ประวัติ 01.สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) - วัดระฆังโฆสิตาราม แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร - webpra

01.สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

ประวัติ วัดระฆังโฆสิตาราม แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร

 

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

 

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
พุทธศักราช ๒๓๒๕-๒๓๓๗

 

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

 

พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
มีพระนามเดิมว่า “ศรี” (บางตำราเขียนว่า “สี”) 
พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด 
ทราบแต่เพียงว่า เดิมเป็นเพียง พระอาจารย์ศรี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
อยู่ที่วัดพนัญเชิง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ 
พระสงฆ์ถูกฆ่า วัดวาอาราม พระไตรปิฎก ถูกเผาทำลายวอดวายจนสิ้นเชิง 
พระภิกษุสามเณรต่างก็พากันหลบภัยไปอยู่ตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด 
พระอาจารย์ศรีก็ได้หลบภัยสงครามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง
ในเมืองนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด 

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพ
ไปปราบก๊กเจ้านครซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราช 
จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ศรี ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ 
(ปัจจุบันคือ วัดระฆังโฆสิตาราม) เนื่องด้วยทรงคุ้นเคยและรู้จักเกียรติคุณ
ของพระอาจารย์ศรี มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา 
ในขณะนั้น พระอาจารย์ดี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ก่อน
แต่ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า 
พระอาจารย์ดีเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของผู้อื่นให้แก่พม่าเมื่อเวลาถูกขังอยู่ 
จึงโปรดให้ถอดออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช 
แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอาจารย์ศรี
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แทน ในพ.ศ. ๒๓๑๒ นั้นเอง 
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี 


ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช 

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๔ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ
พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) 
และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์) 
เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล 
เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง 
เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า

“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ 
อันพระสงฆ์ ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง 
เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ 
ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร” 


ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 
พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงมาเป็นพระอนุจร (พระธรรมดา) 
แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช 
และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต 
เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
และพระราชาคณะทั้งสองรูปดังกล่าว เป็นพระเถระที่เคร่งครัดมั่นคงในพระธรรมวินัย 
แม้จะต้องเผชิญกับราชภัยอันใหญ่หลวงก็มิได้หวั่นไหว 
นับเป็นพระเกียรติคุณที่สำคัญประการหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑

 

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่ ๒

ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ 
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งดังเดิม 
ให้แก่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้ 

“ทรงพระราชดำริว่า ฝ่ายข้างอาณาจักรได้แต่งตั้งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว 
ควรจะจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา 
ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้นให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป 
จึงดำรัสให้สึกพระวันรัต (ทองอยู่) กับพระรัตนมุนี (แก้ว) ออกเป็นฆราวาส 
ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน.....ดำรัสให้ 
สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม 
ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะ เพราะไม่ยอมถวายบังคมนั้น 
โปรดให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิม 

และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 
ดำรัสสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง
ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต 
ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีไปภายหน้า 
จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามว่าอย่างไรแล้ว 
พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม 
ซึ่งจะเชื่อถือฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ 
ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นใจเสียครั้งนี้แล้ว” 


ความในพระราชดำรัสดังปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้ 
ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นที่ทรงเคารพนับถือ
ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นอันมาก 

ทั้งเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการที่จะฟื้นฟูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ทรงพระราชดำริ
ในอันที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ 
เพื่อเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักร ยั่งยืนสืบไปชั่วกาลนาน 
และโดยที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือและเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวแล้ว 

จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) คงจักทรงเป็นกำลังสำคัญ
ในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างมาก 
ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร 
การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ 

ตลอดถึงในด้านความประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรของพุทธศาสนิกชนทั่วไป 
ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น 
ได้ทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการพระศาสนาด้านต่างๆ 
ไปยังสมเด็จพระสังฆราชมากกว่า ๕๐ เรื่อง 
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ 
ก็ได้ถวายพระพรแก้พระราชปุจฉา เป็นที่ต้องตามพระราชประสงค์ทุกประการ 

สิ่งแสดงถึงพระราชศรัทธาเคารพนับถือใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงมีต่อ 
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อีกประการหนึ่งก็คือ 
เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้โปรดเกล้าฯ 
ให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกเป็นกุฎีถวาย ณ วัดบางว้าใหญ่ 
แต่น่าเสียดายที่ตำหนักทองนี้ถูกไฟไหม้เสียเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓

 

ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ

ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ

 

