วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร
ประวัติ ถนนพระรามที่ ๑ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
สวนสระปทุม
เมื่อพุทธศักราช 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ท้องที่นาหลวงอยู่ในคลองบางกะปิรายหนึ่ง มีพระบรมราชประสงค์จะให้ทำเป็นรมณีย์สถาน เช่น สระปลูกดอกบัวต่าง ๆ ไว้สำหรับทอดพระเนตร เพื่อสำราญพระราชหฤทัยในยามว่างพระราชกิจ เรื่องปลูกดอกบัวในสระบัว ทำเป็นสถานที่เสด็จประพาสครั้งนี้ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า โปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นแม่กอง พระยาสามภพพ่ายเป็นนายงานเจ้าจีนชุดสระบัวให้เป็นเกาะน้อย เกาะใหญ่ลดเลี้ยวกันไป ถ้าที่ไม่พอก็ให้ซื้อราษฎรต่อไปอีก สมเด็จพระยาองค์น้อย พระยาสามภพพ่าย ทำพระที่นั่งประทับแรมองค์หนึ่ง,ทำพลับพลา,โรงละคร,ที่เจ้าจอมอาศัย,โรงครัวข้างในและโรงครัวเลี้ยงขุนนางหน้า ชักกำแพงล้อมรอบเป็นเขตข้างหน้าข้างใน ฝ่ายข้างใต้ให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งพระราชทานชื่อ “วัดปทุมวนาราม” นิมนต์พระสงฆ์คณะธรรมยุตไปอยู่ เจ้าอธิการชื่อ “พระครูปทุมธรรมธาดา” แล้วให้ขุดสระใหญ่มีเกาะน้อยและเกาะใหญ่ในกลางสระ ในสระนั้นให้ปลูกดอกบัวต่าง ๆ บนเกาะนั้นให้ปลูกผักต่าง ๆ ถึงฤดูแล้งเดือน 2 ข้างขึ้น ก็เปิดน้ำเข้าไว้เต็มสระ เสด็จมาประทับอยู่ 2 ราตรีบ้าง 3 ราตรีบ้าง ให้เจ้าจอมข้างในลงเรือพายเก็บดอกบัวและพรรณดอกไม้ และพรรณผักซิงกันขึ้นสำปั้นน้อย พายเข้าไปบิณฑบาต เวลาค่ำก็ให้พิธีทอดผ้าป่า และให้เรือข้าราชการเข้าไปเล่นสักวาดอกสร้อย ทรงดั่งนี้ทุกปี
ครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือในความสนุกสนานกันมาก ทั้งเจ้าจอมหม่อมห้าม และบรรดาข้าราชการอำมาตย์ ราชเสวก เมื่อเอ่ยถึงสระปทุมแล้วหมายถึงความรื่นรมย์เป็นอย่างยิ่งสำหรับสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสำราญพระราชหฤทัยด้วยดุจกัน ในยามเช้าเสด็จออกทรงบาตรแก่พระราชาคณะผู้ลงเรือสำปั้นน้อย พายเข้ามารับบาตร ทั้งนี้เป็นด้วยทรงคุ้นเคยกับพระสงฆ์ราชาคณะอยู่ทุกรูปแต่ครั้งเสด็จทรงผนวชอยู่และเพื่อให้พระสงฆ์ราชาคณะได้พบเห็นทิวทัศน์อันสวยงามในบริเวณสระปทุม ที่ทรงนิรมิตขึ้นเป็นเกาะ ปลูกพรรณอุบลชาติ บัวเผื่อน บัวผัน บัวหลวง ตลอดจนพรรณบุปผชาติต่าง ๆ สมกับพระราชศรัทธา ก็มักจะตรัสนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะวัดต่าง ๆ เข้ามารับพระราชทานบิณฑบาตทางเรือสำปั้นทุก ๆ เวรที่ทรงเสด็จประพาสและเสด็จมาประทับแรม โดยเฉพาะถ้าเป็นฤดูน้ำในสระปทุมนั้น ก็เหมือนสระสวรรค์อันชลอมาตั้งอยู่ในเมืองมนุษย์ผู้ใดได้พบเห็นก็นับเป็นบุญตาและบุญตัว น้ำในสระจะเอ่ออาบเสมอขอบฝั่ง และแลไปเบื้องหน้าเกาะต่าง ๆ ที่ทรงให้สมเด็จพระยาองค์น้อยกับพระยาสามภพพ่ายประดิษฐ์ขึ้นนั้นและสลับสล้างลางเกาะหมู่ไม้เข้าปกคลุมครึ้มเหมือนกับธรรมชาติมาช่วยส่งเสริมให้งดงามยิ่งขึ้น ก็ยามนั้นแล บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้าม ต่างลงเรือแต่ละลำแต่งกายโอ่อ่าหอมฟุ้งไปด้วยเครื่องร่ำกำยาน สุคันธรส และโดยเฉพาะขณะใดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เรือเข้าทูลละอองธุลีพระบาทนำวงสักวาดอกสร้อยเข้าไปลอยลำขับร้องโอดพัม มีโทนทับกรับฉิ่งตีเป็นจังหวะด้วยแล้ว เสียงโทนทับท้าทายเร่งจังหวะเสียงร้อยดอกสร้อยแก้กันและยามย่ำค่ำเรือทุกลำต่างจุดประทีปสว่างไสวพร่างพรายสะท้อนแสงลงในสระเป็นประกายงดงามยิ่งนัก อุปมาเหมือนชละสระอโนดาตแห่งสวรรค์ ชั้นวิมานแมนลงมาตั้งอยู่ ณ ที่นั้นก็ดุจกัน
น่าอัศจรรย์ที่พระสงฆ์ราชาคณะ ได้รับนิมนต์ลงเรือสำปั้นลำน้อยเข้าไปรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตที่สวนสระปทุมหมดทุกองค์ เว้นแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตองค์เดียว หาได้รับนิมนต์เข้าไปรับบาตรโดยทางเรือดังได้พรรณนามานั้นไม่ จะเป็นเพราะเพิ่งทรงรำลึกได้หรือประการใดไม่แน่ชัดครั้งหลังประมาณปีพุทธศักราช 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สังฆการี นิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์โตกับพระราชาคณะองค์อื่นอีกหลายรูป ลงเรือสำปั้นลำน้อย ๆ เข้ารับบิณฑบาต
เวรรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตเช้าวันนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์โตเป็นองค์นำ พร้อมกับพระสงฆ์ราชาคณะชั้นสามัญอีก 10 รูป ทางสังฆการีจัดให้สมเด็จพระพุฒาจารย์โตกับพระราชาคณะอื่นอีก10 รูปจอดเรือรออยู่ก่อนแต่ละองค์มีบาตรตั้งมากลางลำเรือทุกองค์พายเรือเองคอยอาณัติสัญญาณจากสังฆการี ถ้าเสด็จลงทรงบาตรเมื่อใด สังฆการีจะให้สัญญาณ แล้วจึงให้สมเด็จพระพุฒาจารย์โตพายเรือนำพระสงฆ์ราชาคณะอีก 10 รูป เข้ารับบิณฑบาตเป็นลำดับ อย่าให้เป็นที่ขัดเคืองพระราชอัธยาศัย สมเด็จ ฯ กับพระสงฆ์ราชาคณะรับทราบอาณัติสัญญาณของสังฆการีด้วยอาการดุษฎีครั้งแล้วสังฆการีก็ลงเรือไปจอดอยู่ที่หน้าพลับพลาริมท่าน้ำที่จะทรงเสด็จลงทรงบาตร
เช้าวันนั้น ประมาณ 09.45 น. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยสำราญเสด็จประทับพลับพลาเตรียมพร้อมที่จะทรงบาตร เจ้ากรมสังฆการี ก็กราบบังคมทูลถวายรายงานชื่อพระสงฆ์ราชาคณะที่จะเข้ารับพระราชทานบิณฑบาตให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า “ขอเดชะ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆังจะเป็นองค์แรกเข้ารับพระราชทานอาหารบิณฑบาตพร้อมกับพระราชาคณะสามัญอีก 10 รูป พระพุทธเจ้าข้า” ครั้นแล้วก็กราบทูลรายนามพระราชาคณะให้ทรงทราบทุกองค์
