วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
ประวัติ เลขที่ ๒ ถนนพระราม ๑ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
วัดบรมนิวาส (วัดบรม) อยู่ใกล้ตลาดโบ๊เบ๊ เดิมเรียกกันว่า วัดนอก พระบาทสมเด็จประจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ จุดประสงค์เพื่อให้เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี หรือ วัดป่า คู่กันกับวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นวัดฝ่ายคามวาสี หรือ วัดในชุมชน ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดบรมนิวาส
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดบรมนิวาส คือ พระทศพลญาณ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกแห่งรัชสมัย เขียนเป็นทิวทัศน์และผู้คนอย่างตะวันตกคล้ายกับที่วัดบวรนิเวศวิหารให้บรรยากาศแปลกตา ภาพวาดระหว่างช่องหน้าต่างแสดงศาสนกิจของพุทธศาสนิกชน และข้อประพฤติปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ เช่น การบวช การถวายผ้าจำนำพรรษา การรักษาศีลในเทศกาลเข้าพรรษา การลอยกระทง การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า การทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชาและวิสาขบูชา เป็นต้น ส่วนเหนือช่องหน้าต่างเป็นภาพปริศนาธรรมที่ใช้ตัวละครเป็นฝรั่งทั้งหมด ฉากที่น่าสนใจได้แก่ฉากรถไฟและการส่องกล้องดูดาว
นอกจากนี้แล้วกุฏิสงฆ์และซุ้มประตูวัดบรมนิวาสยังเป็นแบบฝรั่ง ฝีมือช่างสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีความงดงามน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watboromniwas.php