วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
ประวัติ วัดประจำรัชกาลที่ ๓
วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และติดคลองบางหว้า ทางด้านทิศเหนือของวัด ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕๘ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
วัดราชโอรสเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชวงศ์จักรี เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสร้างกรุงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า "วัดจอมทอง" บ้าง "วัดเจ้าทอง" บ้าง หรือ "วัดกองทอง" บ้าง
ในสมัยราชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๖๓ มีข่าวว่าพม่าตระเตรียมกำลังจะยกเข้ามาตีประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓) ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลไปขัดตาทัพพม่าทางเจดีย์ ๓ องค์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองนี้ และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม ทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่พม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือกันและเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเลิกทัพเสด็จกลับพระนครแล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส"
ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาวัดนี้ ในขณะที่ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอก็ตาม แต่เนื่องจากทรงสถาปนาเป็นการส่วนพระองค์ จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมตามความพระราชหฤทัย
ดังนั้น วัดราชโอรสจึงตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นส่วนมาก นับเป็นวัดแรกที่เป็นวัดที่คิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัด ซึ่งสร้างกันอย่างสามัญ ศิลปกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ พระองค์ทรงสร้างได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนงดงามยิ่งนัก อย่างหาที่ติมิได้ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่หลังคาโบสถ์เป็นกระเบื้องเคลือบแบบไทย กุฏิพระสงฆ์เป็นอาคารตึกแทนเรือนไม้แบบของเดิมการประดับตกแต่งต่างๆ เป็นแบบจีนผสมไทย เช่น บานประตูหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดับด้วยเสี้ยวกางแทนลายเทพนม หรือลายไทยแบบของเดิม หน้าบันพระอุโบสถ และพระวิหารประดับพระเบื้องเคลือบสี จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการประยุกต์ศิลปกรรมได้อย่างประณีต เหมาะสม เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่า และงดงาม
สิ่งสำคัญในพระอาราม
๑. พระอุโบสถ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมผสมระหว่างไทย และจีน หลังคาเป็นแบบจีนแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ สวยงาม แต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูง ตอนล่างเป็นภาพทิวทัศน์มีบ้านเรือน สัตว์เลี้ยงภูเขา ต้นไม้ ตามขอบหลังคาประดับกระเบื้องสี และถ้วยชามโดยรอบ
ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระเบื้องสี
ซุ้มประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นประดิษฐ์เป็นลวดลายดอกเบญจมาศ บานประตูด้านนอกประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆ ฝีมือละเอียดประณีต ด้านในเขียนรูปทวารบาลแบบจีน ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นลายเครื่องบูชาแบบจีน บางช่วงมีความหมายในการให้พร ฮก ลก ซิ่ว ตามคติของจีน บนเพดานเขียนดอกเบญจมาศ ทองบนพื้นสีแดง
๒. พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก หรือประมาณ ๓.๑๐ เมตร สูงประมาณ ๒ วา ๑ ศอก หรือ ประมาณ ๔.๕๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคาร ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ( ฉัตร ๙ ชั้น ) พ.ศ. ๒๕๐๔ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างได้งดงามกว่า พระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างในสมัยเดียวกัน
๓. พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อทรงเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้าง ได้ประทับที่พระแท่นใต้ต้นพิกุลใหญ่ที่อยู่ตรงด้านหน้าทางด้านซ้ายของพระ อุโบสถ และเล่ากันว่าเคยรับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้ " อาจจะเป็นเพราะพระราชดำรัสนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาพระอารามนี้ จะมาทรงถวายสักการะที่พระแท่นนี้เสมอจนกลายเป็นประเพณี และเวลาเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระราชกฐินหรือเจ้านายเสด็จในการทอดกฐินพระ ราชทาน เจ้าหน้าที่จะตั้งเครื่องมุกไว้ทรงสักการะ ณ ต้นพิกุลนี้ทุกครั้ง
๔. ถะ (สถูปเจดีย์) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นสถูปแบบจีน มีทรงเหลี่ยมซ้อนกัน ๕ ชั้น สูงประมาณ ๕-๖ วา ยอดเป็นรูปทรงน้ำเต้า ถัดมาเป้นทรงเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในแต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นช่อง เว้นระยะโดยรอบ ถะ หรือ สถูปองค์นี้ ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทึบ ภายนอกเป็นแผ่นหินอ่อนสลักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และลวดลายปะติดไว้ด้านนอก
๕. พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้วเช่นเดียวกัน แต่พระวิหารมีกำแพงแก้วล้อมรอบโดยเฉพาะอีกชั้นหนึ่ง เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นขนาดยาว ๒๐ เมตร ที่บานประตู และบานหน้าต่างด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้นที่เรียกว่า กระแหนะ เป็นรูปเลี้ยวกางแบบไทย ยืนอยู่บนประแจจีน ประดับด้วยแจกันดอกเบญจมาศและพานผลไม้ เช่น ทับทิม ส้มมือ ลิ้นจี่ มังคุด และน้อยหน่า เป็นต้น เพดานพระวิหารเขียนลายดอกเบญจมาศ นก และผีเสื้อ สีสวยงาม และหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องสีเป็นลายดอกเบญจมาศและรูปสัตว์มงคลของจีน เช่นเดียวกับหน้าบันพระอุโบสถ
โดยรอบลานพระวิหารมีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองประดิษฐานอยู่ ๓๒ องค์ ที่ผนังพระระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาและตำราหมอนวด ติดเป็นระยะๆ จำนวนทั้งสิ้น ๙๒ แผ่น โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๖. ศาลาการเปรียญ อยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ เป็นอาคารที่มีลักษณะผสมทางศิลปกรรม ระหว่างไทยและจีน เช่นเดียวกัน หลังคาเป็นแบบจีน ลด ๒ ชั้น แต่มุงกระเบื้องแบบไทย บนหลังคาประดับรูปถะ ระหว่างมังกรกระเบื้องเคลือบสีอย่างศาลเจ้าจีน ผนังด้านนอกตอนบนเขียนรูปผลไม้ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล (ฮก ลก ซิ่ว) เช่น ส้มมือ หมายถึง การมีวาสนาสูง ทับทิม หมายถึง ความมั่นคงอุดมสมบูรณ์ และผลท้อ หมายถึง การมีอายุยืน
พระประธานในศาลาการเปรียญเป็นพระพุทธรูปปั้นปางประทาน พระธรรมเทศนา ถือตาลปัตร
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13516
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchaorasaram.php