15.สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
ประวัติวัด วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ )
รวบรวมและเรียบเรียง
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณ เดิมเรียกชื่อว่าวัดสะแก มามีตำนานเนื่องในพระราชพงศาวดาร เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พุทธศักราช ๒๓๒๕ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
เขตด้านตะวันออก จดคลองซึ่งแยกจากคลองมหานาค ตอนเหนือสะพานโค้ง ผ่านไปทางวัดจักรวรรดิ ราชาวาส ปัจจุบันคลองนี้ถูกถมไปแล้ว
เขตวัดดานตะวันตก จดคลองโอ่งอ่าง
เขตวัดด้านเหนือ จดคลองมหานาค
เขตวัดด้านใต้ มีคูวัดซึ่งขุดจากคลองโอ่งอ่าง เลียบเสนาสนะสงฆ์ไปจดกับคลลองด้านตะวันออก ปัจจุบันคูนี้ถูกถมไปแล้ว
พระราชทานนามใหม่
วัดสระเกศเป็นวัดโบราณดังกล่าวข้างต้น มีข้อความปรากฏตามตำนานว่า เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยโบราณ สันนิษฐานว่าจะได้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อว่า “วัดสระแก” เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นวัดสระเกศเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ ตอนที่ได้สร้างกรุงเทพพระมหานครครั้งแรก มีปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ เบญจศก ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๖ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้ลงมือก่อสร้างพระนครรวมทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล ได้รวมผู้คนให้ขุดคลองรอบเมืองตั้งแต่บางลำพูเรื่อยไปจนจดแม่น้ำด้านใต้ตอน เหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส แล้วโปรดให้ขุดคลองหลอด และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระแกอีกคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่าคลองมหานาค เพื่อเป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนคร ได้ลงประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา และวัดสะแกนั้นเมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ”และทรงปฏิสังขรณ์วัดสระเกศทั้งพระอาราม ตั้งต้นแต่พระอุโบสถตลอดถึงเสนาสนะสงฆ์ แลขุดคลองรอบวัดด้วย
คำ ว่า “สระเกศ” นี้ ตามรูปคำก็แปลว่าชำระ หรือ ทำความสะอาดพระเกศานั่นเอง มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสระแกเป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึง คือพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ข้อ ๑๑๖ ว่า “รับสั่งพระโองการตรัสวัดสะแกให้เรียกว่าสระเกศ แล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จพระนคร” ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์ เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร มีคำเล่าๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวาร สรงพระมรุธาภิเษกตามประเพณี กลับจากทางไกลที่วัดสะแกจึงเปลี่ยนนามว่า “วัดสระเกศ”
และ ยังมีลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัด ติวงศ์ ในสาสน์สมเด็จ ฉบับลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕ เรื่องเกี่ยว กับวัดสระเกศที่น่ารู้อย่างหนึ่งว่า “ชื่อ” วัดสระเกศ ดูถือว่า เป็นชื่อสำคัญทางมณฑลอีสาน มีเกือบทุกเมือง แต่เขาเรียกว่า “วัดศรีสระเกศ” วัดสระเกศในกรุงเทพฯนี้ เดิมชื่อว่า “วัดสะแก” มีเรื่องตำนานว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จกลับจากเมืองเขมรเข้ามาเสวยราชย์ ประทับทำพิธีพระกระยาสนานที่วัดสระเกศแล้วจึงเดินกระบวนแห่เสด็จมายัง พลับพลาหน้าวัดโพธาราม(ปัจจุบันคือวัดพระเชตุพน) อันเป็นท่าเรือข้ามไปยังพระราชวังธนบุรี เมื่อทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้เปลี่ยนนามวัดสระเกศ พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น)เคยบอกหม่อมฉันว่าพระในวัดสระเกศบอกเล่าสืบกันมาว่า สระที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สรงน้ำนั้นโปรดฯให้ถมเสียแล้วสร้างการเปรียญขึ้นตรงนั้น อยู่ทางข้างตะวันออกของกุฏิหมู่ใหญ่อันเป็นที่อยู่ของพระราชาคณะบัดนี้”
