ประวัติ วัดเสมียนนารี (วัดแคราย) - เลขที่ 32 หมู่ 2 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร - webpra

วัดเสมียนนารี (วัดแคราย)

ประวัติ เลขที่ 32 หมู่ 2 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

 

วัดเสมียนนารี (วัดแคราย)

วัดเสมียนนารี (วัดแคราย) ตั้งอยู่เลขที่ 32 หมู่ 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งหมด 18 ไร่ - งาน 90 ตารางวา
     - ทิศเหนือ ติดกับโรงเรียนวัดเสมียนนารี และที่ดินของเอกชน
     - ทิศใต้ ติดกับถนนประชานิเวศน์ เชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนประชาชื่น
     - ทิศตะวันออก ติดกับถนนกำแพงเพชร 6 (โรคอลโรด) และทางรถไฟ สายเหนือ-อิสานถ้าข้ามทางรถไฟไปเป็นถนนวิภาวดีรังสิต
     - ทิศตะวันตก ติดกับคลองเปรมประชากร ข้ามคลองไปจะเป็นชุมชนประชาร่วมใจ

ตามบันทึกของกรมการศาสนา ปรากฏว่า วัดเสมียนนารี เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2400 โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ปี พ.ศ.2420 ท่านผู้ที่ริเริ่มสร้างวัด เป็นสุภาพสตรีในวัง ท่านมีตำแหน่งเป็นเสมียนพระคลังข้างที่ มีนามว่า "ท่านเสมียนขำ" และตำแหน่งนี้ ภายหลังตกทอดมายังธิดาของท่าน คือ คุณท้าวภัณฑสารนุรักษ์(เพิ่มรัตนทัศนีย์) ซึ่งได้ตำแหน่งเป็นเสมียนพระคลังข้างที่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านทั้งสองได้สร้างวัดแครายและทำนุบำรุงวัดมาโดยตลอดตราบเท่าอายุขัยของท่าน ดังนั้นวัดนี้จึงได้ขนานนามว่า "วัดเสมียนนารี" เพื่อเป็นเกียรติประวัติ แก่ท่านทั้งสอง ในปี พ.ศ. 2522


- อุโบสถ วัดเสมียนนารี -

ทางวัดได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ มีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 30 เมตร ลักษณะทรงไทย สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ภายในอุโบสถมีพระประธานพิมพ์พระพุทธชินราช (จำลอง) พระนามว่า "พระศรีศากยะพุทธวงศ์มุนี" ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 9 นิ้ว ปิดทองทั้งองค์ และฝาผนังอุโบสถมีภาพจิตรกรรม ด้านทิศใต้เป็นภาพพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

ด้านหลังอุโบสถเป็นหลวงพ่อพระร่วงโรจนฤทธิ์

ส่วนอุโบสถหลังเก่าหรือวิหารนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแบบศิลปะสุโขทัย พระนามว่า หลวงพ่อพุทธสุโขอภิโรจนะ และหลวงพ่อพุทธโสธร หลวงพ่อสังกัจจายน์

ปี พ.ศ. 2532 วัดเสมียนนารี ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้นสูง 3 ชั้น ขนาดกว้าง 20 เมตร ขนาดยาว 57 เมตร ลักษณะทรงไทย
   ส่วนชั้นที่ 1 ใช้บำเพ็ญกุศลงานบุญต่าง ๆ
   ส่วนชั้นที่ 2 เป็นห้องประชุมของคณะสงฆ์ในโอกาสต่าง ๆ และเป็นสถานที่สอบธรรมสนามหลวงของเขตบางเขน-จตุจักร ในส่วนมุขได้ทำเป็นห้องสมุดประชาชน
   ส่วนชั้นที่ 3 เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลี

วันอาทิตย์จะมีนักเรียนนักศึกษามาเรียนพุทธมามกะ ด้านซ้ายวิหาร เป็นศาลาพุทธานิมิต ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวม 18 องค์ ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้

ด้านหน้าวิหาร มีรูปเหมือนพระครูภัทรโสภณ (หลวงพ่อโปร่ง) ด้านขวาวิหาร เป็นศาลาพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม ด้านข้างรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จ ร.5

ส่วนที่พักของพระภิกษุ สามเณร เป็นกุฏิทรงไทย 3 ชั้น มี 81 ห้อง ในส่วนชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้างไว้สำหรับบำเพ็ญกุศลในกุศลในโอกาสต่าง ๆ รอบหน้ากุฎิเป็นสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พระพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพรรณไม้นานาชนิด

ส่วนศาลาบำเพ็ญกุศลมีทั้งหมด 11 ศาลา (ศาลาสวดศพ) ไว้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล เพราะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นสถานที่สะดวกแก่พุทธศาสนิกชนผู้สัญจรไปมา

วัดเสมียนนารี ได้พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2531 วัดได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้วัดเสมียนนารี เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรุงเทพมหานคร


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watsameinnaree.php

Top