วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร
ประวัติ ๑๕๗ หมูที่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
สถานภาพและที่ตั้งของวัด
ชื่อวัด - พระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร
สถานะ - พระอารามหลวงชั้น "ตรี" ชนิด "วรวิหาร"
เลขที่ - ๑๕๗ หมูที่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๖๐
คณะสงฆ์ - มหานิกาย เถรวาท
เจ้าอาวาส - พระธรรมมังคลาจารย์ วิ. (ทอง สิริมงฺคโล) ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๔-ปัจจุบัน.
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ตั้งอยู่ติดกับ ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ที่ ๒ ตําบลบ้านหลวง อําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งเป็นเนินดินสูง ประมาณ ๑๐ เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า "ดอยจอมทอง" ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูล้านนา เมืองเชียงใหม่
ลำดับเหตุการณ์
- พ.ศ. ๑๙๙๔ สร้างบนดอยจอมทอง ชื่อว่า "วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง" ทางทิศตะวันตกมีทิวเขาอินทนนท์ และลําน้ำแม่กลาง
- พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
- พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ง วันที่ ๘ มีนาคม
- พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานยกฐานะวัดขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวงชั้น "ตรี" ชนิด "วรวิหาร"
- พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ที่มีผลงานดีเด่น กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
วัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักขิณโมลีธาตุ พระบรมสาริกธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามตำนานปรากฎกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๘
ปัจจุบัน พระบรมสารีริกธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ ๕ ชั้นซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลียมจตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง ๔ เมตร สูง ๘ เมตร ตามประวัติสร้างโดย "พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช" หรือ "พระเมืองแก้ว" กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๐
วัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นวัดที่มีความสําคัญของเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นทั้งพระอารามหลวง และเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ประเพณีสำคัญ
- สรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ
- แห่ไม้ค้ำโพธิ์ วันสงกรานต์
- คติของชาวล้านนามีความเชื่อว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิด (ปีชวด)
กิจกรรม
- พิธีทำบุญถวายภัตตาหาร,ฟังเทศน์ทุกวันพระ (วันธัมมัสสวนะ)
- ปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน (สติปัฎฐาน ๔) ตลอดทั้งปี
- และกิจกรรมอื่นๆ ตามโอกาส.
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watchomtong.com
ข้อมูลภาพ : http://www.chomthai.com/forum/view.php?qID=1568