พอกราบทูลเสร็จ ก็หันไปให้สัญญาณแก่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตดังได้ตกลงกันไว้แล้ว สมเด็จ ฯ พอแลเห็นสังฆการีให้สัญญาณว่าพร้อมแล้วให้พายเรือเข้าไปบิณฑบาตได้เช่นนั้น ก็พายเรือเข้าไปยังที่จะถึงพลับพลาริมน้ำด้วยความชำนิชำนาญ พอเรือใกล้ที่จะถึงพลับพลาก็คัดวาดเรือสำปั้นเข้าเทียบหน้าที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พอและเห็นสมเด็จ ฯ ก็แย้มพระโอษฐ์ “อ้อ! ขรัวโต”
สมเด็จ ฯ สำรวมอิริยาบถด้วยอินทรีย์สังวรบนเรือสำปั้นน้อยอย่างสงบเสงี่ยม ในมือทั้งสองถือพายราน้ำคอยคัดวาดเรือนิ่งอยู่กับที่ พอสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงบาตรเสด็จแล้วตรัสถามว่า “ ดีไหม ขรัวโต สวนสระปทุม” ?สมเด็จ ฯ ถวายพระพรทูลว่า “สระปทุมนี้ตระการเหมือนราชรถ” ขอถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระพักตร์บึ้ง สมเด็จ ฯ เห็นเสร็จภาระรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตแล้วก็ค่อย ๆ เอามือพุ้ยน้ำให้เรือสำปั้นเคลื่อนจากที่พลับพลาหน้าที่ประทับให้พระสงฆ์ราชาคณะองค์อื่น ๆ เข้าไปรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตตามลำดับ แต่สมเด็จ ฯ ท่านยังคงพายเรือวนเวียนอยู่หน้าพลับพลาที่ประทับนั่นเอง หาได้ไปห่างไกลไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าฯ ทรงบาตรทั้งคาวหวานครอบทุกองค์แล้ว ทรงทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระพุฒาจารย์โตยังพายเรือวนเวียนอยู่ จึงให้สังฆการีนิมนต์เข้ามาหา สังฆการีพายเรือปราดเหมือนจับพุ่งไปนิมนต์ท่านสมเด็จ ฯ ว่า มีพระราชโองการให้นิมนต์ไปพบ สมเด็จ ฯ จึงพายเรือตามสังฆการีจนถึงหน้าพลับพลาที่ประทับริมน้ำ ดูเหมือนสังฆการีเองก็ไม่สบายใจนัก เพราะแลเห็นพระพักตร์ของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงแจ่มใสเหมือนแต่แรก ขณะที่กำลังวิตกอยู่นั้น ก็ได้ยินพระสุรเสียงตรัสกับสมเด็จ ฯ ว่าเขาให้แล้วทำไมยังไม่กลับพายวนเวียนอยู่ทำไม ? น้ำพระสุรเสียงที่ตรัสค่อยข้างเฉียบขาด จะเอาอะไรอีกเล่า? สมเด็จ ฯ เอาพายราน้ำ ทูลถวายพระพรว่า “ที่พายวนเวียนอยู่เพราะเกรงว่าพระราชาคณะที่แก่เฒ่าและบางองค์ก็ว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าเรือล่มจะได้ช่วย ขอถวายพระพร” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงประทับนิ่ง ครั้นสมเด็จฯ เห็นหมดเวลาพระราชปฏิสันถารแล้ว ก็ถวายพระพรลาพายเรือกลับมายังวัดปทุมวนาราม เพื่อลงเรือกลับวัดระฆังโฆสิตารามอีกทอดหนึ่ง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การนิมนต์พระราชาคณะเข้าไปรับบิณฑบาตใน “สระปทุม” เป็นอันยกเลิก โดยพระบรมราชโองการกับเหตุนี้มาจากสมเด็จฯ ได้ทูลถวายพระพร ทรงเห็นพ้องต้องกันกับสมเด็จฯ พระภิกษุบางองค์ชราภาพ บางองค์ว่ายน้ำไม่เป็นไหนจะต้องนั่งประคองตัวในเรือสำปั้นเล็ก ๆ เพื่อให้ไม่โคลง เวลาเข้ารับพระราชทานบิณฑบาต ถ้าเพลี่ยงพล้ำอย่างไรเกิดอุบัติเหตุเรือคว่ำจมลงจะเป็นอันตรายแม่นมั่น จึงทรงมีพระราชโองการเลิกนิมนต์ แต่ฤดูหน้าน้ำเดือน 11 สิ้นฤดูพรรษามักเสด็จทอดพระกฐิน พระราชทานและยังมีการร้องรับขับคลอสักวาและดอกสร้อยอยู่อีกตลอดรัชสมัย
