ประวัติ วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง) - เลขที่ ๓๒ ถนนกำแพงเพชร - สุโขทัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร - webpra

วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)

ประวัติ เลขที่ ๓๒ ถนนกำแพงเพชร - สุโขทัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

 

วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)

          วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง) พระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓๒ ถนนกำแพงเพชร - สุโขทัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร รหัสไปรษณีย์ ๖๒๐๐๐ โทรศัพท์ (๐๕๕) ๗๑๑-๖๘๐, ๗๑๒-๙๖๔

มีเนื้อที่ ๖๒ ไร่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) เป็นประธานสงฆ์ ในพรรษกาล ๒๕๔๖ มีพระภิกษุ ๒๕ รูป สามเณร ๑๑๐ รูป อารามิกชน ๑๐ คน มี พระราชสารโมลี (เฉลิม วีรธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส พระครูโสภณวัชรคุณ (สุขกรี รตนโชโต) เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส มี นายจันทร์ รอดพันธ์ และ นายสมบูรณ์ สุขศรี เป็นไวยาวัจกร

          วัดนาควัชรโสภณ ได้รับการยกย่องให้เป็นวัดอุทยานการศึกษา และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เนื่องใน มหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกฐานะวัดนาควัชรโสภณ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาประมาณมิได้ ยังความปลื้มปิติแก่บรรพชิตและปวงพสกนิกรพุทธศาสนิกชนชาวกำแพงเพชร เป็นที่ยิ่ง

วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)

ประวัติความเป็นมา

          วัดนาควัชรโสภณ เดิมชื่อ วัดช้าง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ประมาณหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นวัดที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่หน้าเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงข้ามกับวัดเจ้าเมือง กำแพงเพชร เป็นวัดอยู่ในกลุ่มอรัญญิกด้านทิศตะวันออก รูปแบบสภาพแวดล้อมทั้งหมดได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยลพบุรีหรือขอม นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของถนนพระร่วงตัดผ่านหน้าวัดนี้ด้วย วัดช้างนับเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาประมาณ ๗๐๐ ปีเศษ ลักษณะสภาพโดยทั่วไปของกลุ่มโบราณสถานจะถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๙ เมตร มีเนื้อที่ตั้งวัด ๖๒ ไร่ การคมนาคมสะดวก บริเวณวัดสะอาด ร่มรื่นด้วยต้นไม้ สวยงามตามธรรมชาติ

วัดช้าง เป็นวัดที่ร้างจากพระสงฆ์มาประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปี ครั้นลุถึงปีพุทธศักราช พ.ศ. ๒๕๐๙ พระวิชัย ปสนฺโน

     ๑ ได้จาริกธุดงค์มาปักกลดจำพรรษาอยู่ ณ บริเวณ เจดีย์โบราณสถานวัดช้าง โดยในช่วงดังกล่าวได้ปฏิบัติธรรมและเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธศานิกชนแถบถิ่นนี้เป็นอย่างดี จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และได้อุปัฏฐากบำรุงท่านเป็นลำดับ ต่อมา จ.ส.อ. ศักดิ์ และนางสังเวียน เดชานนท์ มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินมอบถวายให้สร้างวัด และภายหลังมีผู้ซื้อที่ดินถวายเพิ่มเติมอีก รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น ๗๖ ไร่ ๑ งานเศษ

     ๒ จากนั้นได้เริ่มสร้างเสนาสนะที่พักอาศัย สาธารณูปการที่จำเป็นต่างๆ มีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณรที่มาอยู่จำพรรษาที่วัดช้างแห่งนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)

          ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้ขออนุญาตสร้างวัด และเริ่มก่อสร้างอุโบสถ โดยได้รับความอุปถัมภ์จาก พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร และได้สร้างตำหนักทรงธรรม-สังฆราชานุสรณ์ เพื่อเตรียมรับเสด็จ พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) ซึ่งได้เสด็จมาทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ ใน พ.ศ. ๒๕๑๓

          พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฐายี) ได้ประทานชื่อจากวัดช้าง (เดิม) เป็น “วัดนาควัชรโสภณ” และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ มีพื้นที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓๒ ถนนราชดำเนิน ๒ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จึงนับได้ว่า “วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)” เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แห่งแรกในจังหวัดกำแพงเพชร

          พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เป็นพระสุปฏิปันโนรักษาข้อวัตรปฏิบัติตามแนวพระกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอันมาก นอกจากการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ท่านยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาด้านสาธารณูปการต่างๆ ภายในวัด อีกทั้งได้ขยายวัดและสำนักสงฆ์ออกไปสู่ตำบลและอำเภอต่างๆ อีกหลายแห่ง

          ด้านการคณะสงฆ์ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้รับความเมตตาจากพระเถระผู้ใหญ่ให้การอุปถัมภ์สนับสนุน อาทิ พระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺตเถโร)

     ๓ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม, พระอริยเมธี (ปฐม อุดมดี) และ พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม ร่วมกับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และอุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างวัดและสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรอีกหลายแห่ง จนสามารถตั้งเป็นเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) โดย พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต) เป็นองค์ปฐม

          วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้มรณภาพลงด้วยโรคกลัวน้ำ รวมสิริอายุ ๕๖ ปี ๓ เดือน นับว่าวงการคณะสงฆ์ได้สูญเสียพระสังฆาธิการที่มีความคิดริเริ่มพัฒนา และวางรากฐานของงานคณะสงฆ์ธรรมยุตในเขตภาคนี้ให้เป็นปึกแผ่นไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

          ต่อมา พระมหาสมจิตต์ อภิจิตฺโต กรรมการเลขานุการ มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ที่ไปพำนักจำ พรรษ าอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยความอุปถัมภ์สนับสนุนจากพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ พระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม)๔ วัดบวรนิเวศวิหาร และ นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พาคณะญาติโยมผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม อาคารที่พักพระภิกษุสามเณร อาคารหอสมุด และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ศึกษา และปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรให้เป็นที่สัปปายะยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังได้เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น เพื่ออบรมเยาวชนให้ได้รับความรู้ด้านศีลธรรม หลักธรรมตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนจริยธรรมอันดีงาม และได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วชิรกุญชร มัธยม เพื่อการศึกษาวิชาสามัญศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย และในช่วงเดียวกันนี้ พระครูโสภณธรรมวัชร์ (เฉลิม วีรธมฺโม)๕ ได้มาดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ พร้อมกับดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต) สืบต่อจากพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้มรณภาพลง

          เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในการพระราชทานเพลิงศพ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) และเสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอาคารสมเด็จพระญาณสังวร หอสมุดสมเด็จพระญาณสังวร และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาได้มีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่และก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างภายในวัดนาค วัชรโภณ เป็นลำดับ คือ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา มหาราชินี, พ.ศ. ๒๕๓๖ ก่อสร้างอาคาร ๘๐ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช วิหารพระไพรีพินาศ, อาคารที่พักพระภิกษุ-สามเณร เป็นต้น รวมงบประมาณการพัฒนาด้านสาธาณูปการ และการจัดการศึกษาแผนกต่างๆ ของสำนักเรียนวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากมูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยการบริจาคร่วมของพุทธศาสนิกชน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๐,๔๗๗,๔๗๖.- บาท (หกสิบล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยเจ็ดสิบหกบาทถ้วน)

          ปัจจุบัน วัดนาควัชรโสภณ ใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญศึกษา และยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน แห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นสำนักเรียนที่ใช้เป็นสถานที่สอบธรรมชั้นนวกะภูมิและสอบธรรมสนามหลวง สำหรับพระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกายมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ในเขตนี้อีกด้วย จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดอุทยานการศึกษา และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดนาควัชรโสภณ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙

          พ.ศ. ๒๕๔๒ พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ ได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็น เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร-พิษณุโลก-สุโขทัย-อุตรดิตถ์-ตาก (ธรรมยุต)

พ.ศ. ๒๕๔๓ พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ที่ “พระราชสารโมลี” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/north/watnakwatcharasophon.php

         

Top