วัดป่าภูก้อน
ประวัติ บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี
วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย
โดยในปี พ.ศ. 2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนครและอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและอยู่อาศัยของพระสงฆ์ จากนั้นท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตรา ตัดไม้ คณะศรัทธาจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธานและขวัญกำลังใจในการก่อสร้าง และได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 ต่อมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น ‘วัดป่าภูก้อน’ ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530
เพื่อรักษาบริเวณวัดให้คงสภาพป่าอย่างสมบูรณ์ คณะศรัทธาจึงพยายามอย่างหนักที่จะขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ โดยรอบวัดด้วย ด้วยความเมตตากรุณาเป็นที่สุดของผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณหลายท่านในกระทรวงเกษตร และสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ ท่านปลัดเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ท่านปลัดจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านปลัดอนันต์ อนันตกูล ท่านอธิบดีจำนงค์ โพธิเสโร ที่เห็นคุณค่าของป่าและความตั้งใจจริงของคณะศรัทธาที่จะรักษาป่า จึงได้สนับสนุนช่วยเหลือจนเป็นผลสำเร็จ จนในที่สุดในวันที่ 22 มิถุนายน 2531 ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งพุทธอุทยานมีเนื้อที่ 1,000 ไร่ และได้รับขนานนามว่า ‘พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน’ ภายหลังยังได้รับความสนับสนุนจากอธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมชลประทาน ท่านต่อๆ มา ตลอดจนท่านผู้ใหญ่ในกรมตำรวจ กองทัพบก กองทัพอากาศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การโทรศัพท์ อีกหลายท่าน
วัดป่าภูก้อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 7 มิถุนายน 2532 คณะศรัทธาจึงได้พร้อมใจกันจัดงานฝังลูกนิมิต โดยได้รับเกียรติจากท่านจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีตัดลูกนิมิตและผูกพัทธสีมา ณ วัดป่าภูก้อน เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2533 และรวบรวมปัจจัยในงานจัดตั้งมูลนิธิ ‘ปิยธรรมมูลนิธิ’ ขึ้น เพื่อเกื้อกูลพระภิกษุสามเณรในวัดและงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในท้องถิ่น
พุทธอุทยานแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ธุดงควัตรของพระนวกะ จากโรงเรียนนายร้อยทั้ง 4 เหล่าทัพ ซึ่งอุปสมบทในภาคฤดูร้อน โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดเกล้าฯ บรรพชาที่วัดบวรนิเวศฯ แล้วประทานอนุญาตให้มาอบรมกรรมฐานที่วัดป่าภูก้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นเวลา 5 ปี ติดต่อกันมา
ปัจจุบันนี้วัดมีศาลาอุโบสถ 2 ชั้น 1 หลัง ซึ่งเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ชั้นบนและเป็นที่ฉันชั้นล่าง มีกุฏิพระ 45 หลัง เรือนครัว 1 หลัง เรือนพักฆราวาส 6 หลังถังเก็บน้ำคอนกรีต 20 ถัง และห้องน้ำจำนวนมาก โดยใช้ระบบประปาภูเขา จากฝายเก็บน้ำดินขนาดเล็กที่เป็นแหล่งต้นน้ำซับและน้ำตกในวัด ซึ่งต่อมากรมชลประทานได้บูรณะถวายให้แข็งแรงถาวรในปี 2538 และวัดยังได้ต่อระบบประปาไปถึงหมู่บ้านนาคำที่อยู่ห่างจากวัดไป 4 กม. เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำใช้อย่างสะดวกและสะอาด
ด้วยความสง่างามและความศักดิ์สิทธิ์ของอาณาเขตพุทธอุทยาน และป่าสงวนแห่งชาติบนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ที่กรมป่าไม้ได้ให้วัดป่าภูก้อนช่วยดูแลงานด้านป่าไม้ (เพิ่มขึ้นจากพื้นที่พุทธอุทยานเดิมอีก 2,000 ไร่) เพื่อรักษาป้องกันไฟป่าและการบุกรุกทำลายป่าล่าสัตว์ วัดป่าภูก้อนจึงเป็นที่สงบสัปปายะ วิเวกควรแก่การบำเพ็ญภาวนารักษากายวาจาและจิตใจในกรรมฐานเป็นที่สุด ดังมีผู้ได้พบเห็นหลักฐานความอัศจรรย์ของธรรมชาติแห่งนี้อยู่เสมอ คณะศรัทธา จึงร่วมกันดำริสร้างพระมหาเจดีย์ นามว่า “พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานในสถานที่อันสมควรเพื่อสักการะบูชา และแสดงกตัญญูกตเวทิตาแด่คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และบุรพอาจารย์กรรมฐานในแถบอีสาน ทั้งยังเป็นมงคลสถานที่พุทธศาสนิกชน จะได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้อันให้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทาง ธรรม เป็นที่ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอีสาน ซึ่งควรร่วมกันส่งเสริมรักษาอย่างจริงจังตลอดไป
องค์พระมหาเจดีย์แห่งนี้ เป็น 1 ใน “โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542” และได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ และพระรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานภายในองค์พระมหาเจดีย์ด้วย
ในโอกาสนี้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กราบทูลอัญเชิญเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศ “พระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา” พระประธานหน้าองค์พระมหาเจดีย์ ทรงลงพระนามาภิไธยและปลูกต้นสาละไว้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2544 และวัดป่าภูก้อนยังได้รับมอบประกาศนียบัตรจากกรมป่าไม้ เป็นวัดอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ระดับจังหวัดประจำปี 2544 ประเภทดูแลรักษาป่าดั้งเดิม ตั้งแต่ 501 ไร่ขึ้นไป
ในปัจจุบันนี้ วัดป่าภูก้อนดำรงคงอยู่ด้วยความสมดุลของป่าไม้ที่ทวีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นทุก คืนวัน โดยบุคคลผู้มีความศรัทธาและระลึกคุณของสรรพสิ่งทั้งหลายของชาติและแผ่นดิน อันเป็นที่กำเนิดแห่งชีวิต โดยมีคุณพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องสำนึก และมีพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ชาวไทยทุกคนควรทดแทน เป็นกำลังใจส่งเสริมพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบให้ดำรงปฏิปทาของพระป่า กรรมฐานเพื่อบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนถึงที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง : http://watpaphukon.org
ข้อมูลภาพ : http://www.livekalasin.com/webboard/viewthread.php?tid=2626