การที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตท่านทูลถวายพระพรว่า “สระปทุมตระการเหมือนราชรถ” นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงทราบทันที เพราะมีพระคาถาพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “เอถ ปสฺสถิ มํ โลกํ จตฺตํ ราชถู ปมํ ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิสงฺโค วิชนติ” “สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ มีแต่คนเขลาเท่านั้นติดอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาได้ติดอยู่ไม่” เห็นจะมีสมเด็จพระพุฒาจารย์โตองค์เดียวเท่านั้น ที่สามารถทูลถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างไม่เกรงพระราชอาญา แต่นั้นแหล่ะวิสัยขัติยปัณฑิติยชาติ เช่นสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดความจริง พระทรงศึกษามาเจนจบ และทรงนิยมในคุณวิเศษของสมเด็จฯ อยู่แล้ว หาทรงถือโทษไม่นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สมเด็จฯ ท่านสามารถโต้กับองค์พระมหากษัตริย์ด้วยพระปรมัตธรรมให้ท่านผู้อ่านคิดก็แล้วกัน บัณฑิตต่อบัณฑิตคุยสนทนากัน เพียงแค่นี้ก็เข้าใจความหมาย
วัดปทุมวนาราม
บริเวณตำบลปทุมวันก่อนที่จะได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมชนที่อาศัยอยู่หนาแน่นเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ เป็นสถานที่ตั้งโรงโรมใหญ่โต และเป็นสถานที่ตั้งกรมตำรวจ เช่น ปัจจุบันนี้ เมื่อสมัยร้อยกว่าปีก่อนโน้นในรัชกาลที่ 3 บริเวณนี้ช่างเป็นที่เปลี่ยวเงียบสงบเสียจริง ๆ เพราะนอกจากจะมีครอบครัวไทยล้านช้างที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งขบถเจ้าอนุวงศ์ได้มาสร้างบ้านแปลงเรือนอยู่ตามริมคลองแสนแสบเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น บริเวณสองฟากฝั่งคลองแสนแสบจึงเป็นผืนนากว้าง เป็นบริเวณที่ประกอบการกสิกรรมของชาวไทยล้านช้างเหล่านี้ ไม่ใคร่มีผู้คนสัญจรไปมา เพราะไม่มีการคมนาคม ถนนหนทาง ไม่มีทางรถยนต์ มีทางจะติดต่อกับพระนครได้ก็โดยทางเรือเท่านั้น
โดยเฉพาะบริเวณฝั่งใต้คลองแสนแสบซึ่งเป็นเขตของนาหลวง บริเวณแถบนี้มีสภาพเป็นที่ลุ่มเป็นแอ่งน้ำบ้าง เป็นสระเล็ก ๆ บ้าง มีน้ำขังอยู่เสมอ ดังนั้น จึงมีดอกบัวต่าง ๆ พันธุ์ขึ้นอยู่เต็มไปหมดในฤดูฝนมีน้ำมาก บัวเหล่านี้จะชูช่อใบก้านเขียวชอุ่มและดอกบัวสะพรั่งงามตายิ่งนัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชย์สมบัติแล้ว ลุถึงปี พ.