ประวัติ วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู - ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลย่านยาว อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี - webpra

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู

ประวัติ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลย่านยาว อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี



ประวัติวัด

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู


          ชื่อ วัดสถิตคีรีรมย์ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลย่านยาว อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลักฐานสำคัญสำหรับที่ดินในการก่อสร้าง ส.ด.๑ เลขที่ ๒๐๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลย่านยาว อำเภอคีรีรัฐนิคม โดยมี อาณาเขตดังนี้

                    ทิศเหนือ                จดคลองพุมดวง ยาวประมาณ ๙ เส้น
                    ทิศใต้                    จดเขาราหู ยาวประมาณ ๖ เส้น ๑๔ วา
                    ทิศตะวันออก           จดที่ดิน นายพ่วง ศักดา ยาวประมาณ ๓ เส้น
                    ทิศตะวันตก             จดที่ดิน นางหนีด จันทร์ปาน ยาวประมาณ ๑ เส้น

          คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของวัดสถิตคีรีรมย์ ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆและริมเนินเขาติดต่อกับแม่น้ำพุมดวง เป็นพื้นที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม บ้างไม่สม่ำเสมอกันเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านเรียกขานนามว่า “ เขาจุกเภา”

          ประวัติย่อความเป็นมาของวัดสถิตคีรีรมย์ ได้ก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ และได้รับอนุญาตให้ตั้งวัด เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน  พ.ศ. ๒๔๘๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ มีความกว้าง ๑๐.๐๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร
          ผู้เป็นประธานในการก่อสร้างวัดสถิตคีรีรมย์ คือ พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ พระครูสถิตสันตคุณ  “หลวงพ่อพัว เกสโร” อดีตเจ้าคณะอำเภอคีรีรัฐนิคม และพระอธิการเชื่อม ธมมโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดปราการ และเจ้าคณะตำบลท่าขนอน ซึ่งได้ขออนุญาตจากท่านขุนอนุการคหกิจ นายอำเภอคีรีรัฐนิคม และท่านขุนย่านยาวนายก กำนันตำบลย่านยาว
          เดิมชาวบ้านเรียกชื่อว่า  “วัดเขา” และเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ พระเทพรัตนะกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางกลับจากการผูกพัทธสีมา วัดเขาพัง คลองพระแสง ได้แวะเยี่ยมการก่อสร้างวัดเขาของหลวงพ่อพระครูสถิตสันตคุณ ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ และได้มีความเห็นอันเป็นสมควร จึงได้ขนานนาม “วัดเขา” เป็นชื่อวัดสถิตคีรีรมย์
          สิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของวัดสถิตคีรีรมย์ ท่านพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ พระครูสถิตสันตคุณ “หลวงพ่อพัว เกสโร” ได้ริเริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุ ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุประจำวัดสถิตคีรีรมย์ ได้สร้างพระพุทธบาทจำลองสี่รอยซ้อนกันเป็นชั้นๆ และก่อสร้างพระปรางค์มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ๑ หลัง ก่อสร้างกุฏิถาวร ๑ หลัง และกุฏิชั่วคราวหลายหลัง มีพระภิกษุจำพรรษาปีละหลายรูปตลอดมา

