปย่อบางส่วนนะครับ เพราะบางเรื่องท่านอธิบายไว้ยาวมาก

หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ (หรือในอดีต คือ พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส) เป็นพระอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น อยู่หลายปี ได้มีโอกาสอยู่กับท่านทั้งในช่วงที่หลวงปู่มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคกและบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ระยะ พ.. 2486 -2487 จนเมื่อหลวงปู่มั่นย้ายมาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พ..2488-2492 ท่านก็ได้ติดตามมาอยู่ด้วย ได้เป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ร่วมกับพระอาจารย์วัน อุตตโม และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต จนกระทั่งหลวงปู่มั่นมรณภาพ แม้ว่าท่านจะได้ลาสิกขาไปเมื่อครั้งพรรษาประมาณ 20 เศษ แต่เมื่ออายุได้ 70ปี ได้กลับมาบวชอีกครั้ง เมื่อปี พ..2536 หลวงตาทองคำเป็นผู้ที่มีความจำแม่นยำ ได้เขียนบันทึกนี้ขึ้นเมื่อ พ..2541 ขณะอายุ 75 ปี เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านมรณภาพไปเมื่อปีที่แล้วนี้เองครับ


ผมขอนำคำปรารภของหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ผู้เขียนมาลงให้อ่านก่อนนะครับ และขออธิบายขยายความนิดหนึ่งครับ คือ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ได้เขียนบันทึกเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้นจากคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระราชบัณฑิต (พระมหาชัยทวี จิตตฺคุตฺโต) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.. 2541 หลวงตาทองคำท่านเขียนด้วยลายมือลงในสมุดจดได้หลายเล่มและเก็บไว้ที่ท่านเจ้าคุณพระราชบัณฑิตอยู่หลายปี ต่อมาท่านเจ้าคุณฯ และคณะผู้จัดพิมพ์เห็นว่าเป็นบันทึกที่มีคุณค่าสมควรนำมาพิมพ์เผยแพร่ จึงได้นำมาตีพิมพ์ เมื่อ ปี พ..2547 ในนามกองทุนแสงตะวัน วัดปทุมวนาราม และได้กราบเรียนขอให้หลวงตาทองคำท่านเขียนคำปรารภสำหรับการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ดังต่อไปนี้

 

คำปรารภ

เมื่อ พ..2541 ข้าพเจ้าได้จำพรรษาที่วัดปทุมรังสี อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเจ้าคุณพระมหาชัยทวี คุตตจิตโต ซึ่งข้าพเจ้ารักและเคารพไปสร้างไว้ พอออกพรรษาได้มาพักกับท่านที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร บางโอกาสได้นั่งสนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณฯ ท่านได้กล่าวถึงท่านพระอาจารย์มั่น ในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะบ้าง เกี่ยวกับบุคคล โบราณสถาน โบราณวัตถุบ้าง ท่านเจ้าคุณฯ สนใจเป็นพิเศษ ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมา

ข้าพเจ้าสนใจเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ เกี่ยวกับบุคคล วัตถุโบราณ สถานโบราณ ประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ ได้ฟังแล้วจะไม่ลืม หลายปีก็ไม่ลืม พอไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น จึงถือเป็นกรณีพิเศษ

บางเรื่องท่านฯ จะเล่าขณะที่ข้าพเจ้าได้ถวายการนวด หลังจากท่านเทศน์เสร็จแล้ว นอกจากข้าพเจ้าที่ได้ฟังแล้ว ก็มีท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร ท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม ท่านอาจารย์หล้า เขมปตฺโต ท่านก็พูดแต่ไม่มาก แต่สองรูปที่ท่านพูดให้ฟังมาก คือ ข้าพเจ้ากับท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร

ส่วน ท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ท่านเป็นเจ้าปัญญา ท่านพระอาจารย์ไม่ได้พูดโดยตรง จะพูดโดยอ้อม สลับมากับพระธรรมเทศนา ด้วยสติปัญญาของท่านสูงส่ง ท่านก็เลยนำมาเขียน แต่บางอย่างก็ผิดกันกับข้าพเจ้า บางอย่างก็ถูกกัน โดยเฉพาะเนื้อหาสาระสำคัญ จะผิดกันบ้างก็คงเป็นส่วนปลีกย่อย

บางเรื่องก็เกิดจากอัตถุปัตติเหตุ เช่น เรื่องพระพุทธเจ้าเป็นบรรพบุรุษของคนไทย จากสาเหตุกระดาษห่อธูปที่บริษัทผู้ผลิตเอารูปพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องหมายการค้า ข้าพเจ้าได้เก็บนำไปถวายให้ท่านฯ ดู ท่านฯ ก็เลยเทศน์ให้ฟัง ขณะนั้นเพื่อนภิกษุยังไม่ขึ้นไปกุฏิท่าน ซึ่งเป็นการกลับตาลปัตร เพราะเรื่องนี้ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ และคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ทำให้ผู้ฟังงงงวยสับสนขึ้น เมื่อเรื่องมีอย่างนี้ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจ จงสื่อเอาแต่ผลประโยชน์เกื้อกูลเถิด

บางเรื่องก็ได้ฟังจากพระธรรมเทศนาบ้าง ฟังจากศิษย์รุ่นก่อนๆ เช่น ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์มนู พระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ บ้าง เป็นต้นจดจำมาปะติดปะต่อกัน จนมาเป็นหนังสือนี้ โดยมิได้คาดคะเน หรือเดาสุ่มเพิ่มเติมมีสิ่งบกพร่อง คือ ไม่ละเอียดถี่ถ้วน บางส่วนขาดหายไป เช่น คำอุปมาอุปไมยอันไพเราะเพราะพริ้ง ที่ท่านยกมาเปรียบเปรย แต่ก็คงจะหาเนื้อหาสาระได้บ้าง สำหรับเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและการปฏิบัติ ของผู้ใคร่ในคุณธรรมอันพิเศษในพระพุทธศาสนานี้ ขอความผาสุกจงมีแด่ผู้อ่านทุกท่านเทอญ

 

ก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ คณะผู้จัดพิมพ์ได้นำต้นฉบับบางเรื่องไปถวายให้หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ได้พิจารณา เพราะท่านได้เคยอยู่จำพรรษาร่วมกันกับหลวงตาทองคำ และหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อ ปี พ..2487 เมื่อหลวงปู่หลอดท่านอ่านแล้ว ได้เมตตาเขียนเถรัมภกถาให้ตีพิมพ์ในหนังสือ ดังต่อไปนี้

 

เถรัมภกถา

 

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากความทรงจำของ พระอาจารย์ทองคำ จารุวณฺโณ (ญาโณภาโส) เกี่ยวกับเกร็ดประวัติ และปกิณกธรรมของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าอ่าน น่าศึกษาอย่างยิ่ง อาตมาเองได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของพระอาจารย์ทองคำอยู่บ้าง และได้รวบรวมมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องเทศน์ซ้ำเฒ่า ซึ่งเรียกว่าเป็นเทศน์กัณฑ์สุดท้ายของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ ที่พระอุปัฏฐากใกล้ชิดของท่านพระอาจารย์ใหญ่ และได้อยู่ในเหตุการณ์ได้นำออกมาเผยแพร่เรียกว่าหาฟังหาอ่านได้ยาก

สำหรับอาตมากับพระอาจารย์ทองคำนั้นรู้จักคุ้นเคยกัน ตั้งแต่สมัยที่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่เสนาสนะบ้านโคก พระอาจารย์ทองคำท่านไปอยู่ก่อนอาตมา และได้เป็นพระอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ใหญ่ผู้ใกล้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย ของท่านพระอาจารย์ใหญ่ที่วัดป่าสุทธาวาสนั้น แต่ภายหลังอาจเป็นด้วยวิบากกรรมของพระอาจารย์ทองคำยังไม่สิ้นกระมัง จึงต้องมีเหตุให้สึกสาลาเพศออกมามีครอบครัว แต่วาสนาในผ้ากาสาวพัสตร์ยังไม่สิ้นไปซะทีเดียว ราวปี พ..2536 ท่านจึงได้กลับมาบวชอีกครั้ง ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธฯ โดยมีท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดีเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้กลับมาทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา สมัยที่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น และได้รจนาตามความสามารถที่จะนึกจะจำนำมาเขียนได้

ดังนั้นเรื่องราวและข้อมูลอาจจะเป็นไปตามอายุขัยของท่าน ในขณะที่เริ่มเขียน เริ่มรจนา ก็คงจะราวๆ 70กว่าปีเข้าไปแล้วอายุ เรื่องราวเนื้อหาบางเรื่อง ก็อาจสามารถทำให้ผุ้อ่านได้เก็บตกจากประวัติของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่ครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณผู้ทรงธรรมได้เคยรจนาไว้แล้วก่อนหน้านี้ไม่มากก็น้อย ด้วยอาตมาหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจักเป็นประโยชน์และช่วยเสริมทัศนะของท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ ได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ คือ พิจารณาธรรมอันนี้ให้เกิดประโยชน์ให้ถี่ถ้วน และให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมทั้งทำความเข้าใจให้มากๆ

สุดท้ายนี้ อาตมาขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคณะผู้จัดทำและผู้ที่บริจาคปัจจัยพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทุกๆ ท่านเทอญ

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต

วัดสิริกมลาวาส กรุงเทพมหานคร

 

อานุภาพการสวดมนต์และเสียงสาธุการ

สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่บนดอยปะหร่อง (เชียงใหม่) กับพระอาจารย์มนู ตอนเช้าเที่ยวบิณฑบาต พอให้พรเสร็จ ท่านได้สอนให้ชาวบ้านกล่าวสาธุพร้อมกันด้วยเสียงสูง ท่าน (พระอาจารย์มั่น) เล่าเป็นเชิงตลกว่า มือทั้งสองข้างของเขาชูขึ้นข้างบนเหมือนบั้งไฟจะขึ้นสู่ท้องฟ้า ว่างั้น

วันหนึ่ง ท่านนั่งพักในส่วนที่ทำเป็นที่พักกลางวัน มีเทพพวกหนึ่งมาจากเขาจิตรกูฏ มาถามท่านว่า

"เสียงสาธุ สาธุนั้น สาธุอะไร สะเทือนสะท้านทุกวัน พวกเทพทั้งหลายได้ฟัง มีความสุขไปตามๆ กัน"

ท่านมาพิจารณาว่า เสียงอะไร ที่ไหน จึงระลึกได้ว่า เสียงสาธุการของชาวบ้านตอนถวายทานนั่นเอง

พอรับทราบแล้วพวกเทพก็กล่าวว่า "เขาก็สาธุการด้วย" แล้วทำประทักษิณเวียนขวาลากลับไป ส่วนมากพวกเทพเขาจะทำอย่างนั้น

ท่านพระอาจารย์มั่น เลยมาพิจารณาต่อได้ความว่า

พุทธมนต์นั้นใครสวดก็ตาม จะเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์เช้า เย็น หรือชาวพุทธทุกคน

สวดมนต์ระลึกในใจ  มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล

สวดออกเสียงพอฟังได้  มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนจักรวาล

สวดมนต์เช้าเย็นธรรมดา มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนโกฏิจักรวาล

สวดเต็มเสียงสุดกู่ มีอานุภาพแผ่ไปได้อนันตจักรวาล

แม้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในสามภพ และที่สุดอเวจีมหานรก ยังได้รับความสุข เมื่อแว่วเสียงพุทธมนต์ผ่านลงไปถึงชั่วขณะชั่วครู่หนึ่ง ดีกว่า หาความสุขไม่ได้เลยตลอดกาล

นี้คืออานิสงส์ของพระพุทธมนต์ ท่านพระอาจารย์มั่นว่าอย่างนี้


ครูและศิษย์สนทนาธรรม

เมื่อครั้งที่ท่านพระอาจารย์มั่นอาพาธหนัก แต่ลุกนั่งเดินไปมาในระยะใกล้ได้ และยังสนทนาธรรมตามปกติ เวลาบ่ายวันหนึ่ง มีพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ท่านวัน (พระอาจารย์วัน อุตตโม) และผู้เล่า (หลวงตาทองคำ) รวมทั้งท่านพระอาจารย์มั่น เป็น 4 รูป

พระอาจารย์เทสก์ เรียนถามท่านฯ (พระอาจารย์มั่น)ว่า

"เวลาครูบาอาจารย์อาพาธ พิจารณาธรรมอะไร สนทนาในฐานะศิษย์เคารพครูนะ อย่าเข้าใจว่าไล่ภูมิ"

ท่านฯ ตอบว่า "พิจารณาไปเท่าไร ก็เห็นแต่ภพ มีแต่ภพ ไม่มีที่สิ้นสุด"

พระอาจารย์เทสก์ย้อนถามว่า "เมื่อเห็นแต่ภพ ครูบาอาจารย์พิจารณาเพื่ออะไร"

ท่านฯ ตอบว่า

"เพื่อให้รู้ และเราก็รู้มานานแล้วไม่ได้สงสัย เหตุที่พิจารณา ก็เพื่อให้ท่าน (หมายถึงพระอาจารย์เทสก์) และคนอื่นๆ (หมายถึง สานุศิษย์และสัตว์โลกทั่วไป) รู้ว่า คน สัตว์ ที่อยู่ในภพ หรือผู้ปฏิบัติ จะมีทั้งสนุก ตื่นเต้น เศร้าสลดสังเวช และเห็นธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนจะรู้ว่าตนอยู่ในภพนั้นมีน้อยมาก เพราะอวิชชาปิดบังไว้ เมื่อไม่รู้ว่าตนอยู่ในภพ ก็ไม่รู้พระนิพพาน เมื่อเรารู้ว่าตนอยู่ในภพแล้ว จะอยู่ในภพทำไม ก็อยู่ในพระนิพพานเท่านั้นเอง"

พระอาจารย์เทสก์ก็บอกท่านฯ ว่า "กระผมก็พิจารณาอย่างพระอาจารย์ว่า"

ต่างก็ชื่นชมกันในระหว่างครูและศิษย์


พระแก้วมรกต

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งท่านพระอาจารย์มั่นพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ พระอุปัชฌาย์อุ่น (พระครูบริบาลสังฆกิจ (อุ่น อุตตโม) วัดอุดมรัตนาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร) ได้ไปกราบนมัสการฟังเทศน์ และได้นำรูปพระแก้วมรกตขนาด 20 นิ้ว เป็นภาพพิมพ์ใส่กรอบไปถวายท่านพระอาจารย์ แต่ดูท่านจะลืมทำความสะอาด เพราะมีฝุ่นจับอยู่ ท่านพระอาจารย์ก็น้อมรับด้วยความเคารพ

หลังจากท่านอุปัชฌาย์อุ่นลาลงกุฏิไปแล้ว ท่านพระอาจารย์ได้ทำความสะอาด โดยนำผ้าสรงน้ำของท่านฯ มาเช็ดถู ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ-ภิเนษกรมณ์) เอาผ้าเช็ดพื้นเข้าไปช่วยทำความสะอาดด้วย เพราะเห็นว่าผ้ายังสะอาดอยู่ ท่านหันมาเห็นเข้า พูดว่า

"อะไรกัน นั่นรูปพระพุทธเจ้าแท้ๆ ยังเอาผ้าเช็ดพื้นมาถูได้"

ผู้เล่าสะดุ้งไปทั้งตัว เพราะความโง่เขลาปัญญาอ่อน ท่านฯ ก็เลยทำความสะอาดเอง

เสร็จแล้วก็มีเพื่อนภิกษุทยอยกันขึ้นไป รวมทั้งท่านอาจารย์วิริยังค์ด้วย ท่านเลยเทศน์ถึงความมหัศจรรย์ของพระแก้วมรกต ท่านว่า

"พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลมีอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ฉิบหายด้วยภัยแห่งสงคราม"

การเสด็จไปสู่สถานที่ต่างๆ ของพระแก้วมรกตนั้นมีปัจจัย 3 อย่าง คือ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา เกิดกลียุคในประเทศนั้น และด้วยความรัก

และท่านยังบอกอีกว่า วัดพระแก้วนี้เป็นวัดพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระสงฆ์อยู่ไม่ได้ เพราะพระสงฆ์มาจากตระกูลต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด ไม่รู้พุทธอัธยาศัย พุทธธรรมเนียม เพราะพระพุทธเจ้าเป็นทั้งกษัตริย์ และผู้สุขุมาลชาติ เมื่อพระสงฆ์ไม่รู้พุทธธรรมเนียม ถ้าไปอยู่ก็มีแต่บาปกินหัว

ผู้รู้ทั้งพุทธอัธยาศัยและพุทธธรรมเนียมแล้ว มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวเท่านั้น ครั้งพุทธกาลก็มีพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นทรงรู้ แต่จอมไทย คือ พระมหากษัตริย์ทรงรู้มาแล้ว ได้ทรงสร้างวัดถวายจำเพาะพระแก้วเท่านั้น

พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร คือ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า ต่างแต่วาสนาบารมีมากน้อยต่างกันเท่านั้น ท่านจึงทรงรู้พุทธอัธยาศัยเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า

ผู้ใดย่างกรายเข้าสู่วัดพระแก้วเป็นบุญทุกขณะที่อยู่ในบริเวณวัด แม้แต่ชาวต่างชาติ มีโอกาสเข้าไปในบริเวณวัดพระแก้ว จะด้วยศรัทธาหรือไม่ก็ตาม ก็ได้เข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนาโดยปริยาย หรือจะบังเอิญก็แล้วแต่ สามารถเป็นนิสัยให้เข้ามาได้ ต่อไปจะสามารถมาเกิดเป็นคนไทย สืบต่อบุญบารมีสำเร็จมรรคผลได้


พบนาคราช

เมื่อครั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่บนเขากับพวกมูเซอ มีพระมหาทองสุกอยู่เป็นเพื่อน ใกล้ที่พักเป็นลำธาร มีน้ำไหลตลอดปี อาศัยน้ำที่นั้นใช้อุปโภคและบริโภค มีนาคราชตนหนึ่ง ชื่อว่า สุวรรณนาคราช อาศัยอยู่ที่ลำธารนั้น พร้อมด้วยบริวาร นาคราชตนนี้เคยเป็นน้องชายท่านพระอาจารย์มั่นมาหลายภพหลายชาติ ด้วยความสับสนแห่งภพจึงมาเกิดเป็นนาคราช เขารักเคารพและให้การอารักขาเป็นอย่างดี เวลาเดินจงกรมจะมาอารักขาตลอด จนกว่าจะเลิกเดิน

หลายวันต่อมา นาคนั้นหายไป เกิดฝนไม่ตกร้อนอบอ้าว ข้าวไร่เริ่มขาดน้ำไม่งอกงาม เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นประมาณ 15-16 วัน จึงได้เห็นหน้านาคนั้น

ท่านพระอาจารย์ถามว่า "หายไปไหน"

นาคราชตอบ "ไปขัดตาทัพอยู่ปากทาง (ลำธาร) ลงสู่แม่น้ำปิง"

ท่านพระอาจารย์ "ทำไม"

นาคราช "มีนาคอันธพาลตนหนึ่งอาศัยอยู่แถวนั้นจะเข้ามา เลยไม่มีโอกาสแต่งฝน มัวแต่ไปขัดตาทัพอยู่"

ท่านพระอาจารย์ "ให้เขาเข้ามาเป็นไร เพราะเป็นนาคเหมือนกัน"

นาคราช "ไม่ได้ เข้ามาแล้วมารังแกข่มเหงเบียดเบียนบริวาร"

ท่านพระอาจารย์ "เป็นไปได้หรือ"

นาคราช "ก็เหมือนมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไปนั่นแหละ พวกอันธพาลก็มักจะล้ำแดนของกันและกัน เราต้องต่อสู้ป้องกันตัว"

ท่านฯ จึงรู้ว่า อันนี้เป็นลักษณะของสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นตัวเหตุ โลกจึงวุ่นวาย

ช่วงเย็นฝนตกอย่างหนักจนถึงสว่าง น้ำในลำธารเต็มไปหมด ข้ามไปบิณฑบาตไม่ได้ พระมหาทองสุกคิดได้ จึงเอาไม้ไผ่มาปักเรียงกัน เอาเถาวัลย์ที่ชาวบ้านนำมาทำกุฏิมาผูกกับต้นไม้ฝั่งนี้ จับปลายข้างหนึ่ง ลอยตัวข้ามน้ำไปผูกไว้กับอีกต้นฝั่งโน้น แล้วกลับมานำบริขารของท่านพระอาจารย์และตนเองข้ามไปฝั่งโน้น แล้วกลับมาพาท่านพระอาจารย์ประคองไปตามราวไม้ไผ่ ข้ามฝั่งทั้งขาไปและขากลับ แปลกแต่จริง ขาไปผูกเถาวัลย์ ท่านมหาจับไปตามราว และขากลับลอยคอไป พอตอนนำท่านพระอาจารย์ไปและกลับ ปรากฏว่าเหมือนเดินเหยียบไปบนแผ่นหิน มีน้ำประมาณแค่เข่าเท่านั้น

ท่านมหาทองสุกเล่าว่า "เราไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแต่ความปลอดภัยเท่านั้น"

ตกตอนเย็น เมื่อเห็นนาคราชมาอารักขา ท่านอาจารย์ถามว่า "ทำไมให้ฝนตกมากนัก"

นาคราชว่า "ห้ามเขาไม่ฟัง เพราะละเลยมานาน"

ท่านอาจารย์ว่า "ทำให้เราลำบาก"

นาคราช "ท่านก็เดินบนหลังข้าพเจ้าไปสบายอยู่นี่"

ท่านฯ ก็บอกว่า "เราก็ไม่ว่าพวกท่านดอก บ่นไปเฉยๆ อย่างนั้นล่ะ"

 

การถ่ายรูปท่านพระอาจารย์มั่น

รูปท่านพระอาจารย์ที่เราเห็นนั้น จะเป็นรูปที่ท่านตั้งใจให้ถ่ายทั้งหมด ถ้าท่านไม่ให้ ก็ไม่มีใครถ่ายติด นี่เป็นเรื่องจริง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขุนศรีปทุมวงศ์ มาอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ เที่ยวไปฟังเทศน์ไปอุปการะด้วยปัจจัย 4 เมื่อท่านฯ อาพาธ ขุนศรีฯ ก็ส่งหมอไป หมอฉีดยาให้ท่าน 2 เข็ม และให้ยาไว้ฉันด้วย หมอของขุนศรีฯ พักอยู่ที่นั่นถึง 3 วัน อาการดีขึ้น

ท่านก็บอกว่า "พอแล้วนะ ไม่ต้องมาฉีดอีก อาการหายแล้ว"

พอขึ้นไปครั้งที่สอง หมอเอาช่างถ่ายภาพไปด้วย กราบนมัสการท่านว่า "พวกกระผมขออนุญาตถ่ายภาพท่านอาจารย์ไว้เป็นที่เคารพบูชา"

ท่านฯ ว่า "ไม่ได้ดอกโยมหมอ อาตมาไม่ให้ เพราะโยมหมอถ่ายภาพของอาตมาไป เพื่อจะทำการซื้อขาย หาอยู่หากิน กลัวโยมจะเป็นบาป อาตมาไม่ให้"

เขาก็กราบอ้อนวอน ท่านฯ บอกว่า "เราเป็นคน รู้จักภาษา ไม่ให้ ไม่ให้ เข้าใจไหมล่ะ"

เขาก็เลยเลิกไม่อ้อนวอนอีก

พอเช้ามา ท่านไปบิณฑบาต เขาก็ไปตั้งกล้องในที่ลับ กล้องขาหยั่งสามขา ถ่ายเสร็จก็เอาม้วนนี้ออกไป หลังจากท่านบิณฑบาต ท่านนั่งให้พร ถ่ายม้วนที่สองไปอีก มาม้วนที่สาม ม้วนที่สี่ จนสี่ม้วนแล้วก็ไปอีก นี่ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองเอาอีกสี่ท่า ครั้งที่สามเอาอีกสี่ท่า กลับไปล้างอยู่ที่พังโคน ไม่มีอะไรติดเลย

สิ่งที่จะปรากฏไปแล้วอุจาดตา ท่านเจ็บป่วย ท่านล้มหายตายจากก็ดี มารยาทของความล้มหายตายจากก็ถ่ายไม่ติด (ขณะที่หลวงปู่มั่นกำลังจะมรณภาพและหลังมรณภาพ มีภิกษุบางรูปใช้กล้องถ่ายภาพท่านไว้ แต่ไม่ติดเลยสักรูป -ภิเนษกรมณ์) ทำไมท่านจึงไม่ให้ติด เพราะว่าการเห็นรูปภาพเช่นนั้น จิตของบุคคลผู้ที่เห็นอาจจะเป็นกุศลหรืออกุศล และเพื่อรักษาจิตผู้พบเห็น ไม่ให้เป็นอกุศล ท่านจึงอธิษฐานไว้ไม่ให้ติด

อย่างรูปยืนที่เราเห็นนั้น คงจะเป็นรูปที่ท่านต้องการให้ถ่าย จึงห่มให้เป็นกิจลักษณะ คล้ายกำลังเดินจงกรม ปกติเวลาท่านเดินจงกรม ถ้าเป็นฤดูหนาว ก็จะคลุมผ้ากันหนาว ถ้าเป็นฤดูร้อน ท่านก็จะใส่แต่ผ้าอังสะ ทำแบบสบายๆ จังหวะในการเดินก็ปกติ ไม่เร็ว ไม่ช้า ให้เป็นปกติ ก้าวปกติก้าวขนาดไหน ก็ให้ก้าวขนาดนั้นพอประชิดทางจงกรม จะหมุนกลับจากซ้ายไปขวา ทิศที่จะเดินจงกรม มีอยู่ 2 ทิศ คือ ตะวันตกกับตะวันออก หรืออีสานกับหรดี (คือ ตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้-ภิเนษกรมณ์) นอกนั้นเดินขวางตะวัน ถ้าใครทำ ท่านฯ จะดุ ท่านว่า มันไม่ถูก เดินไปจนตาย จะให้จิตรวม มันก็ไม่รวมหรอก


พยากรณ์อายุ

เรื่องการต่ออายุจาก 60 ปี มาเป็น 80 ปี ท่าน (พระอาจารย์มั่น-ภิเนษกรมณ์) ได้เล่าไว้หลายสถานที่ หลายโอกาส หลายวาระ ปีนั้นท่านจำพรรษาที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ราบไม่ใช่ภูเขา กับพระมหาทองสุก สุจิตโต ปีนั้นพอเริ่มเข้าพรรษา ท่านมีอาการเจ็บป่วย พระผู้พยาบาลก็พระมหาทองสุกนั้นล่ะ ท่านมีความรู้ทางยาด้วย ท่านพระอาจารย์กำหนดรู้แล้วว่า ท่านถึงอายุขัย จะสิ้นชีพปีนี้แน่ แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าท่านมีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถอยู่ต่อไปได้อีก 20 ปี เป็น 80 ปี เท่าพระพุทธเจ้า  ท่านจึงมาพิจารณาดูว่า อยู่กับตายอย่างไหนมีค่ามาก รู้ว่าอยู่มีค่ามาก เพราะสานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตหวังเฉพาะให้ท่านอยู่ แต่คำว่าอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว เจริญขึ้นขั้นไหน อย่างไร ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแล้ว ทั้งโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม นำมาพิจารณา ก็ไม่ขัดข้อง ไม่สงสัย แต่ก็ยังไม่ได้ความ อาการป่วยจะดีขึ้นก็ไม่ใช่ จะหนักก็ไม่เชิง แต่เที่ยวบิณฑบาตได้ทุกวัน อาการที่สำคัญ คือ คอมองซ้ายมองขวายาก เดือนที่ 2 ผ่านไป อาการดีขึ้น และได้ความรู้เกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า

นาญฺญตฺตร โพชฺฌาตปสา นาญฺญตตร ปฏินิสฺสคฺคา นาญฺญตฺตร อินฺทริยสํวรา

แปลได้ความว่า อิทธิบาท 4 อันอบรมดีแล้ว ก็คือ การพิจารณาโพชฌงค์ 7 นี้เอง

ท่านฯ อธิบายว่า เจริญให้มาก ทำให้มาก ก็เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ พร้อมความดับสนิท (หมายถึงอวัยวะที่ชำรุดในร่างกาย แล้วเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ด้วยฌาน)

แล้วท่านยังอุปมาเปรียบเทียบว่า เมื่อพระมหาโมคคัลลาน์และพระมหากัสสปะได้ฟังพระดำรัสนี้ ก็หายจากอาพาธ แม้ในกาลบางคราวพระพุทธองค์ก็ยังให้พระสาวกสวดถวาย แต่คำว่า ผู้มีอิทธิบาท 4 อันเจริญดีแล้ว ขอเล่าเท่าที่จำได้ ท่านฯ ว่า

"เราพิจารณาปุพพภาคปฏิปทา ตั้งแต่จิตเรารวมเป็นสมาธิโดยลำดับ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แล้วเข้าอรูปฌานต่อเป็นอากาสาฯ ลฯ จนถึง เนวฺสญฺญานาสญฺญายตน หน่อยหนึ่งก็ไม่มีแล้ว ถอยจิตออกมาอยู่ในสญฺญาเวทยิตฺนิโรธ อุปมาเหมือนหนทาง 3 แพร่ง ท่านว่า จิตเราอยู่ในท่ามกลางทาง 3 แพร่ง แพร่งหนึ่งไปอรูปพรหมโลก แพร่งหนึ่งไปรูปพรหมโลก คือ จตุตถฌาน อีกแพร่งหนึ่งเข้าสู่พระนิพพาน จิตอยู่ขั้นนี้ และเราได้อธิษฐานว่า เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แล้วก็ถอยจิตออกจากทาง 3 แพร่งนั้น มาพักที่จตุตถฌาน จะพักนานเท่าไรก็แล้วแต่ พอมีกำลังแล้วจิตจะถอยออกสู่ ตติยฯ ทุติยฯ พอมาถึงปฐมฌาน ก็อธิษฐานรู้ว่า เราจะอยู่ไปอีกเท่านั้นปี เท่านี้ปี"

กว่าจะมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นเวลาเดือนสุดท้ายแห่งการจำพรรษาแล้ว

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่มีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นกัปป์หรือเกินกว่า เป็นความจริง

ท่านฯ ว่า ท้าวสักกะแก่กลายเป็นท้าวสักกะหนุ่มก็ด้วยอิทธิบาทนี้ แต่ท้าวสักกะยังมีกิเลส ไม่ได้ฌานด้วยตัวเอง แต่ด้วยพระพุทธานุภาพ ทรงนำกระแสพระทัยของท้าวสักกะ ให้ผ่านขั้นตอนจนเป็นอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว ที่ถ้ำอินทสาร ท้าวสักกะแก่จึงเป็นท้าวสักกะหนุ่มได้ ด้วยพระพุทธานุภาพดังนี้

 

อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์

 

เราทราบกันมาแล้วว่า ท่านพระอาจารย์มั่นทรงผ้า 3 ผืนเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แต่ 3 ปีสุดท้าย ท่านทรงผ้าคหปติจีวร โดยการนำมาทอดกฐินของ นายวัน นางทองสุก คมนามูล ชาวนครราชสีมา นำสนับสนุนโดยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ศิษย์องค์สำคัญรูปหนึ่งของท่าน แต่ท่านพระอาจารย์ได้รับเป็นผ้าป่าทั้งหมด

อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์ (อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร-ภิเนษกรมณ์) ที่ท่านทั้งหลายเห็นนั้น เป็นผ้าคหปติจีวรปีที่ 2 ที่ท่านทรง ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ-ภิเนษกรมณ์) ได้เก็บรักษาไว้ ส่วนผ้าคหปติจีวรปีสุดท้าย ห่มถวายไปพร้อมกับร่างของท่าน

ส่วนบาตรใบแท้ พระอาจารย์มหาทองสุก ขอถวายพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ส่วนใบที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เป็นบาตรกฐินปีสุดท้าย ซึ่งท่านพระอาจารย์ไม่ได้ใช้ เพราะท่านอาพาธหนักแล้ว (ข้อนี้ตรงกับความเห็นของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติหลวงปู่หล้า ซึ่งท่านได้กล่าวว่า บาตรในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่บาตรใบจริง ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยใช้-ภิเนษกรมณ์)

หลังจากเก็บรวบรวมอัฐบริขารเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่าเลยสั่งต่อตู้ เงินไม่พอ ได้คุณวิเศษ ช่วยจนสำเร็จเรียบร้อย แล้วก็นำมาตั้งไว้ใกล้หีบศพท่าน

ท่านพระอาจารย์ เป็นผู้เคร่งในเรื่องบริขาร มักน้อยจริงๆ บริขารแท้จริงให้ 2 คนถือขึ้นไปก็หมด ที่เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้น คือ อัฐบริขารที่สานุศิษย์และบุคคลผู้เลื่อมใสได้รับไปจากท่าน พอมีอาคารพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นได้นำมามอบให้ เพื่อให้ศาสนิกชนและอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา


ผีเฝ้าหวงกระดูก

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ..2490 ขณะที่ผู้เล่าอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ วันหนึ่งนายฟอง ชินบุตร โยมผู้นี้มาวัดประจำ เธอได้แบกไหกระเทียมชนิดปากบาน มีฝาครอบ ขนาดใหญ่เกือบเท่าขวดโหล ข้างในบรรจุกระดูกนำมาถวายท่านพระอาจารย์

โยมฟองเล่าว่า เจ้าของไหเขาให้นำมาถวาย เป็นไหใส่กระดูกคน ดูเหมือนจะเป็นกระดูกเด็ก แต่กระดูกนั้นนำไปฝังดินแล้ว ปากไหบิ่นเพราะถูกผานไถขูดเอา โยมฟองได้เล่าถึงเหตุที่ได้ไหนี้มาว่า

นายกู่ พิมพบุตร ผู้เป็นเจ้าของนา ตั้งใจจะไปไถนาตอนเช้าตรู่ ตื่นขึ้นมาเห็นยังมืดอยู่ จึงนอนต่อ พอเคลิ้มหลับไปก็ฝันเห็นว่า มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหา บอกว่า

"ให้ไปเอาไหกระดูก 2 ใบ ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นให้ด้วย"

นายกู่ถามว่า "ไหอยู่ที่ไหน"

ชายคนนั้นตอบว่า "ไถนาไปสัก 3 รอบก็จะเห็น"

ถามว่า "ชื่ออะไร"

ตอบว่า "ชื่อตาเชียงจวง มาเฝ้ากระดูกลูกอยู่ที่นี่ได้ 500 ปีแล้ว วันหนึ่งได้ยินเสียงท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์แว่วๆ มาในเวลากลางคืนว่า เป็นหมามานั่งเฝ้าหวงกระดูก แล้วก็กัดกัน ส่วนเนื้อล่ำๆ อร่อยๆ มนุษย์เอาไปกินหมดแล้ว มัวแต่มานั่งเฝ้าห่วงเฝ้าหวงกระดูกตนเอง กระดูกลูกเมีย ตายแล้วไปเป็นผีเปรต ต้องมานั่งเฝ้ากระดูกถึง 500 ปีแล้ว จึงได้สติระลึกได้ ทั้งๆ ที่อดๆ อยากๆ ผอมโซ ก็ยังพอใจเฝ้าหวง เฝ้าห่วงกระดูกลูกเมียอยู่ กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไป 500 ปีแล้ว"

นี่แหละ เพราะความรัก ความห่วงหาอาลัย เป็นเหตุพาให้ไปเกิดเป็นผีเป็นเปรต เฝ้าสิ่งที่รักและอาลัย จนลืมวันลืมเวลา


เทศน์ซ้ำเฒ่า

ลักษณะเสียงของท่าน(พระอาจารย์มั่น-ภิเนษกรมณ์) ขณะเทศน์อบรมพระเณรนั้น จะทุ้มก็ไม่ใช่ จะแหลมก็ไม่เชิง อยู่ในระหว่างกลางทุ้มกับแหลม เสียงดังฟังชัด เสียงกังวาน เสียงชัดเจน ไม่มีแหบ ไม่มีเครือ ชั่วโมงแรกนะไม่เท่าไร ธรรมดาๆ 1 ชั่วโมงผ่านไป เสียงจะดังขึ้น 2 ชั่วโมงผ่านไป เสียงจะดังขึ้นอีก ถ้าติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมงแล้วเหมือนกับติดไมค์ ปกติท่านจะเทศน์ 2 ชั่วโมง เทศน์กรณีพิเศษ เช่น เดือน 3 เพ็ญ เดือน 6 เพ็ญ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา อย่างน้อยก็ประมาณ 4 ชั่วโมงถึง 6 ชั่วโมง

พระอาจารย์เทสก์เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ เทศน์ที่วัดเจดีย์หลวง เทศน์ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึง 11 นาฬิกาวันใหม่ ลงจากธรรมาสน์ ท่านจึงจะมานั่งฉันจังหัน นั่นเป็นกี่ชั่วโมง ตื่นเช้าขึ้นมาท่านยังเทศน์อยู่ เสียงมันดัง ทีนี้พวกข้าราชการ แม่บ้านหิ้วตะกร้าไปตลาดตอนเช้า พอได้ยินเสียงท่านเทศน์ คิดว่าพระทะเลาะกัน พากันเข้าไป ก็เห็นท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ เลยอยู่ฟังเทศน์ ลืมว่าจะไปตลาด และต้องกลับไปทำกับข้าวให้ลูกผัวกิน ฝ่ายลูกผัวตามมาเห็นอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง กำลังฟังเทศน์อยู่ ก็เลยบอกว่าจะไปจ่ายตลาดเอง แล้วก็จะเลยไปทำงาน ผู้ที่จะไปขายของก็เหมือนกัน ผ่านมาพอได้ยินเสียง คิดว่าพระทะเลาะกัน ก็พากันเข้าไป ไม่ต้องขายของ วางตะกร้าแล้วก็ฟังเทศน์ต่อ จนกระทั่งท่านเทศน์จบจึงไป พระอาจารย์เทสก์พูดให้ฟังอย่างนี้

ท่านเทศน์นานที่สุด คือ เทศน์ปีสุดท้าย เป็นวันมาฆบูชา หลังจากเวียนเทียนเสร็จแล้ว ท่านก็เริ่มเทศน์ มีชาวบ้านหนองผือมานั่งฟังอยู่ข้างล่าง มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ลูกเล็กเด็กแดงอุ้มนอนอยู่ที่ตัก เด็กก็ไม่ร้อง ปรากฏว่ามีคนอุ้มเด็กกลับไปแค่ 3 คน นอกนั้นอยู่จนรุ่ง ถึงจะกลับบ้าน ท่านฯ เทศน์อยู่ ตั้งแต่ 1 ทุ่มจนถึงเช้า อันนี้เป็นความจำของผู้เล่า

ท่านพูดว่า เราจะเทศน์แล้วแหละ เทศน์ซ้ำเฒ่านะ ต่อจากนี้ไปจะไม่ได้เทศน์นานอย่างนี้อีกแล้ว รู้สึกว่าจะเป็นวันเพ็ญเดือน 3 พอตกเดือน 5 ท่านก็เริ่มป่วย มีอาการไอ และป่วยมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเดือนอ้าย เป็นเวลา 9 เดือน (ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพเดือนพฤศจิกายน..2492 -ภิเนษกรมณ์)

ปกติท่านจะเทศน์ตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนา ถ้าเพ็ญเดือน 6 จะปรารภถึงเรื่องประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ถ้าเพ็ญเดือน 3 จะปรารภเรื่อง การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่พระเวฬุวัน ตลอดคืนจนสว่าง

ทำไมจะมากมายก่ายกองขนาดนั้น ก็เพราะท่านไม่ได้เล่าเป็นวิชาการ ท่านเล่าให้ละเอียดไปกว่านั้นอีก เรื่องก็เลยยืดยาวไป