ศ. 2396 พระองค์ทรงพระราชดำริว่าควรจะทำสถานที่บริเวณนี้ให้เป็นสถานที่ประพาสสำราญพระอริยาบททางชลมารคโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดเป็นสระแล้วปลูกบัวพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ชมเล่น และสร้างที่ประทับแรมภายนอกพระนครเพื่อทรงพักผ่อนพระราชกรณียกิจเหมือนกับที่เคยมีมาสมัยกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาองค์น้อยเป็นแม่กอง พระยาสามภพพ่าย (นามเดิมชื่อหนู นามสกุลเกตุทัตหงสกุล ภายหลังได้เป็น พระยาเพ็ชรพิไชย) เป็นนายงานตกลงจ้างจีนขุดสระบัวกว้างใหญ่คล้ายทะเลสาบน้อย ๆ ขึ้นสองสระ สระด้านเหนือเรียกว่า “สระใน” และสระด้านใต้เรียกว่า “สระนอก” ติดต่อถึงกัน เว้นที่ไว้กลางสระเป็นแห่ง ๆ ประดิษฐ์ให้เว้า ๆ แหว่ง ๆ รูปแปลก ๆ กัน ลดเลี้ยวกันไปใหญ่บ้างเล็กบ้างหลายแห่ง แล้วเอาดินมาถมทำเป็นเกาะแก่งและภูเขา หาบัวพันธุ์ต่าง ๆ ดอกสีแปลก ๆ กันมาปลูกไว้ในสระ บนเกาะนั้นเล่าให้ปลูกผักต่าง ๆ พรรณดอกไม้ต่าง ๆ สีไว้มากมาย ดูสวยสดงดงามยิ่ง แล้วขุดคลองเล็กให้เป็นทางไขน้ำจากคลองแสนแสบเข้ามาในสระและใช้เป็นทางเรือเข้าออกด้วย(ปัจจุบันเรียกว่าคลองอรชร) ครั้งถึงฤดูแล้ง เดือน 2 ข้างขึ้น ก็ให้ไขน้ำเข้าไว้เปี่ยมสระเฉพาะฝั่งเหนือของสระใน ให้ปลูกโรงเรือนขึ้นเป็นพระที่นั่ง สำหรับประทับแรมหนึ่งองค์ พลับพลาสำหรับเสด็จออกโรงละครที่สำหรับเจ้าจอมอาศัย โรงครัวข้างใน แล้วพระราชทานนามว่า“วังสระปทุม” และให้พระราชทานบริเวณนั้นว่า “ตำบลปทุมวัน” ตามนิมิตแห่งสระบัวใหญ่ และวังที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
ครั้นสร้างวังและสร้างสระปทุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2400 ตรงกับแรม 4 ค่ำ เดือน 7 พระองค์ก็เสด็จทางชลมารคมาประทับแรมที่วังสระปทุมเป็นครั้งแรก จึงต้องมีหมายกำหนดการเสด็จประพาสหัวเมืองนานวันต่อมา เมื่อถึงเดือน 12 น้ำกำลังมาก พระองค์ก็เสด็จมาประทับแรม 2 ราตรีบ้าง 3 ราตรีบ้าง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมข้างในลงเรือพายเก็บดอกบัว ฝักบัว พรรณดอกไม้และพรรณผักชนิดต่าง ๆ เป็นที่สนุกสนานรื่นเริงนัก เวลาเช้าจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะต่างวัดลงเรือสำปั้นน้อยพายเข้าไปรับบิณฑบาต เวลาค่ำจะโปรดเกล้าฯให้มีการแข่งเรือของราษฎรทั่วไป เป็นที่สนุกสนานแก่ชาวประชายิ่งนัก
ประมาณปลายปี พ.ศ. 2396 การสร้างสระปทุมและวังสระปทุม ได้สำเร็จเรียบร้อยลงและก็เป็นปีที่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีสิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าควรจะสร้างวัดขึ้นสักหนึ่งวัดที่ฝั่งตะวันตกของสระนอก เพื่อพระราชทานแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้ายาองค์น้อยเป็นแม่กลอง พระยาสามภาพพ่ายเป็นนายงานควบคุมการก่อสร้างวัด และพระองค์ทรงพระราชทานนามไว้ก่อนว่า “วัดปทุมวนาราม” แต่คนส่วนมากมักเรียกว่า “วัดสระปทุม” หรือ “วัดสระ” เฉย ๆ