ใน ตำนานของวัดสระเกศนี้ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๕ เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเกิดจลาจนขึ้น ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช เสด็จยกกองทัพไปทำสงครามที่กรุงกัมพูขาทั้งสองพระองค์เมื่อได้ทรงทราบว่า เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จึงเสด็จยกกองทัพกลับมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเข้าโขลนทวารประทับสรงมุรธาภิเษกที่วัดสะแก เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๕ ประทับอยู่เป็นเวลา ๓ วัน แล้วเสด็จจากพลับพลาวัดสะแก โดยกระบวนทางสถลมารคไปประทับ ณ หน้าวัดโพธาราม (ปัจจุบันคือวัดรพะเชตุพน)เสด็จลงเรือพระที่นั่งข้ามไปยังพระราชวังธนบุรี ทรงระงับดับยุคเข็ญในพระนครเรียบร้อยแล้วเหล่าเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งปวง เชิญเสด็จขึ้นผ่านพิภพปราบดาภิเษกประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ดำรงรัฐสีมา เป็นใหญ่ในสยามประเทศสืบมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาทรงย้ายพระนคร มาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ข้างฝั่งตะวันออก เมื่อสร้างพระราชวังในพระนครใหม่ จึงโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตน ปฏิมากรแก้วมรกต อันเป็นสิริมิ่งขวัญสำหรับพระนคร และเมื่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ทรงพระราชดำริว่า ระฆังที่วัดสะแกเสียงไพเราะไม่มีระฆังอื่นจะเสมอ สมควรเอามาไว้ในวัดสำคัญสำหรับพระนคร จึงโปรดให้เอาระฆังที่วัดสะแกมาแขวนไว้ที่หอระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับตีย่ำเช้าเย็นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้”
วัด สระเกศได้เป็นวัดสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกี่ยวกับพระบรมราชจักรีวงศ์มาแต่ต้น จึงเป็นอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุและ เสนาสนะสงฆ์สืบมาโดยลำดับ
เขตพุทธาวาส สังฆาวาส
วัด นี้อาจแบ่งเป็น ๒ เขต คือ ทางด้านเหนือของวัดเป็นที่ตั้งบรมบรรพต พระวิหารพระอัฏฐารส และบริเวณพระอุโบสถจัดเป็นพุทธาวาส ส่วนทางด้านใต้ของเขตพุทธาวาส มีถนนคั่นเป็นเสนาสนะสงฆ์ที่อยู่ของพระภิกษุสามเณร จัดเป็นสังฆาวาส จะเห็นได้ว่าวัดสระเกศมีเขตที่แบ่งไว้อย่างเหมาะสม และสวยงาม
ลำดับเจ้าอาวาส
พระราชาคณะที่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศมาแต่ก่อนนั้นที่มีจดหมายเหตุแลพอที่จะสืบทราบความได้มีลำดับดังนี้คือ
สมเด็จพระวันรัต (อาจ)
เป็น พระราชาคณะมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แต่จะเป็นตำแหน่งใดก่อนไม่ทราบปรากฏในบัญชีพระสงฆ์นั่งหัตถบาศ เมื่อกรมพระราชวังหลังทรงผนวช เมื่อ ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๖๔ พุทธศักราช ๒๓๔๕ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระพรหมมุนีอยู่แล้วถึงรัชกาลที่ได้เลื่อน เป็นพระพิมลธรรมแล้วได้เป็น สมเด็จพระวันรัตเมื่อปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๒๗๘ พุทธศักราช ๒๓๕๙ คราวเดียวกับเมื่อทรงตั้ง สมเด็จพระวันรัต (มี) วัดราชบูรณะ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาไม่ช้า เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ ในปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พุทธศักราช ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริ จะทรงตั้งสมเด็จพระวันรัต (อาจ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชโปรดให้แห่ไปอยู่วัด มหาธาตุแล้ว แต่เกิดอธิกรณ์ ต้องออกจากที่พระราชาคณะไปอยู่ที่วัดแหลม ( ปัจจุบันคือวัดเบญจมบพิตร)
สมเด็จพระวันรัต (ด่อน)
เห็น จะเป็นพระราชาคณะมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ เหมือนกันแต่จะเป็นที่ใดก่อนไม่ทราบปรากฏนามเป็นที่พระเทพโมฬี อยู่วัดหงส์ เมื่อในรัชกาลที ๒ ได้เลื่อนเป็นพระพรหมมุนี แล้วเลื่อนเป็นพระพิมลธรรมเมื่อปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ พุทธศักราช ๒๓๕๙ แต่อยู่วัดหงส์ ครั้นสมเด็จพระวันรัต (อาจ) ไปอยู่วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้ พระพิมลธรรม (ด่อน) ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ แล้วเลื่อนที่เป็นสมเด็จพระวันรัต เมื่อปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พุทธศักราช ๒๓๖๒ ครั้นเมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ศุขญาณสังวร) ซึ่งได้เป็นสมเด็จพระ สังฆราชต่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ เมื่อปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ พุทธศักราช ๒๓๖๕ พระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้แห่สมเด็จพระวันรัต (ด่อน) ไปอยู่วัดมหาธาตุแล้วทรงตั้ง เป็นสมเด็จพระสังฆราช อยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๓
