ประวัติ 03.สมเด็จพระสังฆราช (มี) - วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร - webpra

03.สมเด็จพระสังฆราช (มี)

ประวัติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระประวัติและปฏิปทา 
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) 
พุทธศักราช ๒๓๕๙-๒๓๖๒ 


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร 
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

 

พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) 
ประสูติเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๒๙๓
ตรงกับวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๑๒ 
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา 

อนึ่ง หลักฐานตอนต้นของท่านนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด 
มาทราบได้ก็ตอนที่ท่านเป็นมหามีเปรียญเอก สถิต ณ วัดเลียบ (วัดราชบุรณะ)
ในสมัยเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ 
ทรงฟื้นฟูส่งเสริมการพระศาสนาเป็นการใหญ่ 
ดังที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ 
ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) 
ได้กล่าวถึงสมเด็จพระสังฆราช (มี) เมื่อครั้งยังเป็น มหามี 
ซึ่งได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับชั้นว่า

“ให้มหามีเปรียญเอกวัดเลียบเป็นพระวินัยรักขิตแทนพระอุบาลี
และพระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อยนั้น อาพาธลงถึงแก่มรณภาพ 
ทรงพระกรุณาให้ทำฌาปนกิจแล้ว 
ให้นิมนต์พระเทพมุนีไปครองวัดบางหว้าน้อยแทน...”


เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระเปรียญเอกอยู่วัดเลียบ (วัดราชบุรณะ)
ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระวินัยรักขิต 
แทนตำแหน่งที่ พระอุปาฬี ซึ่งเป็นตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ
มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยทรงพระราชดำริว่า ที่พระอุปาฬี 
ต้องกับนามพระอรหันต์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แปลงนามเลยใหม่เป็น 
พระวินัยรักขิต ฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราช (มี) 
จึงทรงเป็นพระราชาคณะในราชทินนามที่ พระวินัยรักขิต เป็นรูปแรก

พ.ศ. ๒๓๓๗ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม 
ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) 
และ สมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 
เมื่อสมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) ถึงแก่มรณภาพ
ในราวต้นรัชกาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นที่ สมเด็จพระพนรัตน 

ทรงคัดเลือกสมณทูตไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป 
ในขณะที่ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน (มี) 
ซึ่งขณะนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงพระชราทุพพลภาพมาก 
ดังที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ 
ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ไว้ว่า 

“ครั้นถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ 
มีพระสงฆ์ลังกาเข้ามาอีก ๑ รูป ชื่อพระสาสนวงศ์ 
อ้างว่ามหาสังฆนายกในลังกาทวีป 
ให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
แต่ไม่มีสมณสาสน์หรือสิ่งสำคัญอันใดมา 

ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป 
พระสาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่างๆ 
ซ้ำมาเกิดรังเกียจ ไม่ปรองดองกันกับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน 
จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่า 
จะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป 
ทรงพระราชดำริว่า มีไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา 
แต่เลิกร้างเสียเพราะเหตุเกิดสงครามไม่ได้ไปมาหาสู่กันช้านาน 

บัดนี้กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี 
เป็นอิสระมั่นคงแล้ว และได้ข่าวว่าลังกาเสียแก่อังกฤษ 
การพระศาสนาและศาสนวงศ์ในลังกาทวีปเป็นอย่างไร 
ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ จึงทรงเผดียง
สมเด็จพระพนรัตน (มี) วัดราชบุรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) 
ให้จัดหาภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้และเหนือ 
จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง...”


สมเด็จพระพนรัตน (มี) จึงเลือกอาราธนาพระภิกษุวัดราชบุรณะได้ ๔ รูป คือ 
๑. พระอาจารย์ดี 
๒. พระอาจารย์คง 
๓. พระอาจารย์เทพ และ 
๔. พระอาจารย์ห่วง (หลักฐานบางแห่งว่าชื่อ พระอาจารย์จันทร์) 
ได้ร่วมกับพระภิกษุวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 

ซี่งพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ได้เลือกไว้ ๔ รูป คือ 
๑. พระอาจารย์อยู่ 
๒. พระอาจารย์ปราง 
๓. พระอาจารย์เซ่ง 
๔. พระอาจารย์ม่วง 

ทั้งนี้ ได้มีมติให้พระภิกษุชาวลังกาอีก ๒ รูป คือ 
๑. พระรัตนปาละ และ ๒. พระหิระ รวมทั้งหมดด้วยกัน ๑๐ รูป 
โดยชุดสมณทูตคณะสงฆ์ไทย ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๗ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยเราได้ส่งสมณทูต
ไปเผยแพร่หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป

 

จัดสมณทูตไทยไปลังกาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน 
สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่สำคัญครั้งหนึ่ง 
คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 
ทรงมีพระราชดำริที่จะให้พระสงฆ์ไทยออกไปสืบข่าวพระศาสนายังลังกาทวีป 

แต่เนื่องจาก สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ขณะนั้นทรงชราภาพ 
จึงทรงมอบหมายให้ สมเด็จพระพนรัตน (มี) 
เป็นผู้จัดสมณทูตเพื่อออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังลังกาทวีปครั้งนี้ 
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้ 

“เมื่อปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ 
แต่ในปลายรัชกาลที่ ๑ มีพระภิกษุชาวลังกาชื่อพระวลิตรภิกษุ รูป ๑ กับ สามเณร ๒ รูป
เข้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราชมาถึงกรุงเทพฯ
โปรดให้วลิตรภิกษุกับสามเณรชื่อรัตนปาละ
ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุ
สามเณรอีกรูป ๑ ชื่อหิธายะ ให้ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน 

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ สามเณรลังกาทั้ง ๒ รูป ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุสยามวงศ์ 
เพราะถือว่าเป็นวงศ์เดียวกับพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งได้รับอุปสมบทแต่พระอุบาลี
ที่ออกไปในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงเก่า 
จึงโปรดให้สามเณรทั้ง ๒ นี้เป็นนาคหลวงบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
และพระราชทานนิตยภัตไตรปีสืบมา 

ครั้นมาถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ 
มีพระลังกาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อีกรูป ๑ ชื่อพระศาสนวงศ์ 
อ้างว่าพระมหาสังฆนายกในลังกาทวีปให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุ
เข้ามาถวายแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีสมณสาสน์หรือสำคัญอันใดมา 
ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป พระศาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่างๆ 
ซ้ำมาเกิดรังเกียจไม่ปรองดองกันกับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน 
วัตรปฏิบัติก็ไม่น่าเลื่อมใสด้วยกันทั้ง ๒ รูป 

จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่าจะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป 
ทรงพระราชดำริว่าพระสงฆ์ในลังกาทวีปก็เป็นสมณวงศ์อันเดียวกันกับ
พระสงฆ์ในสยามประเทศ เคยมีสมณไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า 
แต่เริดร้างมาเสียเพราะเกิดเหตุศึกสงคราม ไม่ได้ไปมาหาสู่ถึงกันช้านาน 

บัดนี้ กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีอิสระมั่นคงแล้ว 
แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ 
การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร 
ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ 
จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบูรณะ 
กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้แลคณะเหนือ 
จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง 

สมเด็จพระวันรัตนจัดได้พระวัดราชบูรณะ ๕ รูป คือ 
พระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑ 
พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑ 
พระเซ่งรูป ๑ พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป ครั้งนั้นพระรัตนปาละ 
พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ 
ทราบว่าพระสงฆ์สมณทูตไทยจะออกไปลังกา 
ถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย 
โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๐ รูปด้วยกัน

