วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
ประวัติ วัดประจำรัชกาลที่ ๖
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ ในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุเทพมหานคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๓ทรงสร้างใหม่ในรัชกาลนั้น ที่ทำการปลงศพเจ้าจอมมารดา(น้อย) ซึ่งเป็นเจ้าจอมของพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชชายา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗ และพ.ศ. ๒๓๗๕ (ปีระหว่างอุปราชาภิเษกและสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น) ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาสที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๖ ซึ่งต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าร่วงโรยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกับวัดบวรนิเวศวิหารเสีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสมาเดิมว่า "คณะรังษี"
วัดนี้ เดิมเรียก "วัดใหม่" น่าจะได้รับพระราชทานชื่อวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราส เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) เสด็จมาอยู่ครองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ สมเด็จพระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น เสด็จสรรคตเมื่อต้น พ.ศ. ๒๓๗๕ เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวร (ไม่ได้ทรงตั้งจนตลอดรัชกาล)
เมื่อทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ เสด็จมาครองวัดใหม่ ก็ได้โปรดให้เสด็จเข้าไปทรงเลือกของในพระบวรราชวังก่อน มีพระประสงค์สิ่งใด พระราชทานให้นำมาได้ ข้อนี้มีหลักฐานสมจริง พระไตรปิฎกฉบับวังหน้าที่วัดนี้ มีกรอบและผ้าห่อสายรัดอันวิจิตร กรอบเป็นทองคำลงยาก็ เป็นถมตะทองก็มี เป็นงาสลักก็มี ประดับมุกก็มี เป็นของประณีตเกินกว่าทำถวายวัด เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่ทรงสร้างไว้สำหรับพระราชวังบวร แม้เหล่านี้บางทีจะทรงเลือกเอามาในครั้งนั้นก็ได้ การที่โปรดให้เข้าไปทรงเลือกของในพระราชวังบวรและพระราชทานชื่อวัดที่เสด็จประทับอยู่ว่า "วัดบวรนิเวศวิหาร" ย่อมเป็นเหมือนประกาศให้รู้ว่า ทรงเทียบสมเด็จพระอนุราชาธิราส เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ไว้ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งมหาอุปราช เพื่อป้องกันความสำคัญในการสืบราชสมบัติ เพราะคำว่า "บวรนิเวศ" เทียบกันได้กับ "บวรสถาน" ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเทียบได้กับ "วังบน" อันเป็นคำเรียกพระราชวังบวรอีกชื่อหนึ่ง มีคำเล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ทรงเลือกเอาหนังสือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทราบว่ายังไม่ทรงลาผนวช และได้เชิญเสด็จสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ มาครองวัดนี้ในพุทธศักราช ๒๓๗๙ โดยจัดขบวนแห่เหมือนอย่างพระมหาอุปราช
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ทรงได้ปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติ ปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยมีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นอันมาก ในคราวที่พระองค์เสด็จมาครองวัดก็ได้นำเอาการประพฤติ ปฏิบัตินั้นมาใช้ในการปกครองพระสงฆ์ ณ วัดนี้ด้วย ซึ่งในครั้งเดิมเรียกพระสงฆ์คณะนี้ว่า “บวรนิเวศาทิคณะ” อันเป็นชื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาจึงได้ชื่อว่า “คณะธรรมยุติกนิกาย” ซึ่งแปลว่าคณะสงฆ์ผู้ซึ่งปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงถือว่าวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสำนักเอกเทศแห่ง คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเป็นวัดแรก
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า วัดรังษีสุทธาวาสซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหารนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศวิหาร เรียกว่า คณะรังษี และหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคารมาบรรจุไว้ ณ ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘
วัดบวรนิเวศวิหาร มีเจ้าอาวาสปกครอง นับแต่พุทธศักราช ๒๓๗๙ มาโดยลำดับตามนี้
๑. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์ ทรงครองวัดระหว่างพุทธศักราช ๒๓๗๙ – ๒๓๙๔
๒. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๓๙๔ – ๒๔๓๕
๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ พระราชโอรส ลำดับที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๓๕ – ๒๔๖๔
๔. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น สุจิตฺโต นภวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๖๔ – ๒๕๐๑
๕. พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ธรรมประทีป) ปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๕๐๑ – ๒๕๐๔
๖. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงปกครองวัดตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน
วัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระอารามที่มีความสำคัญทั้งในทางคณะสงฆ์และในทางบ้านเมือง กล่าวคือ
ในทางคณะสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เพราะเป็นที่เสด็จสถิตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชอยู่และทรงดำริริเริ่มปรับปรุงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุตขึ้นในเวลาต่อมา วัดบวรนิเวศวิหารจึงนับว่าเป็นวัดแรกและวัดต้นแบบของคณะธรรมยุต ธรรมเนียมประเพณีและแบบแผนต่าง ๆ ของคณะธรรมยุตได้เกิดขึ้น ณ วัดนี้
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง ๔ พระองค์คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์คือ เป็นที่กำเนิด มหามกุฏราชวิทยาลัย สถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทยในปัจจุบัน เป็นที่กำเนิดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “นักธรรม” อันเป็นการศึกษาขึ้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ไทย
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของไทย ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักคือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ซึ่งสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไทย สมัยกรุงสุโขทัย สมัยเดียวกับพระพุทธชินราช และทั้ง ๓ องค์เคยประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทคู่บนศิลาแผ่นใหญ่สมัยสุโขทัย และพระไสยา (คือพระนอน) ที่งดงามสมัยสุโขทัยด้วย
ในทางบ้านเมือง วัดบวรนิเวศวิหารได้เคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการศึกษาหัวเมือง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้มีการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่ว พระราชอาณาจัก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงอำนวยการในการจัดการศึกษาในหัวเมือง อันเป็นการวางรากฐานการประถมศึกษาของไทย
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๙ ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวชเกือบทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watbowon.com/
สำหรับท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าลิ้งเว็บไซต์ทางวัดจากข้อมูลอ้างอิง