09.สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ประวัติ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร แขวงสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
พุทธศักราช ๒๔๓๖-๒๔๔๒
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระประวัติในเบื้องต้น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
มีพระนามเดิมว่า “สา” พระนามฉายาว่า “ปุสฺสเทโว”
ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๗๕
(พ.ศ. ๒๓๕๖) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
โยมบิดามีนามว่า “จันท์” โยมมารดามีนามว่า “สุข”
เป็นชาวตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
มีพี่น้องชายหญิงร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวมทั้งหมด ๕ คน คือ
๑. หญิงชื่อ อวบ
๒. ชายชื่อ ช้าง ภายหลังได้รับพระทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสุภรัตกาสายานุรักษ์
๓. ชายชื่อ สา คือเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
๔. ชายชื่อ สัง ได้อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับพระราชทาน
สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระสมุทรมุนี ต่อมาภายหลังได้ลาสิกขา
๕. หญิงชื่อ อิ่ม
กล่าวกันว่าโยมบิดาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
เป็นชาวตำบลบางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี ได้เคยบวชเรียน
จนเป็นผู้ชำนาญในการเทศน์มิลินท์และมาลัย
แม้เมื่อลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสแล้ว
ก็ยังเรียกกันติดปากว่า “จันท์มิลินท์มาลัย”
ส่วนโยมมารดาเป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี
สำหรับโยมบิดานั้น นอกจากจะได้เคยบวชเรียนเป็นนักเทศน์มีชื่อแล้ว
คงจักได้เล่าเรียนมีความรู้ในทางพระปริยัติธรรมมาเป็นอย่างดีด้วย
ถึงได้เป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรด้วยท่านหนึ่ง
เนื่องจากโยมบิดาเป็นผู้มีความรู้ดีในด้านอักษรสมัยและในทางพระปริยัติธรรม
ถึงขั้นเป็นอาจารย์บอกหนังสือ (คือสอนหนังสือ) ในพระราชวังบวร
การศึกษาในเบื้องต้นของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเข้าใจว่าคงศึกษากับโยมบิดานั่นเอง
และเรื่องที่ศึกษาเล่าเรียนก็คงจะหนักไปทางด้านพระศาสนา
อันเป็นวิชาที่โยมบิดาถนัดนี้ ก็อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง
ที่นำให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอุปนิสัยน้อมไปในทางบรรพชา
จนเป็นเหตุให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ในเวลาต่อมา
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้บรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ ในรัชกาลที่ ๓
เดิมอยู่ที่วัดใหม่บางขุนเทียน ต่อมาได้ย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม
เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้น
เข้าไปเรียนในพระราชวังบวรกับ อาจารย์อ่อน (ฆราวาส)
และกับโยมบิดาของพระองค์ท่านเอง
ซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรนั้นด้วยกัน
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ พระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา
ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้เพียง ๒ ประโยค
จึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่เรียกกันว่า “เปรียญวังหน้า”
ที่เรียกกันว่าเปรียญวังหน้านั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า
ประเพณีการแปลพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น
ผู้เข้าแปลทีแรกต้องแปลพระธรรมบทให้ได้ครบ ๓ ประโยคในคราวเดียว
จึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าไม่ได้ครบทั้ง ๓ ประโยค
เข้ามาแปลคราวหน้าก็ต้องแปลแต่ประโยค ๑ ไปใหม่
ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
มีพระประสงค์จะทรงอุปการะแก่พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียน
มิให้ท้อถอยจากความเพียรไปเสีย
ถ้ารูปใดแปลได้ ๒ ประโยคก็ทรงรับอุปการะไป
จนกว่าจะเข้าแปลใหม่ได้เป็นเปรียญ
พระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานอุปการะเหล่านั้น
จึงพากันเรียกว่า “เปรียญวังหน้า”
สามเณร ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังเป็นสามเณร
ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะเมื่อทรงผนวชประทับอยู่ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)
เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ และได้ทรงศึกษาเล่าเรียนสืบมา
ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
กระทั่งพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา จึงได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง
และครั้งนี้ทรงแปลในคราวเดียวได้หมดทั้ง ๙ ประโยค
ได้เป็นเปรียญเอกแต่ยังทรงเป็นสามเณร
นับเป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถวายตัวศึกษาพระปริยัติธรรม
อยู่ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดราชาธิวาส
เพียง ๔ พรรษาเท่านั้น ก็มีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม
จนสามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ในคราวเดียวหมดทั้ง ๙ ประโยค
อันแสดงให้เห็นว่า เพราะทรงได้พระอาจารย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง
ในทางพระปริยัติธรรม คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะ
และพระสติปัญญาอันเฉียบแหลมส่วนพระองค์ด้วยนั่นเอง
จึงทรงมีความรู้แตกฉานในสิ่งที่ทรงศึกษาเล่าเรียน
เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้
ทรงอุปสมบทครั้งแรก
ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา
ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาส มีพระนามฉายาว่า “ปุสฺโส”
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร
แต่ตามทางสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
มีพระชนมายุครบอุปสมบทนั้น
เป็นเวลาที่พระสงฆ์ธรรมยุตนิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ
ซึ่งมี พระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่ด้วยรูปหนึ่ง
และเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่
ฉะนั้น จึงน่าเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ในการอุปสมบทครั้งนั้น คือ พระสุเมธาจารย์ (เกิด)
พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครอง วัดบวรนิเวศวิหาร
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นพระเปรียญเอก พรรษา ๔
ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารด้วย
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
กำเนิดวัดธรรมยุตแห่งแรกของไทย
ครั้น พ.ศ. ๒๓๘๒ พรรษา ๖ ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น
พระราชาคณะที่ พระอมรโมลี (ไม่พบประกาศทรงแต่งตั้ง)
จะเห็นได้ว่าทรงได้รับยกย่องให้ดำรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่
ตั้งแต่ทรงมีอายุพรรษา ๖ (คือพระชนมายุ ๒๖ พรรษา) เท่านั้น
ทั้งนี้ก็คงเนื่องด้วยทรงมีพระปรีชาแตกฉาน
ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยเป็นมูลนั่นเอง
การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จจากวัดราชาธิวาส มาครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น
นับเป็นครั้งแรกที่พระสงฆ์ธรรมยุตได้มีวัดเป็นสำนักของตนเองเป็นเอกเทศ
เพราะก่อนแต่นั้นพระสงฆ์ธรรมยุตก็ยังคงอยู่รวมในวัดเดียวกันกับพระสงฆ์เดิม
เมื่อมีสำนักเป็นเอกเทศขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ได้ทรงปรับปรุงระเบียบปฏิบัติด้านต่างๆ ของพระสงฆ์ในปกครองของพระองค์
ได้อย่างเต็มที่ เช่น ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ
ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ” เป็นประจำวันขึ้น
พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์คำนมัสการพระรัตนตรัย
เป็นภาษามคธ (ภาษาบาลี) ขึ้นใหม่ ที่เรียกกันว่า บททำวัตรเช้าค่ำ
ดังที่ใช้สวดกันทั่วไปในบัดนี้ ในวันธรรมสวนะ (วันพระ)
มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธศาสนิกชนเป็นต้น
ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ทรงส่งเสริมการเรียนพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรือง
โดยพระองค์ทรงบอกพระปริยัติธรรม (คือสอน) ด้วยพระองค์เอง
มีพระภิกษุสามเณรเป็นศิษย์เข้าแปล (คือสอบในสนามหลวง)
ได้เป็นเปรียญประโยคสูงถึงประโยค ๙ หลายรูป
การเรียนพระปริยัติธรรมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหารในยุคนั้นรุ่งเรืองมาก
พระเปรียญพูดภาษามคธได้คล่อง
และคงเนื่องด้วยเหตุนี้เอง วัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น
จึงต้องทำหน้าที่รับรองพระสงฆ์ลังกาที่เข้ามาเจริญศาสนไมตรีกับไทย
ถึงกับต้องมีเสนาสนะหมู่หนึ่งไว้รับรองที่วัดบวรนิเวศวิหาร
เรียกว่า “คณะลังกา” (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว)
พระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)
ในส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
พระองค์ก็ทรงศึกษาภาษาละตินและภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศ
จนทรงสามารถตรัส เขียน อ่าน ได้อย่างคล่องแคล่ว
แม้พระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์ในพระองค์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ก็เข้าใจว่าคงได้รับการส่งเสริมให้เรียนภาษาต่างประเทศ
ที่นอกเหนือไปจากภาษามคธด้วยเช่นกัน
ดังปรากฏในประวัติของ พระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)
ซึ่งเป็นศิษย์หลวงเดิมท่านหนึ่ง และได้เป็นสมณทูตไปลังกาถึง ๒ ครั้ง ว่า
สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว
จนชาวลังกายกย่องเป็นอันมากเป็นตัวอย่าง
พระเถระต้นวงศ์แห่งธรรมยุต
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชก็คงจะเช่นเดียวกัน
นอกจากจะทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
จนมีความแตกฉานคล่องแคล่วในภาษามคธแล้ว
ก็คงจักได้ศึกษาภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย
ตามความนิยมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น
ดังปรากฏในคำประกาศทรงสถาปนาเป็น
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตอนหนึ่งว่า
“มีสุตาคมปัญญารอบรู้ในอักษรแลภาษาซึ่งเปนสกะไสมยปะระไสมย
คือ ขอม ไทย แลสิงหฬ รามัญ สังสกฤตพากย์ เป็นต้นโดยพิศดาร”
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่
ผู้เป็นต้นวงศ์แห่งคณะธรรมยุตรูปหนึ่งในจำนวน ๑๐ รูป
ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์สมณศาส์นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อยังทรงผนวชอยู่ พระราชทานไปยังพระสงฆ์ในประเทศลังกา ว่า
ทส คณิสฺสรา เถรา ธมฺมยุตฺติกวํสิกา
ตนฺนิกายิกสงฺเฆน สพฺพกิจฺเจสุ สมฺมตา
อเนกภิกฺขุสตานํ ปิตโร ปริณายกา
ตสฺเสว ภูปตินฺทสฺส ปิโย กนิฏฺภาตุโก
เถโร วชิรญาโณ จ ปาโมกฺโข คณเชฏฺโก
เถโร พฺรหฺมสโร เจว เถโร ธมฺมสิริวฺหโย
เถโร พุทฺธสิริ เจว เถโร ปญฺญาคฺคนามโก
เถโร ธมฺมรกฺขิโต จ เถโร จ โสภิตวฺหโย
เถโร พุทฺธิสณฺหนาโม เถโร ปุสฺสาภิธานโก
เถโร สุวฑฺฒโน จาปิ สพฺเพ สมานฉนฺทกา ฯลฯ
พระเถระเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตติกวงศ์ อันพระสงฆ์นิกายนั้นสมมติ
(แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร) ในกิจทั้งปวง เป็นบิดา เป็นปริณายกแห่งภิกษุหลายร้อยรูป
พระเถระทรงพระนามว่า วชิรญาณะ
ผู้เป็นพระกนิฐภาดาที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น
เป็นผู้ใหญ่ในคณะ เป็นประธาน ๑ พระเถระนามว่า พรหมสระ ๑
พระเถระนามว่า ธัมมสิริ ๑ พระเถระนามว่า พุทธสิริ ๑
พระเถระนามว่า ปัญญาอัคคะ ๑ พระเถระนามว่า ธัมมรักขิตะ ๑
พระเถระนามว่า โสภิตะ ๑ พระเถระนามว่า พุทธิสัณหะ ๑
พระเถระนามว่า ปุสสะ ๑ พระเถระนามว่า สุวัฑฒนะ ๑
ทุกรูปเป็นผู้มีฉันทะเสมอกัน ฯลฯ
พระเถระที่ปรากฏพระนามและนามในพระราชนิพนธ์ข้างต้นนี้
พระวชิรญาณะ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ทรงประดิษฐานคณะธรรมยุต
พระพรหมสระ คือ พระญาณรักขิต (สุข) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสรูปแรก
ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระธรรมการบดี
พระธัมมสิริ คือ พระเทพโมลี (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ รูปที่ ๒
พระพุทธสิริ คือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร รูปที่ ๑
พระปัญญาอัคคะ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นพระองค์แรก
พระธัมมรักขิตะ คือ พระครูปลัดทัด วัดบวรนิเวศวิหาร
ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระศรีภูริปรีชา
พระโสภิตะ คือ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) วัดบวรนิเวศวิหาร
ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร
พระพุทธิสัณหะ คือ พระอมรโมลี (นบ) เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม
พระปุสสะ คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม รูปที่ ๑
พระสุวัฑฒนะ คือ พระปลัดเรือง วัดบวรนิเวศวิหาร
พระเถระ ๑๐ รูปนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงยกย่องในฐานะพระเถระผู้ใหญ่และเป็นที่ทรงปรึกษากิจแห่งคณะ
ขณะเมื่อยังทรงผนวชอยู่
เมื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหารเจริญขึ้นแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระศิษย์หลวงเดิม
ออกไปตั้งสำนักสาขาขึ้นที่วัดอื่นอีกหลายวัด กล่าวคือ
โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
แต่ครั้งยังเป็นพระราชาคณะที่พระอริยมุนี เป็นเจ้าสำนักวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)
โปรดเกล้าฯ ให้ พระญาณรักขิต (สุข)
เป็นเจ้าสำนักวัดบรมนิวาส (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัดนอก)
โปรดเกล้าฯ ให้ พระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระรัตนมุนี
เป็นเจ้าสำนักวัดเครือวัลย์
โปรดเกล้าฯ ให้ พระเมธาธรรมรส (ถิน) แต่ครั้งยังเป็นพระครูใบฎีกา
เป็นเจ้าสำนักวัดพิชยญาติการาม
โปรดเกล้าฯ ให้ พระอมรโมลี (นบ) แต่ครั้งยังเป็นพระครูวินัยธร
เป็นเจ้าสำนักวัดบุปผาราม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)
ส่วนที่วัดบวรนิเวศวิหารจึงยังคงเหลือพระศิษย์หลวงเดิม
ที่เป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต) แต่ครั้งยังมิได้ทรงกรม
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) แต่ครั้งยังเป็น พระอมรโมลี
พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) พระปลัดเรือง และพระปลัดทัด
จะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเป็นพระเถระที่เป็นกำลังสำคัญในคณะธรรมยุต
มาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มสถาปนาคณะและตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ หลังจากที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง
เป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี แล้ว
ได้ลาสิกขาออกไปครองชีวิตฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงลาสิกขาในปีใด
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทใหม่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อเดือน ๑๐ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๙๔
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
(ภายหลังลาสิกขา และได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร)
ในการอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ ทรงมีพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา
และมีพระนามฉายาว่า “ปุสฺสเทโว”