พระกรณียกิจสำคัญ : การสังคายนาพระไตรปิฎก

เป็นที่ประจักษ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว
พระราชกรณียกิจประการแรกที่ทรงกระทำก็คือ 
การจัดสังฆมณฑลและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
ที่เสื่อมทรุดมาแต่การจลาจลวุ่นวายของบ้านเมือง
แต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จนถึงครั้งกรุงธนบุรี 

ในด้านสังฆมณฑลนั้นก็ทรงกำจัดอลัชชีภิกษุ และทรงตรากฎพระสงฆ์ขึ้น
เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรประพฤตินอกพระธรรมวินัย 
และมีความประพฤติกวดขันในพระธรรมวินัยยิ่งขึ้น 

ในด้านทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ก็โปรดเกล้าฯ 
ให้รวบรวมพระไตรปิฎกบรรดาฉบับที่มีทั้งที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ 
ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานสร้างไว้ให้ครบถ้วน 
ประดิษฐานไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม 
พร้อมทั้งโปรดให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก
ถวายพระสงฆ์สำหรับเล่าเรียนไว้ทุกๆ พระอารามหลวง 
สิ้นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปเป็นอันมาก 

ต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า พระไตรปิฎกที่โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นเมื่อต้นรัชกาลนั้น ยังบกพร่องตกหล่นอยู่เป็นอันมาก 
ทั้งพยัญชนะและเนื้อความ อันเนื่องมาจากความวิปลาสตกหล่นของต้นฉบับเดิม 
จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์ประชุมสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้น 

เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นในปีที่ ๖ 
แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
นับเป็น การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๓๓๑) 
(ครั้งแรกทำที่นครเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา) 
และ นับเป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ 
(ครั้งที่ ๒ ทำในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐) 

ทั้งนี้ได้มีการอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ 
สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับ
ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน 
ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) 
แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้

สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก 
พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก 
พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส 
พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก

 


 

การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา ๕ เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ 
แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง 
ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก 
ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น 
ได้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด 
ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมากล่าวในที่นี้ 
ตามความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

“ในปีวอก สัมฤทธิศก นั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว 
ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรม อันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา 
ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก 
ให้เป็นค่าจ้างลานจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใดๆ 
ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้ 
ณ หอพระมนเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียน 
ทุกๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา

จึงจมื่นไวยวรนารถกราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้
อักขระบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา 
หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้ 

ครั้นได้ทรงสดับจึงทรงพระปรารภว่าพระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้
เมื่อและผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนากระไรได้ 
อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนัก 
ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้วเห็นว่าพระปริยัติศาสนา 
และปฏิบัติศาสนาและปฏิเสธศาสนาจะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนัก 
สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบ่มิได้ในอนาคตภายหน้า 
ควรจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการ 
เป็นประโยชน์แก่เทพดามนุษย์ทั้งปวงจึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี

ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ 
มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นประธาน
ในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท 
ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญ ๑๐๐ รูป
มารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสังฆภัตกิจแล้ว 
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว 

จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า 
พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด

จึงสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันถวายพระพรว่า 
พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมาช้านานแล้ว 
หากษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุบำรุงให้เป็นศาสนูปถัมภกมิได้ 
แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุบำรุงอยู่ แต่เห็นจะไม่สำเร็จ 
และกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงทศอรหาทิคุณอันประเสริฐ 
เมื่อพระองค์บรรทมเหนือพระปรินิพพานมัญจพุทธอาสน์ เป็นอนุฏฐานะไสยาสน์ 
ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยานของพระเจ้ามลราช ใกล้กรุงกุสินารานคร 
มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า 

ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ 
อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว 
พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นจะเป็นครูสั่งสอนท่าน
และสรรพสัตว์ทั้งปวงต่างองค์พระตถาคตสืบไป 
พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้อาศัยพระปริยัติธรรมฉะนี้แล้ว 
ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพานถวายพระเพลิงแล้วได้ ๗ วัน 
พระมหากัสสปเถรเจ้าระลึกถึงคำพระสุภัททภิกษุ 
ว่ากล่าวติเตียนพระบรมศาสดาเป็นมูลเหตุ 
จึงดำริการจะทำสังคายนา เลือกสรรพระภิกษุทั้งหลาย 
ล้วนพระอรหันต์ทรงพระจตุปฏิสัมภิทาญาณ 
กับพระอานนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่ง 
ซึ่งได้พระอรหัตในราตรีรุ่งขึ้นวันจะสังคายนา พอครบ ๕๐๐ พระองค์ 
มีพระเจ้าอชาตศัตรูราชเป็นศาสนูปถัมภก 
ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในพระมณฑปแถบถ้ำสัตตบรรณคูหา 
ณ เขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร ๗ เดือน 
จึงสำเร็จการปฐมสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชี 
สำแดงวัตถุ ๑๐ ประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ 
และพระมหาเถรขีณาสพ ๘ พระองค์ มีพระยศเถรเป็นต้น
พระเรวัตตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์๑๐ ประการ
ให้ระงับยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์
แล้วเลือกสรรพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๗๐๐ พระองค์ 
มีพระสัพพกามีเถรเจ้าเป็นประธาน 
ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาลุการามมหาวิหารใกล้กรุงเวสาลี 
พระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๘ เดือนจึงสำเร็จการทุติยสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา
จึงพระโมคคลีบุตรดิศเถรยังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย 
แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสีย ๖๐,๐๐๐ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ 
แล้วพระโมคคลีบุตรดิศเถรจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๑,๐๐๐ 
พระองค์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในอโสการามวิหาร ใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานคร 
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๙ เดือน จึงสำเร็จตติยสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปีจึงพระมหินเถรเจ้าออกไปลังกาทวีป 
บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม คือหยั่งรากพระพุทธศาสนาลงในลังกาแล้ว 
พระขีณาสพทั้ง ๓๘ พระองค์มีพระมหินทรเถรและพระอริฏฐเถรเป็นประธาน 
กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรม ๑,๑๐๐ รูปทำสังคายนาพระไตรปิฎก 
ในมณฑปถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี 
พระเจ้าเทวานัมปิยดิศเป็นศาสนูปถัมภก ๑๐ เดือน จึงสำเร็จการจตุตถสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี 
ครั้งนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีปพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลง 
เพราะพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกให้ขึ้นปากเจนใจนั้นเบาบางลงกว่าแต่ก่อน 
จึงเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ 
และพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมมากกว่า ๑,๐๐๐ ประชุมกัน
ในมหาวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี 
พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก ทำมณฑปถวายให้ทำการสังคายนา 
คือจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษา 
ปี ๑ จึงสำเร็จการปัญจมสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๙๕๖ ปี 
จึงพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป 
แปลพระไตรปิฎกอันเป็นสิงหฬภาษาออกเป็นมคธภาษา
แล้วจารึกลงในใบลานใหม่ในโลหปราสาทเมืองอนุราธบุรี 
พระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภก 
ปี ๑ จึงสำเร็จ นับเนื่องเข้าในฉัฐมสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑,๕๘๗ ปี
ครั้งนั้นพระเจ้าปรากรมพาหุราชได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป 
ย้ายพระนครจากอนุราธบุรีมาตั้งอยู่เมืองปุรัตถิมหานคร 
จึงพระกัสสปเถรเจ้า กับพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงธรรมวินัย 
ประชุมกันชำระพระไตรปิฎกชึ่งเป็นสิงหฬภาษาบ้าง มคธบ้าง ปะปนกันอยู่ 
ให้แปลงแปลออกเป็นมคธภาษาทั้งสิ้น แล้วจารึกลงลานใหม่ 
พระเจ้าปรากรมพาหุราชเป็นศาสนูปถัมภก 
ปี ๑ จึงสำเร็จบริบูรณ์ นับเนื่องเข้าในสัตตมสังคายนา

เบื้องหน้าแต่นั้นมา จึงพระเจ้าธรรมานุรุธผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองอริมัตถบุรี 
คือเมืองภุกาม ออกไปจำลองพระไตรปิฎกในลังกาทวีปเชิญลงสำเภามายังชมพูทวีปนี้ 
แต่นั้นมาพระปริยัติธรรมจึงแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศทั้งปวง
บรรดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นับถือพระรัตนตรัยนั้น ได้จำลองต่อๆ กันไป 
เปลี่ยนแปลงอักษรตามประเทศภาษาของตนๆ ก็ผิดเพี้ยนวิปลาสไปบ้าง
ทุกๆ พระคัมภีร์ที่มากบ้าง ที่น้อยบ้าง

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๐๒๐ ปี
จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพีสีนคร คือเมืองเชียงใหม่ 
พิจารณาเห็นว่าพระไตรปิฎกพิรุธมากทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกา
จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราช
ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ว่า 

จะชำระพระปริยัติธรรมให้บริบูรณ์ 
พระเจ้าสิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชจึงให้กระทำ
พระมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร 
พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกมากกว่า ๑๐๐ 
ประชุมพร้อมกับในพระมณฑปนั้น 
กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ 
พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชเป็นศาสนูปถัมภก
ปี ๑ จึงสำเร็จนับเนื่องเข้าในอัฏฐมสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง

เบื้องหน้าแต่นั้นมา พระเถรานุเถรในชมพูทวีปได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก
และสร้างสืบต่อกันมา และท้าวพระยาเศรษฐีคฤหบดีมีศรัทธาสร้างไว้ในประเทศต่างๆ 
คือเมืองไทย เมืองลาว เมืองเขมร เมืองพม่า เมืองมอญ 
เป็นอักษรส่ำสมผิดเพี้ยนกันอยู่เป็นอันมาก 
หาท้าวพระยาและสมณะผู้ใดที่จะศรัทธา
สามารถอาจชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๓๐๐ ปีเศษแล้ว 
บรรดาเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง 
ก็เกิดการยุทธสงครามแก่กันถึงพินาศฉิบหายด้วยภัยแห่งปัจจามิตร 
มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกก็สาบสูญสิ้นไป 
จนถึงกรุงศรีอยุธยาเก่าก็ถึงแก่กาลพินาศแตกทำลายด้วยภัยพม่าข้าศึก 
พระไตรปิฎกและพระเจดียสถานทั้งปวงก็เป็นอันตรายสาบสูญไป 
สมณะผู้รักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้นก็พลัดพรากล้มตายเป็นอันมาก
หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันข้าศึกศัตรูมิได้ 
เหตุฉะนี้พระไตรปิฎกจึงมิได้บริบูรณ์ เสื่อมสูญร่วงโรยมาจนเท่ากาลทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ 
เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดาร 

ดังนั้น จึงดำรัสว่า ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง 
จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ 
ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น 
เป็นพนักงานโยมๆ จะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย
สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้

พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุ แล้วถวายพระพรว่า 
อาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อยนัก ไม่เหมือนท่านแต่ก่อน 
แต่จะอุตส่าห์ชำระพระปริยัติธรรม สนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา 
และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งนี้ 
ก็นับได้ชื่อว่า นวมสังคายนา คำรบ ๙ ครั้ง 
จะยังพระปริยัติศาสนาให้ถาวรวัฒนายืนยาวไปในอนาคตสมัย สิ้นกาลช้านาน 

แล้วถวายพระพรลาออกมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่ 
จึงสมเด็จพระสังฆราชให้เลือกสรร พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญอันดับ 
ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกในเวลานั้น จัดได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป
กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ที่จะทำการชำระพระไตรปิฎก

จึงมีพระราชดำรัสให้จัดการที่จะทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม 
เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้ง ๒ 
และครั้งนั้นจึงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพ็ชญดาราม

แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ แจกจ่ายเกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์
และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง พระราชวังบวรฯ พระราชวังหลัง 
ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎกทั้งเช้าทั้งเพล 
เวลาละ ๔๓๖ สำหรับทั้งคาวหวาน 
พระราชทานเป็นเงินตรา ค่าขาทนียโภชนียาหารสำรับคู่ละบาท

ครั้น ณ วันกัตติกปุรณมี เพ็ญเดือน ๑๒ ในป็วอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐ 
พระพุทธศักราช ๒๓๓๑ พรรษา เป็นพุธวาร ศุกรปักษ์ดฤถี เวลาบ่าย ๓ โมง 
มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน
ในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพ็ชญดารามแล้ว 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรฯ 
ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยยศ บริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูง 
และปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม 
เสด็จ ณ พระอุโบสถทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์
แล้วอาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ามกลางสงฆสมาคม 
ขออานุภาพเทพยดาเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนา 
แล้วให้แบ่งพระสงฆ์เป็น ๔ กอง

สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก กอง ๑
พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก กอง ๑
พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส กอง ๑

และครั้งนั้นพระธรรมไตรโลกเป็นโทษอยู่ มิได้เข้าในสังคายนา 
พระธรรมไตรโลกจึงมาอ้อนวอนสมเด็จพระสังฆราช 
ขอเข้าช่วยชำระพระไตรปิฎกด้วย ก็ได้เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก กอง ๑

และพระสงฆ์ทั้ง ๔ กองนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้นิมนต์แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกอง ๑ อยู่ ณ พระวิหารกอง ๑ 
อยู่ ณ พระมณฑปกอง ๑ อยู่ ณ การเปรียญกอง ๑ 
ทรงถวายปากไก่หมึกหรดาลครบทุกองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช 
เสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ พระอารามทุกๆ วัน วันละ ๒ เวลา 
เวลาเช้าทรงประเคนสำรับประณีตขาทนียโภชนียาหารแก่พระสงฆ์
ให้ฉัน ณ พระระเบียงโดยรอบ 

