ประวัติ วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร - เลขที่ ๕๗๙ ถนนทรงสวัสดิ์ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร - webpra

วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร

ประวัติ เลขที่ ๕๗๙ ถนนทรงสวัสดิ์ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

 

วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร

          วัดสัมพันธวงศาราม หรือ วัดเกาะแก้วลังการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เลขที่ ๕๗๙ ถนนทรงสวัสดิ์ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

          วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ มีนามว่า "วัดเกาะ" หลักฐานในการสร้างวัดแต่เดิมไม่ปรากฏว่าท่านผู้ใดเป็นผู้สร้าง ทราบแต่ว่า เป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมมีคลองคูล้อมรอบวัดเชื่อต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า "วัดเกาะ" ที่ดินของวัดเดิมติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีศาลาท่าน้ำอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามพงศาวดารกล่าวว่า "ในคราวเทศกาลถวายผ้าพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จถวายผ้าพระกฐินที่วัดสัมพันธวงศ์และวัดปทุมคงคา โดยทางชลมารค เรือพระที่นั่งเทียบที่ศาลาท่าน้ำวัดเกาะ เสด็จโดยลาดพระบาทถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามนี้"

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เมื่อได้สร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานี สถาปนาราชวงศ์จักรีแล้ว มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด ต่าง ๆ ใหม่หลายวัด ในส่วนของ "วัดเกาะ" นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ) พระนามเดิม จุ้ย ต้นราชสกุล "มนตรีกุล" ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอารามแล้ว ผู้เป็นพระโอรสองค์ที่ ๕ ในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สถานปนาวัดเกาะขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเกาะแก้วลังการาม) ใน ร.ศ.๑๕ ตรงกับปีมะโรง อัฏศก จ.ศ.๑๑๔๘ พ.ศ.๒๓๓๙

          ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ "วัดเกาะแก้วลังการาม" แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเปลี่ยนนามวัดว่า "วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีของพระองค์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการสถาปนาวัดนี้ให้งดงาม มีเกียรติประวัติ เพื่อจักให้เกิดปีติปราโมทย์แก่ผู้สืบสกุลในเมื่อได้ทราบว่า บรรพบุรุษบุพพการีของตนได้สร้างกุศลไว้ เป็นเหตุชักจูงศรัทธา ปสาทะ ให้เกิดแก่พระประยูรญาติต่อไป

          ในรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วัดสัมพันธวงศ์ อัญเชิญพระปรมาภิไธย "ภ.ป.ร." ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถหลังใหม่

ลำดับเจ้าอาวาส
          รายนามพระอธิการและเจ้าอาวาสของ วัดนี้ แต่โบราณกาลไม่ปรากฏว่าท่านผู้ใดเป็นเจ้าอาวาสมาแล้วกี่รูป เท่าที่สืบทราบและค้นคว้าจากหนังสือพระราชพงศาวดาร หนังสือทรงตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะผู้ใหญ่ และจากการบอกเล่าต่อ ๆ กันมา รวมความได้ว่า ภายหลังจากที่สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงสถาปนาปฏิสังขรณ์ใหม่ถวายเป็นพระอารามหลวงแล้ว มีเจ้าอาวาสครองวัดสืบมาถึงยุคปัจจุบันรวม ๑๑ รูป คือ

          - พระอธิการไพทูรย์

          - พระอธิการบุญมา

          - พระครูศรีธรรมาลังการ

          - พระธรรมติโลกาจารย์

          - พระครูปาน

          - พระเนกขัมมมุนี (คง)

          - พระครูธรรมาภินันท์ (อินทร์)

          - พระพินิตวินัย (แจ้ง ปิยสีโล)

          - พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสกเถระ)

          - พระเทพปัญญามุนี (เฉย ยโส)

          - เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.๙) : ปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watsamphan.com/
สำหรับท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าลิ้งเว็บไซต์ทางวัดจากข้อมูลอ้างอิง

Top