นัยว่าเมื่อทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ก็ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง
และก็ทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคอีก
ด้วยเหตุนี้เองจึงมักมีผู้กล่าวขวัญถึงพระองค์ด้วยสมญานาม
อันแสดงถึงพระคุณลักษณะพิเศษนี้ว่า “สังฆราช ๑๘ ประโยค” ในเวลาต่อมา
พระสาสนโสภณรูปแรก
ในคราวอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ครั้งที่ ๒ นี้
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระอันดับอยู่ ๗ พรรษา
ครั้นถึงปีมะแม ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้ง
เป็นพระราชาคณะที่ “พระสาสนโสภณ” ดังมีสำเนาประกาศทรงตั้งดังนี้
“ให้พระอาจารย์สา วัดบวรนิเวศ เป็นพระสาสนโสภณ
ที่พระราชาคณะในวัดบวรนิเวศ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ บาท
ขอพระคุณจงเอาธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอนแลอนุเคราะห์
พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในพระอารามโดยสมควร
จงมีศุขสวัสดิ์เจริญในพระพุทธศาสนาเทอญฯ
ตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก
พุทธศักราช ๒๔๐๑ เป็นวันที่ ๒๘๖๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้”
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนิตยภัตรเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ
แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ
สำหรับราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ นั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยเฉพาะ
เพื่อให้ได้กับนามเดิมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือ “สา”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสเล่าไว้ ความว่า
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณนั้น
คนทั่วไปเรียกกันว่า อาจารย์สา เมื่อถึงคราวที่จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประดิษฐ์ราชทินนาม
โดยเอานามเดิมของพระองค์ท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม ๑
พระสาสนโสภณ นาม ๑ แล้วโปรดฯ เกล้าให้พระสารสาสตร์พลขันธ์ (สมบุญ)
ไปทูลถามพระองค์ท่านว่าจะชอบนามไหน
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า นาม สาสนดิลก นั้นสูงนัก
ขอรับพระราชทานเพียงนาม สาสนโสภณ
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณดังกล่าวมา
แล้วคนทั้งหลายก็เรียกกันโดยย่อว่า “เจ้าคุณสา” สืบมา
ดูทีว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะทรงโปรดราชทินนามนี้มาก
ภายหลังแม้จะได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นถึงชั้นธรรม ชั้นเจ้าคณะรอง
ก็ยังคงรับพระราชทานในราชทินนามว่า พระสาสนโสภณ ตลอดมา
การกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ครั้งนี้
นับว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อคณะธรรมยุตและคณะสงฆ์เป็นส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นสำนักหลักในคณะธรรมยุต
ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงอธิบายไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า
“พระเถระที่เป็นกำลังในการวัด
ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัด
ร่วงโรยไป พระปลัดเรืองถึงมรณภาพเสียแต่ในครั้งยังเสด็จอยู่
พระศรีวิสุทธิวงศ์ (โสภิโต ฟัก) แลพระปลัดทัด ลาสิกขาเสียในครั้งนี้
(หมายถึงครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงครองวัด)
คงมีแต่ พระสาสนโสภณ คือพระอมรโมลี (สา ปุสฺสเทโว)
ผู้กลับเข้ามาอุปสมบทอีก ได้เป็นกำลังใหญ่ในการพระศาสนา
พระผู้สามารถในการเทศนาโดยฝีปากมีน้อยลง
ท่านจึงแต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้สำหรับใช้อ่านในวันธัมมัสสวนะปกติและในวันบูชา
ได้แต่งเรื่องปฐมสมโพธิย่อ ๓ กัณฑ์จบ
สำหรับถวายเทศนาในวันวิสาขบูชา ๓ วันๆ ละกัณฑ์
และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับโอวาทปาติโมกข์
สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เป็นอันได้รับพระบรมราชานุมัติ ยังได้รจนาเรื่องปฐมสมโพธิพิสดาร
สำหรับใช้เทศนาในวัด ๒ คืนจบอีก”
พระนิพนธ์ต่างๆ ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงรจนาขึ้น
แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ ดังกล่าวมาข้างต้นนี้
ได้เป็นหนังสือสำคัญในการเทศนาและศึกษาเล่าเรียน
ของพระภิกษุสามเณรสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ รูปแรก
ครั้น พ.ศ. ๒๔๐๘ เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ เสร็จแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้อาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ
จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาครองวัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
พร้อมด้วยพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารอีก ๒๐ รูป
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่จากวัดบวรนิเวศวิหารมาวัดราชประดิษฐ์ฯ
เมื่อเดือน ๘ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗
ตรงกับเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๐๘
และได้รับพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม
พระคุณลักษณะพิเศษ
เล่ากันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นที่ทรงเคารพและสนิทคุ้นเคย
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก
เป็นที่ทรงสนทนาปรึกษา ทั้งเรื่องที่เป็นกิจการบ้านเมือง
และเรื่องที่เป็นกิจการพระศาสนา และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาปรึกษา
กับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ณ ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ
ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพระบรมมหาราชวังเนืองๆ
คำเล่าอ้างดังนี้น่าจะสมจริง
เพราะสมกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ตรัสเล่าไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า
“เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูลกระหม่อม
(หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไปวัดราชประดิษฐ์ฯ เนืองๆ
คราวหนึ่งได้ยินตรัสถาม สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ครั้งนั้นยังเป็นพระสาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่
สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี
ทรงชี้เอาเราผู้นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แหละคนชื่อคน
แต่นั้นเราสังเกตว่า ทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน”
นอกจากนี้ ก็ยังกล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี
แต่ครั้งยังเสด็จดำรงอยู่ในผนวช ภายหลังเมื่อได้เป็นที่พระสาสนโสภณแล้ว
ถ้าพระราชาคณะหรือพระเปรียญจะถวายเทศน์
ต้องมาให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตรวจเสียก่อน
ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็จะทรงแต่งให้
นับแต่ทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐ์ฯ ขึ้นแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็เสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มพรรษา (พุ่มเทียน)
แก่พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ ทั่วทั้งวัดเป็นประจำทุกปีจนสิ้นรัชกาล
โดยเสด็จพระราชดำเนินในวันแรม ๑ ค่ำอันเป็นวันที่พระสงฆ์เข้าพรรษา
ดูเป็นทำนองอย่างทรงเป็นเจ้าของวัด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เหตุการณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ สวรรคต
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้อยู่ครองวัดราชประดิษฐ์ฯ
สนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระราชศรัทธา
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๔ ปี ก็สิ้นรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๐
ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง
อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์
ครั้นเวลาเย็นวันมหาปวารณาที่เสด็จสวรรคตนั้น พระอาการทรุดหนักลง
พระองค์ทรงประกอบไปด้วยพระสติสัมปชัญญะ
ทรงกำหนดอวสานกาลแห่งพระชนมายุของพระองค์เป็นแน่แล้ว
จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการพร้อมแล้ว
จึงมีพระราชโองการดำรัสให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก)
เข้าไปในที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์โดยมคธภาษา
ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร รับพระบรมราชโองการจดเป็นอักษร
ครั้นทรงพระบรมราชนิพนธ์เสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
พระยาศรีสุนทรโวหารเชิญไปกับทั้งเครื่องนมัสการ
สู่พระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
พระสงฆ์มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน
ประชุมพร้อมกันเพื่อจะทำสังฆปวารณา
พระยาศรีสุนทรโวหารจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วกราบถวายบังคมมาตามทิศ
อ่านพระบรมราชนิพนธ์นั้น ณ ที่สังฆสันนิบาต
สงฆ์รับอัจจยเทศนาแล้วตั้งญัตติปวารณา แล้วปวารณาตามลำดับพรรษา
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งพระยาศรีสุนทรโวหารเสร็จแล้ว
ก็ทรงนมัสการจิตตวิโสธโนบาย ภาวนามัยกุศลเครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์
พอสมัยยามกับบาทหนึ่ง เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญฝ่ายอุดรทิศ
พร้อมด้วยอัศจรรย์ หมอกกลุ้มทั่วนครมณฑลโดยบุญญวันตวิสัย
เมื่อเสด็จสวรรคต พระชนมายุนับเรียงปีได้ ๖๕ พรรษา
นับอายุโหราโดยจันทรคติได้ ๖๕ ปีถ้วน
คิดเป็นวันได้ ๒๓,๓๕๘ วัน กับ ๑๖ ชั่วโมงครึ่ง
คิดตามสุริยคติกาลอย่างยุโรปได้ ๖๔ ปี หย่อน ๑๖ วันกับ ๒ ชั่วโมง
เสด็จอยู่ในราชสมบัตินับเรียงปีได้ ๑๘ ปี
นับอายุโหราตามจันทรคติได้ ๑๗ ปี ๕ เดือนถ้วน คิดเป็นวัน ๖,๓๔๘ วัน
การเลื่อนสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม
แต์ให้คงใช้ราชทินนามเดิมว่า “พระสาสนโสภณ ที่ พระธรรมวโรดม”
นามจารึกในหิรัญบัตร
“พระธรรมวโรดม บรมญาณอาลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต
ทักษิณทิศคณฤศร บวรสีงฆารามคามวาสี
สถิตย์ณวัดราชประดิษฐ สถิตมหาสิมาราม พระอารามหลวง
จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณศุขพลปฏิภาณ ในพระพุทธสาสนาเทอญฯ”
พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕
ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช
พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
มีคณปูรกะ (ภิกษุผู้เข้าร่วมทำสังฆกรรมที่ทำให้ครบคณะพอดี) ดังนี้คือ
๑. หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา วัดบวรนิเวศวิหาร
๒. พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แต่ครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้า วัดราชบพิธ
๓. สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระพิมลธรรม วัดโสมนัสวิหาร
๔. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระพรหมมุนี วัดปทุมคงคา
๕. พระพรหมเทพาจารย์ วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา
๖. พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
๗. พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) แต่ครั้งยังเป็นที่พระอริยมุนี วัดบรมนิวาส
๘. พระเทพกวี (นิ่ม สุจิณฺโณ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระสุคุณคณาภรณ์ วัดเครือวัลย์
พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร
เมื่อทรงผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประทับ ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน
โดยได้เชิญเสด็จสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระราชอุปัธยาจารย์ และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัด
เข้าไปอยู่ด้วยพอครบคณะสงฆ์
ทรงผนวชอยู่เป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้นทรงลาผนวชแล้ว
ทรงรับพระบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง
พระเถระผู้ร่วมเป็นคณะสงฆ์ในการพระราชพิธีทรงผนวช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้น
ล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรม (คืออุปสมบทซ้ำ) มาแล้วทั้งนั้น
ยังแต่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระองค์เดียวเท่านั้น
ที่ขณะนั้นยังไม่ได้ทำทัฬหีกรรม ทั้งจะต้องทรงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการนี้
คือเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ด้วย
พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส
ในครั้งนี้เองที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงทำทัฬหีกรรม
ซึ่งขณะนั้นทรงมีอายุพรรษา ๒๒ แล้ว (นับแต่ทรงอุปสมบทครั้งหลัง)
ในการทรงทำทัฬหีกรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น
ไม่พบหลักฐานว่า ทำที่ไหน ใครเป็นพระอุปัชฌาย์
พบแต่เพียงว่า พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (๒๖) แต่สันนิษฐานว่าคงจักได้ทำที่แพโบสถ์
ตรงฝั่งวัดราชาธิวาส และวิธีการต่างๆ นั้น ก็คงจะทำนองเดียวกันกับที่
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ตรัสเล่าไว้เมื่อครั้งพระองค์เองทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) ดังนี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
“ตั้งแต่ครั้งทูลกระหม่อม (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่าบริสุทธิ์เป็นที่สิ้นสงสัย
ไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่พระอรรถกถาจารย์แนะไว้
ในอรรถกถาอนุโลมตามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพัง
จึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท
ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา
พระผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้นไปอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ เรียกว่า “ทำทัฬหีกรรม”
สำนักวัดบวรนิเวศวิหารหยุดมานาน พระเถระในสำนักนี้ ก็ได้ทำทัฬหีกรรมโดยมาก
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อุปสมบทครั้งหลังกว่า ๒๐ พรรษาแล้ว
จึงได้ทำทัฬหีกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาอุปสมบทเมื่อล้นเกล้าฯ
(หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงผนวช
พระเสด็จพระอุปัชฌายะ หมายถึง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ตรัสเล่าว่า
พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรมแล้ว
ยังแต่ท่าน หมายถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) องค์เดียว
ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ...
ครั้งเราบวช ความนับถือพระบวชในสีมาน้ำยังไม่วาย
เราเห็นว่าเราเป็นผู้จักยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป...เราควรเป็นผู้เข้าได้ทุกฝ่าย
อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล
ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหีกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ
จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์
(หมายถึง พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) ขอท่านเป็นธุระจัดให้
จึงตกลงกันว่า เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหีกรรม
เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอา
เจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) วัดเทพศิรินทราวาส
ครั้งยังเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหารเป็นผู้สวดกรรมวาจา
ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหีกรรมที่แพโบสถ์
อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป...
แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ
สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ”
พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณรูปที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๒๒ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่
“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
ตำแหน่งที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ ที่ได้รับพระราชทานสถาปนา
ในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เป็นสมเด็จพระสังฆราช
การสังคายนาและพิมพ์พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๕
พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
โปรดเกล้าฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยทรงมีพระราชดำริว่า
คัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมมาได้คัดลอกต่อๆ กันมา
ด้วยการจารลงในใบลานด้วยอักษรขอมนั้น กว่าจะได้แต่ละคัมภีร์ก็ช้านาน
เป็นเหตุให้คัมภีร์ของพระพุทธศาสนาไม่ค่อยแพร่หลาย
และไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งไม่สะดวกในการเก็บรักษาและใช้ดูให้อ่าน
อักษรขอมที่ใช้จารึกนั้นเล่าก็มีผู้อ่านกันได้น้อยลงทุกที
ฉะนั้น หากได้มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกให้ครบถ้วนบริบูรณ์
แล้วพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทย
ก็จะเป็นการทำให้พระคัมภีร์แพร่หลาย
และเป็นการสะดวกในการใช้ศึกษาเล่าเรียนมากยิ่งขึ้น
ฉะนั้นจึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น
โดยโปรดให้อาราธนาพระเถรานุเถระ
ประชุมร่วมกันกับราชบัณฑิตทั้งหลายตรวจชำระพระไตรปิฎก
แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้น
ให้สำเร็จเรียบร้อยทันกำหนดการบำเพ็ญพระราชกุศล
สมโภชสิริราชสมบัติในกาลเมื่อบรรจบครบ ๒๕ ปี
ครั้นวันที่ ๗ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๔๓๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงเชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชได้ดำรงสมณศักดิ์
มี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระยศกรมพระ เป็นประธาน
และทรงอาราธนาพระราชาคณะผู้ใหญ่
มี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
ขณะทรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นประธาน
พร้อมทั้งพระสงฆ์เปรียญ ทั้งในกรุงและหัวเมือง
ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับในพระอุโบสถ
พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ
อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ
อาราธนาพระสงฆ์ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎก เป็นการเริ่มการทำสังคายนา
ในการทำสังคายนาครั้งนี้
พระเถรานุเถระได้แบ่งกันทำหน้าที่เป็นกองๆ ดังนี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระยศ
กรมพระ ทรงเป็นอธิบดีในการตรวจแบบฉบับพระไตรปิฎก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศ
กรมหมื่น และสมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นรองอธิบดีจัดการทั้งปวง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็นแม่กองตรวจพระวินัยปิฎก
พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ
เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก
พระพรหมมุนี (เหมือน) วัดบรมนิวาส,
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง)
ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลก วัดราชบุรณะ,
พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) วัดเสนาสนาราม และ
สมเด็จพระวันรัต (ฑิต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี วัดมหาธาตุ
เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก
พระพิมลธรรม (อ้น) วัดพระเชตุพนฯ และ
สมเด็จพระวันรัต (แดง) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม วัดสุทัศน์
เป็นแม่กองตรวจพระอภิธรรมปิฎก
พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้มีจำนวน ๑,๐๐๐ จบๆ ละ ๓๙ เล่ม
พระราชทานพระราชทรัพย์ในการจัดพิมพ์ประมาณ ๒,๐๐๐ ชั่ง (๒๗)
นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ
และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจดจารึกพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยด้วย
เพราะก่อนแต่นี้ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการจดจารึกพระธรรมเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทย
ล้วนนิยมจดจารึกด้วยอักษรขอมทั้งนั้น
การจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ทันฉลองในการทรงบำเพ็ญ
พระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติบรรจบครบ ๒๕ ปี ตามพระราชประสงค์
พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานไปไว้ตามพระอารามหลวงวัดละจบ
นอกนั้นก็พระราชทานแก่พระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่มีหน้าที่ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์
ส่วนที่เหลือก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้จำหน่ายแก่ผู้ที่ประสงค์จะสร้างถวายวัด หรือสถานศึกษา ในราคาพอสมควร
ปรากฏว่าพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้
หมดฉบับสำหรับจำหน่ายภายในเวลาเพียง ๒ ปี
เมื่อข่าวการพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้แพร่หลายไป
ปรากฏว่ารัฐบาลและสถานศึกษานานาประเทศ พากันตื่นเต้นสนใจ
และขอพระราชทานมาเป็นจำนวนมาก ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานให้ตามประสงค์ เป็นเหตุให้พระไตรปิฎกชุดนี้แพร่หลาย
เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตลอดมาจนบัดนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
โปรดเกล้าฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเพิ่มอิสริยยศเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ให้พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนๆ มา
คือทรงสถาปนาเลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๑ ตำลึง มีถานานุกรมได้ ๑๒ รูป
มากกว่าสมเด็จพระราชาคณะตำแหน่งอื่นๆ
(ซึ่งมีนิตยภัตร ๖ ตำลึงบ้าง ๗ ตำลึงบ้าง ๑๐ ตำลึงบ้าง
และมีถานานุกรมได้ ๘ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง)
เพื่อเป็นการเฉลิมพระราชศรัทธาปสาทะที่ได้ทรงมีในเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ
ที่ทรงยกย่องเป็น “อรรคมหาคารวสถาน”
โดยฐานที่ได้ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงผนวช
และเรียบเรียงหนังสือธรรมวินัยให้ได้ทรงศึกษาเป็นอันมาก
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒
ได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เป็นสมเด็จพระสังฆราช
นับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
องค์สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา
พระชนมายุ ๘๓ พรรษา แต่เป็นคราวที่ไม่สะดวกในทางราชการ
พระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น
ต้องประดิษฐานไว้ ณ พระตำหนักเดิมอันเป็นที่ประทับนานถึง ๘ ปี กับ ๓ เดือน
จึงได้ถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓
พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อน ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา
ประดิษฐานด้านหน้าปาสาณเจดีย์ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖) นี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อันเป็นปีที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษาพอดี
การสถาปนาครั้งนี้เรียกว่า “สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ พระราชทานมุทธาภิเศก
เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิม”
คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ฯลฯ มีสำเนาประกาศทรงสถาปนาดังนี้
คำประกาศ
“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๖ พรรษา
ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม อุรคสังวัจฉร กรรติกมาศ กาฬปักษ์ ฉัฏฐมีดิถี พุฒวาร
สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ พฤศจิกายนมาศ เอกุณติงสติม
มาสาหคุณประเภท ปริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริห์ว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงสมณคุณ
สมควรจะเลื่อนอิศริยยศในสมณศักดิ์มีอยู่หลายองค์
กาลบัดนี้ก็เป็นเวลาใกล้การมหามงคลราชพิธีรัชฎาภิเศก
ควรจะสถาปนาอิศริยยศพระสงฆ์ที่ควรจะสถาปนาขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ตามตำแหน่ง
เมื่อพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณคุณได้รับอิศริยศักดิโดยสมควรแก่คุณานุรูปเช่นนั้นแล้ว
แลมาสู่สงฆสมาคม ณ พระราชพิธีสถาน ก็จะเป็นการมงคลอันอุดมยิ่ง
ทั้งจะเป็นการเพิ่มภูลพระเกียรติยศพระเกียรติคุณให้ไพโรจน์ชัชวาลย์ด้วย
จึงทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
ประกอบด้วยคุณธรรมอนันตโกศล วิมลปฏิภาณ ญาณปรีชา
รอบรู้พระปริยัติธรรม เป็นเอกอรรคบุรุษ แลดำเนินในสัมมาปฏิบัติดำรงคุณธรรม
อันได้แจ้งอยู่ในประกาศเลื่อนตำแหน่งแต่ก่อนโดยพิศดาร
จึงได้ทรงสถาปนาให้มีอิศริยศักดิพิเศษยิ่งกว่าสมเด็จพระราชาคณะ
ซึ่งเป็นเจ้าคณะใหญ่โดยสามัญแล้ว
บัดนี้พระมหาเถระซึ่งมีคุณแลไวยแลอิศริยศักดิเปนชั้นเดียวกันก็ล่วงลับไปสิ้นแล้ว
ยังเหลืออยู่แต่พระองค์เดียวเป็นที่เจริญพระราชศรัทธา
แลเปนอรรคมหาคารวะสถานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
ทั้งเจริญด้วยชนมายุกาลรัตตัญญูภาวคุณเป็นพระมหาเถระในสงฆ์
สมควรที่จะดำรงสมณถานันดรศักดิ์ ที่สมเด็จพระสังฆราช
ให้ปรากฏเกียรติยศเกียรติคุณสืบไปสิ้นกาลนาน
แลจะได้เป็นที่สักการบูชาแห่งพุทธสาสนิกบริสัช
ทั้งคฤหัสถ์แลบรรพชิตทั้งปวงทั่วไป
จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
ดำรัสสั่งให้สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
พระราชทานมุทธาภิเศก เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้นเปน
สมเด็จพระสังฆราช มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิมว่า
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสังฆปรินายก
ตรีปิฎกกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์
ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร
พุทธสาสนบริสัชคารวะสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร
มหาอุดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี
สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
พระอารามหลวง เป็นประธานในสมณะมณฑลทั่วพระราชอาณาเขตร
แลดำรงที่เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือด้วย
พระราชทานนิตยภัตรเพิ่มขึ้นเปนราคาเดือนละ ๑๒ ตำลึง
มีอิศริยยศถานานุศักดิ์ ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๖ รูป คือ
พระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ ญาณวิมล สกลคณิศร อุดรสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต
สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวง
พระครูปลัดกลาง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ สังฆอิศริยาลังการ วิจารณกิจโกศล
วิมลสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
พระอารามหลวง พระครูปลัดขวา มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์ วิจารโณภาศภาคยคุณ สุนทรสังฆานุคุติ
วิสุทธิสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
พระอารามหลวง
พระครูปลัดซ้าย มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
พระครูธรรมกถาสุนทร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูวินัยกรณ์โสภณ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูพรหมวิหาร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
พระครูญาณวิสุทธิ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูเมธังกร ๑
พระครูวรวงศา ๑
พระครูธรรมราต ๑
พระครูธรรมรูจี ๑
พระครูสังฆวิจารณ์ ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑
รวม ๑๖ รูป เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาภิยโยภาพปรากฏสิ้นกาลนาน
ขออาราธนาให้รับธุระพระพุทธสาสนา
เปนภาระสั่งสอนแลระงับอธิกรณ์พระสงฆ์สามเณรในคณะแลคณานุคณะ
ในสยามรัฏฐิกสงฆมณฑลทั่วไป ให้ทวียิ่งขึ้นตามสมควรแก่กำลังแลอิศริยยศ
ซึ่งพระราชทานนี้” *
ในการทรงสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้
ไม่ได้พระราชทานพระสุพรรณบัตรใหม่
เป็นแต่โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระสุพรรณบัตรครั้งเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
มาตั้งสมโภชที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชทานแต่ใบกำกับพระสุพรรณบัตรใหม่เท่านั้น
ในคราวเดียวกันนี้ ได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกายด้วย
งานพระนิพนธ์
งานพระนิพนธ์ของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย
ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตร หนังสือเทศนา และเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
พระนิพนธ์ต่างๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น ถือกันว่าเป็นงานชั้นครู
ทั้งในด้านเนื้อหา สำนวน และแบบแผนในทางภาษา โดยเฉพาะพระนิพนธ์เทศนา
มีอยู่เป็นอันมากที่ใช้เป็นแบบอย่างกันมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า
“แท้จริง บรรดาเทศนาทั้งหลายของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์นั้น
พวกบัณฑิตย่อมนับถือกันว่า เป็นหนังสือแต่งดีอย่างเอกมาแต่ในรัชกาลที่ ๔
ถือกันว่าควรเป็นแบบอย่างทั้งในทางถ้อยคำและในทางปฏิภาณโวหาร
เป็นของที่ชอบอยู่ทั่วกัน”
พระนิพนธ์ต่างๆ เหล่านี้ หากได้มีการรวบรวมไว้ให้ครบถ้วน
ก็จักเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในทางพระศาสนาและสารคดีธรรมเป็นอย่างยิ่ง
เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้ในคราวนี้ มีดังนี้
ประเภทพระสูตรแปล
๑. กาลามสูตร
๒. จักกวัตติสูตร
๓. จูฬตัณหาสังขยสูตร
๔. ทาฬิททิยสูตร
๕. ทีฆชาณุโกฬิยปุตตสูตร
๖. ธนัญชานีสูตร
๗. ธัมมเจติยสูตร
๘. ปราภวสูตร
๙. ปาสาทิกสูตร
๑๐. มหาธัมมสมาทานสูตร
๑๑. โลกธัมมสูตร
๑๒. สฬายตนวิภังคสูตร
๑๓. สัมมทานิยสูตร
๑๔. สุภสูตร
๑๕. เสขปฏิปทาสูตร
๑๖. อนาถปิณฑโกวาทสูตร
๑๗. อภิณหปัจจเวกขณปาฐะ
๑๘. อภิปปฏิสาสสูตร
๑๙. อากังเขยยสูตร
๒๐. อายาจนสูตร
๒๑. มหาสติปัฏฐานสูตร
ประเภทเทศนา
๑. ปฐมสมโพธิย่อ (๓ กัณฑ์จบ)
๒. เรื่องจาตุรงคสันนิบาตและโอวาทปาติโมกข์
๓. ปฐมสมโพธิ (แบบพิสดาร ๑๐ กัณฑ์จบ)
เรื่องนี้ใช้เป็นหนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี-เอก อยู่ในปัจจุบัน
๔. อนุปุพพิกถา (๕ กัณฑ์จบ)
๕. สาราทานปริยาย
๖. ธัมมฐิตัญญาณกถา
๗. ฉฟังคุเปกขากถา
๘. กัสสปสังยุตตกถา
๙. กฐินกถา
๑๐. วัสสูปนายิกกถา
๑๑. เทศนาจตุราริยสัจจกถา (๔ กัณฑ์จบ)
๑๒. ธุตังคกถา
๑๓. สัปปุริสธรรม ๗ ประการ