เวลาท่านเทศน์จะลืมตา หมากไม่เคี้ยว บุหรี่ไม่สูบ น้ำไม่ดื่ม ท่านจะเทศน์อย่างเดียว พระเณรก็ลุกหนีไม่ได้ ไม่มีใครลุกหนีเลย ไปปัสสาวะก็ไม่ไป จะไอจะจามก็ไม่มี จะบ้วนน้ำลายก็ไม่มี จะนิ่งเงียบจนเทศน์จบ


การต้อนรับแขกเทวา

เรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณกลางฤดูหนาวของปี พ..2490 ในคืนหนึ่ง เวลาประมาณ 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่ม เป็นเวลาที่ท่านพระอาจารย์กำลังให้โอวาทแก่สานุศิษย์ มีทั้งเก่าและใหม่ ขณะให้โอวาทอยู่ ท่านหยุดไปครู่หนึ่ง กลั้นใจอึดหนึ่ง ก้มหน้านิดๆ พอเงยหน้าขึ้นมาก็โบกมือ บอกว่า "เลิกกัน"

ปกติแบบนี้มีไม่บ่อยนัก ศิษย์ก็งง นั่งเฉยอยู่

ท่านย้ำอีก "บอกเลิกกัน ไม่รู้ภาษาหรือ"

ไม่มีใครคิดอะไร บอกเลิกก็เลิก ท่านฯ สั่งผู้เล่าเชิงบังคับให้รีบเก็บข้าวของเข้าห้อง เสร็จแล้วให้กลับกุฏิ มีภิกษุบางรูปเฉลียวใจไม่ยอมนอนพัก รอที่กุฏิของตนพอสมควรแล้ว ย้อนกลับมามองที่กุฏิของท่านพระอาจารย์ เห็นกุฏิของท่านสว่างไสวไปหมด คิดว่าไฟไหม้กุฏิ แต่ดูไปแล้วไม่ใช่แสงไฟ เป็นแสงใสนวลๆ คล้ายปุยสำลี แต่ใส ดูตั้งนานไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เลยกลับกุฏิ

รุ่งเช้าขึ้นมา ท่านลุกขึ้นกระทำสรีรกิจตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตกค่ำถึงเวลาให้โอวาท วันนั้นท่านฯ แสดงเรื่อง ทุกกะ คือ หมวด 2 ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ชื่อว่า โลกปาลธรรม ธรรมอันคุ้มครองโลก วันนั้นดูท่านอธิบายเรื่องนี้เต็มที่ถึง 2 ชั่วโมงเต็ม มีเหตุผลอุปมาอุปไมย โดยยกเอา ท่านพระมหากัสสปะเป็นอุทาหรณ์ ที่พระพุทธเจ้าประทานอุปสมทแก่พระมหากัปปะเป็นพิเศษที่ว่า ดูก่อน กัสสปะ เธอจงเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงกลัว (เคารพ) ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งเก่าและใหม่ เป็นตัวอย่าง ยกมาเป็นนิทัสสนะอุทาหรณ์ ตอนสุดท้าย ท่านแสดงอานิสงส์ว่า ผู้ตั้งอยู่ในหิริและโอตตัปปะ เป็นที่รักของมนุษย์ เทพ พรหม ทั้งหลาย และทำให้มีอายุยืนด้วย เหมือนท่านพระมหากัสสปะ พอได้เวลาท่านก็หยุดพัก

คืนนั้นผู้เข้าเวร มีผู้เล่า ท่านวัน (พระอาจารย์วัน อุตตโม) ท่านหล้า (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต) ท่านเลยเมตตาเล่าเพิ่มเติมให้แก่พวกเราฟังอีกว่า เมื่อคืนวานนี้พอเทศน์ให้หมู่ฟังไปหน่อยหนึ่ง มีเทพตนหนึ่ง ชื่อปัญจสิขะ มาบอกว่า

"วันนี้จะมีเทพจากชั้นดาวดึงส์มาฟังธรรมจากท่าน ขอนิมนต์ท่านเตรียมตัวรับแขกเทวา"

พอกำหนดได้ก็ไล่หมู่หนีทันที เพราะพวกนี้เขาจะมาตามกำหนด ถ้าเลยกำหนดเขาจะไม่รอ ท่านว่า

เทวาพวกนี้มีประมาณ 500,000 ตน เพิ่งจากมนุษย์โลก จากเมืองไทยไป เริ่มแต่ท่านพระอาจารย์มาพักที่บ้านหนองผือนี้

ผู้เล่าสงสัยว่า วัดป่าบ้านหนองผือก็แค่นี้ มีแต่ป่า เทวดา 500,000 ตน จะอยู่อย่างไร คนแค่ร้อยสองร้อยก็ไม่มีที่จะอยู่แล้ว

ท่านพูดว่า เทวดาพวกนี้กายเป็นทิพย์ ท่านยังพูดเป็นภาษาบาลีในธรรมบทว่า "อนฺตลิกฺเข" แปลด้วยว่า ในห้วงแห่งจักรวาล มีอากาศมีช่องว่างเป็นที่ซึ่งจะเห็นรูปทั้งหลาย ปรากฏว่ารูปแผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ไม่มีทั้งสิ้น มีเทวดาเท่าไรบรรจุได้หมด ไม่มีคำว่าเต็ม ท่านว่า

ท่านพระอาจารย์กำหนดถามว่า "พวกท่านต้องฟังธรรมอะไร และมีวัตถุประสงค์อะไร"

เขาตอบว่า "อยากฟังสุกฺกธมฺมสูตร มีวัตถุประสงค์ คือ เทพบางพวกทำบุญน้อย ได้ฟังสุกฺกธมฺมสูตร จะได้เสวยทิพยสมบัตินานๆ "

ท่านเฉลียวใจว่า อะไร คือ สุกฺกธมฺมสูตร"พระสูตรนี้มีน้อยองค์นักที่จะได้แสดงให้เทพฟัง เว้นพระสัพพัญญู และพระอัครสาวกเท่านั้น" พวกเทพว่า

ท่านกำหนดพิจารณาก็ได้ความปรากฏขึ้นว่า "หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา ฯ เปฯ สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร"

ท่านอุทานในใจว่า "อ๋อเทวธรรมนี้เอง คือ สุกฺกธมฺมสูตร ของเทวา"

พอเริ่มจะอธิบาย ก็ได้ยินเสียงแว่วมาว่า "เดี๋ยวก่อน ข้าพเจ้าจะเตือนพวกเทพพวกนี้ก่อน เพราะเขาไม่เคยมาฟัง ยังไม่รู้ธรรมเนียม"

ท่านกำหนดเห็นพระนางสุชาดานั่งเป็นประธาน ส่วนเสียงที่ปรากฏนั้น เป็นเสียงของท้าวสักกะที่ดูแลอยู่เบื้องหลัง พอได้เวลา ก็ได้ยินเสียงแว่วมาอีกว่า "พร้อมแล้ว"

ท่านฯ ก็เริ่มเทศน์อธิบาย ด้วยการกำหนดจิตพิจารณาเนื้อหาสาระแห่งธรรมเพียงพอแล้ว หากเทพเข้าใจเขาจะให้เสียงสาธุการ ถ้าไม่เข้าใจที่เราอธิบาย เขาจะไม่ยอม ต้องว่ากันใหม่ สอนเทพสบาย ไม่ยากเหมือนสอนมนุษย์ มนุษย์ต้องใช้เสียงโวๆ เวๆ ลั่นไปหมด พูดมากก็เหนื่อย และสอนบ่อยปานนั้น ยังเข้าใจยาก สอนเทพสบายกว่า ท่านว่าอย่างนั้น


กาลกฐิน

ประมาณปี พ.ศ.2490 ยังอยู่ในพรรษา กำนันตำบลนาใน ได้นำจดหมายของนายอำเภอพรรณานิคมไปถวายท่านที่กุฏิ ผู้เล่าก็อยู่นั่น กราบเสร็จ กำนันก็นำจดหมายน้อมถวาย

ท่านยังไม่รับ ถามก่อนว่า "นั่นอะไร"

กำนันกราบเรียนว่า "ใบจองกฐินของนายอำเภอพรรณานิคม ครับกระผม"

ท่านโบกมือไม่รับและกล่าวว่า"อย่านำมาติดใส่วัดอาตมานะ กำนันอย่าขืนทำนะ กลับไปบอกนายอำเภอด้วยว่า นายอำเภอเอาอำนาจที่ไหน จากใคร มาห้ามไม่ให้คนมาทำบุญที่นี้ อาตมาไม่รับ ใครอยากทำบุญก็มา ไม่มีใครห้าม จะมาจองไม่ให้คนมาทำบุญไม่ได้ ไปบอกนายอำเภอด้วย"

กำนันนำความกลับไปชี้แจงให้นายอำเภอฟัง นายอำเภอยอมรับผิด ให้กราบเรียนพระอาจารย์ด้วยว่า ท่านไม่มีเจตนาล่วงเกิน เพียงแต่เห็นคนทั้งหลายเขาทำกันอย่างนี้ ก็ทำบ้าง

กำนันมากราบเรียนท่านว่า "นายอำเภอจะมาทำบุญดังที่ตั้งใจไว้ ใครจะมาอีกก็ไม่ห้าม ครับกระผม"

ท่านก็ยิ้มกล่าวว่า"นายอำเภอคนนี้ พูดจาเข้าใจง่าย ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต"

สมจริงภายหลังปรากฏว่า ท่านได้เป็นถึงอธิบดีกรมการปกครอง

ปวารณาออกพรรษาแล้ว กฐินกองต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้ามา ที่จำได้ บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม กองที่1 กองที่ 2 ลืม กองที่ 3 เป็นบ้านม่วงไข่ ผ้าขาวนำมา (จากอำเภอพังโคน สกลนคร -ภิเนษกรมณ์) กองที่4 เป็นของนายอำเภอ ต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไปถวายกฐินท่านพระอาจารย์มั่น

มีผู้มาถวายกฐินตลอดจนถึงเดือน 12 เพ็ญ ล้วนแต่กองกฐินทั้งนั้น บรรดาพระสงฆ์สามเณร และผ้าขาว ทำการเย็บตัดย้อมจีวร ผลัดเปลี่ยนเพียงพอกันทุกรูป จนพรรษาสุดท้ายก็เป็นอย่างนี้ตลอดมา

(พระอาจารย์มั่นไม่รับเป็นผ้ากฐิน แต่รับเป็นผ้าป่าบังสุกุลทั้งหมด และทำอย่างนี้ทุกปีจนท่านมรณภาพ ท่านไม่เคยรับกฐินและกรานกฐินเลย -ภิเนษกรมณ์)

ปีนั้นมีกองกฐินพิเศษอยู่หนึ่งกอง อันเป็นกองที่ 5 เจ้าของกฐิน ชื่อ เถ้าแก่ไฮ มีเชื้อชาติจีน ค้าขายอยู่บ้านคางฮุง ตำบลพอกน้อย อำเภอพรรณานิคม ทุกคนรู้จักดี โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน เธอนำขบวนเกวียนบรรทุกเครื่องบริขารมาพักอยู่นอกบ้าน ตื่นเช้าพาคณะมาถวายบิณฑบาตเสร็จแล้ว จึงขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์รับกฐิน

ท่านฯ เตรียมตัวลงศาลาพร้อมพระสงฆ์ แต่ลงไม่หมดทุกองค์ เพราะบางองค์ไม่รู้ ท่านก็ไม่ว่า พิธีกรนำรับศีล ถวายทานเสร็จ

พิธีกรถามเถ้าแก่ว่า "จะฟังเทศน์ไหม"

เถ้าแก่ตอบ "ฟังทำไมเทศน์ ให้ทานแล้วได้บุญแล้ว เสร็จแล้วก็จะลากลับ"

พระอาจารย์ยิ้มแล้วกล่าวว่า "ถูกต้องแล้วๆ โยมได้บุญมาตั้งแต่คิดจะทำแล้ว เพราะประกอบด้วยปัญญา"

เถ้าแก่ไฮ ยังพูดอีกว่า"ถ้าขอฟังเทศน์ท่าน เราไม่ให้ทานจริง เพราะขอสิ่งตอบแทน ได้บุญไม่เต็ม"

ท่านอาจารย์ย้ำอีกว่า "ถูกต้องๆ เถ้าแก่พูดถูกต้อง" แค่นั้น

เถ้าแก่ไฮก็กราบลา และลาชาวบ้านทุกคนเดินทางกลับ

ตั้งแต่วันนั้นมา ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่กุฏิหรือเที่ยวบิณฑบาต มักจะปรารภเรื่องเถ้าแก่ไฮเสมอ ว่าเขาทำถูก หลายปีผ่านไป หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ท่านมักจะปรารภเรื่องเถ้าแก่ไฮนี้เป็นตัวอย่าง


อานุภาพแห่งฌาน

วันหนึ่งฝนตกฟ้าผ่าต้นพลวงใหญ่ (ไม้กุง) ย่ำลงมาตั้งแต่ยอดตลอดรากแก้ว ราบเรียบไปเลย ต้นพลวงใหญ่นั้นอยู่ใกล้ๆ ศาลา แต่ฝนซาบ้างแล้ว ขณะนั้นสามเณรจันดัยกำลังถือกาน้ำร้อนจะไปกุฏิท่านพระอาจารย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร ไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้สึกว่าฟ้าผ่า ผู้เล่าเตรียมลงจากกุฏิไปเห็นเข้า จึงรู้ว่าฟ้าผ่า พระเณรในวัดประมาณ 10 รูป ไม่มีใครได้ยินเสียง ส่วนท่านพระอาจารย์กำลังทำสมาธิ ท่านก็บอกว่าไม่ได้ยินเสียง

เมื่อพระทยอยกันขึ้นไป ท่านฯ ได้ถามก่อนว่า "เห็นฟ้าผ่าไม้กุงไหม"

พระที่อยู่ทางอื่นก็ไม่เห็น ส่วนผู้เล่า พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และพระอาจารย์หลอด ปโมทิโต ได้เห็น

ท่านบอกว่า "ผ่าขณะสามเณรจันดัยเดินมาถึงพอดี"

แต่สามเณรบอกว่า ได้เห็นแต่ไม่ได้ยิน

ผู้เล่าคิดว่าด้วยอานุภาพแห่งฌานของท่าน เพราะช่วงนั้นท่านกำลังเข้าฌานอยู่ พวกเราจึงไม่ได้ยินแต่ชาวบ้านอยู่ในทุ่งนาห่างไกลออกไป กลับต้องหมอบราบติดดิน เพราะกลัวเสียงซึ่งดังมาก เขาเล่ากันว่า ราวกับผ่าอยู่ใกล้ๆ ทีเดียว

(หมายเหตุ-เรื่องนี้เมื่อเทียบเคียงจากประวัติในส่วนอื่นๆ ตลอดจนบุคคลผู้ร่วมเหตุการณ์ เข้าใจว่าน่าจะเกิดที่วัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ.สกลนคร ประมาณ พ..2487 -ภิเนษกรมณ์)


หนังสือในสำนักท่านพระอาจารย์มั่น

 

ท่านพระอาจารย์คงจะมีเหตุผลกลใดสักอย่าง จึงยอมรับนับถือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นกรณีพิเศษ แบบแผนขนบธรรมเนียม บทสวดพระปริตรและปาฐะต่างๆ รวมทั้งพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ของทั้งสองพระองค์นี้ ท่านจำได้หมด ทั้งบาลีทั้งแปล อธิบายสลับกับพระธรรมเทศนา ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง จะเป็นโมกขุปายคาถา และจตุรารักขกัมมัฏฐานก็ดี นับเป็นธรรมเทศนาประจำทีเดียว รวมทั้งขนบธรรมเนียมต่างๆ ท่านฯ มักอ้างเสมอว่า "แบบพระจอมฯ แบบพระจอมฯ " ทำนองนี้แล

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีกฎบังคับว่า ผู้จะอยู่ศึกษากับท่านพระอาจารย์ทั้งสอง (หมายถึงพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น-ภิเนษกรมณ์) ต้องท่องนวโกวาท 7 ตำนาน 12 ตำนาน และปาฏิโมกข์ให้ได้ อย่างช้าให้เวลา 3 ปี ถ้าไม่ได้ ไม่ให้อยู่ร่วมสำนัก ส่วนหนังสืออ่านประกอบนั้น วินัยมุข เล่ม1, 2, 3 และพุทธประวัติ เล่ม 1, 2, 3 นอกจากนี้ห้ามอ่าน ถึงขนาดนั้น ท่านว่าหากได้อย่างว่า จะอยู่ในศาสนาก็พอจะรักษาตัวได้ ถึงจะไม่ได้ศึกษามาก ก็รักษาตนคุ้มแล้ว

ตัวอย่างเช่น พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นพระมหานิกาย มาขอศึกษาข้อปฏิบัติและขอญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุต ท่านว่าให้ท่องปาฏิโมกข์ให้ได้ จึงจะญัตติให้ ท่านอาจารย์กงมาอ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่ได้เข้าโรงเรียน จึงเรียนปาฏิโมกข์ปากต่อปาก คำต่อคำ และหัดอ่านพร้อมกันไปด้วย ใช้เวลาถึง 3 ปีจึงสวดได้ และอ่านหนังสือออก จึงได้มาญัตติที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี โดยท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)เป็นพระอุปัชฌาย์

รูปที่สอง คือ พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม ท่านท่องปาฏิโมกข์ 8 ปี จึงสวดได้ และอีกรูปหนึ่งคือ พระอาจารย์คำพอง ติสโส ก็อ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่ได้เข้าเรียน แต่ธรรมเทศนาของท่านไพเราะขนาดไหน ผู้เล่าเคยอยู่ด้วยกันกับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านทั้ง 3รูปนี้เป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งผู้เล่าขอถวายนามว่า "วีรบุรุษ" เหมือนครั้งพุทธกาล พระจักขุบาลเป็นวีรบุรุษในยุคนั้น

แม้ในเรื่องมังสะ 10 อย่าง ท่านพระอาจารย์กล่าวว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงห้าม

ท่านอธิบายให้ฟังว่า เนื้อมนุษย์ไม่เป็นค่านิยม ผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงติเตียน เพราะความเป็นมนุษย์มีค่ามาก เกิดกินกันขึ้น มหันตภัยก็เกิดขึ้นแก่โลกไม่สิ้นสุด  สัตว์นอกจากนี้เป็นอันตราย  สมัยก่อนมีมาก พระออกธุดงค์บริโภคเนื้อสัตว์อันตรายเหล่านี้ กลิ่นของสัตว์จะออกจากร่างกายผู้บริโภค เช่น ฉันเนื้องู กลิ่นงูก็ออก งูได้กลิ่นก็เลื้อยมาหา นึกว่าพวกเดียวกัน พอมาถึงไม่ใช่พวกเดียวกัน ก็ฉกกัดเอา เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ตั้งใจมาเจริญสมณธรรม เลยไม่ได้อะไรเพราะตายเสียก่อน พระพุทธเจ้าจึงทรงห้าม


ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ

 

เท่าที่ผู้เล่าได้ฟังมา เกี่ยวกับการเกิดในชาติก่อนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ชาติหนึ่งนั้น ท่านพระอาจารย์เกิดในมณฑลยูนนาน ในตระกูลขายผ้าขาว มีน้องสาวคนหนึ่ง เคยสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน มาชาตินี้ คือ นางนุ่ม ชุวานนท์ คหบดีชาวสกลนคร ผู้สร้างวัดป่าสุทธาวาสให้ และท่านก็ได้สงเคราะห์ด้วยธรรมเป็นที่พอใจ

ชาติหนึ่งเกิดที่โยนกประเทศ ปัจจุบัน คือ เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ในตระกูลช่างทำเสื่อลำแพน (เสื่อลำแพน คือ เสื่อปูพื้นทำด้วยหวาย) ท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นนายช่างใหญ่ องค์ท่านเป็นผู้จัดการ ส่วนพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นคนเดินตลาด

ชาติหนึ่งเกิดที่แคว้นกุรุรัฐ ชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพี่ชาย คือ พระปทุมราชา ผู้ครองแคว้นกุรุ ท่าน (พระอาจารย์มั่น) เป็นเสนาบดี พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี เป็นหลานหัวดื้อ ใครบอกไม่เชื่อ นอกจากท่าน พระบิดาจึงมอบให้ท่านฯ ดูแล ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์ และได้ตั้งความปรารถนาขอเป็นพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์

ชาติหนึ่งเกิดที่ลังกาทวีป (ประเทศศรีลังกา) และบวชเป็นพระ ได้เข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 ซึ่งมีพระเป็นหมื่น พักเสนาสนะร่วมกัน สององค์บ้าง สามองค์บ้าง ท่านว่าได้อยู่เสนาสนะเดียวกับท่านวิริยังค์ (พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร) เป็นเพื่อนกันมาจนบัดนี้ ท่านฯ ว่า


จากอีสานสู่ภาคเหนือ

เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ ท่านพระอาจารย์เล่าเองบ้าง พระอาจารย์เนียม โชติโก เล่าบ้าง

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า พอไปถึงวันแรกก็เจอเข้าแล้ว พักที่ริมป่า การต้อนรับ การจัดสถานที่จากชาวบ้านอย่าหวัง มีแต่พื้นดินและร่มไม้เท่านั้น เป็นสถานที่พัก เวลาเช้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านนั่งจับกลุ่มผิงไฟกัน

พอเห็นท่าน ก็ถามว่า "ตุ๊เจ้ามาเอาหยัง" ดีแต่เขาพูดภาษาคำเมืองได้

ท่านตอบว่า "ตูมากุมข้าว"

เขาเอาข้าวสารมาจะใส่บาตรให้ ท่านบอก "ตูเอาข้าวสุก"

จึงเอาข้าวสุกมาใส่บาตรให้ เขาถาม "กินกับหยัง"

"สูกินหยัง ตูก็กินนั้น"

เขาถาม "หมูสับสูกินก๊า"

ตอบ "กิน"

เขาเอาเนื้อหมูดิบมาให้ ท่านบอก "ตูบ่มีไฟปิ้ง เอาสุก"

เขาก็เอาเนื้อสุกมา

เขาถาม "พริกเกลือ สูกินก๊า" เขาก็เอามาใส่บาตรให้

ตอนขากลับ ชาวบ้านตามมาหลายคน เขามาเห็นที่พัก เขาถาม "ตุ๊เจ้านอนบ้านบ่ได้ก๊า"

ตอบ"นอนได้"

"ตูจะเยียะบ้านให้ เอาก๊า"

"เอา"

"ตุ๊เจ้าเยียะบ่ได้ก๊า"

"เยียะบ่ได้ เขาบอก

"ตูเยียะบ่ถือ บอกเน้อ" (ท่านพระอาจารย์ว่า คำนี้เป็นคำปวารณา เราก็ใช้เขาได้ตามพระวินัย)

เขามาจัดที่พักจนเสร็จ และมาบอกรับใช้ปวารณาทุกวัน

ท่านถือโอกาสแนะนำสั่งสอนเขา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจครอบครัว เพราะเขาจนมาก เขาทำไร่เลื่อนลอย ปลูกพืชผลทุกชนิด แต่ไม่พอกิน ต้องเอาของป่าลงมาแลกข้างล่าง ลำเลียงขึ้นไปกินกัน ท่านบอก ไม่ให้บุกเบิกถางป่าต่อ ให้ทำซ้ำที่เดิมที่เคยทำมาแล้ว 1-2 ปี เขาบอกว่า"บ่งามก๊า" ท่านรับรองว่างาม เขาก็เชื่อ

เพื่อนสหธรรมิกมีพระมหาทองสุก สุจิตโต พระอาจารย์มนู พระอาจารย์เนียม โชติโก และน้องชาย (พระอาจารย์เนียม)ชื่อโยมแพง

การทำไร่แบบชาวเขานี้ พระอาจารย์เนียมท่านเชี่ยวชาญมาก เพราะท่านเคยทำสมัยยังไม่บวช ท่านจะชี้แนะเริ่มตั้งแต่ การขุด การพรวนดิน การปลูก การหว่านข้าวไร่ และพืชอื่นๆ มีข้าวโพด ฟักทอง ฟักแฟงแตงเต้าทุกชนิด หลังปลูกมีการดายหญ้า พรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ตามสูตรของท่าน ปีนั้นพืชผลงอกงามดีมาก

ลืมบอกไปว่า ชาวเขาชอบเลี้ยงหมูไว้รับประทานเนื้อทุกครัวเรือน ฆ่ากินแจกเพื่อนบ้าน แลกข้าวบ้าง ข้าวโพดเป็นอาหารหมูของเขา

ริมทางขณะไปบิณฑบาต ข้าวโพดฝักใหญ่กำลังผลิดอกออกผล ท่านอาจารย์เนียม นักเกษตรจำเป็นพบเห็นทุกวัน แต่ไม่เห็นเขาปิ้งเผาใส่บาตรสักที

ท่านก็เลยบอกเขาว่า "สูเอาข้าวโพดปิ้งใส่บาตรให้ตูกินบ้างก๊า"

เขาตอบ "ข้าวโพดของหมูกินก๊า"

ท่านว่า "ตุ๊เจ้าก็กินได้ก๊า"

เขาว่า "ตุ๊เจ้าอยากกินอาหารหมู" ตั้งแต่วันนั้นเขาปิ้งใส่บาตรทุกวัน

ตามริมทางยอดฟักทองงอกงามน่ารับประทาน แต่เขาไม่กินกัน ท่านอาจารย์เนียมนักเกษตรจำเป็นก็บอกอีกว่า "สูแกงหมูก็เอายอดฟักทองใส่ลงไปด้วย"

เขาบอก "หมูก็ลำ (อร่อย) พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ยอดฟักทองอีก"

ท่านอาจารย์เนียมพอเจอคำว่า หมูก็อร่อยพอแล้วจะใส่ยอดฟักทองอีกทำไม ท่านก็อ้ำอึ้ง ครุ่นคิดอยู่ในใจ ไม่รู้จะพูดให้เขาเข้าใจอย่างไร

เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่นถือเป็นเรื่องขบขันมาก ทุกครั้งที่เล่าเรื่องนี้ ท่านจะหัวเราะชนิดหัวเราะใหญ่อย่างขบขัน แม้ผู้เล่าและผู้ฟังก็อดหัวเราะไม่ได้

คำตอบมีอยู่ว่า ที่ให้เอายอดฟักทองใส่แกงหมูนั้น ยอดฟักทองงามน่ากินและมีมาก ใส่ยอดฟักทองเพื่อประหยัดเนื้อหมู และทำให้มีรสชาดยิ่งขึ้นไปอีก เพิ่มคุณค่าทางอาหารอีกด้วย นี่คือคำตอบ

ปีนั้นและปีต่อๆ มา พืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวเขาอุดมสมบูรณ์ ทำบุญใส่บาตรรับพร เสียงสาธุการลั่นไปหมด กล่าวขวัญกันว่า ได้อยู่ได้กินเพราะบุญตุ๊เจ้าแต๊แต๊

(พระอาจารย์เนียม โชติโก ภายหลังมามรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านพระอาจารย์มั่นพาเผาศพกลางวัดในวันที่มรณภาพนั้น และได้เปิดเผยแก่พระเณรว่า พระอาจารย์เนียมไม่น่าเป็นห่วง เพราะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และไปอุบัติในพรหมโลกชั้นอาภัสรา เรื่องนี้มีบันทึกชัดเจนอยู่ในหนังสือประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต - ภิเนษกรมณ์)


โยมแพงแห่งบ้านนามน

แม่นุ่ม ชุวานนท์ พร้อมน้องสาวสองคน (คือ แม่นิล และแม่ลูกอินทน์ - ภิเนษกรมณ์)ได้สร้างวัดป่าสุทธาวาสถวายจำเพาะท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่น

เมื่อท่านฯ มาพักอยู่อุดรธานี และปรารภจะไปอยู่สกลนคร แม่นุ่มก็จัดสร้างกุฏิ มีระเบียงรอบห้องนอน ต่อออกมาเป็นห้องรับแขก มีประตูและฝากั้น ท่านฯ มาพักเพียง 15 วัน ก็อำลาญาติโยม เดินทางสู่บ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เป็นหมู่บ้านที่ท่านพระอาจารย์เสาร์เคยอยู่จำพรรษา

บุคคลที่ควรกล่าวถึง คือโยมแพง(น้องชายของพระอาจารย์เนียม โชติโก- ภิเนษกรมณ์) พร้อมภรรยาและบุตรสาว บุตรชาย ซึ่งได้ให้การบำรุงด้วยศรัทธาเลื่อมใส คนๆ นี้ขยันช่วยตนเอง บุตรอยู่ในโอวาท ได้สร้างกุฏิและศาลาถวายท่านพระอาจารย์ เธอและบุตรจะจัดอาหารสำหรับท่านพระอาจารย์ต่างหาก จะมีพริกกับเกลือ ข่าบด ขิงบด ตะไคร้บด และผักป่า ผักบ้านของเธอจะมีทุกฤดู สมกับเธอขยันจริงๆ เนื้อสับ ไข่ต้ม ปลาต้ม ปลาสับ สิ่งเหล่านี้จะห่อใส่บาตรทุกวัน แต่ข้าวเจ้าหุง เธอจะใส่หม้อ ให้ลูกหิ้วมาถวายต่างหาก โภชนะต่างๆ เธอทำเป็นสัดส่วน ก่อนท่านพระอาจารย์จะฉัน ท่านจะนำมาผสมกัน มีโภชนะต่างๆ แกงบ้าง น้ำพริกบ้าง มีเกือบครบก็แล้วกัน ท่านตักใส่บาตร เหลือเท่าไรก็แจกพระต่อ จะถึงไหนก็แล้วแต่ เพราะส่วนของพระมีต่างหาก

เธอคิดทำเองหรือท่านพระอาจารย์สั่ง ผู้เล่าไม่ได้ถาม สังเกตดูท่านจะยอมรับการกระทำแบบนี้ ท่านจัดการเอง มีพระปฏิบัติช่วยบ้าง แต่การผสมส่วน ท่านทำเอง ผู้อื่นทำท่านว่าไม่ได้ส่วนกัน ส่วนเครื่องหวานที่มีไม่ขาด คือ กล้วยสุก และมะพร้าวขูดไม่คั้นกะทิ ตอนเย็นก็มีน้ำอ้อยสด ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งที่อื่นไม่มี มีที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น มีไม่เคยขาด คือ ปลาแดกสามปี (ปลาหมักกับเกลือเก็บไว้ 3 ปี) เป็นปลาดุกขนาดเล็กบ้าง กลางบ้าง เป็นตัว ปิ้งไม่เละ เป็นตัวแต่เหนียว จะใส่บาตรวันละ 2 ตัวจำเพาะท่านพระอาจารย์ ผู้เล่าเคยได้แบ่งหลายหน อร่อยอย่าบอกใคร

โยมแพงเธอมีความเคารพในท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่นมาก แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับพระอื่นๆ บางวันแกก็มากราบนมัสการ นั่งพอสมควรแล้วก็กราบลาไป ไม่เคยถามปัญหาใดๆ เลย ที่เธอไม่ลืมคือคำปวารณาว่า"กระผมขอปวารณาต่อท่านอาจารย์ด้วยปัจจัยสี่ ถ้าขัดข้องอย่างไรให้บอกกระผม" เป็นประจำ ท่านพระอาจารย์ก็สนทนาธรรมด้วย แต่ไม่มาก เพราะเธอไม่ชอบนั่งกับท่านพระอาจารย์นานๆ เกรงท่านจะลำบาก

ครั้งหนึ่งผู้เล่าจำได้ ท่านฯ ถามว่า "โยมแพง ภาวนาเป็นอย่างไร"

โยมแพงตอบ "ภาวนานั่นเป็นภาวนาอยู่แล้ว ทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าเรามีสติ"

ท่านพระอาจารย์ว่า "ถูกต้อง นั่นละคือคนภาวนาเป็น"

แค่นั้นเธอก็กราบลากลับ


ความสัมพันธ์วัดสระปทุมและวัดป่าสุทธาวาส

วัดป่าสุทธาวาส เป็นวัดที่ 3 พี่น้อง คือ แม่นุ่ม แม่นิล และแม่ลูกอินทน์ สร้างถวายท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสงบลง ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่โคกศรีสุพรรณ แม่นุ่มไปขอพระไปเป็นเจ้าอาวาส

ระหว่างท่านพระอาจารย์กับแม่นุ่มนั้น พูดกันไม่ถือสาหาความ พูดเหมือนพี่กับน้องพูดกัน "นุ่มนี้วุ่นแต่วัดภายนอก ส่วนวัดภายในใจนั่นนะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนตะกร้า ไม่มีหมากพลู" ท่านว่าทำนองนี้ แต่แม่นุ่มเขาไม่โกรธไม่ถือ

ครั้นท่านพระอาจารย์มาพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลังสงครามโลกสงบแล้ว แม่นุ่มมาขออีก

ท่านว่า "อยากได้ใคร"

ตอบ "อยากได้ท่านฝั้น (พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร) เพราะเป็นคนถิ่นนี้"

ท่านพระอาจารย์ว่า"วัดนี้เป็นสาขาวัดสระปทุม"

พระอาจารย์ฝั้นเป็นคนสกลนคร พระมหาทองสุก สุจิตโต เป็นคนสระบุรี ทำไมท่านพระอาจารย์จึงทำอย่างนั้น ท่านคงมีเหตุผลของท่าน พระมหาทองสุกขอร้องไม่อยากรับ ท่านพระอาจารย์ก็ขอร้อง และเห็นใจพระมหาทองสุก เพราะพระมหาทองสุก ท่านตั้งปณิธานอย่างหนึ่ง แต่ได้ทำสิ่งที่ไม่ได้ปณิธานไว้ แต่ด้วยความเคารพ ท่านก็น้อมรับ (ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส -ภิเนษกรมณ์) ผลงานที่ออกมา ชาวสกลนครยอมรับทุกถ้วนหน้า


ท่านพระอาจารย์ช่วยไม่ให้ตาย

ขณะที่ผู้เล่ามีอายุได้ 18 ปี เป็นสามเณรพำนักอยู่วัดป่าสุทธาวาส ได้มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติท่านพระอาจารย์บ้างบางโอกาส (หมายถึง เป็นช่วงที่พระอาจารย์มั่นมาพำนักที่วัดป่าสุทธาวาส 15 วัน ก่อนจะเดินทางต่อไปอยู่ที่บ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ขณะนั้นคงเป็น พ..2485 - ภิเนษกรมณ์) พระผู้ปฏิบัติใกล้ชิดขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดก็มีพระคำดี (น้องชายพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร) และพระผู้ช่วยอีก 3 รูป

ขณะนั้นพระมหาจันทร์ศรี จันททีโป (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอุดมญาณโมลี วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี) เป็นครูสอนอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส ท่านถือโอกาสเข้าไปปฏิบัติใกล้ชิดทุกวัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ดูเมตตาเป็นพิเศษ ท่านปล่อยให้พระมหาจันทร์ศรีทำข้อวัตรเต็มที่ ท่านมหาฯ ก็เอาใจใส่ มักถามนั้นถามนี้ และให้ท่านอธิบายธรรมให้ด้วย

พระมหาจันทร์ศรีพบหน้าผู้เล่าเมื่อไหร่ มักพูดว่า "ทองคำ เราไม่ตาย อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะท่านพระอาจารย์มั่นแท้ๆ " (ตายหมายถึงสึก)


การแต่งตั้งท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร

ท่านพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นศิษย์วัดไหน และสาเหตุที่พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ได้รับอาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม?

เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตาเล่าไว้หลายครั้งหลายคราวและหลายปี ว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมและอบรมกัมมัฏฐานระยะที่ 2 ของพระอาจารย์ทั้ง 3 รูปนั้น ท่านได้มาศึกษาที่กรุงเทพมหานคร โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส เป็นพระอาจารย์ แต่ทำไมท่านพระอาจารย์ทั้ง 3 รูป ไม่พักที่วัดบรมนิวาส แต่มาพักที่วัดปทุมวนาราม หรือวัดสระปทุม ปทุมวัน ทั้งนี้เพราะทั้ง 3 รูปมีความผูกพันกับวัดปทุมวนาราม

วัดปทุมวนารามนี้เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเป็นต้นวงศ์คณะธรรมยุต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ..2400 พร้อมทั้งได้ทรงอาราธนาเจ้าอธิการก่ำ จากวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระองค์สมัยที่ทรงผนวช มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนาที่ พระครูปทุมธรรมธาดา มีพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารจำนวนหนึ่ง เป็นพระอนุจรมาจำพรรษาด้วย

พระอารามแห่งนี้อยู่ภายนอกพระนคร สถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจ้าอาวาสรูปแรกและรูปต่อๆ มา มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร มีเฉพาะท่านเจ้าอาวาสรูปที่ 6 คือ พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เท่านั้นที่เป็นชาวกรุงเทพมหานคร

ก่อนอุปสมบท พระธรรมปาโมกข์ท่านเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านเป็นนักเรียนของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบรุ่นแรก ท่านออกบวชในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระเดชพระคุณมีชื่อคล้ายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และท่านได้ติดตามพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ที่ภาคเหนือ และประเทศพม่า

ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส ได้ออกไปเรียนวิปัสสนาอยู่กับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม และได้เข้ามาจำพรรษาที่วัดปทุมวนารามใน พ..2439

ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม รูปที่ 3 เมื่อก่อนพระคุณท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมวิโรจน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทรงพบท่านเจ้าคุณพระธรรมวิโรจน์ (สิงห์) ทรงเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ เพราะพระคุณท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ปฏิบัติกัมมัฏฐาน จึงทรงอาราธนาให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม เพราะท่านพระครูปทุมธรรมธาดา (สิงห์ อคฺคธมฺโม) เจ้าอาวาสรูปที่ 2 มรณภาพ วัดยังว่างเจ้าอาวาส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนา ที่พระปัญญาพิศาลเถร พร้อมทั้งพระราชทานพัดงาสาน เป็นพัดยศสมณศักดิ์

พัดงาสานนี้ พระราชทานเฉพาะพระราชาคณะเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ซึ่งได้รับพระราชทานมี 4 รูป คือ

1. พระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) เจ้าอาวาสรูปที่ 3

2. พระวิสุทธิญาณเถร (ผิว) เจ้าอาวาสรูปที่ 4

3. พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสรูปที่ 5

4. พระธรรมปาโมกข์ (พระปัญญาพิศาลเถร บุญมั่น มนฺตาสโย) เจ้าอาวาสรูปที่ 6

หลังจากที่ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (บุญมั่น มนฺตาสโย) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชในราชทินนามเดิม จึงคืนพัดยศงาสานเล่มนั้นไปที่กรมการศาสนา หลังจากนั้นมา พัดงาสานก็ไม่ได้อยู่ที่วัดปทุมวนารามอีกเลย

พระอาจารย์ทั้ง 3 จึงถือว่าเคยอยู่สำนักวัดปทุมวนาราม แม้แต่บทนิพนธ์ขันธะวิมุตติสมังคีธรรมะ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเขียนขึ้น ก็ยังใช้คำว่า "พระภูริทัตโต (หมั่น) วัดสระประทุมวัน เป็นผู้แต่ง" สมุดเล่มนี้ปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า ในฤดูแล้งปีหนึ่ง ได้พากันจาริกไปธุดงค์แถวจังหวัดนครนายก วันหนึ่งเวลาว่าง ท่านพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ได้เล่าความฝันให้เพื่อนสหธรรมิกที่ออกธุดงค์ด้วยกันฟังว่า

"ท่านฝันว่าได้ลอยข้ามทุ่งกว้างมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก แล้วลอยต่ำลงๆ จนถึงพื้นดิน ได้มีบุรุษ 4 คน แต่งตัวคล้ายมหาดเล็กสมัยโบราณ บนศีรษะใส่กระโจมแหลมๆ เหมือนคนแต่งเป็นเทวดาเวลามีขบวนแห่ขบวนใหญ่ๆ ได้นำเสลี่ยงเข้ามาหา แล้วยื่นหนังสือพระบรมราชโองการ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวาย เสร็จแล้วนิมนต์ท่านขึ้นเสลี่ยงตั้งขบวนแห่แหนท่านเข้าเฝ้าถวายพระพร"

ท่านตื่นพอดี

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เป็นจริงเหมือนตามฝัน ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณเถร (ผิว) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามรูปที่ 4 มรณภาพ จึงมีพระบรมราชโองการ อาราธนา พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามรูปที่ 5 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูปทุมธรรมธาดา พระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนา  แล้วได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนาในโอกาสต่อมา โดยพระราชทานพัดยศงาสานเป็นพัดยศสมณศักดิ์

ท่านพระอาจารย์มั่นได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า การแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงที่สำคัญๆ ในสมัยนั้น เมื่อเจ้าอาวาสว่างลง หลังจากที่เลือกสรรผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสได้แล้ว ต้องเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชฯ จะทรงพิจารณา ถ้ามีความเหมาะสมด้วยประการใดแล้ว จึงนำเข้าเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วัดปทุมวนารามก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณเถร (ผิว) มรณภาพลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ ได้ถวายพระพรสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าว่า วัดปทุมวนารามเป็นพระอารามที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระกัมมัฏฐาน และผู้คนที่อยู่ในบริเวณรอบวัดก็อพยพมาจากล้านช้าง ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาสก็มาจากพระกัมมัฏฐานและมาจากมณฑลอุบลราชธานี ในครั้งนี้ก็เห็นสมควรที่จะอาราธนา พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานี มาเป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นดีด้วย จึงได้มีพระบรมราชโองการอาราธนา พระอาจารย์หนู มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ดังกล่าว

(พระปัญญาพิศาลเถร(หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นสหธรรมิกที่รักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดียิ่งกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพ่อลี ธมฺมธโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย - ภิเนษกรมณ์)


ส่งศิษย์ปราบผี

เมื่อครั้งท่านพระอาจารย์พำนักอยู่อำเภอโคกศรีสุพรรณ มีหลวงตารูปหนึ่ง สมัยหนุ่มเคยเป็นโยมอุปัฏฐากท่าน ไปนมัสการและอยู่ปฏิบัติธรรมด้วย ผู้เล่านั่งถวายงานพัด ท่านพระอาจารย์ถามหลวงตารูปนั้นว่า

"เคยไปบ้านนาหมีนายูงไหม" (ปัจจุบันคงเป็นอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี - ภิเนษกรมณ์)

"เคยขอรับกระผม"

"เป็นอย่างไรความเป็นอยู่ของเขา พอมีกินมีใช้ไหม ก่อนหน้าเราจะไปเชียงใหม่ เราพักอยู่แถวน้ำโสม ท่าบ่อ" (คือ บริเวณ อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี และ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย - ภิเนษกรมณ์)

ท่านเล่าว่า สมัยนั้นเคยมีชาวบ้านมาหา และกราบเรียนว่า

"ขอนิมนต์พระคุณเจ้าไปอยู่กับพวกกระผม ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่ดงนาหมีนายูง พวกกระผมจะไม่ให้ท่านพระอาจารย์อดอยาก จะผลัดเปลี่ยนกันลงมาเอาเสบียง"

ยุคนั้นเต็มไปด้วยป่าดงพงพี ไข้ป่าเอย อสรพิษเอย เสือโคร่งลายพาดกลอนเอย ภูตผีเอย มีเป็นธรรมดา

หลวงตารูปนั้นถวายคำตอบว่า " เดี๋ยวนี้เขาเป็นบ้านเป็นเมือง มีกินมีใช้แล้ว วัดก็เป็นวัดโดยสมบูรณ์ ผู้คนมีธรรมะเป็นประจำ ตั้งแต่นั้นมา"

ท่านฯ เล่าต่อไปว่า "เหตุอะไรจึงมานิมนต์"

เขาเล่าว่า "อย่างอื่นไม่กลัว กลัวแต่ผีอย่างเดียว ธรรมดาสัตว์ป่าจะเป็นช้างหรือเสือ กลัวไฟกับกลัวมนุษย์ หากเห็นไฟและได้ยินเสียงมนุษย์ มันจะหลีกหนีห่างออกไป แต่ผีนี้ซิ ยิ่งแหย่เหมือนยิ่งยุ เป็นตัวเป็นตนเหมือนคน ห้อยถุงย่ามไว้ มันมาปลดทิ้ง หม่าข้าวไว้ มันมาเททิ้ง อยู่ใกล้ๆ แต่ไม่เห็นตัว พวกเราติดไฟไว้ มันเข้ามาเอาฟืนออก เราถือพร้าอีโต้เข้าไปจะฟันมัน มันวิ่งหนี เราซัดฟืนใส่มัน มันกลับซัดฟืนมาหาเรา นี้ถ้าเราเฝ้าทับคนเดียว แต่พอหมู่กลับมา มันก็หายเข้าป่าไป เป็นอยู่อย่างนี้ ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ช่วยปราบผีด้วย"

ท่านฯ ว่า "เราก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์อย่างนี้ยังไม่เคยพบ"

ส่วนสัตว์นั้นไม่น่ากลัว ติดไฟไว้จ้างก็ไม่เข้ามา ยิ่งช้าง ถ้ามีขวดเปล่าหรือกระบอกเล็กๆ เป่าสัญญาณขึ้น แค่นั้นก็วิ่งจนป่าราพณาสูรไปเลย เพราะมันสำคัญว่าเสียงสะไนของนายพรานช้าง

ท่านพระอาจารย์มั่นปรึกษากับศิษย์ว่า ใครจะไปปราบผีครั้งนี้ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ รับอาสาโดยชวนพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปด้วย พร้อมด้วยพระสหจร 4 รูป รวมเป็น 6 รูป

ก่อนออกเดินทาง ท่านพระอาจารย์เตือนศิษย์ให้มีสติ เจริญพระพุทธคุณ และกรณียเมตตสูตร แล้วกำหนดจิตเป็นปริมณฑล 3 รอบใกล้ตัว และกำหนดให้ปริมณฑลห่างออกไป และห่างออกไปอีก กำหนดเจริญกำแพง 7 ชั้น ด้วยบทว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกฺขา ส่วนชาวบ้านให้เขาตั้งอยู่ในสรณะและศีล 5 ก่อนนอนให้เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ  ครั้นเดินทางไปถึงที่พัก เห็นแต่ร่องรอยผีมารบกวน จัดสถานที่พักแล้ว นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผีพวกนั้นหายเข้าป่าไปเลย

ปกติท่านไม่เคยส่งเสริมในเรื่องนี้ นอกจากมีเหตุ ศิษย์ส่วนมากจึงไม่ค่อยรู้เรื่อง


ท่านพระอาจารย์โปรดโยมมารดา

..2487 ผู้เล่ามีอายุ 21 ปี ได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน วิสาขะแล้ว ท่านพระอาจารย์ปรารภจะไปจำพรรษาที่บ้านโคก (คือวัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร - ภิเนษกรมณ์) พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ได้สร้างกุฏิคอยอยู่แล้ว การเดินทางไม่มีปัญหา เพราะระยะทางใกล้กิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น ผู้เล่าโชคดี ท่านอนุญาตให้ติดตามมาด้วย

เหลือเวลาอีก 20 วันจะเข้าพรรษา ผู้เล่าได้รับข่าวร้าย มีพระมาบอกว่า มารดาเสียชีวิต จำลาท่านฯ กลับบ้านเกิด (ที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ - ภิเนษกรมณ์) เพื่อความระลึกถึงพระคุณมารดา ไม่มีสมบัติอะไร มีแต่บริขาร ไม่ได้คิดอะไร เมื่อพบบิดาและได้ดูหลุมศพมารดาก็พอ กลับถึงบ้านพัก มีกระท่อมพอได้อยู่อาศัย กลางวันไปป่าช้า เยี่ยมหลุมฝังศพมารดา อุทิศบุญบวชให้ เพราะไม่มีวัตถุอื่นจะถวายแก่พระสงฆ์

จวนจะเข้าพรรษา ก่อนเดินทางกลับ บิดาได้มอบผ้าขาวให้ เป็นผ้าทอด้วยมือของแม่เอง แม่เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายไข้ไทฟอยด์อย่างแรง เพียง 4 วันก็เสียชีวิต ผ้าขาวผืนนี้ ก่อนแม่เสียชีวิต 1 วัน ได้สั่งไว้ว่า

"หากเป็นอะไรไป ให้นำผ้าขาวนี้ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นด้วย พระลูกชายก็อยู่นั่น"

ผู้เล่าได้นำผ้าขาวนั้นไปถวายท่านพระอาจารย์ ทำผ้าอาบน้ำฝนได้ 2 ผืน ท่านฯ สงเคราะห์รับผืนหนึ่ง สงเคราะห์ผู้เล่าผืนหนึ่ง ผู้เล่าเป็นผู้ตัดเย็บย้อมเสร็จ

วันอธิษฐานพรรษาผ่านไปประมาณ 10 วันเห็นจะได้ ผู้เล่านอนพักกลางวัน ฝันเห็นมารดา มาปรากฏเต็มร่าง แต่ดูท่านยังสาว บอกว่า

"ลูกเอย แม่ได้เสียชีวิตไปจากเจ้าแล้ว จะไม่ได้พบกันอีกชาตินี้ ชาติหน้าพบกันใหม่"

ดูท่านเป็นสาวสวยมีเสื้อผ้าอาภรณ์หลากสี  ในฝันนั้น คิดว่าแม่เราน่ารัก อยากเป็นเด็กดูดนมอีก คิดแค่นั้น ก็ตื่นขึ้น ทั้งสะอื้นทั้งน้ำตาทั่งเทออกมา ได้ยินถึงพระอาจารย์หลอด ปโมทิโต (ปัจจุบันท่านอยู่ที่วัดสิริกมลาวาส ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ) ท่านเลยมาถาม ก็บอกไปตามเรื่อง พอได้เวลาไปทำข้อวัตร ก็ล้างหน้าอดกลั้น เหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้น

วันที่สอง ไม่ฝันแต่ร้องไห้เหมือนเดิม โธ่เอ๋ย...ความรักของแม่กับลูกนี้ เป็นความโศกที่เต็มไปด้วยความคิดถึง ผสมความสดชื่น จากเมตตากรุณาของพระคุณแม่ พอได้เวลาไปทำข้อวัตร

ท่านพระอาจารย์ถามว่า "ทองคำ ร้องไห้คิดถึงแม่หรือ"

เท่านั้นละปีติซาบซ่านไปทั้งตัว

ท่านว่า "ไม่มีอะไรตายดอก ธาตุสี่เขาแยกกัน เขาอยู่ด้วยกันมานานแล้ว จิตก็ไม่ตาย แม่คุณเลื่อมใส รับศีลและสรณคมน์จากครูบาอาจารย์เสาร์ เขาไปสู่สุคติแล้ว"

สาธุ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้จริงๆ

เลยสิ้นความสงสัยมาแต่วันนั้น และความโศกก็หายไปตั้งแต่วันนั้น


เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ครานั้นท่านพักอยู่ดอยอะไรจำไม่ได้ แต่เป็นชาวลีซอ ท่านมิได้สนใจเรื่องภายนอก มีแต่พิจารณาธรรมภายใน เช้าวันหนึ่งไปบิณฑบาต สังเกตเห็นชาวบ้านจับกลุ่มสนทนากัน มีท่าทางตื่นเต้น ฟังไม่ค่อยรู้ภาษา จำได้แต่ว่า ยาปาน ยาปาน พอกลับถึงวัด ท่านเลยถามเป็นภาษาคำเมืองว่า "เขาพูดอะไรกัน"

ได้ความว่า ทหารยาปาน (ญี่ปุ่น) บุกขึ้นประเทศไทย ที่เมืองสงขลา การรบได้เป็นไปอย่างหนักหน่วง มีแม่ค้าขายของเป็นประจำในตอนเช้าเข้าร่วมรบด้วย มีหัวหน้าชื่อนางสาวกอบกุล พร้อมนักรบแม่ลูกอ่อน มีทั้งแม่ลูกหนึ่งลูกสอง

ท่านได้ฟังแล้วก็ยิ้มกับชาวบ้าน ถามว่า "นักรบแม่ลูกอ่อนก็มีด้วยหรือ"

ต่อมาได้มีคำสั่งจากรัฐบาลถึงกองทัพ ให้ทหารไทยหยุดยิง โดยอ้างว่าญี่ปุ่นไม่ต้องการรบกับไทย ขอผ่านเฉยๆ แต่ทหารไทยประจำแนวหน้า พร้อมนักรบแม่ลูกอ่อนก็ไม่หยุดยิง ไม่ถอย ทหารญี่ปุ่นขึ้นบกไม่ได้ ตายเขียวไปทั้งทะเล ว่าอย่างนั้น จนรัฐบาลต้องส่งกองทหารอื่นเข้าไป สั่งให้ทหารญี่ปุ่นหยุดยิง ขอสับเปลี่ยนกองทหาร ทัพแนวหน้าและนักรบแม่ลูกอ่อน จึงได้หยุดยิงถอยเข้ากรมกอง ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นจึงขึ้นบกได้

ท่านก็ไม่ได้ถือเอาเป็นอารมณ์ คิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ เจริญสมณธรรมตามปกติ วันรุ่งขึ้นพอจวนจะสว่าง ท่านวิตกขึ้นว่า"ชะตากรรมประเทศไทยจะเป็นอย่างไรกันหนอ"

ปรากฏนิมิตว่า

"ประเทศไทยคล้ายภูเขาสูง บนยอดมีธงไทย 3 สี ปลิวสะบัดอยู่ และมีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เหนือธงไทย มองดูตีนเขาลูกนั้น มีธงชาติต่างๆ ปักล้อมรอบเป็นแถวๆ "

ท่านพิจารณาได้ความว่า

"ประเทศไทยไม่เป็นอะไรมาก นอกจากผู้มีกรรมเท่านั้น และต่อไปนานาประเทศจะยอมรับนับถือ เพราะประเทศไทย พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เบียดเบียน รังแกข่มเหงเพื่อนมนุษย์และสัตว์ และประเทศไทยก็ไม่เคยข่มเหงประเทศใด นอกจากป้องกันตัวเท่านั้น ชาติต่างๆ จึงยอมรับนับถือเป็นกัลยาณมิตร"

อีกคราวหนึ่ง ท่านพักที่ดอยมูเซอ วันหนึ่งพระสยามเทวาธิราชพร้อมเทพบริวารได้พากันมากราบนมัสการ ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ พอรายงานตัวเสร็จ ท่านถามวัตถุประสงค์

พระสยามเทวาธิราชตอบว่า "เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ อย่างหนักหน่วง พวกข้าพเจ้าป้องกันเต็มที่"

หลวงปู่มั่น ถามว่า "มีคนบาดเจ็บล้มตายไหม"

พระสยามเทวาธิราช ตอบว่า"มี"

หลวงปู่มั่น ถามว่า"ทำไมไม่ช่วย"

ตอบว่า "ช่วยไม่ได้ เพราะเขามีกรรมเวรกับฝ่ายข้าศึก จะช่วยได้แต่ผู้ไม่มีกรรม สถานที่สำคัญ และพระพุทธศาสนาเท่านั้น"

หลวงปู่มั่น ถามว่า "มานี้ประสงค์อะไร"

ตอบว่า "ขอให้ท่านบอกคาถาปัดเป่าลูกระเบิดไม่ให้ตกถูกที่สำคัญด้วย"

หลวงปู่มั่นจึงกำหนดพิจารณาหน่อยหนึ่งได้ความว่า

 "นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา"

เมื่อบอกแล้ว เทพคณะนั้นก็อนุโมทนาสาธุการ แล้วลากลับไป

(นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา คือ ส่วนหนึ่งของคาถายูงทอง หรือ โมรปริตร นั่นเอง คำนี้หลวงปู่มั่นใช้เขียนเป็นบนผ้าเป็นคล้ายผ้ายันต์มอบให้แก่โยมบางคน ปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์หลายประการ - ภิเนษกรมณ์)


ผลของปาณาติบาต

เรื่องนี้ผู้เล่าและท่านอาจารย์วัน ได้ฟังด้วยกัน ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แต่เหตุเกิดที่เชียงใหม่ เหตุมาจากการเข่นฆ่ากัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 บางท่านคงได้ยินว่า ศิษย์ของท่านติดตามหาท่านไม่พบ ท่านหนีเข้าป่าลึกจนศิษย์ตามไม่ถึง

ท่านว่า ได้ยินข่าวภายนอกน้อยมาก เพราะไม่มีคนไปถึง คงพิจารณาธรรมตามปกติ

วันหนึ่งขณะทำสมาธิอยู่ จวนจะสว่าง ปรากฏว่าท่านยืนอยู่บนที่สูง จะเป็นบนดิน บนภูเขา อากาศก็ไม่ใช่ คล้ายยืนอยู่บนก้อนเมฆ  มองดูรอบทิศ เห็นเตาไฟมีหม้อใบใหญ่ไฟแดงฉาน ทั้งเตาทั้งหม้อใบใหญ่บรรจุวัตถุได้มาก หากเป็นมนุษย์ก็เป็นร้อยๆ คน แต่ละลูกแดงฉานทั้งเตาทั้งหม้อ แต่มีเปลวไฟบ้าง ไม่ถึงกับบังวัตถุที่อยู่ในหม้อนั้น

ท่านกำหนดพิจารณา จึงรู้ขึ้นมาว่า นี้คือทหารที่ตายในสงคราม พากันมาตกนรกแออัดกันอยู่อย่างนี้ พิจารณาดูแต่ละหม้อ ไม่ได้เลือกชาติว่าชาตินั้นต้องตกหม้อนั้น ชาตินี้ต้องตกหม้อนี้ ตกรวมกันหมด แต่ละหม้อแออัดก็จริง ดูเหมือนเต็มแล้ว แต่พวกที่ทยอยกันมาก็ยังตกได้อีก ถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม ท่านว่า

ท่านพิจารณาต่อไปว่า "เขาเหล่านั้นรู้สึกตัวไหม"

"รู้สึกทุกคน"

ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า "พวกเราไม่น่าเลย เป็นเพราะนายแท้ๆ "

"แล้วนายเล่า"

"นายยังไม่ตาย ถ้าตายละก็นายจะลงไปลึกกว่านี้ ชนิดพวกเราตามไม่ติด"

พวกสัตว์นรกเขาพูดกันเหมือนพูดเล่น ท่านว่า ลักษณะทหารแต่ละคนไม่มีอาวุธ มีแต่เครื่องแบบ แต่ละเอียดมาก ขนาดกระทะนรกที่เรามองเห็น เต็มแล้วลงได้อีก ชนิดถมเท่าไรไม่รู้จักเต็ม

พอท่านเห็นเหตุดังนั้น จึงมาพิจารณาตามหลักแห่งสังสารวัฏ หรือทุกข์ในวัฏฏะ ได้ความว่า

สัตว์หนาด้วยราคะ โลกฉิบหายด้วยไฟ

สัตว์หนาด้วยโทสะ โลกฉิบหายด้วยลม

สัตว์หนาด้วยโมหะ โลกฉิบหายด้วยน้ำ

ท่านมาเฉลียวใจว่า"สัตว์หนาด้วยราคะ โทสะ โมหะ แล้ว ทำไมผู้ฉิบหายจึงเป็นโลก ทำไมจึงไม่เป็นสัตว์ฉิบหายเล่า"

ท่านอธิบายย่อๆ ว่า" ราคะ โทสะ และโมหะ นั้น เป็นผลของอวิชชา ที่กล่าวไว้ในธรรมจักร (สมุทัยสัจจะ) ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นผลมาจากอวิชชานั้นเอง"

"ตัวเหตุคืออวิชชา ครอบงำจิตสันดานของสัตว์ เป็นผลให้สัตว์เกิดราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสัตว์ทั้งโลกก็ฉิบหาย คือกระทบกระเทือนไปหมด ทั้งภายนอก คือ สัตว์และโลกทั้งปวง ทั้งภายใน คือ จิตสันดานของสัตว์แสดงออกมา มีแต่ฉิบหายกับฉิบหายอย่างเดียว"


ศาสนาภายนอกและภายใน

ท่านพระอาจารย์สอนว่า อิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นนะสร้างบุญขึ้นมาได้ เช่น เราเดินไปก็ระลึกพุทโธไป เรานั่งอยู่ก็ระลึกพุทโธ เรานอนอยู่ก็ระลึกพุทโธ พยายามทำให้มันติดต่อ ทำการทำงานก็ระลึกพุทโธอยู่ อย่างท่านฯ ไปสอนชาวบ้านนอกนะ ถึงฤดูทำไร่ เขาไปดายหญ้า สับจอบสับเสียมลงดิน ก็ให้ระลึกพุทโธ เวลาเกี่ยวข้าวก็เหมือนกันแหละ เกี่ยวกอหนึ่งก็พุทโธ เกี่ยวกอสองก็พุทโธ หมายความว่า งานที่เราทำก็ได้ บุญเราก็ได้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีปัญญา ทำการงานทุกอย่าง อย่าทิ้งพุทโธ เพราะเหตุไร เพราะว่าบุญเกิดทางใจ

บุญนั้นไม่ได้เกิดแต่การบริจาคทานอย่างเดียว บุญเกิดจากการรักษาศีล บุญเกิดจากการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญภาวนา เป็นบุญที่สามารถทำได้ไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่าหรือเด็ก หญิงหรือชาย หรือคนเจ็บป่วยก็ตาม สามารถทำได้

คนที่มีสติปัญญา ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นบุญแล้ว ทำการทำงานก็เป็นบุญ ทุกสาขาอาชีพที่เป็นอาชีพบริสุทธิ์ ถ้าเราระลึกพุทโธคราวใด บุญก็เกิดขึ้นคราวนั้น ไม่ต้องหาไกล คนมีปัญญาไม่ต้องหาไกล หาอยู่ในกาย หาอยู่ในวาจา หาอยู่ในจิต

ศาสนานั้นอยู่ในธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ท่านฯ บอกว่า มีกล่าวไว้ในคัมภีร์วินัย ขันธปัญญธาตุ อายตนะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ในตัวเราหรอกหรือ เพราะเหตุนั้นศาสนาจึงอยู่ในตัวเรา สมบูรณ์แบบไม่บกพร่อง นอกจากเราจะเสริมสร้างให้มัน เพื่อให้เรารู้จักศาสนาในตัวของเรา นี่คือบุคคลผู้ที่เป็นพุทธแท้ ท่านบอกอย่างนั้น

ศาสนายังแบ่งออกเป็นศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ศาสนาภายนอก คือ พระสงฆ์ สามเณร วัด กุฎี วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ เป็นต้น ส่วนศาสนาภายใน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่ในบุคคล แต่บุคคลไม่รู้ว่า อะไรคือศาสนาภายนอก ภายใน การบำรุงพระพุทธศาสนาเราจะต้องบำรุงไปพร้อมกัน ภายนอกก็บำรุง ภายในก็บำรุง ถ้าเราจะบำรุงแต่ภายนอก ทิ้งภายในเสีย เราก็ไม่รู้จักศาสนาอยู่ในตัวเราเอง

อุปมาเปรียบเหมือน ทุกคนมีสองขา ขาหนึ่งมัดติดไว้เสียไม่ใช่ หมายความว่า เราเดินได้ แต่ไม่สะดวก นั่นคือรักษาแต่ศาสนาภายนอก ศาสนาภายในไม่รักษา

เหมือนกันกับรักษาศาสนาภายใน ภายนอกไม่รักษา ก็เปรียบเหมือนมีสองขา แต่ใช้ขาเดียว

เพราะฉะนั้นการบำรุงศาสนา จึงต้องบำรุงไปพร้อมกัน ทั้งศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะไม่เข้าใจอย่างนี้ ท่านจึงว่า ทำอะไรให้มีสติปัญญา


มงคลสถาน

สถานที่ทั้งหมดเป็นมงคล ถ้าบุคคลทำตนให้เป็นมงคล

มงคลสถานที่ขอเล่าเป็นนิยาม คือ ไม่กำหนดแน่นอน ตามที่ท่านพระอาจารย์บอก กำหนดดังนี้

ทิศตะวันออก ตั้งแต่มุกดาหารเข้ามา

ทิศใต้ ตีนภูเขา ตั้งแต่มุกดาหาร คำชะอี กุดสิม (อำเภอเขาวง) ถึง อำเภอสหัสขันธ์

ทิศตะวันตก ตั้งแต่อำเภอสหัสขันธ์ ถึง อำเภอสว่างแดนดิน

ทิศเหนือ ตั้งแต่อำเภอสว่างแดนดิน เส้นทางสายอุดร-สกลฯ จรดนาแก ธาตุพนม

ภายในภูพานทั้งหมด เป็นมงคลสถาน เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม ภาวนาจิตสงบดี สามารถบรรลุมรรคผลได้ ท่านว่า เพราะเป็นมงคลสถาน


ความอัศจรรย์ของท่านพระอาจารย์

เมื่อครั้งพุทธกาล ขณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัททั้งสี่นั้น ทุกคนจะเงียบตั้งใจฟัง โดยแต่ละคนสำคัญในใจว่า พระพุทธเจ้าเทศน์ให้เราฟัง จำเพาะใช้ภาษาเรา อันนี้เป็นความรู้สึกของพุทธบริษัทเหล่านั้น ซึ่งมีหลายชาติหลายภาษา ท่านพระอาจารย์มั่นก็เช่นเดียวกัน ดังจะเล่าต่อไปนี้

เมื่อท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น มีคนไทยเชื้อสายเวียดนามคนหนึ่ง ชื่อว่า อัมพร พงษ์เจริญ เป็นบุรุษพยาบาล ประจำโรงพยาบาลแขวงคำม่วน (ท่าแขก) ประเทศลาว เป็นชาวญวนอพยพมาอยู่พังโคน ได้เปิดคลีนิครักษาคนไข้ เคยมารักษาท่านพระอาจารย์ เกิดความเลื่อมใส ฟังเทศน์ภาษาลาวและภาษาไทยได้ชัดเจน

วันหนึ่งเธอพาลูกน้องมา 4-5 คน เพิ่งอพยพมาใหม่ พูดภาษาลาวไทยไม่เป็น มานั่งฟังเทศน์ด้วย หลังฟังเทศน์จบก็กราบลากลับ ท่านพระอาจารย์พัก เธอและคณะนั่งพักอยู่ ผู้เล่าเดินไปหา เธอยกมือไหว้พร้อมคณะตามธรรมเนียมไทย

เธอถามว่า "ท่านพระอาจารย์เป็นเวียดนามหรือเป็นไทย"

ผู้เล่า "ไทยแท้ร้อยเปอร์เซนต์"

ถาม "เอ๊ะ ทำไมท่านพูดภาษาเวียดนามได้"

ผู้เล่า "ไม่ทราบ ได้ยินแต่ท่านพูดไทย"

"ก็ท่านเทศน์เมื่อกี้นี้ เทศน์ภาษาเวียดนามทั้งนั้น พวกผมกำลังพูดกันเรื่องนี้อยู่ว่า รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ก็เหมือนเวียดนาม กำลังสนทนากันอยู่ว่า ท่านเป็นไทยหรือเวียดนาม"

ผู้เล่า "เราก็ฟังอยู่ด้วยกัน ท่านไม่ได้เทศน์ภาษาเวียดนาม เทศน์ภาษาไทย"

"เอ แปลกนะ ผู้รู้ธรรมมีอัศจรรย์หลายอย่าง" เธอพูด

อีกเรื่องหนึ่ง เกิดที่วัดป่าบ้านหนองผือเหมือนกัน โยมเง็กหงษ์ เป็นชาวจีนมาอยู่เมืองไทย พูดไทยได้สะเปะสะปะ มาฟังเทศน์พร้อมคณะชาวจีนเหมือนกัน ภาษาใช้อยู่ใช้กินธรรมดาก็สะเปะสะปะ ภาษาธรรมะยิ่งแล้วใหญ่ แต่ชอบทำบุญตามประเพณีไทย ฤดูแล้งมาปฏิบัติธรรมถือศีลพร้อมคณะ กับท่านพระอาจารย์ทุกปี

วันหนึ่งหลังฟังเทศน์แล้ว ไปนั่งสนทนากับพวกที่มาด้วยกัน เขาพูดภาษาจีนสนทนาเรื่องธรรมะที่ท่านพระอาจารย์เทศน์ ผู้เล่าก็เดินไปพบ นั่ง ณ ที่ควรแล้ว โยมก็กราบ ถามว่า

"พูดกันเรื่องเทศน์พระอาจารย์ เพราะท่านพูดจีน เทศน์ภาษาจีน ฟังเข้าใจดี ฟังพระในกรุงเทพฯ เทศน์ภาษาไทยไม่ค่อยเข้าใจ เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นคนจีน รูปร่างผิวพรรณหน้าตาก็จีนทั้งนั้น"

ผู้เล่าจะตอบปฏิเสธก็เกรงว่าเขาจะหมดศรัทธา

"แต่ท่านเทศน์พวกอาตมา พระเณรโยมชาวบ้าน เทศน์ไทย"

"นั่นนา ภาษาไทยก็เก่ง ภาษาจีนก็เก่ง นี้คือ ผู้ปฏิบัติรู้แท้ เป็นเซียนองค์หนึ่งได้" คือ คำพูดของโยมเง็กหงษ์

อยากรู้ประวัติของโยมคนนี้ ถามได้ที่วัดอโศการาม ได้ยินว่าท่านไปเป็นชี หมดอายุที่นั่น


เทวดาป้องกันอากาศหนาวให้

ท่านฯ เล่าว่า ปีนั้นท่านพักอยู่บนดอยมูเซอ พร้อมด้วยพระมหาทองสุก อากาศหนาวมากเป็นพิเศษกว่าทุกปี  หากมีเครื่องวัดก็คงจะติดลบหลายองศา ขนาดชาวบ้านไม่ยอมหนีจากกองไฟตลอดวันตลอดคืน ทั้งสองท่านก็รู้สึกหนาวมาก ติดไฟก็ไม่ค่อยจะติด น้ำค้างแข็งเป็นน้ำแข็งหมด เอาละตัดสินใจจะหนาวตายวันนี้ก็ยอม กลับขึ้นไปกุฏิ ท่านฯ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จเข้าสมาธิทันที พอจิตสงบ ท่านเห็นบุคคลหนึ่งพร้อมบริวาร 4 คน ผู้เป็นหัวหน้าแต่งตัวแบบกษัตริย์ ทรงผ้าสีแดง มาชี้บอกให้บริวารกางผ้าม่านให้ท่านทั้ง 4 ทิศ ทั้งข้างบนข้างล่าง

จึงกำหนดพิจารณาว่าเป็นใครนั่น แต่ไม่ได้ถามพระยาองค์นั้น เพราะเห็นกำลังสาละวนอยู่กับการกางผ้าม่าน รู้ในใจขึ้นมาว่า เป็นท้าวเวสสุวรรณ มาป้องกันอากาศหนาวให้ โดยใช้ผ้าม่านสีแดงกางกั้นไว้ มีความอบอุ่นพอดีๆ เทวดาเหล่าก็ไปกางถวายพระมหาทองสุกด้วย พอกางเสร็จก็ไป แปลก ไม่บอกไม่ลาไม่ไหว้ ทำธุระเสร็จแล้วก็หายไป ไม่เหมือนเทพองค์อื่นๆ เวลาหา มีการกล่าวขานกัน แต่เทพนี้มาแปลก ท่านว่า

อาการของม่าน เวลาจะไปบิณฑบาตหรือ ยืน เดิน นั่ง นอน ปรากฏว่าจะกางกั้นไว้ ไม่กว้างไม่แคบ พอดีๆ ตื่นเช้าถามพระมหาทองสุกว่า "หนาวไหม"

"ไม่หนาว"

แต่ท่านจะรู้ว่ามีม่านกั้นหรือเปล่าไม่ได้ถาม แต่ตัวท่านพระอาจารย์เห็นม่านกั้นพระมหาทองสุกอยู่ พอไปบิณฑบาต ชาวบ้านร้องทักว่า "ตุ๊เจ้าบ่หนาวก๊าๆ " ตลอดทาง

ท่านว่าม่านนั้นค่อยๆ จางไป พร้อมกับอากาศค่อยอุ่นขึ้น จนบัดนี้ก็ไม่เคยเห็นท้าวเวสสุวรรณอีก


ถ้ำตับเตา

ถ้ำตับเตา หรือ ถ้ำดับเถ้า ภาษาของท่านพระอาจารย์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่) ถ้ำนี้เป็นสถานที่ท่านพระอาจารย์พิจารณาพระอภิธรรมปิฏก ท่านว่าพิจารณาได้ดี ไม่ติดขัด ละเอียดลึกซึ้งมาก นี้คือเหตุที่ท่านต้องไปเชียงใหม่เพราะท่านพิจารณาแล้ว ภาคอื่นไม่เหมาะ ไม่สะดวกเหมือนภาคเหนือ

ท่านเปรียบให้ฟังว่าเหมือนปลาใหญ่ว่ายอยู่ในแม่น้ำแคบและตื้น พอมาพิจารณาที่ถ้ำตับเตาหรือถ้ำดับเถ้าที่ภาคเหนือนี้ เหมือนปลาใหญ่ว่ายออกสู่ทะเลหลวง จะเหวี่ยงหัวเหวี่ยงหางไปมาทิศไหนก็ไม่ขัดข้องท่านว่าอย่างนี้

ถ้ำแห่งนี้มีประวัติเกี่ยวพันกับพระอรหันต์ครั้งพุทธกาล 2 รูปๆ หนึ่ง คือ ท่านพระภัคคุ หนึ่งในกษัตริย์ 6 พระองค์นั้น (คือเจ้าศากยะที่ออกบวชพร้อมกัน 6 องค์ ได้แก่ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระภัททิยะ พระเทวทัต -ภิเนษกรมณ์) ท่านพระอาจารย์รู้ว่า ถ้าอยากรู้รายละเอียดของท่านพระภัคคุ ต้องเข้าฌานให้ละเอียดเหมือนควันไฟจึงจะรู้ แต่ท่านบอกว่าท่านทำไม่ได้ รู้แต่ว่าท่านพระภัคคุมานิพพานที่นี้

พิธีเถราภิเษก

15 วันที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส (ระหว่างที่ท่านเดินทางย้ายจากจังหวัดอุดรธานี มาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ในปี พ..2485- ภิเนษกรมณ์) มีเหตุการณ์ที่ควรนำมาเล่า คือ เรื่อง "เถราภิเษก" ภาษาอีสานเรียกว่า "กองฮด" (ฮด หมายถึง รด หรือเทราดลงไป) คือ นำผ้าไตรมา แล้วมีการสรงน้ำพระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ถวายบริขารใหม่ สมมติเป็นสมเด็จพระอุปัชฌาย์(ชา) เป็นครู (ราชครู) ลาภ 1 ลาภ 2 ไปเรื่อยๆ ชาวสกลนครได้นำไตรจีวรจะมาฮดมาสรง ท่านพระอาจารย์ไม่ยอมรับ

ท่านอธิบายว่า "เป็นประเพณีที่มีมาจากเวียงจันทน์ ที่อื่นไม่มี ครั้งพุทธกาลไม่มี แล้วพวกญาติโยมจะมาแต่งอาตมาให้เป็นอะไรอีก เป็นพระ อาตมาก็เป็นแล้ว พระสงฆ์อุปัชฌาย์อาจารย์แต่งให้แล้ว เป็นพระโดยสมบูรณ์ คณะสงฆ์รับรองแล้ว"

"พระพุทธเจ้ามีใครไปฮดไปสรงให้เป็นพระพุทธเจ้าบ้าง ไม่มี พระองค์ตรัสรู้เอง พระสาวก พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ฮดไม่ได้สรง ทั้งพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วได้บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน นี่มีอำนาจกว่า แล้วจะมาฮดสรงแต่งอาตมาให้วิเศษกว่าพระพุทธเจ้าหรือ"

"อันเรื่องเถราภิเษกหรือฮดสรงนี้ เป็นขัตติยประเพณี สำหรับอภิเษกแต่งตั้งพระมหาสังฆนายก สมเด็จพระสังฆราชต่างหาก มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ไม่ใช่ของราษฎรบุคคลสามัญจะทำกัน ทางเวียงจันทน์ก็ทำเหมือนกัน ครั้นราษฎรสามัญเห็นเข้า ขออนุญาตให้ราษฎรทำบ้าง ก็เลยเป็นประเพณี"

"ส่วนพระผู้ถูกฮดถูกสรง ก็ไม่เห็นว่าวิเศษ ได้สำเร็จอะไร สึกหาลาเพศไปมีครอบครัวมีกิเลสถมเถไป ไม่เห็นวิเศษวิโสอะไร แล้วพวกท่านเป็นฆราวาส อาตมาเป็นพระ ตักน้ำมาฮดหัวอาตมาๆ เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกท่าน แทนที่จะได้บุญกลับเป็นบาปเสียอีก"

มีโยมคนหนึ่งพูดขึ้นว่า " ถ้าเช่นนั้นวัตถุทานนี้ ท่านไม่รับจะทำอย่างไร"

ท่านก็บอกว่า "ถวายสงฆ์สิ พระสงฆ์นั่งอยู่นี่เต็มไปหมด"

โยมได้กราบเรียนถามว่า "ถวายสงฆ์ทำอย่างไร"

"ใครเป็นประธานก็ถวายองค์นั่น อาตมาไม่ใช่ประธานนะ อาตมาพระจรมาอาศัยชั่วคราว ก็ท่านมหาเส็งไงเล่า (คือ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)-ภิเนษกรมณ์) จะถวายต่อมือท่านก็ได้ วางไว้ต่อหน้าก็ได้ เป็นบังสุกุล ได้บุญมาก" ท่านว่า

"กล่าวคำถวายไหม" โยมถามอีก

ท่านว่า "กล่าวทำไม มนุษย์รู้เรื่องกันอยู่ วางไว้ข้างหน้าก็พอแล้ว จะรับพรหรือไม่รับ ก็ได้บุญแล้ว ได้ถวายท่านแล้ว ถ้ายังสงสัยก็เอาคืนไป"

โยมวางไว้เสร็จ ก็เป็นอันยุติ


บทเรียนอันมีค่า

เหตุการณ์ที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ เกิดขึ้นขณะท่านพักอยู่วัดป่าสุทธาวาสเป็นเวลา 15 วัน

ก่อนจะจากวัดป่าสุทธาวาสไป ชาวสกลฯ มีขุนอร่ามรัชดากร ชื่อจำไม่ได้ นามสกุล สุคนธชาติ ได้กราบเรียนท่านพระอาจารย์ว่า

"ขอนิมนต์ให้ท่านพักนานๆ อยู่โปรดญาติโยมชาวสกลนคร ท่านอยู่แต่ป่ามานานแล้ว โปรดชาวเมืองด้วย"

ว่าแล้วก็ยกขันนิมนต์ถวายท่าน

ท่านพระอาจารย์ตอบว่า "อาตมาไม่รับ อาตมาไม่อยู่ ไม่มีประโยชน์ สู้อยู่ป่าไม่ได้"

โยมขุนฯ พูดขึ้นว่า "ไม่มีประโยชน์อย่างไรท่าน"

ท่านพระอาจารย์ตอบว่า "ก็ไม่มีประโยชน์ซิ จะให้อาตมาสั่งสอนพวกท่านให้เป็นอะไร จะสอนให้ฉลาด พวกท่านก็ฉลาดแล้ว จะสอนให้พวกท่านมีศีลมีธรรม พวกท่านก็มีแล้ว จะสอนให้พวกท่านมีกินมีทานมีใช้ พวกท่านก็มีแล้ว หรือจะให้อาตมาสอนให้พวกท่านเป็นแท่งทอง อาตมาสอนไม่ได้ อาตมาไม่รับ อาตมาไม่อยู่"