เมื่อจัดพระได้พร้อมแล้ว ถึงเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีจอ ฉศก พ.ศ. ๒๓๗๕ 
โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สมณทูตเข้าไปรับผ้าไตรแลเครื่องบริขารต่อพระหัตถ์ 
แลโปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับเทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ 
เป็นของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุ และพระเจดียฐานในลังกาทวีป 
แลโปรดให้จัดเครื่องสมณบริขาร ๓ สำรับ คือ บาตร ฝาแลเซิงประดับมุก 
ถลกบาตรสักหลาดแดง ไตรแพรปักสี 
ย่ามหักทองขวางเป็นของพระราชทานพระสังฆนายก 
พระอนุนายก แลพระเถระซึ่งรักษาพระทันตธาตุ ณ เมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี 
แลมีสมณสาสน์ของสมเด็จพระสังฆราช ไปถึงพระสังฆนายกด้วยฉบับหนึ่ง 
โปรดให้หมื่นไกร กรมการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นไวยาวัจกรสมณทูต 
แลคุมต้นไม้เงินทองสิ่งของพระราชทานไปด้วย

สมณทูตลงเรือกรมอาสาจามไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ 
ถูกลมว่าวพัดกล้าคลื่นใหญ่ เรือไปชำรุดเกยที่ปากน้ำเมืองชุมพร 
พระยาชุมพรจัดเรือส่งไปเมืองไชยา พระยาไชยาจัดเรือส่งต่อไป 
ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ 
ไม่ทันฤดูลมที่จะใช้ใบไปลังกาทวีป 
สมณทูตจึงต้องค้างอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๑๑ เดือน 

ในระหว่างนั้น พระวลิตรภิกษุ กับพระศาสนวงศ์ 
พระลังกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์ไทยยังค้างอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช 
ถวายพระพรลาว่าจะกลับไปบ้านเมืองกับสมณทูตไทย 

เมื่อได้พระราชทานอนุญาตแล้ว ก็ตามออกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช 
แต่เมื่ออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว พระวลิตรภิกษุ กับพระรัตนปาละ พระหิธายะ 
ที่มาบวชในกรุงเทพฯ ไปประพฤติตัวไม่เรียบร้อยต่างๆ 
พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เห็นว่า ถ้าให้พระลังกา ๓ รูปนั้น
ไปกับพระสงฆ์สมณทูตไทยเกรงจะไปเกิดเหตุการณ์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ 
จึงจัดส่งไปเกาะหมากทั้ง ๓ รูป ให้กลับไปบ้านเมืองของตนตามอำเภอใจ 
คงให้ไปกับพระสงฆ์ไทยแต่พระศาสนวงศ์รูปเดียว 

แต่เมื่อไปขึ้นบกในอินเดียแล้วพระศาสนวงศ์ก็หลบหายไปอีก
พระสงฆ์สมณทูตไทยไปบกจากเมืองนครศรีธรรมราช ไปลงเรือที่เมืองฝรั่ง 
ได้ออกเรือเมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘ 
ไปกับเรือที่บรรทุกช้างไปขายในอินเดีย 
พระยานครศรีธรรมราชมีจดหมายไปถึงสังฆนาเกน นายห้างพราหมณ์อยู่ 
ณ เมืองบำบุดบำดัด ซึ่งเป็นคนชอบกับเจ้าพระยานคร ได้เคยรับซื้อช้างกันมาเสมอทุกปี 

ครั้นเรือไปถึงเมืองบำบุดบำดัด 
สังฆนาเกนได้ทราบความในหนังสือเจ้าพระยานครแล้ว 
ก็ช่วยเป็นธุระรับรองพระสงฆ์สมณทูต แลให้เที่ยวหาจ้างคนนำทางที่จะไปลังกา 
พระสงฆ์ต้องคอยท่าอยู่อีกเดือนหนึ่ง จึงได้บลิม แขกต้นหนคน ๑ 
เคยมาค้าขายที่เมืองฝรั่งพูดไทยได้เป็นล่าม แลนำทางไป 
ต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแลเครื่องบริขารของพระราชทานนั้นบลิมก็รับไปด้วย 
เรียกค่าจ้างเป็นเงิน ๑๘๐ รูเปีย 
ออกเดินไปจากเมืองบำบุดบำดัด เมื่อ ณ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ไป ๗๖ วัน
ถึงท่าข้ามไปเกาะลังกา บลิมจ้างเรือไปส่งไปวัน ๑ ถึงเกาะลังกา 
ขึ้นเดินไปจากท่าเรืออีก ๓ วัน ถึงเมืองอนุราธบุรี 
เมื่อ ณ วันเดือน ๘ บุรพาสาธขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙ 

พักอยู่ที่เมืองอนุราธบุรี ๓ วัน กุมารสิยูม ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองอนุราธบุรีนั้น 
จัดคนนำทางส่งต่อไปเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี เดินไปได้ ๑๖ วัน
ถึงคลองน้ำชื่อว่า วาลุกคงคา เมื่อ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้นค่ำ ๑ 
ขุนนางเมืองสิงขัณฑทราบว่าพระสงฆ์ไทยไปถึงคลองวาลุกคงคา 
จึงแต่งให้พันนายบ้านราษฎรออกมาปฏิบัติ 
ทำปะรำดาดผ้าขาวให้พักอาศัยอยู่คืนหนึ่ง 

รุ่งขึ้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้น ๒ ค่ำ พระสงฆ์ สามเณร ราษฎรชาวลังกาชายหญิง 
ออกมารับสมณทูตไทยแห่เข้าไปในเมือสิงขัณฑ ให้ไปอยู่วัดบุปผาราม 
เวลานั้นอังกฤษพึ่งได้เกาะลังกาเป็นเมืองขึ้นใหม่ๆ 
เจ้าเมืองอังกฤษกำลังเอาใจชาวลังกา 
ให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะเบียดเบียนพระพุทธศาสนา 
พระสงฆ์ชาวลังกาเคยได้รับนิตยภัตจตุปัจจัยมาแต่
เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬปกครองอย่างไร ก็คงให้อย่างนั้น 
พระสงฆ์ไทยก็ได้รับความอุปการะเหมือนกับพระสงฆ์ชาวลังกาด้วยทุกอย่าง 

ฝ่ายพระสังฆนายก พระอนุนายกชาวสิงหฬ ก็ช่วยทำนุบำรุง 
พาสมณทูตไทยไปหาเจ้าเมืองอังกฤษ ขอลูกกุญแจมาไขเปิดพระทันตธาตุมนเทียร 
แลเชิญพระทันตธาตุออกให้นมัสการ 
แล้วพาไปนมัสการพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ 
ได้ไปเที่ยวนมัสการพระเจดีย์ฐานที่สำคัญทุกแห่ง 

สมณทูตไทยอยู่ในลังกาทวีป ๑๒ เดือนจึงลาพระสังฆนายก พระอนุนายกกลับมา 
พระสังฆนายก พระอนุนายก ประชุมพร้อมกัน
ทำสมณสาสน์ตอบให้สมณทูตไทยถือเข้ามาถึงสมเด็จพระสังฆราชฉบับ ๑ 
ในสมณสาสน์นั้นว่า พระสังฆนายก พระอนุนายก 
ได้ช่วยทำนุบำรุงพระสงฆ์ไทยตั้งแต่ไปจนกลับมา มีความผาสุกทุกองค์ 
จัดได้พระเจดีย์แก้วผลึกสูง ๘ นิ้วบรรจุพระบรมธาตุ ๕ พระองค์ 
พระพุทธรูปกาไหล่ทองคำหน้าตัก ๕ นิ้วองค์หนึ่ง ฉลองพระเนตรองค์หนึ่ง 
ถวายเข้ามาในสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา 
แลจัดได้พระเจดีย์กาไหล่ทองคำองค์หนึ่งสูง ๑๒ นิ้ว 
บรรจุพระบรมธาตุ ๓ พระองค์ แว่นตาศิลาอันหนึ่ง ถวายสมเด็จพระสังฆราช 