๑๔. อัฎฐักขณกถา
๑๕. อัฏฐมลกถา
๑๖. อัปปมัญญาวิภังคกถา
๑๗. จตุรารักขกรรมฐานกถา
๑๘. ธัมมุเทศกถา
๑๙. นมัสสนกถา
๒๐. ปวรคาถามารโอวาท
๒๑. ภัทเทกรัตตคาถา
๒๒. รัตตนัตตยปริตร (๓ กัณฑ์จบ)
๒๓. สังคหวัตถุและเทวตาพลี
๒๔. สรณคมนูปกถา
๒๕. สัตตาริยธนกถา
๒๖. สัพพสามัญญานุสาสนี
๒๗. อุกกัฎฐปฎิปทานุสาสนี
๒๘. โสกสัลลหรณปริยาย
๒๙. โสฬสปัญหา (๑๘ กัณฑ์จบ)
ต่างเรื่อง
๑. พระภิกขุปาติโมกข์แปลตรงคงตามบทพยัญชนะ
โดยพระบรมราชานุมัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒. พระภิกขุปาติโมกข์สิกขาบท
๓. วิธีบรรพชาอุปสมบทอย่างธรรมยุตติกนิกาย
๔. สวดมนต์ฉบับหลวง
๕. แปลธัมมปทัฎฐกถา ภาค ๑ (บางเรื่อง)
รวมพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่เป็นงานแปลพระสูตร ๒๐ สูตร
เทศนา ๗๐ กัณฑ์ และพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ดต่างเรื่อง ๕ เรื่อง
เท่าที่รวบรวมได้ในขณะนี้ เข้าใจว่าคงยังไม่ครบบริบูรณ์
แต่ก็เป็นจำนวนเกือบ ๑๐๐ เรื่องซึ่งนับว่ามิใช่จำนวนน้อย
พระกรณียกิจพิเศษ
สมเด็จพระสังฆราช (สา) ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ถวายพระมงคลวิเสสกถา
ซึ่งเป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง เริ่มมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔
ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
และได้ถวายต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ท่าน
เทศนาพระมงคลวิเสสกถา (วิเศษกถา) เป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง
ซึ่งพรรณนาพระราชจรรยาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเพื่อประโยชน์
จะได้ทรงพระปัจจเวขณ์ (คือพิจารณา) ถึงแล้ว เกิดพระปีติปราโมทย์แล้ว
ทรงบำเพ็ญราชธรรมนั้นยิ่งๆ เป็นการอุปถัมภ์พระราชจรรยาให้ถาวรไพบูลย์
พระเถระที่จะรับหน้าที่ถวายพระมงคลวิเสสกถาในครั้งนั้น
สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เช่นในรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงอาราธนา
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เป็นผู้ถวาย
และได้ถวายต่อมาจนถึงในรัชกาลที่ ๕
เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ได้ทรงอาราธนา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น เป็นผู้ถวาย
และได้ถวายต่อมาจนถึงในรัชกาลที่ ๖
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
เมื่อสมเด็จพระสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ได้เป็นผู้ถวายต่อมา เป็นต้น
ในปัจจุบัน การถวายพระมงคลวิเสสกถา เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช
หรือพระเถระรูปใดรูปหนึ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมอบหมาย
นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เมื่อคราวเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖
และทรงเป็นพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ในการทรงผนวช
ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้า
ในพระบรมราชวงศ์จักรีหลายพระองค์
พระอัธยาศัย
เกี่ยวกับพระอัธยาศัยส่วนพระองค์นั้นเล่ากันว่า
ทรงปกครองบริษัทด้วยพระกรุณาอนุเคราะห์
และยกย่องสหธรรมิกด้วยธรรมและอามิสตามควรแก่คุณานุรูป
มีพระอัธยาศัยค่อนไปข้างทรงถือพระวินัยละเอียดลออมาก
หากเกิดความสงสัยในอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
แม้จะไม่เป็นอาบัติแท้ ก็จะทรงแสดงเสียเพื่อความบริสุทธิ์
กล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงเป็นพระมหาเถระ
ที่เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงธรรมทางวินัยอย่างแท้จริงพระองค์หนึ่ง
จึงทรงเป็นที่เคารพสักการะแห่งพุทธบริษัททุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง
นับแต่องค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นตลอดจนคณะสงฆ์และพุทธบริษัททั่วไป
หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ
พระอวสานกาล
ในตอนปลายแห่งพระชนม์ชีพ
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประชวรด้วยพระโรคบิดประกอบกับพระโรคชรา
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๒
ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีกุน
ในรัชกาลที่ ๕ นับพระชนมายุได้ ๘๗ พรรษา โดยปี
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๕ ปี ๑ เดือน ๑๓ วัน
ทรงครอง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสาราม ๓๔ ปี
หลังจากที่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) สิ้นพระชนม์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล
จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๑๑ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๕๓)
เช่นเดียวกับในครั้งรัชกาลที่ ๔
หลังจากที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ซึ่งทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือ สิ้นพระชนม์แล้ว
ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชจนตลอดรัชกาลเช่นเดียวกัน
จึงว่างเว้นสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี
นำให้เข้าใจว่า แต่โบราณมานั้น พระเถระที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น
เฉพาะที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นพิเศษ โดยฐานเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
หรือพระราชกรรมวาจาจารย์ หรือพระอาจารย์เท่านั้น
ดังนั้น ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ซึ่งทรงเคารพนับถือมากโดยฐานทางเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์แล้ว
จึงมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีก
และในรัชกาลที่ ๕
เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระราชอุปัธยาจารย์
และ สมเด็จพระสังฆราช (สา) พระราชกรรมวาจาจารย์
สิ้นพระชนม์แล้ว ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด
เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเช่นกันจนตลอดรัชกาล
พระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
การพระศพ
การพระศพ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้พระราชทานพระเกียรติยศเป็นพิเศษ
มาจนตั้งแต่ต้นสิ้นพระชนม์จนถึงการขึ้นพระเมรุ
โดยฐานที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นที่ทรงเคารพอย่างยิ่ง
การพระศพตั้งแต่ต้นจนถึงการพระเมรุพระราชทานเพลิงศพนั้น
ได้มีแจ้งในการแถลงการณ์พระสงฆ์ ดังนี้
นับตั้งแต่ได้เลื่อนเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วมาได้ ๖ ปีเศษ
ประชวรเป็นโรคบิดมาตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒)
ครั้นต่อมาเป็นพระโรคชรา แพทย์หลวงและแพทย์เชลยศักดิ์
ได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่
ถึงวันที่ ๑๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) เวลา ๘ ทุ่ม ๒๐ นาที
สมเด็จพระสังฆราช ก็สิ้นพระชนม์ พระชนม์ได้ ๘๗ พรรษา
หากคำนวณตามสุริยคติ พระชนม์ได้ ๘๖ กับ ๔ เดือน ๒๑ วัน
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๘ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากพระราชวังบางปะอิน ทรงเครื่องขาว
และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์
ที่เป็นอันเตสวาสิก และสัทธิวิหาริก ทรงขาวทั่วกัน
แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งมาประทับวัดราชประดิษฐ์
เสด็จขึ้นบนตำหนักสูง ทรงจุดเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระศพแล้ว