"ชาวบ้านนอกบ้านป่า มีอะไรหลายๆ อย่างที่เขายังขาดแคลน อาตมามีเรื่องจะสอนเขาอีกมาก ถ้าอาตมาไม่ไปสอน ก็ไม่มีใครสอน นั่นเป็นหน้าที่ของอาตมา หรือใครจะไปสอนแทนอาตมา อาตมาต้องไปสอนเขา เพราะไม่มีใครสอน" ท่านว่า

เรื่องนี้ผู้เล่าจำไม่ลืม เป็นบทเรียนอันมีค่า เพราะในยุคนั้นไม่มีใครสอนจริงๆ นอกจากครูสอนเด็กเท่านั้น เป็นความจริงแท้ๆ


อัศจรรย์ปัญญาถ้วน 5

ท่านพระอาจารย์อธิบายคำว่า ปัญญาถ้วน 5 หมายถึง อินทรีย์ 5 พละ 5 ให้ปัญญามีอยู่ในทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรมทุกอย่าง นับตั้งแต่การอยู่การกินการนุ่งการห่มการอยู่ในบ้าน เกี่ยวกับปัจจัยทั้ง 4 ต้องใช้สติปัญญาทั้งนั้น การใช้สอยปัจจัย 4จึงสมบูรณ์แบบถ้าขาดสติปัญญา การใช้สอยปัจจัย 4นี่ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อไม่สมบูรณ์แล้วความบกพร่องจึงเกิดขึ้น ทุกข์ก็จะเสริมเข้ามา ท่านว่าอย่างนั้น

เช่น การใช้จ่ายทรัพย์นี้ ถ้านอกเหนือไปจากพระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วนะ ทรัพย์ที่จ่ายไปไม่คุ้มค่า ท่านว่านะ แล้วทีนี้ประโยชน์ที่สอน คือ สัมปรายิกัตถะประโยชน์ จะเป็นสัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคะสัมปทา ปัญญาสัมปทา ก็ยังอาศัยปัญญา แม้แต่ในโลกุตตระก็เหมือนกัน ถ้าขาดสติปัญญาแล้ว ไม่สามารถจะบรรลุโลกุตตระได้

ฉะนั้นทุกอย่างปัญญาจะต้องเข้าไปเสริมอยู่เสมอ ถ้าขาดปัญญาก็หมายถึงว่า ทุกสิ่งที่ราทำไปในชีวิตประจำวันไม่คุ้มค่า สูญเปล่า แม้แต่จะกวาดพื้นก็ดี ในบริเวณบนบ้านก็ดี ไม่ใช่ว่ากวาดแล้วให้มันกระจัดกระจายไป คือกวาดเอาไปรวมกันแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วจึงค่อยเก็บนำไปทิ้งในที่ทิ้งขยะนั้น

ส่วนการปัดกวาดบริเวณวัดนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นสอนว่า โดยปกติเราจะกวาดออกจากที่อยู่ เช่น จากรอบกุฏินี้ออกไป เมื่อเรากวาดเสร็จแล้ว ก็จะเป็นบริเวณที่เราพัฒนาให้เป็นวัดหรือเป็นลานวัดแล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง

ส่วนที่เลยขอบออกไปก็จะเป็นป่าธรรมชาติ ถ้าเรากวาดใบไม้ไปทับถมธรรมชาติ อันนั้นคือ ขาดปัญญาแล้ว เพราะแดนพัฒนาก็ให้เป็นแดนพัฒนา แดนธรรมชาติก็ให้เป็นแดนธรรมชาติ ที่ถูกต้องเราคือ จะต้องปัดกวาดจากแดนธรรมชาติเข้ามาข้างใน แล้วก็กวาดข้างในไปหาข้างนอก และเก็บเป็นกองๆ ไว้จะเผาไฟก็ให้รีบสุมเสีย ปล่อยไว้ลมจะพัดไปได้ อีกวิธี คือ เราขุดหลุมไว้ เรากวาดแล้วไปเทลงหลุม หลุมเต็มก็ไปขุดใหม่

ทีนี้หากว่าเรากวาดออกไปเรื่อยๆ บริเวณรอบกุฏิเรานี้มันจะต่ำลงและขอบจะสูงขึ้น นั้นคือ สิ่งแวดล้อมสกปรกแล้ว สิ่งที่เราพัฒนาก็แปรรูปไปแล้ว มันจะเป็นคล้ายๆ กับก้นกระทะ อันนั้นคือการขาดสติปัญญาได้อย่างหนึ่ง มันเสียอย่างหนึ่ง

ท่านมักเตือนอยู่เสมอว่า กวาดเข้าไปทำไม ทำไมไม่กวาดออกมา มันไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมหมายความว่า สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ก็ให้อยู่ไปตามของเขา เราอย่าเอาไปใส่ ถ้าเอาไปใส่ มันจะกระทบสิ่งแวดล้อม พื้นที่พัฒนาแล้วก็อยู่ในสภาพที่พัฒนาแล้ว พื้นที่ยังไม่พัฒนาก็ให้เป็นป่า

ในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นขอบโดยรอบ เพราะผู้ที่ตามมาภายหลังเขาไม่รู้จุดประสงค์ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นปัดกวาดอย่างนี้ มันมีได้มีเสียอย่างไร นี้คือความไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นจึงว่า อัศจรรย์ปัญญาถ้วน 5 เราจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องมีปัญญาไปแทรกอยู่เสมอ ถ้าไม่มีปัญญาเข้าไปแทรก ก็หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นไม่สมบูรณ์แบบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด

นี่คือความหมายในเรื่องนี้


ท่านพระอาจารย์เป็นผู้พอ

เรื่องการรับบริจาคปัจจัย 4 นั้น ดูจะมีขอบเขตคำว่า "พอ" หรือพอละ (อลํ) ในกุฏิของท่าน นอกจากสิ่งจำเป็นสำหรับใช้สอยประจำวันแล้ว ไม่มีอะไรเลย ผู้เล่าเคยเอาไตรจีวรที่ท่านรับบังสุกุลไปเก็บไว้ในห้องท่าน ท่านไปเห็นเข้าดุตะเพิดผู้เล่า

"ใครเอาอะไรมาไว้ที่นี้"

"กระผมขอรับ"

"เหอะเราไม่ใช่หลวงตาสารโมบโลภมาก รีบเอาหนีใครอยากได้ก็เอาไป" ท่านว่า

ผู้เล่ารีบเอาไตรจีวรออกไปทันที

แม้การรับบริจาคทานของท่านพระอาจารย์ เท่าที่ผู้เล่าเคยสังเกตมาหลายปีท่านพระอาจารย์จะเปิดโอกาสให้ผู้มีศรัทธาบริจาค ดูจะเป็นกาลเป็นสมัย เช่น กาลกฐินภายใน 30 วัน วิสาขบูชาเดือน 6เพ็ญ ภายใน 3วัน คือ ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1ค่ำ ก่อนเข้าพรรษาเริ่มตั้งแต่เดือน 7 แรมค่ำหนึ่ง ถึงเดือน 8แรมค่ำหนึ่ง   ยกเว้นกรณีพิเศษบุคคลเหล่านี้ คือ หญิงมีครรภ์ คนชรา คนป่วย และคนจะไปสนามรบ ท่านจะอนุญาตเป็นพิเศษ

ผู้เล่าเคยเห็นท่านกวักมือเรียกเข้ามาเลย ถ้ามีบุคคลไปถวายทานในกาลในสมัยที่ว่านี้เปิดเต็มที่ ใครทันก็ทัน ใครไม่ทันก็ไม่ทัน

นอกกาลถ้ามีคนมาถวายทาน ท่านจะถามว่า

"บุตร ภรรยา สามี บิดามารดาของท่าน พอหรือยัง อาตมา (บางทีท่านเรียก "พระเฒ่า" แทนตัวท่าน) และภิกษุสามเณรรวมทั้งผ้าขาวที่อยู่กับอาตมาพอแล้ว ตั้งแต่กาลกฐินนั้น ถ้าบุตรภรรยาของท่านยังไม่พอ ให้ทานบุตรภรรยาของท่านเสียก่อน"

โยมก็พูดว่า " กระผมอยากได้บุญกับท่านอาจารย์"

ท่านบอกว่า "การให้บุตรภรรยา บิดามารดาก็ได้บุญเหมือนกัน"

บุตรภรรยาบิดามารดา เป็นหน้าที่ของกุลบุตรผู้ครองเรือน ต้องรับผิดชอบท่านคงประสงค์ให้กุลบุตรเอาใจใส่ก่อนจะให้ใคร ให้นึกถึงท่านเหล่านี้ก่อน

ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์คงมุ่งผลประโยชน์ของเศรษฐกิจในครอบครัวชาวบ้านมาก ต้องการให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ จึงไม่รบกวนชาวบ้าน เป็นอยู่อย่างสมถะจริงๆ เมื่อมีเศรษฐีหรืออิสรชนมาถวายทานท่านพระอาจารย์ กลับไปแล้วท่านมักบ่นให้ผู้เล่าฟังว่า

"พวกนี้มันมาอวดมั่งอวดมีต่อเรา"

นึกว่าท่านพระอาจารย์ยินดีจะได้ของดีๆ ราคาแพง ได้มากๆ ท่านกลับว่า มาอวดมั่งอวดมีกับท่าน

ท่านพระอาจารย์มั่นเคารพนับถือให้เกียรติคณะปกครองบริหารทั้งสองคณะ (ธรรมยุตและมหานิกาย) ท่านไปอยู่บ้านใดตำบลใด จะแจ้งให้เจ้าคณะตำบลนั้นทราบเสมอทั้งสองฝ่าย หากจะมีการก่อสร้าง จะปรึกษาและขอความเห็นจากผู้ปกครองเสียก่อน เห็นดีแล้วจึงทำ ท่านเป็นบุคคลถ่อมตน ไม่ถือว่าเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ มีคนนับหน้าถือตามาก ท่านไม่ลืมตัวว่า ท่านก็มาจากเด็กท้องทุ่ง


เมตตาชาวภูไท

 

ผู้เล่าเคยสังเกต ดูท่านจะไม่คลุกคลีด้วยกับบุคคลผู้มักเอาเปรียบ ข่มเหง รังแกสัตว์ โดยเฉพาะพวกฉ้อราษฏร์บังหลวงถึงไม่มีใครบอกท่านๆ ก็รู้ เข้าไปหา ท่านจะเฉยๆ ไม่ค่อยพูดด้วย ไม่ยินดีต้อนรับ

ส่วนชนต่างชาติต่างภาษา ก็มีพม่าที่ท่านจะยอมรับและเคยไปจำพรรษา ส่วนชาวยุโรปดูจะเมตตาชาวรัสเซียเป็นพิเศษเพราะเหตุใดก็สุดวิสัยจะเดาได้

ส่วนภูมิประเทศที่ไม่เป็นสัปปายะแก่ท่าน หากไม่มีความจำเป็นแล้วท่านก็จะไม่ไป เช่น อุบลราชธานี ผู้เล่าได้กล่าวไว้ว่า หลังจากท่านกลับจากลพบุรีสู่กรุงเทพฯ แล้ว ท่านพระอาจารย์ได้สนทนากับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ (จันทร์ สิริจนฺโท) ว่า มีวาสนาจะสอนหมู่ได้ไหม แล้วท่านก็กลับอุบลฯ ไปยังวัดพระอาจารย์เสาร์ พร้อมด้วยพระอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่น

ระหว่างเดินธุดงค์รุกขมูลอยู่ถิ่นอุบลฯ ถูกต่อต้านจากชาวบ้านอย่างแรงด้วยวิธีการต่างๆ สารพัด ท่านว่า จึงได้ชวนพระอาจารย์เสาร์ มุ่งหน้าสู่มุกดาหาร คำชะอี หนองสูง ถิ่นนี้เป็นที่อยู่ของชนเผ่าภูไท สถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การแสวงวิเวก และชาวบ้านก็ให้ความอุปถัมภ์บำรุงด้วยศรัทธาและเลื่อมใส ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิตจนกระทั่งเบื้องปลายแห่งชีวิต ก็ได้อาศัยชนเผ่าภูไทนี้แหละ

บางคนสงสัยได้กราบเรียนถามท่านว่า เหตุใดท่านพระอาจารย์มักอยู่กับพวกภูไท ท่านตอบว่า

"เพราะชาวภูไทว่าง่ายสอนง่าย"

ศิษย์ของท่านที่เป็นชนเผ่าภูไทมีชื่อเสียงหลายรูป เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร เป็นต้น

ท่านได้กลับไปอุบลฯ สองครั้ง ครั้งแรกกลับไปส่งมารดา ก่อนขึ้นไปเชียงใหม่ ครั้งที่สองไปทำฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์เสาร์ หลังจากนั้นก็ไม่เคยไปอีกเลย


รอยพระพุทธบาท

ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่อยู่จังหวัดสระบุรีว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแท้ตามตำนานปรัมปราว่า ประทานแก่ฤาษีหรือนายพราน แต่ท่านพระอาจารย์ว่า ทรงประทานไว้แก่สามเณรเรวตะ ผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร

ท่านพระอาจารย์เคยไปนมัสการเล่าว่า มีมณฑปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้มีคนเฝ้ารักษา ท่านอยากดูภาพมงคล 108 ในรอยพระพุทธบาท แต่คนเฝ้าไม่ยอมเปิด อ้างว่าไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต เลยไม่ได้ดู ท่านว่า

ส่วนรอยที่ 2 ชื่อว่า"พระบาทฮังฮุ้ง" (รังเหยี่ยวใหญ่) พระพุทธบาทนี้ ประดิษฐานอยู่ที่โยนกประเทศ อยู่ที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า

รอยพระบาทนี้ประทานแก่อชิตฤาษี ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์จะมาตรัสรู้ข้างหน้า เคยเป็นพระสหาย สงเคราะห์กันมาหลายภพหลายชาติ ประทานไว้บนแผ่นหิน

ความว่า หลังจากเสด็จเยี่ยมฤๅษี ได้สนทนาร่าเริงกันแล้ว ฤๅษีได้ถวายผลไม้ พร้อมทั้งต้มน้ำกระดูกสัตว์ถวาย ก่อนเสด็จกลับ ฤๅษีขอรอยพระบาทไว้เป็นที่ระลึก

พระองค์ตรัสถาม "จะไว้ที่ไหน"

ฤๅษีกราบทูลว่า "บนแผ่นหินมีรังเหยี่ยวใหญ่อาศัยเลี้ยงลูกอยู่"

พระองค์ตรัสถาม "ทำไมจึงให้ประทับไว้ที่นั่น"

ฤๅษีกราบทูลว่า " ในวันฝนตก ไม่ได้ออกไปหาผลไม้ ข้าพระองค์ได้อาศัยเก็บกระดูกสัตว์มาต้มบริโภค ถ้าพระองค์ประทานรอยไว้ที่นั่น วันที่ขึ้นไปเก็บกระดูกสัตว์ จะได้ทำความสะอาด และกราบนมัสการด้วย"

พระบาทฮังฮุ้ง เรียกตามภาษาท้องถิ่นเชียงใหม่กับเชียงตุง พระอาจารย์มนูเคยไปกราบนมัสการ เล่าให้ฟังว่า พระบาทฮังฮุ้งนี้อยู่บนแผ่นหินที่ตั้งขึ้นไป ไม่มีทางขึ้น เจ้าเมืองเชียงตุงทำบันไดเวียนขึ้นไปแต่นานแล้ว บันไดตอนกลางต่อโซ่ใส่พอได้ปีนขึ้นไป แต่ผู้หญิงหรือคนไม่แข็งแรงขึ้นไม่ได้ พระอาจารย์มนูตั้งใจจะขึ้นไปพักภาวนา แต่พอขึ้นไปแล้ว แผ่นหินนั้นเหมือนหลังช้าง ไม่มีที่ให้พัก บริเวณไม่กว้าง ประมาณ 10 วา รอบปริมณฑล เอาบริขารไปด้วย พะรุงพะรังลำบาก ขากลับ นำเอาบริขารพะรุงพะรังกลับลงมา ถ้าพลัดตกลงมาคงไม่ได้กลับบ้านเรา

เรื่องพระพุทธบาทท่านเล่าแค่นี้


ความสมบูรณ์พร้อมของประเทศไทย

เรื่องอริยบุคคลนี้ ท่านพระอาจารย์ปรารภไว้หลายสถานที่หลายวาระ ต่างๆ กันแล้วแต่เหตุ

ท่านเล่าว่า ชาวพุทธมีหลายประเทศ แต่จะขอกล่าวเฉพาะใกล้เคียง เขมร ลาว เวียดนาม และพม่า นอกนี้ไม่กล่าว

ท่านพระอาจารย์บอกว่า "เราไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้น แต่ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีก็ว่าไม่มี มีก็ว่ามี"

ท่านพระอาจารย์หมายถึง พระอริยบุคคลในประเทศเหล่านี้ มีที่ประเทศพม่าเพียงคนเดียว คือ หมู่บ้านที่ท่านไปจำพรรษา เป็นผ้าขาว ที่ผู้เล่าเคยเล่าว่า บุตรสาว บุตรเขย และบุตรชายของตาผ้าขาวนั้นละ ที่มาจัดเสนาสนะของบิดาเขาถวายท่านพระอาจารย์และท่านเจ้าคุณบุญมั่น ครั้งจำพรรษาที่ประเทศพม่า

ท่านว่า"ยกเว้นสยามประเทศแล้วนอกนั้นไม่มี"

"สำหรับสยามประเทศ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีติดต่อมาโดยไม่ขาดสาย ทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงและบรรพชิต แต่มรรคขั้นต้นคฤหัสถ์มากกว่า ทั้งปริมาณและมีสิกขาน้อยกว่า"

ท่านเล่าต่อไปว่า เราไม่ได้ว่าเขา เราไม่ได้ดูหมิ่นเขา เพราะประเทศเหล่านั้นขาดความพร้อม คือ คุณสมบัติหลายอย่าง เช่น เรื่องอักขระ ที่ไม่เป็นพุทธภาษา คือ ฐานกรณ์วิบัติ และองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือองค์พระมหากษัตริย์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานี้ก็สำคัญ ขาดไม่ได้ ถ้าขาดไป อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย

ท่านพระอาจารย์ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงประกาศพระศาสนา ทรงหาหลักค้ำประกันอันมั่นคง คือ มุ่งไปที่พระเจ้าพิมพิสาร ความสำคัญอันนี้มีมาตลอด หากประเทศใดไม่มีองค์ประกอบนี้ ซึ่งเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ก็ปฏิเสธได้เลย

เปรียบเหมือนกับก้อนเส้า 3 ก้อน ก้อนที่ 1 คือ ความเป็นชาติ ก้อนที่ 2 มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก้อนที่ 3 มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หากขาดไปก้อนใดก้อนหนึ่ง ก็จะขาดความสมบูรณ์ไป ไม่สามารถจะใช้นึ่งต้มแกงหุงหาอาหารได้


เหตุที่ผู้ฟังเทศน์ไม่ยอมลุกหนี

ตลอด 30 กว่าปี ที่ท่านพระอาจารย์แนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทชาวไทยมา ดูท่านจะแนะนำสั่งสอน แนวประโยชน์ทั้ง 3 ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ถือเป็นหลักสำคัญพอๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันทุกครั้งแห่งพระธรรมเทศนา ท่านจะไม่ละประโยชน์ทั้ง 3 ทั้งอ้างที่มาในพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรมไปพร้อมๆ กัน

ศิษย์ของท่านที่ได้เขียนได้เล่าประวัติของท่าน มักเล่าแต่หลักเป็นส่วนมาก เขียนหรือเล่าปลีกย่อยน้อยมากแต่ศิษย์เก่ากำลังจะเล่านี้ จะเล่าทั้งเหตุและผล พร้อมทั้งที่มาที่ไปพร้อมๆ กัน พอเป็นการเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ผู้ได้ฟังเป็นที่ตั้ง

ท่านพระอาจารย์จะแสดง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มรรคผล นิพพาน อันเป็นสัมปรายิกัตถะและปรมัตถะก็ดี จะนำประโยชน์ทั้ง 2 นี้มาเปรียบเทียบกับทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ แบบสัมพันธ์เป็นวงจรหรือวัฏจักรเสมอ เพื่อเปรียบเทียบ

เหตุนี้ธรรมของท่านพระอาจารย์ ผู้ฟังไม่ยอมลุกหนี ถ้าท่านเทศน์ไม่จบจะไม่ยอมลุกหนี เพราะชวนฟังตลอด และคล้ายเป็นของง่าย เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก นำไปปฏิบัติก็เป็นผล ประสบความสำเร็จจริง ตามสมควรแก่การปฏิบัติ

ขอกล่าวถึงอุปนิสัยและปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ก่อน ผู้เล่าสังเกตว่า ท่านมีความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจสัมพันธ์ และพลานามัยพร้อมมูล กล่าวคือมักน้อยสันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ฉันหนเดียวในบาตร และอยู่ป่าเป็นวัตร เสมอต้นเสมอปลายจนท่านละสังขาร

ปฏิปทาและวัตรที่กล่าวมานี้ ผู้เล่าเคยถวายความเห็นให้เว้นในวัตรบางข้อ เช่น ฉันหนเดียว ท่านก็ไม่ยอม ท่านบอกว่า หนเดียวก็มีค่าเพียงพอแล้ว ท่านมักยกเอาพระมหากัสสปะ มาเป็นอุทาหรณ์บ่อยๆ

ท่านแสดงถึงประโยชน์ 2 คือ ประโยชน์เป็นที่ไปพร้อมในเบื้องหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ท่านจะยกมาเปรียบเทียบกับประโยชน์ในปัจจุบัน เปรียบด้วยการทำนา หวังผล คือ ข้าวสุก เพื่อใช้บริโภค

ท่านกล่าวว่า ในปัจจัย 4 เหตุที่เอาผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มเป็นข้อ 1 นั้น เพราะคนเราเกิดจากครรภ์มา หลังจากชำระสะอาดแล้ว จะเอาผ้ารองรับก่อน ส่วน 3 อย่าง คือ เศรษฐกิจ ปัจจัยอื่นและครอบครัว จึงตามมา

ท่านว่าปัจจัย 4 สำหรับบรรพชิต พระพุทธเจ้าทรงถือเป็นพื้นฐานของมรรคผลธรรมวิเศษที่พระองค์ตรัสรู้ ตลอด 45 พรรษาที่ตรัสเทศนาแก่พุทธบริษัท จึงทรงแสดงเป็นอเนกปริยาย ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม

สำหรับคฤหัสถ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งคุณและโทษ ดังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแสดงไว้ในหนังสือนวโกวาท ภาคคิหิปฏิบัติ ตั้งแต่จตุกกะ คือ หมวด 4 ถึง ฉักกะ คือ หมวด 6 อยากรู้รายละเอียดโปรดค้นดูได้ในหนังสือนวโกวาท

จะกล่าวตามแนวท่านพระอาจารย์มั่น พอเป็นตัวอย่าง

ผู้ทำนาจะได้ผล คือข้าวสุก นำมาบริโภคอย่างอร่อย อิ่มหนำสำราญ พร้อมบุตรและภรรยานั้น เริ่มตั้งแต่การไถ หว่าน ต้องหมั่นเอาใจใส่ เมื่อปักดำแล้วก็คอยดูแลคันนา น้ำ หญ้าที่เป็นศัตรูข้าว และแมลงต่างๆ โดยน้ำอย่าให้ขาด

ท่านพูดเป็นคำพังเพยว่านาน้ำลัด นาน้ำล่วง นาหมาเห่าเมียหมายความว่า นาที่คันนาขาด คันนารั่ว น้ำไม่มีขังอยู่ ข้าวก็ไม่ได้ผล ข้าวไม่พอกิน อดอยากข้าว เมียก็หาของฝาก ยุคโบราณมีไต้ ชาวอีสานเรียกว่า กระบอง (ขี้ไต้มัดรวมกัน 10 ท่อน เรียกว่า ลึมกระบอง) นำไปแลกข้าวบ้านอื่น หมาก็เห่า จึงกล่าวว่านาหมาเห่าเมีย เพราะนาขาดการดูแล ข้าวจึงไม่พอกิน

อันนี้เป็นเรื่องความเจริญในแบบเศรษฐกิจครอบครัว

ส่วนเรื่องความเสื่อมทางเศรษฐกิจ ท่านแสดงไว้ว่า อิตฺถี ทูโต สุรา ทูโต อกฺขา ทูโต ปาปมิตฺโต จโย นิโร ลฺทธํ ลทฺธา วินาเสติ ความเป็นนักเลงหญิง การเป็นนักเลงการพนัน การเป็นนักเลงสุรา การคบคนชั่วเป็นมิตร ผู้ใดประพฤติเช่นนี้ ทรัพย์ที่ได้ก็จะเสื่อมไปท่านเทศน์อย่างนี้บ่อยๆ ขอเล่าพอสังเขป


ลีลาแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์

ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ ผู้ฟังไม่ลุกหนี เพราะลีลาการแสดงธรรมของท่าน มีอ้างคัมภีร์บ้าง เช่น ธรรมบท ขุทฺทกนิกาย หนังสือที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บุคคลนั้นที่นั้น เป็นต้น

หากแสดงแก่บรรพชิต คือ พระที่เข้าไปนมัสการฟังธรรมเป็นครั้งคราว หรือศิษย์ที่อยู่ประจำ ดูจะอ้างอิงคัมภีร์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหนังสือที่ทรงรจนาโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเช่น บทสวดต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแสดง มีจตุรารักขกัมมัฏฐาน เป็นต้น ส่วนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นั้นจะเน้นนวโกวาท วินัยมุข และพุทธประวัติ

พุทธประวัตินั้น จะไม่ละเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ลีลาการแสดงธรรมต่างๆ ของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเอามาจากพระไตรปิฎกบ้าง แม้ในคัมภีร์ในนิทานต่างๆ เช่น คัมภีร์พระเวสสันดร อุณหิสสวิชัยสูตร ปัญญาปารมีสูตร หรือพระนิพนธ์ต่างๆ ของสองพระองค์ดังกล่าว ก็นำมาแสดง ท่านมิได้แสดงเป็นอย่างอื่น แต่ทำไมศิษย์และผู้ฟังจึงเคารพเชื่อฟังและเลื่อมใส

ท่านว่า"ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม

สามัญชนพูด มีค่าเท่ากับ สามัญโวหาร

กัลยาณชนพูด มีค่าเท่ากับ วิสามัญโวหาร

พระอริยเจ้าพูด เป็นพระอริยโวหาร

มีค่าต่างๆ กันดังนี้ เปรียบด้วยข้าว เปลี่ยนให้มีรสชาติยิ่งหย่อนกว่ากันได้"

ที่เล่ามานี้คือ สูตรประจำ ปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์เสาร์


ยกย่องพระมหาเถระ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นพระมหาเถระอีกองค์หนึ่งที่ท่านพระอาจารย์ยกย่อง ด้วยคุณสมบัติพิเศษ

- เป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม

- มีความซื่อสัตย์

- มีผลงานที่ผู้บังคับบัญชายอมรับ

- มีความขยันและอดทนสูง

- ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ใช่พระอริยเจ้า

ข้อ 1 ไม่กล่าวถึง คนทั่วไปก็รู้ ข้อ 2 ท่านเป็นธุระสนองงานให้คณะสงฆ์ ตั้งแต่อายุ 23 ปีมาตลอด ผลงานเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา เป็นผู้มีความอดทนสูงและขยัน ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ในทำเนียบพระเถระฝ่ายบริหารว่า ไม่มีใครเทียบเท่า

สมัยไปเป็นเจ้าคณะมณฑลจำปาศักดิ์ ต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากจำปาศักดิ์สู่กรุงเทพฯ เพื่อรายงานราชการคณะสงฆ์ และให้คำแนะนำในการทำมาหากินแก่ชาวบ้าน อันเป็นนโยบายของ 3พระองค์พ่อลูก (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ที่ให้ไว้แก่คณะสงฆ์ในสมัยนั้น แม้ท่านพระอาจารย์ก็ยึดถือมาตลอด ดังคำอบรมศิษย์ผู้จะออกแสวงวิเวกว่า การสอนคนหมายถึงสอนชาวบ้านต้องสอนปากสอนท้องให้เขาอิ่มก่อน จึงสอนศีลธรรม

สมเด็จฯ นำคณะเดินทางจากจำปาศักดิ์ มาถึงช่องเม็กจะเข้าเขตอุบลราชธานี บังเอิญพระที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ล้มป่วยเสียชีวิตลง เหลือโยมคอยนำเสบียงเดินทาง 2 คน เดินทางมาด้วยกัน 4 คน ตายเสียคนหนึ่ง ช่วยกันหาฟืนเผาเสร็จแล้ว ห่อกระดูกใส่ย่าม สะพายมามอบแก่มารดาบิดาของเธอ ทั้งหนักกระดูกตนเอง แล้วยังหนักกระดูกเพื่อน ท่านพระอาจารย์เล่าไปหัวเราะไปท่านชมเชยความอดทนสูงของสมเด็จฯ มากสมเด็จฯ ท่านปฏิบัติหน้าที่มาจนแก่เฒ่า ได้พักไม่กี่ปีก็มรณภาพ

(สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส)เกิดเมื่อ พ..2410 ที่จังหวัดอุบลราชธานี อุปสมบทเมื่อ พ..2430 ที่วัดศรีทอง โดยมีท่านพระเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์ มรณภาพเมื่อ พ..2499 ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ สิริรวมอายุได้ 89 ปี - ภิเนษกรมณ์)


ความเป็นมาของมุตโตทัย

 

สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น เวลาได้ฟังท่านพระอาจารย์พูดคำใดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นที่พอใจ ผู้เล่าก็จะนำมาเขียนซ้ำ แม้แต่ท่านอาจารย์วิริยังค์ ท่านอาจารย์วัน ก็มีความคิดแนวเดียวกัน ทั้ง 2องค์ เขียนแล้วก็เอามาวางไว้ให้ข้างที่นอนของผู้เล่า เป็นลักษณะคล้ายๆ กับบันทึกความเข้าใจ หรือบันทึกความจำเพื่อกันลืม

เหตุที่มาเป็นหนังสือมุตโตทัยนั้น เนื่องจากเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ขณะนั้นท่านเป็นรองเจ้าคณะภาค ท่านมาตรวจราชการ และได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพักอยู่ 3คืน ที่กุฏิของผู้เล่า ตอนพักกลางวันท่านไปเห็นบันทึกนี้ก็เลยเอามาอ่าน  พออ่านเสร็จ เราก็ขึ้นไปปฏิบัติท่านเจ้าคุณฯ เพราะเคยเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านสอนบาลีให้

ท่านเจ้าคุณฯ ถามว่า "อันนี้ใครเขียนล่ะ"

"เขียนหลายคนขอรับกระผม"

"มีใครบ้าง"

"มีกระผม ท่านอาจารย์วิริยังค์ และท่านอาจารย์วัน ขอรับกระผม"

"เออ...ดีมาก เราจะเอาไปพิมพ์"

"แล้วแต่ท่านเจ้าคุณ ขอรับกระผม"

ด้วยความเคารพ เพราะท่านมีบุญคุณ

ท่านจากไปประมาณสักสามเดือน ก็มีห่อหนังสือส่งมา ในนามของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เล่านำไปถวายท่าน

"อะไรนั่น" ท่านพระอาจารย์ถาม

"กระผมก็ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้เปิดดู แต่ว่าคล้ายๆ กับหนังสือ"

"เปิดดูซิ"

คือลักษณะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ถ้ายังไม่ได้ดูเสียก่อน ไม่ให้พูดว่าอะไรอยู่ข้างในเราจะไปบอกว่า หนังสือ ท่านไม่เอา

แม้แต่เครื่องใช้ไม้สอยบริขารที่ผู้เล่าเป็นพระภัณฑาคาริก (ผู้มีหน้าที่รักษาคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ -ภิเนษกรมณ์) เวลาพระสงฆ์ไปขอสบง จีวร เพื่อผลัดเปลี่ยนน่ะ

ท่านจะถามว่า "ว่ายังไง ทองคำ มีไหม"

ก็ต้องบอกว่า "กระผมยังไม่ได้ดู จะลองไปดูเสียก่อน อาจจะมีก็ได้"

ต้องพูดอย่างนั้น ถ้าเราจะไปรับโดยตรงอ๋อมี มีถมไป มีเยอะแยะน่ะแหละ เดี๋ยวท่านตะเพิดเอา ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ท่านให้พูดด้วยสติปัญญา ลักษณะคล้ายๆ กับพูดเลียบๆ เคียงๆ ไป ถ้าพูดเลียบเคียง ท่านก็ทราบเองว่า ของนั้นอยู่ แล้วเราก็เชื่อมั่นว่ามันมี แต่ถ้าเรายังสงสัยว่ามีอยู่ ก็ต้องบอกว่า

"ขอโอกาส ครูบาอาจารย์ กระผมยังสงสัยอยู่ ขอไปดูเสียก่อน" ต้องบอกว่ายังสงสัยอยู่

ถ้ามีก็บอก "กระผมยังไม่ได้เปิดดู อาจจะมีก็ได้"

ที่ท่านให้พูดอย่างนั้นน่ะเป็นคำสอน เพื่อฝึกสติปัญญาของสานุศิษย์ ให้มีสติด้วย ให้มีปัญญาด้วย ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น คำที่เราพูดออกไป ถ้าจะเป็นโทษแก่เราถึงขึ้นโรงขึ้นศาล เราก็สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ เพราะฉะนั้นท่านถึงไม่ให้พูดตรง

เหมือนอย่างเราพูดว่า "ท่านครูบาอาจารย์ วันนี้ได้ปลานำมาใส่บาตรนะ นิมนต์ท่านฉันลาบ ฉันก้อยนะ"

พระฉันไม่ได้ ผิดพระวินัย เพราะออกชื่อโภชนะทั้งห้า ท่านคงจะถือหลักนี้แหละ

หลังจากท่านรับหนังสือมาแล้วจึงเปิดดู

"เอ เราเคยได้ยินเจ้าคุณอุบาลีฯ พูดว่า คุณมั่นเธอเทศนาด้วยภาษามุตโตทัย เป็นมุตโตทัย ภาษามุตโตทัยเป็นคำพูดของเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วทำไมจึงมาเป็นชื่อหนังสืออันนี้ล่ะ ได้มาจากไหน"

ผู้เล่า "ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไปค้นพบจากที่นอนของกระผม"

ท่านฯ "ใครเขียนล่ะ"

ผู้เล่า "เขียนหลายรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์วิริยังค์ เพราะท่านเป็นผู้นำในการเขียน พวกกระผมก็ได้เขียน ท่านวันก็ได้เขียน ผิดถูกขอโอกาสครูบาอาจารย์ กระผมยอมรับผิดทุกอย่าง"

หลังจากท่านฉันจังหันเสร็จ ท่านก็เข้าห้อง ผู้เล่าก็ขึ้นไปปฏิบัติท่าน นำหนังสือขึ้นไปถวาย เป็นเวลาที่ท่านจะต้องพัก แต่ท่านไม่พัก อ่านต่อจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านฉันน้ำชา ผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ท่านก็บอกว่า

"เออ ดีเหมือนกันนะ เป็นเทศนาคำย่อ ผู้มีปัญญาพิจารณาได้" ท่านว่าอย่างนั้น

หนังสือมุตโตทัยที่พิมพ์แจกในงานถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ก็มีของท่านอาจารย์วิริยังค์เป็นบทนำ ต่อจากนั้นก็เป็นของหลวงตาทองคำเป็นอันดับ 2 อันดับ 3 คือ ท่านอาจารย์วัน ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านหนังสือมุตโตทัย ก็คือหนังสือที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตรวจทานแล้ว เป็นของที่ท่านยอมรับแล้วว่า ดีอยู่ เพราะว่าเทศนาเป็นคำย่อ แต่ผู้มีปัญญาก็พิจารณาได้

ท่านมักจะพูดเสมอเรื่องค่าของศูนย์ ท่านเปรียบถึงพระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ พระนิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง

"ศูนย์ทำไมจึงมีอยู่ ทองคำ ลองเขียนดูซิ"

1-2-3-4-5-6-7-8-9-0

ธรรมดาเลขนั้นมีอยู่เก้าตัวใช่ไหม ที่มันนับได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วนเลขศูนย์มันอ่านได้ มันมีอยู่แต่ไม่มีค่า ฉะนั้นเอาไปบวกลบคูณหารกับเลข 1 ถึง 9 ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น แต่ศูนย์ก็ยังมีอยู่ เมื่อนำไปต่อกับเลขอื่น เช่น 1 ก็จะกลายเป็น 10 แต่ศูนย์อยู่ตามลำพังก็จะไม่มีค่า

เปรียบเหมือน ฐิติภูตัง คือ จิตดวงเดิมที่มีอยู่เป็นอยู่ แต่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อชำระด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เป็น ฐิติญาณัง จิตคือผู้รู้ว่าสูญจากอาสวะ และรู้ว่าสูญจากอาสวะก็เป็นบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นคู่กันกับ นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ

พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวก หลายหมื่นหลายแสนองค์ เข้าสู่พระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีที่เต็ม ว่างอยู่ตลอด อย่ากลัวพระนิพพานเต็ม พวกเราจงเร่งไปสู่พระนิพพานเหมือนกับพระพุทธเจ้าเถิด พระนิพพานไม่เต็มหรอก ท่านว่าอย่างนั้น

มีแต่พวกขี้เกียจ กุสิโต หีน วิริโย ท่านพูดเป็นภาษาบาลี

ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่มีที่สิ้นสุด แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคำนำต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไม่มีที่สิ้นสุด

เหมือนกับศัพท์บาลีที่ว่า สงฺสาเร อนมตฺตคฺเค ในสงสารมีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้แล้ว นอกจากพระสัพพัญญูเจ้าเท่านั้นจะรู้ได้ เพราะอาศัยอะไร เพราะอาศัยอวิชชาตัวนี้แหละหุ้มห่อ จึงไม่รู้

เวลาท่านมีอารมณ์สนุกๆ ก็จะพูดกับพวกเรา ด้วยภาษาพื้นๆ ธรรมดา ไม่ใช่ว่าท่านจะพูดพร่ำเพรื่อ บางทีท่านอาจจะพิจารณาว่า บุคคล สถานที่ วัตถุ นั่นล่ะ เรายังไม่ได้พูดให้ใครฟัง ท่านก็จะถือโอกาสจังหวะเวลานั้นพูด เกี่ยวกับพระแก้วมรกตเอย เกี่ยวกับพระนครปฐมเอย อะไรทำนองนี้

 

การครองผ้า - สีผ้า

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า  การครองผ้าแบบพาดบ่าข้างเดียว แล้วมีผ้ารัดอกนั้น เป็นพระราชบัญญัติชั่วคราว ตราขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกประมาณ 100 ปี สาเหตุมีสงครามติดพัน รบกันบ่อยครั้งกับทหารพม่า พวกจารกรรมพม่าแต่งตัวเป็นพระเข้ามาสืบราชการลับ รบคราวใดแพ้ทุกที ผิดสังเกต พระพม่ามักเข้ามาในกองทัพ ไทยคิดว่าเป็นพระไทยจึงรบแพ้ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้นมา ให้พระไทยห่มอย่างว่านั้น พระพม่าที่เข้ามา ก็คือจารบุรุษนั่นเอง ไม่ใช่พระ เมื่อศึกสงครามเลิกแล้ว ก็ยกเลิกพระราชบัญญัติด้วย แต่สมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวก คำสั่งไม่ทั่วถึง จึงถือกันมาจนบัดนี้

เรื่องสีผ้านั้น ท่านพระอาจารย์เล่าว่า สีผ้านั้นพระวินัยกล่าวไว้อย่างชัดเจน คือ สีกรัก สีเหลืองหม่น สีเหลืองคล้ำ และสีอนุโลมอีกสองสี คือ สีเหลืองแก่ และสีมะเขือสุกแก่

