ประวัติ วัดบพิตรพิมุข วรวิหาร - ๒๖๖ แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร - webpra

วัดบพิตรพิมุข วรวิหาร

ประวัติ ๒๖๖ แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

 

วัดบพิตรพิมุข วรวิหาร

          วัดบพิตรพิมุข เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ที่เลขที่ 266 ถนนจักรวรรดิ แขวง จักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร

          วัดบพิตรพิมุข มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดเชิงเลน ประมาณ พ.ศ.2328 สมเด็จพระเจ้าหลายเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทรงสถาปนาใหม่หมดทั้งพระอาราม และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นพระอารามหลวงและพระราชทานนามว่า "วัดบพิตรพิมุข" เพื่อเฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขพระองค์นั้น วัดบพิตรพิมุขได้รับการสมโภช พร้อมกับการสมโภชพระมหานคร สมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสมโภชอารามอื่น ๆ

ผู้สร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์

          วัดบพิตรพิมุข เดิมเป็นวัดราษฎร์ และเป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง มีการสันนิษฐานกันว่า คงสร้างภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๒๓๑) เพราะไม่ปรากฏในแผนที่ป้อมเมืองธนบุรี ที่เมอชิเออร์ วอลสันเดส เวอร์เกนส์ ได้เขียนไว้ใน พ.ศ.๒๒๓๑

          รัชการที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงสถาปนานาใหม่ทั้งอาราม เช่น ทรงสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิและถาวรวัตถุอื่น ๆ ด้วยเครื่องไม้ ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระวิหารเป็นต้น

          รัชกาลที่ ๒ คงไม่มีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์มากนัก ในรัชการนี้ชื่อของวัดบพิตรพิมุขได้ปรากฏในพระราชวงศาวดาร เพราะใช้เป็นที่เผาศพราษฎรที่ถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรค ซึ่งเผาและฝังไม่ทัน ต้องนำศพมากองสุ่มก่ายกันไว้ตามป่าช้า และศาลาด้นราวกับกองฟืน น่าสังเวชยิ่งนัก

          รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเสนาสนะและถาวรวัตถุที่เป็นเครื่องไม้และสร้างใหม่ด้วยก่ออิฐถือปูนทั้งหมด การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ คือ พระอุโบสถ พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ กุฏีเก๋งจีน (กุฏีเก๋งจีน พระยาโชฎึกราชเศรษฐีจีน (ทองจีน) เจ้ากรมท่าซ้าย สร้างถวายเดิมสร้างแบบศิลปะจีนทั้งหมด ต่อมาได้ซ่อมปนศิลปะไทยเข้าไปบ้าง โดยเฉพาะเครื่องบนเปลื่อยให้เป็นการเข้าไม้ตามแบบเก่าของจีน)

          รัชกาลที่ ๔ สมัยหม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (หม่อมเจ้ารอง) มีการสร้างหอไตร กุฏิตำหนักและกุฏิสงฆ์ โดยจัดเป็นกลุ่มกุฏิ ๔ หลัง แต่ละกลุ่มมีหอไตรด้วยสำหรับกุฏิตำหนักนั้นเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์

          รัชกาลที่ ๕ สมัยพระธรรมวโรดม (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ธมฺมสิริ ฤทธิ์) พระธรรมวโรดมเป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจการพระศาสนา และขวนขวายบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุให้อยู่ในสภาพดีเสมอ จนเป็นทีโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงมีพระราชกระแสชมเชยว่า
          “สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นสมภารมีสิริ อยู่วัดไหนก็เจริญวัดนั้น เช่น วัดบพิตรพิมุขก็เคยเจริญมาครั้งหนึ่งแล้ว จึงได้นิมนต์มาไว้วัดอรุณฯ ก็มาทำความเจริญให้แก่วัดอรุณฯ เป็นที่เจริญความเลื่อมใส ให้บอกอนุโมทนาด้วยความยินดีไปให้ท่านทราบ”

ต่อมาในสมัยของพระราชเมธี (พระธรรมดิลก จนฺทสิริ อิ่ม) และพระราชโมลี (พระธรรมปิฎก จนฺทสุวณฺโณ น่วม) มีการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุหลายประการเช่นกัน

          รัชกาลที่ ๖-๗-๘ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุและเสนาสนะหลายประการเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/wattraimit.php

Top