พระราชทานน้ำสรงแลพระศพ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์กลองชนะแล้ว
พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการก็ได้สรงน้ำพระศพต่อไปแล้ว
เจ้าพนักงานแต่งพระศพ เชิญพระศพลงในพระรองใน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสวมชฎาพระราชทานแล้วยกรองในพระศพ
ลงมาที่ตำหนักใหญ่ เชิญขึ้นประดิษฐานเหนือแว่นฟ้า ๒ ชั้น
ประกอบพระโกศกุดั่นน้อย ห้อยเศวตฉัตร ๓ ชั้น เบื้องบนแวดล้อมด้วยเครื่องสูง
แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาประทับตำหนักนั้น
ทรงจุดเทียนนมัสการเครื่องทองน้อยแล้ว ทรงทอดผ้าไตร ๓๐ ผ้าขาว ๖๐ พับ
พระสงฆ์สดับปรณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ
พระราชทานเครื่องประโคมพระศพ สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง
กลองชนะแดง ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑
แลพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมตามพระเกียรติยศ
เมื่อสิ้นพระชนม์ล่วงมาครบ ๗ วัน ได้มีการพระราชทานกุศลเป็นส่วนของหลวง
มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้า แลเทศนาตามธรรมเนียม
และต่อมาทุกวัน ครบ ๗ วัน พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นศิษย์ได้ผลัดเปลี่ยน
มีการบำเพ็ญพระกุศลทุกคราวเป็นลำดับมาจนครบถึง ๑๐๐ วัน
ครั้นถึงวันที่ ๒๑ เมษายน ร.ศ. ๑๑๙ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปที่ตำหนักไว้พระศพ
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลศราทธพรต มีพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
พระสงฆ์ ๒๐ รูป สวดสรภัญคาถา เสร็จแล้วเสด็จกลับ
เมื่อพระราชทานเพลิงศพ และพระศพใหญ่เสร็จแล้ว
ทรงพระราชดำริเห็นสมควร ที่จะพระราชทานพระเกียรติยศ
สมเด็จพระสังฆราชให้เป็นพิเศษส่วนหนึ่ง
จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดคฤห์
เป็นที่ประทับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้น
ที่ยกพื้นระหว่างพระเมรุมณฑปและพระเมรุพิมานแต่ก่อนนั้น
และจัดการปลี่ยนแปลงภายในพระเมรุมณฑปดาดเพดานด้วยผ้าขาว
ม่านผ้าขาวลายดอกไม้เป็นต้น แล้วจัดชั้นตั้งแว่นฟ้า ๓ ชั้น
มีฐานคูหาและฐานเบี่ยง สำหรับประดิษฐานในพระเมรุมณฑป
แลโปรดเกล้าฯ ให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์
ซึ่งทรงผนวชและพระราชาคณะผู้ใหญ่
ตั้งเครื่องบูชากระเบื้องฝรั่ง (คือเครื่องกระหลาป๋า)
ที่ม้าหมู่ ๔ ทิศ แลที่ช่องคฤห์ ๕ ช่อง
แลถอนฉัตรทองเป็นต้นออก คงมีแต่ฉัตรเบญจรงค์
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) เวลา ๑๐ ทุ่ม ๒๐ นาที
เจ้าพนักงานจัดตั้งกระบวนแห่พระศพสมเด็จพระสังฆราช
แต่หน้าวัดราชประดิษฐ์ เดินกระบวนแห่ไปหยุดหน้าวัดพระเชตุพน
เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนราชรถ ประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่
มีพุ่มข้าวบิณฑ์ห้อยเฟื่องเศวตฉัตรคันดาล ๓ ชั้น กั้นพระศพเป็นพระเกียรติยศ
รุ่งขึ้นวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เวลาย่ำรุ่งเศษ
เจ้าพนักงานจัดตั้งกระบวนแห่พระศพต่อไป
กระบวนเคลื่อนแห่อยู่หน้าแล้วถุงเสลี่ยงกง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดูพระอภิธรรมและโยงพระศพราชรถ
กระบวนหลังมีศิษย์เชิญเครื่องยศตาม และ พระครูฐานานุกรม ในพระศพ
แลพวกข้าราชการราษฎรที่เป็นศิษยานุศิษย์นุ่งขาว
แล้วถึงพระสงฆ์ดำรงสมณศักด์มี
หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต นั่งเสลี่ยงป่ากั้นกลด
ถัดมา พระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม นั่งแคร่กั้นสัปทนโหมด
แลพระราชาคณะนั่งแคร่กั้นสัปทนแดง
รวม ๓๐ คู่ และพระครูบานานุกรมเปรียญพระศพด้วย
เสร็จแล้ว รอเสด็จพระราชดำเนินอยู่
เวลาเช้า ๒ โมง ๒๐ นาที
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศทหารมหาดเล็ก
เสด็จทรงรถพระที่นั่ง แต่พระบรมมหาราชวัง
ไปประทับพลับพลายกริมถนนสามไชย ตรงป้อมเผด็จดัสกร
ทอดพระเนตรกระบวนแห่ เจ้าพนักงานเดินขบวนไปตามถนนสนามไชย
ผ่านหน้าพระที่นั่งไป เมื่อสุดกระบวนพระสงฆ์แล้ว
เสด็จทรงรถพระที่นั่งไปประทับบนพระเมรุ
เจ้าพนักงานเชิญโกศพระศพขึ้นพระประดิษฐาน
แล้วเสด็จประทับที่คฤห์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสดับปกรณ์
เสร็จแล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เมื่อเสด็จกลับแล้วโปรดเกล้าฯ
ให้พวกศิษย์ทอดผ้าสดัปปกรณ์ และมีเทศน์ต่อไป
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเช่นวานนี้
เสด็จทรงรถพระที่นั่งแต่พระบรมมหาราชวัง ไปประทับที่พระเมรุ
ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ พระสงฆ์สดับปกรณ์แล้ว
ทรงจุดเพลิงพระราชทานเพลิงพระศพ แล้วเสด็จกลับประทับในพระเมรุพิมาน
พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายในฝ่ายหน้า
แลพระสงฆ์กับราษฎรที่เป็นศิษย์ถวายพระเพลิงต่อไป
แล้วเสด็จมาประทับพลับพลาทอดพระเนตรการเล่นต่างๆ เวลา ๒ ยามเศษเสด็จกลับ
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมง ๑๕ นาที
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงรถพระที่นั่งแต่พระบรมมหาราชวัง
ไปประทับที่คต โปรดเกล้าฯ ให้พวกญาติและศิษย์เดินสามหาบครบ ๓ รอบ
แล้วโปรยเงิน แล้วเสด็จขึ้นไปประทับที่พระเมรุ
ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ แล้วทรงโปรยเงิน
และทรงเก็บอัฐิบรรจุลงในพระเจดีย์ศิลาแล้ว
พระราชทานพระทนต์สมเด็จพระสังฆราชให้พระบรมวงศานุวงศ์
แลข้าราชผู้ใหญ่ที่เป็นศิษย์ ส่วนพระอัฐิที่เหลือจากนั้น
โปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์และคฤหัสถ์ ที่เป็นศิษย์และญาติวงศ์ไปเก็บไว้สักการบูชา
ส่วนพระอังคารนั้น เจ้าพนักงานเชิญลงไปในพระลุ้ง
เสร็จแล้วเสด็จไปประทับคฤห์ ทรงประเคนอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์
ครั้นรับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิเจดีย์มาตั้งบนม้าหมู่
จึงทอดผ้าสดับปกรณ์พระอัฐิ
เสร็จการสดับปกรณ์เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
เวลา ๓ โมง ๔๕ นาที เจ้าพนักงานจัดตั้งกระบวนแห่พระอัฐิแลพระอังคาร
มีพระสงฆ์สมณศักดิ์แลพระอันดับในวัดราชประดิษฐ์แลวัดอื่นบ้าง
พวกคฤหัสถ์ที่เป็นศิษย์บ้าง ตามไปส่งที่วัดราชประดิษฐ์
เป็นการเสร็จการพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชแต่เท่านี้
การพระราชกุศล นับเนื่องในสัตตมวาร
แลการบรรจุพระอังคารสมเด็จพระสังฆราช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าพนักงานจัดการพระราชกุศล ได้เชิญอัฐิเจดีย์ศิลาทอง
แลลุ้งพระอังคาร บนม้าหมู่เหนือแท่นภายใต้เศวตฉัตร ๓ ชั้น ในพระวิหาร
แล้วจัดตั้งอาสนะสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์พร้อมเสร็จ
วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) เวลาเช้า
พระสงฆ์ ๑๐ รูปรับประราชทานแล้วมีสดับปกรณ์รายร้อยอีก
เวลาบ่ายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว
โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
เสด็จไปทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป สดับปกรณ์แลถวายอนุโมทนาแล้ว
เจ้าพนักงานเชิญพระอังคารไปสู่พระปรางค์เขมร ซึ่งตั้งอยู่หลังเจดีย์ด้านใต้
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช
แต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จกรมพระ
เสด็จไปทรงบรรจุพระอังคาร บรรจุพระอังคารแล้วมีเทศนา ๑ กัณฑ์
เป็นเสร็จการพระราชกุศลแต่เท่านี้