สันนิษฐานว่า การสร้าง “วัดปทุมวนาราม” ได้เสร็จสิ้นลงปลายปี พ.ศ. 2400 ได้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจาก “วัดบวรนิเวศวิหาร” ไปเป็นเจ้าอธิการ และได้แต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น “พระครูปทุมธรรมธาดา” ครั้น ณ เดือน 1 ขึ้น 15 ค่ำ เวลาเช้า ตรงกับวันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคด้วยกระบวนเรือ และมีเรือข้าราชการเป็นจำนวนมากแห่งขึ้นไปรับ “พระแสน องค์ 1” “พระไส องค์หนึ่ง” ลงมาจากวัดเขมาภิรตารามไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม (ซึ่งจะได้กล่าวถึงประวัติพระแสน และพระไส ในตอนหลัง)
เป็นอันว่าการสร้างวัดปทุมวนารามเสร็จสิ้นลงในปลายปี พ.ศ. 2400 เผอิญสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ได้สิ้นพระชนม์ลง ประจวบกับในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเกี่ยวกับการบ้านเมืองหลายด้านด้วยกัน งานฉลองวัดปทุมวนาราม จึงเป็นอันงดไปมิได้กระทำ
งานฉลองวัดปทุมวนาราม
กาลเวลาได้ล่วงเลยถึงปี พ.ศ. 2410 พระองค์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองวัดปทุมวนารามขึ้นอย่างมโหฬาร ณ วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2410 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 1 ปีเถาะ
เวลาบ่ายได้จัดกระบวนแห่งพระพุทธรูป ผ้าไตร เครื่องอัฏฐบริขารลงเรือเอกไชย แต่หน้าพระที่นั่งชลังคพิมาน กระบวนแห่เรือเอกไชยบุษบกลำหนึ่ง เรือดั้ง 2 คู่ เรือกราบ 2 เรือศรี 2 ณ เดือน 1 ขึ้น 11 ค่ำ 12 ค่ำ 13 ค่ำ เวลาบ่าย พระสงฆ์ 108 รูป เจริญพระพุทธมนต์ที่พระอุโบสถ 20 รูป พระวิหาร 73 รูป ที่เรือนพระศรีมหาโพธิ์ 15 รูป
ขึ้น 12 ค่ำ 13 ค่ำ 14 ค่ำ เวลาเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉันทั้ง 3 วัน ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก ณ วันขึ้น 14 ค่ำ ตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน บายศรีตอง เวียนเทียนสมโภช มีพระธรรมเทศนาด้วยวันละหนึ่งกัณฑ์ ซึ่งแสดงโดยพระราชาคณะ สำหรับของไทยทานจัดเป็นกระจาด 3 ชั้น กระจาดละ 4 ตำลึง มีผลกัลปพฤกษ์ทิ้งทาน 4 ต้น ๆ ละชั่ง
ส่วนการละเล่นสมโภช มีโขน หุ่น ละคร งิ้ว ไม้ต่ำ ไม้สูง 3 วัน เวลาค่ำมีหนังมีระทาสูง 12 วา 6 ระทา และดอกไม้เพลิงต่าง ๆ 4 คืน ชาวประชาทั้งชาวกรุงและชาวชนบททั้งใกล้และไกล ต่างไปร่วมงานฉลองบำเพ็ญกุศลครั้งนี้อย่างล้นหลาม และได้รับความสนุกสนานรื่นเริงโดยทั่วกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปเป็นประธานในงานตลอด 5 ราตรี และได้ประทับแรมที่วัดสระปทุม ครั้นถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2410 งานฉลองวัดปทุมวนารามได้สิ้นสุดลง และพระองค์ได้เสด็จนิวัติคืนสู่พระนคร
