วัดปากน้ำ
ประวัติ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
สถานที่ตั้ง
วัดปากน้ำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ปัจจุบัน (๒๕๕๑) ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐๐ ถนนรัชมงคลประสาธน์ (เดิมเลขที่ ๘ ถนนเทอดไท) แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๖๐ มีเนื้อที่ ๒๐ ไร่เศษ โดยมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ จรดคลองบางกอกใหญ่
- ทิศตะวันออก จรดคลองด่าน
- ทิศใต้ จรดคลองโบราณขนาดเล็กที่แบ่งเขตกับวัดอัปสรสวรรค์
- ทิศตะวันตก ด้านเหนือจรดคลองภาษีเจริญและทางสาธารณะ
- ทิศตะวันตก ด้านใต้ติดกับโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ และโรงเรียนสุภาคมศึกษา
ชื่อและการสร้างวัด
วัดปากน้ำ ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ริมคลองหลวงหรือ คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวรารามและ กลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เนื่องจากวัดตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวงอีกทีหนึ่ง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า วัดปากน้ำ ซึ่งชื่อนี้มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๕๓ และ พ.ศ. ๒๔๗๔ ว่า วัดสมุทธาราม แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกันอย่างนั้น คงเรียกว่า วัดปากน้ำ มา โดยตลอด ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่ ข้างวัดด้านทิศตะวันตก วัดจึงมีลำน้ำหลักล้อมอยู่ทั้ง ๓ ด้าน ส่วนด้านใต้เป็นคลองเล็กแสดงอาณาเขตของวัดในสมัยก่อน
ในจดหมาย เหตุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคถวายผ้าพระ กฐินหลวง ณ วัดปากน้ำ ตลอดรัชกาลวัดปากน้ำได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด คือ ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการซ่อมหลังคา พระอุโบสถคราวหนึ่ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้
ลำดับเจ้าอาวาส
ในส่วนเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดปากน้ำตั้งแต่แรกเริ่มสร้างมาจนถึงปัจจุบันนั้น สามารถจำแนกออกตามสมัยต่าง ๆ ดังนี้
สมัยกรุงศรีอยุธยา
เจ้าอาวาสในสมัยอยุธยาสืบค้นได้ยาก เนื่องจากเมืองธนบุรี เป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา การตั้งพระราชาคณะหรือพระครูหัวเมืองมีบันทึกไว้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในเอกสารโบราณสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุนิยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์ พ.ศ. ๒๓๐๑-๒๓๑๐) ได้ระบุนามพระครูหัวเมืองธนบุรีไว้ ๑ รูป เนื่องจากวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงสมัยอยุธยา ในเมืองธนบุรีพระอารามหลวงสมควรเป็นสถิติของพระราชาคณะ หรือพระครูหัวเมือง ปรากฏนาม ดังนี้
พระครูธนะราชมุนี พ.ศ. ๒๓๑๐ - ?
สมัยกรุงธนบุรี
พระธรรมโฆษา (พระธรรมโกศา) พ.ศ. ? – ๒๓๒๕
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
๑. พระเทพกระวี (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒)
๒. พระบวรญาณมุนี (พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๘๖)
๓. พระญาณโพธิ (พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๐๖)
๔. พระครูสมณธรรมสมาทาน (มี) (พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๒๖)
๕. พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๕๘)
๖. พระครูพุทธพยากรณ์ (เจริญ อุปติสฺโส) รักษาการ (พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙)
๗. พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) (พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๕๐๒)
๘. สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) รักษาการ (พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๘)
๙. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ. ๙) (พ.ศ. ๒๕๐๘-ปัจจุบัน)
กล่าว ถึง ไวยาวัจกร ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์ หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบ หมายเป็นหนังสือ คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าอาวาสเป็นไวยาวัจกร ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยเจ้าอาวาสจะแต่งตั้งไวยาวัจกรคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ บางวัดอาจจะมีมัคนายกและไวยาวัจกรเป็นคนละคนกัน หรือบางวัดมัคนายกอาจจะทำหน้าที่ไวยาวัจกรไปด้วย สำหรับวัดปากน้ำ ปรากฏนามของมัคนายกและไวยาวัจกร ดังนี้
๑. นายหลง (ไม่ปรากฏนามสกุล) พ.ศ. ?- ๒๔๕๓
๒. นายโฉม พร้อมลาภ พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๗๑
๓. นายประยูร สุนทารา พ.ศ. ๒๔๗๒ – ๒๕๐๒
๔. นายกุล ผ่องสุวรรณ พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๓๓
๕. นายถนอม ทรงสาละ พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๔๖
๖. นายดำเกิง จินดาหรา พ.ศ. ๒๕๔๖ – ปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watpaknam.org
สำหรับท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าลิ้งเว็บไซต์ทางวัดจากข้อมูลอ้างอิง