          การคัดเลือกชัยภูมิที่ตั้งวัดสถิตคีรีรมย์ ท่านอาจารย์พระครูสถิตสันตคุณ (หลวงพ่อพัว เกสโร) ได้ปรึกษาหารือร่วมกับท่านเจ้าพระอธิการเชื่อม ธมมโชโต เจ้าอาวาสวัดปราการ ซึ่งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าขนอน และเป็นเครือญาติมีศักดิ์เป็นน้าของพระอาจารย์พัว เกสโร พระอธิการเชื่อม ธมมโชโต ก็เห็นพ้องต้องกัน และลงความเห็นพร้อมกันว่า ควรก่อสร้างวัดสถิตคีรีรมย์ ที่บนไหล่เขาจุกเภา หรือเขาราหู โดยสร้างพระพุทธบาท ๔ รอย ไว้ในวัดสถิตคีรีรมย์ และมีเหตุผลในกานเลือกชัยภูมิตรงจุดนี้ เพราะประชาชนเชื่อถือว่า “เขาราหู” คือ เป็นภูเขาหลักบ้านหลักเมืองของเมืองคีรีรัฐ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าขนอน แล้วก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอคีรีรัฐนิคม จนถึงปัจจุบันนี้ความเชื่อถือของประชาชน มีคำเล่าลือ ตามคำปรัมปรา เล่ากันว่า เมื่อครั้งก่อนบริเวณใกล้ภูเขาลูกนี้ยังเป็นทะเลอยู่ ก็มีเรือสำเภาแล่นมาชนภูเขาลูกนี้แล้วเรือสำเภาอับปางลง และปัจจุบันนี้ภูเขานี้ ภูเขาลูกนี้จึงเป็นช่องโหว่ ทางด้านติดกับแม่น้ำพุมดวง ซึ่งยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ คนทั้งหลายจึงพากันเรียกว่า “เขาจุกเภา” หรือ “เขาจุกตะเภา” หรือ “เขาราหู” เพราะบนหน้าผา ทางด้านทิศใต้ตรงที่ตั้งเมืองคีรีรัฐนิคม มีรูปเป็นหน้าราหู พิเคราะห์ดูได้ชัดเจนและภูเขาลูกนี้ด้านทิศเหนือหยั่งลงมาในแม่น้ำพุมดวง เป็นที่น่าอัศจรรย์ ชาวบ้านนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อคราวแรก ฝนจกตกลงในแม่น้ำพุมดวงน้ำจะหลากมา และเมื่อหมดหน้าน้ำหลาก จะมีเสียงดนตรี เช่น ฆ้อง กลอง ดังขึ้นพอฟังได้ถนัด ครั้งละ ๓ ลูก ๆ หนึ่ง ประมาณ ๑๐-๑๕ นาที และอย่าให้มีคนส่งเสียงอื้อฉาว ถ้ามีคนส่งเสียงอื้อฉางขึ้น เสียงดนตรีจะสงบลงทันที เมื่อครั้งก่อนๆ มีคนนับถือกันมาก ประชาชนที่บรรทุกสินค้าทางเรือขึ้นล่องจะต้องจุดธูปเทียน หมากพลู สักการบูชา และจุดประทัดบวงสรวง  พระอาจารย์ พระครูสถิตสันตคุณ (หลวงพ่อพัว เกสโร) ได้ตกลงใจสร้างวัดสถิตคีรีรมย์แล้ว พร้อมทั้งหารือและขออนุญาตจากท่านขุนอนุการคหกิจ นายอำเภอบ้านท่าขนอนและขุนย่านยาว นายกกำนันตำบลย่านยาวเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ พระครูสถิตสันตคุณได้เริ่มลงมือสร้าง เริ่มต้นตั้งแต่ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๑ ตรงกับวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล และได้ขอแรงผู้มีจิตศรัทธา ทั้งในที่ใกล้และไกลมาแผ้วถาง ปรายพื้นที่ โดยพระอธิการเชื่อม ธมฺมโชโต ผู้เป็นหัวหน้าและในคราวแรก และให้พระอธิการฟุ้ง โกวิทโท อดีตเจ้าอาวาสวัดปราการ จัดการเขียนแบบแปลน พระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย และติดต่อนายช่างจากกรุงเทพมาเป็นผู้ควบคุมก่อสร้างในราคา ๔๕๐ บาท (สี่ร้อยห้าสิบบาท)

เจ้าอาวาสองค์แรก ชื่อ พระครูสถิตสันตคุณ มรณภาพ พ.ศ. ๒๕๐๘
พ.ศ. ๒๕๐๘ พระสมุห์เพริ้ม โกสิโย รักษาการเจ้าอาวาสได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒


วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู

วัดสถิตคีรีรมย์ หรือ วัดเขาราหู


ข้อมูลอ้างอิง : http://wat-khaorahu.com/webboard/index.php?topic=93.0

 

Top