วันเวลาได้ผ่านพ้นมาจนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยานานาพิธภาษี บุตรสมเด็จพระยาองค์น้อย เป็นนายงานปฏิสังขรณ์วัดปทุมวนาราม และสระปทุมอีกครั้งหนึ่ง แต่ในช่วงหลังนี้ การละเล่นภายในสระปทุมได้ล่วงเลยไปจนเลิกไม่มีการเล่นอีก ทั้งตัวสระบางสระไม่ได้ขุดลอกจึงตื้นเขินไปเสียมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานวังให้เป็นโรงทหารหน้าครั้งหนึ่ง
เมื่อย้ายทหารไปอยู่ที่โรงทหารหน้าหลักเมืองแล้ว จึงได้เป็นที่แสดงกิจการของหน่วยราชการต่าง ๆ เสมอ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานวังแห่งนี้ ให้เป็นวังของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
จะขอกล่าวถึงโบราณวัตถุและประวัติสำคัญที่มีอยู่ในวัดปทุมวนารามต่อไป
พระอุโบสถ ตั้งอยู่ข้างหน้าวัด (หน้าวัดหันเข้าสู่สระปทุมวัน) หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีรูปทรงอย่างแบบรัตนโกสินทร์อื่น ๆ หลังคาลดลงสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องทำลอนเป็นลูกฟูกอย่างแบบจีน ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นรูปมหามกุฏเหนือพานอยู่ภายใน กลับดอกบัวประดับด้วยลายเปลว มีกอบัวมีใบและดอก ข้างล่างพื้นประดับกระจกสี ตามมุมและเสาระเบียงข้างนอกมีแผ่นศิลาเขียวสลักรูปกอบัวปิดไว้ ใบเสมาแต่งเป็นรูปสี่ยอดมน ตรงกลางสลักกลีบดอกไม้ตามแบบรัตนโกสินทร์ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นรูปปั้นรูปมงกุฎ บานประตู และหน้าต่าง ประดับลายรูปปั้นเป็นรูปชีวิตของชาวนา มีโรงนา ชาวนากำลังไปไถนา คราดนา ตกปลา ควายกำลังสู้กันอยู่ในคอก ในอากาศก็มีนกกระยางกำลังเหิรลมอยู่หลายตัว ภาพเหล่านี้เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศสภาพพื้นที่แถบนั้นตามธรรมชาติเป็นจริงในสมัยเริ่มสร้างวัด ด้านในของประตูหน้าต่าง เขียนรูปเครื่องบูชาแบบจีนสอดสีสวยงามยิ่งนัก
ภายในพระอุโบสถมีพระประธานมีนามว่า “พระไส” เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนชุกชี 4 ชั้น ข้างหลังองค์พระมีซุ้มประทับ ส่องให้เห็นองค์พระงามเด่นยิ่งขึ้น รูปเขียนผนังข้างพระอุโบสถแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนเขียนเป็นภาพการเสด็จประพาสสระบัว รอบเรือพระที่นั่งซึ่งลอยลำอยู่กลางสระ มีบัวนานาชนิด เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ดอกหลากสี รูปชั้นล่างแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ที่พระภิกษุจะต้องอาบัติ และอานิสงส์ของการปฏิบัติ เฉพาะผนังหลังพระประธานเขียนเป็นรูปดอกบัวสวรรค์ขนาดใหญ่ แต่ละดอกมีนางฟ้าไปฟ้อนรำอยู่ถึง 7 นาง
พระเจดีย์