อนึ่ง เมื่อสมณทูตไทยกลับมาคราวนั้น
ได้หน่อพระมหาโพธิเมืองอนุราธบุรีเข้ามาด้วย ๖ ต้น 
พระสงฆ์ไทยออกจากเมืองสิงขัณฑ ณ เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูนพศก พ.ศ. ๒๓๖๐ 
ขุนนางอังกฤษที่เป็นเจ้าเมืองกลัมพู เอาเป็นธุระฝากเรือลูกค้ามาส่งที่เมืองบำบุดบำดัด 
แล้วสังฆนาเกนเศรษฐีเสียค่าระวาง ให้เรือกำปั่นลูกค้ามาส่งที่เมืองเกาะหมาก 
ขึ้นพักอยู่ที่เมืองเกาะหมาก ๔ เดือน 

พระยานครศรีธรรมราชทราบว่า พระสงฆ์ซึ่งไปลังกากลับมาถึงเมืองเกาะหมากแล้ว 
จึงแต่งหรือไปรับ แลจัดส่งเข้ามา ถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน ๙ แรมค่ำ ๑ 
ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๙ พ.ศ. ๒๓๖๑ 
แลต้นพระมหาโพธิที่ได้มานั้น พระอาจารย์เทพ ขอเอาไปปลูกไว้ที่เมืองกลันตันต้นหนึ่ง 
เจ้าพระยานครขอเอาไปปลูกที่เมืองนครสองต้น ได้เข้ามาถวายสามต้น 
โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง วัดสระเกศต้นหนึ่ง 
แล้วทรงตั้งพระอาจารย์ดีเป็นที่พระคัมภีรปรีชา 
ตั้งพระอาจารย์เทพเป็นที่พระปัญญาวิสารเถร พระห่วงนั้นทรงเห็นว่าได้เรียนหนังสือ 
รู้ภาษามคธมาก ได้ช่วยเป็นล่ามโต้ตอบกับชาวลังกา 
ไม่เสียรัดเสียเปรียบ เป็นคนฉลาดไหวพริบดี 

จึงทรงตั้งให้เป็นพระวิสุทธิมุนี เป็นพระราชาคณะทั้ง ๓ รูป 
พระสงฆ์ที่ได้เป็นสมณทูตไปลังกานอกจากนั้น 
พระราชทานไตรปืแลนิตยภัตต่อมา เดือนละ ๘ บาทบ้าง ๖ บาทบ้างทุกรูป 
พระกรณียกิจครั้งนี้นับว่าเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญ 
เพราะเป็นการรื้อฟื้นศาสนไมตรีระหว่างไทยกับลังกา 
ที่เริดร้างกันมากว่าครึ่งศตวรรษ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 
ทั้งเป็นการปูทางให้แก่สมณทูตไทยในรัชกาลต่อมา 
ซึ่งยังผลให้คณะสงฆ์ไทยและลังกา มีการติดต่อสัมพันธ์กันใกล้ชิดยิ่งขึ้น 
อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน ในทางพระศาสนาในเวลาต่อมาเป็นอันมาก”

 

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๕๙ 
ตรงกับวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวดอัฐศก เวลา ๒ โมงเช้า นี้ 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) 
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระพนรัตน (มี) 
ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช 
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พุทธศักราช ๒๓๕๙ 
ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้ 

“ศิริศยุภมัศดุอดีตกาลพระพุทธศักราชชไมยะ
สหัสสังวัจฉรไตรยสตาธฤกษ์เอกูณสัฏฐีเตมสประจุบันกาล 
มุสิกสังวัจฉรมาสกาลปักษ์ยครุวารสัตตดฤษถีบริเฉทกาลอุกฤษฐ์ 
สมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชารามาธิราชเจ้า 
ผู้ทรงทศพิธราชธรรมอนันตคุณวิบุลยอันมหาประเสริฐ 
ทรงพระราชศรัทธามีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
ดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนาให้

สมเด็จพระพนรัตน เป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติยวรา
สังฆราชาธิบดีศรีสมณุตมาปรินายก ติปิฎกธราจารย์ 
สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤกษษรทักษิณา สฤทธิสังฆคามวาสี อรัญวาสี 
เป็นประธานถานาทุกคณะนิกรจัตุพิธบรรพสัช 
สถิตย์ในพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวง ให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล 
พระชนมายุศมศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลวิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด” 


ในพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้เองที่ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกว่า 
สมเด็จพระสังฆราชในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีราชทินนามว่า 
“สมเด็จพระอริยวงษญาณ” กระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแก้เป็น 
“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” และใช้พระนามนี้สืบมาจนปัจจุบัน

 

หมู่พระพุทธรูปที่พระวิหารคด วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

หมู่พระพุทธรูปที่พระวิหารคด วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

 

เกิดธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ 

สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก
ที่ทรงตั้งในรัชกาลที่ ๒ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก 
ที่เมื่อทรงตั้งแล้วโปรดให้แห่จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ 
อันเป็นการเริ่มต้นธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราช 
จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒
เมื่อคราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้เป็นครั้งแรก
และวัดมหาธาตุก็ได้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ 
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนตลอดรัชกาลที่ ๒

การที่สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาประทับ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ นั้น
ถือเป็นสังฆประเพณีว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนและหลังจากนี้ 
สมเด็จพระสังฆราชจะต้องเสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ 
เนื่องจากเป็นพระอารามหลวงใหญ่ของราชธานี 
เพื่อจะได้เป็นประธานแก่คณะสงฆ์แห่งพุทธจักร 

ก่อนจะเสด็จมาประทับจะต้องโปรดให้ตั้งขบวนแห่งมีฤกษ์ เครื่องพิธี และสังฆพิธี 
อย่างพร้อมเพรียงนับว่าเป็นพระเพณีในทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่มาก 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้อรรถาธิบายไว้
ในหนังสือ “ประวัติอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ” ไว้อย่างละเอียดดังนี้ว่า

“ในรัชกาลที่ ๒ ต้องทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ 
ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นต้นมา ล้วนอยู่พระอารามอื่นก่อน 
แล้วจึงมาสถิตวัดมหาธาตุทั้งนั้น เมื่อจะเป็นสมเด็จพระสังฆราช 
บางพระองค์แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อนแล้ว จึงรับพระสุพรรณบัตร 
บางพระองค์รับพระสุพรรณบัตรก่อนแล้วจึงแห่มาสถิตวัดมหาธาตุ 
คงจะเกี่ยวด้วยฤกษ์ทรงสถาปนา 

ถ้าฤกษ์อยู่ในเวลาพระศพสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนยังอยู่ที่ตำหนัก 
ก็รับพระสุพรรณบัตรก่อน พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน
แล้วจึงแห่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่มาสถิตวัดมหาธาตุ 

ถ้าฤกษ์สถาปนา เป็นเวลาพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว 
ก็แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อน แล้วจึงรับพระสุพรรณบัตร 
คราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้ เห็นได้ชัดโดยวันในจดหมายเหตุว่า 
เมี่อทรงตั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) สิ้นพระชนม์ยังไม่ถึง ๓ เดือน 
คงยังไม่ได้พระราชทานเพลิงพระศพ 

ลักษณะการตั้งสมเด็จพระสังฆราช ข้าพเจ้าได้เห็นจดหมายเหตุของอาลักษณ์ 
จดรายการพิธีคราวตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) เมื่อในรัชกาลที่ ๓ 
แต่เข้าใจว่า ตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนๆ การพิธีก็จะเป็นอย่างเดียวกัน...