ท่านว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้พม่าประมาณ 100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบกัน


การฟื้นฟูศาสนาในประเทศไทย

 

เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นี้ ท่านปรารภหลายวาระหลายสถานที่ ท่านพระอาจารย์เล่าว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงความชราภาพของพระองค์ทั้งสองว่า

"ตถาคตและพระองค์ก็ย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว ไม่ช้าตถาคตก็จะปรินิพพาน และก็เช่นกัน พระองค์ก็จะเสด็จสวรรคต ตถาคตไม่กลับมาสู่ภพนี้อีก ส่วนพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร และเป็นพระสหายของตถาคต ยังต้องกลับมาสร้างบารมีต่อ ถ้าคราวใดศาสนาของตถาคตเสื่อมลง ขอพระองค์ทรงกลับมาฟื้นฟูด้วย"

ต่อมาไม่นาน พระโอรสวิฑูฑภะก่อการกบฏขึ้นในแผ่นดิน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จหนีไปยังแคว้นมคธ เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอชาตศัตรู แต่พระองค์เสด็จไปไม่ทัน ประตูเมืองถูกปิดลงเสียก่อน ด้วยความชราภาพและเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตอย่างเดียวดาย ไร้ญาติขาดมิตร ที่ศาลาที่พักคนเดินทางนอกประตูเมือง นี่แหละหนอ สังสารวัฏ มีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้

พระพุทธเจ้าคงจะทรงเห็นเหตุอันนี้ จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลอย่างนั้น ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล นั้นเอง ที่มาทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเมื่อถึงจุดนั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเสริมสร้าง นักฟื้นฟู นักบูรณะ นักปฏิสังขรณ์ ทรงทำสิ่งที่ชำรุดให้ดีขึ้น ทำสิ่งที่ผิดจากของเดิมให้เข้าสู่ที่เดิม ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนการซ่อมบำรุงวัตถุใช้งานที่เสื่อมสภาพ ให้มีสภาพใช้งานได้เหมือนเดิม ผู้เล่าจะไม่กล่าวโครงสร้างฟื้นฟู เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้มากแล้ว จะกล่าวเฉพาะผลงานด้านการศึกษา การพระศาสนา และการปกครองแผ่นดิน ภาษาอังกฤษก็ตรัสได้เป็นคนแรกของชาวไทย ภาษาบาลีก็เป็นพระมหาเปรียญ ทรงรจนาพระคาถาและพระปริตรต่างๆ ไว้มาก มีอรรถรสอันลึกซึ้ง และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ติดอันดับโลก

การปรับปรุง เสริมสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า ทั้งด้านการศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันนี้ มีสาเหตุและปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะภัยแห่งสงครามเป็นภัยใหญ่

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้แก่พม่าประมาณ 100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจของชาวอยุธยาเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบติดกันเกิดขึ้น ชายทุกคนต้องเป็นทหารออกรบ หญิงทั้งสาวทั้งแก่ก็ต้องร่วมออกรบ ส่งเสบียง ไถนา ดำนาสารพัด แม้แต่พระสงฆ์ก็คงจะระส่ำระสายช่วยอยู่ด้านหลัง จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก

ความเป็นผู้แพ้มีแต่ทุกข์กับทุกข์ เจ็บป่วยจากการเหน็ดเหนื่อยในสงครามเอย บาดแผลจากคมหอกคมดาบเอย อดอยากเอย ซากศพทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหญิง ทั้งตายเก่าตายใหม่ เรื่องเหล่านี้คือเหตุแห่งความเสื่อมของศาสนา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มมาฟื้นฟู

ทุกท่านยอมรับผลงานของพระองค์ ว่าตามความจริงในปัจจุบัน การศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ ล้วนเป็นผลงานของพระองค์ การศึกษาวิทยาการทางพระพุทธศาสนาก็ดี การปกครองคณะสงฆ์ก็ดี การปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติทรงพระวินัยก็ดี การเจริญแสวงหาวิเวกเดินรุกขมูลธุดงค์ก็ดี พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง ครบถ้วนสมบูรณ์ พอเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ แม้ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยอมรับว่าได้แบบอย่างมา รองจากครั้งพุทธกาล ก็มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เป็นแบบฉบับตลอดมา

เมื่อครั้งพระองค์เสด็จจาริกธุดงค์จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ไปตามฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักตามชายทุ่งชายป่า ใกล้อุปจารคาม เจริญสมณธรรม หากมีชาวบ้านมาฟังธรรม ก็แสดงธรรมให้ฟัง ให้ได้ประโยชน์ทั้งตน ผู้อื่น และพระศาสนาไปพร้อมๆ กัน

พอถึงสุโขทัย กำลังหาที่พัก ชาวบ้านก็มากราบถวายพระพรว่า มีดอนแห่งหนึ่งเป็นดอนศักดิ์สิทธิ์ ปกติชาวบ้านไม่ยินยอมให้เข้าไป เพราะเคยมีพระเข้าไป แล้วแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อสถานที่นั้น ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเดือดร้อน แต่พระองค์ทรงรับรองกับชาวบ้านว่า นี้คือเจ้าของป่าดอนนั้น หากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น พระองค์จะตายแทน ชาวบ้านก็ยินยอม อาราธนานิมนต์พระองค์ไปพัก เดินจงกรมเจริญสมณธรรมที่นั่น พระองค์ได้ไปพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงโดยบังเอิญ ขากลับทรงนำกลับมาไว้ที่กรุงเทพฯ

นี้คือตัวอย่างการออกจาริกธุดงค์กัมมัฏฐาน ที่ทรงทำเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

(พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วว่า ภายหน้าจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลำดับที่ 3 เมื่อนับพระเมตไตรย เป็นลำดับที่1 และจะมีพระนามว่า พระธรรมราชา - ภิเนษกรมณ์)


บุคลิกพิเศษของท่านพระอาจารย์

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ตั้งแต่วันบรรพชาอุปสมบท จนกระทั่งวาระสุดท้ายเรียกว่าครบบริบูรณ์ เหมือนกับว่า เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ผล คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันนี้เป็นผลของความมักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ท่านพระอาจารย์มั่น ทำได้สม่ำเสมอ ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิต จนกระทั่งบั้นปลายชีวิต

ธุดงควัตรของท่าน คือบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้ที่จะไปถวาย ถ้าเป็นจีวรสักผืนหนึ่ง ผ้าสบง ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เรียกว่าผ้าก็แล้วกัน ถ้าจะถวายท่าน เขามักจะไปวางไว้ที่บันไดบ้าง วางใกล้ๆ กุฏิของท่านบ้าง วางตรงทางเดินไปห้องน้ำบ้าง ท่านเห็นก็บังสุกุลเอา บางผืนก็ใช้ บางผืนก็ไม่ได้ใช้ ผู้ไม่รู้อัธยาศัยไปถวายกับมือ ท่านจะไม่ใช้

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระนักปฏิบัติ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ในยุค 2,000 ปี เป็นสาวกที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ ด้วยลักษณะภายนอกและภายใน เพราะเหตุนั้นชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์เกียรติคุณของท่าน จึงขจรขจายถึงทุกวันนี้ แทนที่จะเป็น 60 ปีแล้วก็เลือนหายไป กลับเพิ่มขึ้นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะบุคลิกของท่านนั้น เป็นบุคลิกที่สมบูรณ์แบบ ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นบุคคลน่าอัศจรรย์ในยุคนี้

ขอให้ท่านสังเกตดูในรูปภาพ คิ้ว คาง หู ตา จมูก มือ และเท้า ตลอดชีวิตของท่านนั้น ท่านเดินทางข้ามเขาไปไม่รู้กี่ลูก จนเท้าพอง ไม่ใช่เท้าแดงหรือเท้าเหลือง

คิ้ว ท่านมีไฝตรงระหว่างคิ้ว ลักษณะคล้ายกับพระอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝอันนี้เป็นจุดดำเล็กๆ ไม่ได้นูนขึ้นมา มีขนอ่อน 3 เส้น ไม่ยาวมาก และโค้งหักเป็นตัวอักษร ก เป็นเส้นละเอียดอ่อนมากถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น ขณะท่านปลงผมจะปลงขนนี้ออกด้วย แต่จะขึ้นใหม่ในลักษณะเดิมอีก

ใบหูของท่านมีลักษณะหูยาน จมูกโด่ง แววตาของท่านก็เหมือนแววตาไก่ป่า บางคนอาจไม่เคยเห็นไก่ป่า คือ เป็นวงแหวนในตาดำ มือของท่านนิ้วชี้จะยาวกว่า แล้วไล่ลงมาจนถึงนิ้วก้อย นิ้วเท้าก็เหมือนกัน

หลวงปู่หล้าท่านก็เคยเล่าว่า เวลาล้างเท้าหลวงปู่มั่น เห็น ฝ่าเท้าของท่านเป็นลายก้นหอย 2 อัน และมีรอยอยู่กลางฝ่าเท้า เหมือนกากบาทเวลาท่านเดินไปไหน ท่านเดินก่อน สานุศิษย์จะไม่เหยียบรอยท่าน พอท่านเดินผ่านไปแล้ว ชาวบ้านจะไปมองดู จะเห็นเป็นลายตารางปรากฏอยู่ทั้งสองฝ่าเท้า

รอยนิ้วเท้าก็เป็นก้นหอยเหมือนกัน จะเรียกก้นหอยหรือวงจักรก็ได้ มีอันใหญ่กับอันเล็ก 2 อัน เป็นลักษณะพิเศษของท่าน (หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่านาสีดา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้เล่าเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะหลวงปู่จันทร์โสมพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ได้ถวายการนวดหลวงปู่มั่น เมื่อท่านหลับแล้ว หลวงปู่ได้พลิกดูฝ่ามือของหลวงปู่มั่น พบว่า มีเส้นกากบาทเต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง และมือท่านก็นิ่มมาก)

บุคคลทุกระดับ เมื่อเข้าไปถึงท่านแล้ว ท่านจะเป็นกันเองมาก คุยสนุกสนานเหมือนคนรู้จักกันมานาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่มักจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ท่านจะไม่ค่อยเป็นกันเองเท่าไหร่ ถามคำไหนได้คำนั้น ถ้าไม่ถามท่านก็นั่งเฉย

ท่านพระอาจารย์มั่นเคยพูดว่า

"ผู้ที่จะมาศึกษาธรรมะกับเรา จะเป็นญาติโยมก็ดี หรือเป็นพระสงฆ์ก็ดี ขอให้เก็บหอกเก็บดาบไว้ที่บ้านเสียก่อน อย่านำมาที่นี่ อยากมาปฏิบัติ มาฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้านำหอกนำดาบมา จะไม่ได้ฟังเทศน์ของพระแก่องค์นี้"

แม้กระทั่งเด็กที่ไม่รู้เดียงสา ป.2-3-4 ท่านก็ทำเป็นเพื่อนได้ ในความรู้สึกของผู้เล่าผู้อยู่ใกล้ชิด เวลาท่านอยู่กับเด็ก กิริยาของท่านก็เข้ากับเด็กได้ดี เพราะฉะนั้นความโดดเด่นของท่าน ใครเข้าไปแล้วกลับออกมาก็อยากเข้าไปอีก ใครได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว กลับออกมาก็อยากฟังอีก

อันนี้คืออานิสงส์ที่ท่านตั้งปณิธานว่า ข้าพระองค์ขอปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างพระองค์ หลังจากที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศนาจนจบ จึงได้ตั้งปณิธานเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า คือ องค์สมณโคดมนี้(ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเสนาบดีแห่งแคว้นกุรุ - ภิเนษกรมณ์) หลังจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดจนชาติปัจจุบันมาเป็นท่านพระอาจารย์มั่น

ทีนี้ทำไมท่านจึงละความปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพิจารณาแล้ว รู้สึกว่าตัวเรานี้ปรารถนาพุทธภูมิจึงมาสร้างบารมี ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ เขาคิดอยู่ในใจเหมือนกับเรานับไม่ถ้วน ผู้ที่ออกปากแล้วเหมือนกับเราก็นับไม่ถ้วน ผู้ที่ได้รับพระพุทธพยากรณ์แล้วก็นับไม่ถ้วน และผู้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามีอีกหลายองค์ เช่น พระศรีอริยเมตไตรย พระเจ้าปเสนทิโกศล กว่าจะถึงวาระของเรา มันจะอีกนานเท่าไหร่ เราขอรวบรัดตัดตอนให้สิ้นกิเลสในภพนี้เสียเลย ท่านพิจารณาเช่นนี้ จึงได้ละความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

อริยวาส อริยวงศ์

เรื่องมีอยู่ว่า สมัยที่ผู้เล่าอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองผือ มีชาวกรุงเทพมหานครไปกราบนมัสการ ถวายทานฟังเทศน์ และได้นำกระดาษห่อธูปมีเครื่องหมายการค้ารูปตราพระพุทธเจ้า (บัดนี้รูปตรานั้นไม่ปรากฏ) ตกหล่นที่บันไดกุฏิท่าน พอได้เวลาผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ปฏิบัติท่านตามปกติ พบเข้าเลยเก็บขึ้นไป พอท่านเหลือบมาเห็น ถามว่า"นั่นอะไร"

"รูปพระพุทธเจ้าขอรับกระผม"

ท่านกล่าว"ดูสิคนเรานับถือพระพุทธเจ้า แต่เอาพระพุทธเจ้าไปขายกิน ไม่กลัวนรกนะ"

แล้วท่านก็ยื่นให้ผู้เล่า บอกว่า "ให้บรรจุเสีย"

ผู้เล่าเอามาพิจารณาอยู่ เพราะไม่เข้าใจคำว่า "บรรจุ" จับพิจารณาดูพระพักตร์เหมือนแขกอินเดีย ผู้เล่าอยู่กับท่านองค์เดียว ท่านวันยังไม่ขึ้นมา

ท่านพูดซ้ำอีกว่า "บรรจุเสีย"

"ทำอย่างไรขอรับกระผม"

"ไหนเอามาซิ"

ยื่นถวายท่าน ท่านจับไม้ขีดไฟมาทำการเผาเสีย และพูดต่อว่า

"หนังสือธรรมะสวดมนต์ที่ตกหล่นขาดวิ่นใช้ไม่ได้แล้ว ก็ให้รีบบรรจุเสีย กลัวคนไปเหยียบย่ำ จะเป็นบาป"

ผู้เล่าเลยพูดไปว่า"พระพุทธเจ้าเป็นแขกอินเดียนะกระผม"

ท่านตอบ"หือ คนไม่มีตาเขียน เอาพระพุทธเจ้าไปเป็นแขกหัวโตได้"

ท่านกล่าวต่อไปว่า

"อันนี้ได้พิจารณาแล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย พระอนุพุทธสาวกในยุคพุทธกาล ตลอดถึงยุคปัจจุบัน ล้วนแต่ไทยทั้งนั้น ชนชาติอื่น แม้แต่สรณคมน์และศีล 5 เขาก็ไม่รู้ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ดูไกลความจริงเอามากๆ เราได้เล่าให้เธอฟังแล้วว่า ชนชาติไทย คือ ชาวมคธ รวมรัฐต่างๆ มีรัฐสักกะ เป็นต้น หนีการล้างเผ่าพันธุ์มาในยุคนั้น และชนชาติพม่า คือ ชาวรัฐโกศล เป็นรัฐใหญ่ รวมทั้งรัฐเล็กๆ จะเป็นวัชชี มัลละ เจติ เป็นต้น ก็ทะลักหนีตายจากผู้ยิ่งใหญ่ด้วยโมหะ อวิชชา มาผสมผสานเป็นมอญ (มัลละ) เป็นชนชาติต่างๆ ในพม่าในปัจจุบัน"

"ส่วนรัฐสักกะใกล้กับรัฐมคธ ก็รวมกันอพยพมาสุวรรณภูมิ ตามสายญาติที่เดินทางมาแสวงโชคล่วงหน้าก่อนแล้ว"

ผู้เล่าเลยพูดขึ้นว่า"ปัจจุบัน พอจะแยกชนชาติในไทยได้ไหม ขอรับกระผม"

"ไม่รู้สิ อาจเป็นชาวเชียงใหม่ ชาวเชียงตุงในพม่าก็ได้"

ขณะนั้นท่านวันขึ้นไปพอดี ตอนท้ายก่อนจบ ท่านเลยสรุปว่า

"อันนี้ (หมายถึงตัวท่าน) ได้พิจารณาแล้ว ทั้งรู้ทั้งเห็นโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น"

ผู้เล่าพูดอีกว่า"แขกอินเดียทุกวันนี้คือพวกไหน ขอรับกระผม"

ท่านบอก"พวกอิสลามที่มาไล่ฆ่าเราน่ะสิ"

"ถ้าเช่นนั้นศาสน์พราหมณ์ ฮินดู เจ้าแม่กาลี การลอยบาปแม่น้ำคงคา ทำไมจึงยังมีอยู่ รวมทั้งภาษาสันสกฤตด้วย"

"อันนั้นเป็นของเก่า เขาเห็นว่าดี บางพวกก็ยอมรับเอาไปสืบต่อๆ กันมาจนปัจจุบัน ส่วนพวกเรา พระพุทธเจ้าสอนให้ละทิ้งหมดแล้ว เราหนีมาอยู่ทางนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรก็ทำตาม"

ท่านยังพูดคำแรงๆ ว่า "คุณตาบอดตาจาวหรือ เมืองเรา วัดวา ศาสนา พระสงฆ์ สามเณร เต็มบ้านเต็มเมืองไม่เห็นหรือ" (ตาบอดตาจาว เป็นคำที่ท่านจะกล่าวเฉพาะกับผู้เล่า)

"แขกอินเดียเขามีเหมือนเมืองไทยไหม ไม่มี มีแต่จะทำลาย โชคดีที่อังกฤษมาปกครอง เขาออกกฎหมายห้ามทำลายโบราณวัตถุ โบราณสถาน แต่ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่มีร่องรอยให้เราเห็น อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าเลย ตัวเธอเองนั่นแหละ ถ้าได้ไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย จ้างเธอก็ไม่ไปเกิด"

"ของเหล่านี้นั้น ต้องไปตามวาสตามวงศ์ตระกูล อย่างเช่น วงศ์พระพุทธศาสนาของเรานั้น เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยตระกูล เป็นวงศ์ที่พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติ คุณแปลธรรมบทมาแล้ว คำว่า ปุคฺคลฺโล ปุริสาธญฺโญ ลองแปลดูซิว่า พระพุทธจะเกิดในมัชฌิมประเทศ หรืออะไรที่ไหนก็แล้วแต่ จะเป็นที่อินเดีย หรือที่ไหนก็ตาม ทุกแห่งตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฏฏ์ ถึงวันนั้นพวกเราอาจจะไปอยู่อินเดียก็ได้"

"พระพุทธเจ้าทรงวางพุทธศาสนาไว้ จะเป็นระหว่างพุทธันดรก็ดี สุญญกัปปก็ดี ที่ไม่มีพระพุทธศาสนา แต่ชนชาติที่ได้เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยประเพณี อริยนิสัย ก็ยังสืบต่อไปอยู่ ถึงจะขาด ก็ขาดแต่ผู้ได้สำเร็จมรรคผลเท่านั้น เพราะว่าจากบรมครู ต้องรอบรมครูมาตรัสรู้ จึงว่ากันใหม่"

ผู้เล่าได้ฟังมาด้วยประการฉะนี้แล


ความเป็นมาของชาวไทย

 

พระปฐมเจดีย์เป็นเจติยสถานที่ตั้งอยู่ในประเทศสุวรรณภูมิ ที่เรียกว่า "แหลมทอง" คือประเทศไทยในปัจจุบัน

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า เมื่อครั้งมีการทำสังคายนาครั้งที่ 3 นั้น พิเศษคือ มีพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถอันกว้างไกล เห็นว่า พระพุทธศาสนามารวมเป็นกระจุกอยู่ที่ชมพูทวีป หากมีอันเป็นไปจากเภทภัยต่างๆ พระพุทธศาสนาอาจสูญสิ้นก็ได้ จึงมีพระประสงค์จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ สำหรับพระสงฆ์สายต่างๆ ผู้เล่าจะไม่นำมากล่าว จะกล่าวเฉพาะที่มายังสุวรรณภูมิประเทศ ตามที่ท่านพระอาจารย์เล่าให้ฟัง

ท่านที่เป็นหัวหน้ามาสุวรรณภูมิคราวนั้น ตามประวัติศาสตร์ที่ได้จารึกไว้ คือท่านพระโสณะ และท่านพระอุตตระ

การส่งพระสงฆ์ไปประกาศพุทธศาสนาคราวสังคายนาครั้งที่ 3 นั้น อย่าเข้าใจว่า จัดแจงบริขารลงในบาตรและย่าม ครองผ้าเสร็จก็ออกเดินทางได้ ต้องมีการจัดการเป็นคณะมากพอสมควร รวมทั้งพระสหจร และสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ด้วยเป็นกระบวนใหญ่ การเดินทางรอนแรมระยะไกลไปต่างประเทศ พระสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้า และสหจร ท่านคงมีสายญาติ และญาติโยมผู้เคารพนับถือตามไปด้วย คงไม่ปล่อยให้ท่านเหล่านั้น เดินทางไปลำบาก ต้องมีคณะติดตามเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือหุงหาเสบียงอาหารในระหว่างเดินทาง อีกอย่างหนึ่ง หากพบภูมิประเทศที่เหมาะสม ก็ตั้งถิ่นฐานแสวงโชคอยู่ที่สุวรรณภูมิประเทศได้ จึงได้พากันมาเป็นกระบวนใหญ่

ชนชาติเจ้าของถิ่นเดิม ที่อาศัยอยู่ในสุวรรณภูมิประเทศมีอยู่แล้ว แต่คงไม่มาก หากมีอันตรายจากสัตว์ร้าย และเภทภัยต่างๆ มาย่ำยีเบียดเบียน การป้องกันก็ลำบาก เพราะกำลังไม่พอ นครปฐมคงเป็นที่รวมชุมชน กระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนักแสวงโชคจากชมพูทวีป คงเอาที่นั้นเป็นจุดเริ่มต้น ชาวสุวรรณภูมิก็คงได้ยินกิตติศัพท์เช่นกัน จึงต้อนรับด้วยความยินดี

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ดี การแสวงโชคของญาติโยมที่ตามมาก็ดี ได้รับการสนับสนุนด้วยดี ประกอบกับผืนแผ่นดินก็กว้างใหญ่ไพศาลอุดมสมบูรณ์ ชาวประชาถิ่นเดิมก็ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย และศีล5 มีการสร้างวัดถวาย คงเป็นวัดพระปฐมเจดีย์เดี๋ยวนี้ ส่วนนักแสวงโชคก็คงประกอบสัมมาอาชีพไปตามความสามารถ และปฏิบัติพระสงฆ์ไปด้วยพร้อมๆ กัน นี้คือชนชาวชมพูทวีปที่ได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก

นักแสวงโชคเหล่านั้น เมื่อประสบโชคแล้ว แทนที่จะหยุดอยู่แค่นั้น ก็นึกถึงญาติๆ ทางชมพูทวีป กลับไปบอกข่าวสารแก่ญาติๆ จึงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานตามกันมาอีก

ลุศักราชประมาณ 500 ถึง 900 ปี หลังพุทธปรินิพพาน อาเพศเหตุร้ายก็เริ่มเกิดขึ้น เนื่องจากชนชาติชาวเปอร์เซีย ในปัจจุบัน คือ แถบตะวันออกกลาง เกิดมีลัทธิอย่างหนึ่งขึ้นมา ในปัจจุบันคือ ศาสนาอิสลาม ได้จัดขบวนทัพอันเกรียงไกร รุกรานเข้าสู่ชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน อินเดียสมัยนั้น มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งอาศัยของชาวชมพูทวีปทั้ง7รัฐ รวมทั้งชาวศากยวงศ์ของพระองค์ อยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง การเตรียมรบจึงไม่เพียงพอ เมื่อกองทัพอันเกรียงไกรยกเข้ามา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบสิ้นชาติก็เกิดขึ้น การหนีตายอย่างทุลักทุเลของรัฐเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยนาลันทาเอย พระเวฬุวันเอย พระเชตวันเอย บุพพารามเอย รวมทั้งพระสงฆ์เป็นหมื่นๆ ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกไว้แล้ว ตายเป็นเบือราบเรียบเป็นหน้ากลอง

ชาวรัฐโกศลและรัฐเล็กรัฐน้อย เช่น ลิจฉวี มัลละ ก็ทะลักเข้าสู่ดินแดนชเวดากอง คือ พม่า มอญ ไทยใหญ่ ในปัจจุบัน ชาวมคธรัฐ มีเมืองราชคฤห์เป็นราชธานี ก็หนีตามสายญาติที่เดินทางมาก่อนแล้ว มุ่งสู่สุวรรณภูมิ รวมทั้งรัฐเล็กรัฐน้อย มีรัฐสักกะ โกลิยะ และอื่นๆ ก็ติดตามมาด้วย แยกเป็นสองสาย สายหนึ่งไปทางโยนกประเทศ คือ รัฐฉาน ปัจจุบันอยู่ในพม่า และเลยไปถึงมณฑลยูนนานของประเทศจีน

รัฐใหญ่ในครั้งพุทธกาล คือรัฐมคธ เป็นไทยในปัจจุบัน รัฐโกศล คือ พม่า (เมียนมาร์ในปัจจุบัน) ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พม่าและไทย พระพุทธเจ้าทรงโปรดและตรัสสอนเป็นพิเศษ สองประเทศนี้จึงมีพระพุทธศาสนาที่มั่นคงมายาวนาน และจะยาวนานต่อไป แต่พม่าเป็นเมืองเศรษฐีอุปถัมภ์ สมัยเป็นชาวโกศล ก็มีคหบดี คือ ท่านอนาถบิณฑิกะและนางวิสาขาเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่ไทยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พิเศษกว่าพม่า

ชาวพม่ามีอุปนิสัยทุกอย่าง โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ เหมือนคนไทย เป็นมิตรคู่รักคู่แค้น จะฆ่ากันก็ไม่ได้ จะรักกันก็ไม่ลง ท่านว่าอย่างนี้ สมัยพุทธกาล รัฐมคธมีปัญหาอะไรก็ช่วยกัน บางคราวก็รบกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มาเป็นไทยเป็นพม่า ก็รบกัน ประวัติศาสตร์ก็จารึกไว้แล้ว

ส่วนพระปฐมเจดีย์นั้น ผู้เล่ากราบเรียนถามท่านพระอาจารย์ ท่านตอบว่า คงจะสร้างเป็นอนุสรณ์การนำพระพุทธศาสนามาสู่สุวรรณภูมิเป็นครั้งแรกฟังแต่ชื่อก็แล้วกัน ปฐมก็คือที่หนึ่ง คือ พระเจดีย์องค์แรก ท่านกล่าวต่อไปว่า คงบรรจุพระธาตุพระอรหันต์รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุด้วย เมื่อมีการบูรณะแต่ละครั้ง ผู้จารึกเรื่องราว มักบันทึกเป็นปัจจุบันเสีย ประวัติศาสตร์เบื้องต้นจึงไม่ติดต่อ ขาดเป็นขั้นเป็นตอนว่า คนนั้นสร้างบ้าง คนนี้สร้างบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น

คำพูดแต่ละยุค มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ย้อนถอยหลังกลับไป คำว่า ประเทศพม่า คนไทยจะไม่รู้จัก รู้จักพม่าว่า เมืองมัณฑะเลย์หรือหงสาวดี และคนพม่าก็จะไม่รู้จักคำว่า ประเทศไทยจะรู้จักไทยว่า เมืองอโยธยาเรื่องราวเหล่านี้ ผู้เล่าได้ฟังมาจากท่านพระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์ชอบ

ต่อไปจะได้เล่าเรื่องชนชาวไทย ชนชาวลาว

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ชาวลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก็คือชาวนครราชคฤห์ หรือรัฐมคธ เช่นเดียวกับชาวไทย ไทยและลาวจึงเป็นเชื้อชาติเดียวกัน แต่หนีตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาคนละสาย ลาวเข้าสู่แดนจีน จีนจึงเรียกว่า พวกฮวน คือ คนป่าคนเถื่อนที่หนีเข้ามา โดยชาวจีนไม่ยอมรับ จึงมีการขับไล่เกิดขึ้น (ประวัติศาสตร์ไทยเขียนไว้ว่า ไทยมาจากจีน เห็นจะเป็นตอนนี้กระมัง)

ความจำเป็นเกิดขึ้น จึงมีการต่อสู้แบบจนตรอก ถอยร่นลงมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ตามสายญาติ คือ ไทย สู่สิบสองจุไทย สิบสองปันนา หนองแส และแคว้นหลวงพระบาง ปัจจุบันก็ยังมีคนไทยตกค้างอยู่

พอถอยร่นลงมาถึงนครหลวงพระบาง เห็นว่าปลอดภัยแล้ว และภูมิประเทศก็คล้ายกับนครราชคฤห์ จึงได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่น และอยู่ใกล้ญาติที่สุวรรณภูมิด้วย คือ นครปฐม เป็นพวกที่มาตั้งอยู่ก่อน และพวกที่เข้ามาตอนหนีตายคราวนั้น

การสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นมาโดยราบรื่น โดยให้ชื่อว่า"กรุงศรีสัตตนาคนหุต" (เมืองล้านช้าง) จนถึงพระเจ้าโพธิสารเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์มีราชโอรส 2 พระองค์ ชื่อเสียงท่านไม่ได้บอกไว้ พอเจริญวัย พระเจ้าโพธิสารทรงเห็นว่า เมืองปัจจุบันคับแคบ มีภูเขาล้อมรอบ ขยายขอบเขตยาก การเกษตรกรรมทำนาไม่เพียงพอ และเพื่อเป็นการขยายอาณาจักรด้วย จึงส่งราชโอรสองค์ใหญ่ ไปตามลำแม่น้ำโขง มาถึงเวียงจันทน์ จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้น มีเมืองหลวงชื่อว่า"กรุงจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต"

ส่วนพระราชโอรสองค์น้อง ได้ไปตามลำน้ำน่าน มาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่สุโขทัย โดยมีเมืองหลวง ชื่อว่า"กรุงสุโขทัย" ท่านพระอาจารย์แปลให้ฟังด้วยว่า"สุโขทัย"แปลว่า "ไทยเป็นสุข" เหตุที่อยู่ที่นี้เพราะปัจจัยในการครองชีพเอื้ออำนวย และใกล้ญาติทางนครปฐม ไปมาหาสู่ก็สะดวก ท่านว่าอย่างนี้

นครปฐมก็มีเมืองหลวง คือ"ทวาราวดีศรีอยุธยา"ที่เรียกว่า ยุคทวาราวดี นั่นเอง เวียงจันทน์จึงเป็นพระเจ้าพี่ สุโขทัยเป็นพระเจ้าน้องนครปฐม สุโขทัย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ก็คือ ชนชาติชาวราชคฤห์ในครั้งพุทธกาลนั่นเอง

การอพยพหนีตายคราวนั้น บางพวกลงเรือข้ามทะเล ไปขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราชก็มี ซึ่งมีพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นสักขีพยานว่า ชาวใต้ทั้งหมดก็เป็นชนชาติรัฐมคธในครั้งพุทธกาล เหมือนกันกับชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ก็คือ ชาวโกศล ในครั้งพุทธกาลนั้นเอง


พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ท่านพระอาจารย์เล่าว่าพระอริยบุคคลในยุครัชกาลที่ 4 คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระโอรสของรัชกาลที่4 นั้นเอง เป็นองค์แรก

ท่านเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระสหาย เพื่อปลดเปลื้องคำปฏิญญาที่พระพุทธเจ้าได้ให้ไว้ เมื่อเสด็จออกผนวชครั้งแรก (พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพบพระโพธิสัตว์สิทธัตถะเมื่อทรงออกผนวชแล้ว และได้ตรัสปฏิญญาว่า"ถ้าพระองค์ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงเสด็จมาที่แว่นแคว้นของหม่อมฉันก่อน" พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงรับปฏิญญาของพระเจ้าพิมพิสารไว้ -ภิเนษกรมณ์)

พระชาติปัจจุบันของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นชาติที่ 7 ชาติสุดท้าย ทรงแตกฉานในจตุปฏิสัมภิทาญาณ อย่างสมบูรณ์แบบในยุคนี้

ท่านพระอาจารย์ยกตัวอย่าง ความสามารถที่ไม่มีใครเทียบสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า แต่ก่อนพวกบัณฑิตที่เรียนบาลี คือ มูลกัจจายน์คัมภีร์ สนธิ-นาม ต้องเรียนถึง 3 ปี จึงแปลบาลีออก สมเด็จฯ ทรงรจนาบาลีไวยกรณ์ให้กุลบุตรเล่าเรียน ในปัจจุบัน 3 เดือน ก็แปลหนังสือบาลีออก นั่นอัศจรรย์ไหมท่าน

ท่านพระอาจารย์เล่าต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงรจนาวินัยมุขเล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมตรี จิตของพระองค์กำหนดวิปัสสนาญาณ 3 ที่กล่าวมาแล้ว คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ได้บรรลุชั้นสกิทาคามี

ต่อมาพระองค์เสด็จประพาสสวนหลวง เมืองเพชรบุรี ทรงรจนาธรรมวิจารณ์ พระหฤทัยของพระองค์ก็บรรลุพระอนาคามี

พระองค์ทรงมีภาระมาก ดูจะทรงรีบเร่งเพื่อจัดการศึกษา และปฏิบัติสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ประกอบกับสุขภาพของพระองค์ ก็อย่างที่พวกเราเห็นในพระฉายาลักษณ์นั้นเอง ดูจะทรงงานมาก ผอมไป และยุคนั้นการแพทย์ก็ไม่เจริญ แต่พระองค์ก็บำเพ็ญกรณียกิจ จนเข้ารูปเข้ารอย จนพวกเราสามารถจะประสานต่อไปได้ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นสังขารของพระองค์ ว่าไปไม่ไหวแล้ว จึงเร่งวิปัสสนาญาณ สำเร็จพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน

นี่คือคำบอกเล่าของท่านพระอาจารย์มั่นที่ผู้เล่าได้ฟังมา


ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เรื่องนี้เกิดขึ้นที่วัดป่าอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิด ชื่อ คำดี ซึ่งเป็นน้องชายของพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ท่านเป็นคนช่างพูด มักถามนั่นถามนี่กับท่านพระอาจารย์ ผู้เล่าเป็นผู้ช่วยอุปัฏฐาก ไม่ค่อยพูดจา เพราะขณะนั้นยังใหม่อยู่

วันหนึ่งท่านคำดีได้พูดปรารภขึ้นว่า "ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ น่าอัศจรรย์ กระผมอ่านพุทธประวัติแล้ว ขนลุกชูชัน"

ท่านพระอาจารย์ก็รับว่า "จริงอย่างนั้น อันนี้(หมายถึงตัวท่าน)ได้พิจารณาแล้ว และได้อ่านพุทธประวัติที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาไว้เป็นแบบเล่าเรียนศึกษา พระองค์ทรงได้แย้มความมหัศจรรย์เอาไว้ตั้งแต่ทรงออกผนวชครั้งแรก จนถึงวันตรัสรู้ แต่ผู้ศึกษาไม่ซึ้งถึงพระประสงค์ของพระองค์ ว่าเป็นอย่างไร"

ท่านว่า "อันนี้ได้พิจารณาแล้ว สมเด็จฯ พระองค์ท่านเป็นจอมปราชญ์แห่งยุคสองพันกว่าปี ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีปราชญ์ใดๆ เทียม"

ท่านพระอาจารย์มั่น ยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์นี้ว่า เป็นพระสาวกผู้ทรงไว้ซึ่งจตุปฏิสัมภิทาญาณสมบูรณ์แบบ ในยุคพุทธศาสนาผ่านมาได้ 2,000 กว่าปี คือ พระองค์เดียวเท่านั้น

ดูท่านพระอาจารย์จะยกย่องเอามากๆ ขนาดกล่าวว่า พระองค์ทรงรจนาหลักสูตรนักธรรมบาลี ให้กุลบุตรได้รับการศึกษา จากพระไตรปิฎกไม่ผิดเพี้ยน ทั้งย่อและพิสดารได้อย่างเข้าใจ ใช้ภาษาง่ายๆ และไพเราะมาก จะเป็นปัญญาชนหรือสามัญชนอ่าน ก็เข้าใจได้ทันที

ท่านว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพรรณนาความตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา อาการของพระมหาบุรุษปรากฏว่า ขณะที่บรรดาพระสนมทรงขับกล่อม บำเรอ ไม่ทรงเพลิดเพลิน แล้วทรงบรรทมหลับไป เมื่อตื่นบรรทม ทางเห็นอาการวิปลาสของพระสนมว่า บางคนมีพิณพาดอก บางคนตกอยู่ข้างรักแร้ เปลือยกาย สยายผม บ่นเพ้อพึมพำ น้ำลายไหล ปรากฏในพระหฤทัย เหมือนซากศพผีดิบในป่าช้า

พระอาจารย์มั่นท่านว่าขณะนั้นพระหฤทัยของพระองค์ พิจารณากิจในอริยสัจ 4 อย่าง พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่อริยมรรค ต่อมาภายหลังทรงบัญญัติเรียกว่า อริยโสดาบันจึงตัดสินพระทัยว่า เราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว จึงเสด็จออกผนวชในคืนนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จเข้าสู่มคธรัฐ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ตอนไปทรงศึกษากับดาบสทั้งสองนั้น จิตของพระองค์ก็บรรลุมรรคที่สอง คือ สกิทาคามี

ผู้เล่าสงสัยขึ้นในใจว่า แล้วอย่างนั้นการบรรลุธรรมครั้งที่สองของพระพุทธเจ้า จะไม่สมกับคำว่า "ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง" ดอกหรือ

แต่ไม่ทันได้เรียนถาม ท่านแถลงก่อนว่า

"ดาบสทั้งสองได้ฌานสมาบัติ 7-8 อรูปพรหมเท่านั้น แต่ท่านทั้งสองขาดวิปัสสนา ปัญญาญาณ ซึ่งไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์สำหรับพระองค์ จึงเป็นครูของพระองค์ไม่ได้"

ท่านพระอาจารย์ว่าอย่างนี้

ท่านพรรณนาถึงพุทธประวัติไว้หลายวาระ จะนำมากล่าวสักสองวาระ

พระอาจารย์มักพูดพลางหัวเราะด้วยความชอบใจ ในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า ทรงกดพระตาลุด้วยพระชิวหา เมื่อลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เดินไม่สะดวก ก็เกิดเสียงดังอู้ในช่องพระกรรณทั้งสอง ทำให้เกิดทุกขเวทนากล้าจนปวดพระเศียร เสียดในพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง ก็ยังไม่สามารถจะตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวาระใหม่ โดยผ่อนพระกระยาหารลงจนไม่เสวยเลย จนพระวรกายผอมโซ ซูบซีด ขุมเส้นพระโลมาเน่า ทรงลูบเส้นพระโลมาก็หลุด เพราะขุมขนเน่า มีกำลังน้อย ทรงดำเนินไปมาก็เซล้ม มีผิวดำคล้ำ จนมหาชนพากันโจษขานกันไปต่างๆ นานา

ก่อนท่านจะพูดต่อ ก็มีอาการยิ้ม หัวเราะ ออกเสียงพอเหมาะ ดูคล้ายท่านจะพอใจในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า

"มหาชนบางพวกพอเห็นก็กล่าวขวัญกัน ว่าทรงดำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่าไม่ใช่ดำ คล้ำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่คล้ำ พร้อยไปบ้าง อย่างนี้ จนเหลือกำลังที่บุรุษไหนจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ จึงได้อุปมา 4 ข้อ ในพระหฤทัย ทรงเสวยพระกระยาหาร ทรงมีกำลัง"