ต่อจากพระอุโบสถเข้าไปเป็นพระเจดีย์ รูปทรงกลม แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม ตามมุมทั้งสี่มีพุ่มปั้น เป็นรูปดอกซ้อน 4 ชั้น เฉพาะฐานแท้ ๆ เป็นรูปกลมข้างในโปร่งเปิดเข้าไปเห็นผนังที่ก่อรับน้ำหนักสามชั้นแต่ละชั้นหนาประมาณสามศอก ตรงกลางเป็นลานว่าง ปัจจุบันได้ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองหินอ่อน บันไดขึ้นไปถึงตัวเจดีย์ สร้างเป็นรูปกลมข้างในโปร่งเหมือนกัน ตรงกลางมีพระพุทธรูปไสยาสน์หินอ่อน ซึ่งได้มาจากลังกา ข้าง ๆ มี พระพุทธรูปยืนในท่าต่าง ๆ ด้านตะวันออกมีรูปอดีตท่านเจ้าอาวาสประดิษฐานอยู่
พระวิหาร
ต่อจากพระเจดีย์ไปทางทิศตะวันตก เป็นพระวิหาร ดูภายนอกเผิน ๆ มีรูปทรงคล้าย ๆ พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส หลังคาลดสองชั้น และต่อระเบียงยื่นหน้าหลัง มุงกระเบื้องลูกฟูกอย่างพระอุโบสถ ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันปิดกระจก ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มปิดกระจก ด้านนอกปั้นเป็นรูปเทพชุมนุม ประกอบด้วยลายเปลวอย่างประณีตงดงาม หน้าบันไดของระเบียง ปั้นรูปมหามงกุฎประดิษฐานบนพาน ขนาบด้วยฉัตรห้าชั้น ประกอบด้วยลายเทพพนม และลายเปลวประตูหน้าต่าง กรอบซุ้มปั้นเป็นรูปยอดมงกุฎ ประกอบด้วยลายดอกบัวสีทอง พื้นประดับกระจกสี บานประตูด้านนอกทำลายเป็นเทพพนมอยู่ในดอกบัว พื้นประดับกระจกสี ด้านในเขียนเป็นรูปมนุษย์โผล่ขึ้นมาจากสระบัว หน้าต่างด้านนอกเขียนลายลดน้ำเป็นรูปดอกบัว ด้านในเขียนเป็นรูปยักษ์ ขึ้นจากสระบัวสอดสี เหมือนประตู เสาภายในเขียนเป็นรูปดอกบัว แต่ละเสาสีพื้นไม่เหมือนกัน ผนังตอนบนเขียนรูปภาพกระบวนเรือเสด็จชลมารค ตอนล่างเขียนเรื่องศรีธนชัย พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตัก กว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว มีพระนามว่า “พระเสริม” ข้างหน้าพระเสริมมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยอย่างเดียวกัน แต่ย่อมกว่า อีกองค์หนึ่ง หน้าตัก กว้าง 1 ศอก 6 นิ้ว มีพระนามว่า “พระแสน”ประดิษฐานลดลงมา
พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ เป็นพระพุทธรูปสำคัญของแคว้นล้านช้างมาก่อน ซึ่งจะได้กล่าวประวัติรายละเอียดความเป็นมาในตอนท้าย ทางด้านซ้ายพระประธานมีพระบรมรูปปั้นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 องค์ ด้านในชิดกำแพงแก้ว เขตพุทธาวาส มีกุฏิพิเศษอยู่ 2 หลัง ซ้ายและขวา หลังคาของกุฏิทั้งสองได้ต่อขึ้นไปเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมสูงเด่นอยู่
เรือนพระศรีมหาโพธิ์
โพธิลังกาอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระวิหาร ภายในโพธิลังกานั้น มีพระพุทธรูปอยู่รอบ ๆ ส่วนมหาโพธิต้นนี้ได้พันธุ์มาจากลังกา
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watpathumwanaram.com/main/about.php