วัดหนองสนม
ประวัติ ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
วัดหนองสนม ตั้งอยู่ติดถนนสุขุมวิท หลักกิโลเมตรที่ ๓ ห่างจากตัวเมือง ระยองไปทางอำเภอบ้านฉาง ฝั่งตรงข้ามหน้าวัดมีสถานที่ราชการให้สังเกตได้หลายแห่ง เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองระยอง ห้องสมุดประชาชนและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดระยอง (ซึ่งตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์ของวัด) ถัดไปเป็นสนามกีฬากลางจังหวัดและโรงเรียนเซนต์โยเซฟ - โรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง เป็นต้น
เดิมวัดนี้มีชื่อว่า “วัดจันทนาวารี” ตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นหนองน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า “หนองสีจันทร์” เพราะเมื่อสมัยเริ่มสร้างวัดพื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่าดงเปลี่ยวมีต้นจันทน์ ขึ้นอยู่บ้าง และมีทางสาธารณผ่านระหว่างหนองน้ำกับที่ตั้งวัด ตามคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อน เล่าต่อกันมาว่าเมื่อสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพมาตีเมือง จันทบุรี เมื่อยกทับกลับไปเพื่อตั้งกรุงธนบุรี ได้หยุดพักทัพและไพร่พลที่ใกล้ ๆ บริเวณนี้ ชาวบ้านในระแวกนี้ยังได้พากันสนับสนุนด้านเสบียงอาหารตามฐานะ และหนองน้ำแห่งนี้ก็เป็นที่สรงสนาน (อาบน้ำ) ของเหล่าไพร่พลและนางสนมกำนัลที่ตามเสด็จ ต่อมาจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า “หนองสนม” รวมทั้งชื่อหมู่บ้านก็เปลี่ยนมาเรียกขานกันว่าบ้านหนองสนมพร้อมกับเรียกชื่อ วัดว่า “วัดหนองสนมจันทนาวารี” และได้ปรับปรุงย้ายหันหน้าวัดไปทางทิศใต้ ภายหลังจากที่ทางการตัดถนนสุขุมวิทผ่านแล้ว ต่อมาเมื่อกรมการศาสนาได้ปรับเปลี่ยนชื่อวัดให้พ้องกับชื่อหมู่บ้าน จึงเหลือเพียง วัดหนองสนม เพื่อให้พ้องกับหมู่บ้านหนองสนม จนถึงปัจจุบัน
การเริ่มตั้งวัด
เนื่องจากหมู่บ้านนี้อยู่ห่างไกลจากวัดอื่นพอ สมควร ไม่สะดวกต่อการบำเพ็ญบุญของประชาชน ชาวบ้านนำโดย นายด้าย (ไม่ทราบนามสกุล) จึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ซึ่งนายด้ายกับนายอิ่มเป็นผู้อุทิศที่ดินถวายให้เป็นที่สร้างวัด เมื่อเริมสร้างครั้งแรกได้สร้างกุฎีขึ้นเพียง ๕ หลัง เป็นทรงโบราณแบบง่าย ๆ หลังคามุงด้วยใบจาก นายด้ายพร้อมด้วยทายกทายิกาพากันไปอาราธนา พระอาจารย์เชิง จากวัดทับมา ให้มาดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดและช่วยกันพัฒนามาจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๕๔ ท่านอาจารย์เชิงก็ได้ลาสิกขาไป พระอาจารย์แก้วจึงรักษาการดูแลมาระยะหนึ่งแล้วจึงลาสิกขาออกไป ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ พระอาจารย์หิน (พระครูวิจารณ์ธรรมกิติ) จากวัดทับมาจึงมารับหน้าที่บริหารและดำรงค์ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส รูปที่ ๓ ของวัด
ในสมัยของท่านอาจารย์หินนี้เองที่วัดได้พัฒนา ไปมากจนเรียกได้ว่าเกือบบริบูรณ์ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุก่อสร้างหรือชื่อเสียงของวัด เพราะท่านเป็นผู้มีจิตใจสุขุมเยือกเย็นเป็นพระภิกษุที่มีคุณธรรมทางความ เมตตาสูง และเป็นผู้มีความอดทนต่อความลำบากต่อสู้กับอุปสรรคทุกอย่าง เพราะเคยจาริกไปธุดงค์ตามป่าดงดิบย่านชายแดนและเข้าประเทศสหภาพเมียนม่าร์ (พม่า) มาแล้วประกอบกับท่านเป็นพระที่มีอาคมขลัง ทั้งด้านอยู่ยงคงกระพัน สักยันต์ลงอักขระ เมตตามหานิยม ประกอบยาสมุนไพรรักษาโรค ทำให้มีชื่อเสียงแพร่กระจายไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด (โดยเฉพาะในหมู่ของนายทหาร พ่อค้านักธุระกิจ และชาวประมง) จนถึงปัจจุบันนี้ชาวบ้านหนองสนม เนินพระ ทับมา โขดหิน และอำเภอสัตตหีบ จังหวัดชลบุรี หมู่บ้านใกล้เคียงในจังหวัดระยองและต่างจังหวัดยังประจักษ์ในกิตติคุณและให้ ความเคารพเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย ผลงานทางด้านพัฒนา เมตตาอนุเคราะห์ของท่านนั้นว่าสร้างไว้มากมายจนไม่อาจบรรยายได้ครบถ้วน ในสมัยของท่านทำให้วัดและหมู่บ้านนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นที่รู้จักของผู้ คนอย่างแพร่หลาย แม้แต่คนเดินทางไกล คนเร่ร่อนสัญจร ยาจกวนิพก ผ่านมาขอพักท่านก็ให้พึ่งพิงโดยไม่เดียจฉัน วัดนี้จึงไม่เคยขาดผู้ผ่านมาขอพักอาศัยตั้งแต่สมัยนั้นจวบจนปัจจุบัน บ้างคนเรียกวัดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า“วัดหลวงพ่อหิน” (โดยเฉพาะชาวต่างจังหวัดที่มาขอพัก)