เริ่มการพิธีด้วยฤกษ์จารึกพระสุพรรณบัฏ 
จารึกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจารึกแล้ว (ม้วนรัดด้วยไหมเบญจพรรณ) 
บรรจุกล่องงาวางบนพานทอง มีถึงแพรเหลือระบายแดงผูกพานทองชั้น ๑ 
แล้วเอาพานทองนั้นวางบนพาน ๒ ชั้น ประดับมุก 
มีถึงแพรเหลืองระบายแดงผูกพานขั้น ๒ อีกชั้น ๑ 

แล้วจึงปิดคลุมปักหักทองขวางนอกพระสุพรรณบัฏ
ยังมีตราพระมหามณฑปสำหรับตำแหน่งพระสังฆราชใส่ถึงตาด 
ใส่ในหีบขาวกับตลับชาดงา 

หีบนั้นใส่ถุงแพรต่วนเหลืองระบายแดงบนตะลุ่มประดับมุก 
มีถุงแพรเหลือระบายแดงอีกชั้น ๑ 
แล้วเชิญพานพระสุพรรณบัฏและพานตราพระมหามณฑป 
ตั้งบนเตียงพระมหามณฑปในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันก่อนพระฤกษ์สถาปนาเวลาบ่าย 
พระราชาคณะเจริญพระพุทธมนต์ที่ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 

ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเข้าเสด็จออกยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
พระอาลักษณ์นุ่งห่มปักลายทองเชิงกรวย สวมเสื้อครุย นั่งบนผ้าขาวพับ 
อ่านประกาศพระนามครั้นประกาศแล้ว 
ทรงประเคนพานพระสุพรรณบัฏและตะลุ่มพระมณฑป 

เมื่อทรงประเคนแล้วเชิญกลับไปตั้งไว้บนเตียงพระมณฑป 
พระสงฆ์รับพระราชทานอาหารบิณฑบาตฉันเพลแล้ว 
เป็นการเสร็จพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 

มีในหนังสือพระราชพงศาวดารคราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) 
ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ทำพิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 
เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว มีเวียนเทียนสมโภชสมเด็จพระสังฆราชด้วย

ลักษณะการที่กล่าวมา ข้าพเจ้าสังสัยว่า 
มีรายการอีกอย่างหนึ่งไม่ปรากฏในจดหมายเหตุอาลักษณ์ 
คือเรื่องทรงอภิเษกสมเด็จพระสังฆราช เพราะอาลักษณ์ไม่มีหน้าที่จึงไม่กล่าวถึง 
ข้าพเจ้าเห็นเมื่อครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ 

เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ตั้งพระแท่นสรงอันมีไม้อุทุมพรเป็นที่ประทับที่ชาลในกำแพงแก้ว 
ข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านใต้ 
พระครูธรรมวิธานจารย์ก็เล่าว่า เมื่อครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (นาค) 
ในรัชกาลที่ ๓ ท่านสถิตอยู่วัดราชบูรณะ แต่มาสรงที่ตำหนักวัดมหาธาตุ 

จึงสันนิษฐานว่า เมื่อแต่ก่อนเห็นจะทำพิธีที่ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชด้วยอีกแห่งหนึ่ง 
ตั้งพระแท่นสรงที่นั่นมีสวดมนต์เย็นเหมือนอย่างตั้งกรมเจ้านาย 
สมเด็จพระสังฆราชสรงในตอนเช้าแล้ว 
จึงเข้ามารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
เป็นทำนองพิธีตั้งกรมเจ้านายแต่ก่อน

ได้ความตามจดหมายเหตุของอาลักษณ์ต่อมาว่า 
ในวันตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ตอนบ่ายแห่พระสุพรรณบัฏและตรามหามณฑป
ไปส่งยังพระอาราม มีกระบวนแห่สวมเสื้อครัยและลอมพอกขาว 
ถือดอกบัวสด ๔๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ แตรฝรั่ง ๔ แตรงอน ๘ สังข์ ๒ 
รวม ๓๒ คน สวมเสื้อหมวกแดง แล้วถึงเครื่องสูงบังแทรกรวม ๑๘ คน 
นุ่งกางเกงยก เสื้อมัสรูเกี้ยวผ้าลาย 

แล้วถึงราชยานถุรับพระสุพรรณบัฏและตราพระมหามณฑป 
มีขุนหมื่นอาลักษณ์นุ้งถมปักลาย สวมเสื้อครุยลอมพอกนั่งประคอง คน ๑ 
กระบวนหลังมีเครื่องสูงแล้วถึงเกณฑ์แห่มีคู่แห่ ๒๐ และถือธง ๒๐ เป็นอันหมดกระบวน

ในค่ำวันนั้นมีจุดดอกไม้เพลิง ดอกไม้พุ่มเจ็ดชั้น ๒๐ พุ่ม ระทาสูง ๔ สอก ๑๐ 
ระทาพะเนียง ๓๐ กระบอก จุดที่นอกระเบียงข้างหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม...”


อย่างไรก็ตาม วัดมหาธาตุก็ได้เป็นที่สถิตของ
สมเด็จพระสังฆราช ต่อเนื่องกันมาถึง ๔ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มาแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงตอนต้นรัชกาลที่ ๒

๒. สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒

๓. สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒

๔. สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒ 
ซึ่งมีพระชนม์มาถึงปีที่ ๑๙ ในรัชกาลที่ ๓


จนมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ
เป็นสมเด็จพระสังฆราช สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) 
วัดมหาธาตุกำลังอยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ 
สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะ จนถึงสิ้นพระชนม์ 
ต่อแต่นั้นมา เมื่อทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ 
ก็มิได้มีการแห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ อีก 
ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ 
จึงเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๒

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

 

เกิดอธิกรณ์ครั้งสำคัญ

ในปีแรกที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นั้นเอง 
ก็ได้เกิดอธิกรณ์ซึ่งนับว่าเป็นครั้งสำคัญและครั้งแรกขึ้นในรัชกาล 
เพราะมีพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังของคณะสงฆ์
ต้องอธิกรณ์เมถุนปาราชิกพร้อมกันถึง ๓ รูป 
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้ 

“ในเดือน ๑๒ ปีชวด อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๕๙) นั้น มีโจทก์ฟ้องว่า 
พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป ๑ 
พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง รูป ๑ 
พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า รูป ๑ ทั้ง ๓ รูปนี้
ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน 
จนถึงมีบุตรหลายคน โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ 
กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ 
ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ ณ คุก” 


ตำแหน่งที่ พระพุทธโฆษาจารย์ นั้น เป็นตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์ 
รองลงมาจากตำแหน่งที่ สมเด็จพระพนรัตน 
หรือเป็นลำดับที่ ๓ ในสังฆมณฑล นับแต่ สมเด็จพระสังฆราช ลงมา
และพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) รูปนี้
นับว่าเป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์ในขณะนั้น 

เพราะเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
โปรดเกล้าฯ ให้จัดสมณทูตไปลังกาเมื่อต้นรัชกาล 
สมเด็จพระสังฆราช (มี) ขณะยังเป็นที่ สมเด็จพระพนรัตน 
กับ พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) นี้เอง 
ที่เป็นผู้จัดการเรื่องสมณทูตไปลังกา เป็นที่เรียบร้อยสมพระราชประสงค์ 
จึงนับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย 

