ประวัติ วัดบึง - ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา - webpra

วัดบึง

ประวัติ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

วัดบึง

          วัดบึง ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง ใกล้กับประตูชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา

การสร้างเมืองนครราชสีมา ในสมัยสมเด็จพระนาราย์มหาราช ได้มีวัดประจำเมืองซึ่งอยู่ประจำทิศต่าง ๆ ภายในกำแพงเมือง หกวัด ได้แก่ วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) วัดบูรพ์ วัดอิสาน วัดพายัพ วัดสระแก้ว และวัดบึง วัดบึงเป็นวัดที่อยู่ทาง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชื่อวัดบึงเพราะมีบึงใหญ่อยู่ในวัด ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๗ ไร่

          ลักษณะสำคัญของวัดที่บ่งบอกว่าเป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยา คือ พระอุโบสถฐานแอ่นแบบเรือสำเภา กว้าง ๓ ห้อง ยาว ๖ ห้อง หลังคาจั่ว ๒ ชั้น เชิงชาย ๓ ชั้น หน้าบันด้านทิศตะวันออกแกะสลักเป็นลาย กระหนกก้านขด มีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ตรงกลาง ส่วนหน้าบันด้านทิศตะวันตกแกะสลักลาย กระหนก ก้านขดมีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอยู่ตรงกลาง เสาของพระอุโบสถ เป็นเสากลมขนาด ใหญ่ ๑๔ ต้น มีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง คันทวยไม้สวยงามมาก แกะสลักเป็นรูปพญานาคทั้งหมด ๑๒ อัน แต่ละอันยาว ประมาณ ๒ เมตร

ปัจจุบันวัดได้ดูแลรักษาพระอุโบสถหลังนี้ไว้เป็นอย่างดีจนได้รับประกาศเชิดชูเกียรติจากศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกโครราชในวัดอนุรักษ์มรดกไทย ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔

          พระอุโบสถก่อสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๒.๑๕ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สูง ๓๐ เมตร หลังคาเครื่องบนเป็นไม้ ๒ ซ้อน ซ้อนที่ ๑ มี ๓ ตับ ซ้อนที่ ๒ มี ๔ ตับ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา เครื่องบนทรงเครื่องลำยอง มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงษ์ ประดับกระจกสี ผนังก่อสร้างอิฐฉาบปูน ด้านนอกมีคันทวยแกะสลักทำด้วยไม้เป็นรูปนาค ยาวประมาณ ๑.๘๐ เมตร ประดับกระจก ข้างละ ๖ ตัว รวม ๑๒ ตัว ประตูด้านหน้ามี ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ฐานลักษณะบัวโค้งเป็นฐานสำเภา เรียกตามภาษาช่างว่า “โค้งปากตะเภา” หน้าบันด้านทิศตะวันออก แกะสลักไม้รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ตรงกลาง รอบข้างเป็นลายก้านขดหางโต ทิศตะวันตกเป็นรูปพระวิษณุ ทรงครุฑ ประกอบด้วย ลายก้านขดเช่นเดียวกัน ภายในพระอุโบสถเสากลม หัวเสาบัวจงกล ๖ คู่ รวม ๑๒ ต้น

          พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๖ ศอก ประทับนั่งสมาธิราบ ลักษณะศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพระพุทธรูปศิลปะสมัยลพบุรี ปางห้ามสมุทร สูง ๖๒ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ข้างองค์พระประธานจำนวน ๖ องค์ พระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปกรรมสมัยลพบุรี ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๙ นิ้ว สูง ๓ ฟุต ภายนอกพระอุโบสถประกอบด้วย กำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูน ใบเสมาหินทราย ๘ ทิศ เป็นเสมาคู่ ประดิษฐานอยู่บนฐานสิงห์ ตอนบนเป็นบัวเกษร

          ด้านหลังพระอุโบสถมีเจดีย์ ๑ องค์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิของอดีตเจ้าอาวาสวัดบึงและอัฐิของบรรพบุรุษที่ปฏิสังขรณ์ เจดีย์นี้ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งองค์ ใน พ.ศ. ๑๕๐๓ และ ๒๕๓๔

          วัดบึงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมา มาตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้สร้างเมืองนครราชสีมา เป็นวัดสำคัญ ๑ ใน ๕ วัด คือ วัดพระนารายณ์ (วัดกลาง) วัดบึง วัดบูรณ์ วัดอีสาน และวัดพายัพ พระอุโบสถอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างเด่นชัด คือ พระอุโบสถเป็นทรงสำเภา หน้าบันด้านหน้าทิศตะวันออกแกะเป็นรูป พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านหลังทิศตะวันตกแกะเป็นรูปพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ ทรงครุฑ มีลวดลายกนกก้านขดหางโตประกอบ มีใบเสมาคู่ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙

          พระอุโบสถวัดบึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยรักษาคุณค่าของลักษณะสถาปัตยกรรมเดิมไว้ เสริมด้วยตาข่ายป้องกันนกเข้าไปอาศัยในหน้าบันทั้งสองด้าน ซึ่งถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็น แต่บันไดทางขึ้นพระอุโบสถทั้งสองด้านทำบันไดนาคขอมขึ้นใหม่ ซึ่งดูแล้วยังขัดกัน เพราะเป็นศิลปกรรมคนละสมัย อีกประการหนึ่งเนื่องจากวัดตั้งอยู่ในย่านธุรกิจ ทำให้มีอาคารพาณิชย์บดบังทั้ง ๓ ด้าน สภาพดูอึดอัดไม่สบายตา

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/northeast/watbueng.php

Top