ท่านพระอาจารย์ว่า ตอนพระองค์ทรงเริ่มวิปัสสนาญาณ เป็นคำรบสาม พระหฤทัยของพระองค์ก็ทรงกระทำญาณ 3 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เหมือนสองวาระแรก จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่มรรคที่สาม คือ อนาคามีมรรค

ท่านเล่าว่า มหาบุรุษอย่างพระองค์ ทรงกระทำอะไรไม่สูญเปล่า

อา....เรื่องสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณนี้  ท่านอธิบายได้ละเอียดวิจิตรพิสดาร มาเชื่อมโยงตั้งแต่ เอเต เต ภิกขเวฯ มัชฌิมา ปฏิปทา ฯ ลฯ จนถึง ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ ถึง อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ

พระมหาบุรุษอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ พระบารมีของพระองค์ทรงบำเพ็ญมาพอแล้ว ด้านปัญจวัคคีย์ก็เบื่อหน่าย หนีจากพระองค์ไป ความวิเวกก็เกิดขึ้น วันเพ็ญ เดือน 6 แห่งฤกษ์วิสาขะก็มาถึง นางสุชาดาจะแก้บน จึงถวายข้าวมธุปายาสในภาชนะซึ่งเป็นถาดทองคำ เพื่อให้มั่นพระทัย พระองค์จึงอธิษฐานลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชราว่า

"ถ้าจะได้ตรัสรู้ในวันนี้ ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำ"

คำข้าวมธุปายาสก็มี 49 คำพอดี พอจะรักษาพระวรกายของพระองค์ไปได้ตลอด 49 วัน ท่านพูดอย่างนี้

เมื่อความพร้อมทุกอย่าง ความตรัสรู้ของพระองค์เป็นสัพพัญญุตัญญาณ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ก็เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6นี้แล โดยไม่มีใครมาแสดงอ้างว่าเป็นครูหรือเป็นศาสดาของพระองค์เลย

ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า

"จู่ๆ มาถึงวันนั้น จะมาตรัสรู้เลยทีเดียวไม่ได้ พระองค์ได้พื้นฐานหลักประกันความมั่นคงแล้ว ตั้งแต่อยู่ในปราสาท วันเสด็จออกผนวชนั้นแล มิฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงกระทบกระทั่งต่อสัญญาอารมณ์ต่างๆ ในระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร คงถอยหลังกลับไปเสวยราชสมบัติอีก เพราะเบื้องหลังของพระองค์ก็พร้อมอยู่ จึงถอยไม่ได้ เพราะมีหลักประกันแล้ว"ท่านอธิบายจนจบ

ผู้เล่าเฉลียวใจว่า "ถ้าอย่างนั้น ยสกุลบุตร ก็คงสำเร็จมาจากปราสาทล่ะสิ"

"ยสกุลบุตร เป็นไปไม่ได้ เพราะวิสัยอนุพุทธะ ต้องฟังก่อนจึงจะรู้ได้ ไม่เหมือนสัมพุทธะอย่างพระพุทธเจ้า"

แล้วท่านยังเตือนผู้เล่าว่า "ปฏิบัติไปหากมีอะไรเกิดขึ้น จงใช้สติกับปัญญา สติกับปัญญา สติกับปัญญา" ย้ำถึง 3 ครั้ง

"รับรองว่าไม่ผิดแน่ เพราะทุกวันนี้มีแต่ครูคือ พระธรรมวินัย ขาดครูคือ เจ้าของพระธรรมวินัย คือ บรมครู"

ท่านว่าอย่างนี้

 

สู่วงศ์พระพุทธศาสนา

หลังจากการทำสงครามยึดนครจำปาศักดิ์สิ้นสุดลง มีนายทหารท่านหนึ่งมากราบท่านพระอาจารย์มั่น ด้วยความเลื่อมใส มาถึงตอนเช้าก็ถวายทาน ปกติระเบียบของท่านพระอาจารย์มั่น ถ้าแขกมาอย่างนี้น่ะ ท่านจะให้มาเวลาเช้า เวลานี้ท่านจะต้องให้ต้อนรับ แต่ถ้าเลิกฉันบิณฑบาตแล้วหมดเวลา จนถึงบ่าย 3 โมง และจะต้องมีผู้นำมา ถ้าไม่มีผู้นำ ท่านไม่ให้เข้ามา

ทีนี้ท่านมาคนเดียว ขึ้นไปกราบนมัสการแล้ว ท่านก็รายงานตามแบบทหาร ชื่อนั้น ชื่อนี้ ยศท่าน เท่านี้ ท่านพระอาจารย์มั่นก็เทศนาเกี่ยวกับ ทาน ศีล เนกขัมมะ การออกจากกาม โทษของกาม หลังจากท่านเทศน์จบก็ลากลับ

พอตกค่ำ หลังจากอบรมพระเณรเสร็จแล้ว ผู้เล่าได้เข้าไปปฏิบัติท่าน ถวายการนวด ท่านก็ปรารภเปรยๆ ขึ้นว่า

"อันนี้ได้เหตุล่ะนะ" (อันนี้หมายถึงตัวท่าน) วันนั้นตอนเช้าใกล้จะสว่าง ท่านกำลังทำสมาธิอยู่ ก็มีนิมิตปรากฏว่า มีนายพันคนหนึ่ง มารายงานตัวว่า ผมมาจากวอชิงตัน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้พิจารณาอะไรไรอก บังเอิญมาพบนายพันทหารไทยคนนี้ ท่านก็จึงหวนพิจารณา

ได้ความว่า นายพันทหารไทยคนนี้น่ะ สมัยสงครามโลกครั้งที่1 ไปรบอยู่ที่ประเทศเยอรมัน มียศเป็นนายพันทหารเหมือนกัน เป็นคนอเมริกัน และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ส่งทหารไทยไปรบอยู่ที่เยอรมันนั้นเอง อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร

สมัยนั้น เวลาพักรบน่ะ พักจริงๆ ขนาดทหารฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารเยอรมันจุดบุหรี่ด้วยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ หลังจากพักรบแล้ว นายพันทหารไทยก็มานอนอ่านหนังสืออยู่ที่เปล นายพันทหารอเมริกันก็เข้ามาถาม

"อ่านหนังสืออะไร"

นายพันทหารไทย

"อ่านหนังสือเรื่อง เบญจศีล เบญจธรรม เขียนโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส"

"ผมอยากรู้ อธิบายให้ผมฟังได้ไหม"

นายทหารไทยก็อธิบายให้ฟัง แกก็เลื่อมใส พูดว่า "ผมถือคริสต์ ผมจะปฏิบัติอย่างนี้ได้ไหม"

"ขึ้นชื่อว่าความดีนี้ ไม่เลือก จะนับถืออะไรก็ทำได้" ทหารไทยตอบ

แกก็เลยสมาทานศีล 5 กลับไปอเมริกา ไปสิ้นชีวิตลงที่นั่น

ด้วยอานิสงส์ของการรักษาศีล 5 นี้ ก็พลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนาพอพลัดเข้ามาแล้ว ก็ยังได้มาเป็นนายพันทหารอีกเหมือนกัน คือ ท่านพันเอก นิ่ม ชโยดมคนที่มาเมื่อเช้านั่นแหละ เธอต้องการอยากจะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เธอพูดกับท่านพระอาจารย์ว่า"จะได้ปิดประตูอบายภูมิ จะเป็นไปได้ไหมท่านอาจารย์"

ท่านตอบว่า "สำหรับผู้ปฏิบัติ ก็คงจะได้กระมัง"

เธอก็ยังสงสัยลังเลอยู่ ยังไม่มั่นใจ พอกลับไปกราบท่านพระอาจารย์ ครั้งที่ 2 ก็ถามอีก ครั้งที่ 3 ก็ถามอีก ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดเหมือนเดิม

หลังจากนายพันเอกนิ่มกลับไปแล้ว ขณะผู้เล่าถวายการนวดอยู่ ท่านพูดว่า

"เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะบารมียังอ่อน เขาเป็นพาหิราศาสนา ศาสนาภายนอก มาหลายภพหลายชาติ ด้วยอานิสงส์ที่รักษาศีล 5 ในพระพุทธศาสนา จึงพลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนาต้องมาเกิดในประเทศไทยนี้ถึง 2 ชาติเสียก่อน จึงจะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลโสดาบันเพราะบารมียังอ่อน"

(พันเอกนิ่ม ชโยดม เกิดเมื่อ 28 มกราคม พ..2440 ที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ..2460 สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จออกรับราชการ ในปี พ..2465 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นขุนนิมมานกลยุทธ

ประมาณปีพ.. 2490-2492 ย้ายไปรับราชการเป็นผู้บังคับการทหารบกอุบลราชธานี ในโอกาสออกตรวจเยี่ยมหน่วยทหาร ท่านได้ถือโอกาสเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ

ครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว มีคนมาต้อนรับและนำไปพักยังศาลาที่จัดเตรียมรอไว้ โดยมีที่นอนเตรียมไว้พอดีกับจำนวนคนที่ร่วมคณะทั้งหมด ซึ่งมี 8 คน พอสอบถามก็ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งเตรียมไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่กลางวันแล้วว่า จะมีคณะมาพัก 8 คน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านพักเอกนิ่มอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก

เมื่อเกษียณแล้ว ท่านมักไปถือศีลปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ฯ ลฯ เรื่อยมาจนชราภาพมากจึงหยุดไป และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ..2531

-เรียบเรียงโดยภิเนษกรมณ์ จากประวัติพันเอกนิ่ม ชโยดม และบทสัมภาษณ์คุณณรงค์ ชโยดม บุตรชายคนโตของ พันเอกนิ่ม ชโยดม )


คนไทยเป็นบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลก

คืนหนึ่ง หลังจากเทศน์อบรมพระเณรจบลง ท่านพระอาจารย์เข้าพักผ่อน ผู้เล่าถวายการนวด เรื่องพันเอกนิ่ม ชโยดม คล้ายกับค้างอยู่ยังไม่จบความเป็นคนไทย นับถือพระพุทธศาสนา เข้าสู่พุทธวงศ์ (หรือเข้าสู่วงจรชาวพุทธ) มิใช่เป็นของได้ง่ายๆ ท่านเลยยกพุทธภาษิตที่มาจากคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกายว่า

กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ

ภาษิตที่ยกมานั้น ท่านเอามงคลสูตรมากล่าว ตั้งแต่อเสวนาเป็นต้นไป จนถึง ผุฎฐสฺส โลกธมฺเมหิ ฯ ลฯ เป็นอวสาน มงคลที่ท่านย้ำเป็นพิเศษ คือ บท 2 ปฏิรูปเทสวาโส ฯ ลฯ บท 3 และ 4 ทานญฺจ ฯ ลฯ อนวชฺชานิ กมฺมานิ เพราะ 4 บทนี้ เป็นพื้นฐานของมงคลทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปเทสนี้ สำคัญมาก ท่านดูจะหมายเอาประเทศไทยโดยเฉพาะ

พอท่านอธิบายจบแต่ละมงคล ก็จะย้ำเป็นบาลีว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถึง 3 ครั้ง และเป็นภาษาไทยว่า เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ ถึง 3 ครั้ง

ครั้งสุดท้าย พอขึ้น ผุฏฺฐสฺ โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นั่นละ ถึงเป็นมงคลถึงที่สุด คือ พระนิพพานเลย

ท่านพูดต่อว่า "ความเป็นคนไทย...พร้อม"

พร้อมอย่างไร

ท่านจะอ้างอิงตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พระไตรปิฎกพร้อมมูล ประเทศไทยไม่เคยอดอยากหิวโหย ตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยว่างเว้นจากพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทุกยุคทุกสมัย ชาวไทยศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถวายจตุปัจจัยพระสงฆ์ทุกวัน นับมูลค่าไม่ได้

ทำไมคนไทยจึงมีกินมีใช้ มิใช่บุญหรือบุญมีจริงไหม มีข้าวกล้าในนางาม ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ในป่ามีไม้ มีปลาในน้ำ มีสัตว์บนบก มีนกในอากาศ มิใช่บุญเกิดจากการถวายทานพระสงฆ์ในแต่ละวันหรือ

ธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่น มักจะยกการทำนามาเป็นเครื่องอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบเกือบจะไม่ว่างเว้นเลย และอธิบายเรื่องการทำนาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมาก คงจะได้พบในมุตโตทัย

ผู้เล่าจะนำมาเล่าเท่าที่จำได้ เช่น การปฏิบัติธรรมถูก ก็ถูกมาแต่ต้น ท่านหมายถึง ผู้ปฏิบัติ คือ ไม่ลืมคำสอนที่พระอุปัชฌาย์สอนไว้แต่วันบวช การทำนาก็เหมือนกัน

"ถูกมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าจึงมี ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี"

"คำเหลืองสร้อยซิเป็นฮอยหิห่ำ ข้าวก่ำเป็นข้าวพั้ว งัวสิให้ต่อควาย"

คำนี้ท่านเปรียบผู้เรียนรู้มากแล้วลาสิกขาออกไป เปรียบด้วยข้าวในนาจวนจะสุกอยู่แล้ว เลยถูกหนอนคอรวงกัดกินเสียหายหมด เลยไม่ได้กินสูญเปล่า


พุทธภาษา

มคธภาษาหรือบาลีภาษา เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาโดยเฉพาะ เรียกว่า "พุทธภาษา"

วันหนึ่งผู้เล่ากลับบ้านถิ่นกำเนิด เพื่อทำบุญให้มารดาผู้บังเกิดเกล้า กลับมานมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ได้โอกาสขอนิสัยตามวินัยกรรม กล่าวคำขอนิสัย จบประโยคว่า "นิสฺสาย อสฺสามิ"

"ผิด เป็น'วจฺฉามิ' จึงจะถูก"

ท่านเตือน

ผู้เล่าคิดว่า พวกชาวมคธเวลาเขาพูดกัน เขาพูดอย่างนี้ แสดงขั้นสูงหรือคำสูง นิเทศ แสดงออกเป็นอุเทศ เป็นพุทธภาษา นิเทศแสดงแก่ชาวมคธก่อน ปฏินิเทศแสดงเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก อย่างกว้างขวาง อุปมาอุปไมย เพื่อให้ชาวโลกเข้าใจเนื้อหาแห่งพระธรรมนั้นๆ

เมื่อพระพุทธศาสนานี้หมดลง ภาษานี้ก็จะอันตรธานไปด้วย จนกว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาตรัสรู้ ก็ตรัสรู้ด้วยภาษานี้ มิฉะนั้นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ไม่น่าอัศจรรย์เพราะภาษาชาติต่างๆ ใครก็พูดได้ เหตุนี้จึงเรียกว่า มคธภาษา เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเผยแพร่แก่ชนชาวมคธเป็นครั้งแรก

ชาวมคธ คือใคร ก็คือ ชาวไทยนี้แหละ ดูแต่ภาษาที่เราพูดกันแต่ละคำ ทั้งภาษาสามัญ และภาษาทางการ ล้วนแต่พุทธภาษาทั้งนั้น ฉะนั้นไม่มีชาติไหนจะพูดเขียนภาษานี้ได้ถูกต้องที่สุด พร้อมทั้งอักขรฐานกรณ์ ทั้งภาคพยางค์ เพราะชาวมคธยอมรับนับถือนำมาใช้ก่อน จึงเรียกว่า มคธภาษา

จำเป็นต้องคงพุทธภาษานี้ไว้ เพราะทรงไว้ซึ่งพุทธวจนะหรือพระไตรปิฎก ถ้าใช้ภาษาของชาติต่างๆ ที่แปลออกมาแล้ว ผู้ปฏิบัติเห็นแก่ง่าย จะตีความเข้าข้างตนเองมากขึ้น พุทธวจนะก็วิปริตได้จะแปลเป็นภาษาของชาติไหนๆ แต่พุทธภาษาก็ยังคงกำกับไว้อยู่ เช่น ภาษาไทยฉบับบาลี หรือ ชาติอื่นๆ เช่น อังกฤษ ก็มีบาลีภาษากำกับ

ทุกชาติจึงเรียก บาลีภาษา คือ รักษาไว้ซึ่งพุทธวจนะนั่นเอง

พุทธภาษา เป็นภาษาที่มีอักขระ คือ สระ และ พยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ไม่ขาดไม่เกินไม่เหมือนภาษาสามัญ เช่น อักษรไทยเกินไป อักษรอังกฤษไม่พอ

จึงเรียกว่า "ตันติภาษา" ภาษาที่มีระเบียบแบบแผน สืบทอดกันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ บัณฑิตนักบาลีไวยากรณ์รู้ดี เพราะบัณฑิตเหล่านี้เป็นบัณฑิตโดยเฉพาะ "ตสฺสตฺโถ ปณฺฑิเตน เวทิตพฺโพ" ภาษานี้เป็นภาษาท่องจำ สังวัธยาย สวดมนต์ และบันทึกลงเป็นอักษร ทั้งกระดาษ ใบลาน และวัสดุที่ควรต่างๆ ไม่ใช่ภาษาที่ชาติใดๆ ใช้พูดกันในโลก

พุทธภาษานี้มีความมหัศจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสได้ 8 คำ พระอานนท์พูดได้ 1 คำ พระอานนท์พูดได้ 8 คำ สามัญชนพูดได้ 1 คำ

อุทาหรณ์ ประเทศไทยเป็น"ปฏิรูปเทส"พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ปฏิรูปเทสวาโส จ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา

อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

สามัญชนพูดได้คำเดียวนี้ คือ ความมหัศจรรย์ของพุทธภาษา หากเป็นภาษาสามัญชน ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นของมหัศจรรย์

นี่คือคำพูดของท่านพระอาจารย์มั่น ที่ผู้เล่าได้ฟังมา


บำบัดอาพาธด้วยธรรม

ปกติท่านพระอาจารย์มั่นจะจากวัดที่อยู่จำพรรษา จาริกสู่ที่เป็นที่เที่ยวไป ก็ต้องสิ้นฤดูกาลกฐินเสียก่อน เมื่อท่านพระอาจารย์ปรารภจะเปลี่ยนสถานที่ เพราะอยู่บ้านนามน บ้านโคกศรีสุพรรณมานานแล้ว มีหลายสำนักที่ศิษย์ไปจัดถวายไว้ แต่ท่านปรารภจะไปสำนักป่าบ้านห้วยแคน ห่างไม่เกิน 10..

พอได้เวลาก็ออกเดินทาง พระไปส่งหลายรูป ท่านส่งกลับหมด ผู้เล่าโชคดีได้อยู่ 2 องค์กับท่าน มีตาปะขาวอีกคนหนึ่งชื่อแดง ความเป็นอยู่ก็สะดวกสบายตามอัตภาพ แม้ชาวบ้านยากจน แต่เขาก็ไม่ให้ท่านพระอาจารย์ยากจนด้วย จึงมีเหลือฉันทุกวัน มิหนำโยมที่ไปถวายบิณฑบาต ขาไปเต็มกระติบ ขากลับก็ยังเหลือเต็มกระติบ เพราะหมู่บ้านใกล้เคียงได้ข่าว ก็มาใส่บาตรบ้าง บ้านนั้นบ้าง บ้านนี้บ้าง มีอาจารย์วิริยังค์ อาจารย์เนตร อาจารย์มนู นำมาบ้าง

บางวันมีกิจกรรมบูรณะ หรือซักสบงจีวร ท่านเหล่านั้นก็ช่วยกันทำให้เสร็จก่อนจึงกลับ หากเป็นวันลงอุโบสถ พระลูกศิษย์ที่พำนักในที่ต่างๆ จะมารวมกัน รูปที่อยู่ไกลหน่อยก็มาพักแรม นำญาติโยมหาบเสบียงมาพักแรม ทำอาหารบิณฑบาตถวายด้วยเสมอมา จึงไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการเจริญสมณธรรม

หนึ่งเดือนผ่านไป อากาศเริ่มหนาวจัด ท่านพระอาจารย์ปรารภจะทำซุ้มไฟ ผู้เล่าบิณฑบาตได้ มาฉันกับท่านแล้ว ช่วยกันทำกับชาวบ้าน วันสองวันก็เสร็จ

ประมาณเริ่มเดือนยี่ ท่านเริ่มไม่สบาย มีอาการคอตั้ง เอียงซ้ายขวายาก โรคนี้คล้ายเป็นโรคประจำ แต่ไม่เป็นบ่อย มาสกลนครหลายปีก็เพิ่งจะเป็นครั้งนี้ ก็เช่นเคย ท่านบ่นถึงพระมหาทองสุก ผู้เล่าเลยให้โยมไปนิมนต์ท่านๆ พักวัดป่าบ้านห้วยหีบ และท่านอาจารย์สอ สุมงฺคโล ด้วย ท่านอยู่บ้านนามน ท่านทั้งสองก็เดินทางมาวันนั้นเลย

พอมาถึง ทั้งชาวบ้านและผ้าขาวแดง ระดมกันหายา มีเปลือกแดง เปลือกดู่ ใบเป๊า ใบพลับพลึง (ใบหัวว่านชนอีสาน) ใบการบูร (ใบหนาดโคกอีสาน) มาสับมาโขลกละเอียดดีแล้ว ตั้งหม้อห่อยาวางบนปากหม้อ ร้อนแล้วเอาผ้ารองวางประคบบนบ่า ไหล่บ้าง หลังบ้าง หน้าอกบ้าง บนศีรษะบ้าง

6 วันผ่านไป ท่านก็ยังออกบิณฑบาตทุกวัน ผู้เล่านอนพักที่ซุ้มไฟกับท่าน ตั้งแต่เริ่มไม่สบาย

พอรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 7 ท่านตื่นเวลา 03.00. เป็นปกติ ปลุกผู้เล่าลุกขึ้นสุมไฟ เพราะไฟอ่อนแสงแล้ว ท่านล้างหน้า ครองผ้า สวดมนต์ แล้วก็นั่งสมาธิต่อ จะต้มยาถวายเหมือนทุกวัน ท่านไม่เอา ผู้เล่าก็ไหว้พระนั่งภาวนา จะนอนก็อายท่าน ตลอด 6 วันที่ผ่านมา มีเวลานอนไม่พอ นั่งสัปหงกตลอดรุ่ง หลับๆ ตื่นๆ พอสว่างจัดบริขารออกบิณฑบาต พระพยาบาลที่มาพักค้างด้วย ไม่ต้องห่วงเรื่องบิณฑบาต เพราะพระที่อยู่ในรัศมีใกล้ จะพาญาติโยมมาอังคาส (ดูแลการถวายภัตตาหาร) เต็มที่

ตกตอนเย็นหลังจากเดินจงกรมแล้ว ท่านเข้าซุ้มไฟ ผู้เล่าเข้าไปก่อน เตรียมปูเสื่อสำหรับหมู่คณะ พอได้เวลาจะต้มยา ท่านว่าไม่ต้อง ค่อยยังชั่วแล้ว ต่อจากนั้นท่านก็เริ่มอธิบายธรรมะ ยกเป็นภาษาบาลีแรกว่า "อฏฺฐ เตรส" แล้วท่านถามท่านสอ (ท่านอาจารย์สอ สุมงฺคโล ต่อมาท่านมรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือ)

"แปลว่าอะไร"

ท่านสอว่า"กระผมไม่รู้ภาษาบาลี"

"หือ"ท่านมหาทองสุก เข้าให้แล้ว

ท่านมหาก็อ้ำๆ อึ้งๆ ด้วยความเกรงว่าจะเป็นการอวดฉลาด

"แปลให้ฟังก่อนนา ท่านมหาเรียนมาแล้ว กลัวทำไม"

ท่านมหาตอบ "อฏฺฐ แปลว่า 8 เตรส แปลว่า 13 ขอรับกระผม"

"ถูกต้อง สมเป็นมหาจริงๆ " ท่านว่า

ท่านอธิบายว่า "อาพาธคราวนี้ บำบัดด้วย มรรค 8 และธุดงค์ 13 เป็นมรรคสามัคคีกัน"

ต่อจากนั้นธรรมเทศนาใหญ่ก็เกิดขึ้น พระที่อยู่ในรัศมีใกล้ยังไม่กลับ ประมาณ 15 รูป ซุ้มไฟบรรจุเต็มที่จะนั่งได้ 20 รูป ท่านอธิบายมรรค 8 สัมพันธ์กับธุดงค์ 13 อย่างมีระบบ เป็นวงจรเหมือนลูกโซ่ ซึ่งผู้เล่าและพระในนั้นก็ไม่เคยฟัง 2 ชั่วโมงเต็ม พอเลิกต่างก็พูดกันว่า โชคดี เพราะไม่เคยฟัง

เดือน 3 ย่างเข้ามา ท่านพระอาจารย์ก็หายเป็นปกติ เพื่อนบรรพชิตต่างก็ทยอยกันกลับสำนักเดิม ทั้งนี้เพื่อท่านพระอาจารย์จะได้วิเวกจริงๆ คงมีผู้เล่าและผ้าขาวแดงเท่านั้น ก็สะดวกดี เพราะทั้งผู้เล่าและผ้าขาว ก็เป็นบุคคลสัปปายะของท่านอยู่ ซุ้มไฟยังไม่รื้อ อากาศยังหนาวอยู่

(เรื่องนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นเมื่อ ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคกและบ้านนามนติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีแล้ว คือ พ.. 2485-2487 เมื่อออกพรรษาแล้วปลายปี พ..2487 ท่านจึงย้ายมาอยู่ที่วัดป่าบ้านห้วยแคน ซึ่งอยู่ไกลจากบ้านโคกและบ้านนามน ไม่เกิน 10.. และพักอยู่ที่นี่ติดต่อกันประมาณ 4 เดือน จึงเดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ - ภิเนษกรมณ์)


จากบ้านห้วยแคน

วันหนึ่งประมาณ 20.00.เศษๆ กำลังนั่งอยู่ในซุ้มไฟกับท่านพระอาจารย์ เสียงเครื่องบินกระหึ่มขึ้น บินผ่านหัวไป ท่านบอกให้ผู้เล่าพรางไฟ ผู้เล่าหาอะไรไม่ทันก็เอาจีวรคลุมโปง สองมือกางออกยืนคร่อมกองไฟไว้ จนกว่าเครื่องบินจะบินผ่านไป วนไปวนมา 2-3 ครั้ง ช่างนานเสียเหลือเกิน

ตื่นเช้าไปบิณฑบาต จึงรู้ว่ามีการจัดตั้งกองโจร ขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไป เครื่องบินนำเอาอาวุธยุทธปัจจัยมาให้ฝึกพลพรรค การเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์จึงเกิดขึ้น เช่น เกณฑ์คนไปฝึกอาวุธ เกณฑ์เสบียง รู้กันอยู่ว่าปีนั้นฝนแล้ง ข้าวมีน้อย แต่ถูกเกณฑ์ไปให้พลพรรค แม่บ้านต้องหาขุดกลอยขุดมันกินแทนข้าว พระเณรก็ฉันอย่างนั้น ทุกข์แทบเลือดตากระเด็น แต่ผู้มีอำนาจและพลพรรคเหลือกินเหลือใช้ เพราะส่งมาจากต่างประเทศโดยเครื่องบิน สงคราม คือ การเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหง บังคับขู่เข็ญ

เดือน 3 ผ่านไป ซุ้มไฟถูกรื้อถอน เพราะอากาศอบอุ่นขึ้นแล้ว พอเดือน 4 มีชาวบ้านหนองผือประมาณ 5 คน ได้ขึ้นมาที่ศาลาที่ท่านพักอยู่ กราบนมัสการแล้วยื่นจดหมายถวาย ท่านยื่นให้ผู้เล่าอ่านให้ฟัง

 

เนื้อความในจดหมาย ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ไปพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านตอบรับทันที สั่งให้เตรียมข้าวของ

ชาวบ้านเขาบอก "ไม่ใช่ให้ท่านพระอาจารย์ไปวันนี้ จะกลับไปบอกพระอาจารย์หลุย (พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร)เสียก่อน แล้วท่านจะจัดคนมารับ พระอาจารย์หลุยสั่งอย่างนี้"

"เออ ดีเหมือนกัน เราก็ยังไม่ได้บอกหมู่ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เพ็ญ หมู่จะมาลงอุโบสถกัน บอกหมู่แล้วก็ให้โยมมาวันนั้น พักแรมหนึ่งคืน วันแรมค่ำหนึ่งเราก็ออกเดินทางกัน"

ผู้เล่าไม่เคยคิดเพิ่งรู้ว่าวิสัยสัตตบุรุษ ไม่ยอมละทิ้งหมู่เช่น ตอนที่ท่านอาพาธหนัก จะจากพรรณานิคมไปสกลนคร (พักวัดป่าสุทธาวาส) ยังพูดกับโยมที่มารับว่า

"หมู่ล่ะ จะไปกันอย่างไร"

คุณวิเศษ เชาวนสมิทธิ์ กราบเรียนว่า "ได้เตรียมรถรับส่งตลอด มีเท่าไหร่เอาไปให้หมด"

ท่านพระอาจารย์ว่า"ถ้าอย่างนั้นเอาพวกเราไป"

หลังทำอุโบสถแล้ว ท่านบอกว่า

"อีกไม่นานถิ่นนี้จะมีแต่ทหารเต็มไปหมด ใครจะอยู่ ใครจะไป ก็ตามใจ"

(ปี พ..2487 ท่านพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้นปี พ..2488 ได้ส่งโยมไปกราบอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมาพักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่ได้เดินทางย้ายไปจำพรรษาที่อื่นอีกเลยตลอด 5 พรรษา จนกระทั่งปลายปี พ..2492 ท่านอาพาธหนัก จึงพากันหามท่านเดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านภู่ (วัดกลางโนนภู่ในปัจจุบัน) ประมาณ 10 วัน แล้วนิมนต์เดินทางต่อโดยรถไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส และท่านก็ได้มรณภาพในคืนวันนั้นเอง  - ภิเนษกรมณ์)

เมตตาชาวบ้านห้วยแคน

4 เดือนให้หลังแห่งการอยู่บ้านห้วยแคน ท่านได้แนะนำชาวบ้านว่า ข้าวเกิดจากดิน ไถคราดแผ่นดิน หว่านลงบนดิน ปักดำลงบนดิน บุกเบิกชำระดินให้เตียนดี ไถดิน ดินแล้วดินเล่า ก็คนนี่แหละทำ บ้านอื่นเขาก็คน เราก็คนเหมือนกัน เขามีข้าวกิน เราอดข้าวกิน มันอะไรกัน ทำนองนี้แหละที่ท่านพระอาจารย์สั่งสอน

วันจากบ้านห้วยแคนสู่บ้านหนองผือ ผู้หญิงร้องไห้ ผู้ชายบางคน เช่น ผู้ใหญ่ฝันก็ร้องไห้ คร่ำครวญว่า

"เป็นเพราะพวกเรายากจน ท่านจึงไม่อยู่ด้วย"

ท่านก็ว่า"เราอยู่มาแล้ว 4 เดือน พวกท่านอดอยาก แต่พระก็ได้ฉันทุกวัน อยู่แผ่นดินเดียวกัน คิดถึงก็ไปเยี่ยมยามถามข่าวกันได้" ท่านว่า

สองปีผ่านไป ขบวนเกวียนลำเลียงข้าวเปลือก และข้าวสาร พร้อมวัตถุอันบุคคลพึงบริโภค ก็ลำเลียงจากบ้านห้วยแคนสู่วัดป่าบ้านหนองผือ ดินแดนท่านพระอาจารย์มั่น พักเกวียนไว้ริมทาง ใกล้หมู่บ้านริมทุ่ง ผูกล่ามวัวให้อาหารวัว หาฟืนหุงหาอาหารเลี้ยงดูกัน

เวลาเช้า ถวายบิณฑบาตท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมพระสงฆ์ ฟังเทศน์เสร็จแล้ว ถวายข้าวเปลือกหลายกระสอบและข้าวสาร อันเป็นผลผลิตจากน้ำมือชาวบ้าน

ท่านถาม"อะไรกันนี่"

เขาตอบ"พวกกระผมชาวบ้านห้วยแคน แต่ก่อนอดอยาก เดี๋ยวนี้ไม่อดแล้ว เพราะฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์ว่าให้เอาข้าวกล้าหว่านดำลงบนดิน บัดนี้พวกกระผมได้ทำลงบนดินได้ข้าวมาถวาย ตอบแทนบุญคุณท่านที่สอนพวกกระผม ให้ได้กินได้ใช้ ไม่ต้องเอาลึมกระบอง (ขี้ไต้มัดรวมกัน 10 อัน) ไปแลกบ้านอื่นอีกแล้ว"

พักอีกหนึ่งคืน ถวายทานเสร็จ ชาวบ้านห้วยแคนก็กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นยกขบวนเกวียนกลับ


เทพบอกใส่บาตร

เมื่อท่านพระอาจารย์ออกเดินทาง จากวัดป่าบ้านห้วยแคน สู่วัดป่าบ้านหนองผือ เริ่มออกเดินทางเดือน 4 แรมค่ำหนึ่ง

วันแรก พักวัดบ้านนากับแก้ วันที่สอง พักวัดบ้านโพนนาก้างปลา สองคืนแรก เดินทางปกติไม่มีเหตุการณ์ วันที่สาม พักศาลากลางบ้านของกรมทางหลวง ศาลานี้ตั้งอยู่บ้านลาดกะเฌอ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ขณะนั้นยังไม่เป็นหมู่บ้าน เป็นปางเลี้ยงวัวเลี้ยงควายของชาวสกลนคร ทำเลเหมาะแก่การพักของคนเดินทาง มีบ่อน้ำให้ดื่มให้ใช้

ท่านพระอาจารย์ไปถึงก็แวะพัก ขณะไปถึงนั้นเป็นเวลาประมาณ 13.00. มีพระและผ้าขาวติดตาม ชาวบ้านหนองผืออีก 12 คน รวมทั้งท่าน เป็น 21 คน พระช่วยกันปัดกวาด ญาติโยมนำน้ำมาไว้ดื่มไว้ใช้ ปูที่พักถวายท่านเสร็จ

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป ท่านพระอาจารย์ก็นั่งเฉย เอนนอนเฉยอยู่ ชาวบ้านหนองผือผู้เป็นหัวหน้าไปรับ เป็นคนใจร้อน คิดว่า ถ้าท่านพระอาจารย์พักอยู่นี้ จะฉันอะไร คนตั้งมากมาย จึงเข้าไปกราบนมัสการ ขอนิมนต์เดินทางต่อไปพักบ้านโพนงาม ระยะทางประมาณ 7-8.. จะได้ทันเวลา

ท่านบอกว่า"เราไม่ไป เขาเป็นชาวบ้านป่าชาวเขา เราพักอยู่นี้ เขาจะได้กินได้ทาน" หากท่านพระอาจารย์ว่า"ไม่" แล้วอย่าได้พูดซ้ำอีก

ตอนเย็น ชาวบ้านก็นำอาหารมาเลี้ยงแขกโยม พอเช้าได้เวลา ท่านพระอาจารย์และพระสงฆ์เที่ยวบิณฑบาต มีคนนำไปเพราะเป็นปางควายปางวัว บ้านแต่ละหลังมีทางลัดแคบๆ พอสมควรแล้วคนก็นำกลับ ขณะกำลังถวายน้ำล้างเท้าท่านพระอาจารย์ ก็ได้ยินเสียงรถยนต์กำลังตรงเข้ามา

ท่านและคณะกำลังนั่งจัดบาตร ชาวลาดกะเฌอ ดูจะเป็นผู้ชายมากกว่า เพราะไปรักษาสัตว์ ไม่ใช่ไปตั้งบ้านเรือน ก็มาถึงประมาณ 5-6 ครอบครัว ท่านแขวงกรมทางหลวงขึ้นมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ว่า

"พวกกระผมชวนกันมากินข้าวป่า เป็นบุญของพวกกระผม ที่ได้มาพบท่านพระอาจารย์"

เขาไม่รู้หรอกว่า นั่นคือ พระอาจารย์มั่นแต่เขาเป็นผู้ดีไทย กราบเรียนว่า

"พระคุณท่านไม่ต้องหนักใจว่า มาพักที่กระผม มารบกวนพวกกระผม เป็นบุญของพวกกระผมแท้ๆ "

แล้วสั่งลูกน้องเอาหม้อข้าว หม้อแกง ปิ่นโต นำถวายท่านพระอาจารย์ร่วมกับชาวบ้าน

มีเนื้อสัตว์ป่าทุกชนิด นับตั้งแต่เนื้อกวาง จนถึงตะกวด กระรอก กระแต อีเห็น ไก่ป่า สารพัดเนื้อสัตว์ ชาวสกลนครเขาเป็นคนมีมารยาทอ่อนน้อม น่ารัก และพูดจาก็เหมือนผู้ดี คอยแนะนำ นี่เนื้อนั้น นั่นเนื้อนี้ มีทั้งต้มทั้งแกง แต่ส่วนมากแล้วเป็นเนื้อปิ้ง

ยถา สพฺพี ฯ ลฯ ฉันเสร็จแล้ว ท่านแขวงฯ ขึ้นไปกราบนมัสการพร้อมคณะว่า

"ความจริงพวกกระผมไม่ได้ตั้งใจมา พอดีผู้ช่วยไปยืนบอกหน้าบันไดตอนมืดแล้ว จำได้แต่เสียงว่า พรุ่งนี้เราไปกินข้าวป่าที่ลาดกะเฌอกัน ผมนัดชาวปางเขาไว้แล้ว ก็เลยตกลง"

ฝ่ายผู้ช่วยก็บอกว่า"ท่านแขวงฯ ให้เด็กไปบอกว่า พรุ่งนี้เราไปกินข้าวป่าที่ลาดกะเฌอกัน ผมเลยให้แม่บ้านจัดอาหารแต่เช้า เสียงเอ็ดตะโรทั้งพ่อบ้านแม่บ้านว่า คนนั้นไปบอก คนนี้ไปบอก แซดกันไปหมด ไม่ได้ขึ้นไปบอกข้างบน ได้ยินแต่เสียงอยู่ข้างล่าง ว่าเป็นเสียงคนนั้นคนนี้ พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว ต่างคนปฏิเสธลั่นว่า ผมไม่ได้ไปบอก ดิฉันไม่ได้ไปบอก เลยงงไปตามๆ กัน"

ท่านแขวงฯ ก็เลยพูดว่า"ถ้าอย่างนั้นใครไปบอก" แล้วมองไปที่ท่านพระอาจารย์

ท่านพระอาจารย์ตอบว่า"ถ้าไม่มีใครไปบอก ก็คงเป็นเทพนั่นซิ"

เท่านี้เรื่องก็เป็นอันยุติ

เลี้ยงอาหารกันต่อทั้งคณะแขวงการทาง คณะท่านพระอาจารย์ และชาวบ้านทั้งหมด รับประทานกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ท่านแขวงฯ บ่นเสียดาย ไม่มีถนนไปโพนงาม ถ้าไปสกลฯ หรือสร้างค้อ ท่านจะนำส่งตลอด จากนั้นต่างอำลาแล้วก็เดินทางต่อ

คืนที่สี่ นอนพักบ้านวัดบ้านกุดน้ำใส ตำบลนาใน (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอกุดบาก) ฉันเช้าเสร็จเดินทางต่อถึงบ้านหนองผือ ก่อนท่านพระอาจารย์จะไปถึง พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร สั่งพระเณร แม้ทั้งหมาและแมว ให้หนีออกจากวัด ว่างไปประมาณ 2 วัน แต่วัตถุใช้สอยครบและหาง่าย

ที่พักของท่าน เป็นกระท่อมเล็กๆ ไม่สะดวก ท่านพระอาจารย์อยู่กระท่อมเล็กๆ จำเพาะองค์ได้เสียเมื่อไร ไหนพระอุปัฏฐาก ไหนญาติโยม จะไปนั่งเบียดท่านหรือ