เมื่อมาเกิดอธิกรณ์ขึ้นเช่นนี้ คงเป็นที่ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก 
และก็คงตกเป็นภาระของสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง 
ที่จะต้องสะสางและปรับปรุงการคณะสงฆ์ให้ดีขึ้น 
ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

“ที่เกิดเหตุปรากฏว่าพระราชาคณะเป็นปาราชิกหลายรูปคราวนั้น 
เห็นจะทรงพระวิตกถึงการฝ่ายพระพุทธจักรมาก 
ปรากฏว่าได้ทรงเผดียงสมเด็จพระสังฆราช (มี) 
แลสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกษ ให้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนี 
แสดงข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะมณฑล คัดแจกทั่วไปตามพระอาราม 
เป็นทำนองสังฆาณัติแลการชำระความปาราชิกก็สืบสวนกวดขันขึ้นแต่ครั้งนั้นมา
จนสิ้นรัชกาลที่ ๒ แลต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ด้วย” 


หนังสือโอวาทานุสาสนีดังกล่าวนี้โปรดให้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ นี้
มีสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องให้พระอุปัชฌาย์ 
อาจารย์พระราชาคณะถานานุกรมเอาใจใส่สั่งสอนพระภิกษุสามเณร
ให้อยู่ในจตุปาริสุทธิศีล ๔ ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์
จะต้องมีความรู้เรื่องพระวินัยและสังฆกรรมเป็นอย่างดีและปฏิบัติให้ถูกต้อง

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ต่อมาอีก ๓ ปี สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) 
ผู้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนีเอง ก็ต้องอธิกรณ์ ด้วยประพฤติต่อศิษย์ผิดสมณสารูป 
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดจากสมณศักดิ์
และไล่จากวัดมหาธาตุ จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง 
(ซึ่งภายหลังต่อมาได้สร้างเป็นวัดเบญจมบพิตรดังปรากฏอยู่ในบัดนี้) 
จนถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) รูปนี้ 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อกันมาจาก สมเด็จพระสังฆราช (มี) 
ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาอยู่วัดมหาธาตุแล้ว แต่มาเกิดอธิกรณ์เสียก่อนดังกล่าว 
เหตุการณ์ครั้งนี้ คงเป็นเรื่องสะเทือนใจพุทธศาสนิกชน 
ยิ่งกว่าเมื่อครั้งพระราชาราชคณะ ๓ รูปต้องอธิกรณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น 
เพราะพระเถระที่ต้องอธิกรณ์ครั้งนี้ เป็นถึงว่าที่สมเด็จพระสังฆราช 
และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะที่ไม่ห่างกันนัก

 

 

การทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

การทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

 

พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้พิเศษยิ่งกว่าที่เคยทรงปฏิบัติมา 
จึงทรงมีพระราชราชปุจฉาต่อสมเด็จพระสังฆราช 
สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ถวายพระพรให้ทรงกระทำการสักการะบูชาพระศรีรัตนตรัย
ในวันวิสาขบูชาเยี่ยงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่ปางก่อนเคยกระทำมา 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ 
ให้กำหนดพิธีวิสาขบูชาขึ้นเป็นธรรมเนียม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐ นั้นเป็นต้นมา 
นับเป็นการทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ 
เป็นเหตุให้มีการทำพิธีวิสาขบูชากันสืบมาจนปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้นับว่า
เป็นสิ่งที่เกิดจากพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระสังฆราช (มี) โดยแท้ 
นับเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญครั้งหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

อนึ่ง พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา 
ที่ได้กำหนดเป็นพระราชพิธีหลวงเป็นครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ 
ให้จัดขึ้นในครั้งนั้น พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ดังนี้ คือ 

“ศุภมัสดุ ๑๑๗๙ ศกอุศุภสังวัจฉร เจตมาสกาลปักษ์ ทุติยดฤถีครุวาร ปริเฉทกาลกำหนด 
พระบาทสมเด็จพระธรรมิกราชรามาธิราช บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว 
ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ เสด็จออก ณ พระที่นั่งบุษบกมาลา 
มหาจักรพรรดิพิมานพร้อมด้วยอัครมหาเสนามาตยาธิบดี 
มุขมนตรีกระวีชาติราชปโรหิตจารย์ ผู้ทูลละอองพระบาทโดยลำดับ 
ทรงพระราชศรัทธาถวายสังฆภัตทานแก่พระสงฆ์มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน 

ครั้นเสด็จการภุตตกิจ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ทรงพระราชรำพึงถึงสรรพการกุศล เป็นต้นว่า บริจาคทานรักษาศีล เจริญภาวนา 
ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นนิจกาลนั้น ยังหาเต็มพระราชศรัทธาไม่ 
มีพระทัยปรารถนาจะใคร่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษประเสริฐยิ่ง
ที่พระองค์ยังมิได้ทรงกระทำเพื่อจะให้แปลกประหลาด 

จึงมีพระราชปุจฉาถามสมเด็จพระสังฆราช (มี) 
และพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยถวายพระพรว่า 
แต่ก่อนสมเด็จมหากษัตราธิราชเจ้ากระทำสักการบูชา 
พระศรีรัตนตรัยในวันวิสาขบูรณมี คือ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ 
เป็นวันวิสาขนักขัตฤกษ์มหายัญพิธีบูชาใหม่ 
มีผลผลานิสงส์มากยิ่งกว่าตรุษสงกรานต์ 

เหตุว่าเป็นวันสมเด็จพระสัพพัญญพุทธเจ้าประสูติ ได้ตรัสรู้ ปรินิพพาน 
และสมเด็จพระเจ้าภาติกราชวสักราชดิศรมหาราชเคยกระทำสืบพระชนมายุ
เป็นเยี่ยงอย่างโบราณราชประเพณีมาแต่ก่อน 
และพระราชพิธีวิสาขบูชาอันนี้เสื่อมสูญขาดมาช้านานแล้ว 
หามีกษัตริย์องค์ใดกระทำไม่ 

ถ้าได้กระทำสักการบูชาพระศรีรัตนตรัยในวันนั้นแล้ว 
ก็จะมีผลานิสงส์มากยิ่งนัก 
อาจสามารถปิดประตูจตุราบายภูมิทั้ง ๔ 
และเป็นที่จะดำเนินไปในสุคติภพเบื่องหน้า 
อาจให้เจริญทฤฆายุสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล 
ระงับทุกข์โทษอุปัทวันตรายภัยต่างๆ ในปริเฉทกาลปัจจุบัน 
เป็นอนันต์คุณานิสงส์วิเศษนักจะนับประมาณมิได้ 

ครั้นได้ทรงฟังเกิดพระราช ปิติโสมนัสตรัส
เห็นว่าวิสาขบูชานี้จะเป็นเนื้อนาบุญราศี 
ประกอบพระราชกุศลเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งเป็นแท้ 

จึงทรงพระราชศรัทธาจะยกรื้อวิสาขบูชามหาพิธีอันขาดประเพณีมานั้น 
ให้กลับเจียรฐิติกาลกำหนดปรากฏสำหรับแผ่นดินสืบต่อไป
จะให้เป็นวัตตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์ 
ทรงพระราชศรัทธาจะให้สัตว์โลกข้าขอบขัณฑสีมาทั้งปวงเจริญอายุ
และอยู่เป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยในชั่วนี้และชั่วหน้า 

จึงมีพระราชโองการมานบัณฑูรสุรสิงหนาท 
ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า 