เวลาเย็นทรงถวายอัฏฐบานธูปเทียนเป็นนิตย์ทุกวัน 
และพระสงฆ์ทั้งราชบัณฑิตประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ 
สอบสวนพระบาลีกับอรรถกถาที่ผิดเพี้ยนวิปลาส 
ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ทุกๆ พระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น 
และที่ใดสงสัยเคลือบแคลงก็ปรึกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ 
ซึ่งเป็นมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดและชอบ

การชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่ ณ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก 
มาจนถึงวันเพ็ญเดือน ๕ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ 
พอครบ ๕ เดือนก็สำเร็จการสังคายนา 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายพระราชทรัพย์ 
เป็นมูลค่าจ้างให้ช่างจานคฤหัสถ์และพระสงฆ์สามเณร จารึกพระไตรปิฎก 
ซึ่งชำระบริสุทธิ์แล้วนั้นลงลานใหญ่สำเร็จแล้วให้ปิดทองทึบ
ทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง 
ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ 
มีสลากงาแกะเป็นลวดลายเขียนอักษรด้วยน้ำหมึก 
และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกๆ พระคัมภีร์

อนึ่งเมื่อสำเร็จการสังคายนานั้น 
ทรงถวายไตรจีวรบริขารภัณฑ์แก่พระสงฆ์ทั้ง ๒๑๘ รูป 
มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน 
ล้วนประณีตทุกสิ่งเป็นมหามหกรรมฉลองพระไตรปิฎก 
และพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่พระยาธรรมปโรหิต 
พระยาพจนาพิมล และราชบัณฑิตทั้ง ๓๒ คนนั้นด้วย 

แล้วทรงสุวรรณภิงคารหล่อหลั่งทักษิโณทกธารา
อุทิศแผ่ผลพระราชกุศลศาสนูปถัมภกกิจ 
ไปถึงเทพยดามนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตโลกธาตุ 
เป็นปัตตานุปทานบุญกริยาวัตถุอันยิ่งเพื่อประโยชน์แก่พระบรมโพธิสัพพัญญุตญาณ

ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว 
ซึ่งให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศ 
พระราชยานต่างๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก 
มีเครื่องเล่นเป็นอเนกนานานุประการ เป็นมหรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง 
แล้วเชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก 
ตั้งไว้ในหอพระมนเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระราชวัง 
แล้วให้มีงานมหรสพสมโภชพระไตรปิฎก 
ณ หอพระมนเทียรธรรม ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย”

 

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)


จากเรื่องราวของการสังคายนาครั้งนี้กล่าวได้ว่า 
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ 
นับแต่ทรงเป็นประธานสงฆ์ ถวายคำแนะนำแด่ 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญ 
ของการธำรงรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ 

เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิริยะอุตสาหะ จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น 
และในการทำสังคายนา สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ก็ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ 
โดยทรงเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก 
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การทำสังคายนาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สมพระราชประสงค์ทุกประการ 
โดยการอำนวยการของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) โดยแท้ 
นับเป็นพระเกียรติประวัติอีกประการหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นี้เอง 
ที่ได้เป็นแม่ฉบับสำหรับตรวจสอบในการจัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ 
เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๓๙ เล่ม ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 

ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเพิ่มเติมจนครบบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ 
เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๔๕ เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ 
ดังที่ใช้เป็นแบบอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน

 

พระกรณียกิจพิเศษ

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 
เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น 
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ 
และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ อีก ๒ พระองค์ 

คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ 
และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ 
ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 
ครั้นทรงผนวชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร 
เสด็จไปประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) 
เพื่อทรงศึกษาสมณกิจในสำนัก พระปัญญาวิสาลเถร (นาค) 
ตลอด ๑ พรรษา แล้วจึงทรงลาผนวช

 

พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเวลา ๑๒ ปี 
และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ 
ก็สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ พุทธศักราช ๒๓๓๗ 
ในรัชกาลที่ ๑ รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๒ ปี เช่นกัน 
ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด 
ในกฎพระสงฆ์กล่าวถึงพระองค์ว่า “สมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่า” 
จึงน่าจะมีพระชนมายุสูงไม่น้อยกว่า ๘๐ พรรษา

 

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
วัดระฆังโฆสิตาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑. 
http://www.dharma-gateway.com/ 
http://www.mbu.ac.th/ 
http://mahamakuta.inet.co.th/
http://www.watrakang.com/

วัดระฆังโฆสิตาราม ทัศนียภาพเมื่อมองจากกลางลำน้ำเจ้าพระยา
Top