นอกจากนั้นท่านยังมีตำแหน่งหน้าที่ในทางสังคมและทางคณะสงฆ์อีกมากมาย เช่น เป็นกรรมการศึกษาระดับ อำเภอ ระดับจังหวัด เป็นต้น จนมาถึง วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๕ เวลา ๐๕.๐๐ น. หลวงพ่อได้มรณะภาพลงอย่างสงบที่กุฏิของท่าน นับว่าหลวงพ่อหินได้สร้างผลงานให้แก่วัดอย่างมากมายทำให้วัดเจริญขึ้นในสมัยของท่านนี้เอง นอกจากนั้น ด้วยอาศัยที่หลวงพ่อมีเมตตาสูงมาก วัดจึงเป็นที่พักของคนเดินทางทุกชั้นวรรณะ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ชน ทั่วไป จนถึงทุกวันนี้
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดหนองสนม
รูปที่ ๑ พระอธิการเชิง พ.ศ.๒๔๔๑ - ๒๔๕๔
รูปที่ ๒ พระพระอาจารย์แก้ว พ.ศ.๒๔๕๔ - ๒๔๕๕
รูปที่ ๓ พระพระครูวิจารณ์ธรรมกิติ (หิน ถาวโร) พ.ศ.๒๔๕๕ - ๒๕๐๕
รูปที่ ๔ พระครูอาทรธรรมกิจ (สวัสดิ์ วรจิตฺโต) พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๓๑
รูปที่ ๕ พระครูสาทรธรรมนิเทศก์ (วีระชาติ กนฺตจาโร) พ.ศ.๒๕๓๑ - ปัจจุบัน
สถานภาพของวัดหนองสนม (ในปัจจุบัน)
๑. ประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๔๔๑
๒. ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.๒๔๗๓
๓. ตั้งเป็นศูนย์สงเคราะห์พุทธมามกะ อำเภอเมือง พ.ศ.๒๕๓๒
๔. ตั้งเป็นศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต อำเภอเมือง พ.ศ.๒๕๓๓
๕. ตั้งเป็นศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนา จังหวัดระยอง พ.ศ.๒๕๓๔
๖. เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ.๒๕๓๗
๗. เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ.๒๕๔๐
๘. ตั้งเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒
โครงการของวัดที่กำลังดำเนินการ
๑. สร้างสถานปฏิบัติธรรม ในเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๔๗ ตารางวา (หลังวัด)
๒. สร้างศาลาการเปรียญ ๒ ชั้น ชั้นล่างบำเพ็ญกุศลทั่วไปและจัดประชุม-อบรม
ชั้นบนห้องพักอาคันตุกะ-หอสวดมนต์-ห้องฝึกสมาธิ-พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาของเก่าของวัด
๓. สร้างกุฎีสงฆ์ฯ ที่พักผู้สูงอายุ และหอพักผู้ปฏิบัติธรรม ในเนื้อที่ ๑๑ไร่๔๗ตารางวา(หลังวัด)
๔. สร้างกุฎีสงฆ์และกุฎีเจ้าอาวาส ต่อจากศาลาการเปรียญ ไปทางทิศตะวันตกของวัด
กิจกรรม
งานด้านเผยแผ่และงานอบรมประจำของวัด
๑. บรรยายธรรมออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จังหวัดระยอง สวท.ระยอง ประจำ ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๕.๔๐ น.
๒. เปิดอบรมค่ายพุทธรรมแก่นักเรียน ตามโอกาสที่มีสถานศึกษาติดต่อมา ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และหน่วยการอื่น ๆ
๓. แจกทุนการศึกษานักเรียนฯ และสมาชิกกลุ่มพุทธมามกะ ทุนละ ๕๐๐ บาท ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ ๓๐ - ๕๐ ทุน
๔. จัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน สำหรับเยาวชนชาย ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๒๐ เมษายน เป็นประจำทุกปี พร้อมด้วยโครงการบรรพชาจากโครงการต่าง ๆ
๕. จัดงานประเพณีสงกรานต์ - งานวันผู้สูงอายุ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ - ๑๖ เมษายน ของทุกปี โดยมีกิจกรรม เช่น ประเพณีนมัสการปิดทองหลวงปู่หิน สรงน้ำพระ รดน้ำขอขมามอบเลื้อผ้าผู้สูงอายุ (รดน้ำดำหัว) ประกวดผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์ ประเพณีและวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ไว้ให้เป็นมรดกของอนุชน และเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่บ้าน ให้กำลังใจแก่ผู้สูงอายุ พร้อมทั้งสรรสร้างความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว ปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีแก่เยาวชน สืบไป
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/east/watnongsanom.php