แต่นี้สืบไป เถิง ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ 
เป็นวันวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ทรงรักษาอุโบสถศิลปรนิบัติพระสงฆ์ ๓ วัน ปล่อยสัตว์ ๓ วัน 
ห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เสพสุราเมรัย ๓ วัน 
ถวายประทีปตั้งโคมแขวนเครื่องสักการบูชาดอกไม้เพลิง ๓ วัน 
ให้มีพระธรรมเทศนาในพระอารามหลวงถวายไทยทาน ๓ วัน 

ส่วนพระบรมราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท 
ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ลูกค้าวาณิช สมรชีพราหมณ์ทั้งปวง 
จงมีศรัทธาปลงใจในการกุศล 
อุตส่าห์กระทำวิสาขบูชาให้เป็นประเพณียั่งยืนไปทุกปีไปอย่าให้ขาด 

ฝ่ายฆราวาสนั้นจงรักษาอุโบสถศีลถวายบิณฑบาต 
ปล่อยสัตว์ตามศรัทธา ๓ วัน ดุจวันตรัษสงกรานต์ 
เวลาเพลแล้วมีพระธรรมเทศนาในพระอาราม 

ครั้นเวลาบ่ายให้ตกแต่งเครื่องสักการบูชาพวงดอกไม้มาลากระทำให้วิจิตรต่างๆ 
ธูปเทียนชวาลาธงผ้า ธงกระดาษออกไปยังอารามบูชาพระรัตนตรัย 
ตั้งพานดอกไม้แขวนพวงไม้ธูปเทียนธงใหญ่ธงน้อยในพระอุโบสถ 
พระวิหารที่ลานพระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ 
และผู้ใดจะมีเครื่องดุริยางค์ดนตรีมโหรีพิณพาทย์ 
เครื่องผสมสมโภชประการใดๆ ก็ตามแต่ใจศรัทธา 

ครั้นเวลาค่ำให้บูชาพระรัตนตรัยด้วยเครื่องบูชาประทีป โคมตั้ง โคมแขวน 
จงทุกหน้าบ้าน และ ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำนั้นเป็นวันเพ็ญบุรณมี
ให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชวังหลวง ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 
ประชุมกันถวายสลากภัตแก่พระสงฆ์ และให้มรรคนายกทั้งปวงชักชวนสัปบุรุษทายก 
บรรดาที่อยู่ใกล้เคียงอารามใดๆ ให้นำสลากภัตถวายพระสงฆ์ในอารามนั้น 

เวลาบ่ายให้เอาหม้อใหญ่ใส่น้ำลอยด้วยดอกอุบลบัวหลวง 
ด้วยสายสิญจน์สำหรับเป็นน้ำปริตรไปตั้งที่พระอุโบสถ 
พระสงฆ์ลงอุโบสถแล้วจะได้สวดพระพุทธมนต์จำเริญพระปริตรธรรม 

ครั้นจบแล้วหม้อน้ำของผู้ใดก็เอาไปกินอาบปะพรมรดเย้าเรือนเคหา 
บำบัดโรคอุปัทวภัยต่างๆ ฝ่ายพระสงฆ์สมณนั้นให้พระราชาคณะฐานานุกรม 
ประกาศให้ลงพระอุโบสถแต่เพลาเพลแล้วให้พร้อมกัน 
ครั้นเสร็จอุโบสถกรรมแล้วเจริญพระปริตรธรรม
แผ่พระพุทธอาญาในพระราชอาณาเขต ระงับอุปัทวภัยทั้งปวง 
ครั้นเวลาค่ำเป็นวันโอกาสแห่งพระสงฆ์สามเณรกระทำสักการบูชา 
พระศรีรัตนตรัยที่พระอุโบสถและพระวิหาร
ด้วยธูปเทียน โคมตั้ง โคมแขวน ดอกไม้และประทีป 

พระภิกษุที่เป็นธรรมกถึกจงมีจิตปราศโลภโลกามิสให้ตั้งเมตตาศรัทธาเป็นบุรจาริก 
จงสำแดงธรรมเทศนาให้พระสงฆ์สามเณรและสัปบุรุษ 
ฟังอันควรแก่ราตรีวันนั้นทุกอาราม 
ให้กระตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมานี้เสมอไปทุกปีอย่าให้ขาด 

ถ้าฆราวาสและพระสงฆ์สามเณรรูปใดเป็นพวกทุจริตจิตคะนองหยาบช้า 
หามีศรัทธาไม่กระทำความอันมิชอบ 
ให้เป็นอันตรายแก่ผู้กระทำวิสาขบูชาในวันนักขัตฤกษ์นั้น 
ให้ร้องแขวงนายบ้านนายอำเภอกำชับตรวจตรา
สอดแนมจับกุมเอาตัวผู้กระทำผิดให้จงได้ 

ถ้าจับคฤหัสถ์ได้ในกรุงฯ ให้ส่งกรมพระนครบาลนอกกรุงฯ ให้ส่งเจ้าเมืองกรมการ 
ถ้าจับพระสงฆ์สามเณรได้ในกรุงฯ ส่งสมเด็จพระสังฆราช พระพนรัตน์ นอกกรุงฯ 
ส่งเจ้าอธิการให้ไล่เลียงไต่ถามได้ความเห็นสัตย์ให้ลงทัณฑกรรม ตามอาญาฝ่ายพุทธจักร 
และพระราชอาณาจักรจะได้หลายจำอย่าให้ทำต่อไป 

และให้ประกาศป่าวร้องอาณาประชาราษฎร์ 
ลูกค้าวาณิชสมณชีพราหมณ์ให้จง รู้จงทั่ว 
ให้กระทำดังพระราชบัญญัติดังกล่าวมานี้จงทุกประการ 
ถ้าผู้ใดมิได้ฟัง จะเอาตัวผู้กระทำผิดเป็นโทษโดยโทษานุโทษฯ”

“พิธีวิสาขบูชาทำที่ในกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่ามีการเหล่านี้ 
คือนำโคมปิดกระดาษชักเสาไม้ไผ่ยอดผูกฉัตรกระดาษ 
พระราชทานไปปักจุดเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงวัดละ ๔ เสาอย่าง ๑ 
ให้นายอำเภอกำนันป่าวร้องราษฎรให้จุดโคมตามประทีปตามบ้านเรือนเป็นพุทธบูชาอย่าง ๑ 
หมายแผ่พระราชกุศล แต่ข้าราชการให้ร้อยดอกไม้แขวน 
เป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๓ วันอย่าง ๑ 

มีดอกไม้เพลิงของหลวงตั้งจุดเป็นพุทธบูชาที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่าง ๑ 
นิมินต์พระสงฆ์ให้อุโบสถศีลและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ราษฎร
ตามพระอารามหลวงฝั่งตะวันออก ๑๐ วัน ผั่งตะวันตก ๑๐ วัน 
เครื่องกัณฑ์เป็นของหลวงพระราชทาน

และให้นายอำเภอกำนันร้องป่าวตักเตือนราษฎรให้ไปรักษาศีล 
ฟังธรรม และห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่าง ๑ 
นำธงจระเข้ไปปักเป็นพุทธบูชา ตามพระอารามหลวงวัดละต้นอย่าง ๑ 
เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง พระราชทานสลากภัตแล้ว แล้วสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ...”

