วัดอินทรวิหาร
ประวัติ สี่แยกบางขุนพรหม แขวงบางขุนพรหม พระนคร กรุงเทพมหานคร
ชื่อ: | วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง |
---|---|
ฐานะ: | พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ |
ที่ตั้งปัจจุบัน: | เลขที่ 144 ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 |
เนื้อที่: | จำนวน 21 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา |
ขอบเขต: |
ทิศเหนือ ติดถนนกรุงเกษม |
วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายประมาณปี พ.ศ. 2295 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง อุโบสถแต่เดิมแบบเตาเผาปูน กุฏิฝากระแชงอ่อน เดิมชื่อ "วัดไร่พริก" เพราะเป็นวัดที่ปลูกอยู่ใกล้สวนผักของชาวจีน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบางขุนพรหม" ตามชื่อของหมู่บ้านซึ่งมีขุนพรหมเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน
ต่อมา สมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าสิริบุญสารผู้ครองนครศรีสัตนาคนหุต ได้ยกกองทัพรุกรานมาถึงบ้านดอนมดแกง (จังหวัดอุบลราชธานี – ปัจจุบัน) ได้จับพระลอ ผู้ซึ่งสวามิภักดิ์ในพระบรมโพธิสมภาพของพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วทำการประหารเสีย มื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงขัดเคองพระทัย จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพพร้อมด้วยพระสุรสีห์กรีฑาทัพ ขึ้นไปปราบปรามและสามารถตีเมืองเวียงจันทน์แตก ส่วนพระเจ้าสิริบุญสารได้ลี้ภัยไปอาศัยในแดนญวน ภายหลังเสร็จศึกสคราม สมเด้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้นำตัวเจ้าอินทวงศ์ โอรสในพระเจ้าสิริยุญสารลงมากรุงธนบุรีด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวงศ์และคณะพำนักตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณตำบลไร่พริก (แขวงบางขุนพรหม – ปัจจุบัน) เจ้าอินทวงศ์มีศักดิ์เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียว เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ธิดาคนหนึ่งของเจ้าอินทวงศ์นามว่า เจ้าทองสุก กับเจ้าน้อยเขียว ได้เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ต่อมาเจ้าอินทวงศ์ได้มีศรัทธาดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงรูปทรงอุโบ ส ก่ออิฐถือปูนเป็นแบบที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และสร้างศาลาพร้อมกับขุดคลองเหนือใต้และด้านหลังวัด เมื่ออารามมีความมั่นคงดีแล้ว จึงอาราธนาท่านเจ้าคุณอรัญญิกเถร (ด้วง) ผู้เรืองในวิปัสสนาธุระและใจดีมาช่วยเป็นภาระธุระในกิจการของสงฆ์ และถือเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่มีหลักฐานปรากฏยืนยัน
ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระองค์เจ้าอินทร์ ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งยังคงปรากฏมาจนปัจจุบัน ครั้นถึงแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนผ่านกลางวัดบางขุนพรหม วัดบางขุนพรหม จึงกลายเป็น 2 วัดคือวัดบางขุนพรหมนอก (วัดใหม่อมตรส – ปัจจุบัน) และวัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง – ปัจจุบัน) เนื่องจากอยู่ภายในเขตวังเทวะเวสม์ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ (จึงเรียกชื่อว่า "วัดบางขุนพรหมใน")
การเรียกชื่อวัด
- ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่พบหลักฐานการเรียกชื่ออย่างเป็นทางการนิยมเรียกกันว่า "วัดไร่พริก" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "วัดบางขุนพรหม"
- เรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดอินทร์" หรือ "วัดอินทาราม" ตามนามของผู้ปฏิสังขรณ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 6) ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์เปลี่ยนนามวัด เนื่องจากชื่อเดิมไปพ้องกับวัดอินทราม (ใต้) บางยี่เรือใต้ (ธนบุรี) สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นภวงศ์) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้ขนานนามว่า "วัดอินทรวิหาร" ประมาณปี พ.ศ. 2470 และยังคงใช้ชื่อนี้ตราบกระทั่งปัจจุบัน
- ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2543 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2543 ดังนั้นจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง"
ลำดับเจ้าอาวาส
จริงๆ แล้ววัดอินทรวิหารนั้น โดยฐานะที่วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คงจะมีเจ้าอาวาสที่ดูแลรักษา อารามมาหลายรูป (แม้ว่าอาจไม่โดยตลอด) แต่ยังไม่สามารถค้นหาหลักฐานมาอ้างอิงสนับสนุน เพื่อความคลี่คลายได้ และโดยหลักฐานเท่าที่ค้นพบปรากฏตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นลงมา มีดังต่อไปนี้...
- เจ้าคุณอริญญิกเถร (ด้วง) ชาวเวียงจันทน์ ประมาณ พ.ศ. 2321
- พระคระรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) พ.ศ. 2435 – 2467 (33 ปี)
- พระอินทรสมาจาร (เงิน อินฺทสโร) พ.ศ. 2467 – 2518 (51 ปี)
- พระครูวรภัตติคุณ (ภักดิ์ ปณฺฑิโต) พ.ศ. 2519 – 2528 (9 ปี)
- พระเทพวิสุทธาภรณ์ (ทองสืบ สจฺจสาโร) (พวงเงิน) 24 กุมภาพันธ์ 2529 – ปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watindharaviharn.org
สำหรับท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าลิ้งเว็บไซต์ทางวัดจากข้อมูลอ้างอิง