หญ้าคา ไม้ไผ่ไม่ทุบเปลือกไม่อด ช่วยกันทำแค่ 10 วัน ได้ถึง 5 ห้อง ยังดูท่านลำบากตลอดพรรษา พระใกล้ชิดและผ้าขาว ช่วยกันต่อห้องถวาย พอพระอุปัฏฐากนั่งได้

พอออกพรรษา ท่านเลยไปพักอยู่มุมศาลา ช่วยกันทำผ้ากั้น แต่ก็ลำบาก เพราะต้องใช้เป็นที่ฉันด้วย ทำสังฆกรรมด้วย ดีหน่อยตรงที่เวลามีกิจกรรม ได้ที่พอเท่านั้น


เป็นอยู่ระหว่างสงคราม

ปวารณาออกพรรษาแล้ว คำว่ากฐินผ้าป่าไม่ต้องกล่าวถึง เพราะอยู่ในภาวะสงคราม ผ้าพื้นบ้านมีอยู่ แต่จำกัด เป็นผ้าด้ายหยาบธรรมดาๆ ในความรู้สึกของพระสงฆ์ ไม่มีค่านิยม แต่ท่านพระอาจารย์ทำเป็นตัวอย่าง นำมาทำเป็นสบงขันธ์ ทำเป็นจีวรใช้ แต่ไม่ทำเป็นสังฆาฏิ

ท่านบอกว่า "แต่ก่อนเราก็ใช้ผ้าอย่างนี้ ไม่มีผ้าเจ๊กผ้าจีน เรายังสืบทอดศาสนามาได้"

ตั้งแต่นั้นมา พระเลยไม่อดจีวรใช้กัน

ไม้ขีดไฟก็ต้องแบ่งก้านกัน กลักเปล่าเก็บไว้ เทียนไข แบ่งเล่มเวลาจะใช้ จะจุดบุหรี่ก็นับดูว่ามีถึง 5 คนไหม ถ้าไม่ถึงก็จุดไม่ได้ ไม่คุ้มค่า เวลาไปห้องน้ำ ได้ท่าดีแล้ว ต้องดับเทียนไว้ก่อน หรืออยู่ในห้องนอน สงสัยว่าจะมีสัตว์อันตราย จึงจุดไฟไปดู เป็นต้น


ไม่หยุดจะหนี

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณครึ่งเดือน ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หน่วยกองโจรพลพรรคก็ยกเข้าไปตั้งค่าย อยู่ห่างประมาณกิโลเมตรเศษๆ เสียงปืน เสียงระเบิด ไม่มีหูเข้าหูออก ทั้งกลางวันกลางคืน ผู้รักสันติอย่างท่านพระอาจารย์ สู้ด้วยวิธีการดังผู้เล่าจะเล่าต่อไปนี้

เข้าพรรษาผ่านไปแล้วประมาณ 17 วัน วันนั้น ดูท่าทางท่านขรึมเวลาไปบิณฑบาต ปกติท่านจะชี้นั่นชี้นี่ อธิบายไปด้วยวันนั้นเงียบขรึม จุดที่รับบิณฑบาตมีม้านั่งยาวสำหรับนั่งให้พรยถา สพฺพี ฯ เสร็จ ท่านเอ่ยถามชาวบ้านว่า

"ป่านี้ข้าศึกศัตรูก็ไม่มี เขายิงอะไรกัน"

ชาวบ้านตอบ "ไม่ทราบครับกระผม"

ท่านว่า "ป่านี้มันเป็นดงเสือ ป่าเสือ หรือว่าเขาอยากยิงเสือ"

ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปบิณฑบาตตลอด 4 แห่งก็พูดอย่างนั้น

ตกตอนเย็น พอสิ้นแสงอาทิตย์ ทั้งเสียงปืน ทั้งเสียงระเบิด ก็ดังสนั่นกึกก้องตลอดทั้งคืนจนกระทั่งรุ่งสาง มีพลพรรคเป็นไข้ตายในบังเกอร์ 2 คน อีก 3 คน กระเสือกกระสนออกไปตายอยู่บ้านตนเอง 3 ศพ รวมเป็น 5 ศพ

ครูอุทัย สุพลวณิชย์ ชาวหนองผือ มาเล่าให้ฟังว่า พอสิ้นแสงอาทิตย์ มองไปทิศไหนก็มีแต่เสือทั้งนั้น ชนิดลายพาดกลอน ทั้งแยกเขี้ยว คิ้วขมวดใส่ เป็นร้อยๆ พันๆ ถ้าเสียงระเบิดเสียงปืนซาลงเมื่อไร เสียงเสือยิ่งเข้ามาใกล้ เลยหยุดยิงไม่ได้ ยิงปืนจนรุ่งสาง พอสว่างเสือตัวเดียวก็ไม่มีแม้แต่รอย

ลองคิดถึงคำพูดของท่านพระอาจารย์ดูซิ ว่าข้าศึกศัตรูก็ไม่มี เขายิงอะไร ที่นี่มีแต่ดงเสือ เขาอยากยิงเสือหรือ และได้ยิงจริงๆ ด้วย สู้กองพลเสือไม่ได้ แตกหนีตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ กองโจรพลพรรคก็ไม่เห็นหน้ากลับมาอีก

การฝึกพลพรรค ใครๆ ก็กลัวตาย มาขอร้องกำนัน ให้มากราบเรียนท่านพระอาจารย์ ขอให้ทำหลอดตะกรุดและผ้ายันต์ ท่านทำอยู่ 15 วัน ก็สั่งหยุดอย่างกะทันหันยังบอกกำนันว่า ท่านหยุดแล้ว หากกำนันไม่หยุด ท่านจะหนีกลางพรรษา ถือว่าเป็นภัยทางพระวินัย เป็นอันยุติแต่วันนั้น

ผู้เล่าไม่รู้ไม่เฉลียวใจ จนผ่านมาหลายปี กองโจรพลพรรคได้กลายมาเป็นกองโจรคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ จึงรู้ว่าท่านเล็งเห็นแล้วว่า พวกนี้เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ผู้เป็นสัตตบุรุษ จึงไม่สนับสนุน

 

 

สร้างกุฏิ

 

ปี พ.ศ.2488 สงครามโลกเพิ่งยุติลง แต่อะไรๆ ก็ยังหายากอยู่ ผ้าก็ยังคงใช้ผ้าพื้นบ้านตามปกติ ท่านพระอาจารย์ก็ยังคงพักที่ศาลา (ที่วัดป่าบ้านหนองผือ- ภิเนษกรมณ์)ความบกพร่อง ความไม่พร้อม ยังคงมีอยู่ แต่ท่านพระอาจารย์ก็ทนได้ สิ่งที่พร้อม คือ เสนาสนะ เพราะไม้มีมาก แต่คนไม่พร้อม

 

ทั้งพระทั้งชาวบ้านกินง่ายๆ อยู่ง่ายๆ แต่หากฉุกคิดสักหน่อยว่า ควรจะทำกุฏิถวายท่านให้ดีกว่าที่เห็น มีห้องพักฤดูร้อน มีลมโกรก มีที่นั่งดื่มน้ำร้อน มีที่พักกลางวัน ฤดูหนาวติดไฟได้น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ขาดผู้นำที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ ขนส่งก็ลำบากจึงอดเอา

 

กว่าจะได้มาเป็นกุฏิหลังเล็กๆ 2 หลัง ที่เห็นก็เกือบตาย ผู้เล่าเที่ยวชักชวนชาวบ้านนำออกเลื่อยไม้ในป่า ได้คนเข้าเป็นคู่ พอได้ไม้โครงเสร็จ จะนำเข้าวัดก็ไม่ง่าย เด็กเลี้ยงควาย ความรู้ประถม 2 อายุ 22 พรรษา 2 ทำไมอาจหาญชาญชัยนักก็ไม่รู้

 

การนำไม้เข้าวัด หากไม่มีความคิด ไม่มีหวัง การจะสร้างกุฏิถวายท่าน โดยไปปรารภให้ท่านฟังก่อนก็ไม่มีทางเป็นไปได้ การนำไม้เข้า ต้องมีใบรับรองจากป่าไม้อำเภอ และอย่าพูดว่าจะเอามาสร้างกุฏิ ต้องบอกว่า ชาวบ้านคนหนึ่งเขาสร้างบ้าน มีไม้เหลืออยากถวายวัด

 

ท่านก็ว่า "ศรัทธามีก็เอามา"

 

หากท่านถามหาใบอนุญาต ก็ต้องเอาให้ท่านดู โชคดีวันนั้น กำนันนำใบอนุญาตมาให้ เหน็บอยู่ที่ประคดเอวผู้เล่า  ท่านขอดูก็เอาให้ดูได้ทันที ท่านดูแล้วก็ส่งคืน

 

ความเกียจคร้านของคนสมัยนั้น ขนไม้เข้าวัดแล้ว มีแต่ไม้โครง แต่ไม่มีเสา ทิ้งไว้วันแล้ววันเล่า ผู้เล่าจะชักชวนวิ่งเต้นอย่างไร ก็บอกกันแต่ว่า พรุ่งนี้ก่อนๆ ไม่สิ้นสุดสักที

 

วันนั้นมาถึงเข้า ท่านฉันเสร็จ เดินลงมาจะไปห้องน้ำ ยืนดูกองไม้ ขณะนั้นมีโยม 3-4 คน พร้อมผู้เล่าติดตามไป พอเห็น ท่านก็พูดแรงๆ ว่า

 

"ใครเอาไม้มากองไว้นี่ มันรกวัด จะทำอะไรก็ไม่เห็นทำ เสาก็ไม่มี เอาคนหรือเป็นเสา คนนั้นไปยืนนั่น คนนี้ไปยืนนี่ อย่างนั้นหรือ รีบขนออกไป ใครจะเลื่อยเอาไปแบ่งกันก็เอาไป"

 

ท่านว่าแล้ว ก็ทั้งรู้สึกกลัว ทั้งขบขัน เอาคนมาเป็นเสา 5-6 วันให้หลังก็ได้เสามา พุทโธ่เอ๋ย ช่างไร้สติเสียจริงๆ ทีนี้เสามาแล้ว ไม่มีใครทำ อ้างแต่ว่า ทำไม่เป็นๆ ทั้งพระทั้งโยม

 

เด็กเลี้ยงควายประถม 2 ผู้กล้าหาญชาญชัยเหมือนเดิม ตัดสินใจให้โยมเอาต้นหญ้าสาบเสือมา เอาตอกมัดโครงสร้างขึ้น พระอาจารย์เดินมาเห็น ท่านถามว่า

 

"จะทำอะไร"

 

เรียนท่านว่า "จะสร้างกระต๊อบด้วยไม้ที่มีอยู่ กระผม"

 

"นี้หรือแบบ"

 

"กระผม"

 

"เออ ใช้ได้" ท่านว่า ฟังแล้วก็แสนจะดีใจ

 

"ปลูกที่ไหนเล่า"

 

"ปลูกที่นี่ขอรับกระผม"

 

ที่ๆ มีผู้ไปนมัสการเห็นอยู่ตอนนี้ล่ะ แต่ก่อนมีต้นหว้าอยู่ข้างหลัง เวลาบ่ายมีนกเขามาขันทุกวัน เรียนว่า

 

"นกเขามาขันที่ต้นหว้านี้ทุกวัน จะได้ฟังเสียงนกเขา"

 

ท่านว่า "เออดี ปลูกก็ปลูก"

 

เริ่มโครงสร้างได้ 2 วัน พระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ มาพอดี ผู้เล่าโล่งอก เราไม่ตายแล้ว พรุ่งนี้ฉันเช้าเสร็จ พระอาจารย์พรหมก็ไปสั่งการ ใช้แกนถ่ายไฟฉายขีดเส้น เจาะตรงนั้น ผ่าตรงนี้ ทั้งโยมทั้งพระระดมกันใหญ่เลย ประมาณ 10 วัน ก็เสร็จเรียบร้อย

 

ชาวบ้านขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ขึ้นไปอยู่ ท่านบอกว่า

 

"ไม้ยังใหม่อยู่ ยังไม่คลายกลิ่น หมดกลิ่นไม้ก่อนค่อยไป"

 

ตั้งแต่วันท่านพระอาจารย์ไปอยู่จนบัดนี้ ไปกราบนมัสการคราวใด ขนหัวลุก ทั้งละอาย คิดไม่ถูก ควรทำให้ลักษณะดีกว่านี้ นี่พอเป็นรูปโกโรโกโส ทั้งสลดทั้งสังเวชตัวเอง เด็กประถม 2 เด็กเลี้ยงควายบ้านนอก ทำไมแกมาอาจหาญชาญชัยให้ผู้ดีมีเกียรติมาดูหัวคิดฝีมือของแกได้ เป็นจิตสำนึกมาจนบัดนี้


 

การสรรหาเจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะจังหวัด

 

 

เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลหมากแข้ง และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ว่างลง ความทราบถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สถิต ณ วัดราชบพิธฯ ให้สรรหาผู้สมควร แต่ควรเป็นคนทางภาคอีสาน ไม่มีใครนอกจากพระจันทร์ (จันทร์ เขมิโย) กับพระมหาจูม (จูม พนฺธุโล) วัดเทพศิรินทร์ โปรดให้นำตัวเข้าเฝ้า ทอดพระเนตรเห็นตรัสว่า

 

"พระจันทร์ มีวุฒิแค่นักธรรมตรี อายุพรรษาก็มากอยู่ แต่วุฒิการศึกษาไม่เข้าเกณฑ์ จะเป็นเจ้าคณะมณฑล เป็นเจ้าคณะจังหวัดได้ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครพนม"

 

"ส่วนพระมหาจูม เปรียญ 3 นักธรรมโทเข้าเกณฑ์ แต่อายุแค่ 28 พรรษา 8 อายุพรรษายังน้อยนัก จะไหวหรือ"

 

นี้คือพระดำรัส แต่ไม่มีตัวเปลี่ยน จึงนำตัวพระทั้ง 2 รูป เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในขณะนั้น

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงปรึกษาเรื่องพระมหาจูม กับพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับรองอย่างแน่พระทัย ตรัสว่า

 

"ส่งไปได้เลย หม่อมฉันรับรอง พระมหาองค์นั้นไม่มีทางเสียหาย มีแต่ทางดี"

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็สนองพระประสงค์พระจันทร์ เขมิโย และพระมหาจูม พนฺธุโล เคยออกปฏิบัติกัมมัฏฐานกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเห็นว่า ไม่เป็นวิสัย จึงนำฝากเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเทพศิรินทร์ (ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ธรรมเนียมการส่งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ไปดำรงตำแหน่งวัดสำคัญ จะต้องนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราช และองค์พระมหากษัตริย์ก่อน)

 

มณฑลหมากแข้ง ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม สกลนคร และอุดรธานีเป็นวัดคณะธรรมยุต จัดการศึกษาทั้งด้านบาลีและนักธรรม การปฏิบัติธรรมวินัย เป็นไปอย่างมีระเบียบดียิ่งมากขึ้นทุกจังหวัด มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ แม้ต่างมณฑลยังส่งมาเรียนที่นี่

 

สามสี่ปีให้หลังผลงานออกมาเป็นที่ยอมรับ ได้พระราชทาน ตำแหน่งพระครูสัญญาบัตรทั้ง 2 องค์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงชมเชยพระเจ้าอยู่หัว ต่อหน้าพระพักตร์ว่า ทรงมีสายพระเนตรไกล มองดูบุคคลออก พระพรรษาน้อยอย่างพระมหาจูม พอพระทัยส่งไปเป็นเจ้าคณะมณฑลได้ นี้คือผู้เล่าได้ฟังจากท่าน


 

ได้รับจดหมายใหญ่

 

คงจะเป็นความผูกพันระหว่างศิษย์กับอาจารย์อย่างแน่นแฟ้น เมื่อครั้งที่ท่านพระอาจารย์ส่งพระจันทร์ ซึ่งภายหลัง คือ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) และ สามเณรจูม ซึ่งภายหลัง คือ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาทางราชการได้ส่งพระทั้งสองรูป มาปฏิบัติศาสนกิจทางภาคอีสาน เป็นศิษย์ของท่าน ท่านพระอาจารย์ส่งไปศึกษาเอง เวลามาทำงานที่ภาคอีสาน นักปราชญ์อย่างท่านพระอาจารย์จะไม่เอาธุระช่วย คงเป็นไปไม่ได้ คล้ายๆ กับว่ามีอะไรผูกพันกันอยู่อย่างนั้น

 

ครั้งท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่ภาคเหนือ ทุกปีท่านเจ้าคุณพระมหาจูมส่งจดหมายไปกราบนมัสการนิมนต์กลับภาคอีสาน ปีแล้วปีเล่าท่านพระอาจารย์ก็เฉยๆ ปีนั้นท่านเจ้าคุณฯ จึงไปกราบนมัสการด้วยตนเอง ขอนิมนต์กลับภาคอีสาน ท่านตอบรับทันที แล้วยังเร่งด้วยว่า

 

"จะกลับวันไหนกลับด้วยกัน ทุกปีเห็นแต่จดหมายเล็กเลยไม่กลับ ปีนี้จดหมายใหญ่มาแล้ว ต้องกลับ" ท่านว่า

 

ท่านเจ้าคุณฯ จึงกราบเรียนท่านว่า"นิมนต์พักอยู่ก่อน กระผมจะไปอุดรธานี จัดที่พักเรียบร้อยแล้ว จะส่งคนมารับทีหลัง"

 

ท่านเจ้าคุณฯ ได้จัดวัดป่าโนนนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถวายให้ท่านพำนักเป็นวัดแรก หลังจากท่านไปจำพรรษาที่ภาคเหนือ ถึง 11 ปี (พ.ศ.2472 - 2482) ท่านได้มาช่วยศิษย์ทั้งสองเต็มกำลัง ดังผลงานที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน


 

การวินิจฉัยอธิกรณ์

 

เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลวงตามัน นิมฺมโล อยู่วัดวิริยะพล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เป็นศิษย์องค์หนึ่ง เป็นผู้ปฏิบัติดี มีชาวสกลนครนับถือ นิมนต์มารับสังฆทาน โดยพักที่วัดป่าสุทธาวาสเป็นประจำ

 

คราวหนึ่ง เธอด่วนจะกลับวัด ฉันเสร็จแล้ว นำโยมไปเอาปัจจัยส่วนแบ่งกับผ้าขาวคนหนึ่งที่เป็นไวยาวัจกร พระที่รับนิมนต์มี 7 รูป ได้ไปรับปัจจัย ปรากฏว่าหายไปส่วนหนึ่ง ไม่ครบพระ ถามผ้าขาว เธอบอกว่า

 

"หลวงตามันเอาไปสองส่วน"

 

อธิกรณ์ก็เกิดขึ้น มีหลักฐานพยานเพียงพอ คณะสงฆ์จังหวัดตัดสินว่า หลวงตามันละเมิดอทิตตาทานสิกขาบท จำนวนเงินที่ได้รูปละ 2.50 บาท สองส่วนรวมเป็น 5 บาท เธอปฏิเสธ แต่หักล้างหลักฐานไม่พอ คณะสงฆ์ตัดสินวินิจฉัยให้เธอสึก เธอบอกหากจะให้สึก กรุณาพาไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นก่อน คณะสงฆ์พร้อมทั้งเจ้าคณะจังหวัด(ธ) จึงพาหลวงตามันไปวัดป่าบ้านหนองผือ

 

พอไปถึงกราบนมัสการ เจ้าคณะจังหวัดยื่นเอกสารถวายท่าน

 

พระอาจารย์ท่านว่า"วางไว้นั่นก่อน" ถามว่า"เรื่องอะไร"

 

เจ้าคณะจังหวัดกราบเรียนว่า"เรื่องหลวงตามันละเมิดอทินนาทานสิกขาบท คณะวินิจฉัยให้เธอสึก เธออยากให้พระอาจารย์วินิจฉัยอีก"

 

ท่านพระอาจารย์ถามว่า"แล้วจะเชื่อผมไหม"

 

พากันตอบว่า"เชื่อ"

 

"ถ้าอย่างนั้นเอาเอกสารไปเผาไฟเดี๋ยวนี้ เพราะตัวหนังสือเล็กไป เอาตัวหนังสือใหญ่ คือ พวกเรา มาวินิจฉัยกัน" ท่านว่า

 

เจ้าคณะจังหวัดจึงจัดการเผาทันที

 

ท่านพระอาจารย์ว่า"อันเงินนั้นหลวงตามันไม่ได้เอาไปสองส่วน เอาไปส่วนเดียว คนที่เอาเงินนั้นไป คือ คนที่อยู่ใกล้เงิน ใครอยู่ใกล้ คนนั้นเอา"

 

ตาผ้าขาวคนหนึ่งซึ่งนั่งนิ่งอยู่นั้น ก็สารภาพขึ้นต่อหน้าสงฆ์ ที่ท่านพระอาจารย์เป็นประธาน

 

ท่านพระอาจารย์ว่า"นั่นเห็นไหม ตัวหนังสือใหญ่แจ้งจางปาง ปานเห็นเสือกลางวัน ลายพาดกลอนเต็มตัว" ท่านว่า

 

"หลวงตามันเธอเป็นพระมีศีล ท่านเจ้าคณะจังหวัดก็ดี ท่านมหาทองสุกก็ดี คณะสงฆ์ก็ดี ทำอะไรให้รอบคอบ จะทำลายพระมีศีลโดยไม่รู้ตัว จะไปตกนรกเปล่าๆ ไม่เสียดายหรือ ประพฤติพรหมจรรย์มานาน หวังมรรคผลนิพพาน ต้องมาตกนรก มันไม่คุ้มค่ากัน อย่าไปทำลายพระมีศีล"ท่านว่า

 

เรื่องก็สงบลงโดยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นตัวอย่างแก่คณะพระวินัยธรต่อไป หลวงตามันก็พ้นคดีไป เป็นพระบริสุทธิ์

 

ที่ได้เห็นได้ฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นวินิจฉัยอธิกรณ์ มีครั้งนี้ครั้งเดียว


 

เทศน์มูลกัมมัฏฐาน

 

ท่านพระอาจารย์ได้เทศน์เรื่องนี้ว่า

 

ก่อนพระอุปัชฌาย์จะบวชให้กุลบุตรทั้งหลายนั้น จะต้องสอนเรื่อง มูลกัมมัฏฐานก่อน

 

เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ นี้เป็นอนุโลม

 

ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นี้เป็นปฏิโลม

 

ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์จะอธิบาย พอให้ได้ใจความว่า รากเหง้าของพระกัมมัฏฐานทั้งหมด อันผู้ปฏิบัติจะพิจารณานั้น ออกไปจากกัมมัฏฐาน 5 นี้เอง จึงเรียกว่า มูล คือ เค้าเป็นมูลเหตุ อันมูลกัมมัฏฐานนี้ ท่านพระอาจารย์อธิบายได้ละเอียด เป็นอเนกปริยายอย่างมีระบบ ซึ่งผู้เล่าจะนำมาเล่าพอได้ใจความดังนี้

 

ท่านแปล เกสา อันว่าผมทั้งหลาย โลมา อันว่าขนทั้งหลาย นขา อันว่าเล็บทั้งหลาย ทนฺตา อันว่าฟันทั้งหลาย ตโจ อันว่าหนัง ท่านไม่ว่าทั้งหลาย ก็มันหนังผืนเดียวนี้ หุ้มห่อร่างกายอยู่ นอกนั้นมันมีมาก ก็ว่าทั้งหลาย

 

ผมอยู่บนศีรษะอยู่เบื้องสูง ตามองดูจะเห็นส่วนบนก่อน ต่อจากนั้นจึงเห็นโดยลำดับ รวมลงที่สุด คือ หนัง

 

หนังเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด ความนิยมชมชอบ ความสมมติว่า เป็นพระ เณร เถรท้าว รวมไปทั้ง บุตร ภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้หุ้มห่อ หากไม่มีหนังหุ้มห่อ มีแต่เลือด เนื้อ เอ็น ตับ ไต ไส้ พุง สุดท้ายเหลือแต่กระดูกในหม้อในโหล หรือว่าเหลือแต่โครงกระดูก ใครเล่าจะนิยมชมชอบ ว่าบุคคลนี้ เป็นพระเณรเถรท้าว นี้เป็นบุตรภรรยาสามีของเรา มีไหมล่ะ

 

ด้วยเหตุนี้เอง พระอุปัชฌาย์จึงได้สอนกุลบุตรผู้จะบรรพชาอุปสมบท ให้เรียนมูลกัมมัฏฐานก่อน เพราะว่า ราคะ ความกำหนัดยินดี อยากจะได้ชมเชย เชยชิด ก็เพราะไอ้เจ้าตามองไปเห็นหนังก่อน ไม่ว่าชายเห็นหญิง หญิงเห็นชาย แล้วอยากได้มาเป็นภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้เอง นอกนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบ หนังเป็นต้นเหตุ หนังก่อทุกข์ หนังก่อภพก่อชาติ ไม่ว่าคนและสัตว์ หมู หมา กา ไก่ ช้าง ม้า โค กระบือ แม้กระทั่งลา ก็หนังผืนนี้แล

 

ทำไมพระอุปัชฌาย์จึงสอนให้พิจารณามูลกัมมัฏฐาน

 

เพราะว่าเจ้าราคะ เจ้าโทสะ เจ้าโมหะ เจ้ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เกิดจากตาไปกระทบกับเค้ามูลนี้ จึงต้องให้รู้สภาวะที่แท้จริง ที่เกิดลักษณะอาการ กลิ่น สี ให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก เพื่อบรรเทากำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ตามความตั้งใจของกุลบุตร ที่มีศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

 

ท่านยกอุทาหรณ์ในเรื่องมูลกัมมัฏฐานไว้ว่า

 

แม้สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าก็ตรัสสอนพระราหุลพุทธชิโนรส เป็นกรณีพิเศษ พระโอวาทนี้เรียกว่า จูฬราหุโลวาทสูตร เป็นการทดสอบความสามารถของพุทธชิโนรสครั้งแรก เพราะพระราหุลทรงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเลิศกว่าสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา

 

ครั้งที่ 2 ทรงแสดงแก่พระราหุลก็มูลกัมมัฏฐาน แต่เป็นอเนกปริยายตามอัธยาศัยของพระราหุล ชื่อว่า มหาราหุโลวาทสูตร จบลงจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับจตุปฏิสัมภิทาญาณอย่างสมบูรณ์ ได้รับสมญาว่า พระมหาราหุล ตั้งแต่บัดนั้น

 

หลังจากนั้น พระอุปัชฌาย์ก็คลี่ผ้ากาสาวพัสตร์ เอาอังสะจากผ้าไตรจีวร ห่มเฉวียงบ่าข้างซ้าย อธิบายวิธีครองผ้าเสร็จ มอบผ้ากาสายะให้นำไปครอง

 

ครองผ้าเสร็จ เข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ กราบสามหน ถวายดอกไม้ กล่าวคำขอสรณะและศีล พระอุปัชฌาย์ก็ให้สรณะและศีล โดยบทบาลีว่า พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ 1 สามหน ทุติยัมปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ 2 สามหน เป็น 6 ตติยมฺปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ 3 สามหน เป็น 9 แล้วอาจารย์จะบอกว่า การบรรพชาเป็นสามเณรสำเร็จลงด้วยไตรสรณคมน์เพียงเท่านี้

 

ท่านพระอาจารย์ได้อธิบายต่อไปว่า

 

สรณะในศาสนามีแค่ 3 แม้ว่าจะถึงวาระที่ 3 เก้าหน ก็ไตรสรณะอันเก่า ไม่มีคำว่า ภูเขาต้นไม้ รุกฺขเจติยา สรณํ คจฺฉามิ ภูติผีปีศาจ เสือสางคางแดง สรณํ คจฺฉามิ ถ้าเพิ่มเข้ามาอย่างนี้ผิด สรณะไม่เป็นสรณะ ไม่เป็นบรรพชิต จะเพิ่มเข้ามาภายหลัง สรณะก็เศร้าหมองท่านว่า

 

ต่อจากนั้น จะบอกให้สามเณรสมาทานสิกขาบท อันจะพึงศึกษา 10 ประการ ส่วนการอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ไม่ต้องสมาทานศีล 227 เป็นเรื่องของสงฆ์จะยกฐานะให้เป็นพระภิกษุ เมื่อคณะสงฆ์ยินยอมแล้ว ก็เป็นพระสงฆ์โดยสมบูรณ์

 

จากนั้นเป็นหน้าที่พระอุปัชฌาย์จะสอนอนุศาสน์ ข้อห้าม และข้ออนุญาต

 

การแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น มิได้สอนพระที่ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ใหม่เท่านั้น แต่ท่านสอนศิษย์ทั้งเก่าและใหม่ เพื่อให้ศิษย์สำนึกเสมอว่า การปฏิบัติตามโอวาทพระอุปัชฌาย์นั้น สามารถบรรลุธรรมวิเศษชั้นใดชั้นหนึ่ง มีพระโสดาบัน เป็นต้น ภายใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี 12 ปี และ 16 ปี เป็นอย่างช้า

 

ท่านสอนสลับกันไป ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย อย่างมีระบบ ละเอียด อุปมาอุปไมย เป็นอเนกปริยาย ชนิดผู้ฟังใจจดใจจ่อ อยากฟังตลอดเวลา ท่านเปรียบ พระอุปัชฌาย์เหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดลูก จะสอนลูกทุกอย่าง ให้ทุกอย่างที่เป็นมนุษย์สมบัติ พอกินพอใช้จนวันตาย ไม่มีผู้ใดเทียบได้ จึงได้ชื่อว่า เป็นมิตรในเรือน เป็นพรหมของบุตร เป็นพระอรหันต์ในกระท่อมจนถึงมหาปราสาท ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านว่า


 

ท่านพระอาจารย์ปฏิบัติต่อสตรีเพศ

 

สตรีเพศนั้นเป็นเพศยั่วยวนกามกิเลสของบุรุษเพศ ในขณะเดียวกัน บุรุษเพศก็เป็นที่ยั่วยวนกามกิเลสของสตรี เป็นคู่กันมากับโลกฉะนั้น พระเถระชื่อว่า พระอานนท์ ผู้ทรงคุณสมบัติถึง 5 ประการ ข้อที่ว่า มีนิติ คือ อุบายเป็นเครื่องนำไปของพระเถระนั้น พระอานนท์ได้เล็งเห็นการณ์ไกลต่อพระภิกษุ ผู้จะสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ในกาลต่อมา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จึงกราบทูลถาม เรื่องการปฏิบัติต่อสตรีเพศของพระภิกษุ ว่า

 

พระอานนท์"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันพระภิกษุในธรรมวินัย จะปฏิบัติต่อสตรีเพศอย่างไร"

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า"ดูก่อนอานนท์ การไม่รู้ไม่เห็นเป็นการดี"

 

พระอานนท์"ถ้าจำเป็นจำเป็นต้องดูต้องรู้ต้องเห็น ควรทำอย่างไรพระเจ้าข้า"

 

พระพุทธเจ้า "ถ้าเห็นไม่พูดเป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็ต้องมีสติ พูดพอประมาณ อานนท์"

 

ข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นอนุโลม คือ ตามไป หรือเป็นอนุวัตร คือ ความกลับ แต่ท่านพระอาจารย์นั้นปฏิบัติเป็นปฏิโลม คือ ถอยหลังกลับ หรือปฏิวัติกลับหลัง เมื่อจำเป็นต้องพูด มีสติพูด เมื่อเห็นไม่พูดเจรจา เอาข้อแรกที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ ไม่รู้ไม่เห็นเป็นหลัก ท่านว่า คือ ไม่รู้ไม่เห็นเป็นการดีนั้นเอง

 

ในการสังเกตของผู้เล่าท่านพระอาจารย์จะปฏิบัติข้อไม่รู้ไม่เห็นตลอดมา เสมอต้นเสมอปลาย เพราะท่านไม่คลุกคลีกับเพศหญิงเลย แม้แต่หลานเหลนของท่าน

 

ศิษย์สายของท่านจะยึดข้อนี้ตามแนวของท่าน


 

การปลูกต้นโพธิ์

 

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์ไปพักอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง วัดนั้นมีต้นโพธิ์หลายต้น แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวางมาก ใบแห้งหล่นเป็นกองพะเนิน ท่านก็เลยบ่นว่า

 

"ต้นโพธิ์นี้เอามาปลูกทำไมกัน รกที่ ต้นไม้อื่นก็ขึ้นไม่ได้ นกมาขี้ใส่ ทำลายโบสถ์วิหาร"

 

ผู้เล่าคิดในใจ "โพธิ์ตรัสรู้ ใครๆ ก็อยากได้บุญ"

 

ขณะนั้นท่านกำลังกวาดใบโพธิ์แห้งอยู่ จึงพูดว่า

 

"เหอ...บุญมีแต่ปลูกต้นโพธิ์เท่านี้หรือ อย่างอื่นไม่มีหรือ ต้นโพธิ์พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พระองค์ก็ตรัสรู้ไปแล้ว และต้นโพธิ์ที่ปลูกกันเป็นร้อยๆ พันๆ ก็ไม่เห็นมีใครสักคนเดียวมาตรัสรู้อีก"

 

ท่านว่า แต่ละยุคมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้องค์เดียว แล้วจะปลูกให้ใครมาตรัสรู้อีก แต่ละพระองค์ที่มาตรัสรู้ ก็ไม่ใช่ใต้ต้นโพธิ์อย่างเดียว ต้นไม้อื่นก็มี ท่านว่าอย่างนี้


 

การรับศิษย์ในยุคปลายสมัย

 

ลูกศิษย์ทุกท่านที่เข้าไปศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่นในยุคต้นๆ ท่านจะเร่งในเรื่องการทำความเพียร เดินจงกรม และภาวนา อย่างชนิดที่เรียกว่า เอาเป็นเอาตาย ศิษย์ก็มีความเชื่อมั่นกับครูบาอาจารย์ ความเชื่อมั่นต่อพระพุทธเจ้า ว่าไม่ตาย เพราะเราทำถูก แต่อย่าทำผิดพื้นฐาน คือ พระวินัย รับรองไม่ตาย

 

ยุคหลังนักศึกษาที่สำเร็จนักธรรม สำเร็จบาลีมา ก็เริ่มเข้าไปศึกษา ท่านเหล่านี้ ยกตัวอย่าง ท่านอาจารย์มหาบัว ท่านฯ พูดไม่มาก ได้ฟังแล้วก็เข้าใจ เป็นลักษณะของผู้มีปัญญามาก

 

ผู้ที่ผ่านการศึกษานักธรรมบาลีมาแล้ว จึงจะรับให้อยู่ในสำนัก สามเณรก็ต้องอายุถึง 17 ปีเสียก่อน ทำบัตรประชาชนแล้วถึงจะรับ  ถ้าเป็นพระ ต้องคัดเลือกทหารก่อน ท่านถึงจะรับ ต้องผ่านการศึกษามาแล้ว เพราะว่าเขาเหล่านี้รู้แบบแผนแล้ว เมื่อมาปฏิบัติจนรู้เห็นด้วย จะเป็นประโยชน์ทั้งสองด้าน สามารถเผยแผ่ศาสนาไปในทางที่ถูกต้อง อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของท่านพระอาจารย์มั่น

 

ศิษย์ที่เข้ามาในยุคปลายก็มี ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์วิริยังค์ หลวงปู่หล้า และลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ที่ผ่านนักธรรมบาลีมาแล้วทั้งนั้น เช่น เจ้าคุณมหาเขียน [พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จังหวัดกาฬสินธุ์] เจ้าคุณมหาโชติ [พระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา] พระมหาประทิศ เจ้าคุณกง [พระราชศีลโสภิต (กง โฆสโก) วัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร]เป็นต้น

 

วินิจฉัยปัจจัยสี่

 

วาทะท่านพระอาจารย์มั่นน่าคิด

 

เศรษฐกิจนี้ก็คือ ปัจจัย 4 ใช่ไหม

 

ปัจจัย 4 เป็น เสฏฺโฐ เสฏฺฐา เสฏฺฐํ ทั้งปุฯ ทั้งอิตฺฯ และนปุฯ ครบทั้ง 3 ลึงค์

 

เสฏฺฐ แปลว่า เจริญที่สุดเจริญอย่างไร เจริญเคียงคู่กับคน เศรษฐกิจหรือปัจจัย 4 นี้มนุษย์จะอยู่ได้ เพราะอาศัยความเจริญนี้ไปพร้อมๆ กัน จึงสืบต่อมาได้ ท่านฯ ว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระวินัยปาฏิโมกข์ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการเศรษฐกิจนี้ เกือบจะทุกสิกขาบท

 

บางสิกขาบท ท่านพระอาจารย์ก็วินิจฉัย และเข้าใจความหมาย เช่น สิกขาบทเกี่ยวปัจจัยที่ 4 คือ ยารักษาโรค ความว่า ภิกษุไม่เป็นไข้ ติดไฟเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นติดก็ดี เพื่อจะผิงไฟนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะผิงไฟเป็นนิสัย

 

ข้อนี้ทำให้ศิษย์สงสัยกันมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะทำซุ้มไฟติดไฟ ตั้งแคร่นั่งนอนในซุ้มไฟ เทศน์แก่ศิษย์ในซุ้มไฟ ศิษย์ก็ได้ผิงไฟไปด้วย ไม่ต้องหนาวลำบาก ข้อนี้ท่านบอกว่า

 

คำว่า ไข้ นั้น หนาวจนทนไม่ไหวก็คือไข้นั้นเอง หรือจะให้เป็นไข้จับสั่น จวนจะตายอยู่แล้วจึงจะผิงไฟได้อย่างนั้นหรือ อย่าไปผิงเลย นอนคอยตายดีกว่า คนหนาวจะตายแล้ว ไฟก็เป็นยา ทำให้ร่างกายอบอุ่น เลือดลมเดินได้สะดวก เจริญสมณธรรมได้ ดีกว่าอดทนหนาวตาย ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

ท่านว่า นิสัยที่พระอุปัชฌาย์สอนครั้งแรก ข้อ 4 ว่า อาศัยน้ำมูตรเน่าเป็นยานั้น ตามความเข้าใจของนักวินัยทั้งหลาย หมายเอาผลมะขามป้อม ผลสมอ มาดองด้วยน้ำมูตรเน่าน้ำเยี่ยว อันนั้นก็ถูกต้อง แต่ท่านหมายเอาน้ำปัสสาวะ คือ น้ำเน่าที่ดองในร่างกายคน แก้โรคได้ เพราะ "อันนี้ได้พิจารณาแล้ว" (อันนี้หมายถึงท่านพระอาจารย์มั่น)

 

คำว่า เภสัช นั้นหมายถึง ยาทุกชนิดที่แก้โรคได้ แต่ละอย่างต้องการกรรมวิธีด้วยการหมักดองให้เน่าเสียก่อน รวมความแล้ว ยาต้องดองด้วยน้ำมูตรเน่า กินความกว้าง หมายเอายารักษาโรคทั่วไป รวมทั้งยาบำรุงด้วย เช่น เภสัชทั้ง 5 ท่านฯ ว่าอย่างนี้

 

ในพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นเยี่ยม ท่านพระอาจารย์เน้นในวินัยปาฏิโมกข์ คือ เสขิยวัตรทั้งหมด เป็นเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ รวมทั้งสังคม และมารยาทในสังคมด้วย

 

ท่านอธิบายสมณสารูป 26 ว่า สมณสารูป สมณะผู้มีรูปงาม จะนุ่งจะห่มจะยืนจะเดิน ล้วนมีความงามทั้งนั้น นุ่งให้เรียบร้อย ห่มให้เรียบร้อย ทั้งในวัดและในบ้าน จึงเรียกว่า เป็นปริมณฑล ท่านย้ำให้เกิดบรรยากาศแห่งความร่าเริงในธรรมว่า ไม่ใช่ปริมันซังซะ ไปไหนก็ซังซะ มาไหนก็ซังซะ (หมายถึง ไม่เรียบร้อย ไม่งาม ไม่เป็นระเบียบ) ไม่ใช่สมณสารูป