 

ปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม

ปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม

 

สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงให้แก้ไขการสอบ
และวางระเบียบแบบเรียนพระปริยัติธรรมเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม 
ซึ่งในสมัยก่อเรียกว่า “บาเรียน” (เปรียญ) 
แต่มาในครั้งนี้ปรับปรุงการเรียนพระปริยัติธรรมให้เป็นหลักสูตรเสียใหม่
ให้เรียกว่า “ประโยค” โดยกำหนดให้เป็นประโยค ๑ เรื่อยๆ 
ไปจนถึงประโยค ๙ ซึ่งสูงสุด 

ณ ที่นี้จะขอนำเอาข้อความของพระราชเวที วัดทองนพคุณ 
ที่ได้อรรถาธิบายเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนาในเมืองไทย 
ตอนแก้ไขการสอบพระปริยัติธรรมอย่างละเอียด ดังความว่า

“...การศึกษาพระปริยัติธรรมและการสอบ 
ซึ่งได้ใช้หนังสือพระไตรปิฎกเป็นแบบเรียนนั้น 

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
รัชกาลที่ ๒ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ในสมัยสมเด็จพระสังฆราช (มี) 
เป็นสกลมหาสังฆปริณายก พระพุทธศักราช ๒๓๕๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้แก้ไขวิธีสอบและแบบเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่ให้มีถึง ๙ ประโยค 
โดยใช้แบบเรียนดังนี้

๑. ประโยค ๑ ประโยค ๒ ประโยค ๓ ใช้คัมภีร์ “อรรถกถาธรรมบท” 
เป็นแบบเรียนและต้องสอบแปลให้ได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค จึงนับว่าเป็นบาเรียน

๒. ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” เบื้องต้น 
ต่อมาเลยใช้ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายรวมเข้าไปด้วย 
แต่ต่อมาภายหลังกลับมาใช้แต่เพียงเบื้องต้นแต่อย่างเดียว

๓. ประโยค ๕ ได้ยินว่า แต่เดิมใช้ “บาลีมุตตกะ” 
แล้วเปลี่ยนเป็นคัมภีร์ “สารรัตถสังคหะปกรณ์ วิเสส” 
ภายหลังเปลี่ยนมาใช้คัมภีร์ “บาลีมุตตกะ” อีก 
ในบัดนี้ใช้หนังสือ “สมันตปสารทิกาอัฏฐกถาวินัย” ตติภาค

๔. ประโยค ๖ ใช้คัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” บั้นปลาย 
ต่อมาในสมัยแปลใช้เขียนงดใช้ชั่วคราวหนึ่งโดยใช้ “อรรถกถาธรรมบท” ทั้ง ๘ ภาค 
เป็นแบบใช้ในวิลาแปลไทยเป็นมคธ ในบัดนี้กลับใช้ในวิชาแปลมคธเป็นไทยอีก 
ซ้ำเพิ่มหนังสือ “กังสาวิตรณี” แก้ปาฏิโมกข์เข้ามาอีกด้วย

๕. ประโยค ๗ ใช้คัมภีร์ “ปฐมสมันตปสาทิกาอัฏฐกถาวัย” 
ผู้สอบได้ประโยคนี้เป็นบาเรียนเอก “ส” คือ ชั้นเอกสามัญ 
ในบัดนี้ประโยคนี้ใช้ “สมันตปสาทิกา” ทุติยภาคเพิ่มขึ้นด้วย

๖. ประโยค ๘ ใช้คัมภีร์ “วิสุทธิมัคค์ปกรณ์วิเสส” 
ผู้สอบได้ประโยคนี้เป็นบาเรียนเอก “ม” คือชั้นเอกมัชฌิม

๗. ประโยค ๙ ใช้คัมภีร์ “ฎีกาสารัตถทีปนี” ต่อมาเปลี่ยนเป็น 
“ฎีกาอภิธัมมัตถวิภาวินี” ผู้สอบได้ประโยคนี้ เป็นบาเรียนเอก “อ” ชั้นเอกอุดม

คำว่า “ประโยค” นั้น เข้าใจว่าเรียกตามข้อความที่
ท่านผู้ออกข้อสอบให้นักเรียนแปล กำหนดไว้เป็นตอนๆ มากบ้างน้อยบ้าง 
ประโยค ๓ แต่เดิมท่านกำหนดข้อความ ๓๐ บรรทัดคือ สามใบลาน 
เนื่องจากนักเรียนมากและเวลาจำกัด ต่อมาจึงลดลงเหลือเพียง ๓ ลาน คือ ๑๐ บรรทัด 
เป็นกรณีพิเศษ ประโยค ๔-๕-๖-๗-๘ เดิมกำหนด ๒ ลาน เหมือนกันหมด 

ต่อมาประโยค ๗ และ ๘ ท่านลดลงเหลือ ๓ หน้าลาน คือ ๑๕ บรรทัด 
ส่วนประโยค ๙ คงกำหนดให้ ๑ ลาน คือ ๑๐ บรรทัดตามเดิม 
ประโยคที่ท่านกำหนดนี้ 
นับบรรทัดตามหนังสือของที่จารในใบลานหน้าบาน ๑ จาร ๕ บรรทัด

“แต่ก่อนแม้พระรามัญที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ก็มีการสอบเหมือนกัน 
แต่หลักสูตรการสอบบาเรียนนั้นจะกำหนดขึ้น 
อนุโลมตามหลักสูตรที่เคยใช้อยู่ในรามัญประเทศแต่โบราณ 
หรือมากำหนดใหม่ในเมืองไทยนี้ ข้อนี้ยังไม่ได้หลักฐานแน่นอน 
หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนและสอบนั้น ใช้แต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก 

เพราะพระสงฆ์รามัญนั้นศึกษาถือพระวินัยเป็นสำคัญสมด้วยคำกลางที่พูดกันว่า 
“มอญวินัย ไทยพระสูตร พม่าอภิธรรม” ได้ยินว่า 
ทางรามัญกำหนดเพียง ๓ ประโยค 
เป็นจบหลักสูตร ภายหลังเพิ่มประโยค ๔ ขึ้นอีกประโยค ๑ 
จึงรวมเป็น ๔ ประโยค คือ

๑. ประโยค ๑ ใช้คัมภีร์บาลีมหาวิภังค์ คือ อาทิกัมม์หรือปาจิตตีย์ 
เป็นบทเรียนและสอบผู้สอบได้ประโยค ๑ เข้าใจว่า แต่เดิมคงเป็นบาเรียน 
ครั้งตั้งประโยค ๔ เพิ่มขึ้นจึงกำหนดว่า 
ต้องสอบประโยค ๒ ได้ด้วย จึงนับว่าเป็นบาเรียน

๒. ประโยค ๒ ใช้คัมภีร์บาลีมหาวรรค หรือจุลวรรคอย่างใดอย่างหนึ่ง 
ตามแต่จะเลือกนักเรียนสอบได้ประโยค จึงนับว่าเป็นบาเรียนจัตวา 
เทียบบาเรียนไทย ๓ ประโยค

๓. ประโยค ๓ ใช้คัมภีร์มัตตกวินัยวิจิต ผู้สอบได้ประโยคนี้ 
นับเป็นบาเรียนเทียบบาเรียนไทย ๔ ประโยค

๔. ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์ปฐมลมันปสาทิกาอัฏฐกถาวินัย 
เหมือนหลักสูตรประโยค ๗ ของผู้สอบได้ประโยคนี้นับเป็นบาเรียนโท 
เทียบบาเรียนไทย ๕ ประโยค

หลักสูตรและการสอบพระปริยัติธรรมฝ่ายรามัญในเมืองไทย ตามที่กล่าวมานี้ 
เมื่อได้เลิกจากการสอบวิธีแปลปากเปล่ามาเป็นวิธีเขียนแล้วก็เป็นอันยกเลิกไป 
บัดนี้คงใช้วิธีสอบ และหลักสูตรรวมกับหลักสูตรฝ่ายไทยเราแล้ว”

