ประวัติ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) - วัดระฆัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร - webpra

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)

ประวัติ วัดระฆัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร

หม่อมราชวงศ์ เจริญ อิศรางกูร

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (หม่อมราชวงศ์ เจริญ อิศรางกูร)

วัดระฆังโฆษิตาราม นามฉายาว่า ญาณฉนฺโท เป็นบุตรหม่อมเจ้าถึก พระโอรสในสมเด็จพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เกิดที่บ้านบางอ้อ จังหวัดนครนายก เมื่อวันจันทร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง พ.ศ.2400 แล้วย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพกับบิดาแต่วัยเยาว์ เล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักบิดา แล้วเริ่มเรียนภาษาบาลีในสำนักอาจารย์จีน พออายุได้ 7 ขวบ บิดาพาไปถวายเป็นศิษย์หม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัต) เมื่อครั้งแต่ท่านยังเป็นเปรียญอยู่วัดระฆังฯ ได้เล่าเรียนพระประยัติธรรมในสำนัดหม่อมเจ้า พระสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัด) บ้าง พระอมรเมธาจารย์ (เกษ) แต่เมื่อยังเป็นเปรียญบ้าง และในหม่อมเจ้าชุมแสงผู้เป็นลุง และพระโหราธิบดี (ชุม) ทั้ง 4 ท่านนี้เป็นพื้น นอกจากนี้ยังได้เล่าเรียนจากสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) และสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ฯ บ้าง ตลอดจนอาจารย์อื่น ๆ อีกหลายท่าน

ถึงรัชกาลที่ 5 ได้บรรพยาเป็นสามเณร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2413 ในปีนี้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระมหาปราสาท ได้เปรียญ 3 ประโยคแต่ครั้งเมื่อยังเป็นสามเณรอายุได้ 14 ปี โดยการสอบในคราวนี้มีการเข้มงวดกวดขันกว่าที่ผ่านมา เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 ปลายแผ่นดิน มีข้อสงสัยว่ามีพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือแนะนำพระภิกษุและสามเณร ที่ชอบพอ มาครั้งนี้ทรงกำชับให้สอบเอาแต่ผู้ที่มีความรู้จริง พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาแปลในครานี้พากันสอบตกเสียโดยมาก คงได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค เพียง 12 รูป เป็นพระภิกษุ 9 รูป สามเณร 3 รูป รวมทั้งสามเณรเจริญ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) ซึ่งมีอายุน้อยกว่าทุกท่านที่สอบได้ในคราวนี้

ปีชวด พ.ศ.2419 ยังเป็นสามเณรได้เข้าแปลปริยัติธรรมที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นครั้งที่ 2 แปลได้อีก 1 ประโยค รวมเป็น 4 ประโยค ปีฉลุ พ.ศ.2421 อายุครบอุปสมบท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หม่อมเจ้าสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัต) ครั้งเมื่อยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังอุปสมบทแล้วเข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ 3 ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2425 แปลได้อีก 1 ประโยค รวมเป็น 5 ประโยค

ปีกุน พ.ศ.2430 วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามพิเศษว่า พระราชานุพัทธมุนี โปรดให้อาราณนาไปครองวัดโมลีโลกฯ เดิม ได้พระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางอย่างพระราชาคณะสามัญ ต่อมาปีมะโรง พ.ศ.2435 คราวทรงตั้งหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์เป็นที่พระธรรมเจดีย์ไปครองวัดเช ตุพนฯ โปรดให้อาราธนากลับมาครองวัดระฆังฯ พระราชทานตาลปัตรพื้นแพรปักเลื่อมอย่างตาลปัตรหม่อมเจ้า ซึ่งพระพุทธุปบาทปิลันทน์ทรงอยู่ก่อนนั้นให้ถือเป็นเกียรติยศต่อมา ทั้งพระราชทานนิตยภัตเพิ่มขึ้นเสมอพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพด้วย

ปีมะแม พ.ศ.2438 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพเมธี มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 4 รูป ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2445 โปรดให้เลื่อนเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 6 รูป และหลังจากนั้น เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2453 โปรดให้สถาปนาเลื่อนเป็นพระพิมลธรรม มีนิตยภัต เดือนละ 32 บาท มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ 8 รูป

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2464 มีการพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสถาปนาและตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ 15 รูป หนึ่งในนั้นคือ สถาปนาพระพิมลธรรม (หม่อมราชวงศ์ เจริญ อิศรางกูร) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ขึ้นดำรงตำแหน่งพระราชาคณะที่ พระพุทธโฆษาจารย์ มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ 10 รูป

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) ท่านยังมีความสามามารถยอดเยี่ยมในทางเทศน์มหาชาติชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ ท่วงทำนองในการเทศน์ของท่านเป็นที่นิยมยกย่องในยุคนั้นเป็นอย่างมาก สมัยนั้นตามวังเจ้านาย เช่น วังบางขุนพรหมซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเสด็จประทับอยู่ พระองค์ทรงโปรดให้จัดมีพระธรรมเทศนาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ พร้อมทั้งอาราธนาพระสงฆ์ซึ่งเป็นองค์พระธรรมกถึกในการเทศนาเข้าไปแสดงถวาย เป็นประจำทุก ๆ ปี โดยก่อนที่พระสงฆ์รูปที่จะไปแสดงพระธรรมเทศนาถวายจำจะต้องทำการฝึกซ้อมท่วง ทำนองต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ เสมอไป

ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) คือ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามคธ (บาลี) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคำโคลง 4 สุภาพ ในความภาษาไทยท่านมักจะใช้ศัพท์มคธเข้าแทรก ดั่งจะเห็นผลงานอมตะของท่านที่ได้เขียนคำโคลงรามเกียรติ์ซึ่งจารึกไว้ตามเสา ระเบียงพระวิหารคต ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีปรากฏนามของท่านมาจนถึงปัจจุบันนี้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) มรณภาพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 18.35 น. ปีมะโรง พ.ศ.2471 คำนวณอายุได้ 70 ปี พรรษา 50


ที่มา : ทำเนียบสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช และ สมเด็จพระราชาคณะ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, 2521
ข้อมูลประกอบ >>> พระนามพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ข้อมูลประกอบ >>> คำโคลงรามเกียรติ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ) แผ่นที่ 625 - 632

ข้อมูลอ้างอิงจาก : inform.collection9.net

Top