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์)
อยู่ วัดสระเกศ มาแต่เดิม ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณวิริยะ เมื่อรัชกาลที่ ๒ จนถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่ พระพรหมมุนี แล้วเลื่อนขึ้นเป็น พระพุฒาจารย์ เมื่อปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๒๐๕ พุทธศักราช ๒๓๘๖ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เลื่อนยศเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อปีกุญ ตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ พุทธศักราช ๒๓๙๔ อยู่มาจนปลายรัชกาลที่ ๔ ในเวลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์) เป็นเจ้าอาวาสนั้น มีพระราชา คณะอีกองค์หนึ่ง คือ พระประสิทธิสุตคุณ (น้อย) เป็นเปรียญเอกอยู่วัดสระเกศมาแต่เดิมลาสิกขาเมื่อรัชกาลที่ ๔ ไปทำราชการในกรมพระอาลักษณ์ ได้เลื่อนยศโดยลำดับจนเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้เป็น อาจารย์ของเจ้านายแลข้าราชการเป็นอันมาก
พระบวรวิชา ( เขียน)
เป็น พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระในวัดสระเกศมาแต่รัชกาลที่ ๓ ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์) ครองพระอาราม กับ พระธรรมทานาจารย์ (พึ่ง) เดิมเป็นพระครูปลัดของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์) ถึงแก่มรณภาพในรัชกาลที่ ๔ ทั้ง ๒ องค์
ในรัชกาลที่ ๕ ไม่มีพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นเจ้าอาวาสครองวัดสระเกศ โดยปรกติมักจะมี
พระราชาคณะ ๒ องค์ ฝ่ายคันถธุระองค์หนึ่ง เป็นที่พระธรรมทานาจารย์ ฝ่ายวิปัสนาธุระองค์หนึ่ง
เป็นที่พระวินยานุกูลเถระ ใน ๒ องค์นี้ ถ้าองค์ไหนพรรษามากกว่า ได้ครองกฐิน มีลำดับมาดังนี้
พระวินยานุกูลเถระ (ศรี)
เดิม เป็นปลัดของพระบวรวิชา (เขียน) ครองพระอารามพร้อมกับ พระธรรมทานาจารย์ (ภู่) เดิมเป็นปลัดของพระธรรมทานาจารย์ (พึ่ง) ได้เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระภาวนาโกศล ก่อนแล้ว จึงเลื่อนเป็นพระธรรมทานาจารย์
พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น)
เดิมเป็นปลัดของพระธรรมทานาจารย์ (ภู่) ครองพระอารามพร้อมกับ พระวินยานุกูลเถระ (ยา) เดิมเป็นปลัดของพระวินยานุกูลเถระ (ศรี)
พระวินยานุกูลเถระ (เม่น)
เดิม เป็นอาจารย์อยู่ในวัดสระเกศ เป็นพระราชาคณะ เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ย้ายไปอยู่วัด สังเววิศยาราม ครองพระอารามพร้อมกับพระธรรมทานาจารย์ (หรุ่น) เดิมเป็นสมุห์ของพระธรรมทานาจารย์ (จุ่น) แล้วได้เลื่อนเป็นพระครูวิหารกิจจานุการ ในตอนนี้พระปิฎกโกศล (อยู่ เปรียญเอก) เป็นพระราชาคณะในวัดสระเกศอีกองค์หนึ่ง
พระเทพเวที (น่วม)
เดิม เป็นเปรียญอยู่วัดบพิตรภิมุข ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระนิกรมุนี แล้วเลื่อนเป็น พระราชโมลี แล้วเป็นพระเทพเวที มาเป็นเจ้าอาวาสครองวัดสระเกศในรัชกาลที่ ๖ เมื่อปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๗๕ พุทธศักราช ๒๔๕๖ แล้วเลื่อนเป็น พระธรรมปิฎก ครองวัดต่อมาจนถึงมรณภาพเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๗
พระเทพเวที (อยู่ เปรียญเอก ๙ ประโยค)
ใน รัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระปิฎกโกศล ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็น พระราชเวที แล้วเป็น พระเทพเวที ได้เป็นเจ้าอาวาสครองวัดสระเกศ เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๗
พระธรรมเจดีย์ (เทียบ) ครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๕๐๙ - ๒๕๑๓
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว ) ครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๕๑๓ - ปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watsraket.com
สำหรับท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าลิ้งเว็บไซต์ทางวัดจากข้อมูลอ้างอิง