“เรื่องการสอบปากเปล่า กล่าวคือการสอบไล่พระปริยัติธรรมในสมัยก่อนนั้น 
มิได้กำหนดแน่นอนลงไปว่าจะสอบกันเมื่อใด บางทีก็สอบกันในพรรษา นอกพรรษา 
ทั้งนี้สุดแล้วแต่ว่าคณะกรรมการจะกำหนดแล้วแจ้งไปยังอารามต่างๆ 
ให้เตรียมตัวเข้าสอบและสถานที่สอบนั้น
ก็ได้กำหนดเอาที่วัดสมเด็จพระสังฆราชสถิตอยู่นั้นเป็นหลัก 

และก็มีเป็นบางครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงฟังการแปลด้วย 
ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปสอบในพระราชวัง 
หรือไม่บางทีก็เสด็จไปฟังที่พระอารามสถานที่สอบเลยทีเดียว”

“สำหรับการสอบนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะเป็นผู้กำหนดประโยคสอบเอง 
หรือบางครั้งก็มอบให้พระราชาคณะผู้ใหญ่กำหนดประโยคสอบ 
โดยบรรจุข้อสอบไว้ในซองผนึกเรียบร้อยก่อนนักเรียนเข้าสอบ 
เมื่อนักเรียนคนใดจะถึงเวรสอบเข้าไปจับฉลากต่อคณะกรรมการ 
ผู้ใดจับประโยคข้อสอบใดได้ ก็มีเวลาเตรียมไว้ได้อยู่ในที่พัก 
ผู้อื่นจะเข้าไปแนะนำไม่ได้ จนกว่าจะถึงเวลาที่กรรมการเรียกเข้าไปแปล 

การแปลนั้นก็แปลรวดเดียว ถ้าเป็นนักเรียนใหม่สอบประโยคต้น
ก็ต้องสอบได้ ๓ ประโยคเลย จะสอบแต่ ๑ ประโยค หรือ ๒ ประโยคไม่ได้ 
ถ้าไม่ได้ ๓ ประโยคก็ถือว่าตกหมด 
แต่ในรัชกาลที่ ๓ ถ้าสอบได้ ๒ ประโยคก็เป็นบาเรียนวังหน้า 
ประโยคที่นักเรียนจับฉลากได้นั้นไม่เหมือนกัน คนหนึ่งได้ประโยค ๑ 

ฉะนั้นเมื่อผู้แปลในวันก่อนๆ มาแล้ว
ไม่มีโอกาสแนะหรือฝึกซ้อมกับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสอบได้เลย 
เพราะไม่รู้ว่าผู้จะเข้าสอบแปลในวันต่อไปจะจับได้ประโยคอะไร 
อนึ่ง การจับฉลากประโยคสอบนั้น ถือว่าเป็นการเสี่ยงทายด้วย 
ถ้าจับได้ประโยคดี ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดไป 
ถ้าจับได้ประโยคไม่ดี ก็จะไม่เป็นมงคลแก่ตัวผู้จับ”

“ส่วนคณะกรรมการสอบนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะทรงเป็นประธานทุกครั้งไป 
เว้นแต่อาพาธหรือมีกิจพิธีสำคัญอย่างอื่น จึงจะมอบหมายให้พระราชาคณะที่อาวุโส
ทำหน้าที่แทน และกรรมการอื่นฝ่ายคณะสงฆ์ก็มีราว ๒๕ ถึง ๓๐ รูป 
ล้วนแต่เป็นพระราชาคณะที่ชำนาญในพระไตรปิฎก 
แต่ทำหน้าที่สอบเพียง ๓ หรือ ๔ รูป 

นอกนั้นนิมนต์มานั่งเพื่อดูวิธีสอบแล้วจดจำนำไปสั่งสอนอบรมฝึกหัดนักเรียน 
การสอบครั้งหนึ่งๆ กินเวลาราว ๒-๓ เดือน จึงจะเสร็จที่ต้องใช้เวลานานเช่นนี้ 
ก็เพราะนักเรียนต้องสอบด้วยปาก ต่อหน้าคณะกรรมการทีละองค์เรียงกันไปตามลำดับ 
การสอบก็ไม่ขีดขั้นว่าองค์นั้นองค์นี้ จะต้องสอบเพียงเท่านั้นเท่านี้ประโยค 

ถ้านักเรียนองค์ใดมีความรู้ความสามารถ
จะแปลรวดเดียวตั้งแต่ประโยค ๑ ถึงประโยค ๙ เลยก็ได้ 
และได้เคยมีนักเรียนที่สามารถแปลรวดเดียวได้ ๙ ประโยคมาแล้ว 
แต่ถ้าแปลตกประโยคไหน ก็ถือว่าสอบได้แค่ประโยคที่แปลผ่านมาได้แล้ว 
เช่น แปลได้ประโยค ๕ สมัครสอบประโยค ๖ ต่อ แต่แปลประโยค ๖ ตก 
ก็ถือเอาว่าเป็นบาเรียน ๕ ประโยคในคราวนั้น”

“สมัยยังไม่มีนาฬิกาใช้ ก็ใช้เทียนจุดตั้งไว้เป็นกำหนดเวลาสอบ 
เมื่อนักเรียนแปลจบเทียนยังไม่หมดก็ถือว่าสอบได้ 
แต่ถ้าหมดเทียนก่อนยังแปลไม่จบก็ถือว่าสอบตก 
การจุดเทียนใช้นี้ไม่ได้หมายความว่าใช้แต่ละรูปแต่ใช้รวมกัน เช่น 
จะมีสอบ ๓ รูป แต่รูปที่แปลได้แปลจบก่อนเทียนหมด 

อีก ๒ รูปที่ยังไม่ได้เข้าแปลเข้าแปลก็ถือว่าตกด้วยต้องถวายคัมภีร์คืน 
ด้วยถือว่าเป็นธรรมเนียมว่าไปไม่ไหว 
และการสอบนั้นส่วนมากเริ่มแต่บ่าย ๓ โมง เลิกเองประมาณ ๑ ทุ่ม หรือ ๒ ทุ่ม 
แต่วันโกน วันพระหยุด เพื่อให้ภิกษุสามเณรทำกิจพระพุทธศาสนา”

“ต่อมาถึงสมัยมีนาฬิกาใช้แล้ว จึงเอานาฬิกาเป็นเครื่องจับเวลาสอบ 
คือ ๓ ประโยค ใช้เวลาสอบ ๑ ชั่วโมง สูงกว่า ๓ ประโยค ใช้เวลาสอบ ๑ ชั่วโมงครึ่ง”

 

พระกรณียกิจพิเศษ

พระกรณียกิจพิเศษ

 

พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ 
ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ 
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม 
เป็นพระอาจารย์ถวายสรณะและศีล 
เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุ
เป็นเวลา ๑ พรรษา จึงทรงลาผนวช ๑๔ วัน


พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) 
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๓ ปี กับ ๑ เดือน 
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ระยะเวลาสั้นๆ ดังกล่าวนี้ 
ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ขึ้นหลายอย่าง 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์อันเป็นการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่คณะสงฆ์ 
ซึ่งทุกเหตุการณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นได้ทรงมีส่วนอย่างสำคัญ
ในการจัดการให้เรื่องนั้นๆ สำเร็จลุล่วง หรือผ่านพ้นไปด้วยดี 

สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ 
ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๒ 
ในรัชกาลที่ ๒ มีพระชนม์มายุได้ ๗๐ พรรษา

ถึงเดือน ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
โปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง 
แล้วชักพระศพสมเด็จพระสังฆราช (มี) เข้าสู่เมรุ มีวารสมโภช ๓ วัน ๓ คืน 
พระราชทานเพลิงเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ 
ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๒ 

:b8: :b8: :b8: 

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) 
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑. 
http://www.dharma-gateway.com/ 
http://www.mbu.ac.th/ 
http://mahamakuta.inet.co.th/

 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

Top