 

เศรษฐกิจสัมพันธ์โยงใยไปถึง ธรรมวิภาคที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนา เป็นหลักสูตรนักธรรมตรี แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งธรรมทั้งวินัย เป็นสิ่งผูกพันกับชีวิตมนุษย์ทุกรูปทุกนาม เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในคำนำว่า

 

กุลบุตรผู้บวชภายในไตรมาส 3 เดือน ก่อนลาสิกขา ให้ท่องให้จบ คือ เดือนที่ 1 ท่องวินัยบัญญัติ เดือนที่ 2 ท่องธรรมวิภาค เดือนที่ 3 ท่องคิหิปฏิบัติ จบพอดี กุลบุตรลาสิกขาไป จะได้รู้หลักธรรมนำไปปฏิบัติ

 

หนังสือนวโกวาท เป็นหนังสือธรรมย่อๆ แต่รวมเศรษฐกิจสัมพันธ์ไปด้วยอย่างสมบูรณ์ เพราะเหตุนี้ท่านพระอาจารย์มั่นจึงย้ำนักย้ำหนา ให้ศิษย์ท่องให้ได้ ผู้เล่าเคยถวายกัณฑ์สังฆาทิเสส พระวินัย และธรรมวิภาคหมวด 10 อภิณหปัจจเวกขณ์ ที่ว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ และคิหิปฏิบัติ เกียจคร้านทำการงาน มีโทษ 6 อย่าง

 

ในหมวด 10 ท่านมักจะย้ำ เรื่องกถาวัตถุ 10 ข้อ 1 ข้อ 2 ว่า มักน้อยสันโดษ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐีกถา คือ ความมัธยัสถ์ ใช้สอยพอดีแก่ฐานะของตน ก็ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

 

ท่านพระอาจารย์กล่าวเตือนศิษย์เสมอว่า จะสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้าน ต้องสอนให้อิ่มปากอิ่มท้องเสียก่อน จึงค่อยสอนศีลธรรมทีหลังสรุปได้ว่า เศรษฐกิจสัมพันธ์และพลานามัยแบบท่านพระอาจารย์มั่น ดูจะสัมพันธ์ผูกพันต่อเนื่องเป็นวงจร ระหว่าง พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม

 

ท่านพระอาจารย์ว่าอย่าไปทำตัวเป็นนักการค้าผลิตผลของชาวบ้านเสียเอง เพราะหากทำเช่นนั้น ท่านพระอาจารย์ว่า มหิจฺฉตา อสนฺตุฏฐี สสํคณิกา ไม่เกิดวิเวก มีความเกียจคร้าน จิตก็ห่างจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันควรเป็น ควรมี ควรได้ จากเพศพรหมจรรย์


 

เร่งอบรมพระเณร

 

คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านพระอาจารย์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ปัจจัยที่เป็นเครื่องดำรงชีพสะดวกสบาย ปัจจัยสี่พอพียง จิตใจของประชาชนไม่สับสนวุ่นวาย สรรพสินค้าเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดการค้า ทั้งของไทยและของต่างประเทศ

 

ท่านพระอาจารย์ถือเอาจังหวะนี้ เร่งรัดอบรมสั่งสอนศีลธรรม สมถวิปัสสนา แก่พระสงฆ์และประชาชน หนทางยังกันดารอยู่ เดินทางด้วยเท้าเปล่าเข้ามา เป็นเรื่องสนุกของชาวกรุงเทพฯ ไปแล้ว ทั้งหญิงชายจากกรุงเทพฯ จันทบุรี ชัยนาท สระบุรี เชียงใหม่ เข้าไปถวายทาน กราบนมัสการเป็นระยะ เป็นหมู่เป็นคณะ ตั้งแต่ออกพรรษาตลอดฤดูหนาว 4 เดือน ทั้งใกล้ไกล

 

ท่านพระอาจารย์ต้องทำกิจประจำ 5 ประการให้มากยิ่งขึ้น ตอนเช้าเที่ยวบิณฑบาต ตอนบ่ายเทศนาสั่งสอนประชาชน พลบค่ำให้โอวาทแก่พระสงฆ์ เกือบจะไม่มีเว้นวัน อีก 2 อย่าง เป็นเรื่องภายในส่วนตัวของท่าน ผู้เล่าไม่สามารถนำมาเล่าได้

 

พระเถระฝ่ายบริหาร ทั้งเป็นเพื่อนเก่าและใหม่ ได้เดินทางข้ามเขา ไปกราบนมัสการหลายรูป เท่าที่จำได้เพื่อนเก่า มีเจ้าคุณปราจีน [คือ พระปราจีนมุนี (เพ็ง กิตติงฺกโร) วัดมะกอก จังหวัดปราจีนบุรี] เจ้าคุณสิงห์บุรี เจ้าคุณลพบุรี [คือ พระเทพวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ) วัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี ผู้เป็นน้องชายของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจนฺโท) ]

 

เจ้าคุณใหม่ มี เจ้าคุณรักษ์ หนองคาย [คือ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย] เจ้าคุณเมืองเลย [คือ พระธรรมวราลังการ (ศรีจันทร์ วณฺณาโภ) วัดศรีสุทธาวาส จังหวัดเลย] เจ้าคุณพระมหาโชติ [คือ พระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา] เจ้าคุณเขียนนครราชสีมา [คือ พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จังหวัดกาฬสินธุ์]


 

แสดงบุพพนิมิต

 

ประมาณต้นปี 2492 ปีที่ท่านจะเริ่มอาพาธ มันเป็นลักษณะคล้ายๆ กับเป็นลางสังหรณ์ของชีวิตแต่ละบุคคล ปกติท่านพระอาจารย์มั่นจะมีตะเกียงโป๊ะเล็ก ๆ ส่วนมุ้งนั้นเป็นมุ้งผ้า ชาวบ้านทอเอง ขณะนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศหนาวมากคล้ายภาคเหนือ จุดไฟมาหลายปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

แต่วันนั้นอย่างไรไม่ทราบ ท่านร้องขึ้นประมาณตี 2

 

"โอ๊ย โอ๊ย ไฟไหม้ ใครได้ยินมาช่วยด้วย ไฟไหม้ ใครได้ยินมาช่วยด้วย"

 

มีกุฏิ 3-4 หลัง อยู่ใกล้ๆ ผู้เล่าได้ยินเสียงท่าน ตื่นขึ้นมาเปิดประตูกระโดดออกไป ไฟข้างในสว่างอยู่แล้ว กำลังจะไหม้มุ้ง ผ้าส่วนหนึ่งมันปิดท่านอยู่ ท่านแก้ไม่ออก ผ้าห่มส่วนหนึ่งแยกออกไปได้แล้ว ท่านก็พยายามหอบผ้าที่แยกออกแล้ว พังออกไป

 

ผู้เล่าผลักประตูเข้าไปแรงๆ ประตูก็พังไปเลย แล้วก็ผลักประตูข้างหน้าอีก ผลักประตูหน้าต่างอีก หน้าต่างกับประตูมันมีพื้นฐานเท่ากัน ผลักเข้าไปแล้ว ก็รีบเปิดผ้าออก แล้วประคองท่านออกมาข้างนอก ท่านลุกขึ้น เข้าไปดึงมุ้งลงมา ไฟมันจะขึ้นติดเพดาน กำลังจะไหม้แล้ว ผู้เล่าก็กระโดดเข้าไป ลืมคิดถึงอันตราย บุกตะลุยเลย โยนมุ้งลงไปข้างล่าง เป็นแสงวูบไป พอปลอดภัยแล้ว พระรูปนั้นก็มา พระรูปนี้ก็มา สว่างพอดี จึงกลับไปกุฏิ เตรียมบาตรลงไปศาลา

 

ท่านมองดูผู้เล่า มันทั้งดำทั้งแดงไปหมด

 

"เจ็บไหมล่ะ"ท่านว่า

 

"พอทนได้ มันร้อนก็พอทนได้"

 

ท่านมีน้ำมันทำเอง สำหรับใช้ทาริดสีดวงที่เป็นโรคประจำตัวของท่าน เวลาถ่ายแล้วเลือดออก ต้องใช้น้ำมันนั้น

 

"น้ำมันเรามี เอาไปทา เอ้า หล้า ช่วยกันทานะ"

 

ไม่พอ 2-3 วันก็เป็นปกติ จะเป็นด้วยอานุภาพของท่านก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นอจินไตย

น้ำมันนี้ ท่านทำใช้เฉพาะองค์เดียว มีน้ำมันมะพร้าว ขี้ผึ้งแท้เป็นส่วนประกอบ นอกจากนั้นก็อะไรที่ไม่ใช่ของแสบร้อน ใช้รักษาแผล เมนทอลท่านไม่เอา ทาเข้าไปเย็นๆ ใช้ 2-3 อย่างเท่านั้น ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ใช้น้ำมันมะพร้าวกับขี้ผึ้งเท่านั้น ใช้ได้นาน 2-3 ปี จึงจะหมด กุฏิที่ไฟไหม้ คือ หลังปัจจุบันที่วัดป่าบ้านหนองผือนั่นแหละ


สุบินนิมิตบ่งบอก

สุบินนิมิต (ฝัน)ก็บ่งบอกชะตาชีวิต และอุปนิสัยของบุคคล ที่เคยอบรมสั่งสอนมาแต่ปางก่อน ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นับตั้งแต่วันบวชเป็นพระมา (หมายถึง ช่วงบวชในพรรษาแรกๆ - ภิเนษกรมณ์)นอนหลับที่ฝันทุกครั้ง คือ ฝันว่าได้ไปโน่นไปนี่ อยู่ในสภาพที่เป็นพระนี้ และแปลกเพราะบนบ่าสะพายดาบ ที่เท้าทั้งสองข้างมีรองเท้าทำด้วยหนัง

ภายหลังมาพิจารณาได้ความว่า ดาบ คือ ปัญญา รองเท้า คือ สมาธิเมื่อปฏิบัติไป หากไม่มีอาจารย์แนะนำ ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ท่านว่า และยังว่าต่อไปว่า บุคคลผู้บริจาควัตถุประเภทโลหะ เช่น บาตร มีดโกน และเข็มเย็บผ้า เป็นการเพิ่มปัญญาบารมี เวลาท่านจะให้ของเบ็ดเตล็ดแก่ลูกศิษย์ มักจะหยิบเข็มออกมายื่นให้สานุศิษย์ ผู้เล่าก็เคยได้รับจากมือของท่านส่วนการบริจาคหนัง เช่น หนังรองนั่ง และรองเท้า เป็นการบำเพ็ญเจริญฌาน อธิษฐานบารมีมีผลานิสงส์

ผู้เล่าเคยตัดรองเท้าหนังถวายท่าน และพระเถระหลายองค์ รองเท้าที่เป็นฝีมือของผู้เล่า คือ คู่เล็ก ส่วนคู่ใหญ่เป็นฝีมือของท่านอาจารย์วิริยังค์ ดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

หมายเหตุ เครื่องรองนั่งทุกชนิด เช่น ผ้าปูนั่ง พรมปูนั่งมีในจัมมขันธ์ ผู้บริจาคมีอานิสงส์ ทำจิตให้รวมเร็ว


เมตตาผู้เล่า

ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นผู้รู้จักอัธยาศัยของบรรดาสานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านเคยพูดเสมอว่า

"คุณทองคำนี้เป็นบุคคลที่มีสติปัญญาอ่อน และวาสนาน้อย ถ้าจะอุปมาเปรียบสานุศิษย์ทั้งหลาย เหมือนเหล็กซึ่งถูกหลอมเป็นแท่งมาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อถูกไฟเผา เนื้อเหล็กอ่อน ก็ต้องตีด้วยฆ้อนแปดปอนด์ มันไม่เสียหายอะไร แต่คุณทองคำนี้ เปรียบเหมือนเนื้อเหล็กผสมอยู่กับหินที่มันเกิดทีแรก ถ้าเราใช้ฆ้อนทุบก็จะแหลกละเอียดหมด"

ตอนที่ท่านพระอาจารย์เริ่มอาพาธ ได้เมตตาผู้เล่าว่า

"ทองคำเอย เราก็สงสารเธอ ไม่มีอะไรจะให้ ขอให้เธอจงจดจำไว้ อันนี้เป็นคำสั่งสำหรับคุณโดยเฉพาะ ครั้งสุดท้ายเมื่อเราตายไปแล้ว จะไม่มีใครสั่งสอนคุณ เหมือนดังเราสั่งสอน ขอให้คุณปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์ ที่สอนครั้งแรกตั้งแต่วันบวช คือ การตั้งศรัทธาความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยอย่างแน่วแน่"

"ต่อจากนั้นก็พิจารณาองค์กัมมัฏฐาน 5 คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ขอให้ยึดมั่นอย่างนี้ เพราะว่า นอกเหนือจากพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมครูแล้ว ก็มีครูคนที่สองรองจากพระพุทธเจ้า คือ พระอุปัชฌาย์นี้เอง"

พระอุปัชฌาย์จะสอนตั้งแต่สรณคมน์ จนกระทั่งถึงพระนิพพาน ให้ตั้งศรัทธาต่อพระรัตนตรัย ให้พิจารณากัมมัฏฐาน 5 คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ให้ยึดมั่นในหลักนี้ รับรองไม่ผิด ท่านว่าอย่างนั้น นี้เป็นการสั่งสมวาสนาบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ถึงไม่รู้ชาตินี้ ชาติต่อไปก็สามารถรู้ได้

ผู้เล่ามาคิดเฉลียวใจว่า "เราปฏิบัติไปอย่างนี้ เกิดเป็นบ้าเป็นอะไรขึ้นมา จะทำอย่างไร"

ท่านบอกว่า "อย่าไปนึก เป็นบ้าอะไรไม่ต้องห่วง เพราะว่าถ้าคุณไปเพ่งออกนอก คุณจะเป็นบ้า หากมีอะไรเกิดขึ้น คุณมาเพ่งในนี้ คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ มันจะแก้ของมันไปเอง" ท่านว่าอย่างนั้น

"แล้วก็ทำให้มันต่อเนื่องเป็น ภาวิตา พหุลีกตา เจริญให้มาก ถ้าหากว่าบุคคลที่มีวาสนาบารมีแล้ว อย่างเร็ว 7 วัน หรือ 7 เดือน ต้องได้บรรลุคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง มีพระโสดาบันเป็นต้น แต่วาสนาพอปานกลาง อบรมต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง ก็ไม่เกิน 7 ปี ต้องได้บรรลุคุณวิเศษ ผู้ที่อบรมต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง ย่อหย่อนไป แต่ว่าไม่ท้อถอย มีความเชื่อมั่นอยู่ในคำสอนของพระอุปัชฌาย์ อย่างช้าก็ 16 ปี"

ท่านพระอาจารย์ว่าเป็นไปได้ทุกคนนั้นแหละ ถ้ายึดมั่นในคำสอนของพระอุปัชฌาย์ได้ รับรองไม่มีผิด ท่านว่างั้น และมรรคผลในธรรมวิเศษนั้น เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ ทำไมจึงว่าเป็นของคนไทยโดยเฉพาะ เพราะเราได้ปฏิบัติสืบธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นพันๆ ปีแล้ว ความพร้อมของคนไทยจึงมี เพราะฉะนั้นผู้ที่ประสงค์จะได้บรรลุคุณธรรมวิเศษนั้น มีโอกาสทุกคน


อัครฐานเป็นที่ตั้งแห่งมรรคผลนิพพาน

เทศน์กัณฑ์นี้เกิดที่วัดปทุมวนาราม ความเดิมมีว่า หลังจากท่านพระอาจารย์มั่นไปเจริญสมณธรรมอยู่ที่ ถ้ำสิงห์โต หรือเรียกอีกชื่อว่า ถ้ำไผ่ขวาง ท่านพักอยู่พอสมควรแล้ว ก็กลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) มีโอกาสก็ไปนมัสการ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เล่าความเป็นไปในการปฏิบัติบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ตามประสาศิษย์และครู

ได้ปรารภถึงการแนะนำสั่งสอนหมู่คณะเชิงปรึกษาว่า ท่านมีวาสนาทางนี้ไหม

ท่านเจ้าคุณก็รับรองว่า มี

พอกลับมาวัดสระปทุม ท่านก็พิจารณาเรื่องการแนะนำหมู่คณะ เกิดความรู้ขึ้นมาจากภายในว่า

อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺต วิสุทฺธิยา

ได้ความว่า ฐานะอันเลิศมีอยู่ในหมู่มนุษย์ มีแต่หมู่มนุษย์เท่านั้น ที่จะดำเนินไปสู่หนทางเพื่อความดับทุกข์ได้ ท่านพิจารณาได้ความว่า การแนะนำหมู่คณะเป็นไปได้อยู่ ธรรมเทศนาเรื่องนี้ ท่านอธิบายอ้างอิงคัมภีร์เป็นพิเศษ

ท่านว่า ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกก็ดี ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น ทั้งอดีตนับด้วยแสนเป็นอเนกก็ดี ปัจจุบันก็ดี ในกาลอนาคตอันจะมาถึงก็ดี ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกก็ดี มีแต่มนุษย์เท่านั้น   ส่วนเทพ อินทร์ พรหม และอบายภูมิทั้งสี่ ก็ไม่สามารถจะมาตรัสรู้ได้ เพราะว่ากายของเทพละเอียดเกินไป กายของอบายภูมิสี่ก็หยาบเกินไป ส่วนมนุษย์อยู่ท่ามกลางแห่งภพทั้งสาม โดยเฉพาะกามภพ 11 คือ นับขึ้นข้างบน 6 นับลงข้างล่าง 4 รวมเป็น 10 มนุษย์อยู่ตรงกลาง รวมเป็น 11

มนุษย์นี้ คือ อัครฐาน มีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบพร้อมทุกอย่าง มนุษย์ผู้เลิศ มนุษย์ผู้ประเสริฐ มนุษย์ผู้มีความสามารถ ทำได้ทั้งโลกียปัญญา และโลกุตรปัญญา มนุษย์อยู่ในท่ามกลาง จะขึ้นข้างบนก็ได้ จะลงข้างล่างก็ได้ นักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ทรงแนะนำไว้ทั้งสองทาง โดยยกสรณะ 3 ศีล 5 ธรรม 5 มงคลสูตร ธรรมบท ขุททกนิกาย มหาสมัยสูตร และสูตรอื่นๆ อีก

จะขอกล่าวแค่ 8 สูตร คือ สุกฺกธมฺมสูตร สูตรนี้เป็น เทวธมฺมสูตร ในพระธรรมบท มหลฺลกภิกฺขุ พหุภณฺทิกภิกฺขุ พวกเทพเรียกเทวธรรมว่า สุกฺกธรรม ผู้เล่าจะยกมาพอเป็นอุทาหรณ์ เนื้อความพิสดาร ท่านพระอาจารย์เปิดกว้าง ให้บัณฑิตอธิบายเพิ่มเติมได้ โดยไม่ผิด ว่าเป็น มนุสฺสธมฺ เกิดเป็นมนุษย์มีความสามารถ

ผู้ไม่มีสรณะ 3 ถือลัทธิอื่นเป็นสรณะ

ละเมิดศีล 5 ข้อ 1 ตายแล้วลงข้างล่าง เกิดเป็นมนุษย์อายุสั้น

ละเมิดข้อ 2, ข้อ 4 ตายแล้วลงข้างล่าง เกิดเป็นเปรตอสุรกายท้องโต ปากเท่ารูเข็ม เพราะฉ้อราษฎร์บังหลวง เงินเหล่านี้เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของมนุษย์ด้วยกัน รังแกข่มเหง เอาเปรียบ จึงไปเกิดเป็นเปรต กินไม่อิ่ม หิวเป็นนิจ เพราะรูปากเล็ก

ละเมิดข้อ 3 ลงข้างล่าง เกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน

ละเมิดข้อ 5 ลงข้างล่าง สุราเมรัย ยาเสพติดทุกชนิด ตกโลหกุมภี ดื่มน้ำทองแดง ตับไตไส้พุงทะลุ เกิดใหม่กินอีก ไม่กินก็ไม่ได้เพราะหิว ไม่มีอะไรจะกิน พ้นแล้วได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์ นับชาติไม่ถ้วน นี้มีส่วนลงข้างล่าง

ส่วนขึ้นข้างบนนั้น ท่านอ้างคัมภีร์หนึ่ง คือ มงคลสูตร ตั้งแต่ อเสวนาฯ เปฯ ผุฏฺฐสฺสโลก ธมฺเมหิ ฯ เปฯ ว่าเป็นยอดมงคลอันอุดมเลิศ ท่านย้ำมาก คือ ปฏิรูปเทสวาโส จ ฯ ลฯ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เพราะคนไทยประเทศไทย เป็นปฏิรูปเทส มีคุณสมบัติ และ องค์ประกอบสมบูรณ์แบบ ไม่มีชาติไหนเหมือน

ภูมิประเทศไทย มีลักษณะ 4 คือ ภูเขา แม่น้ำ ทุ่งกว้าง สาวงาม ลักษณะ 4 อย่างนี้ มีในประเทศใด ประเทศนั้นจะพัฒนาตัวของมันโดยไม่หยุดยั้ง ถ้ามีปัจจัยภายนอกเข้าไปเสริม ก็จะพัฒนาไปได้เร็ว หากไม่มี เขาก็พัฒนาของเขาได้ ท่านว่าอย่างนี้


คำผญาสอนศิษย์

บทโคลง กาพย์ กลอน หรือ ผญา(อ่านว่า"ผะ-หยา" - ภิเนษกรมณ์)นั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ท่านจะนำมาพูดมาสอน สลับกับพระธรรมเทศนา เช่น คราวใดที่จิตของผู้ฟังส่วนมาก มีอาการตามกระแสธรรมของท่าน  เมื่อท่านกำหนดดูจิตว่า ขณะนี้ จิตของผู้ฟังเกิดปีติเพลิดเพลินเกินไปจนลืมทุกข์ คิดว่าจะยินดีพอใจในอารมณ์นั้น ท่านก็จะสลับเป็นผญาหรือร่ายออกมา

"เออ เอ้า อย่าพากันลืมทุกข์เน้อ"

เหมือนคำว่า

"ทุกข์ตั้งแต่ในขันธ์ห้า โฮมมาขันธ์สี่ ทุกข์ตั้งแต่ในโลกนี้ โฮมข่อยผู้เดียว"

เมื่อมีความเพลินจนลืมตัว ต่อไปก็จะลืมไตรลักษณ์ นี้เป็นความรู้สึกของผู้เล่า ผู้ปฏิบัติเกิดปีติสุข เอกัคคตา อันเกิดจากฌานสมาธิสมถะ เป็นที่พักเอากำลังปัญญา เลยไปติดในนั้น ท่านจึงให้เอาไตรลักษณ์แก้ หรือเพื่อความร่าเริง อาจหาญ บันเทิงบ้าง ตามแต่จิตของผู้ฟังจะมีอาการ ที่ท่านแสดง เป็นอาเทศนาปาฏิหาริย์ของท่าน

คำว่า "มะหับมะหายไป" เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนธิดามารมาล่อลวงพระพุทธเจ้า เหมือนมีตัวมีตนแล้วก็จางหายไป หรือเหมือนพยับแดดมองดูไกล เหมือนมีตัวมีตน พอเข้าใกล้ก็จางหายไป

"สาระพัดเกี้ยวขา สาระพาเกี้ยวแข้ง สายต่องแต่งเกี้ยวคอ นั่งก่อส่อเหมือนลิงติดตัง"

ความหมาย"ตัณหารักลูกเหมือนเชือกผูกคอ ตัณหารักเมีย (ผัว) เหมือนปอผูกศอก ตัณหารักวัตถุข้าวของเหมือนปลอกใส่ตีน (เท้า) นั่งคอตกจนปัญญาคาความคิด เหมือนลิงติดตัง"

ผญาบางบท เป็นของนักปราชญ์แต่ปางก่อนแต่งไว้บ้าง ที่เข้ากันได้กับธรรมที่ท่านแสดง ธรรมดาพระอริยเจ้าชั้นใดชั้นหนึ่ง ท่านมีวาสนาในนิรุตติ (นิรุกติศาสตร์)ปฏิสัมภิทาญาณ เวลาท่านแสดงธรรม คำเหล่านี้จะขึ้นมาจากญาณของท่าน อันเป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ของพระอริยเจ้า


เหตุที่ทำให้ฝนแล้ง

ปีนั้นฟ้าฝนไม่ค่อยดี แต่ไม่ถึงกับแล้ง นาลุ่มพอได้เกี่ยว นาบกเฉาตาย ชาวบ้านก็บ่นต่างๆ นานา บางคนถามท่านพระอาจารย์ซื่อๆ ด้วยความเคารพและกันเองว่า

"ทำไม อัญญาท่าน"

"อัญญาท่าน" เป็นภาษาสกลนคร ที่ถวายให้เกียรติอย่างสูง แก่พระเถระที่ประชาชนเคารพนับถือมาก ทั้งจังหวัดจะได้สมญานี้น้อยมาก

อัญญาท่าน ตอบ

"ฝนตกบ่ชอบ     เมื่อนักปราชญ์เบื่อครองธรรม

คนบ่ยำนักบวช   เพราะนักบวชละสิกขาวินัย

เมื่อหน้าหากซิมีแลฯ "

นั่นได้ยินไหม ฟังเอา ไม่อยากให้ฝนแล้ง ก็อย่าให้เป็นอย่างนั้นซิ นี่คือคำตอบ


ก่อนนิพพานที่วัดป่าบ้านภู่

หลังจากออกพรรษาแล้ว (..2492-ภิเนษกรมณ์) อาการป่วยของท่านดูจะหนักขึ้นทุกวัน บรรดาศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านได้ประชุมกัน จะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร โดยแวะพักที่วัดป่าบ้านภู่ก่อน (วัดป่าบ้านภู่ คือ วัดป่ากลางโนนภู่ ในปัจจุบัน - ภิเนษกรมณ์) ผู้เล่าจะขอเล่าเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายที่จำได้ดังนี้

เหตุการณ์ในระหว่างเดินทางจากหนองผือสู่พรรณานิคม ระยะทางจากหนองผือ มีบ้านห้วยบุ่น นาเลา คำแหว (อ่านว่า หะแว) ทิดไทย โคกเสาขวัญ กุดก้อม และพรรณาฯ นาเลา คำแหว หมู่บ้านห่างออกไป ต้องเดินอ้อมเขา คนสมัยนั้นมีไม่มาก แต่คนมาจากไหนมากมายเกินกว่าสมัยนั้น ทั้งหญิงทั้งชายทั้งเด็ก ที่อ้อมห้วยมาทางลัด ทั้งช่องเขา ท่าน้ำ ช่องป่าไม้ คนมากันทุกทิศทุกทาง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าท่านพระอาจารย์จะออกเดินทางวันนั้น เพราะพูดตกลงวันนั้น ทำเสลี่ยงเสร็จ วันที่สองก็นำท่านออกมาเลย มีคนแบกคานหาม 4 คน ล้วนแต่เป็นชายฉกรรจ์ทั้งนั้น

พอเดินไปได้ประมาณครึ่งกิโลเมตร ผู้รอเปลี่ยนคานหามก็บอกว่า

"เธอออกไป เราจะเข้าหามแทน"

คนหามก็บอกว่า "มายังไม่ถึง 10 วา จะมาแย่งแล้ว"

"อ้าว เธอหามไกลแล้วต้องให้เราซิ"

ทะเลาะกันมาตลอดทาง พระอาจารย์ฝั้นต้องติดตามใกล้ชิด คอยห้ามทัพ ไม่ให้ทะเลาะกัน

พอคนนั้นออกมา ผู้เล่าถามว่า "ทำไมหามไปไกลแล้ว ยังว่าหามไปไม่ถึง 10 วา"

เขาบอกว่า "เวลาแบกเสาแบกฟืน หามนั้นหามนี้ มีแต่หนัก แต่หามอัญญาท่านมั่น เบาเหมือนกับว่าเท้าไม่ติดดิน" นี้คือคำบอกเล่าของคนหาม

จากบ้านคำแหว ถึงบ้านโคก ก่อนถึงบ้านโคก มีลำห้วย น้ำเย็นไหลใสสะอาด คนหามขอพักล้างมือ ลูบไล้แขนขา เพื่อเข้าสู่หมู่บ้าน ท่านพระอาจารย์ก็อนุญาต และท่านก็ล้างหน้าด้วย ศิษย์เช็ดตัวถวาย ขณะนั้นตัวท่านร้อนอยู่ คล้ายๆ จะมีไข้ พร้อมแล้วก็หามท่านเดินทางต่อ จนกระทั่งอีกไม่เกิน 10.. จะถึงพรรณาฯ เลยบ้านกุดก้อมออกมา มีทางแยกสองแพร่ง แพร่งหนึ่งไปพรรณาฯ แพร่งหนึ่งไปบ้านม่วงไข่ จึงเอาท่านวางลง

ที่วัดป่าบ้านภู่ พรรณาฯ ท่านอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม เตรียมรับพร้อม ที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ ท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เตรียมรับพร้อม เลยเจรจากัน แต่ยังตกลงกันไม่ได้

ได้ยินถึงท่านพระอาจารย์ เลยถามว่า "ถึงหรือยัง"

ตอบ "ยังไม่ถึง"

"เออ ไม่ถึงจะอยู่นี้หรือ"

"กราบเรียน ท่านอาจารย์อ่อนจะนำไปม่วงไข่ ท่านอาจารย์ฉลวยจะนำไปพรรณาฯ "

"บ้านม่วงไข่เราไม่ไป เราจะไปวัดโยมอ่อน รู้แล้วหรือยัง รู้แล้วก็ไป"

พอถึงทุ่งนาหมดทางเกวียนแล้ว ชาวบ้านต้องเดินตามคันนา กว้างไม่เกิน 50.. ข้าวแก่ก็มี กำลังจะแก่ก็มี แต่คนหามรวมทั้งคนเอามือประคองเป็นสิบสิบ เลยหยุดยืน กลัวจะเหยียบย่ำข้าว เจ้าของนาทุกคนที่ติดตามไป เขาไปยืนอยู่บนคันนา ประกาศขึ้นว่า

"ข้าวเอ๋ยข้าว บัดนี้ความจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว ขอย่ำขอกรายด้วย"

แล้วก็หันมาบอกพวกหามว่า "ไปได้เลย"

แล้วก็พากันเดินเอาคันนาไว้กลาง ย่ำไร่นาไปเลย ผู้เล่าเดินตามหลัง ไม่เห็นมีข้าวล้มแม้แต่กอเดียว เพราะคนหามก็คือชาวนานี่เอง เขาต้องระวังเป็นพิเศษ ข้าวก็เลยปลอดภัย

ถึงวัดป่าบ้านภู่ ประมาณ 16.00.เศษๆ ทำเวลาได้เร็วกว่าปกติ ส่วนหมู่คณะทั้งพระเถระอนุเถระ ติดตามท่านมาเกือบหมดวัด เดินตามก็มีมาก เดินลัดเขามาก็มี ผู้ไม่ค่อยมีกำลังก็เดินลัดเขา เพราะใกล้กว่า

เป็นเวลา 11 วัน ที่ท่านได้พักอยู่วัดป่าบ้านภู่ อันเป็นวัดที่โยมอ่อน โมราราษฎร์ เป็นผู้สร้าง โยมอ่อน เป็นผู้มีศรัทธารับส่งสิ่งของต่างๆ ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ จันทบุรี โดยทางพัสดุไปรษณีย์บ้าง ฝากคนมาบ้าง ส่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ตลอด 5 ปี ผู้เล่าคิดว่าท่านพระอาจารย์คงเป็นอุปการะส่วนนี้ อันเป็นวิสัยของนักปราชญ์ จึงมาพักฉลองศรัทธาของโยมอ่อน

บรรดาพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ ทั้งพระเถระอนุเถระ ทั้งไกลทั้งใกล้ ได้มาดูแลปฏิบัติเป็นจำนวนร้อย ต่างพักหมู่บ้านใกล้เคียง มีหนองโดก ม่วงไข่ บะทอง เป็นต้น ส่วนป่าบ้านภู่ไม่ต้องกล่าวถึง นอกกุฏิ ตามร่มไม้ ริมป่า ปักกลดเต็มไปหมด

ทางราชการ มีท่านนายอำเภอพรรณานิคม เป็นประธาน ก็ได้ประกาศเป็นทางการให้ชาวพรรณาฯ ทุกตำบล หมู่บ้าน ขอให้มาช่วยกันดูแล เพื่อความสะดวกสบายแก่พระสงฆ์เป็นจำนวนร้อยๆ นั้น อาหารบิณฑบาต ที่พัก นำปานะ เพียงพอ ไม่มีบกพร่อง อาการเจ็บป่วยของท่านพระอาจารย์ ดูจะทรุดลงเรื่อยๆ ตัวร้อนเป็นไข้ ไอจะสงบก็เป็นครั้งคราว พอให้ท่านได้พักบ้าง

บรรดาศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ได้มีการประชุมกัน มี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นประธาน ความว่า จะให้ท่านมรณภาพที่นี่ หรือที่สกลนคร มติในที่ประชุมเห็นว่า ให้ท่านมรณภาพที่นี่ก่อน แล้วค่อยนำไปสกลฯ โดยให้พระมหาทองสุกไปจัดสถานที่คอย ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร

คืนวันที่ 11 ที่มาพักวัดกลางบ้านภู่ เวลาตีสามเห็นจะได้ ท่านพระอาจารย์มีอาการไม่สบายมาก ท่านโบกมือขวา บอกว่า ไปสกลฯ ไปสกล จนอาการทุเลาลง คณะคิลานุปัฏฐากก็ทำการเช็ดตัว ถวายน้ำล้างหน้า เช็ดหน้า ห่มผ้า ก็รุ่งสว่างพอดี

อาหารบิณฑบาตพระป่วยก็นำมา ผู้เล่าตักถวาย ท่านอาจารย์วันประคองข้างหลัง อาหารช้อนแรก ท่านเริ่มเคี้ยว พอกลืนได้ครึ่งหนึ่ง ก็มีอาการไอ ไอ ไอติดต่อกัน อาหารช้อนแรกยังไม่ได้กลืน ก็ต้องคายออก

ตักถวายช้อนที่สอง ท่านยังไม่ได้เคี้ยว เกิดไอ ไอใหญ่ ท่านคายลงกระโถน แล้วบอกว่า

"เรากินมา 80 ปี แล้ว กินมาพอแล้ว"

ผู้เล่าถวายน้ำอุ่นให้ดื่มเพื่อระงับอาการไอ

ท่านบอกว่า "เอากับข้าวออกไป"

ผู้เล่าอ้อนวอนท่านอีก

"เอาอีกแล้ว ทองคำนี้พูดไม่รู้จักภาษา บอกว่าเอาออกไป มันพอแล้ว"

ก็จำใจนำออกไป

พอท่านบ้วนปากเสร็จ จึงเข้าไปประคองแทนท่านอาจารย์วัน

ท่านบอกว่า "พลิกเราไปด้านนั้น ทางหน้าต่างด้านใต้" แล้วบอกว่า "เปิดหน้าต่างออก"

ผู้เล่ากราบเรียนว่า "อากาศยังหนาวอยู่ สายๆ จึงค่อยเปิด"

"เอาอีกแล้ว ทองคำนี้ไม่รู้ภาษาจริงๆ บอกว่าให้เปิดออก หูจาวหรือ จึงไม่ได้ยิน"

พอเปิดหน้าต่างออกไป อะไรได้ คนเต็มไปหมดทั้งบริเวณ ประมาณได้เป็นร้อยๆ คน ทุกคนที่มาจะเงียบหมด ไม่มีเสียงให้ปรากฏ ถ้าเราอยู่ที่ลับตา จะไม่รู้ว่ามีคนมา ทุกคนก้มกราบ นั่งประนมมือ

ท่านพระอาจารย์กล่าวว่า

"พวกญาติโยมพากันมามาก มาดูพระเฒ่าป่วย ดูหน้าตาสิ เป็นอย่างนี้ละ ญาติโยมเอ๋ย ไม่ว่าพระ ไม่ว่าคน พระก็มาจากคน มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน คนก็เจ็บป่วยได้ พระก็เจ็บป่วยได้ สุดท้ายก็คือ ตาย ได้มาเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จงพากันนำไปพิจารณา เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษาก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญก็เจริญให้พอเสีย จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ด้วยความไม่ประมาท นั่นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน เท่านี้ละ พูดมากก็เหนื่อย"

นี้คือ โอวาทที่ท่านให้ไว้แก่ชาวพรรณานิคม ตั้งแต่นั้นจนวาระสุดท้าย ท่านไม่ได้พูดอีกเลย

ประตูที่พักด้านหน้าเปิดอยู่ ท่านบอก “หันตัวเราไปทางประตู”

พอหันเสร็จ ก็เห็นคนแต่งตัวผู้ดี 3-4 คน นั่งบนเสื่อที่ปูอยู่ข้างล่าง สำหรับให้แขกนั่ง ท่านเพ่งดูแล้วถามว่า

"ใคร"

แขก "กระผม วิเศษ ลูกเขยแม่นุ่ม (คือ คุณวิเศษ เชาวนสมิทธิ์ ลูกเขยของคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ - ภิเนษกรมณ์) เอารถมารับท่านอาจารย์กลับสกลฯ ท่านมหาทองสุกบอกเมื่อวานนี้ กระผมเลยนำรถมารับ ขอรับ"

"เออ ไปซิ เราอยากไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เอ้า วัน ทองคำ แต่งของเร็ว"

"เราจะไปอย่างไร รถจอดบนทางหลวง นี่มันมีแต่ทางเกวียน"

นายวิเศษ "ไม่ยาก กระผมได้นำเปลพยาบาลมา เป็นผ้าใบ เบาๆ นิ่มๆ นิมนต์นอนพักไปสบายๆ "

"คนหามเล่า"

นายวิเศษ "ท่านแขวงฯ ได้เตรียมคนมาพร้อมแล้ว รถก็สบาย ไม่กระเทือน เพราะเป็นรถประจำตำแหน่งของท่าน"

พอแต่งของเสร็จ หมอก็ถวายยาให้ท่านนอนหลับไปสบายๆ ก่อนไป

ท่านเอ่ยขึ้นว่า "ก็หมู่เล่า จะไปกันอย่างไร"

นายวิเศษ "ไม่ยากกระผม ท่านแขวงฯ ได้เตรียมรถบรรทุกคนงานมาพร้อมแล้ว บรรทุกได้เป็นสิบๆ รูป จะขนถ่ายให้หมดวันนี้"

จึงนำท่านไปขึ้นรถ สมัยนั้นรถหายาก รถประจำตำแหน่งท่านแขวงฯ ไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไร ได้ยินเขาพูดกันว่า แลนด์โรเวอร์ ส่วนรถบรรทุก เขาว่า รถดอดจ์ หรือฟาร์โก้นี้ละ

จากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เกือบ 12 นาฬิกา เพราะทางหินลูกรัง กลัวท่านจะกระเทือนมาก ท่านก็หลับมาตลอด นำท่านขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มี ผู้เล่า ท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่าน ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ ปกติเวลานอน ท่านจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางผินศีรษะของท่าน

เวลาประมาณ 1.00.เศษ ท่านรู้สึกตัวตื่นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ

เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า (พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อยๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่าน ก็เลยหยุด ท่านก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉยๆ ด้วยอาการอันสงบ

เป็นอันว่า อวสานแห่งขันธวิบากของท่านได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่ามกลางศิษย์จำนวนมาก ในเวลาประมาณ 02.00.เศษๆ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เหลือไว้แต่ผลงานของท่านมากมายเหลือคณานับ

 

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-06-01.htm

Top